การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
เปรียบเทียบ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กับ 2560 เมื่อวันจันทร์ที่ 24 และวันอังคารที่ 25 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร โดยญัตติของฝ่ายค้าน ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 151 ดังนี้: “มาตรา ๑๕๑ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี เป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ เมื่อได้มีการเสนอญัตติตามวรรคหนึ่งแล้ว จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะมี การถอนญัตติหรือการลงมตินั้นไม่ได้คะแนนเสียงตามวรรคสี่ เมื่อการอภิปรายทั่วไปสิ้นสุดลง โดยมิใช่ด้วยมติให้ผ่านระเบียบวาระเปิดอภิปรายนั้นไป ให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ การลงมติในกรณีเช่นว่านี้มิให้กระทําในวันเดียวกับ วันที่การอภิปรายสิ้นสุดลง มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ สภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรีคนใดพ้นจากตําแหน่งเดิมแต่ยังคงเป็นรัฐมนตรีในตําแหน่งอื่นภายหลังจากวันที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อตามวรรคหนึ่ง หรือพ้นจากตําแหน่งเดิมไม่เกินเก้าสิบวันก่อนวันที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อตามวรรคหนึ่ง แต่ยังคงเป็นรัฐมนตรีในตํา แหน่งอื่น ให้รัฐมนตรีคนนั้นยังคงต้องถูกอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจต่อไป.” จะเห็นว่าการจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีอื่น หรือทั้งคณะรัฐมนตรีนั้นทำได้ไม่ยาก อาจจะเรียกว่า “ง่าย” ก็ได้เพราะใช้เสียงสนับสนุนญัตติเพียง 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น พรรคฝ่ายค้านเข้าชื่อกัน 100 ชื่อ ก็เป็นอันใช้ได้แล้ว ทำให้การหาโอกาสอภิปรายตำหนิวิพากษ์นายกรัฐมนตรีทำได้สะดวกมากขึ้น เช่นในกรณีการอภิปรายวันที่ 24-25 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา หากจะเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ. 2540 การจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีจะทำได้ไม่ง่าย ไม่สะดวกนัก หรือจะเรียกว่าทำได้ยากก็ได้ รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ. 2540 บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๘๕ ดังนี้: “มาตรา ๑๘๕ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนใม่น้อยกว่าสองในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ญัตติดังกล่าวต้องเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปซึ่งเป็นบุคคลตามมาตรา 201 [มาตรา 201 วรรคสอง ว่าด้วยคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีที่ต้องเป็นหรือเคยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร] และเมื่อได้มีการเสนอญัตติแล้ว จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะมีการถอดถอนญัตติ หรือการลงมตินั้นไม่ได้คะแนนเสียงตามวรรคสาม การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีที่มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จะเสนอโดยไม่มีการยื่นคำร้องขอตามมาตร 304 ก่อนมิได้ [มาตรา 304 ว่าด้วยเรื่องการเข้าชื่อร้องขอถอดถอนบุคคลทุจริตออกจากตำแหน่ง] และเมื่อได้มีการยื่นคำร้องขอตามมาตรา 304 แล้ว ให้ดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องรอผลการดำเนินงานตามมาตรา 205 [มาตรา 205 ว่าด้วยการถวายสัตย์ปฎิญาณต่อพระมหากษัตริย์] เมื่อการอภิปรายทั่วไปสิ้นสุดลงโดยมิใช่ด้วยมติให้ผ่านระเบียบวาระการเปิดอภิปรายนั้นไป ให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ การลงมติในกรณีเช่นว่านี้มิให้กระทำในวันเดียวกับวันที่การอภิปรายสิ้นสุด มติไม่ไว้วางใจจะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่มติไม่ไว้วางใจมีคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายนั้นเป็นอันหมดสิทธิที่จะเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีอีกตลอดสมัยการประชุมนั้น ในกรณีที่มติไม่ไว้วางใจมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป และมิให้นำมาตรา 202 มาบังคับใช้.” [มาตรา 202 ว่าด้วยเรื่องการเสนอชื่อและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีภายในกำหนดเวลาสามสิบวัน ] ⤴︎ |
จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันต้องการให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีทำได้ง่าย ไม่มีเงื่อนไขอะไรซับซ้อนไปกว่าการเข้าชื่อกันเพียง 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น แต่การเปิดอภิปรายได้ง่าย ก็เท่านั้น ไม่ได้หมายความจะทำให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งได้ง่าย เพราะรัฐบาลย่อมมีเสียงข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว หรือพรรคร่วมผสมหลายพรรค จะอภิปรายกันกี่ชั่วโมงกี่วันกี่คืน รัฐบาลก็ยังอยู่ต่อไป นายกรัฐมนตรีก็ยังทำงานต่อไปได้ เพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมากเกินกว่าถึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีจึงเป็นเพียงมหกรรมทางการเมืองที่เปิดเวทีวิพากษ์วิจารณ์นากยรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการเท่านั้น ช่วยให้ประชาชนได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล เพื่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งต่อไป คะแนนนิยมจะเป็นของฝ่ายที่อภิปรายได้ดีมีประสิทธิภาพหรือฝ่ายนายกรัฐมนตรีมีข้อมูลสนับสนุนเด็ดขาดเชื่อถือได้และสำคัญต่อชาติบ้านเมือง การจะหวังให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งจึงมิใช่เป้าประสงค์ของรัฐธรรมนูญหรือฝ่ายค้านที่เปิดอภิปราย หากนายกชี้แจงดีก็เสมอตัว หากนายกชี้แจงผิดพลาดล้มเหลว ฝ่ายค้านก็จะได้ประโยชน์และได้คะแนนนิยมเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าหากฝ่ายค้านจะเสนอญัตติเปิดอภิปรายนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบ่อยขึ้นทุกวาระที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ คือปีละหนึ่งครั้ง เปิดอภิปรายกันทุกปีๆไป ก็จะเป็นการเสียเวลาเสียทรัพยากร และอาจทำให้การทำงานของรัฐบาลถูกขัดจังหวะไประยะหนึ่งได้ แต่ทั้งหมดเป็นกระบวนการประชาธิปไตยปรกติที่เกิดขึ้นเสมอในประเทศต่างๆที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่ว่าประเทศที่ประชาธิปไตยมั่นคงดีแล้ว ประชาชนและนักการเมืองเข้าใจระบบระบอบประชาธิปไตยดีแล้วก็มักจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเฉพาะคราที่มีเหตุวิกฤติจำเป็นจริงๆ ที่รัฐบาลทำงานผิดพลาดล้มเหลวหรือกำลังจะเกิดความเสียหายต่อชาติบ้านเมืองรุนแรง หากฝ่ายค้านไม่พยายามเปิดอภิปรายเพื่อล้มรัฐบาล รัฐบาลเองก็อาจจะมีจิตสำนึกยุบสภาเสียเอง แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เพื่อขออำนาจจากประชาชนใหม่ทันที ทั้งหมดเพื่อชาติบ้านเมือง ไม่ใช่เพื่อศักดิ์ศรีของพรรคหรือนักการเมือง และบางที่ขณะที่รัฐบาลและพรรครัฐบาลเห็นว่าการยุบสภาเลือกตั้งใหม่จะเป็นประโยชน์ต่อพรรครัฐบาลเพราะเห็นว่ารัฐบาลจะได้เปรียบหากจัดการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว หรือมีประเด็นปัญหาเชิงนโยบายที่สังคมถกเถียงกันหาที่ยุติมิได้ รัฐบาลก็อาจยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ทันที ไม่ต้องรอให้อยู่ครบเทอมสี่ปี วิธีนี้เท่ากับเป็นการกลับไปถามประชาชนในเรื่องนโยบายที่ต้องการให้ประชาชนตัดสิน
สมมุติเป็นรัฐบาลปัจจุบัน รัฐบาลก็อาจยุบสภาเสียเองไม่ต้องคอยแรงกดดันจากใคร กลับไปหาเสียงเลือกตั้งใหม่ ถามประชาชนเรื่องบ่อนคาสิโนที่รัฐบาลต้องการให้มี เรื่องการแจกเงินหมื่นบาทให้กับประชาชนเพื่อหวังจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเป็นเพียงการซื้อเสียงด้วยเงินของรัฐ เรื่องการภาษีอากรที่จะกระทบเศรษฐกิจของชาติและประชาชน, ฯลฯ. รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเขียนโดยคณะผู้ยึดอำนาจ ไม่ใช่มาจากประชาชน ย่อมเป็นปัญหาระยะยาวในความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงของประเทศไทย หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือถ้าไม่ร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่หมด รัฐบาลใดๆก็ตามที่เข้ามาบริหารประเทศก็จะต้องเผชิญกับมาตรการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีบ่อยขึ้น ปีละหนึ่งครั้งทุกปีตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ จนกลายเป็นเรื่องปรกติธรรมดา แล้วการอภิปรายก็จะไม่ตื่นเต้นมีความเป็นพิเศษไปกว่าการอภิปรายนโยบายรัฐาลตามวาระปรกติ จะกลายเป็นเสมือนกระทู้ถามรัฐบาลเท่านั้นเอง ไม่มีข้อดีหรือข้อเสียอะไรเป็นพิเศษ แต่ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่จะได้ดูและฟังการชี้แจงการทำงานของรัฐบาลและผู้แทนราษฎรได้ดีขึ้น เพื่อการตัดสินใจในการลงคะแนนเลือกตั้งครั้งต่อไป ทำไมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ. 2540 จึงบัญญัติทำให้เรื่องการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีทำได้ยากกว่าโดยต้องเข้าชื่อกันถึง 2 ใน 5 แทนที่จะเป็น 1 ใน 5 ทั้งนี้ก็เพราะรัฐธรรมนูญตอนนั้นต้องการให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ อยู่ได้ครบเทอมสี่ปีโดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบบ่อยเกินไปจนไม่มั่นใจว่าจะทำงานบริหารประเทศไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ บริบทประชาธิปไตยไทยตอนนั้นกำลังล้มลุกคลุกคลาน รัฐบาลอยู่ได้ไม่นาน รัฐบาลไม่มั่นคง ประเทศไม่มีการบริหารจัดการต่อเนื่อง จึงเขียนรัฐธรรมเพื่อแก้ปัญหานี้ หวังว่าจะได้รัฐบาลที่ดีมีความสามารถซื่อสัตย์สุจริต เมื่อเข้ามาทำงานแล้วจะได้ทำงานไปยาวๆจนครบเทอมสี่ปี แต่พอได้รัฐบาลมาจริงๆ ได้รัฐบาลที่มีคะแนนเสียงมากเกินครึ่งสภาจนท่วมท้น รัฐบาลพรรคไทยรักไทยกับพรรคอื่นที่ถูกยุบรวมเข้ามาจึงมั่นคงพร้อมอยู่ได้ยาว หากรัฐบาลดี สุจริตยุติธรรม “ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” ทำงานสร้างประเทศชาติได้ดี ใครจะอภิปรายล้มรัฐบาลอย่างไรก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว หากรัฐบาลฉ้อฉลไร้ประสิทธิภาพ ไม่ซื่อสัตย์ ไม่สุจริต ไม่จำเป็นต้องใช้รัฐธรรมนูญมาตราใดๆเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลนั้นก็มิอาจอยู่ได้ หากเราเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แท้จริง ประชาชนเข้าใจบทบาทหน้าที่และรู้จักอุดมการณ์ประชาธิปไตยแท้จริง และนักการเมืองมีจิตสำนึกเป็นนักประชาธิปไตยจริงๆ รัฐบาลก็จะมั่นคง สลับกันเข้ามาบริหารประเทศตามความนิยมของประชาชนอย่างราบรื่น แต่ประเทศไทย สังคมไทย การเมืองไทย และประชาชนไทย ยังไม่ผ่านกระบวนการเรียนรู้สร้างจิตสำนึกและอุดมการประชาธิปไตยจนเป็นวิถีแห่งชีวิตแท้จริง เราจะร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่กี่ฉบับ มีรัฐบาลกันกี่รัฐบาล จากกี่พรรคการเมืองก็ตาม เราก็ยังได้รัฐบาลและนักการเมืองที่ไม่น่าไว้วางใจเข้ามาเป็นจำนวนมากเสมอ บางทีเห็นชื่อเห็นหน้าเราก็อภิปรายไม่ไว้วางใจในใจไปแล้ว! ไม่มีทางแก้แบบเร่งด่วนได้ทันใจ ทั้งหมดเป็นกระบวนการสร้างจิตสำนึกและความรู้ความเข้าใจในหมู่ประชาชน ต้องโทษนักการเมืองที่ไม่รู้จักเลือกตัวเองก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง แล้วก็ไปโทษประชาชนที่ไม่รู้จักเลือกนักการเมือง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสไว้ชัดเจนตั้งแต่ปี 2512 ว่า : “....ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...” นั่นคือ พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี วันที่ 11 ธันวาคม 2512 หากนักการเมือยังคิดไม่เป็น คิดไม่ได้ ว่าตนเองเป็นคนดีหรือไม่ และประชาชนก็ยังไม่ใส่ใจหาข้อมูลว่าใครเป็นคนดีคนไม่ดี สมควรเลือกใครดี หากเป็นเช่นนี้ ก็ต้องร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ กำหนดให้ชัดเจนว่าคนดีคืออย่างไร แล้วบังคับว่าคนดีตามรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์สมัครับเลือกตั้งได้ทุกระดับ ไม่ว่าจะระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ สักวันหนึ่งเราจะมีประชาธิปไตยแบบให้คนดีเท่านั้นมารับใช้ประเทศชาติ “ประชาธิปไตยของประชาชน โดยคนดี เพื่อประชาชน” เป็นนวัตกรรม “ประชาธิปไตยแบบไทย” สมเกียรติ อ่อนวิมล 28 มีนาคม 2568 |