ในบริบท ของ สมเกียรติ อ่อนวิมล IN CONTEXT of Somkiat Onwimon WK15/2024
[9] Soft Power กับ ประเทศไทย
ประเทศไทย กับ Soft Power ปี 2002 ปี 2566-67 เป็นปีที่มีการพูดถึงเรื่อง Soft Power กันมากในประเทศไทย ทั้งในภาครัฐ โดยเฉพาะรัฐบาล และภาคสื่อสารมวลชนซึ่งอาจจะรายงานในฐานะที่เป็นข่าว หรืออาจเป็นการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและกิจกรรมที่คิดว่าเป็นเรื่้องหรือเกี่ยวข้องกับเรื่อง Soft Power ตามที่คิดว่าเข้าใจ นี่เป็นเพียงเรื่องที่ว่าใครพูดหรือวิจารณ์เรื่อง Soft Power ในประเทศไทย ส่วนเรื่องที่ว่าใครทำอะไรกันบ้างที่เป็นเรื่องการสร้างอำนาจนุ่มนวลหรือ Soft Power สำหรับประเทศไทยนั้นก็เต็มไปด้วยความไม่เข้า่ใจและขาดความรู้พื้นฐานทางแนวคิดเชิงวิชาการเรื่อง Soft Power เป็นปรากฏการณ์ปกติ ดังนั้นการวิจารณ์ปรากฏการณ์เรื่องราวข่าวสารและกิจกรรมที่อ้างว่าเป็น Soft Power ในประเทศไทยนั้นจึงจำต้องเริ่มต้นที่การอ่านต้นเรื่องอันเป็นต้นกำเนิดความคิดเรื่อง Soft Power ในตำราวิชาการสำคัญเรื่อง “Soft Power: The Means to Success in World Politics” โดยศาสตราจารย์ Joseph Nye, Jr. ที่พิมพ์เผยแพร่ในปี 2004 หากไม่นับหนังสือเรื่องอื่นๆของท่านก่อนหน้า และ ตามหลังหนังสือเรื่องนี้ ความไม่เข้าใจเรื่อง Soft Power และนำไปใช้ผิดๆในสหรัฐอเมริกาเป็นเหตุให้ศาสตราจารย์ Joseph Nye ต้องอธิบายซ้ำ เขียนหนังสือและบทความซ้ำแล้วซ้ำอีก โลกจึงค่อยๆเข้าใจแก่นแท้และสาระสำคัญของมิติที่สองแห่งอำนาจนี้ ที่ได้แปล อธิบาย สรุปให้เข้าใจโดยละเอียดไปเสร็จเรียบร้อยแล้วสำหรับบทนำและ บทที่ 1 ซึ่งถือเป็นหัวใจของหลักการอันเป็นความคิดรวบยอด หรือ ‘concept’ ว่าด้วย ‘Soft Power’ อธิบายจบแล้วรวม 8 ตอน ส่วนบทเรียนเกี่ยวกับความสับสน ใช้ผิดใช้ถูกในสหรัฐอเมริกา, Russia, ยุโรป, จีน, และหลายประเทศในเอเซียได้ถูกประเมินไว้แล้วในหนังสือเรื่องเดียวกันนี้ในบทที่ 2-3-4 และ 5 ซึ่งจะได้สรุปให้ได้อ่านกันในโอกาสที่เห็นควรในอนาคต แต่เฉพาะตอนนี้ถึงเวลาที่จะวิเคราะห์แบบเน้นเฉพาะประเทศไทยเป็นสำคัญก่อน เพราะยังมีความไม่รู้ไม่เข้าใจเรื่อง Soft Power กันมากอย่างน่าตระหนก โดยเฉพาะในภาครัฐที่ถลำลึกไปตามกระแสข่าวสารจนรัฐบาลไทยถึงกับตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาทำงานเรื่อง Soft Power โดยเฉพาะทั้งๆที่มีความไม่รู้เรื่อง Soft Power อย่างแท้จริงเลย ณ ปี 2004 ศาสตราจารย์ Joseph Nye, Jr. เขียนถึงประเทศไทยไว้ 6 บรรทัด ในบทที่ 3 หน้า 89 ดังนี้: “Of course smaller countries both in Asia and other regions also enjoy soft power. South Korea and Thailand attract others through their economic and democratic Progress. Thailand has even discovered that foreigners love Thai food, and its government set a goal of boosting the number of Thai restaurants overseas as a way to ‘subtly help to deepen relations with other countries.’” (อ้างจาก “Thailand’s Gastro-diplomacy,” The Economist, February 23, 2002, p.48) (แปล) “แน่นอนว่าประเทศเล็กๆทั้งในเอเชียและภูมิภาคอื่นก็ได้ประโยชน์จาก Soft Power เช่นกัน เกาหลีใต้ และ ประเทศไทย ก็มีอำจาจดึงดูดชาติอื่นๆด้วยความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและและการพัฒนาประชาธิปไตย และประเทศไทยก็ยังได้พบว่าชาวต่างประเทศรักอาหารไทย แล้วรัฐบาลก็ตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนร้านอาหารไทยนอกประเทศไทย ‘นัยว่าจะเป็นการช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆให้ดีลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น’”
นั่นคือปรากฏการณ์ Soft Power จากประเทศไทยที่ศาสตราจารย์ Joseph Nye, Jr. สังเกตเห็นผ่านสื่อมสวลชนอังกฤษ เมื่อ 22 ปีที่แล้ว เฉพาะย่อหน้าเดียวที่ ศาสตราจารย์ Joseph Nye, Jr. กล่าวถึงประเทศไทย ก็สามารถนำหลักการความคิดรวบยอดเรื่อง Soft Power ของท่านมาอธิบายปรากฏการณ์ Soft Power ของไทยได้ดังนี้: 1. ประเทศไทย โดยภาครัฐรู้จักเรื่อง Soft Power และพยายามจะใช้อำนาจมิติอันนุ่มนวลนี้มาแล้วตั้งแต่ปี 2002 ถ้าจะอ้างถึงปีที่ The Economist รายงานข่าวนี้ 2. ประเทศไทยเข้าใจถูกต้องแล้วในปี 2002 ว่า Soft Power เป็นเรื่องการทำให้ชาติอื่นรักประเทศไทยด้วยโครงสร้างทรัพยากรอำนาจหลัก (2) ใน (3) ประการคือ (2) ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอันเป็นผลพวงจากนโยบายต่างประเทศ และ (3) การพัฒนาประชาธิปไตย อันเป็นเรื่องค่านิยมในการสร้างประเทศด้วยระบบการเมืองการปกครองที่ได้มาตรฐานประชาธิปไตยโลก ทำนองเดียวกับเกาหลีใต้ ทั้งสองเรื่องนี้เป็น (2) ใน (3) องค์ประกอบอันเป็นหัวใจของแหล่งทรัพยากรอันเป็นที่มาของพลัง Soft Power ที่ดึงดูดให้ชาติอื่นนิยมชมชอบและรักประเทศไทย ส่วนองค์ประกอบที่ (1) ที่รัฐบาลไทยเพิ่งค้นพบในปี 2002 ในบริบท Soft Power เป็นเรื่องวัฒนธรรม ซึ่งอาหารไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยและรัฐบาลไทยค้นพบว่าความรักอาหารไทยจากชาวต่างชาติเป็นพลังดึงดูดให้ชาวต่างชาติรักประเทศไทยได้ แล้วรัฐบาลไทยในปี 2002 จึ่งเริ่มมีนโยบายสนับสนุนอย่างเต็มที่ในเรื่องการเพิ่มจำนวนร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ไม่ใช่เพื่อให้ต่างชาติมากินอาหารไทยมากขึ้นเฉยๆ แต่เพื่อให้ต่างชาติรักประเทศไทยมากขึ้น อย่างหนึ่งก็โดยการให้ต่างชาติได้มีโอกาสเข้าถึงอาหารไทย วัฒนธรรมไทยที่เขารักได้อย่างทั่วถึงทั่วโลกมากขึ้น และเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องนโยบายต่างประเทศและเรื่องวัฒนธรรมไทยผสมอยู่ในแหล่งทรัพยากรแห่งอำนาจนุ่มนวลอำนาจเดียวกัน ไม่ใช่การขายอาหารไทยเพื่อการมีรายได้มากขึ้นจากนักท่องเที่ยว แต่เป็นการทำให้ชาวต่างชาติรักประเทศไทยมากขึ้น เพื่อเพิ่มพูนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นสำคัญ 3. พลัง Soft Power มาจาก (1) วัฒนธรรม (2) ค่านิยม อุดมการณ์ และสถาบันทางการเมือง และ (3) นโยบายต่างประเทศ ในเรื่องวัฒนธรรมไทยเป็นพลังดึงดูดให้ชาติอื่นรักและชื่นชมนั้น เป็นเรื่องที่คนไทยทราบดีมานานแล้วเพียงแต่ไม่ได้นิยามว่าเป็น “อำนาจ” ดึงดูดให้คนอื่นรักแต่อย่างใดนอกจากจะภูมิใจว่าเรามีวัฒนธรรมที่โลกรัก แต่พอมารู้ว่าวัฒนธรรมเป็นที่มาของอำนาจ Soft Power ก็กลายเป็นเรื่้องสับสนบานปลายกลายเป็นคิดกันว่าวัฒนธรรมเป็นสินค้าขายออกต่างประเทศเพื่อทำรายได้ให้มากขึ้น ไม่ใช่เพื่อให้ชาติอื่นชื่นชมหลงรักโดยธรรมชาติ เป็นที่มาของความไม่ถูกต้องที่กิดขึ้นในปี 2024 ปีปัจจุบัน ค่านิยมด้านสาถบันทางการเมืองของไทยในปี 2002/2545 ในบริบทแห่งกาลเวลานั้น ประเทศไทยถือเป็นแบบอย่างได้ในการพัฒนาประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 2540 นั้น ประชาชนไทยทั้งประเทศกับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 99 คน ร่วมกันร่างและเพิ่งประกาศใช้มาได้ 5 ปีด้วยความราบรื่นเป็นแบบอย่างสำหรับรัฐสมาชิก ASEAN และโลกก็เฝ้าจับตาดูด้วยความยินดี มีการเลือกตั้งตามแบบประชาธิปไตยทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ทั้งสองสภาเลือกตรงจากประชาชนทั่วประเทศ มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระถ่วงดุลย์อำนาจที่อาจจะฉ้อฉล ทุจริตคอร์รัปชั่นในหมู่นักการเมืองและข้าราชการได้ อย่างน้อยก็พอมีความหวังในระดับแรกเริ่ม การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยก็อยู่ระดับบนของ ASEAN เป็นที่สองที่สามรองจาก Singapore และ Malaysia ธนาคารโลกจัดประเทศไทยเป็นประเทศที่ประชาชนมีรายได้ปานกลางขั้นกลางถึงขั้นสูง ฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็วหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลกในช่วงก่อนและหลังปี 1997 ทั้งเศรษฐกิจและการเมืองที่อยู่ในระดับเป็นแบบอย่างที่ดี ประเทศไทยมีพลังดึงดูดให้นานาชาติชื่นชมยกย่องและหลงรักได้อย่างน่าภูมิใจ หลังจากการประชุมสุดยอด ASEAN ที่ชะอำ-หัวหิน ปี 2008 และความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มชนในประเทศยังผลให้โครงสร้างทางการเมืองและสังคมประชาธิปไตยในประเทศไทยไถลลงต่ำเป็นระยะแทรกซ้อนด้วยระบบการเมืองที่มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างมากมายกระจายทั่ว แถมการแทรกซ้ำทำลายกระบวนการประชาธิปไตยด้วยอำนาจแข็งของฝ่ายทหารที่เข้าแทรกแซงการเมืองอย่างฉับพลันถึงสองครั้ง มาถึงวันนี้ ค่านิยม อุดมการณ์ทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศของไทยไม่มีพลังแห่ง Soft Power หลงเหลืออยู่เลยในภาครัฐ 4. ที่ยังมีเหลืออยู่คือพลังทางวัฒนธรรม แต่พลังอำนาจทางวัฒนธรรมก็เป็นของประชาชนและสังคม ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐ ดังที่ทราบเป็นหลักการแล้วว่า (1) Soft Power นั้นมากจาก วัฒนธรรม ค่านิยมทางสังคมและการเมือง และ นโยบายต่างประเทศ (2) Soft Power นั้นเกิดขึ้นในสองส่วนของสังคม คือภาครัฐ และ ภาคประชาชน
เมื่อภาครัฐล้มเหลวไปแล้วในขุมพลัง Soft Power ยกเว้นเรื่องวัฒนธรรม แต่พลังวัฒนธรรมนั้นก็เป็นเรื่องที่สังคมและประชาชนวิวัฒนาการสร้างสรรค์ขึ้นกันเองโดยธรรมชาติและกาลเวลาบนเส้นทางประวัติศาสตร์ รัฐมิควรและจะทำไม่ได้ ในการเข้าไปแทรกแซงเรื่องวัฒนธรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงให้เป็นอำนาจที่รัฐบาลจะเอาไปใช้ขายขอความรักจากชาติอื่นตามใจรัฐบาล ศาสตราจารย์ Joseph Nye, Jr. ย้ำว่า:
นี่คือข้อจำกัดของ Soft Power ที่รัฐบาลไทยต้องเข้าใจว่าวัฒนธรรมเป็นของประชาชน รัฐมิควรและต้องไม่เข้าไปแทรกแซงจัดการใหม่ให้กลายเป็นสินค้าส่งขายชาวต่างชาติ แต่รัฐอาจพยายามช่วยสนับสนุนประคับประคองให้วัฒนธรรมของชาติสามารถมีส่วนช่วยเสริมนโยบายต่างประเทศได้ หรืออย่างน้อยๆก็พยายามมิให้วัฒนธรรมเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ศาสตราจารย์ Joseph Nye, Jr. กล่าวว่า: “Soft Power จากและโดยภาคประชาชนนี้อาจจะช่วยเสริมหรือสวนทางกับเป้าหมายของนโยบายต่างประเทศของรัฐอย่างเป็นทางการ ก็ได้ทั้งสองทาง” ซึ่งการคิดแบบนี้เป็นความจริง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เป็นยุคโลกาภิวัตน์ข้อมูลข่าวสาร บทบาท Soft Power จากภาคประชาชนและเอกชนกำลังมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐจะต้องรักษาบทบาทหน้าที่และนโยบายของรัฐเองต่อภาคเอกชนและประชาสัมคมมิให้กัดกร่อนทำลายแต่ให้สนับสนุน Soft Power ที่เป็นของรัฐเองให้ได้