คณะกรรมการสองชุดนี้เกิดขึ้นมาโดยคำสั่งรัฐบาล วิเคราะห์ได้ว่าเป็นความผิดเพี้ยนไปจากหลักการ Soft Power โดยสิ้นเชิง:
รัฐบาลไทยปัจจุบันนี้ไม่ใช่แบบอย่างของ Soft Power ข้อ (2) ในเรื่องค่านิยมทางสังคมประชาธิปไตย แม้จะมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเข้าสู่สภาฯ แต่นายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง จะอ้างว่ารัฐธรรมนูญให้เป็นได้ ก็อ้างได้ ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ แต่เป็นความผิดแบบแผนประชาธิปไตยอันเป็นค่านิยมมาตรฐานสากล จึงต้องสรุปว่ารัฐบาลไทยปัจจุบันนี้ไม่ได้เป็นแบบอย่างให้โลกรักประชาธิปไตยแบบไทย จึงไม่มีพลังดึงดูดใดๆให้ผู้อื่นรักรัฐบาลนี้ของประเทศไทย -ตามหลักการ Soft Power ข้อ (2)
คณะกรรมการทั้งสองเกิดขึ้นโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี เป็นคำสั่งให้ทำสิ่งที่ควรเป็นการดึงดูดโน้มน้าวใจให้ทำโดยไม่ต้องออกคำสั่ง แบบนี้ถือเป็นการใช้อำนาจแข็ง หรือ Hard Power ไม่ใช่ Soft Power ดังนั้นคณะกรรมการทั้งสองจึงไม่มีพลังดึงดูดอะไรนอกจากจะไปประชุมกัน กำหนดแผนงาน ของบประมาณมาใช้ ออกคำสังให้ผู้อื่นทำตามคำสั่งโดยจัดเงินให้ใช้ เป็นการใช้เงินสร้าง Soft Power จึงผิดหลักการ เพราะเงินเป็น Hard Power อีกทั้งประธานกรรมการทั้งสองชุดก็มิได้มาจากคำสั่งแต่งตั้งที่เป็นประชาธิปไตย เพราะเป็นที่เชื่อกันในระดับประเทศว่ามีบุคคลผู้มีอำนาจนอกรัฐบาลเป็นผู้กำหนดและแต่งตั้งอยู่เบื้องหลัง ความรู้สึกของประชาชนเช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อการสร้าง Soft Power แน่นอน
กรรมการทั้งสองคณะมีชื่อแปลกๆราวกับว่าเป็นกรรมการที่จะสร้างและวางแผนการใช้ Soft Power: (1) โดยกรรมการชุดใหญ่นำโดยนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่วางแผน หรือกำหนด “ยุทธศาสตร์” การใช้อำนาจ Soft Power โดยสมมุติฐานว่ามี Soft Power อยู่แล้ว รู้ว่ามันคืออะไรและอยู่ที่ไหน จะเอามาใช้แบบไหนอย่างไร เพราะกรรมการชื่อ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ”
(2) ส่วนกรรมการชุดเล็กนำโดยหัวหน้าพรรคผู้เป็นลูกสาวของเจ้าของ พรรคเพื่อไทยที่สั่งให้ประธานกรรมการชุดใหญ่เป็นนายกรัฐมนตรีก่อนแล้วจึงสั่งอีกทีให้ไปเป็นประธานกรรมการชุดใหญ่กำกับงานของกรรมการชุดเล็กที่นำโดยหัวหน้าพรรคผู้มีอำนาจกำกับประธานกรรมการชุดใหญ่อีกทีหนึ่ง สรุปว่ากรรมการชุดใหญ่ใหญ่กว่าชุดเล็ก แต่ประธานกรรมการชุดเล็กใหญ่กว่าประธานกรรมการชุดใหญ่ กรรมการชุดเล็กชื่อ “คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ” หมายความว่า ‘ชาติ’ ยังไม่มี Soft Power จำจะต้องสร้างและพัฒนาขึ้นมา ใหม่ จะสร้างและพัฒนาอะไรจากอะไรเป็นอะไรก็แล้วแต่ ถ้ารู้ว่า Soft Power คืออะไร หาได้ที่ไหนก็คงสะดวกมากที่จะเอามาพัฒนาใช้ คิดราวกับว่า Soft Power เป็นวัตถุที่จับต้องได้แต่ยังไม่ได้ถูกขัดเกลาปรับแต่งเอามาใช้ จะอย่างไรก็ตามกรรมการชุดเล็กที่ประธานมีอำนาจเหนือชุดใหญ่นี้จะต้องพัฒนา Soft Power ให้เกิดขึ้นเป็นจริงจับต้องได้เสียก่อนแล้วจึงค่อยส่งต่อให้กรรมการชุดใหญ่นำไปใช้ตามยุทธศาสตร์ หากตรรกะเป็นเช่นนี้ก็ยังไม่จำเป็นจะต้องมีกรรมการชุดใหญ่ หรือกรรมการชุดใหญ่ยังไม่มีงานทำจนกว่าชุดเล็กจะทำงานเสร็จก่อน หากทำงานก่อนชุดเล็กก็จะเป็นการสิ้นเปลืองค่าเบี้ยประชุมไปโดยเปล่าประโยชน์ แถมจะเสียเวลาอันมีค่าของบุคคลสำคัญทั้งหลายที่เป็นกรรมการในชุดใหญ่นี้ด้วย:
สมมุติว่าเราจะลองปล่อยให้กรรมการชุดเล็กทำงานพัฒนา Soft Power ให้ประเทศชาติไปก่อนก็จะเป็นเรื่องยากลำบากอีก เพราะความพยายามที่จะสร้าง Soft Power โดยรัฐบาลตั้งกรรมการมาทำงาน ไม่ใช่นโยบายต่างประเทศ แต่เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี ส่วนรัฐมนตรีีต่างประเทศเป็นเพียงกรรมการคนหนึ่งเท่านั้น และกระทรวงการต่างประเทศเองก็ไม่ปรากฏว่ามีนโยบายต่างประเทศที่สะท้อนความประสงค์เรื่อง Soft Power โดยตรงเหมือนที่นายกรัฐมนตรีอยากทำในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เมื่อ Soft Power ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศโดยตรง Soft Power โดยสำนักนายกรัฐมนตรีจึงผิดเพี้ยนไปจากหลักการที่ศาสตราจารย์ Joseph Nye, Jr. กำหนดไว้ ดังนั้นหากว่าใครในภาครัฐจะรับผิดชอบเรื่อง Soft Power หน่วยงานนั้นจะต้องเป็นกระทรวงการต่างประเทศจึงจะถูกต้องตามหลักความคิดของ ศาสตราจารย์ Joseph Nye แต่ถ้านายกรัฐมนตรีจะเอาผลการประชุมของกรรมการชุดใหญ่ไปบังคับให้กระทรวงการต่างประเทศปฏิบัติเป็นนโยบายต่างประเทศก็ย่อมได้ เรื่องนี้ยังไม่ทราบว่าจะลงเอยอย่างไร เพราะกรรมการยุทธศาสตร์ยังวางยุทธศาสตร์ไม่ได้เพราะยังไม่มี Soft Power บรรจุหีบห่อส่งมาจากกรรมการชุดเล็ก
สรุปได้ตามหลัก Soft Power ว่า รัฐบาลกำลังแทรกแซงและทำลายวัฒนธรรมชองประชาชน เป็นการทำลาย Soft Power ของชาติที่สร้างโดยประชาชนมายาวนาน ถ้ารัฐบาลทำสำเร็จ จากนี้ไปประชาชนก็จะขอเงินงบประมาณจากรัฐเพื่องานวัฒนธรรมเป็นหลัก กลายเป็น Hard Power แห่งวัฒนธรรมไปโดยปริยาย
เฉพาะหน้า เรื่องนโยบายจัดงานสงกรานต์ปี 2567 ที่คณะกรรมการฯ ทั้งสองคณะประกาศคำสั่งแบบ Hard Power ให้ขยายเวลาฉลองสงกรานต์ ที่ปรกติตามประเพณีจะมีสามวัน คือวันมหาสงกรานต์ วันเนา และ วันเถลิงศก โดยมีวันผู้สูงอายุและวันครอบครัวซ้อนสองในสามวันนี้ด้วย แต่กรรมการฯสั่งให้เรียกประเพณีสงกรานต์ว่า “World Water Festival” แล้วประชาสัมพันธ์ไปทั่วโลก แถมบังคับให้ฉลองสงกรานต์กันยาวนานถึง 20 วัน จะมากหรือน้อยกว่านี้ก็แล้วแต่ความเป็นไปได้ในวันเวลาจริงๆ แต่นี่เป็นการใช้อำนาจแข็ง Hard Power แทรกแซงทางวัฒนธรรม หากจะให้สงกรานต์เป็นไปตามคำสั่งรัฐบาลก็อาจต้องออกคำสั่งแทรกแซงทางวัฒนธรรมทุกปีจนกว่ารัฐบาลจะพ้นวาระ
การหาคาวมรู้สร้างความเข้าใจเรื่อง Soft Power จริง ๆ ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากเลย เพียงอ่านหนังสือของ Prof. Joseph Nye, Jr. เรื่อง “Soft Power: The Means to Success in World Politics” เท่านั้นเองก็พอ พิมพ์ขายมา 20 ปีแล้ว ราคา $15.99 (586.68 บาท) เท่านั้นเอง ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ 5,164 ล้านบาทให้สูญเปล่าแถมเป็นการทำลาย Soft Power ให้เสื่อมลงตามอำนาจเงิน 5,164 ล้านบาท ไปด้วย [เท่ากับ 8,802,072.680 (แปดล้านแปดแสนสองพันเจ็ดสิบสอง) เท่า ของราคาหนังสือ)]