พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ
ติโต | Tito
[Ballantine's illustrated history the violent century War leader book, no. 10] โดย Phyllis Auty พระราชนิพนธ์แปล โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช __________________________________________________ หนังสือชื่อ “ติโต” พระราชนิพนธ์แปลโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2535 เล่มนี้ ในคำนำชี้แจงว่าทรงแปลจากต้นฉบับเรื่อง TITO ของ Phyllis Auty เพื่อให้ข้าราชบริพารได้ทราบถึงบุคคลที่น่าสนใจคนหนึ่งของโลก แต่ในคำนำมิได้ลงรายละเอียดว่าเป็นหนังสือชื่อ Tito เล่มใดของ Phyllis Auty ในจดหมายอนุญาตเรื่องลิขสิทธิ์จากสำนักพิมพ์ Ballantine ก็บอกเพียงว่ายินดีที่พระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงแปลเรื่อง Tito ของ Phyllis Auty และจะไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ใดๆหากการจำหน่ายหนังสือเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศล เมื่อดูจากจดหมาย ฉบับนี้ และดูจากคำนำของหนังสือ แล้วดูจากปก ก็จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดได้ว่าเป็นพระราชนิพนธ์แปลจากต้นฉบับเล่มนี้ คือ “TITO: A Biography” โดย Phyllis Auty พิมพ์โดยแผนก Pelican Book ของสำนักพิมพ์ Penguin Books ซึ่งมีความยาวถึง 400 หน้า เมื่อมาดูที่ฉบับแปลก็พบว่ามีความยาวในแบบภาษาไทยเพียง 121 หน้าเท่านั้น จึงเกิดความสงสัยขึ้นว่าทำไมฉบับภาษาไทยจึงสั้นกว่าฉบับภาษาอังกฤษมากมายนัก เมื่อลองเริ่มเปรียบเทียบบทแปล บทต่อบท ประโยคต่อประโยค ก็พบว่าไม่เหมือนกัน และดูจะเป็นคนละเล่มกันเลย ย้อนไปพลิกดูจดหมายตอบจาก Phyllis Auty ผู้เขียน ในหน้า (๖) ที่ตอบอย่างปลื้มปิติในการที่พระเจ้าอยู่หัวของไทยทรงจะแปลงานชิ้นสำคัญของ Phyllis Auty เพื่อเผยแพร่เป็นการกุศลในประเทศไทย จึงทราบชัดเจนว่า ต้นฉบับที่แท้จริงคืออีกเล่มหนึ่ง ชื่อ “Tito” (Ballantine's Illustrated History of the Violent Century, War Leader Book, No. 10) เขียนโดย Phyllis Auty ผู้เขียนคนเดียวกัน พิมพ์ออกเผยแพร่เมื่อปี 1972 เป็นเล่มเล็ก ฉบับย่อ พิมพ์หลังเล่มใหญ่ของผู้เขียนคนเดียวกัน สองปี ซึ่งปัจจุบันเป็นหนังสือเก่าหายากแล้ว เรื่องของ “ติโต” ในหนังสือชุดผู้นำสงครามในประวัติศาสตร์ศตวรรษแห่งความรุนแรง เล่มที่ 10 ว่าด้วยเรื่องของ Tito ผู้นำการรบต้านภัย Nazi กู้ชาติ Yugoslavia ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นหน้าที่ของสำนักพิมพ์อมรินทร์พรินติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จะต้องแก้ไขข้อความบนปกเรื่องชื่อหนังสือต้นฉบับให้ถูกต้องหากจะมีการพิมพ์ครั้งต่อไป การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกแปลจากเล่มที่สั้นและย่อกว่า มีความยาวเพียง 121 หน้านั้น นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้อ่านที่ต้องการทำความรู้จักขั้นเริ่มต้นกับคนดีของโลกอีกคนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนที่ควรอ่านเป็นหนังสือนอกเวลาเรียน ไม่ว่าโรงเรียนจะกำหนดเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม |
Josip Broz คือชื่อจริง
Tito คือชื่อที่เป็นสมญานาม ของเลขาธิการพรรคคอมมูนิสต์แห่ง Yugoslavia ผู้เริ่มต้นชีวิตจากลูกชาวนา หรือที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่า "ทหารลูกทุ่ง" เพราะ Josip Broz หรือ Tito เกิดมาในครอบครัวที่แม้ไม่ถึงกับยากจนนัก แต่ก็ต้องดิ้นรนเพราะมีพี่น้องรวมกันถึง 9 คน ออกจากโรงเรียนไปทำงานล้างจานในค่ายทหารตั้งแต่อายุ 12 ไปฝึกงานในอู่ซ่อมรถยนต์ตอนอายุ 15 เร่ร่อนเปลี่ยนงานจนอายุ 20 สมัครเป็นทหารเกือบเอาชีวิตไม่รอดในสงครามโลกครั้งที่ 1 ถูกรัสเซียจับเข้าค่ายกักแล้วแหกคุกหนี ถูกจับอีก แล้วหนีอีก กลับมา แอบเป็นสมาชิกพรรคคอมมูนิสต์ ของ Yugoslavia เรียกว่าพวก Partisan สร้างสมผลงานและบารมี จนกลายเป็นหัวหน้าพรรค เป็นหัวหน้าแนวร่วมกู้ชาติจนรวมประเทศ Yugoslavia จากความแตกแยกสมัยสงครามได้สำเร็จ ติโต คือเด็กช่างกล ลูกชาวนาได้ดี กลายเป็นสุดยอดของผู้นำโลกคนหนึ่ง ทั้งๆที่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง Yugoslavia ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ ในหน้า 59 บอกชัดเจนว่า "ติโตเองก็มีจุดยืนที่เหนียวแน่น เขาเป็นคอมมูนิสต์ขนานแท้ และเป็นปรปักษ์อย่างรุนแรงต่อรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรเดิม ซึ่งมีนโยบายให้เซอร์เบียเป็นศูนย์กลางประเทศ" ความเป็นคนดี คนน่าสนใจของ Tito คือการเป็นผู้นิยมอุดมการณ์คอมมูนิสต์แบบอิสระไม่ยอมอยู่ใต้การครอบงำของ Stalin แห่งสหภาพโซเวียต อิสระในความคิดที่ไม่นิยมระบบนารวม อิสระที่ต้องการให้ให้ชนทุกเผ่าพันธุ์กลับมาร่วมความเป็นชาติเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง : Kosovo, Croatia, Serbia, Montenegro, Bosnia, Herzegovena, Slovania, สารพัดความร้าวฉานแตกแยก Tito รวมชาติ Yugo-Slav ได้สำเร็จ เป็นผู้นำกองทัพใต้ดินจากจำนวน 1,000 มาเป็น 800,000 คน แม้ Germany ของ Hitler ก็ต้องปล่อยให้ชัยชนะเป็นของ Tito ลักษณะเด่นของ Tito คือความมุมานะนึกถึงประชาชนผู้ยากไร้ นึกถึงชาติเป็นเป้าหมายใหญ่ และพร้อมที่รับความจริงว่าชัยชนะที่เป็นเป้าหมายนั้นต้องอาศัยความร่วมมือช่วยเหลือจากมิตรรอบด้านให้มากที่สุด ผสานกับการให้การศึกษากับตัวเองและประชาชนทั้งมวลอย่างต่อเนื่อง Tito กล่าวว่า : [น.91] "การดำเนินการศึกษาอย่างไม่หยุดยั้ง นี้ มีความสำคัญมาก" การที่ต้องออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 12 มิได้ทำให้ Tito หยุดการศึกษาด้วยตนเอง Tito จึงกลายเป็นนักคิด นักรบ และนักต่อสู้เพื่อชาติ Yugoslavia [น. 212] "เขาเป็นผู้นำผู้ยิ่งใหญ่ ผู้เปลี่ยนวิถีแห่งประวัติศาสตร์ในประเทศตน และผู้ได้ผนวกบทใหม่เข้าในตำนานของลัทธิคอมมูนิสต์ตอนศตวรรษที่ยี่สิบ" Thaivision 5 ธันวาคม 2557 |