Thailand is unique among the countries of Southeast Asia in that it has never been a European colony....Thais, unlike most other Southeast Asians, are untouched by a trace of what the psychiatrists call trauma where European are concerned. They treat visitors with neither resentment nor exaggerated respect but rather with a gracious air of quiet curiosity, which makes their guests feel flattered and at ease. More important than its effects upon contemporary tourists have been the consequences of this attitude towards visitors upon Thailand's own colourful history, both early and contemporary." |
อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
PHU HIN RONG KLA NATIONAL PARK
บทภาพยนตร์
อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า PHU HIN RONG KLA NATIONAL PARK ขุนเขาอันเวิ้งว้าง กว้างไกล ไหลเลื้อย เป็นแนวยาว ซับซ้อน ซ่อนความลึกลับบางอย่าง หลังมวลเมฆหมอก. ที่กระจายฟุ้ง พยุงตัว ปกคลุมยอดไม้ และและผืนป่า
ความลึกลับซ่อนเร้นในเทือกเขาแห่งนี้ บดบังไว้โดยป่าดิบทึบ ที่หนาวเย็นตลอดปี ณ ความสูงเฉลี่ย 1,300 เมตร เหนือระดับระดับน้ำทะเลปานกลาง ที่สูงที่สุด สูงถึง 1,820 เมตร คือยอดเขาชื่อ ภูหมันขาว ยอดเขาภูลมโล สูง 1,664 เมตร สูงลดลงมา ที่ 1,614 เมตร คือยอดเขาเบื้องหน้านี้ ที่นี่ คือ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เทือกเขา เหยียดตัวยาว จากเหนือสุด ติดชายแดนลาวด้านแขวงไชยบุรี เรื่อยลงมาทางใต้ ในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ แห่งราชอาณาจักรไทย ภูหินร่องกล้า ด้านตะวันตก ด้านใต้ และด้านตะวันออกเป็นหน้าผาชัน ทางเหนือ แนวภูเขาเอียงเทลง มีรอยแตกเลื่อนของเปลือกแผ่นหินขนาบทั้งสองด้าน แผ่นหินเปลือกโลกที่ปรากฏตัว โผล่ พ้น บนผิวดิน เห็นเป็นร่องหินแตกแยก เป็นแนวยาว หาญกล้า ท้าทายแรงกัดกร่อนของพลังธรรมชาติมานานอย่างไม่ย่นย่อ พลังกัดกร่อนจากพายุและฝนฟ้าอุกาบาต แต่บรรพกาล ยังคงโหมกระหน่ำต่อไป แต่ความทรนงของภูผาหินก็ไม่แสดงความหวั่นไหว สะทอสะท้าน เพราะที่นี่คือ ภูหิน .... ร่องกล้า อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า มีเนื้อที่เพียง 307 ตารางกิโลเมตร ไม่ถึง 1 ใน 3 ของอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เล็กกว่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 7 เท่า แต่ที่นี่สามารถเก็บความลึกลับไว้ได้ยาวนาน ปลายข้างหนึ่งของเทือกเขาที่ลาดลงทางทิศเหนือ ที่ขนาบด้วยรอยเลื่อนสองข้าง เป็นหินในกลุ่มหรือชุดหินโคราช (Khorat Group) บนยอดเขา เป็นหมวด หรือหน่วยหินภูพาน (Phu-phan Formation) ที่มุดตัวลงทางทิศเหนือเป็นหมวด หรือ หน่วยหินโคกกรวด (Khok- Kruat Formation) สันนิษฐานว่าหินที่มีชื่อเรียก”กลุ่ม - หรือ ชุดหิน” (Group) และ “หน่วยหิน” (Formation) แตกต่างกันนี้เกิดจากการสะสมของตะกอนแม่น้ำ (Braidded Stream) ในยุค Cretaceous ตอนต้น ถึงตอนกลาง อายุ 120 - 100 ล้านปีในมหายุค Mesozoic ซึ่งเป็นปลายของช่วงเวลาที่ยังมีไดโนเสาร์อยู่ ก่อนจะสูญพันธุ์ไปเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว เป็นช่วงเวลาที่เริ่มมีพันธุ์ไม้ดอก และหอยน้ำจืด อายุหิน กลุ่มหินโคราช ที่ภูหินร่องกล้า ต่อข้ามจากยุค Cretacious ในมหายุค Mesozoic ขึ้นมาถึงยุค Tertiary ตอนต้น ซึ่งอยู่ในมหายุค Cenozoic ราว 55 ล้านปีที่ผ่านมา ตอนนั้นไดโนเสาร์ได้สูญพันธุ์ไปแล้วประมาณ 10 ล้านปี มีสัตว์กีบต้นตระกูลม้า มีช้าง หนู ลิง เกิดขึ้นแล้ว ส่วนมนุษย์เราที่เห็นอยู่บนโลกทุกวันนี้ มีต้นกำเนิดมายังไม่ถึงสองล้านปีเท่านั้นเอง [หิน ดิน] โดยทั่วไป ที่เรียกชื่อทางธรณีวิทยาว่ากลุ่มหินโคราช (Khorat Group) นั้น แบ่งย่อยเป็น 8 หมวดหิน ลำดับจากชั้นล่างสุดลึกสุด ขึ้นมาบนสุดหรือตื้นที่สุด. คือ :
หมวดหินภูพาน อยู่ชั้นบน บนยอดเขาภูหินร่องกล้า ส่วนหมวดหินโคกกรวด มุดตัวลาดลงทางทิศเหนือของเทือกเขา หมวดหินภูพาน มีลักษณะโดดเด่น ประกอบด้วยหินทราย ปนหินกรวดมนชั้นหนา วางระดับชั้นหินแบบเฉียง ชั้นหินหนาประมาณ 114 เมตร พบสารประกอบพวกคาร์บอนในหมวดหินภูพาน และถ้าหากในอนาคตเกิดจะพบซากฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ ก็ควรจะพบได้ในชั้นหินหมวดหินภูพานนี้ หมวดหินโคกกรวด ชั้นบนขึ้นมา เป็นหินทราย หินทรายแป้ง และหินทรายแป้งปนปูน (Caliche-siltstones) หินกรวดมน เป็นชั้นหนาประมาณ 709 เมตร อาจมีโอกาสพบซากดึกดำบรรพ์เศษชิ้นส่วนของไดโนเสาร์กินพืข เต่า และปลา ภูหินร่องกล้า คงถูกแรงบีบอัดจากตะวันออกเฉียงเหนือ และ ตะวันตกเฉียงใต้พร้อมๆกัน ทำให้เกิดสภาพโก่งงอเหมือนประทุนคว่ำ เกิดรอยแตกสองแนวตั้งฉากกัน ผ่านกาลเวลา ผ่านกระบวนการกัดกร่อน ผุพัง ทำลาย โดยพลังธรรมชาติ ผ่านมาจนเมื่อประมาณ 40 ล้านปีที่ผ่านมานี้เอง ได้เกิดรอยเลื่อนใหม่ขึ้นมาอีกสองข้างของเทือกเขา ในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ และ ตะวันตกเฉียงใต้ และมีรอยเลื่อนทางด้านตะวันออกเป็นแนวเหนือ-ใต้ แนวหินบนภูหินร่องกล้าส่วนกลางยกตัวสูงขึ้น แต่ทางแนวตะวันตก-ตะวันออกทรุดลงต่ำ ชั้นหินทางทิศใต้พบว่ามีการเคลื่อนตัวยุบลงมากกว่าด้านเหนือ การผุพังสึกกร่อนตามธรรมชาติและกาลเวลาก่อกำเนิดหน้าผาสูงทางทิศตะวันออก และตะวันตก หน้าผาด้านตะวันตกไม่ได้เกิดจากรอยเลื่อน หากแต่เป็นเพราะการผุพังตามรอยแนวแตก (Joint) เห็นชัดเจนทางตะวันตกเฉียงเหนือ และ ตะวันออกเฉียงใต้ รอยแตกของแผ่นหิน ทั้งหลายที่ภูหินร่องกล้า กลายเป็นลานหินขนาดใหญ่ รูปลักษณะและขนาดแตกต่างกันไป ดังที่เห็นและถูกเรียกชื่อในปัจจุบันว่า ลานหินแตก ลานหินปุ่ม และ ลานหินเอนกประสงค์ ลานหินแตกนี้ เป็นหมวดหินภูพาน ประกอบด้วยหินทราย และหินกรวดมน กว้าง 1 กิโลเมตร ยาว 2 กิโลเมตร รอยแตกเป็นทางยาว แนว ตะวันออก-ตะวันตก ระดับลึกแตกต่างกันไป ระยะห่างระหว่างร่องรอยแตก 1 - 5 เมตร รอยแตกแบบแตกตั้งฉากกับการแตกทางลึกก็มี เห็นเป็นระยะๆ บริเวณหน้าผาขอบลานหิน บริเวณพื้นผิวส่วนบน มีรอยแตกตื้นบ้าง ลึกบ้าง เมื่อหินถล่มลงมาทับก็เอียงซ้อนเกยกันเห็นเป็นชั้นเป็นหลืบหินชัดเจน ที่เป็นรอยแตกขนาดเล็ก หรือเป็นแอ่งตื้นก็เกิดการผุพังทลาย และปฏิกริยาทางเคมีและฟิสิกส์ กัดเซาะหินเป็นแท่ง เมื่อปะทะกับลมและน้ำรอยแตกเล็กห็กลายเป็นทรงกลมมน ดินทับถมสะสมตามกาลเวลาแห่งโลกยุคดึกดำบรรพ์ กลายเป็น ลานหินปุ่ม รูปร่าง ลักษณะ และ ขนาดหลากหลายต่างกันไป ที่ผิวค่อนข้างเรียบ ไม่ปรากฎปุ่ม หรือร่องหินแตก ก็กลายเป็น ลานหินเอนกประสงค์ ที่ยังคงแข็งแรง รักษารูปทรงไว้ได้ ไม่ทรุดทลายลงมา ก็ปรากฏตระหง่านกลางลานหิน รูปร่างและเรียกชื่อตามจินตนาการ ด้วยที่ภูหินร่องกล้าเป็นเทือกเขาสลับทับซ้อนกัน ความสูงลดหลั่นจากตะวันออก ไปตะวันตก หินที่สลายตัวกลายเป็นดินจะยังคงอยู่ที่เดิม จะเคลื่อนตัวไปก็โดยแรงโน้มถ่วงของโลกเป็นหลัก (Residuum and Colluvium) ลักษณะดินก็เป็นไปตามลักษณะหินต้นกำเนิดของดินนั้นๆ เช่นหินทราย หินดินดาน หินปูน หินควอท์ไซท์ และฟิลไลท์ เนื้อดินเป็นพวกดินร่วน (loam) ดินร่วนปนทราย (sandy loam) และดินเหนียว (clay) [น้ำ] แม้จะเป็นภูหินพื้นที่ไม่กว้างขวางนัก หากจะจำกัดเฉพาะบริเวณที่เป็นอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า แต่ความสามารถในการฟื้นตัวของป่าต้นน้ำลำธารที่ผ่านการบุกรุกถากถางมามากก่อนหน้านี้ มาวันนี้อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าคืนตัวสู่ความเป็นป่าต้นน้ำลำห้วยต่างๆอย่างมุ่งมั่น ที่นี้คือต้นทางของลำน้ำไซ ห้วยออมสิงห์ ห้วยเหมือดโดน ห้วยหลวงใหญ่ และ ห้วยขมึน น้ำตกห้วยขมึนน้อย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เป็นทางผ่านของสายน้ำเล็กๆที่ไหลมาพบช่องหินพอเหมาะพอดีกับสภาพป่าอันสงบที่แวดล้อม ลำธารน้ำเล็กนี้เอง ที่ไหลเรื่อยไป ผ่านอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เป็นทรัพยากรจากป่าอันทรงค่ายิ่งนัก ต่อผู้คนที่อยู่อาศัย ในพื้นที่ชุมชนเบื้องล่าง หรือถ้าหากจะมีใครขึ้นมาอยู่อาศัยในป่าลึกและลับแห่งนี้ในเวลาแห่งอดีต น้ำตกหมันแดง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ขึ้น ตกผ่านโขดหินลดหลั่นลงมาถึง 32 ชั้น ต้นน้ำกำเนิดบนภูเขา ชื่อภูหมันขาว ภูหมันขาวมีน้ำส่งต่อไปยังน้ำตกหมันแดงตลอดทั้งปี น้ำตกร่มเกล้า-ภราดร น้ำตกอื่นๆ และร่องน้ำ สายธาร ใหญ่น้อยในป่าภูหินร่องกล้า นำความชุ่มชื้นสมบูรณ์มาสู่อาณาบริเวณมาเนิ่นนาน อดีตกาลนานก่อนที่ชีวิตนอกป่าจะเข้ามาในอาณาจักรพรรณพืช และชีวิตสรรพสัตว์อันหลากหลาย [ป่า ภูมิอากาศ] แหล่งน้ำและภูมิอากาศแห่งเทือกเขาสูงเหล่านี้ ก่อกำเนิดป่านานาพรรณ จากพื้นที่ราบเชิงเขา ขึ้นสู่ที่สูงบนยอดภู ภูมิอากาศที่ภูหินร่องกล้าใกล้เคียงกับที่ภูกระดึง เพราะมีระดับความสูงไม่ต่างกันนัก ในฤดูหนาว อุณหภูมิลดลงต่ำได้ ระหว่าง 4-0 C หมอกเมฆลอยต่ำปกคลุมกุมความลึกลับแห่งภูผาไว้ได้ตลอดฤดูกาล ฤดูร้อน อากาศเย็นสบาย ถึงหน้าฝน ฝนก็ตกมากตลอดฤดู อุณภูมิเฉลี่ยทั้งปี 18-25 C ก่อนที่ความลับของภูหินร่องกล้าจะถูกเปิดเผยต่อผู้คนเบื้องล่างของภู และคนในเมืองที่อยู่ห่างไกลจากที่สูงของจังหวัดพิษณุโลก และ จังหวัดเลย พื้นที่แถบนี้ถูกบุกรุกแผ้วถาง ป่าถูกตัด ทำลายไปมาก ส่วนใหญ่ก็โดยประชาชนที่ใช้ชีวิตและตั้งบ้านเรือนชุมชนบนเขาสูงต่ำรอบบริเวณ ในอดีตที่เคยอุดมสมบูรณ์ ภูหมันขาว ซึ่งสูงสุดถึง 1,820 เมตร ภูลมโล ซึ่งมียอดภูสูง 1,664 เมตร ภูหินร่องกล้า ซึ่งสูง 1,614 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง รวมถึงภูแผงม้า และภูขี้เถ้า ทั้งหมด มีทั้งป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ บนเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ไปสู่น้ำตกหมันแดง อยู่ในเขตตำบลกกสะท้อน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ทางเดินผ่านป่าดงดิบเขาอันสมบูรณ์ ป่าดิบเขา (Lower Montane Rain Forest / Hill Evergreen Forest) ที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้านี้ อยู่ในสภาเดิม ไม่ถูกทำลาย ขณะที่ป่าแบบอื่นๆได้ถูกแผ้วถางตัดโค่นไปมากก่อนที่มีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเพื่ออนุรักษณ์ และฟื้นฟูภูหินร่องกล้าให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม เฉพาะป่าดิบเขาที่นี่ พบเหลือเป็นผืนป่ากว้างใหญ่ทางตอนใต้ ตั้งแต่ระดับความสูง 1,200 เมตรขึ้นไป มีเรือนยอดของไม้ชั้นบนแน่นทึบชิดติดกัน ส่วนที่ติดริมลำธาร และที่ลุ่มดอน ดินลึก ชุ่มชื้นตลอดปี ที่ถูกไฟป่า แล้วกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ก็จะเป็นป่าโปร่งปะปนกันไป พรรณไม้ป่าดิบเขามีพวก พะอง ยมหอม ก่วมแดง จำปีป่า ก่อ ชนิดต่างๆ และสารพันพรรณไม้อื่นของป่าดิบในที่สูง ป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp Forest / Dry Deciduous Forest) ส่วนใหญ่ถูกตัดทำลายไปเกือบหมด พบเหลืออยู่บ้างแถบเชิงเขา และที่ลาดเชิงเขา สูงประมาณ 600 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ป่าเบ็ญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest) เหลือเป็นหย่อมเล็ก สลับกับป่าเต็งรัง ป่าเบ็ญจพรรณจะอยู่ได้ในที่ดินลึกกว่าป่าเต็งรัง เหลือเป็นพื้นที่แนวแคบๆตรงรอยต่อกับป่าดิบแล้ง ป่าดิบแล้ง เคยขึ้นบนที่สูง 300-800 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ทั้งป่าเบ็ญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ต่างก็ถูกตัดโค่นทำลายไปจนเกือบหมดสิ้น ก่อนที่จะมาเป็นอุทยานแห่งชาติ ที่ไม่มีใครทำลาย ปล่อยไว้ให้คงอยู่ในทุกวันนี้ คือป่าละเมาะเขา (Lower Montane Scrub) อยู่ตามที่โล่งลานหิน โดยเฉพาะบนเทือกเขา ภูหินร่องกล้า เป็นป่าละเมาะไม้แคระแกร็นเล็กๆตามซอกหิน กาฝาก หรือที่เรียกว่า “พืชอิงอาศัย” ทั้งหลาย ป่าที่ภูหินร่องกล้าที่ได้รับการฟื้นฟูหลังการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติจะยังคงต้องอาศัยกาลเวลาในการวสร้างสังคมป่าต่อไปอีกนาน [สัตว์ป่า นก] บรรดาสัตว์ป่าที่แต่ก่อนเคยอยู่อาศัยกันมาอย่างสุขสมบูรณ์ ก็กำลังค่อยๆสร้างชีวิตใหม่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยกว่าเดิม สัตว์ป่ากว่า 325 ชนิดที่สำรวจพบ มีทั้ง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน และนก เคล้าคละกระจายตามลานหิน ด้วยอิทธิพลของน้ำที่ขังในแอ่งและซอกแตกต่างๆในอุทยานแห่งชาติภูหินรองกล้า คือนานาพรรณไม้ดอก ซึ่งผลิบานต่างพันธุ์ ต่างเวลา ตระการตา ตลอดปี งานสำรวจประหว่างปี 1530 - 2531 เพื่อจัดทำแผนแม่บทอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก และ จังหวัดเลย พบว่า ที่นี่มีพรรณไม้ดอกบนลานหินมากถึง 88 ชนิด ช่วงเดือนกันยายน ถึง ตุลาคม จะเป็นช่วงที่ดอกไม้บนลานหินออกมาก และ อุดมสมบูรณ์ที่สุด เทียบกับช่วงเวลาอื่นตลอดปี เป็นช่วงปลายฝน ต้นหนาว น้ำฝนยังขังอยู่ในลานหินตามแอ่งน้ำใหญ่น้อยต่างๆ มีหญ้าและมอสขึ้นนวลเรียบดุจพรมกำมะหยี่ หญ้าข้าวก่ำน้อย กลีบดอกสีม่วงน้ำเงิน โดดเด่นบนลานหิน มี เอื้องดิน เอื้องคำหิน กระเจี้ยง จะเบ่งบานตามมา ราวๆเดือนมกราคม จะเห็น เอื้องสามดอก สะเม็ก หน้าร้อน เดือนมีนาคม และ เมษายน เป็นเวลาของ กุหลาบขาว และ อ้าหลวง เดือนพฤษภาคม ต้นฤดูฝน ไม้ล้มลุกหลายชนิดเริ่มบานสะพรั่ง ดอกกล้วยไม้ดารดาษทั่วลานหิน โดยเฉพาะ เปราะภู และ เอื้องงาช้าง เดือนมิถุนายน ถึง สิงหาคมเวลาที่ฝนมา หมู่ไม้ดอกต่างๆรับน้ำฝนอย่างไม่ขาดตอน เร่งการเจริญเติบโต ให้ทันกับการผลิดอกปลายฤดูฝน เดือน กรกฎาคม ถึง สิงหาคม เป็นเวลาของกล้วยไม้ดิน ลิ้นมังกร ลิ้นมังกร เป็นดาวดอกดวงเด่นแห่งภูหินร่องกล้าในหน้าฝน ไม่ต้องทนรอเวลาในหน้าหนาว พบขึ้นตามริมธาร บนโขดหิน ซอกหินที่ชุ่มชื้น ลิ้นมังกรดอกสีส้มจะพบตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ และลานหินต่างๆ ช่อดอกออกปลายยอดจากใบปลายแหลม ขอบขนาน รูปรี กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน กลีบปากมีหลายสี ส้ม เหลือง ชมพู และ แดง กลีบปากมีขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่น แผ่นกลีบเว้าลึกเป็น 3 พู ระหว่างเดือนกันยายน ถึง ตุลาคม มี เอื้องคำหิน เปราะภู เปราะหิน ตาเหิน เฒ่านั่งฮุ่ง พืชบนลานหินโดยทั่วไปนั้นจะต้องปรับตัวให้ทนต่อสภาพความแห้งแล้งบนลานหินได้ พวกที่ปรับตัวด้วยการหนีแล้ง (Drought Avoidance) เป็นพืชลัมลุกฤดูกาลเดียว (Annual Herb) พรรณไม้กลุ่มนี้จะอาศัยน้ำฝนที่ขังอยู่ในแอ่งหินเติบโตอย่างรวดเร็วออกดอกติดเมล็ดในฤดูเดียวแล้วตาย เป็นการหยุด พักตัวในหน้าแล้งที่ขาดน้ำ ตานฟัก ครามป่า ขมิ้นนาง หรือขมิ้นต้น คือตัวอย่างของพืชดอกประเภทนี้ สำหรับพวกที่ทนแล้งได้ (Drought Tolerance) น้ำน้อยก็อยู่ได้ จะมีลำต้นอวบ หรือมีใบหนา เล็ก แคบ ยาว ทำหน้าที่เก็บน้ำ มีขน ป้องกันการคายน้ำในยามแล้ง หลายชนิดมีสีอ่อน เช่นสีเขียวอมเทา ทำหน้าที่สะท้อนแสงอาทิตย์ออกไปได้บ้าง สารภีป่า กำยาน มือพระนารายณ์ ส้มผด เอื้องคำหิน เอื้องนิ้วนาง เป็นไม้บนลานหินในกลุ่มนี้ ลานหินแตกแห่งภูหินร่องกล้า ปรากฏสังคมพืชที่แตกต่างไปจากที่อื่นอย่างเด่นชัด เป็นลักษณะเฉพาะพื้นที่ดินหินบริเวณนี้ ที่เป็นหินทราย เก็บความชื้นได้ดีกว่าหินประเภทอื่น จึงเป็นที่เติบโตของพืชมากมายหลายชนิดกว่าที่อื่น สภาพภูมิประเทศ ที่มีทั้งหน้าผา ร่องหิน และลานกว้าง ร่องหินอาจลึกมาถึง กว่า 10 เมตร กระจัดกระจายสลับกับลานหินกว้าง ร่องหินเก็บน้ำไว้ได้นาน ส่วนลานหิน และ ผาหิน รับแสงสว่างได้มากกว่า รับลมแรงได้ตลอดเวลา ระบบนิเวศน์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ก่อกำเนิดพฤษาชีวาภาพอันหลากหลาย ยากที่จะทีใดมาเปรียบได้ การปรับตัวของพืชไม้พุ่มไม้ดอกบนลานแตก ณ ภูหินร่องกล้า เป็นวิวัฒนาการ ซึ่งแม้ปัจจุบันก็ถือว่ายังอยู่ระหว่างกระบวนการปรับตัวให้ฝ่ายที่แข็งแรงกว่า อยู่รอดได้ต่อไป “Survival of the Fittest” “ผู้ปรับตัวได้เหมาะสม ก็อยู่รอดได้” ดังคำของนักทฤษฎีวิวัฒนาการที่อธิบายผลการศึกษาของ Charles Darwin เรื่อง On the Origin of Species หรือ “ว่าด้วยต้นกำเนิดของชนิดพันธุ์แห่งชีวิต” พิมพ์เผยแพร่เมื่อ ปี 1859 หรือ พ.ศ. 2402 นักพฤกษ์ศาสตร์ไทยส่วนหนึ่งลงความเห็น ในปี 2531 ระหว่างทำแผนแม่บทอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าว่า (“อ้างจากเอกสารแผนแม่บท”) “สังคมพืชบนลานหินที่อยู่กลางแจ้งนั้น เป็นสังคมพืชที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงแทนที่ ซึ่งยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่า ‘Climax Community’ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนต่างๆหลายระยะ บริเวณลานหินกลางแจ้งนั้นเป็นลานที่มีสภาพโล่งเรียบ ซึ่งจะต้องผ่านขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า การเปลี่ยนแปลงแทนที่ (Succession) เริ่มจากพวก Crustose Lichens ที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้บนแผ่นหิน หลังจากนั้น เมื่อมี Lichens อื่นๆขึ้นตามมา ซึ่งได้แก่พวก Folios Lichens มีการตายทับถมกันนานเข้า เกิดเป็น Humus พอที่จะเก็บความชื้น ทำให้เกิดสภาที่พอเหมาะแก่การเจริญของพืชชนิดอื่นตามมา ได้แก่พวก Moss หรือพืชดอกขนาดเล็ก พวกพืชล้มลุก .... มีพืชล้มลุกหลายชนิดที่เกิดขึ้นบนลานหิน ซึ่งพืชเหล่านี้โดยตัวของมันเองแล้วจะไม่สามารถขึ้นบนหินได้เลย หากไม่มีการตายทับถมกันของพวกพืชไร้ดอก แล้วทำให้มี Humus เกิดขึ้น พืชล้มลุกเหล่านี้ ได้แก่ จ๊าฮ่อม เฒ่านั่งฮุ่ง ปอหยุมยู่ หญ้าดอกคำ เปราะภู บางบริเวณก็พบว่ามีไม้พุ่มบางชนิดที่ทนทานต่อความแห้งแล้งขึ้นมาแล้วด้วย เช่น ส้มผด หรือ ไม้ล้มลุกบางชนิด ซึ่งนานเข้า พวกพืชขนาดใหญ่อื่นๆ (ก็) สามารถขึ้นได้ พวกไม้ยืนต้นที่พบนั้น ได้แก่ มะกอกเกี้ยม เสม็ดชุน พวกไม้ใหญ่ที่พบนั้นจะต้องมีระบบรากที่ตื้นและแผ่ไปได้ตามแนวขนานด้วย สังคมพืชบนลานหินนั้นยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ และไม่มีลักษณะเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด...ตลอดทั้งลานหินนั้น ลักษณะสังคมพืชจะอยู่ในระยะต่างๆกันมากมาย ตั้งแต่ ลานหินเกลี้ยง ลานหินที่มี Lichens จนกระทั่งที่มีไม้ยืนต้นขึ้นอยู่ได้ สภาพภูมิประเทศที่แตกต่างไป น้ำในฤดูฝนพัดพาเอากลุ่มพืชหลุดไปจากลานหิน.... เกิดเป็นลานหินเกลี้ยง ลม..ในฤดูแล้ง...(ทำให้บางบริเวณกลายเป็น) กลายเป็นลานหินโล่งขึ้นมาใหม่ ทำให้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบางบริเวณ เวียนเกิดซ้ำได้อีก” [ดอกพญาเสือโคร่ง] พญาเสือโคร่งผงาดป่าภูหินร่องกล้าเวลาหนาว ตอนปลายปี ต่อไปถึงต้นปีใหม่อีกสองเดือน หมู่ไม้ป่าอื่นในพื้นที่หลบบารมีของพญาไม้ป่าแห่งขุนเขานี้อย่างนอบน้อม นางพญาเสือโคร่ง เป็นชื่อไม้ป่าดอกงามอ่อนช้อย ชื่อสะท้อนบอกร่องรอยของการเป็นเจ้าป่านางพญาบุหลันมาลี ขึ้นปีใหม่ นานอย่างน้อยสองเดือน จะเห็นทั้งป่าผงาดฟ้าด้วยดอกสีชมพูขาว ดาษดื่นทั่วพื้นเขาที่สูงกว่า 1,000 เมตรขึ้นไป สมเป็นนางพญาป่าเขาอย่างแท้จริง นางพญาเสือโคร่งเป็นพรรณไม้ที่พบในภาคเหนือของไทย ที่นี่พิษณุโลกและเลย ตลอดจนในจังหวัดอื่นๆ เช่น เชียงราย เชียงใหม่ น่าน และเพชรบูรณ์ ในภูถาน เนปาล จีน และ อินเดีย จึงได้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Wild Himalayan Cherry หรือ “เชอร์รี่แห่งเทือกเขาหิมาลัย” ทำให้เราชาวไทยนิยมเรียกดอกนางพญาเสือโคร่งว่า ดอกเชอร์รี่ หรือ ดอกซากุระเมืองไทย เพราะมีลักษณะคล้ายดอกซากุระของญี่ปุ่น แม้ว่าจะเป็นไม้ต่างชนิดกันก็ตาม ภาคเหนือบางถิ่นก็เรียกว่า ชมพูภูพิงค์ ฉวีวรรณ เส่คาแว่ เส่แผ่ แส่ลาแหล บ้างก็เรียก “ซากุระดอย” ก็มี นางพญาเสือโคร่ง ออกดอกฤดูหนาว เดือน ธันวาคม - กุมภาพันธ์ ส่วนดอกซากุระที่ญี่ปุ่น จะออกดอกในฤดูใบไม้ผลิ เดือนมีนาคม และเมษายน นี่คือ ผาชูธง ที่ซึ่งเคยกุมความลับของภูหินร่องกล้า ครั้งหนึ่ง หลังปี พ.ศ. 2514 มีคนมาหลบซ่อนอยู่ในป่าที่กว่าหมื่นคน นั้นเป็นเวลา 13 ปี ก่อนที่ทางการจะจัดการกับปัญหาจนสามารถประกาศพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าได้ ครั้งนั้น พื้นที่นี้เป็นป่าลึก สูง และ ไกลจากชุมชนเบื้องล่าง ที่นี่เป็นที่ซ่องสุมกำลังของผู้ก่อการร้าย ในนามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เรียกย่อว่า พ.ค.ท. สถาปนาพื้นที่ที่เรียกว่าภู่ร่องกล้า เป็นฐาน “อำนาจรัฐประชาชนเขตภูร่องกล้า”รัฐบาลไทยสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองอย่างหนัก อุดมการลัทธิทางการเมืองที่ตรงข้ามกับของรัฐบาล คืออุดมการสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนคอมมิวนิสต์ ผ่านพรรคคอมมิวนิสต์ในลาวเป็นสำคัญ เริ่มเป็นภัยข่มขู่ความมั่นคงของชาติ ประชาชนส่วนหนึ่ง ทั้งชาวบ้านและชาวเขาเผ่าม้งในพื้นที่แถบนี้ บ้างก็รวมตัวกันหนีการกวาดล้างของเจ้าหน้าที่รัฐไปหาที่ทำกินที่อิ่น บ้างก็รวมหลบเข้าป่า หรือขึ้นเขา เพื่อต่อสู้กับทหารฝ่ายรัฐบาล โดยได้รับการสนับสนุนกำลังอาวุธจากภายนอกประเทศเป็นหลัก ฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยบริเวณนี้ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเลย. และจังหวัดเพชรบูรณ์. ผู้ที่เข้าร่วมขบวนการด้วยเหตุผลต่างๆกัน มีทั้งพวกชาวเขาเผ่าม้งเอง และชาวไทยจำนวนหนึ่ง ซึ่งเริ่มมีปฏิบัติการดึงมวลชนเข้ามาซ่องสุมกำลังเพื่อต่อสู่้กันกับฝ่ายรัฐบาลมากขึ้นหลังปี พ.ศ. 2506 เป็นต้นมา มีการส่งสมาชิกพรรคไปเรียนวิชาการเมืองการทหารและการแพทย์พยาบาลในประเทศลาวแล้วกลับมาปฏิบัติการในพื้นที่ ตั้งโรงเรียนการเมืองการทหารขึ้นมาเองในป่าร่องกล้าแห่งนี้ด้วย ที่เรียนจบแล้วก็กลับไปแอบแฝงตัวในหมู่บ้านข้างล่าง บางส่วนก็คงอยู่ในป่า เป็นกำลังที่ฐานอำนาจรัฐแห่งใหม่นี้ จัดตั้ง “กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย” ในเขต 3 จังหวัด ประจำอยู่ที่เขาค้อ ร่องกล้า และ ป่าหวาย ฐานอำนาจรัฐประชาชนเขตภูร่องกล้าก่อตั้งขึ้นในปี 2514 หลังจากประชาชนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐปราบปรามข่มเหง อพยพมานับจำนวนได้กว่า 15,000 คน ตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่ใจกลางป่าอันสมบูรณ์ มีทั้งที่หมู่บ้านร่องกล้า ห้วยทราย น้ำเข็ก ค้อโป่ ปางช้าง น้ำขาว ป่าหวย ขี้เถ้า ป่าหญ้า และ ทับเบิก ภูร่องกล้าจึงกลายทั้งหมู่บ้านที่ผู้คนใช้ชีวิตเหมือนชาวบ้านทั่วไปที่ต้องการอาหาร เครื่องอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต โรงพยาบาล โรงเรียน ที่ดูและเด็กและคนชรา มีแม้กระทั่งคุก สำหรับกักขังคนที่ทำผิด และเป็นทั้งฐานที่มั่นทางการทหาร มีการจัดการเพื่อสร้างความพร้อมให้กับกองกำลังในการสู้รับ มีที่สะสมอาวุธ มีที่ประชุมอบรม หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 คนในเมือง รวมทั้งนักศึกษาจำนวนหนึ่ง ก็หนีมาอยู่ร่วมขบวนการกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ภูร่องกล้าแห่งนี้ วันที่ 5 สิงหาคม 2524 ฝ่ายรัฐบาลรุกหนัก โดยใช้ “ยุทธการผาเมืองเผด็จศึก” ที่เขตงานเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่เขาค้อพร้อมครอบครัวก็หนีมาที่ภูร่องกล้า จนประชากรเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 25,000 คน ในที่สุดฐานที่มั่นเขตภูร่องกล้าพ่ายแพ้ ต้องปิดตัวลงเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2525 ทิ้งอาคารบ้านเรือน และวัตุสิ่งของต่างๆไว้ จนปัจจุบันกลายเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย และบริเวณศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ และระหว่างรัฐกับประชาชนส่วนหนึ่ง เป็นลักษณะพิเศษของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ที่ไม่เหมือนอุทยานแห่งชาติที่อื่นใด ผาชูธง ยอดเขาสูง 1,614 เมตร สูงเป็นอันดับ 3 ของภูหินร่องกล้า มองเห็นเทือกเขาอันสลับซับซ้อน เคยเป็นที่มั่นมุมเฝ้าระวังของผู้ก่อการร้ายในการต่อสู้กับฝ่ายรัฐ ผาชูธงเคยปักธงรูปฆ้อน-เคียว ปัจจุบันเป็นที่ชูธงแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างสมเกียรติภูมิ เมื่อสันติภาพคืนสู่ ภูร่องกล้า และพื้นที่ทั้งหมดกลายเป็น อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เป็นทั้งอุทยานแห่งพรรณพืชและสัตว์อันมีความหลายหลายทางชีวภาพที่งดงาม เป็นทั้งอุทยานแห่งประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของไทย เดือนกุมภาพันธ์ ชีวิตเก่าค่อยๆร่วงหล่นลงดิน ฐานที่มั่นภูร่องกล้า กลายเป็นอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เป็นที่ศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์สังคมและการเมือง ท่ามกลางวิชาหลักที่มนุษย์ซึมซับมาตลอดตั้งแต่เริ่มเกิดมาสัมผัสกับ ธรรมชาติวิทยา นิเวศน์วิทยา อาณาแห่งชีวภาพที่หลากหลาย เดือนกุมภาพันธ์ ใบเมเปิ้ล เปลี่ยนสีเป็นแดงแสด ร่วงลงดิน ภูร่องกล้า หรือ ภูหินร่องกล้า ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติของไทย ลำดับที่ 48 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 เป็นทั้งประวัติศาสตร์อันฝังรากลึกบนภูผา และ 307 ตารางกิโลเมตร แห่งธรรมชาติอันตื่นตา บนลานหิน และผืนป่า และภูผา แห่งจังวัดพิษณุโลก และ จังหวัดเลย เป็นความยั่งยืนของมวลหมู่ชีวิตที่หลากหลาย ไร้พรมแดน |
Script in English
อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า PHU HIN RONG KLA NATIONAL PARK Soon to be uploaded....
|
Vertical Divider
บทเริ่ม
GRAND TITLE (3'34") |
Vertical Divider
บทนำ
INTRODUCTION (5') |