THAIVISION
  • THAIVISION
  • THE LIBRARY
    • ON PLANET EARTH
  • IN MY OPINION
  • SO
  • THAIVISION
  • THE LIBRARY
    • ON PLANET EARTH
  • IN MY OPINION
  • SO
PicturePicture: NASA
บนดาวเคราะห์โลก
​ON PLANET EARTH
โดย  สมเกียรติ อ่อนวิมล

          โลกเป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่งในแปดดาวเคราะห์ในแปดวงโคจรรอบดวงอาทิตย์อันเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ ส่วนโลกก็เป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวที่มนุษย์รู้จักว่ามีสิ่งมีชีวิตหลากหลายรูปแบบทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์ ซึ่งมนุษย์เชื่อว่าตัวเองเป็นสิ่งมีชีวิตสูงสุด มีภูมิปัญญาชาญฉลาดรู้จักคิดวิเคราะห์ สามารถสร้างอารยธรรมบนโลกได้ คิดว่ามนุษย์ชาติ-ตือเหล่าเผ่าพันธุ์มนุษย์-เป็นเจ้าของผู้ครอบครองและกำหนดชะตากรรมของตนเองและโลกได้ อันเป็นที่มาของคำว่า "โลกมนุษย์".
          การมองโลกโดยเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางและเป็นจุดแรกเริ่มของประวัติศาสตร์เป็นมุมมองที่สั้น แคบ และมีสาระเพียงน้อยนิด เทียบกับประวัติศาสตร์ของเอกภพและจักรวาลที่ใหญ่กว้างไกลกว่า.
          ประวัติศาสตร์ใหญ่ หรือ Big History เป็นเรื่องราวก่อนจะถึงวันกำเนิดและวิวัฒนาการชีวิตมนุษย์ ซึ่งย้อนกลับไปไกลถึงจุกแรกของระเบิดมหากัมปนาท The Big Bang. การศึกษาประวัติศาสตร์โลกแบบกว้างไกลใหญ่มหาศาลจากเสี้ยววินาทีแรกของ The Big Bang จนถึงวินาทีปัจจุบันซึ่งเอกภพยังยังคงกำลังขยายตัวออกไปเรื่อยๆที่เรียกว่า "Big History" นี้ จะทำให้มนุษย์รู้จักตัวเองดีขึ้น รู้จักโลกดีขึ้น และเข้าใจความไม่สำคัญของมนุษย์และโลกมากขึ้น เพราะโลกไม่ใช่ของมนุษย์ โลกเป็นเพียงดาวเคราะห์ดวงน้อยที่มองจากขอบระบบสุริยะเป็นเพียงจุดสีน้ำเงินจืด (The Pale Blue Dot) ท่ามกลางดวงดาวและความมืดลึกลับว่างเปล่าในเอกภพและจักรวาล.

เรื่องราวต่อไปนี้ คือประวัติศาสตร์ใหญ่ ที่ใหญ่กว่าประวัติศาสตร์มนุษยชาติ....


​บทนำ

​    การมองโลกที่มีมนุษยชาติอยู่อาศัยร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมสิ่งมีชีวิตบนแผ่นดินและผืนน้ำที่เกาะตัวเป็นก้อนกลม โคจรล่องลอยวนไปมาในอวกาศ อาจมีมุมมองได้ต่างกัน.
    ถ้ามองแบบภาพกว้างก็ให้ถอยออกไปนอกระบบสุริยะ เห็นโลกเป็นเพียงเทหะวัตถุในอวกาศ เป็นจุดสีฟ้าจางๆวางตัวอยู่ตรงวงโคจรวงที่สามจากศูนย์กลางอันเป็นดวงดาวแสงอ่อนที่มนุษย์เรียกว่าดวงอาทิตย์ หรือ The Sun เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะเล็กๆบริเวณขอบนอกของดาราจักรทางช้างเผือก หรือ The Milkyway Galaxy. มองโลกแบบนี้จะเห็นความโดดเดี่ยวเดียวดายของจุดสีฟ้าอ่อนซีดจางๆ หรือที่นักดาราศาสตร์เรียกว่า The Pale Blue Dot เป็นการมองโลกแบบฟิสิกส์ดาราศาสตร์ มองโลกเป็นดาวเคราะห์ที่เรียกชื่อว่า The Earth จะไม่เห็นปัญหาความวุ่นวายอะไรบนผิวโลก ไม่เห็นแม้แต่รูปแบบชีวิตบนผิวโลก เว้นแต่ถ้าจะเข้าไปใกล้ๆก็จะเห็นสรรพชีวิตสารพันรูปแบบและหลากหลายปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่ก็ยังไม่เห็นอะไรมากไปกว่าจุดสีฟ้าจางที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมีสีสันและชีวิตที่หลากหลายขึ้น จาก The Pale Blue Dot ก็กลายมาเป็น The Blue Planet ถ้าไม่ลงไปอยู่บนโลก ไม่ลงไปคลุกคลีมีปฏิสัมพันธ์กับชีวิตและสรรพสิ่ง ก็จะไม่มีปัญหาให้เดือดร้อนทุกข์สุขจนต้องดิ้นรนหาทางให้พ้นทุกข์กันแต่ประการใด การมองโลกจากสุดขอบปลายทางของระบบสุริยะจึงยังผลให้เกิดความสงบสุขอย่างเปี่ยมล้น.
    มุมมองของมนุษย์ที่มีต่อโลกเป็นมุมแคบกว่าจินตนาการ กว้างที่สุดของมุมแคบก็เพียงเห็นโลกกลมที่ถูกจับมาจัดแผ่แบนราบเป็นแผนที่แสดงแผ่นดินและผืนน้ำ แสดงอาณาบริเวณที่มนุษย์อยู่อาศัย แบ่งแยกเขตแดนกันตามที่เป็นผลพวงของการใช้กำลังอำนาจทางการเมืองการทหารแต่โบราณ อธิบายให้เห็นว่าแผ่นดินและผืนน้ำตรงไหนเป็นของมนุษย์กลุ่มใด เรียกกลุ่มตัวเองว่าเป็นรัฐเป็นประเทศชื่ออะไร แล้วมนุษย์ก็ต่อสู้ปกป้องดินแดน ขยายดินแดน สูญเสียดินแดนและชีวิตที่ต่อสู้ปกป้องดินแดนที่มีพรมแดนและมีชื่อเรียกขานเป็นประเทศทั้งหลายเหล่านั้น เป็นการมองโลกแบบเป็นโลกมนุษย์ หรือ The World เป็นการมองตัวเองของมนุษย์แบบภูมิรัฐศาสตร์ ละเลยแม้แต่จะพิจารณาปฎิสัมพันธ์กับธรรมชาติแวดล้อม มองจากฐานข้อมูลปัญหาของมนุษย์เอง มองโลกแบบนี้ มองเมื่อไรก็เห็นปัญหาเมื่อนั้น มนุษย์เรียกช่วงเวลาหรือยุคของพัฒนาการสังคมโลกแบบนี้ว่าเป็นความเจริญของมนุษยชาติ.
    มาปัจจุบันนี้ สู่ยุคหลังทันสมัย (Post Modern World) มนุษย์เริ่มมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตมนุษย์เองกับสิ่งแวดล้อมและสรรพชีวิตที่หลากหลายรายรอบมากขึ้น เห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติและเผ่าพันธุ์มนุษย์กลุ่มอื่น รวมทั้งเห็นความสัมคัญของความหลากหลายแห่งชีวภาพบนดาวเคราะห์โลกมากขึ้น. พรมแดนที่เคยลากเส้นแบ่งไว้เพื่อปกป้องอัตลักษณ์และอำนาจของเผ่าพันธุ์ตนเริ่มถูกทำลายลงโดยปฏิสัมพันธ์ข้ามพรมแดนทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้มนุษยชาติสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิต ปรับขยายวิธีคิด และเดินทางข้ามพรมแดนในยุคทันสมัยมากขึ้นจนอำนาจรัฐที่เคยใช้ต่อสู้รบราฆ่าฟันทำลายล้างกันเริ่มเสื่อมสลายไร้พลังอำนาจลง โลกยุคหลังทันสมัย คือโลกปัจจุบัน เป็นโลกที่กระแสโลกาภิวัตน์ทำลายกำแพงแห่งอำนาจรัฐลงอย่างเกือบราบคาบ ด้วยพลังของการเดินทาง พลังแห่งการสื่อสารของข้อมูลข่าวสาร การเดินทางเคลื่อนย้ายถิ่นฐานข้ามพรมแดนของมนุษย์ ข้ามอุปสรรคทางวัฒนธรรมแห่งเผ่าพันธุ์ พลังโลกาภิวัตน์กำลังสร้างโลกใหม่อย่างช้าๆ จนในอนาคตอันไกลข้างหน้า ในที่สุดมนุษยชาติก็อาจจะกลับเข้าสู่การมองโลกและสร้างโลกใหม่ให้กลับเป็นโลกที่เป็น The Earth แบบดั้งเดิมอีกครั้ง.
    การเดินทางของมนุษยชาติบนโลกมนุษย์กลับสู่ความเป็นดาวเคาระห์โลกแบบอดีตก่อนบรรพกาลเช่นว่านี้กำลังดำเนินอยู่และดำเนินต่อไปอย่างช้าๆ เพียงแต่ว่ามนุษย์ไม่หาเวลาหยุดตัวเองให้นิ่งพอที่จะมองเห็นความเจริญในจิตใจของตัวเองเท่านั้น.

    มองโลกมุมแคบจึงเกิดปัญหามากมายไร้ความสงบสุข 
    มองโลกมุมกว้าง ยิ่งมองกว้างมากขึ้น และมองไกลออกไปมากขึ้นเท่าไร 
    ปัญหาก็จะลดลง 
    ความสุขสงบก็จะเกิดมากขึ้นเท่านั้น

    มนุษยชาติบนดาวเคราะห์โลกจำต้องมองโลกในทุกมุมมอง ไม่ว่าจะแคบเฉพาะลำพังตัวเอง หรือกว้างไกลข้ามขอบฟ้าไปไกลเลยขอบเอกภพ เพื่อค้นหาตัวเองและทำความเข้าใจกับตัวเองระหว่างการเดินทางของอารยธรรมของมนุษยชาติที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ.

I
ประวัติศาสตร์ใหญ่
Big History


    “No one would have believed in the last years of the nineteenth century that this world was being watched keenly and closely by intelligences greater than man’s and yet as mortal as his own;”
    Herbert George Wells เริ่มประโยคแรกของบทที่หนึ่ง “The Eve of the War” (
ก่อนการมาถึงของสงคราม” ในหนังสือเรื่อง “The War of the Worlds” (1898) ตามต้นฉบับข้างบน แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า:
    “ใครเลยจะเชื่อว่าในช่วงปลายแห่งศตวรรษที่ 19th นั้น โลกของเรากำลังถูกเฝ้าสังเกตดูด้วยความสนใจอย่างใกล้ชิดโดยสิ่งมีชีวิตที่ชาญฉลาดยิ่งกว่ามนุษย์ซึ่งก็เป็นหมู่ชีวิตนอกโลกที่คล้ายมนุษย์ในเรื่องที่ว่าชีวิตดับสลายได้” 
    งานวรรณกรรมนวนิยายเชิงวิทยาศาสตร์ผจญภัยปลายศตวรรษที่ 19th ของนักเขียนชาวอังกฤษผู้มีผลงานวรรณกรรมอมตะหลายเรื่อง รวมทั้ง “สงครามระหว่างโลก” หรือ “The War of the Worlds” เรื่องที่อ้างนี้ แม้จะเป็นเพียงนวนิยายเชิงวิทยาศาสตร์ผจญภัย ที่ในสมัยนั้นเรียกว่า scientific romance แต่ก็เป็นงานวรรณกรรมที่อาศัยพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และจินตนาการของนักคิดนักเขียน ซึ่งสะท้อนความจริงผสมจินตนาที่อาจเป็นจริงได้ในอนาคต.

    โลกมนุษย์ปลายศตวรรษที่ 19th เป็นสังคมมนุษย์ที่กำลังเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มนุษย์ยุ่งอยู่กับปัญหาในและระหว่างเขตแดนของตน ปัญหาระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองบนโลกใบเดียวกัน ทุกคนคิดว่ามีโลกมนุษย์อยู่ใบเดียวเท่าที่อยู่กันและมองเห็นกันและกัน.
    แน่นอนว่าปลายศตวรรษที่ 19th มนุษย์รู้แล้วว่าโลกกลมและร่วมกับดาวเคราะห์ดวงอื่นโคจรรอบดวงอาทิตย์อันเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ มนุษย์เข้าใจเรื่องนี้แล้วด้วยความตื่นตลึงเพราะผลงานการปฏิวัติความคิดการมองโลกใหม่หมดโดย Nicolaus Copernicus (1473-1543) จากหนังสืองของเขาเรื่อง “On the Revolutions of Heavenly Spheres” ซึ่งต้องพิมพ์เผยแพร่หลังจากถึงแก่กรรม.
    ก่อนหน้า Copernicus ตั้งแต่เกิดมีมนุษย์บนโลก มนุษย์เริ่มรู้จักสังเกตดูดาวบนท้องฟ้า มนุษย์เข้าใจและเชื่ออย่างผิดๆว่าโลกแบน เชื่อว่าดวงอาทิตย์ และดวงดาวต่างๆที่เห็นบนสวรรค์จะล่องลอยโคจรไปรอบๆผืนแผ่นโลก แม้ต่อมาจะคิดได้แล้วว่าโลกกลมก็ยังเชื่ออยู่ดีว่าดวงดาวทั้งหลายรวมทั้งดวงอาทิตย์ล้วนแล้วแต่เป็นบริวารของโลกมนุษย์ทั้งสิ้น.
    เมื่อได้ความรู้ใหม่จาก Copernicus แล้ว...จากกลางศตวรรษที่ 16th ถึงปลายศตวรรษที่ 19th...จาก Copernicus ถึง H.G.Wells...จากความรู้ใหม่ที่ว่าดาวเคราะห์ทั้งหลายที่มนุษย์รู้จักและมองเห็นจากกล้องดูดาวเล็กๆนั้น ล้วนโคจรรอบดวงอาทิตย์ทั้งสิ้น รวมทั้งดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ที่มนุษย์ค้นพบ 32 ปีหลัง “The War of the Worlds” คือดาวพลูโต (Pluto) โคจรอยู่วงนอกสุดในระบบสุริยะ  ผ่านไปอีกเพียง 76 ปี มนุษย์ก็เปลี่ยนใจปลดดาวพลูโตออกจากสถานภาพดาวเคราะห์ หลังจากเรียนรู้เพิ่มเติมว่าดาวพลูโตขนาดเล็กและองค์ประกอบทางกายภาพอื่นไม่เข้าคุณสมบัติการเป็นดาวเคราะห์ เป็นได้เพียงดาวแคระ (Dwarf Planet).
    ณ วันนี้ มนุษย์สรุปเท่าที่คิดว่ารู้ ว่าโลกที่มนุษย์อ้างเป็นเจ้าของนั้น เกิดในระบบสุริยะอันมีดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์แสงอ่อนที่เกิดมาเมื่อประมาณ 4.6 พันล้านปีที่แล้ว ระบบสุริยะของดวงอาทิตย์ของเรามีดาวเคราะห์ 8 ดวงโคจรรอบเป็นวงรี ระบบสุริยะของเรานี้มีดาวเคราะห์โลกดวงเดียวที่มีมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นวิวัฒนาการเติบโตขยายพันธุ์อยู่ นับเฉพาะมนุษย์ก็มีกว่า 7 พันล้านคน ยังมีดวงดาวฤกษ์เช่นดวงอาทิตย์อยู่เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะอื่นในแกแล็กซีทางช้างเผือกอีกประมาณ 2 แสนล้านดวง และในเอกภพ (Universe) ยังมีแกแล็กซี่ทำนองเดียวกันกับทางช้างเผือกอีกประมาณ 2 แสนล้านแกแล็กซี่ คำนวนดูแล้วควรจะมีดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นในแกแล็กซี่อื่นรวม 200,000,000,000 x 200,000,000,000 ระบบสุริยะ ในบรรดาระบบสุริยะทั้งหลายที่อยู่นอกระบบสุริยะของโลกมนุษย์เรานี้คงจะต้องมีดาวเคราะห์ที่สภาวะแวดล้อมคล้ายโลก เอื้ออำนวยให้วิวัฒนาการชีวิตคล้ายบนโลกมนุษย์ได้.
    ข้อมูล ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2561 มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของเรา (Exoplanets) แล้ว 3,815 ใน 2,853 ระบบสุริยะอื่น ในจำนวนนี้มี 633 ระบบสุริยะที่มีดาวเคราะห์โคจรรอบมากกว่าหนึ่งดวง. 
    ยังไม่มีการค้นพบมนุษย์ต่างดาว แต่ก็ค้นพบดาวต่างๆมากมายที่มีเงื่อนไขเอื้อต่อวิวัฒนาการชีวิตคล้ายมนุษย์ได้.
    ดังนั้น H.G.Wells จึงเตือนมนุษย์ว่า :
    “ระหว่างที่มนุษย์มัววุ่นอยู่กับสารพันปัญหาของตนนั้น มนุษย์หารู้ไม่ว่ากำลังมีชีวิตนอกโลกเฝ้าจับตาดูอยู่เหมือนกับว่าได้จับมนุษย์มาดูผ่านกล้องจุลทัศน์ เห็นมนุษย์บนโลกเสมือนเป็นจุลขีวิตขยายพันธุ์ว่ายวนอยู่ในหยดน้ำใต้เล็นส์กล้องจุลทัศน์”
    “that as men busied themselves about their various concerns they were scrutinised and studied, perhaps almost as narrowly as a man with a microscope might scrutinise the transient creatures  that swarm and multiply in a drop of water.”

    ประวัติศาสตร์มนุษยชาติเป็นเพียงความผันแปรของชีวิตมนุษย์ที่ว่ายวนอยู่ในหยดน้ำใต้กล้องจุลทัศน์         เป็นประวัติศาสตร์ขนาดเล็กที่หากไม่ส่องกล้องดูก็มองไม่เห็น.
    การอธิบายกำเนิดของดวงดาวในเอกภพ ไปจนถึงกำเนิดดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์โลก มาจนถึงการเวียนว่ายตายเกิด ทำสงครามและสร้างสันติภาพกันในหยดน้ำน้อย รวมกัน เป็นประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันนี้กำลังเป็นที่สนใจศึกษาของนักประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่ง. 
​

    ประวัติศาสตร์แนววิเคราะห์ใหม่นี้เรียกว่า “Big History” หรือ “ประว้ติศาสตร์ใหญ่”


สมเกียรติ อ่อนวิมล
12 กุมภาพันธ์ 2562

(โปรดติดตามตอนต่อไป....)

Earthrise: Picture by  NASA - Taken aboard Apollo 8 by Bill Anders, this iconic picture shows Earth peeking out from beyond the lunar surface as the first crewed spacecraft circumnavigated the Moon.  ภาพ "โลกขึ้น" ณ ขอบฟ้ามองจากดวงจันทร์ ถ่ายจากยานอวกาศ Apollo 8 โดย Bill Anders  
24 December 1968

©️2019 All Rights Reserved  • สมเกียรติ อ่อนวิมล • THAIVISION.com  by  Somkiat Onwimon  • Thailand  • somkiat@thaivision.com