Library Collections
A History of Thailand
Chris Baker and Pasuk Phongpaichit Baker, Chris and Pasuk Phongpaichit, A History of Thailand, Cambridge University Press, New York, 2005, 301 หน้า, ISBN 13 978-0-521-81615-7 (hb), ISBN 10 0-521=01647 (ppb) สมดุลย์แห่งมุมมองประวัติศาสตร์ไทย และแล้วก็เข้าถึงประวัติศาสตร์ประเทศไทยอย่างแท้จริง เป็นเรื่องราวของวิวัฒนาการสังคมไทยแต่อดีตก่อนสมัยราชอาณาจักร ผ่านการเวลาแห่งการเมืองการปกครองและพัฒนาการทางสังคมมาถึงยุคทันสมัย แต่การเขียนประวัติศาสตร์ก็มักจะแบกภาระการตีความและอธิบายความให้กับผู้เขียน มุมมองตะวันตกถ่วงดุลย์และขัดเกลาโดยคู่มองคู่บันทึกและตีความประวัติศาสตร์ไทย กับงานเขียนประวัติศาสตร์ฉบับภาษาอังกฤษอาจช่วยให้ชาวต่างชาติที่สนใจศึกษาพอเห็นเค้าลางของเส้นทางประวัติศาสตร์ไทยอย่างย่อกระชับ อ่านเพลินๆระหว่างเดินทางก็อพจะช่วยทำให้ผู้อ่านเข้าใจจุดหมายปลายทางคือประเทศไทยได้บ้าง ส่วนประเทศไทยเองอาจจะยังคลำหาทิศทางของตัวเองอยู่อย่างสาละวนจนนักประวัติศาสตร์ไทยแท้ๆล้วนๆยังมองประวัติศาสตร์กันต่างมุมทั้งอย่างเงียบและอย่างไม่สงบ. ปัญหาของประวัติศาสตร์อยู่ที่ไหน?
คำถามนี้ต้องตอบว่า ปัญหาของประวัติศาสตร์อยู่ที่... ...คนเขียนประวัติศาสตร์ แล้ว... ...ปัญหาของคนเขียนประวัติศาสตร์ไทยอยู่ที่ใด คำตอบก็คือ... คนเขียนประวัติศาสตร์ไทยมีอยู่คนเดียว คือ “กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” เมื่อเห็นชื่อ Chris Baker กับ ผาสุก พงษ์ไพจิตร ในฐานะคู่เขียน A History of Thailand ประวัติศาสตร์ไทยภาคภาษาอังกฤษ แล้วก็คิดถึงปัญหาใหญ่ของประวัติศาสตร์ไทยทั้งสองปัญหานี้ บวกกับปัญหาพิเศษส่วนตัวของนักวิชาการนักเขียนสองคนนี้เข้าไปอีกปัญหาหนึ่งด้วย Chris Baker กับ ผาสุก พงษ์ไพจิตร เป็นนักเขียนประวัติศาสตร์ที่จะเป็นปัญหาหรือไม่? นักวิชาการทั้งสองนี้พร้อมจะเผชิญหน้ากับกรมพระยาดำรงราชานุภาพหรือเปล่า? และ Chris Baker กับ ผาสุก พงษ์ไพจิตร เป็นนักประวัติศาสตร์หรือเปล่า? ต่อคำถามแรก Chris และ ผาสุก เป็นปรากฏการณ์ร่วมสมัยของนักประวัติศาสตร์ไทย เป็นความพยายามที่จะเขียนประวัติศาสตร์จากดีร่วมสมัยมุมมองใหม่ แล้ว ส่งปัญหาต่อไปยังผู้อ่าน A History of Thailand โดย Chris Baker and Pasuk Phongpaichit เป็นประวัติศาสตร์โดยย่อของไทย สั้นเพียง 301 หน้า เขียนเป็นภาษาอังกฤษ เริ่มเรื่องตั้งแต่ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ กล้าหาญย้อนหลังไป ถึง 180,000 ปี โดยเขียนว่า ดินแดนไทยยุคดึกดำบรรพ์นั้นมีร่องรอยของมนุษย์ถ้ำเร่ร่อนล่าสัตว์ ผ่านยุคปลูกข้าวและโลหะสัมฤทธิ์เมื่อ 5,000 ปีที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะหมายถึงอารยธรรมบ้านเชียง เข้าสู่ยุคเหล็กเมื่อ 2,500 ที่แล้วนี้เอง จากนั้น Chris และ ผาสุกก็นำเราเข้าสู่สังคมโบราณ ที่ผู้คนหลากเผ่าพันธุ์อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันอย่างกระจัดกระจาย ผ่านประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรไทยสมัยต่างๆ ตั้งแต่สุโขทัยมา อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ มาจนถึง ยุคไทยรักไทย A History of Thailand โดย Chris Baker and Pasuk Phongpaichit อ่านได้เพลิน อ่านง่ายจบเร็วสำหรับผู้ที่เป็นชาวต่างชาติ หรือผู้ที่ประสงค์จะอ่านประวัติศาสตร์ไทยในภาคภาษาอังกฤษ แนวคิดแนวเขียนแนวการจัดพิมพ์เป็นแบบสากลสมบูรณ์โดยแท้ ตั้งแต่บทนำ เนื้อเรื่อง เชิงอรรถ ดัชนี คำอธิบายศัพท์ที่เป็นไทย รายชื่อหนังสืออ้างอิงและหนังสือแนะนำ มาตรฐานมหาวิทยาลัย Cambridge ผู้จัดพิมพ์โดยแท้ หากเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาไทยจะยิ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้อ่านชาวไทยที่ต้องการปัญหาใหม่ๆทางประวัติศาสตร์ให้ขบคิดต่อ Chris กับ ผาสุก ไม่เป็นปัญหา แต่เป็นผู้สร้างปัญหาส่งต่อให้เราคิด หากเราเป็นคนไทย มาถึงคำถามที่สอง กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถูกท้าทายหรือไม่? หรือยัง? (73) Chris Baker and Pasuk Phongpaichit พยายามอย่างสุภาพอ่อนโยนอีกครั้งในการท้วงติงประวัติศาสตร์ไทยที่เขียนโดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพแต่เพียงผู้เดียว หนังสือ “ไทยรบพม่า” ของท่านได้รับการยกย่องโดย Chris และ ผาสุก ว่าเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่โด่งดังประสพความสำเร็จสูงสุดของไทย ชมแล้ว ก็วิจารณ์ว่ากรมพระยาดำรงราชานุภาพมองประวัติศาสตร์ผ่านราชวงศ์ผู้ปกครองราชอาณาจักร (77-78) Chris กับ ผาสุก วิจารณ์ว่ากรมพระยาดำรงราชานุภาพเขียนประวัติศาสตร์เพื่อสร้างความเป็นชาติไทยใหม่ สร้างความรู้สึกชาตินิยม และตัดต่อตกแต่งประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นให้พระเจ้าแผ่นดินเป็น “King of the people” and “for the people” เป็น “กษัตริย์ของประชาชน” และ “เพื่อประชาชน” อะไรที่ไม่เหมาะสม กรมพระยาดำรงตัดออก และตกแต่งให้ดีขึ้น นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ดิ้นรนอย่างสงบและเชื่องช้าในการตรวจสอบและคัดค้านประวัติศาสตร์ไทยแบบฉบับของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ Chris Baker and Pasuk Phongpaichit พยายามแตะต้องกรมพระยาดำรงราชานุภาพอย่างสุภาพและเป็นข้อสังเกตเชิงวิชาการ มากกว่าจะเป็นเป็นการวิพากษ์วิเคราะห์โดยตรง แต่ก็นับเป็นความกล้าหาญที่นักประวัติศาสตร์ไทยยุคใหม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการนำร่องการเขียนประวัติศาสตร์ไทยใหม่ที่ควรทำกันให้อย่างจริงจังเสียที คำถามสุดท้าย Chris กับ ผาสุก เป็นนักประวัติศาสตร์หรือเปล่า? ไม่น่าถาม เพราะคำตอบคือเป็น แต่เป็นนักประวัติศาสตร์ตามแบบฉบับของนักประวัติศาสตร์ยุคแสวงหาแนวทางใหม่ Chris Baker เคยสอนประวัติศาสตร์เอเชียที่มหาวิทยาลัย Cambridge มาเป็นนักเขียนอิสระอยู่เมืองไทยติดต่อกันจนปัจจุบันรวม 20 ปี ผาสุก พงษ์ไพจิตร สอนเศรษฐศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่เคารพยกย่องสูงในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ไทย และได้รับความสนใจกว้างขวางระดับสากลด้วยงานเขียนวิชาการภาษาอังกฤษหลายเล่ม ก่อนถึง A History of Thailand Chris Baker กับ ผาสุก พงษ์ไพจิตร ร่วมกันเขียน “Economics and Politics”, “Thailand’s Boom and Bust”, “Thailand’s Crisis”, และ “Thaksin: The Business of Politics in Thailand”. Chris Baker กับ ผาสุก พงษ์ไพจิตรเขียนประวัติศาสตร์เชิงเศรษฐกิจและสังคมของผู้คนที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ มากกว่าประวัติศาสตร์ตามลำดับราชวงศ์ผู้ปกครองราชอาณาจักร แม้จะยังคงอาศัยลำดับวันเดือนปีปฏิทินการปกครองเป็นเครื่องมือในการอธิบายประกฎการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม แต่เรื่องราวที่พยายามอธิบายเป็นเรื่องของชุมชน บุคคล ครอบครัวผู้อพยพจากต่างแดน ตั้งแต่ (53) ตระกูลบุนนาค ไกรฤกษ์ แสงชูโต อมาตยกุล และ ชินวัตร Chris Baker กับ ผาสุก พงษ์ไพจิตร มิได้เขียน A History of Thailand ให้คนไทยอ่านโดยตรง ท่วงทำนองลีลาแบบตะวันตก ที่เรียกชื่อบุคคล โดยไม่ใช้ตำแหน่งหรืออิสริยยศนำหน้า เช่น (66 ย่อหน้าที่หนึ่งและสอง) Chulalongkorn แทนที่จะเป็น King Chulalongkorn (ย่อหน้าที่สามหน้า 106) Vajiravudh แทนที่จะเป็น King Vajiravudh รวมถึง (146) Phibun Wichit และ 148 Sarit เขียนแบบตะวันตก อ่านโดยคนไทย อาจต้องปรับวัฒนธรรมของคนอ่านบ้าง A History of Thailand โดย Chris Baker and Pasuk Phongpaichit เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ไทยแบบย่อ เขียนด้วยภาษาอังกฤษ คิดแบบนักประวัติศาสตร์ที่ต้องการผลักดันแนวคิดใหม่ ตั้งคำถามสุภาพแบบไทยโดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร วิพากษ์แบบตะวันตกโดย Chris Baker. |