กรมทรัพยากรธรณี ให้ความร่วมมือทางวิชาการ เรื่องธรณีวิทยาในอุทยานแห่งชาติ
อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี (สุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์) แสดงความสนใจร่วมมือกับงานผลิตภาพยนตร์สารคดีอุทยานแห่งชาติ และให้ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยา (มนตรี เหลืองอิงคะสุต) อธิบายข้อมูล ร่วมกับนักวิชาการของกรม (สุวภาค อิ่มสมุทร - มิได้อยู่ในภาพ)
|
[ข่าว วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม 2558]
ผมได้มีโอกาสพบพูดคุยหารือ ขอความร่วมมือทางวิชาการจากคุณสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เมื่อบ่ายวันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม 2558 ณ ห้องทำงานอธิบดี ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือร่วมมือเป็นอย่างดี พร้อมทั้งมอบ เอกสาร หนังสือ แผนที่ ที่หาอ่านได้ยาก หาซื้อก็ไม่มีขาย รวม 7 เรื่อง ทั้งหมดเป็นข้อมูลความรู้เกี่ยวกับธรณีวิทยาในประเทศไทย โดยมีนักวิชาการธรณีวิทยาของกรมฯ คือคุณมนตรี เหลืองอิงคะสุต (ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยา), และคุณสุวภาคย์ อิ่มสมุทร (นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ) ร่วมอธิบายให้ความรู้พื้นฐานกับผม เพื่อจะได้ใช้ในการศึกษาเอกสารทั้งหมดให้เข้าใจ ก่อนที่จะออกเดินทางไปถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีชุดอุทยานแห่งชาติ และนักวิชาการทั้งสองท่านนั้นก็ยินดีจะให้คำปรึกษาทางไกลกับผมตลอดเวลาที่ผมและทีมงานเดินทางถ่ายทำ ณ อุทยานแห่งชาติต่างๆทั่วประเทศ. หนังสือทุกเล่มที่ได้มา ล้วนมีความสำคัญต่อการศึกษาเพื่อทำบทภาพยนตร์สารคดีทั้งสิ้น และเป็นหนังสือหายาก ไม่มีวางขายตามร้านหนังสือทั่วไป ที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญมากที่สุดเล่มหนึ่ง ชื่อ "ธรณีวิทยาประเทศไทย" (2550) จัดพิมพ์โดยกรมทรัพยากรธรณี เมื่อปี 2550 หนังสือเล่มนี้ให้ความรู้เกี่ยวกับดิน หิน และเรื่องธรณีวิทยาทั้งหมดในทุกจังหวัดทุกพื้นที่ของประเทศไทย. อีกเล่มหนึ่งชื่อ "แหล่งธรณีวิทยาของไทย" (2556) เป็นรูปเล่มภาพสีสวยงาม เน้นแหล่งธรณีวิทยาที่สำคัญของไทย เช่น ดิน หิน ภูเขา หน้าผา ถ้ำ ฯลฯ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญด้วย. แต่ละจังหวัดต่างก็มีลักษณะเฉพาะเกี่ยวดินหินต่างๆ เรื่องนี้จัดพิมพ์แยกอีกเล่มหนึ่งในปี 2555 ชื่อ "ทรัพยากรธรณี สัญญลักษณ์ของจังหวัด" (2555) อีกสองเล่มเป็นเรื่องเดียวกัน แต่แยกพิมพ์เป็นเล่มภาษาไทย และเล่มแปลเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อ "ท่องโลกธรณี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ความมหัศจรรย์แห่งมรดกโลก" (2554), ส่วนภาคภาษาอังกฤษชื่อ "A Geological Journey, Khao Yai National Park, The Wonder of the World Heritage" (2011) สองเล่มนี้ถือว่าตรงเป้าหมายของผมมากที่สุดจนแทบไม่ต้องใช้กระบวนการค้นคว้าหาข้อมูลให้ยุ่งยากซับซ้อนในการทำบทภาพยนตร์ และเป็นเล่มเดียวที่เกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติโดยตรง แม้จะเป็นเพียงแห่งเดียว คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก็ตาม ท่านอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี บอกว่ายังไม่มีแผนทำหนังสือเรื่อง "ท่องโลกธรณี อุทยานแห่งชาติ..." แห่งอื่นๆอีกในอนาคตอันใกล้ และเท่าที่พิมพ์เล่มที่เกี่ยวกับเขาใหญ่ ก็พิมพ์เพียง 2,000 เล่ม สำหรับภาษาไทย และอีก 1,000 เล่ม ที่เป็นภาษาอังกฤษ เท่านั้น นับว่าผมโชคดีมากที่ได้สองเล่มนี้มาอ่าน เมื่อปี 2553 กรมฯได้พิมพ์ "แผนที่ธรณีวิทยาประเทศไทย" แบบเป็นแผ่นพับยาว ขนาดเดียวกันกับแผนที่เดินทางที่มีแจกตามศูนย์บริการนักท่องเที่ยวทั่วไป และอีกสามปีต่อมา คือปี 2556 ก็พิมพ์ "แผนที่ธรณีวิทยา ฉบับพกพา" ออกมาเป็นรูปเล่มหนังสือขนาดนิตยสารทั่วไป หนา 64 หน้า ทั้งสองเล่มนี้เป็นแผนที่ธรณีวิทยา บอกให้ทราบบว่าภูผา ดิน และ หิน ในประเทศไทยส่วนไหนเป็นอย่างไร ไม่ใช่แผนที่ซึ่งนักท่องท่องเที่ยวทั่วไปจะสนใจเท่ากับแผนที่ถนนเพื่อการเดินทาง แต่ผมก็เชื่อว่า หากเราจัดการข้อมูลให้ดี ก็จะเกิดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงวิชาการ ไปดูดิน ดูหิน หุบเหว และหน้าผา อันแปลกตาตื่นใจในภูมิประเทศต่างๆทั่วประเทศก็ได้ ที่จริงแล้วทุกวันนี้กรมทรัพยกรธรณีก็ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสำนักอุทยานแห่งชาติ ให้ความรู้ด้านธรณีวิทยาในบริเวณท่องเที่ยวต่างๆอยู่แล้ว โดยไม่ได้แยกเป็นการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาโดยเฉพาะเจาะจงอย่างเดียว การทำบทภาพยนตร์สารคดี ต้องใช้ข้อมูลพื้นฐานมากมาย เพื่อความถูกต้องของภาพยนตร์ เพราะเป็น "สารคดี" การอธิบายเรื่องราวของอุทยานแห่งชาติต่างๆ เป็นงาน "สื่อสารทางวิทยาศาสตร์" ที่ต้องการความถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดิน หิน ภูเขา ธรรมชาติแวดล้อม พืช ต้นไม้ใหญ่น้อยทั้งหลาย สัตว์ แมลง นก หนอน ฯลฯ ทุกอย่างที่ภาพยนตร์นำเสนอจึงต้องให้ความถูกต้องเป็นหัวใจสำคัญ ประวัติศาสตร์ของดินหินอันเป็นอดีตของพื้นที่ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ มาจนถึงปัจจุบัน จะต้องได้รับการธิบายอย่างชัดเจนและเพลิดเพลินด้วยภาพยนตร์ประกอบที่งดงาม... ขอขอบคุณกรมทรัพยากรธรณีเป็นอย่างสูง. เชื่อมโยง: กรมทรัพยากรธรณี @ http://www.dmr.go.th/main.php?filename=index |