Vertical Divider
|
Vertical Divider
|
⚓️
ประสบการณ์อันหลากหลายทางด้านวิทยาศาสตร์ บทบรรยาย โดย สมเกียรติ อ่อนวิมล งาน 104 ปี ชาตกาล พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ วันพุธที่ 3 กรกฎาคม 2562 เวลา 16:00 น. ณ ห้องประชุมภูติอนันต์ โรงเรียนนายเรือ จังหวัดสมุทรปราการ ⚓️ สวัสดีครับ ท่านผู้มีเกียรติ ลูกศิษย์ลูกหา และลูกน้องของ “ครูหงัด” รวมทั้งเพื่อนๆของท่าน หากว่าท่านยังมีเวลาและพลานามัยเหลือพอที่จะมาร่วมงานในวันนี้ได้ เพราะถ้าครูหงัดยังอยู่ในวันนี้ ท่านก็จะมีอายุได้ 104 ปีพอดี.
ผมเป็นคนสุพรรณฯ บ้านเดียวกันกับท่านพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ แต่เกิดหลังท่าน 33 ปี ผมเป็นคนสามชุก บ้านเดียวกับ ก้าน แก้วสุพรรณ ส่วนท่านเป็นคนเดิมบางนางบวช บ้านเดียวกับ สายัณห์ สัญญา ที่ผมอ้างสุพรรณบุรีบ้านเกิดก็เพราะความภาคภูมิใจในถิ่นกำเนิด ได้เป็นคนบ้านเดียวกันกับท่าน พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ บุคคลสำคัญผู้พลิกผันประวัติศาสตร์ของชาติไทยในยามวิกฤติ นอกเหนือจากการเป็นทหารกล้าทรหดอดทน ผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง ติดคุกอังกฤษที่สิงคโปร์ช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ก่อนญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกที่สิงคโปร์ และผ่านสงครามเกาหลี และวีรกรรมอีกหลากหลายที่กองทัพเรือและนักประวัติศาสตร์ไทยได้บันทึกไว้ นับตั้งแต่เวลาที่ท่านต้อง.... “สัญจรจาก” บ้านเกิด “สุพรรณบุรีดินแดนบ้านป่า...เป็นเด็กบ้านนอกคอกนา เสี่ยงโชคชตามากับ” กองทัพเรือ ที่กรุงเทพมหานคร* ก็ขออนุญาตยืมสำนวนนักเพลงคนจนของสายัณห์ สัญญา มาใช้หน่อยครับ *[ต้นฉบับเนื้อเพลง “นักเพลงคนจน” ของสายัณห์ สัญญา: “ความรู้มีเพียงแค่ชั้น ป. 4 ผมสัญจรจากดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี ดินแดนบ้านป่า นักร้องคนซื่อ ที่ชื่อสายัณห์ สัญญาเป็นเด็กบ้านนอกคอกนา เสี่ยงโชคชตามากับเสียงเพลง] อีกสักพักโปรดระวัง อาจจะมีการอ้างอิง ไวพจน์, ขวัญจิต, และ พุ่มพวง ก็ได้ เกิดเป็นคนสุพรรณฯก็อย่างนี้แหละครับ มีคนสร้างตัวจนได้ชื่อเสียงเป็นที่รับรองระดับชาติหลากหลาย ทั้งศิลปินแห่งชาติ นักร้องนักแสดง นักร้องผสมนักวิ่งทนก็มี และที่เป็นนักข่าว ผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ อื้อฉาวระดับชาติ ก็มีอยู่สมัยหนึ่งสั้นๆ ไม่รู้หายไปไหน? หมู่นี้เห็นแกเงียบหายไป สำนวนเก่าของฝรั่งที่ใช้เป็นเพลงร้องกันในกองทัพอังกฤษ ท่อนหนึ่ง ร้องว่า: “Old soldiers never die, they simply fade away.” สำนวนนี้พลเอก Douglas MacArthur นำมาใช้อีกครั้งในสุนทรพจน์อำลาตำแหน่งต่อหน้าที่ประชุมรัฐสภา Congress ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 19 เมษายน 1951. “ทหารเก่าไม่มีวันตาย พวกเขาเพียงแค่ค่อยๆเงียบหายไป” เท่านั้นเอง สำหรับท่านพลเรือเอกสงัด ชลออยู่: He may have died 39 years ago, but he just does not simply fade away. He is still around here somewhere, looking at us, and watching over us, probably with a little bit of worry and concern. ทหารเก่าอย่าง “ครูหงัด” ไม่ได้ตายไปไหน ท่านยังอยู่กับเราในรูปแบบของแนวคิด ปรัชญาชีวิต แบบอย่างของการดำเนินชีวิตลูกทุ่งเลือดราชนาวีผู้รักชาติเหนือชีวิตตน มุ่งมั่นทำงานเพื่อชาติ โดยไม่เห็นแก่ลาภยศสรรเสริญ ไม่ต้องการอำนาจบารมี ความสำเร็จในชีวิตการงานอาชีพนายทหารเรือ ถึงตำแหน่งสูงสุดเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เท่านั้นก็มากเกินพอชีวิตท่านแล้ว ครั้งหนึ่งท่านบอกกับพลเรือตรี นายแพทย์สงบ ชลออยู่ ผู้เป็นน้องชาย ว่า: “เราเป็นลูกนายแปลก ชาวบ้านเมืองสุพรรณฯ เติบใหญ่ขึ้นมาถึงขั้นนี้ได้ก็เกินพอแล้ว” (พันทิวา. ปฎิวัติเพื่อชาติ “จอว์สใหญ่” พลเรือเอกสงัด ชลออยู่, สำนักพิมพ์ Animate Group, 2553, หน้า 165) จากแม่น้ำท่าจีนสายเล็กๆที่เริ่มต้นเป็นคลองมะขามเฒ่า ไหลจากชัยนาท เปลี่ยนชื่อเรียกเป็นแม่น้ำสุพรรณฯเมื่อผ่านเดิมบางนางบวช กลายเป็นแม่น้ำนครชัยศรีตอนผ่านนครปฐม ออกสู่อ่าวไทยในชื่อแม่น้ำท่าจีนที่สมุทรสาคร. ชีวิตของท่านพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ไหลจากสุพรรณบุรี ออกทะเลจริงๆ! ออกฝ่าคลื่นลมในทะเล ตามความหมายแบบราชนาวี นะครับ ไม่ใช่ “ออกทะเล” ในความหมายของศัพท์แสลงปัจจุบัน. พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ไม่ใช่ปูชนียบุคคลที่ผูกขาดความรักความเทิดทูนเพียงเฉพาะในหมู่ชาวสุพรรณฯเท่านั้น แต่ท่านคือคนของชาติ มีที่ทางในประวัติศาสตร์ชนชาติไทยยุคที่เริ่มจากสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นต้นมา จนปัจจุบัน. ท่านยังไม่ตาย และท่านก็ยังไม่จางหายไป ชีวิตและงานของท่านยังคงมีคุณค่าต่อการศึกษา และย่อมมีคุณค่าต่อการศึกษามากขึ้นในยามวิกฤติชาติวันนี้ ⤴︎ |
ผมถือเป็นเกียรติอย่างสูงยิ่งที่ได้รับเชิญมาพูดในงานสำคัญวันนี้
“104 ปี ชาตกาล พลเรือเอกสงัด ชลออยู่” วันนี้ ท่านอายุ 104 ปี ส่วนผม 71 ปี ชีวิตผมส่วนใหญ่ก็ออกทะเลเหมือนกัน ในความหมายตรงข้ามกันกับของท่าน! ผมออกทะเลแบบโดนคลื่นลมพัดโหมล่มกลางมหาสมุทรเลย เปลี่ยนเรือก็หลายลำแต่ล่มจมหมด หันดูรอบตัวระหว่างลอยคอ ก็ไม่เจอพระมหาชก! อ่าวไทยแท้ๆ ทำยังกับว่าเป็น สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา (Bermuda Triangle) “เอาหละ ผมมันลูกยายแม้น หาบขนมถ้วยขายหน้าตลาดสามชุก เมืองสุพรรณฯ เติบใหญ่ขึ้นมาถึงขั้นนี้ได้ก็เกินพอแล้ว” ผมเพิ่งจะเริ่มทำความเข้าใจกับตัวเอง ในความสัมพันธ์กับสังคม ประเทศชาติ โลกมนุษย์ และ เอกภพ ก็เมื่อชีวิตมีเวลาว่างมากขึ้น เริ่มตั้งคำถามต่อสรรพสิ่งรอบตัวมากขึ้น ตั้งคำถามใหญ่ๆ หนักๆ และพยายามหาคำตอบให้ได้มากเท่าที่เวลาในชีวิตจะพึงอำนวยให้ทำได้ ซึ่งผมก็กำลังทำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงปลายทางแห่งชีวิต มีเวลามากพอที่จะทำได้ แต่ก็อาจจะเป็นเวลาที่น้อยเกินไปไม่พอที่จะหาคำตอบต่อคำถามที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์ได้ครบถ้วน. หากผม และมนุษย์ทุกคนบนดาวเคราะห์โลกรู้จักตั้งคำถามต่อสรรพสิ่งบนโลก และค้นหาคำตอบได้แต่เด็กๆ มนุษย์จะดีขึ้น และโลกจะดีมากขึ้น จะเป็นโลกที่ สันติ สงบ งดงาม และยั่งยืน อย่างแท้จริง ตอนที่มูลนิธิพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ติดต่อ เชิญให้มาพูดในงานวันนี้ ผมก็ตอบรับทันที ด้วยเหตุที่ผมเป็นเด็กสุพรรณด้วยกันเหมือนกับท่าน “ครูหงัด” ทั้งๆที่ผมมิได้รับเชิญไปบรรยายที่ไหนมานานหลายปีแล้วนับจากประสพอุบัติเหตุถูกรถชน กระดูกแตกหักสองขาและข้อมืออาการสาหัส เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2558 แถมทุกวันนี้ก็เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะผ่าตัดรักษาตัวผ่านมาปีเศษแล้ว มีครั้งเดียวที่ผมรับไปบรรยายที่สุพรรณบุรีให้กับหน่วยอาสาสมัครสันติภาพ American Peace Corps Volunteers เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่รับไปบรรยายให้ฝรั่งฟังก็เพราะ American Peace Corps มีบุญคุณสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตผมมาก และเขาก็จัดงานประชุมใหญ่ที่สุพรรณบุรี ผมก็จะได้ถือโอกาสกลับไปเยี่ยมญาติพี่น้องนอนค้างที่บ้านอำเภอสามชุก พร้อมกับไปเยี่ยมดูที่ดินที่ผมซื้อไว้ที่เดิมบางนางบวชด้วย ผมมีที่ดินอยู่ 10 ไร่ ที่บ้านเขาพระ อำเภอเดิมบางนางบวข ตำบลเดียวกันกับบ้านเกิดท่านพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ตั้งใจว่าจะปลูกบ้านอยู่ในป่าเล็กที่ผมปลูกไม้ป่าไว้กลางทุ่งนา ใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงตามปรัชญาของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ปลูกไม้ใหญ่น้อย ขุดบ่อน้ำ เพียงแต่จะไม่ทำนาเท่านั้น ผมเคยทำนากับพ่อตอนเด็กๆ เบื่อมาก ไม่สนุกเลย อุดหนุนซื้อข้าวจากชาวนาจะดีกว่า แต่สรุปแล้วก็ไม่ได้กลับสุพรรณฯ ไม่ได้ไปอยู่เขาพระเดิมบางฯ ดินแดนบ้านเกิดของท่านพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ปล่อยทิ้งไว้ให้ต้นไม้ขึ้นแน่นจนบางจุดเดินผ่านไม่ได้ ก็อย่างที่พุ่มพวง ดวงจันทร์ บอกนั่นแหละครับ: “ไม่เด่น ไม่ดัง จะไม่หันหลังกลับไป ทุกวันคืนนอนร้องไห้ อีกเมื่อไรจะโชคดี” ทุกวันนี้ ผมใช้ชีวิตโดยสงบ ค้นหาคำตอบต่อคำถามสำคัญของชีวิตที่บ้านเนื้อที่ 200 ตรว. ที่ปากช่อง นครราชสีมา. อากาศดี ที่ดินน้อย ไม่เสียเวลาขุดดินถากหญ้าให้มาก The old newsman just wants to simply fade away! ผู้จัดงานถามผมว่าจะพูดในหัวข้อเรื่องอะไร? ผมก็บอกว่าจะขอพูดเรื่องที่ผมสนใจอย่างหมกมุ่นมากเป็นพิเศษในชีวิต โดยเฉพาะในวันนี้ เวลานี้ และจะไม่ใช่การบรรยายเรื่องชีวิตและงานของท่านพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ซึ่งผมเองก็มิได้เคยใช้ชีวิตใกล้ชิดกับท่านเป็นส่วนตัว นอกจากจะเป็นคนบ้านเดียวกัน ศึกษาชีวิตและงานของท่านในฐานะที่ผมเป็นนักรัฐศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในวัยหนุ่มผมก็ไปร่วมเดินขบวนกับเขาด้วยในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ส่วนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ผมเรียนหนังสืออยู่ที่ University of Pennsylvania มีพวกคนไทยที่หนีเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไปร่วมวงเสวนากับพวกผมที่ Philadelphia บ้างเหมือนกัน ผมจึงไม่มีคุณสมบัติ และไม่พร้อม และ ไม่เหมาะสมที่จะพูดเรื่องเหตุการณ์บ้านเมืองในงานวันนี้ ผมชอบประเพณีการตั้งหัวข้อบรรยายในวาระสำคัญประจำปี หรือในโอกาสครบรอบปีขององค์องกร สถาบัน หรือมูลนิธิระดับชาติ ที่นิยมกำหนดแนวคิดหลัก หรือ Theme ในการบรรยายแต่ละปี หรืออาจจะให้เหมือนกันทุกปีก็ได้ สุดแต่จะเป็นแนวคิดขององค์กร หรือปูชนียบุคคลสำคัญขององค์กรนั้น ที่อังกฤษ The Royal Institute จัดการบรรยายประจำปี เรียกว่า The Christmas Lecture ปรกติก็บรรยายเรื่องวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ เช่น:
|
|
จะเห็นว่าหัวข้อบรรยายที่เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องน่าสนใจและเป็นความรู้ใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติทั้งนั้น ฟังจบแล้วได้ทั้งความรู้ใหม่ ได้ทั้งข้อสงสัย คำถาม และข้อถกเถียงใหม่ที่มนุษย์ชอบที่จะค้นหาคำตอบด้วยเหตุและผลตามความเป็นจริงที่พิสูจน์ได้ทั้งสิ้น แม้ผมจะเรียนจบมาทางรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ผมก็สนใจหมกมุ่นในเรื่องวิทยาศาสตร์มากเป็นพิเศษ ยิ่งมีเวลาว่างมากตอนอายุมาก ก็ยิ่งอ่านและศึกษาค้นหาความจริงของชีวิตด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น เมื่อมูลนิธิพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ตกลงจะเชิญผมมาพูดที่งานนี้ ผมก็เลยขอเสนอเรื่อง “ประสบการณ์อันหลากหลายทางด้านวิทยาศาสตร์" ของผม เป็นหัวข้อบรรยาย ทางมูลนิธิฯเคยจัดงาน แล้วให้มีการบรรยายเรื่องที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ก็ยังให้พูดได้ นับประสาอะไรกับเรื่องวิทยาศาสตร์ ทำไมจะไม่ให้บรรยาย! ทางมูลนิธิพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ตอบตกลงรับหัวข้อบรรยายของผมโดยฉับพลัน ไม่กังขาเลยว่าผมไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์จะมาพูดเรื่องวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร ผู้ฟังส่วนใหญ่เป็นทหาร ก็วิทยาศาสตร์บัณฑิตกันทั้งนั้น ตกลงว่าวันนี้ผมจะคุยเรื่อง “ประสบการณ์อันหลากหลายทางด้านวิทยาศาสตร์" ของตัวผมเอง โดยอาศัยความรู้ใหม่ๆที่ผมได้รับจากการอ่านและสังเกตธรรมชาติ และความหมกมุ่นเรื่องวิทยาศาสตร์เป็นส่วนตัว ในฐานะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ และนักศึกษาปรัชญา หัวข้อเรื่องว่า “ประสบการณ์อันหลากหลายทางด้านวิทยาศาสตร์" นั้น ผมลอกเลียนมาจากหนังสือชื่อ “The Varieties of Scientific Experience: A Personal View of the Search for God” ของ Carl Sagan ผู้ล่วงลับไปแล้ว นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัย Cornell University เป็นหนังสือที่รวมบทบรรยายของท่าน ให้กับมูลนิธิ Adam Lord Gifford ผู้จัดการบรรยายเชิงวิชาการประจำปี ที่มหาวิทยาลัย Glasgow University, Scotland เรียกว่า Gifford Lectures เป็นชุดการบรรยาย ยาวหลายตอนจบ เรียกว่าบรรยายย้ายที่ไปตลอดปี โดยกำหนดแนวคิดหลักของการบรรยายเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา ปรัชญา และวิทยาศาสตร์ ที่จริงหัวข้อเรื่อง “The Varieties of Scientific Experience” หรือ “ประสบการณ์อันหลากหลายทางด้านวิทยาศาสตร์” นั้น ศาสตราจารย์ Carl Sagan ก็ปรับมาจากหนังสือชื่อ “The Varieties of Religious Experience” โดย WIlliam James ซึ่งเป็นการรวมบทบรรยาย Gifford Lectures ของท่านที่ Glasgow University เช่นเดียวกัน แต่บรรยายเมื่อปี 1901-1902 ก่อน Carl Sagan 84 ปี. เมื่อ Carl Sagan ยืมชื่อหัวข้อบรรยายมาจาก William James คนที่เขาชื่นชมยกย่อง ผมก็เลยยืมชื่อหัวข้อบรรยายมาจาก Carl Sagan นักวิทยาศาสตร์ที่ผมยกย่องชื่นชมเช่นกัน เพียงแต่ประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ของผมนั้นอยู่ระดับพื้นฐานมาก Dr. Carl Edward Sagan เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 1934 และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 1996 รวมอายุได้ 62 ปี เป็นศาสตราจารย์วิชาดาราศาสตร์ (Astronomy) และ วิทยาศาสตร์อวกาศ (Space Sciences) เป็นผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการศึกษาดาวเคราะห์ (Laboratory for Planetary Studies) ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) สหรัฐอเมริกา ท่านมีบทบาทสำคัญในตำแหน่งผู้นำโครงการยานอวกาศ Mariner, Viking, และ Voyager สำรวจดาวเคราะห์ ในและนอกระบบสุริยะ ได้รับรางวัลเหรียญสดุดีพิเศษจากองค์การนาซ่า (NASA - National Aeronautics and Space Administration) ถึงสองครั้ง ในฐานะเป็นผู้มีผลงานทางวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยมพิเศษ. ในฐานะนักเขียน Dr. Carl Sagan ได้รับรางวัล Pulitzer โดยมีงานเขียนทรงคุณค่าทั้งงานวิชาการสารคดีวิทยาศาสตร์ และ นวนิยายวิทยาศาสตร์ รวมทั้งงานผลิตและดำเนินรายการภาพยนตร์สารคดีอวกาศชุด Cosmos (1980) ที่สร้างจากหนังสือสารคดีชื่อเดียวกัน คือ Cosmos (1980). หนังสือสารคดีวิทยาศาสตร์อวกาศที่ท่านเขียนสำหรับสาธารณชนทั่วไปที่โด่งดังมีมากมายเช่น: -The Cosmic Connection (1973) ภายหลังพิมพ์ใหม่ปี 2000 เปลี่ยน ชื่อเป็น Carl Sagan’s Cosmic Connection: An Extraterrestrial Perspective) - Broca’s Brain (1974) - The Dragons of Eden (1977) - Comet (1985 และ 1997) - เขียนร่วมกับ Ann Druyan - Shadows of Forgotten Ancestors (1993) - เขียนร่วมกับ Ann Druyan - Pale Blue Dot (1994) - The Demon-Haunted World (1996) (ชื่อไทย “โลกที่เต็มไปด้วยปีศาจ” แปลโดย ธิดา ธัญญประเสริฐกุล, 2558) - Billions & Billions (1997) นวนิยาย เรื่อง Contact (1985) สร้างความโด่งดังแบบใหม่ให้กับ Carl Sagan ในฐานะนักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ และต่อมาในปี 1997 ก็ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ Hollywood นำแสดงโดย Jodie Foster หนังสือสารคดีวิทยาศาสตร์อวกาศเล่มสุดท้ายของ Carl Sagan คือ Varieties of Scientific Experience (Penguin Books, 2006, 284 หน้า) โดย Ann Druyan ภรรยาของท่าน เป็นบรรณาธิการค้นคว้ารวบรวมและจัดพิมพ์หลังการถึงแก่กรรมของท่าน 10 ปี หนังสือเล่มนี้รวบรวมบทบรรยายชุด Gifford Lectures ที่ Sagan ได้รับเชิญไปบรรยายที่ Glasgow University, Scotland ในปี 1985 การบรรยายพิเศษชุดยาวตลอดปีการศึกษาที่มหาวิทยาลัยในสกอตแลนด์ สนับสนุนโดยมูลนิธิ Adam Lord Gifford เพื่อส่งเสริมการศึกษาเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างศาสนา ปรัชญา และ วิทยาศาสตร์ ดังนั้นเรื่องที่ Carl Sagan บรรยายชุดนี้จึงแสดงให้เห็นความพยายามของ Sagan ในการอธิบายเรื่อง จักรวาลวิทยา เอกภพ ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ ปรัชญาศาสนา และพระเจ้า ที่สนับสนุนด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจน ตามลำดับเรื่องในสารบัญ: 1. Nature and Wonder: A Reconnaissance of Heaven ธรรมชาติอัน ชวนพิศวงของการอธิบายเรื่องสวรรค์) 2. The Retreat From Copernicus: A Modern Loss of Nerve ล่าถอยจากการรุกคืบหน้าของความคิดของโคเปอร์นิคัสมาสู่ยุคใหม่แห่ง ความระทึกใจ 3. The Organic Universe เอกภพแห่งชีวิต 4. Extraterrestrial Intelligence สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลก หรือ มนุษย์ต่างดาว 5. Extraterrestrial Folklore: Implications for the Evolution ofReligion ตำนานโบราณ เรื่องมนุษย์ต่างดาว กับ ผลต่อวิวัฒนาการศาสนา 6. The God Hypothesis สมมติฐานเรื่องพระเจ้า 7. The Religious Experience ประสบการณ์เรื่องศาสนา 8. Crimes Against Creation อาชญากรรมจากการต่อต้านเรื่องพระเจ้าสร้างโลก 9. The Search การค้นหาต่อๆไป ทุกบทจะมีช่วงคำถาม-คำตอบแถมท้าย ซึ่งให้ความกระจ่างและสะท้อนความคิดขัดแย้งในหมู่นักคิด นักวิทยาศาสตร์ และนักปรัชญาในยุคปัจจุบัน ซึ่ง Carl Sagan ก็ให้คำตอบที่ชัดเสน สุภาพ มีเหตุผล โดยคำนึงถึงความคิดและความรู้สึกอันแตกต่างของฝ่ายคิดตรงข้ามเป็นสำคัญ โดยเฉพาะฝ่ายศาสนา. หนังสือเล่มนี้ตั้งคำถามใหญ่เรื่องการมีอยู่ของพระเจ้า หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “God” เป็นการถกเถียงระหว่าง ความรู้และความคิดเรื่องวิทยาศาสตร์ฝ่ายหนึ่ง กับ ศาสนาและพระเจ้าอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ Carl Sagan เน้นเสมอว่าไม่เกี่ยวกับศาสนาทางตะวันออกที่ไม่มีหรือไม่ได้นับถือว่ามีพระเจ้า ซึ่งก็คงจะหมายถึงศาสนาพุทธนั่นเอง ก็สบายใจไปอย่างหนึ่ง การคุยเรื่องนี้ในประเทศไทยก็คงสะดวกปลอดภัยเพราะคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่ได้นับถือพระเจ้าแบบเทววิทยา หรือ Theology ที่ Carl Sagan อ้างถึงและถกเถียงอย่างสุภาพและด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ อ่านกี่รอบก็ไม่พบสำนวนภาษาและข้อคิดใดๆที่จะก่อให้เกิดสงครามระหว่างวิทยาศาสตร์และศาสนาที่เป็นเทววิทยา คำถามเรื่อง “พระเจ้ามีจริงหรือไม่?" เป็นคำถามใหญ่ของชาวตะวันตก ทั้งประชาชน ศาสนิกชนทั่วไป และนักวิทยาศาสตร์ นักคิด นักปรัชญา นักวิชาการ ชาวบ้านผู้ไปโบสถ์ประจำ หรือถึงไม่ไปก็สวดอ้อนวอนพระเจ้าเป็นกิจวัตร เป็นคำถามที่ตามพิสูจน์กันมานานนับพันปี จนปัจจุบัน แม้ดูว่านักวิทยาศาสตร์จะได้ข้อสรุปแล้ว แต่สังคมตะวันตกก็ยังไม่ยอมรับข้อสรุปอย่างเป็นทางการ และถ้าจำต้องยอมรับ ก็จะไม่ทำอย่างฉับพลัน คำถามเรื่องพระเจ้า กับข้อโต้แย้งระหว่างวิทยาศาสตร์กับศาสนาที่นับถือว่ามีพระเจ้า - ซึ่งต่อไปนี้จะขอเรียกย่อๆว่า “ศาสนา” เฉยๆ ในบทบรรยายนี้ - เรื่องนี้เป็นคำถามใหญ่มากของมนุษย์ส่วนใหญ่บนโลก แต่ก็ยังมีคำถามสำคัญอีกมากมายที่มนุษย์พึงต้องตั้งคำถามและพยายามหาคำตอบเพื่อให้ได้ความจริงอันจะนำมาซึ่งความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องชีวิตและสรรพสิ่งบนโลกและนอกโลกไกลออกไปในเอกภพ เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้อง พิสูจน์ได้ ยอมรับกันได้ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ มนุษย์จะได้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขในหมู่มนุษย์ด้วยกันเอง และระหว่างมนุษย์กับสรรพชีวิตและสรรพสิ่งบนโลกที่มนุษย์ สรรพชีวิต และสรรพสิ่ง ในฐานะผู้อยู่อาศัยร่วมกันบนดาวเคราะห์ดวงเดียวกัน. จะได้ยุติสงครามระหว่าง ความจริง กับ ความเชื่อ กันเสียที สงครามนี้ยืดเยื้อยาวนาน นับแต่เกิดมีมนุษย์ที่คิดเป็นแต่แรกเริ่มแล้ว นอกเหนือจากคำถามเรื่องพระเจ้า มีหนังสืออีกเล่มหนึ่ง โดยนักวิทยาศาสตร์อีกท่านหนึ่ง ผู้ล่วงลับไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ชื่อ Stephen Hawking หนังสือชื่อ Brief Answers to the Big Questions หนังสือของ Stephen Hawking ที่โด่งดังมากที่สุดสำหรับนักอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์ทั่วไป คือ A Brief History of Time ปี 1988 ภาพยนตร์ที่โด่งดังเกี่ยวกับชีวิตตอนหนึ่งของท่านคือ The Theory of Everything เมื่อปี 2014 ภาพยนตร์ออกฉายได้ 4 ปี ท่านศาสตราจารย์ Stephen Hawking ก็จากโลกมนุษย์ไปตามแรงโน้มถ่วง หรือ gravity ของดวงดาวในเอกภพ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ปี 2018 ศาสตราจารย์ Stephen Hawking เกิดหลัง Carl Sagan 8 ปี เกิดที่เมือง Oxford ประเทศอังกฤษเมื่อปี 1942 เท่ากับ 300 ปี พอดีนับจากวันเสียชีวิตของ Galileo Galilei Stephen Hawking เป็นนักฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ เริ่มการศึกษาวิชาฟิสิกส์ที่ Oxford University ในปี 1958 จนจบในปี 1962 ต่อปริญญาโทและเอกจบในปี 1966 ที่ Trinity College, University of Cambridge ในช่วงหลังจบปริญญาตรีท่านป่วยเป็นโรคที่เรียกว่า Amyotrophic Lateral Sclerosis ทำให้กล้ามเนื้อลีบเสมือนเป็นง่อย ต้องนั่งรถเข็น หมดความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกายและการพูดตามปรกติ แต่มันสมองและความคิดอ่านยังใช้การได้ดี และสื่อสารด้วย ระบบ computer software ที่แปลงสัญญาณความคิดการพูดออกมาเห็นเสียงประดิษฐ์ได้ ท่านเป็นศาสตราจารย์วิชาคณิตศาสตร์ที่ Cambridge ได้รับการยกย่องในวงการวิทยาศาสตร์ว่าเป็นนักคิดทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับแต่ Sir Isaac Newton และ Albert Einstein แต่ท่านไม่เคยได้รับรางวัลโนเบล ทั้งๆที่นักฟิสิกส์รุ่นหลังหลายคนได้รับ และท่านก็ชอบที่จะเอ่ยถึงด้วยความชื่นชมผสมอารมณ์ขันเชิงประชดหลายตอนใน “A Brief History of Time” ซึ่งหนังสือเล่มนี้ Carl Sagan เป็นผู้เขียนบนนำ หรือ Introduction ให้ ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ผู้อาวุโส ท่านเขียนไว้ในหนังอัตชีวปรัวติของท่าน ชื่อ My Brief History อธิยายว่างานของท่านเป็นงานคิดคำนวนทางคณิตศาสตร์ จับต้องหางบประมาณมาทำให้ห้องปฏิบัติแล้วแสดงผลงานเป็นรูปธรรมเหนือการคำนวณไม่ได้ จึงไม่เข้าข่ายคุณสมบัติพื้นฐานที่จะได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการรางวัล Nobel Stephen Hawking เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในการอธิบายความซับซ้อนเชิงวิชาการฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ และจักรวาลวิทยา ให้คนทั่วไปเข้าใจได้ โดยเฉพาะหนังสือสามเล่มของท่าน คือ “A Brief History of Time”, “Black Holes and Baby Universe” และ “ The Universe in a Nutshell” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “A Brief History of Time” เป็นหนังสือสารคดีวิทยาศาสตร์ที่ขายดีที่สุดในโลกเล่มหนึ่ง และ หนังสือเล่มสุดท้ายของท่าน พิมพ์หลังการเสียชีวิตแล้ว ในปี 2018 คือ Brief Answers to the Big Questions ตั้งคำถามสำคัญให้มนุษย์ได้ขบคิดติดตามหาความจริงกันไปได้อีกหลายร้อยปี ท่านเรียกว่า “คำถามใหญ่” หรือ “Big Questions” สำหรับมนุษยชาติ 10 คำถาม เป็นคำถามใหญ่มากจริงๆ โดยท่านมีคำตอบให้คิดต่อแบบย่อสั้น 1 ใน 10 คำถามใหญ่นั้นก็คือเรื่องพระเจ้า คำถามใหญ่สำหรับมนุษยชาติ 10 คำถามนั้น มีดังนี้:
แม้ว่าคำถามใหญ่ของ Carl Sagan คือเรื่องพระเจ้า และคำถามใหญ่จาก Stephen Hawking 1 ใน 10 คำถามเป็นเรื่องการคงอยู่มีอยู่จริงหรือไม่ของพระเจ้า นักวิทยาศาสตร์ทั้งสอง ในฐานะที่เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกมนุษย์ ทั้งสองท่านตั้งคำถามครอบคลุมเรื่องสำคัญคล้ายกัน คำตอบก็คล้ายกันแต่ท่วงทำนองและกระบวนการอธิบายจะแตกต่างกันและกระบวนการพิสูจน์เป็นวิทยาศาสตร์แท้ๆเหมือนกัน ทั้งสองท่านพร้อมที่จะรับข้อโต้แย้งจากผู้ที่เห็นตรงข้ามเสมอ แต่ก็ต้องมีเหตุผลข้อพิสูจน์มาหักล้างให้ได้ ถ้ายังไม่ได้ก็ต้องยอมรับเหตุผลทางวิทยาศาสตร์อย่าง(ยัง)ไม่มีข้อพิสูจน์เป็นอื่น และข้อพิสูจน์นั้นก็ต้องมีเหตุผลเป็นกระบวนการวิทยาศาสตร์ด้วย. ผมจะไม่เล่าทุกคำถามคำตอบจากนักวิทยาศาสตร์สำคัญสองท่านนี้ เพียงแต่จะยกบางส่วนบางตอนคุย เพื่อให้ท่านที่สนใจกลับบ้านไปหาอ่านกันต่อไป ย้อนกลับมาที่สุพรรณบุรีดินแดนบ้านป่า ในปี 2491 ของผม หรือจะเป็นปี 2458 ของท่าน พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ก็ได้ ก็คงคล้ายกันๆกับท่านผู้สูงอายุรุ่นครูหงัดและรุ่นน้องรุ่นหลานๆอายุ 71 ปี อย่างผม ผมเกิดมา เข้าโรงเรียน เรียนหนังสือ กลับบ้าน วิ่งเล่น เที่ยวตลาด เที่ยวงานวัด ดูลิเก ดูหนัง ดูดนตรีลูกทุ่ง เดินกลับบ้านท่ามกลางความมืด ไม่เคยแหงนหน้าดูดาวบนท้องฟ้าแล้วตั้งคำถามถึงดวงดาว ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวตก เคยเห็นทางช้างเผือกคืนหนึ่งที่บ้านหลังตลาดสามชุก ตามที่ครูบอกว่านั่นเรียกว่าทางช้างเผือก แต่ก็ไม่เคยตั้งคำถามต่อไปว่ามันคืออะไร? เกี่ยวข้องกับช้างและเราอย่างไร? ทำไมจึงเกิด อาทิตย์ขึ้น-อาทิตย์ตก พระจันทร์ข้างขึ้น-ข้างแรม? ทำไม่จึงเกิดลม เกิดฝน เกิดดิน น้ำ ลม และ ไฟ? ทำไมจึงเกิดมาเป็นชีวิตคนเรา ชีวิตต้นไม้ต้นหญ้า และหมาแมว ช้างม้า วัวควาย? ทำไมจึงเกิดมาแล้วก็ต้องตาย? คำถามเหล่านี้ และอีกหลายคำถาม ผมไม่เคยคิดตั้งคำถามเพื่อค้นหาคำตอบเพราะครูมีคำตอบให้แล้วตามทีเรียนในชั้น สั้นๆ ย่อๆ ในหนังสือแบบเรียน ท่องให้จำได้เวลาสอบไล่ก็แล้วกัน. ชีวิตนี้มันง่ายจัง ครูตั้งคำถาม มีแบบฝึกหัดท้ายบท แล้วมีคำตอบให้ในวันรุ่งขึ้น ไม่ต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนไปตั้งตั้งคำถามที่ไหน ถามมากครูก็ดุ แม่ก็ด่า ไอ้นี่ยุ่ง ถามอยู่ได้ เรื่องของผู้ใหญ่เขา! ทั้งหมดเป็นปัญหาของระบบการศึกษาไทยที่ไม่รู้ว่าวันเวลาแห่งการปฏิรูปการศึกษานั้นมาถึง แล้วผ่านไปนานเหลือเกินแล้ว คือการศึกษาที่ทำให้เด็กรู้จักคิด รู้จักตั้งคำถาม แล้วรู้จักกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการหาคำตอบ ในกระบวนการนั้นก็ให้รู้วิธีถกเถียงต่อสู้กันทางความคิด ด้วยเหตุผลและข้อมูลที่เป็นจริงแล้วนำไปสู่ความรู้อันเป็นความจริงที่ถูกต้อง ผมเริ่มรู้จักตั้งคำถาม เรียนรู้ที่จะคิดเอง เป็นตัวของตัวเองเร็วนิดหนึ่งตอนอายุ 18 เมื่อเข้ากรุงเทพฯสองปีแล้วได้ทุนนักเรียนแลกเปลึ่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศ American Field Service ไปใช้ชีวิตโดยลำพังอยู่กับครอบครัวอเมริกันที่ Kansas City และเรียนหนังสือชั้นมัธยมปลายปีที่ 12 เริ่มรู้จักคิดอิสระตั้งคำถามและหาคำตอบได้บ้าง หลังจากนั้นก็ย้ายที่ตั้งคำถามหาคำตอบไปอยู่อินเดีย ที่ Delhi University นาน 5 ปี ฝึกฝนคิดและเขียนเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และปรัชญาในวัยหนุ่ม กลับมาเมืองไทยก็ได้ทดลองวิชาชุมนุมประท้วงความไม่เป็นธรรมในสังคมวันที่ 13-14 ตุลาคม 2516 พอดี เรื่องประท้วงรัฐบาล ผมฝึกฝนมาอย่างดีพอตัว ตอนที่เป็นนักศึกษาอยู่อินเดีย ประท้วงนายกรัฐมนตรี Edward Heath ของอังกฤษถึงสนามบิน Palam Airport ปีนเสาไฟฟ้า ปลดธงชาติอังกฤษติดตัวกลับหอพัก พาเพื่อนๆไปประท้วงรัฐบาลจอมพลถนอม ที่สถานฑูตไทย ปราศัยบนขั้นบันไดหน้าอาคารสถานทูต ผมมิใช่คนกล้าหาญเด็ดเดี่ยวเหมือนท่านพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ รุ่นพี่ผมจากเดิมบางนางบวช ในเหตุการณ์ 14 ตุลา ผมร่วมเดินขบวนกับเขาเหมือนกัน จนหลบกระสุนแทบไม่ทัน ใจไม่ค่อยดี กลัวตาย จึงช่วยกันจี้รถเมล์ขึ้นไปต่อรถที่สามแยกไฟฉาย เผ่นแนบกลับสามชุก “สุพรรณบุรี ดินแดนบ้านป่า” ของไวพจน์ เพชรสุพรรณทันที เสียดายที่รู้จักท่านพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ช้าไปหน่อย ไม่อย่างนั้นก็คงจะได้เรียนรู้เรื่องความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวจากท่าน ผมศึกษาความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวและความเสียสละเพื่อชาติของพลเรือเอก สงัดชลออยู่แล้วนึกถึง A Man Called Intrepid หนังสือเขียนโดย William Stevenson เกี่ยวกับหัวหน้าสายลับอังกฤษสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ชื่อ William Stephenson สายตรงใต้ดินของนายกรัฐมนตรี Sir WInston Churchill นาย William Stephenson (ชื่อคล้าย แต่สะกดนามสกุลต่างกันกับนามสกุลผู้เขียนหนังสือ) ทำงานลับใต้ดินต่อสู้ ใช้เครื่อง Enigma ถอดระหัสข้อมูลสื่อสารสงครามของ Hitler จนอังกฤษและพันธมิตรชนะสงครามโลกครั้งที่สองในที่สุด WIlliam Stephenson ใช้ชื่อระหัสสายลับว่า “Intrepid” แปลว่า ผู้มีความกล้าหาญอดทนเด็ดเดี่ยวยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อชาติและชัยชนะของสงคราม โดยไม่ต้องการเปิดเผยตัวเองให้ใครรู้จัก แม้สงครามจบสิ้นแล้วก็ไม่เปิดเผยชื่อและความจริงเกี่ยวกับงานของตนเอง “A Man Called Intrepid” ถูกแปลเป็นภาษาไทย และผู้แปลแปลงคำว่า Intrepid เป็น “อินทระ” แล้วตั้งชื่อฉบับแปลไทยว่า “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ เป็นผู้ทรงพระราชนิพนธ์แปล มือขวาของ Intrepid ในการทำจารกรรมแถบทะเล Caribbean เป็นนายทหารเรือ ตำแหน่งหัวหน้าหน่วยจารกรรมกองทัพเรืออังกฤษ ชื่อ Ian Fleming ซึ่งต่อมานำประสบการณ์งานจารกรรมมาเขียนเป็นนวนิยายสายลับชุด James Bond 007 นั้นเอง” จึงไม่แปลกอะไรที่เราจะพบเรื่องทหารเรือ ทะเล และมหาสมุทรในนวนิยายสายลับ James Bond 007 หลายตอน พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ สำหรับผม ก็คือ A Man Called Intrepid ของไทยคนหนึ่งเหมือนกัน ก็อย่างที่บอกแล้ว ช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผมบังเอิญย้ายถิ่นฐานไปตั้งคำถามใหญ่สำหรับอาชีพการงานของผมเพื่อหาคำตอบเป็น dissertation หรือดุษฎีนิพนธ์ปริญญาเอก ที่ University of Pennsylvania เรื่อง India’s Relations with the ASEAN Countries, 1966-1975: A Transaction Analysis หรือ ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับอาเซียน ช่วงปี 1966-1975 ผมหาคำตอบต่อคำถามใหญ่ในชีวิตของผมนี้นาน 5 ปี กลับมาเมืองไทยทำงานและเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ จนพบว่านับวันผมก็จะมีคำถามที่ใหญ่กว่าเรื่องความสัมพันธ์อินเดีย-อาเซียน ระยะ 10 ปีสมัยนายกรัฐมนตรี Indira Gandhi มากมายนัก ถึงตอนอายุ 30 ได้ปริญญารับรองเป็นนักปรัชญาเบื้องต้น ที่เรียกว่า Doctor of Philosophy แล้ว ผมก็พร้อมที่จะตั้งคำถามต่อทุกเรื่อง ทุกสรรพสิ่ง ทุกปรากฏการณ์รอบตัว ที่ผมสนใจ และรู้วิธีหาคำตอบที่ผ่านกระบวนการวิทยาศาสตร์ได้ดีพอสมควรแล้ว การได้รับการฝึกฝนมาให้มองโลกด้วยปรัชญา ปริญญา Doctor of Philosophy จึงจะมีคุณค่ามากในการทำให้คนคิดแบบนักปรัชญาได้ ไม่เพียงแค่รู้จักคิดและหาคำตอบในเรื่องที่เป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ หรือดุษฎีนิพนธ์เท่านั้น แต่สามารถคิดหาคำตอบได้ตั้งแต่กำเนิดเอกภพ จนถึงเรื่องการดับสลายวันสิ้นโลก. ประเทศไทยของครูหงัดและของพวกเราที่ว่ามีปัญหาเยอะนั้น โดยเฉพาะปัญหาการเมือง ผมรู้ปัญหา และรู้วิธีแก้หมดแล้ว เพียงแต่ไม่มีใครถามผม และผมไม่มีโอกาสเข้าถึงอำนาจรัฐเท่านั้นเอง ผมจึงถอยห่างออกไปอยู่ปากช่อง หันไปมองกรุงเทพฯทีไรก็เลยหากรุงเทพฯไม่เจอ กรุงเทพเป็นเพียง location บน Google map ที่ไม่มีภาพปัญหาที่สารวนแก้กันอยู่ กรุงเทพฯและประเทศไทยจึงไม่มีความสำคัญอะไรสำหรับผมนัก อย่าว่าแต่ประเทศไทยเลย โลกมนุษย์ทั้งโลก เมื่อเราถอยห่างออกไปนอกโลก ออกไปไกลๆ สู่อวกาศ ผ่านดาวเคราะห์ต่างๆทั้ง 8 ดวง จนถึงสุดขอบระบบสุริยะ เลยดาวแคระห์ Pluto ออกไป เราจะมองไม่เห็นโลกอันเป็นดาวเคราะห์ดวงที่สามในวงโคจรเลย ผมอาจยังคงคิดว่าโลกสำคัญ ประเทศไทยสำคัญ หรือแม้กระทั่งตัวเองนั้นเป็นมนุษย์ผู้มีความสำคัญ ถ้าผมไม่ได้เห็นโลกอย่างที่ Carl Sagan ถ่ายภาพมาให้ดู และอธิบายให้ทราบความจริง เพียงได้มองภาพโลกจากระยะห่างเลยดาวเสาร์ (Saturn) ออกไปเท่านั้น ก็เห็นโลกเป็นเพียงจุดเล็กๆสีฟ้าจืดๆ ที่ Carl Sagan เรียกว่า “Pale Blue Dot” เท่านั้น โครงการสำรวจดาวเคราะห์ในวงโคจรรอบนอก จากโลก ไปสุดขอบระบบสุริยะ เริ่มในปี 1977 ส่งยานอวกาศ Voyager 2 และ Voyager 1 ออกนอกโลกไปทำการสำรวจรอบนอกของระบบสุริยะ เริ่มที่ ดาว Jupiter, (ดาวพฤหัส), Saturn (ดาวเสาร์), Uranus (มฤตยู) และ Neptune (เกตุ) และดวงจันทร์รอบดาวเคราะห์เหล่านี้ทั้งหมดรวม 48 ดวง Carl Sagan เป็นนักวิทยาศาสตร์ร่วมโครงการ Voyager 1-2 ขององค์การ NASA นี้ด้วย เขาเล่าไว้ในหนังสือเรื่อง Pale Blue Dot (1994) ตอนหนึ่งว่า: “ขณะที่ยาน Voyager 1 กำลังวิ่งห่างออกจากดวงอาทิตย์ไปด้วยความเร็ว 40,000 ไมล์ต่อชั่วโมงนั้น ถึงตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1990 หลังจากเดินทางออกจากโลกมนุษย์มาได้ 13 ปี ก็ได้รับคำสั่งด่วนจากโลก ซึ่งก็คือคำสั่งจากตัวเขา Carl Sagan นั้นเอง ให้หันกล้องกลับทิศทางมายังดาวเคราะห์ทั้งหลายที่ผ่านมาแล้ว ให้ลองหันหน้ากล้องไปยังโลก แล้วถ่ายภาพโลกมาให้ดูกันหน่อย ว่าโลกที่มนุษย์อยู่อาศัยกันนั้นมีภาพรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร จากมุมมอง 32 องศา เหนือระนาบโคจรของดาวเสาร์ ระยะห่างจากโลก 6 พันล้านกิโลเมตร หรือ 4 พันล้านไมล์ ยาน Voyager 1 ถ่ายภาพโลกมนุษย์มาได้ 60 ภาพ หรือ 60 frames ได้ภาพโลกเป็นเพียงจุดเล็กๆขนาด 0.12 pixel” (http://www.planetary.org/explore/space-topics/earth/pale-blue-dot.html) เท่านั้นเอง! เป็นที่มาของภาพโลกที่เห็นเป็นเพียงจุดแสงสีฟ้าจืดเรียกว่า “Pale Blue Dot” เมื่อมนุษย์ได้ดูโลกของตนจากระยะห่างเพียง 6 พันล้านกิโลเมตร มองจากดาวเสาร์ แล้วก็จะรู้ว่า จุดเล็กสีฟ้าจืดขนาดไม่ถึงครึ่ง pixel ที่เรียกว่าโลกนี้ไม่มีอะไรสำคัญให้สดุดตาเป็นพิเศษ นักบินอวกาศจากดาวดวงอื่น หากเดินทางผ่านมาก็คงผ่านไปโดยไม่สังเกตเห็นอะไรน่าสนใจให้แวะชม สำรวจ หรือทำสงครามด้วย ด้วยความเป็นนักปรัชญาวิทยาศาสตร์ Carl Sagan เขียนในหนังสือ Pale Blue Dot (Chapter 1 You are Here) ว่า: “สำหรับเราผู้เป็นมนุษย์ โลกของเรามีความแตกต่างสำคัญ มองดูจุดสีฟ้าจางๆนั้นอีกที ตั้งใจมองให้ดี ที่นั่นคือบ้านของเรา นั่นคือเรา ทุกคนที่เรารักอยู่บนจุดสีฟ้าอ่อนนั้น ทุกคนที่เรารู้จัก ทุกคนที่เราเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของเขา ทุกชีวิตมนุษย์อยู่อาศัยใช้ชีวิตกันก็บนจุดสีฟ้าจางๆอันนี้ คือโลกใบนี้เอง บนจุดสีฟ้าจืดนี้แหละรวมเอาไว้ซึ่งความสุข ความทุกข์ นับร้อยนับพันของศาสนา อุดมการณ์ ลัทธิเศรษฐกิจ นักล่า และ นักกวาดต้อนเสบียงกรัง วีรบุรุษผู้กล้าและผู้ขลาดเขลาทั้งหลาย มนุษย์ผู้สร้างและทำลายอารยธรรมทั้งปวง กษัตริย์และไพร่ทุกคน คู่หนุ่มสาวที่กำลังตกอยู่ในห้วงรัก แม่และพ่อทุกคน เด็กที่มีความหวังแห่งอนาคต นักประดิษฐ์ นักสำรวจ ครูและนักเทศน์ผู้อบรมสั่งสอนศีลธรรมทั้งหลาย นักการเมืองผู้ทุจริตคดโกงทุกๆคน พวกดาวรุ่งโด่งดังเป็น superstar ทั้งหลาย อีกทั้งท่านผู้นำสูงสุด นักบุญ นักบวช และคนบาปทั้งมวลทุกคนในปะวัติศาสตร์ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ทุกคนล้วนใช้ชีวิตอยู่อาศัยบนละอองฝุ่นจุดเล็กที่ล่องลอยสะท้อนลำแสงจากดวงอาทิตย์อยู่ ดังที่เห็นเป็นจุดสีฟ้าจืดจางนี้เอง.” (หน้า 6) ในบทบรรยาย “The Varieties of Scientific Experience: A Personal View of the Search for God” ของ Carl Sagan เรื่องหลักคือการถกเถียงเรื่องพระเจ้าที่เขาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่มี หากจะมีใครที่เชื่อว่ามีก็ต้องหาเหตุผลและข้อพิสูจน์มาลบล้าง แต่ ณ วันนี้ ไม่มีพระเจ้า หากจะพูดว่ามีพระเจ้าก็ต้องเป็นอย่างที่ Albert Einstein ว่า พระเจ้านั้นก็คือ Gravity กับ Quantum Machanics
สิ่งนี้เป็นตัวกำหนดความเป็นไปและปรากฏการณ์ที่ศัพท์วิทยาศาสตร์เรียกว่า event ต่างๆในเอกภพ หากพระเจ้ามีตัวตนจริงๆดังภาพวาดตามเพดานและผนังโบสถ์ พระเจ้าก็ดูจะเหมือนมนุษย์ เพียงแต่มนุษย์ที่อ้างว่าสร้างโดยพระเจ้านั้นมีทั้งดีและชั่ว โดยเฉพาะพระเจ้ามีเหตุผลอะไรที่สร้างมนุษย์บาปมาบนโลกเพื่อมนุษย์เหล่านั้นจะทำลายโลกที่พระเจ้าสร้างในที่สุดอย่างนั้นหรือ? Carl Sagan บรรยายว่า ความเชื่อเก่าของมนุษย์นับแต่โบราณกาลก็เกิดจากการเชื่อตามสามัญสำนึกที่มองเห็นตามภาพสิ่งที่ปรากฏต่อหน้า และเชื่อตามที่คนอื่นบอกเล่าไว้ โดยเฉพาะจากคนที่มีสถานภาพพิเศษเหนือคนอื่นในสังคม ความเชื่อผิดๆหลงผิดเพราะนักคิดผู้มีสถานภาพสูงในสังคมสอนไว้ ในที่สุดก็จะค่อยๆถูกลบล้าง ด้วยข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ในเวลาต่อมา อาจจะใช้เวลานานนับร้อยนับพันปีกว่าคนทั้งโลกจะยอมรับความจริงทางวิทยาศาสตร์. Aristotle ปราขญ์ชาวกรีกโบราณเมื่อกว่า 300 ปีก่อนคริสตกาลบอกและไม่มีใครกล้าเถียงว่า โลกของมนุษย์นั้นจอดนิ่งอยู่กับที่เฉยๆ ส่วนดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ดวงอื่นที่มองเห็นนั้นโคจรขึ้นและลงไปตามแนวโค้งของครอบฟ้าใส ทรงครึ่งลูกกลม ดาวดวงอื่นๆที่อยู่ไกลออกไปที่เห็นไม่เคลื่อนที่นั้นก็นิ่งอยู่กับที่เช่นกัน นั่นเรียกว่าสวรรค์ บนโลกมีธาตุที่สำคัญสี่อย่าง คือ ดิน น้ำ ไฟ และอากาศ (ลม) ส่วนบนสวรรค์นั้นเป็นธาตุสำคัญธาตุที่ห้า เป็นที่มาของคำภาษาอังกฤษว่า “quintessential” 1,800 ปี ต่อมา ถึงศตวรรษที่ 15th Nicolaus Copernicus นักดาราศาสตร์ชาว Prussia ดินแดนในราชอาณาจักรโปแลนด์ พิสูจน์ได้ว่าโลกกลมและโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เหมือนดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ส่วนดวงจันทร์นั้นก็โคจรรอบโลก สวนทางกับความเชื่อของศาสนาคริสต์ที่ถือว่าพระเจ้าสร้างโลกให้เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งในเอกภพ (หรือที่เราเคยเรียกว่าจักรวาล) ความจริงที่ Copernicus พิสูจน์ได้ว่าดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ ไม่ใช่โลก เป็นความจริงที่เป็นอันตราย เสี่ยงต่อการลบหลู่คำสอนของศาสนา ความรู้ใหม่ของ Copernicus จึงถูกเก็บไว้ไม่เผยแพร่จนกระทั่งหลัง Copernicus เสียชีวิตไปแล้ว ฝ่ายศาสนาที่คิดและหวังว่าพระเจ้าในฐานะผู้เนรมิตโลกและให้กำเนิดสรรพชีวิต สร้างโลกให้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล หรือเอกภพ ค่อยๆถูกวิทยาศาสตร์ลบล้างไปที่ละน้อยๆ อย่างช้าๆ ณ วันนี้เรารู้แน่แท้แล้วว่า:
- อันที่จริงที่เราเรียกว่าเอกภพนั้นเป็นอาณาบริเวณที่กว้างขวางสุดประมาณ ในเอกภพนั้นประกอบไปด้วยดาราจักร หรือ galaxy มากมาย คำนวณว่าอาจจะถึงสองแสนล้าน galaxy
ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของโลกมนุษย์เรา ในที่อื่นของ galaxy ทางช้างเผือกของเรา และใน galaxy อื่นอีกนับแสนล้าน galaxy นี้นั้น นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า Exoplanet Exoplanets: โลกอื่นที่มิใช่ของเรา Oxford English Dictionary (OED) อธิบายคำว่า ‘planet’ ที่ภาษาไทยเรียกว่า ‘ดาวเคราะห์’ นั้น ว่ามีรากศัพท์มาจากภาษากรีก แปลว่า ‘wanderer’ แปลเป็นไทยว่า “ผู้เดินทางท่องไป” มีความหมายทำนองว่าเป็นการเดินทางท่องไปอย่างไร้กำหนดการ หรือการกำกับเส้นทาง หรือการกำหนดทิศทางแน่นอน ถ้าถามว่าจะไปไหน? ก็คงตอบว่าไปเรื่อยๆ หรือ ‘ไปโน่น’ อย่างที่คนสุพรรณฯชอบตอบเมื่อถูกถามแบบที่ผู้ถามไม่ตั้งใจจะต้องการคำตอบ แต่การเดินทางแบบ ‘wanderer’ ไปเรื่อยๆ ก็มิใช่ว่าจะเป็นการหลงทาง. ดังบทกวีของ J.R.R. Tolkien ในวรรณกรรม classic เรื่อง The Lord of the Rings ภาค 1: The Fellowship of the Ring ที่ว่า ‘Not all those who wander are lost’ บทกวีนี้ปรากฏในบทที่ X : Strider (หน้า 170 ฉบับ 50th Anniversary, HarperCollinsPublishers, 2005; หน้า 224 HarperCollinsPublishers, 1999; The Lord of the Rings พิมพ์ครั้งแรกในอังกฤษ โดย George Allen & Unwin, 1954) บทกวีนี้ตั้งชื่อว่า ‘All that is gold does not glitter’ ชื่อเดิมว่า ‘The Riddle of Strider’ ซึ่งบอกว่า Strider แม้อาจปรากฏเป็นคนผู้เร่ร่อนรอนแรมไปในป่ากว้างแต่ที่จริงแล้วเขาคือกษัตริย์ Aragorn ผู้ครั้งหนึ่งเคยทรงความยิ่งใหญ่มาก่อน ในตอนจบ ภาค 3: The Return of the King นักผจญไพรผู้นี้ได้กลับสู่ราชบัลลังก์เป็น King Elessar Telcontar ("Elfstone Strider") of Gondor”. อาศัยวรรณคดีเป็นเครื่องเปรียบเทียบ ชาวกรีกโบราณเรียกดาวเคราะห์ว่าเป็นดวงดาวที่โคจรไปเรื่อยๆในวงโคจร ที่สุดท้ายก็กลับที่เดิมอันเป็นจุดเริ่ม จากนั้นก็โคจรในรอบวงต่อไป ดาวเคราะห์จึงมิใช่ว่าจะหลงทางแต่อย่างใด สำหรับดาวเคราะห์ The Earth หรือ โลกของเรา ก็โคจรไปเรื่อยๆอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ไม่หลงทางเพราะวนกลับมา ณ จุดเดิมได้ทุกรอบปี ดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะของเราก็โคจรไปเรื่อยๆแบบไม่หลงทางเช่นกัน เราจึงมองเห็นดาวเคราะห์เหล่านั้นในตำแหน่งประจำตามกำหนดเวลาที่สอดคล้องกันเสมอ ดาวเคราะห์ทั้งแปดดวง (ไม่รวมดาว Pluto) อยู่ในระบบสุริยะ (Solar System) อันเป็นระบบดวงอาทิตย์ดวงเดียวของเราที่เรารู้จักใกล้ชิด ในเมื่อมนุษย์รู้แล้วว่าเพียงเฉพาะในแกแล็กซี่ทางช้างเผือกแต่เพียง Galaxy หรือ ดาราจักรเดียวเท่านั้นก็มีดาวฤกษ์แบบดวงอาทิตย์ของเรานี้ถึงนับแสนล้านดวง ดังนั้นดวงอาทิตย์ดวงอื่นใน Galaxy ของเรานั้นก็น่าจะเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะอื่นได้ โดยอาจจะมีดาวเคราะห์อีกมากมายที่ต่างก็ ‘wander’ หรือเดินทางเป็น ‘wanderer’ โคจรไปเรื่อยๆรอบดวงอาทิตย์อื่นๆนอกระบบสุริยะของเรา. ดาวเคราะห์อื่นนอกระบบสุริยะของเรานี้นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า ‘Exoplanet’ มาจากคำว่า Extrasolar Planet แปลว่าดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของเรา หรือดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่น. การค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของเราดำเนินมาเป็นเวลานานแล้วนับแต่เริ่มมีการตั้งคำถาม แต่การสำรวจดวงดาวด้วยตาเปล่านั้นสุดวิสัย ทำไม่ได้ หรือแม้กระทั่งการสำรวจด้วยกล้องดูดาวอวกาศทั้งหลายก็มิอาจเห็นได้ด้วยการถ่ายภาพโดยตรง การค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ หรือ Exoplanet ทำได้โดยดูการหักเหหรือกระพริบวูบวาบของแสงจากดวงอาทิตย์อื่นทั้งหลายเวลาที่มีดาวเคราะห์บริวารโคจรรอบและในจังหวะที่ผ่านหน้าบังแสงจากดวงอาทิตย์หรือดาวฤกษ์นั้นๆ เมื่อกล้องดูดาวอวกาศมองเห็นอาการวูบวาบหรือกระพริบหักเหของแสงชั่วระยะสั้นๆก็สันนิษฐานได้ว่ามีการเดินทางผ่านของดาวเคราะห์ วิธีการศึกษาเช่นนี้พัฒนาจนได้ผลดีมากขึ้นเมื่อมีกล้องดูดาวท่องไปในอวกาศเช่น Hubble และ Kepler, etc. ที่สามารถส่องดูได้ไกลมากๆโดยไม่มีอุปสรรคขวางทางแสงเหมือนกล้องบนหอดูดาวบนยอดเขา จึงมีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมากขึ้น. ในบทนำของหนังสือ The Exoplanet Handbook โดย Michael Perryman กล่าวไว้ในปี 2010 ว่า หลังจากการตั้งข้อสงสัยเชิงปรัชญาเรื่อง Exoplanet มานานหลายร้อยปี ถึงตอนปลายทศวรรษที่ 1980 ก็มีรายงานครั้งแรกว่าน่าจะมีมวลวัตถุ (เทหะวัตถุ) ทำนองดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์อื่นได้หลายๆดวง ต่อมาในปี 1992 ก็มีการค้นพบระบบสุริยะอื่น ผ่านไปจนปี 1995 ถึงจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าได้ค้นพบระบบสุริยะอื่นที่สามารถวัดความเร็วรอบศูนย์กลางของดวงอาทิตย์แห่งระบบสุริยะอื่นนั้นได้ ทำให้มั่นใจและประกาศยืนยันได้ถึงการค้นพบดาวเคราะห์ที่เป็น ‘Wanderer’ โคจรไปรอบๆดวงอาทิตย์เจ้าภาพของระบบสุริยะอื่น ถึงสิ้นปีเดียวกันก็ประกาศพบดาวเคราะห์อื่น หรือ Exoplanet อีก 2 ดวง เมื่อสิ้นสหัสวรรษ (พันปี ค.ศ. หรือ ค.ศ. 2000) พบ Exoplanet แล้ว 34 ดวง, และพบ 500 ดวงภายใน 10 ปี นับถึงเดือนธันวาคม 2010. ในการพิมพ์ครั้งที่สองของหนังสือ The Exoplanet Handbook ของ Perryman โดยสำนักพิมพ์ Cambridge University ปี 2018 ห่างกันเพียง 8 ปี Perryman บอกว่า Exoplanet ณ วันที่พิมพ์หนังสือ ถูกค้นพบแล้วมากกว่า 3,500 ดวง จากเอกสารงานวิจัย 17,000 ชิ้น. ล่าสุด ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2019: Wikipedia (https://en.wikipedia.org/wiki/Exoplanet) ระบุว่า พบ Exoplanet แล้ว 3,976 ดวง ใน 2,971 ระบบสุริยะอื่น และในจำนวนนั้นมี 653 ระบบสุริยะที่ มีดาวเคราะห์โคจรรอบมากกว่า 1 ดวง. ส่วนนักวิทยาศาสตร์นานาชาติของ Website: exoplanet.eu ก็บันทึกว่ามีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะในฐานข้อมูลถึง 4,180 ดวง (http://exoplanet.eu/diagrams/) (Websites อื่นๆ ของนักวิทยาศาสตร์มืออาชีพที่ติดตามเรื่อง Exoplanet ตลอดเวลา ดูที่ http://exoplanet.eu/sites/ ) กล้องดูดาวอวกาศ Kepler กำลังจะหมดอายุใช้งาน หลังจากส่งขึ้นวงโคจรในอวกาศเมื่อปี 2009 และเวลานี้ก็มีกล้องดูดาวอวกาศชื่อ The Transiting Exoplanet Survey Satellite ขึ้นปฏิบัติหน้าที่แทนแล้ว นอกจากนี้องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) กำลังเตรียมส่งกล้องดูดาวอวกาศ หรือดาวเทียมสำหรับค้นหาดาวเคราะห์ Exoplanets เพิ่มอีกสองกล้อง คือ The Characterising Exoplanets Satellite ซึ่งจะส่งขึ้นปี 2019 นี้, และจะส่งกล้อง Planetary Transits and Oscillations of Stars ขึ้นสู่อวกาศในปี 2026. นับวันก็จะมีการค้นพบ Exoplanet มากยิ่งขึ้น เกือบไม่เว้นแต่ละวันแต่ละสัปดาห์แต่ละเดือน เพราะความสงสัยใคร่รู้ของมนุษย์ เพราะเทคโนโลยีก้าวหน้าที่ใช้สำรวจ เพราะความใส่ใจของนักวิทยาศาสตร์ เพราะจำนวนมหาศาลของดวงดาวในเอกภพ มนุษย์ในโลกวันนี้จึงมั่นใจได้แล้วว่ามีดาวเคราะห์ดวงอื่นโคจรรอบระบบสุริยะอื่น และบางดวงก็อยู่ในวงโคจรที่เว้นระยะห่างเหมาะสม ที่เรียกว่าเงื่อนไข Goldilock อันสามารถวิวัฒนาการชีวิตได้. …… และแล้วมนุษย์ผู้ทรงภูมิปัญญาก็ตั้งคำถามต่อไป...... สิ่งมีชีวิตในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอาจกำเนิดได้บนดาวเคราะห์ดวงอื่น เพียงแต่การเดินทางค้นหาด้วยยานอวกาศและกล้องดูดาวอวกาศยังไม่พบ ไม่ว่าจะชีวิตต่างดาว หรือพระเจ้าที่อาจพบผ่านสวนทางกับยานอวกาศระหว่างทางท่องจักรวาล แต่มนุษย์ก็ยังไม่อาจเดินทางหรือส่องกล้องดูได้มากกว่าส่วนแยกย่อยน้อยนิดของเอกภพ ต่อคำถามใหญ่เรื่องมนุษย์ต่างดาวนี้ Stephen Hawking ตอบว่ามีแนวคิดให้เลือกหลายทาง เช่นชีวิตต่างดาวอาจมีได้โดยอาจมีภูมิปัญญาชาญฉลาดเหมือนมนุษย์หรือมากกว่า หรืออาจเป็นเพียงเริ่มแรกแห่งวิวัฒนาการชีวิต บางที่ก็อาจเกิดมีชีวิตที่พัฒนาขึ้นมาได้แล้วถูกทำลายหรือทำลายตนเอง เหมือนที่ทั้ง Carl Sagan และ Stephen Hawking ห่วงใยว่ามนุษย์จะใช้ขีดความสามารถทางเทคโนโลยีที่ตนสร้างขึ้นทำลายโลกมนุษย์และตนเองในที่สุด เป็นที่มาของคำถามต่อพระเจ้า - ถ้ามีพระเจ้า - ว่าสร้างโลกสร้างมนุษย์ขึ้นมาทำไม? เพื่อให้มนุษย์จะได้ทำลายตนเองและทำลายโลกในที่สุดอย่างนั้นหรือ? Stephen Hawking ชอบที่จะสนับสนุนแนวคิดที่ว่าอาจเป็นไปได้ที่จะมีรูปแบบชีวิตที่ทรงภูมิปัญญาในเอกภพ นอกเหนือจากโลกมนุษย์ของเรา เพียงแต่เรายังมองข้ามหรือหาไม่เจอ จึงได้เกิดโครงการชื่อ Breakthrough Listen Initiatives ในปี 2015 โดยใช้คลื่นวิทยุเป็นเครื่องมือค้นหาชีวิตต่างดาว เผื่อว่าสักวันหนึ่งอาจได้รับสัญาณจากสิ่งมีชีวิตต่างดาวที่สื่อสารกับเรารู้เรื่อง (Brief Answers to the Brief Questions หน้า 85) ในสหรัฐอเมริกาก็มีโครงการค้นหาสิ่งมีชีวิตต่างดาวเรียกว่า SETI (https://www.seti.org) ย่อมาจากคำเต็ม Search for Extraterrestrial Intellegence ใช้วิธีกวาดหาสัญญาณจากต่างดาวบนท้องฟ้าเท่าที่จะทำได้ในพื้นที่จำกัด ณ วันนี้ยังไม่มีการติดต่อมาจากชีวิตต่างดาว จะมีก็แต่ในนวนิยายวิทยาศาสตร์ และภาพยนตร์ Hollywood เท่านั้น. H.G. Wells กับ The War of the Worlds “No one would have believed in the last years of the nineteenth century that this world was being watched keenly and closely by intelligences greater than man’s and yet as mortal as his own;” Herbert George Wells เริ่มประโยคแรกของบทที่หนึ่ง “The Eve of the War” (ก่อนการมาถึงของสงคราม) ในหนังสือเรื่อง “The War of the Worlds” (1898) ตามต้นฉบับข้างบน แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า: “ใครเลยจะเชื่อว่าในช่วงปลายแห่งศตวรรษที่ 19th นั้น โลกของเรากำลังถูกเฝ้าสังเกตดูด้วยความสนใจอย่างใกล้ชิดโดยสิ่งมีชีวิตที่ชาญฉลาดยิ่งกว่ามนุษย์ซึ่งก็เป็นหมู่ชีวิตนอกโลกที่คล้ายมนุษย์ในเรื่องที่ว่าชีวิตดับสลายได้” งานวรรณกรรมนวนิยายเชิงวิทยาศาสตร์ผจญภัยปลายศตวรรษที่ 19th ของนักเขียนชาวอังกฤษผู้มีผลงานวรรณกรรมอมตะหลายเรื่อง รวมทั้ง “สงครามระหว่างโลก” หรือ “The War of the Worlds” เรื่องที่อ้างนี้ แม้จะเป็นเพียงนวนิยายเชิงวิทยาศาสตร์ผจญภัย ที่ในสมัยนั้นเรียกว่า scientific romance แต่ก็เป็นงานวรรณกรรมที่อาศัยพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และจินตนาการของนักคิดนักเขียน ซึ่งสะท้อนความจริงผสมจินตนาการที่อาจเป็นจริงได้ในอนาคต โลกมนุษย์ปลายศตวรรษที่ 19th เป็นสังคมมนุษย์ที่กำลังเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มนุษย์ยุ่งอยู่กับปัญหา ใน และ ระหว่าง เขตแดนของตน ปัญหาระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองบนโลกใบเดียวกัน ทุกคนคิดว่ามีโลกมนุษย์อยู่ใบเดียวเท่าที่อยู่กันและมองเห็นกันและกัน แน่นอนว่าปลายศตวรรษที่ 19th มนุษย์รู้แล้วว่าโลกกลมและร่วมกับดาวเคราะห์ดวงอื่นโคจรรอบดวงอาทิตย์อันเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ มนุษย์เข้าใจเรื่องนี้แล้วด้วยความตื่นตลึงเพราะผลงานการปฏิวัติความคิดการมองโลกใหม่หมดโดย Nicolaus Copernicus (1473-1543) จากหนังสืองของเขาเรื่อง “On the Revolutions of Heavenly Spheres” ซึ่งต้องรอพิมพ์เผยแพร่หลังจากตัวเขาถึงแก่กรรมไปแล้ว ก่อนหน้า Copernicus ตั้งแต่เกิดมีมนุษย์บนโลก มนุษย์เริ่มรู้จักสังเกตดูดาวบนท้องฟ้า มนุษย์เข้าใจและเชื่ออย่างผิดๆว่าโลกแบน เชื่อว่าดวงอาทิตย์ และดวงดาวต่างๆที่เห็นบนสวรรค์จะล่องลอยโคจรไปรอบๆผืนแผ่นโลก แม้ต่อมาจะคิดได้แล้วว่าโลกกลมก็ยังเชื่ออยู่ดีว่าดวงดาวทั้งหลายรวมทั้งดวงอาทิตย์ล้วนแล้วแต่เป็นบริวารของโลกมนุษย์ทั้งสิ้น เมื่อได้ความรู้ใหม่จาก Copernicus แล้ว...จากกลางศตวรรษที่ 16th ถึงปลายศตวรรษที่ 19th...จาก Copernicus ถึง H.G.Wells...จากความรู้ใหม่ที่ว่าดาวเคราะห์ทั้งหลายที่มนุษย์รู้จักและมองเห็นจากกล้องดูดาวเล็กๆนั้น ล้วนโคจรรอบดวงอาทิตย์ทั้งสิ้น รวมทั้งดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ที่มนุษย์ค้นพบ 32 ปีหลัง “The War of the Worlds” คือดาวพลูโต (Pluto) โคจรอยู่วงนอกสุดในระบบสุริยะ ผ่านไปอีกเพียง 76 ปี มนุษย์ก็เปลี่ยนใจปลดดาวพลูโตออกจากสถานภาพดาวเคราะห์ หลังจากเรียนรู้เพิ่มเติมว่าดาวพลูโตมีขนาดเล็กเกินไป และองค์ประกอบทางกายภาพอื่นก็ไม่เข้าคุณสมบัติการเป็นดาวเคราะห์ เป็นได้เพียง “ดาวแคระ” ณ วันนี้ มนุษย์สรุปเท่าที่คิดว่ารู้ ว่าโลกที่มนุษย์อ้างเป็นเจ้าของนั้น เกิดในระบบสุริยะอันมีดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์แสงอ่อนที่เกิดมาเมื่อประมาณ 4.6 พันล้านปีที่แล้ว ระบบสุริยะของดวงอาทิตย์ของเรามีดาวเคราะห์ 8 ดวงโคจรรอบเป็นวงรี ระบบสุริยะของเรานี้มีดาวเคราะห์โลกดวงเดียวที่มีมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นวิวัฒนาการเติบโตขยายพันธุ์อยู่ นับเฉพาะมนุษย์ก็มีกว่า 7 พันล้านคน เป็นเรื่องยากมาก หรือเป็นไปไม่ได้เลยว่า ดาวเคราะห์เพียง 8 ดวง จะสามารถดูแลโชคชตาของมนุษย์ กว่า 7 พันล้านคนได้ แถมดาวเคราะห์ก็เป็นเพียงดินหินและแก๊สร้อนระอุ ไม่มีชีวิต ไม่สามรถรับรู้เรื่องราวทุกข์สุขของมนุษย์ได้ ไม่มีเวลาและภาระหน้าที่ดูแลมนุษย์บนโลกได้ โดยเฉพาะมนุษย์ไทยที่นิยมหมอดูหรือโหราจารย์ที่อ้างความรู้ของตนเป็นโหราศาสตร์ มนุษย์เรานี่ก็แปลก ในโลกตะวันตกในหมู่ผู้นับถือศาสนาคริสต์ เขาพึ่งพระเจ้าเป็นสรณะ ในเมืองไทย มนุษย์ที่นับถือศาสนาอะไรก็ได้ กลับนิยมไปพึ่งดวงดาวไร้ชีวิตลิขิตโดยโหราจารย์ ในเมื่อผมใช้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการอธิบายปรากฏการณ์บนโลกและนอกโลก ผมจึงไม่เชื่อหมอดูและโหราจารย์ทั้งหลาย ด้วยเหตุผลง่ายๆว่าดาวเคราะห์มีเพียง 8 ดวง ไม่นับโลกก็เหลือ 7 ดวง มนุษย์ไทยมี 70 ล้านคน ดาวเคราะห์ 1 ดวงต่อมนุษย์ไทย 10 ล้านคน เหนื่อยเกินไปสำหรับดินหินฝุ่นละอองและมวลก๊าซต่างๆที่ต่างก็มีภาระจะต้องโคจรไปตามแรงโน้มถ่วงจากดวงอาทิตย์ บอกแล้วว่า แรงโน้มถ่วงคือพระเจ้าของดวงดาว ตัวของตัวดาวเองยังเอาตัวไม่รอด ถูกดวงอาทิตย์ดึงให้วิ่งวนเป็นวงรีไม่รู้จบชั่วกัปชั่วกัลป์ อย่างน้อยๆก็ 4-5 พันล้านปีมาแล้ว ครบรอบวงโคจร ก็เรียกว่าครบ 1 ปี แล้วก็เริ่มตั้งต้นโคจรใหม่ ณ จุดเดิม เห็นใจกันบ้างซิ! ดวงดาวไม่ว่างจริงๆ ชีวิตของดวงดาวก็ถูกบังคับลากจูงไปโดยพลังดึงดูดของดวงอาทิตย์ ............ หมอดูไม่มีทางได้เงินจากผมแน่นอน. หมอผีผมก็ไม่ใช้บริการ เพราะ Quantum Mechanics อธิบายได้ว่า โลกนี้ไม่มีผี! คำถามใหญ่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน คือที่ Stephen Hawking ถามเป็นคำถามที่ 2 ในหนังสือ Brief Answers to the Big Questions ที่ถามว่า: “How did it all began? / ทุกอย่างเริ่มต้นอย่างไร?” และ Carl Sagan บรรยายไว้อย่างงดงามใน The Varieties of Scientific Experience บทที่ว่าด้วย Nature and Wonder: A Reconnaissance / อัศจรรย์แห่งธรรมชาติ: การค้นหาความรู้เกี่ยวกับสวรรค์ ธรรมชาติแห่งเอกภพนั้นอัศจรรย์ยิ่งนัก และวิทยาศาสตร์คือเครื่องมือสำหรับการพิสูจน์และอธิบายความอัศจรรย์แห่งธรรมชาติของเอกภพ Carl Sagan กล่าวถึงความพยายามของนักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาสมัยกรีกโบราณที่จะอธิบายปรากฏการณ์บนโลกมนุษย์และบนท้องฟ้า -หรือสวรรค์ - โดยเฉพาะตั้งแต่นักปราชญ์ชื่อ Aristotle เป็นต้นมา จนถึงยุคปัจจุบันที่ความรู้เรื่องสวรรค์ของมนุษย์เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงและโดยรวดเร็วภายในช่วงเวลาเพียงประมาณ 2,500 ปี. Aristotle (384 BC - 322 BC) สังเกตดูสวรรค์อยู่นานจนเชื่อในความรู้ที่คิดว่าตนเองได้จากการสังเกตและคิดคำนึงด้วยสามัญสำนึก, วิทยาศาสตร์เบื้องต้น, จินตนาการ, และกระบวนการวิเคราะห์ด้วยปรัชญา แล้วลงความเห็นว่า: โลกสถิตย์นิ่งอยู่กับที่ ส่วนสวรรค์นั้นก็เคลื่อนที่ไปรอบวงโค้งเหนือโลกทุกวันคืน ดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, ดาวเคราะห์อื่น, และดาวฤกษ์ทั้งหลาย ล้วนโคจรเคลื่อนย้ายจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก แล้ววนลงใต้โลกกลับมาปรากฏให้เห็นอีกครั้งเมื่อครบรอบ แม้ Aristotle จะรู้แล้วว่าโลกมีรูปทรงกลม มิใช่เป็นแผ่นแบนเหมือนความเชื่อก่อนหน้าเขาในยุคก่อนปราชญ์ Socrates ราวศตวรรษที่ 6th-5th ก่อนคริสตกาล ด้วยอิทธิพลของความคิดของ Aristotle เพราะชื่อเสียงความเป็นนักปราชญ์ผู้รอบรู้ - ผู้เป็นครูของ Alexander มหาจักรพรรดิ์ - และความเป็นชนชั้นพิเศษในสังคมในฐานะนักปราชญ์และชนชั้นปกครอง มนุษย์ผู้เจริญความรู้สมัยกรีกโบราณจึงเชื่อว่า สวรรค์เพียงแต่เดินทางครอบคลุมไปเป็นวงรอบโลก เสมือนอยู่ในครอบแก้วเจียรไน โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางและรูปทรงดังที่มองเห็นทุกวันทุกคืน โลกที่ลอยอยู่ตรงกลางวงครอบที่ล้อมอยู่เท่านั้น มีการเปลี่ยนแปลง ผันแปร และเป็นที่อยู่แห่งเดียวของบาปบรรดามี (Carl Sagan: “With the exception of this kind of motion, the heavens were thought to be changeless. The Earth, while stationary, had all the corruption of the universe localised here.” น.36). แล้ววิทยาศาสตร์ก็วิวัฒนาการด้วยเทคโนโลยีในการค้นหาความจริงแห่งสวรรค์มาถึงยุคปัจจุบัน แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะรับความจริงอย่างนอบน้อมถ่อมตนว่ายังมีคำถามที่ตอบไม่ได้อีกมากเกี่ยวกับสวรรค์ หรือธรรมชาติแห่งเอกภพ และวิทยาศาสตร์ก็ยังคงเดินหน้าค้นหาคำตอบที่ถูกต้องแท้จริงเพื่อให้ได้ความจริงแท้แน่นอนเกี่ยวกับสวรรค์ให้มากที่สุด แต่ ณ วันนี้ สวรรค์ที่ว่านั้นได้ถูกถ่ายภาพมาให้ดูมากมายจนพอที่จะยืนยันได้แน่ชัดแล้วว่าสวรรค์คือเอกภพตามภาพที่ปรากฎ อันเป็นภาพที่ถ่ายมาโดยกล้องดูดาวอวกาศต่างๆที่ล่องลอยอยู่ใกล้และมองเห็นสวรรค์ใกล้มากที่สุดเท่าที่มนุษย์จะสามารถประดิษฐ์กล้องได้ ในบทที่หนึ่ง เรื่อง Nature and Wonder: A Reconnaissance of Heaven มีภาพถ่าย และภาพวาดเขียน 14 ภาพ ประกอบคำอธิบายเรื่องเอกภพ ดวงดาวแรกเกิด ดวงดาวกำลังดับ ตำแหน่งที่อยู่อาศัยของดาวเคราะห์โลกในระบบสุริยะของเรา และที่อยู่ของระบบสุริยะของเราใน galaxy ทางช้างเผือก และที่อยู่ของทางช้างเผือกท่ามกลางมหาอาณาบริเวณแห่ง galaxy หรือดาราจักร อันกว้างไกลไพศาล และยังมีช่องว่างที่เห็นดำมืดมิดระหว่างแกแล็กซี่ ซึ่งที่จริงก็มิใช่ความว่างเปล่า หรือความไม่มีอะไรเลย ทว่าความมืดที่ปรากฎต่อสายตาเป็นที่อยู่ของสารแห่งความมืดที่เรียกว่า Dark Matter รวมถึง Black Hole หรือ “หลุมดำ” ที่เกิดจากการดับสิ้นพลังของดวงดาวจนยุบหดตัวเก็บมหันตพลังดูดเก็บแสงสว่างไว้ในหลุมดำอันมืดมิดมิให้ลอดกลับออกสู่สวรรค์เดียวกันได้. เฉพาะโลกของเรา ตามความรู้ ณ วันนี้ เป็นเพียงดาวเคราะห์โลกก้อนหรือจุลธุลีละอองเล็กๆ ที่ไร้ความสำคัญ ล่องลอยอยู่ท่ามกลางโลกอื่นๆ ที่บ้างก็ใหญ่กว่า บ้างก็เล็กกว่า ในเอกภพ โลกมนุษย์ไม่มีความสำคัญอะไรน่าสนใจเลย! Carl Sagan คำนวณว่ามีโลกอื่นๆในสวรรค์อย่างน้อยหนึ่งล้านล้านโลก (trillion, 10 ยกกำลัง 12, หรือ 1 ตามด้วย 0 สิบสองตัว : 1,000,000,000,000 - อ่านว่า หนึ่งล้านล้าน, น.11) ที่เรียกว่า star คือ ดวงดาวที่มีแสงสว่างและพลังงานความร้อนในตัวเองเช่นดวงอาทิตย์ของเรา ก็ให้เรียกได้ว่าเป็น sun หรือ ดวงอาทิตย์แบบเดียวกันหมด ส่วนที่ไม่มีแสงในตัว ดับสงบและโคจรรอบดวงอาทิตย์ก็เรียกว่าดาวเคราะห์ หรือ planet มีดวงดาวที่เป็นดวงอาทิตย์ร่วมชุมนุมกันอยู่เป็นอาณาจักรแห่งดวงดาวเดียวกัน เรียกอาณาจักรแห่งดวงดาวนี้ว่า Galaxy หรือ “ดาราจักร” ในภาษาไทย ในหน้า 23 Carl Sagan ให้ดูภาพดวงอาทิตย์สองแสนล้านดวงเฉพาะในสวรรค์ของเรา แต่ก็สามารถนำมาให้ดูเพียงส่วนเล็กย่อยส่วนหนึ่งของ Milky Way Galaxy เท่านั้น แล้วให้ลองหาดูว่าดวงอาทิตย์ของเราจะอยู่ตรงไหน ดูเท่าไรก็บอกไม่ได้ หาไม่เจอ แล้วดาวเคราะห์โลกของมนุษย์เราจะอยู่ตรงไหน ถ้าหากมองหาดวงอาทิตย์บนสวรรค์อันอภิมหาไพศาลไม่เจอ. ดวงอาทิตย์ของเรานั้นมีอยู่แน่นอน เพราะเรามองเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โลกของเราก็มีอยู่แน่เพราะเรามองเห็นบางส่วนของแผ่นดินที่เรายืนอยู่หรือตั้งบ้านเรือนอยู่ เพียงแต่คนโบราณไม่รู้ว่าโลกทั้งโลกนั้นรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร และไม่รู้ว่าองค์ประกอบของสวรรค์เป็นอย่างไร เมื่อเราเป็นคนสมัยโลกพัฒนาก้าวหน้าในการค้นหาความจริงเกี่ยวกับสวรรค์หรือธรรมชาติของเอกภพ จนได้ความรู้จริงพอยืนยันได้แล้ว เราจึงรู้ว่าธรรมชาติแห่งเอกภพ หรือสวรรค์ที่แท้จริงนั้นอัศจรรย์ยิ่งนัก. แล้ว Stephen Hawking อธิบายเรื่อง “How did it all began? / ทุกอย่างเริ่มต้นอย่างไร?” อย่างไร? เรื่องนี้ Stephen Hawking ก็ตั้งคำถามที่ยียวนกวนใจพระเจ้ามากมาย แต่ก็ด้วยอารมณ์ขันที่งดงามเชิงวิชาการแบบฝรั่งตะวันตกที่วิจารณ์พระเจ้าได้ โดยทั่วไปนักบวชในศาสนาตริสต์ก็จะอ้างพระคัมภีร์ Bible - The Book of Genesis ว่าด้วยกำเนิดโลกที่พระเจ้าทรงเป็นผู้สร้างให้ทุกสิ่งอย่าง ทั้งสิ่งมีชีวิต มนุษย์ สัตว์ พืช ดินหิน ภูเขา น้ำ ความมืด ความสว่าง พระเจ้าใช้เวลาสร้างโลกเพียง 6 วัน บางคนตีความกำหนดวันกำเนิดโลกได้ด้วยซ้ำไปว่าเป็นวันที่ 22 ตุลาคม 4004 ปี ก่อนคริสตกาล แม้ยังไม่มีปฏิทิน Gregorian ก็คงต้องอนุโลมให้คำนวณย้อนหลังได้ ซึ่งก็หมายความว่าโลกมีอายุเพียง 4 พันปี ซึ่งก็จะขัดแย้งกับทฤษฎีวิวัฒนาการที่ศึกษาและพัฒนาต่อมาในศตวรรษที่ 19th โดยนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษชื่อ Charles Darwin จากผลงานวิชาการอมตะเรื่อง On the Origin of Species พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1859 หลังการเดินทางสำรวจธรรมชาติรอบโลกนาน 5 ปี ที่จบสิ้นในปี 1836 หนังสือเล่มแรกของ Charles Darwin เกี่ยวกับการเดินทางสำรวจธรรมชาติในฐานะนักธรรมชาติวิทยาประจำเรือหลวง HMS Beagle ของกัปตัน Fitz Roy RN.(ราชนาวีอังกฤษ) ระหว่างปี 1831-1836 ชื่อเรื่องหนังสือแบบเต็มตามต้นฉบับดั้งเดิม ชื่อ: JOURNAL OF RESEARCHES INTO THE NATURAL HISTORY AND GEOLOGY OF THE COUNTRIES VISITED DURING THE VOYAGE OF H.M.S. BEAGLE ROUND THE WORLD, UNDER THE COMMAND OF CAPT. FITZ ROY, RN. BY charles DARWIN, M.A. F.R.S. เรียกแบบย่อในปัจจุบันว่า “The Voyage of the Beagle” พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเดือนสิงหาคม ปี 1839 หลังจากนั้นอีก 20 ปี Charles Darwin จึงพิมพ์เรื่อง On the Origin of Species ที่เขาจำต้องประวิงเวลาตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือว่าด้วยกำเนิดและวิวัฒนาการชีวิตบนโลก ยาวนาน ก็ด้วยความหวั่นโทษทางสังคมเคร่งศาสนาคริสต์ และหวั่นว่าอาจได้รับโทษจากฝ่ายศาสนาเช่น ความหวาดกลัวของ Copernicus และ Galilei Galileo ก่อนหน้าเขา เพราะเรื่องที่ว่า ชีวิตเป็นวิวัฒนาการนานหลายล้านปี นับแต่กำเนิดโลก ชีวิตที่เข้มแข็งปรับตัวต่อสภาพรุนแรงของธรรมชาติแวดล้อมได้ก็สามารถถูกคัดสรรโดยธรรมชาติให้คงอยู่ กระจายพันธุ์ต่อไปได้ ที่อ่อนแอกว่าก็ตายสูญสลายพันธ์ุไป ที่ต่อมาอธิบายด้วยวลีที่ว่า “Survial of the fittest” / “ใครดีใครอยู่” ชีวิตใดรู้จักปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมได้เหมาะสม ก็อยู่รอด และขยายพันธุ์ต่อไปได้ จากน้ำสู่บก พืชและสัตว์ค่อยๆวิวัฒนาการเป็นชีวิตที่เราเห็นหลากหลายบนโลกมนุษย์ในวันนี้ วิวัฒนาการชีวิตโดยการคัดสรรของธรรมชาติ ผ่านกาลเวลานับหมื่นนับพันล้านปี ไม่ใช่แค่ 4,000 ล้านปีตามที่ฝ่ายศาสนาอ้าง ความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติวิทยา จาก Charles Darwin นี้ คือทฤษฎีที่อธิบายสวนทางกับฝ่ายศาสนาโดยสิ้นเชิง เป็นทฤษฎีที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งโลกยอมรับเป็นส่วนใหญ่ และใช้อธิบายในบทเรียนวิชาธรรมชาติวิทยาในโรงเรียนได้ทั่วโลก ฝ่ายที่ยังยึดมั่นในพระเจ้าว่าเป็นผู้สร้างโลกเมื่อ 4,000 ปีที่แล้ว ไม่เชื่อในวิวัฒนาการ แต่อธิบายว่าที่เห็นอยู่บนโลกเป็นของพระเจ้าสร้าง ที่คงรูปแบบรูปร่างดังเดิมเหมือน 4,000 ปีที่แล้ว ไม่มีใคร อะไร วิวัฒนาการที่ไหน ความเชื่อแบบนี้มิใช่วิทยาศาสตร์ รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาห้ามสอนในโรงเรียน. ทุกวันนี้ฝ่ายศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่นที่เป็นเทววิทยา ก็ถือว่าพระเจ้าสร้างโลก แม้วิทยาศาสตร์จะพิสูจน์แล้วว่าชีวิตบนโลกเป็นวิวัฒนาการ ส่วนโลกนั้นก็มีกำเนิดมาจากการหลอมรวมเกาะกันของบรรดาเทหะวัตถุในเอกภพที่เกิดขึ้นหลังการระเบิดครั้งใหญ่ที่เรียกว่า Big Bang ซึ่งท่านศาสตราจารย์ระวี ภาวิไล ผู้ล่วงลับไปแล้วเรียกเป็นภาษาไทยว่าระเบิด “มหากัมปนาท” จากจุดเริ่มอันเป็นความว่างเปล่าในอวกาศที่อาจจะยังไม่มีความเป็นอวกาศก็ได้ แต่อธิบายแบบย่อสั้นได้ว่า นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าเอกภพที่ร่วมอาศัยอยู่นี้กำลังขยายตัวออกไปเรื่อยๆ นักวิทยาศาสตร์เอาอัตราการขยายตัวของเอกภพมาคำนวณย้อนหลังไปสู่จุดเริ่มขยายตัว ย้อนไปถึงจุดที่อนุภาคขนาดเล็กจิ๋วเพียงหนึ่งหน่วย เรียกว่า Singularity เป็นที่ยอมรับโดยนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ว่า เอกภพมีจุดเริ่ม หรือต้นกำเนิดของกาลเวลาที่จุดของอนุภาคเล็กหนึ่งเดียวเป็น Singularity จากนั้นโดยฉับพลันก็เกิดการระเบิดอย่างรุนแรงอภิมหากัมปนาทสะเทือนเลื่อนลั่น เรียกว่า Big Bang ผลการระเบิดก็ส่งแรงขยายออกไปโดยรอบเป็นวงกว้าง และขยายออกไปเรื่อยๆไม่หยุดยั้งจนทุกวันนี้ ดังที่เราเรียกว่า “เอกภพขยายตัว” หรือ Expanding Universe นั่นเอง. ที่จริง StephenHawking ก็พยายามอธิบายถึงแนวคิดที่แตกต่างหลากหลายว่าด้วยกำเนิดเอกภพ และทั้งหมดก็เป็นทฤษฎีที่มิอาจหาข้อยุติสมบูรณ์ได้ในหมู่นักวิทยาศาสตร์เอง มีแต่ฝ่ายศาสนาเท่านั้นที่มีข้อยุติว่าพระเจ้าสร้างโลกให้แล้ว ตามกำหนดวันเวลาในพระคัมภีร์ Bible ไม่ต้องมาคิดอะไรกันมาก. ส่วนนักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาก็ถกเถียงกันอื้ออึง อลวน สนุกสนาน พวกที่เห็นว่าเอกภพเริ่มตอนเกิด Big Bang ก็แปลว่าเอกภพมีจุดกำเนิด ณ SIngularity เป็นจุดเริ่มของกาลเวลา อีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยว่าเอกภพมีจุดเริ่ม เพราะถ้ามีจุดเริ่ม ก่อนมีจุดเริ่มนั้นมีอะไรมาก่อน ก็ยังหาคำตอบกันไม่ได้ Stephen Hawking ก็ย้อนถามด้วยอารมณ์ขันว่า ถ้าเชื่อว่าเอกภพมีจุดกำเนิด แล้วก่อนมีจุดกำเนิดพระเจ้ามัวไปทำอะไรอยู่จึงไม่รีบสร้างโลก หรือว่าพระเจ้าไปยุ่งอยู่กับเตรียมสร้างนรกให้กับคนที่ตั้งคำถามแบบนี้ (Brief Answers to the Big Questions หน้า 43) ฝ่ายที่ตกลงใจว่าเอกภพไม่มีจุดเริ่ม แต่เชื่อว่าเอกภพมีมาแล้วตอนไหนก็ไม่รู้ แต่รู้ว่าไม่มีจุดเริ่ม เกิดมา แล้วก็มีต่อไป ขยายตัวต่อไปเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น ไม่มีขอบเขตไม่มีเส้นล้อมวงพรมแดน ไม่มีหลักหมุดปักปันโฉนดบนสวรรค์ พวกนี้เป็นผู้ให้กำเนิด Steady-State Theory หรือ “ทฤษฎีสถานะคงตัว" หรือ “สภาวะคงที่” ในภาษาไทย Stephen Hawking เอง ร่วมงานกับ Roger Penrose นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษรุ่นอาจารย์ เกิดก่อน Stephen hawking 11 ปี และยังมีชีวิตอยู่ ปัจจุบันอายุ 89 ปี ทั้งสองคนใช้วิชาเรขาคณิตคำนวณแล้วยืนยันว่าเอกภพมีจุดเริ่ม โดยถือว่าทฤษฎีสัมพัธภาพทั่วไปของ Albert Einstein ถูกต้อง แต่ก็ยอมรับว่าเมื่อตกลงว่า เอกภพมีจุดเริ่มที่ Singularity แล้วเกิด Big Bang แต่ ณ จุดนี้ Stephen Hawking ก็บอกว่าทฤษฎีของ Einstein ก็ใช้อธิบายต่อไปไม่ได้ เรื่องกำเนิดเอกภพนี้ยังมีข้อถกเถียงต่อได้อีกหลายชั่วอายุคน เพราะทฤษฎีของ Einstein อธิบายได้กับวัตถุหรือสะสารขนาดใหญ่ พอถึงเรื่องเล็กเป็นอนุภาคเล็กสุดก็เป็นหน้าที่ของทฤษฎี Quantum Machanics ที่สร้างความอึดอัดใจให้กับทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษและสัมพัทธภาพทั่วไปของ Albert Einstein ยิ่งนัก เพราะต่างฝ่ายต่างอธิบายโลกได้คนละครึ่งทาง สักวันหนึ่งในอนาคตอันยาวไกล นักวิทยาศาสตร์ที่จนมุมจะอธิบายเอกภพและสรรพสิ่งด้วยทฤษฎี Special และ General Relativity ของ Einstein แล้วหันมาอธิบายด้วย Quantum Field Theory หรือ Quantum Machanics ซึ่งเป็นปัญหาของความแน่นอน หรือไม่แน่นอนในการค้นหาความจริงตามกฎแห่งฟิสิกส์ นักวิทยาศาสตร์จึงมุ่งมั่นค้นหาทฤษใหม่ ทฤษฎีเดียวที่สามารถอธิบายโลกและเอกภพได้ทุกกระเบียดนิ้วทุกอนุภาคของสะสาร และทุกปรากฎการณ์ของสรรพสิ่ง ทฤษฎีใหม่ที่กำลังพยายามค้นหากันและยังหาไม่เจอนี้ นี้เรียกว่า Unified Field Theory หรือ Theory of Everything ที่เจอก็ป็นภาพยนตร์ Hollywood ชื่อเดียวกัน พยายามค้นหากันนานหลายร้อยปีแล้ว และยังค้นหาต่อไป..... ↲ |
Vertical Divider
|
Vertical Divider
|
ถึงตอนนี้พอสรุปปรากฏการณ์ที่เกิดเป็นเอกภพ ตามข้อมูลจากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ได้ว่า :
🌏 13.7 พันล้านปีที่ผ่านมา เกิด The Big Bang ระเบิดมหากัมปนาท 🌏 50,000 ปี หลัง Big Bang ช่วงเปลี่ยนผ่านจากสมัยแผ่รังสี (Radiation Era) เข้าไปสู่มหายุคแห่งสะสาร (Matter Era) 🌏 400,000 ปี หลัง Big Bang เอกภพเข้าสู่สถานะภาพอยู่ตัว (Neutralization) การแผ่รังสีปรากฏเป็นฉากหลังของจักรวาล (cosmic background radiation 🌏 700 ล้านปี - 2 พันล้านปี หลัง Big Bang กำเนิด galaxies (ดาราจักร) และ stars (ดวงดาว) 🌏 9.1 พันล้านปี หลัง Big Bang - 4.6 พันล้านปี กำเนิดระบบสุริยะของเรา 🌏 4.6 - 4.5 พันล้านปี ก่อนปัจจุบัน กำเนิดดาวเคราะห์วงในของระบบวงโคจรในระบบสุริยะของเรา (ได้แก่ดาวพุธ, ดาวศุกร์, ดาวโลก, และ ดาวอังคาร) 🌏 3.8 - 3.5 พันล้านปี ก่อนปัจจุบัน ปรากฏสิ่งมีชีวิต 🌏 2.0 พันล้านปี ก่อนปัจจุบัน ปรากฏอ๊อกซิเจน (oxygen) ในบรรยากาศ และ eukaryotic cells (ยูคาริโอติคเซลล์ เป็นเซลล์ของสิ่งมีชีวิตชั้นสูงขึ้นกว่าเดิม มีนิวเคลียส์ชัดเจน 🌏 540 ล้านปี ก่อนปัจจุบัน สิ่งมีชีวิตรูปแบบซับซ้อนเกิดขึ้นมากมายใน Cambrian Period (ยุคแคมเบรียน) 🌏 400 ล้านปี ก่อนปัจจุบัน สิ่งมีชีวิตเคลื่อนจากน้ำขึ้นบก 🌏 200 ล้านปี ก่อนปัจจุบัน กำเนิดสัตว์เลือดอุ่น 🌏 63 ล้านปี ก่อนปัจจุบัน ห่าอุกกาบาตถล่มดาวเคราะห์โลก ทำลายชีวิตไดโนเสาร์จนสิ้น ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีโอกาสเติบโต 🌏 4 ล้านปี ก่อนปัจจุบัน กำเนิด bipedal Australopitheces (ชีวิตดึกดำบรรพ์ที่มีสองขา ยุคเริ่มแรกวิวัฒนาการชีวิตมนุษย์ก่อนจะมาเป็นมนุษย์รูปแบบพัฒนาขึ้นในเวลาต่อๆมา 🌏 2 ล้านปี ก่อนปัจจุบัน กำเนิด Homo erectus (Homo เป็นภาษาละติน แปลว่า man หรือ human หรือ มนุษย์ นั่นเอง ส่วน erectus แปลว่าตั้งแนวตรงขึ้น รวมความหมายถึงวิวัฒนาการชีวิตมนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่ยืนตัวขึ้นตรงได้) 🌏 200,000 ปี ก่อนปัจจุบัน กำเนิด Homo Sapiens มนุษย์มีปัญญา (sapien เป็นภาษาละติน แปลว่ามีความชาญฉลาด หรือมีภูมิปัญญา รู้จักคิด ดังที่ปรากฏรูปลักษณ์ที่เห็นในปัจจุบัน 🌏 10,000 ปี ก่อนปัจจุบัน เริ่มกิจกรรมทางการเกษตร 🌏 6,000 ปี ก่อนปัจจุบัน แรกกำเนิดรูปแบบการเมืองการปกครองแบบแบ่งเขตแยกเป็นรัฐหรือแว่นแคว้นต่างๆ 🌏 500 ปีที่แล้ว เริ่มคลื่นแรกแห่งโลกาภิวัตน์ (First wave of globalization) 🌏 250 ปีที่แล้ว คลื่นที่สองแห่งโลกาภิวัตน์-ยุคอุตสาหกรรม (Second wave of globalization - industrialization) 🌏 60 ปีที่แล้ว คลื่นที่สามแห่งโลกาภิวัตน์-ยุคข้อมูลข่าวสาร (Third wave of globalization - informationaization) (อ้างจาก Fred Spier, Big History and the Future of Humanity (Wiley-Blackwell, UK, 2011) และ 🌏 ปี 2019 เกิด Thailand 1.0 เอาฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ จักรวาลวิทยา และประวัติศาสตร์ รวมกัน ได้เป็นประวัติศาสตร์ใหญ่ของพวกเราชาวโลกมนุษย์ โลกที่มองจากดาวเสาร์ ไกลออกไปเพียง 6,000 ล้านกิโลเมตร เราก็เห็นโลกเป็นจุดเล็กจิ๋วสีฟ้าจางๆ ถ้าไม่บอกก็ไม่รู้ว่าเป็นโลกของเรา เป็นที่อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมสร้างและทำลายกันและกัน ทำสงครามและสันติภาพแล้วทำสงครามกันอีก สงครามใหญ่ระดับตายกันทั่วโลก ก็ผ่านมาแล้วสองครั้ง ครั้งหน้าก็อาจเป็นครั้งใหญ่ที่โลกอาจจะถูกทำลายด้วยฝีมือมนุษย์เอง มนุษย์ที่วิวัฒนาการมาจากชีวิตในน้ำ เติบใหญ่ คัดสรรเหลือเฉพาะชีวิตที่มีภูมิปัญญา ก็อาจจะทำลายล้างโลกกันด้วยภูมิปัญญาที่มีนั่นแหละ ⤴︎ |
พระเจ้าไม่มีแน่ ถ้ามีพระเจ้าจริง พระองค์คงไม่สร้างให้มนุษย์มีความบกพร่องมากมายขนาดนี้ จนถึงจุดที่พร้อมทำสงครามล้างโลกของพระเจ้าได้ พระเจ้าไม่เล่นลูกเต๋า ไม่สร้างโลกให้เหนื่อยเปล่าหรอก! ทั้ง Carl Sagan และ Stephen Hawking และนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายในโลกพิสูจน์ให้เชื่อได้แล้วว่าไม่มีพระเจ้า แม้ความเชื่อในพระเจ้ายังคงมีอยู่ Carl Sagan พูดเชิงประชดว่า นักวิทยาศาสตร์นั้นไม่เชื่อว่ามีพระเจ้าอยู่แล้ว โดยเฉพาะตอนมาทำงานที่ office แต่พอกลับบ้าน และโดยเฉพาะวันอาทิตย์ที่ไปโบสถ์กับครอบครัว พระเจ้าก็กลับมาชั่วระยะหนึ่ง Carl Sagan หวังว่าฝ่ายวิทยาศาสตร์ จะได้ร่วมมือกับฝ่ายศาสนาค้นหาความจริงเพื่อจรรโลงโลกให้เป็นสุข สันติ ยั่งยืนตลอดไปได้ Carl Sagan บอกว่ามนุษย์ยังอยู่กับความเคยชินแต่ดั้งเดิม แม้จะเลิกเชื่อแล้วว่าโลกแบน ดวงอาทิตย์ไม่ได้โคจรรอบโลก แต่ก็ยังพูดว่า ดวงอาทิตย์ขึ้น ดวงอาทิตย์ตก กันอยู่ทุกเช้าทุกค่ำ ทั้งๆที่ดวงอาทิตย์ไม่เคยขึ้น ไม่เคยตก ดวงอาทิตย์นั้นอยู่เฉยๆนิ่งๆ ณ จุดศูนย์กลางของ โลกต่างหากที่หมุนวนไปหาดวงอาทิตย์ แล้วก็หมุนวนผ่านไป หมุนวิ่งวนเป็นรอบ ทุก 24 ชั่วโมง แล้วกลับมาตั้งต้นที่เดิม โลกไปหาเรื่องกับดวงอาทิตย์เอง! ประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่เล่ามานี้เป็นเพียงบางส่วน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็ยอมรับว่าวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือค้นหาความจริงที่พิสูจน์ได้ และความจริงที่พิสูจน์ได้แล้ว ณ วันนี้ อาจมีข้อมูลหลักฐานและเหตุผลใหม่ทำให้ต้องพิสูจน์ใหม่ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การลบล้างความรู้เก่า และวิวัฒนาการความรู้ใหม่ไปเรื่อยๆ แต่มันคือความจริงเท่าที่พิสูจน์ได้ ณ เวลานี้ วิธีคิดเป็นวิทยาศาสตร์นี้สามารถนำไปใช้ถกเถียงเพื่อหาคำตอบในทางรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และอธิบายข้อขัดแย้งขุ่นข้องหมองใจในหมู่มวลมนุษย์ได้. และที่สำคัญ การใช้ชีวิตและวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ ดังตัวอย่างที่เล่ามานี้ควรจะทำให้มนุษย์มีเหตุผลในการเกิด คงอยู่ และรักษามิตรภาพและสันติภาพระหว่างชีวิตด้วยกัน บนดาวเคราะห์โลกที่เกิดขึ้นมาโดยกฎแห่งฟิสิกส์ หลังระเบิดมหากัมปนาท หรือ Big Bang เมื่อ 13,700 ล้านปีที่แล้วได้อย่างเป็นสุข มนุษย์วิวัฒนาการชีวิตมาเพียงสองล้านปี และเริ่มเป็นชีวิตทรงภูมิปัญญาเพียงเมื่อ 2 แสนปีที่ผ่านมาแล้วเท่านั้น พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ มีชีวิตอยู่บนโลกมนุษย์จุดสีฟ้าจางๆนี้ 65 ปี ฝากรอยประทับเป็นเสมือน fossil ทางจิตวิญญาณไว้บนแผ่นดินและผืนน้ำทะเลไทยอย่างไม่มีวันสูญสลาย ส่วนผมเองก็เป็นชีวิตที่มิได้มีความสลักสำคัญอะไรในโลกและเอกภพ ผมเพียงแค่แวะผ่านมาอยู่อาศัยกับพวกท่านทั้งหลายในช่วงสั้นๆ ไม่น่าจะเกิน 80-90 ปี แล้วก็จะถึงวันเวลาที่จะถูกกฎแห่งฟิสิกส์ ทั้งแรงโน้มถ่วงและ Quantum Machanics ดึงดูดไปท่องเอกภพอันกว้างไกลต่อไป. สวัสดี และขอบคุณครับ สมเกียรติ อ่อนวิมล 3 กรกฎาคม 2562 |
หนังสืออ้างอิงหลัก
Carl Sagan: The Varieties of Scientific Experience (Penguin Books, 2007, 284
Stephen Hawking: Brief Answers to the Big Questions (Bantam Books New York, 2018, 230 หน้า)
Carl Sagan: The Varieties of Scientific Experience (Penguin Books, 2007, 284
Stephen Hawking: Brief Answers to the Big Questions (Bantam Books New York, 2018, 230 หน้า)