ในบริบท ของ สมเกียรติ อ่อนวิมล IN CONTEXT of Somkiat Onwimon WK14/2024
[8]
สัมพันธภาพระหว่าง Hard Power และ Soft Power (The Interplay of Hard and Soft Power)
“Hard กับ Soft Power ในทางปฏิสัมพันธ์ต่อกันนั้น บางครั้งก็เป็นพลังเสริมสร้าง แต่บางทีก็เป็นพลังแทรกแซงรบกวนกันและกัน ประเทศที่ต้องการชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รักและเคารพยำเกรงของชาติอื่นบางทีก็หวัั่นใจไม่อยากใช้หรือไม่กล้าใช้อำนาจบาตรใหญ่ หรือ Hard Power ต่อชาติอื่นทั้งๆที่ควรจะใช้ ส่วนอีกบางประเทศที่ไม่ยำเกรงผู้ใดทั้งสิ้นก็ใช้อำนาจแข็งกร้าวเข้าใส่โดยไม่หวาดเกรงว่าจะกระทบ Soft Power ที่ตนมีอยู่และควรรักษาไว้ ประเทศแบบหลังนี้อาจจะเจอกับแรงต้านขัดขวางการใช้ Hard Power ดังว่าได้ ไม่มีประเทศชาติใดจะยอมให้ใครต่อใครมากำกับควบคุมชักใยหรือครอบงำอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะด้วย Hard หรือ Soft Power จากมหาอำนาจใดๆก็ตาม ในขณะเดียวกันการมี Hard Power นั้นมักจะสร้างพลังลึกลับให้เชื่อว่าทรงอภิมหาอำนาจขนาดไม่มีใครจะทำลายล้างได้ แล้วก็จะพาไปสู่การที่ชาติอื่นๆได้รับพลังดึงดูดให้เคารพยำเกรงยอมตนเป็นพันธมิตรหรือเป็นพวกเดียวกัน “ในปี 1961 ประธานาธิบดี John F. Kennedy เดินหน้านโยบายทดลองอาวุธนิวเคลียร์แม้จะมีผลจากการสำรวจประชามติประชาชนอเมริกันว่าไม่เห็นด้วย แต่ท่านก็เดินหน้าต่อไป สวนทางกับประชามติ เพราะคิดว่าประชาชนชาวโลกมีความคิดสรุปรวบยอดเอาไว้แล้วจากข้อมูลข่าวสารที่ไม่ชัดเจนแต่ดูลึกลับซับซ้อนน่ากลัว ว่าสหภาพโซเวียตมีพลานุภาพนิวเคลียร์สูงเหนือสหรัฐฯแล้ว ท่านกลัวว่าชาวโลกมีข้อสรุปแล้วว่าสหภาพโซเวียดเหนือกว่าสหรัฐฯในเรื่้องแสนยานุภาพการสงคราม ประธานาธิบดี John F. Kennedy จึงยอมเอาพลัง Soft Power ที่มีอยู่ไปแลกกับ Hard Power ที่จะได้จากการแสดงตนเป็นประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์ ด้วยการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ต่อไปให้โลกเห็น เป็นเกียรติภูมิของกองทัพอเมริกัน และศักดิ์ศรีของประเทศชาติ “มีเรื่องเบาๆเล่าให้ฟังเชื่อมโยงกับเรื่องนี้ก็คือ ในปี 2003 ไม่กี่เดือนหลังการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในกรุง London และนคร Milan เป็นการประท้วงต่อต้านสงครามครั้งใหญ่มาก แล้วก็มีการจัดงานแสดงแฟชั่นโชว์ในทั้งสองเมือง โดยใช้นางแบบแต่งตัวชุดคล้ายทหารเดินเป่าระเบิดลูกโป่ง นักออกแบบแฟชั่นคนหนึ่งบอกว่า ‘สัญญลักษณ์แบบอเมริกันเป็นการแสดงความมั่นคงปลอดภัยที่เห็นภาพชัดเจนและกว้างขวาง’” “ตลอดช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์โลก พบว่า รัฐขนาดเล็กจะรวมตัวร่วมพลังกันสร้างดุลย์อำนาจถ่วงดุลย์กับรัฐที่ใหญ่กว่าและเข้มแข็งกว่าที่ กำลังแสดงอำนาจข่มขู่รัฐเล็กๆอยู่ แต่แบบที่ว่านี้ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นจริงไปทุกกรณี ก็มีที่รัฐขนาดเล็กกระโดดเข้าร่วมวงไพบูลย์กับรัฐใหญ่ที่แสดงอำนาจข่มขู่อยู่ใกล้ๆ ทั้งนี้ก็เพราะว่าอาจจะไม่มีทางเลือก ไม่มีทางหนีไปไหนได้ หรือไม่ก็ถูกจูงใจให้ยอมด้วยอำนาจ Soft Power ที่แถมพกมากับ Hard Power จากมหาอำนาจที่ข่มขู่คุกคามอยู่นั้น Hard Power บางทีก็มีด้านนุ่มนวลหรือด้าน soft (เรียกว่ามี Soft Power ใน Hard Power อยู่ในตัว Power เดียวกัน ดังตัวอย่างเรื่อง Osama bin Laden ที่เขากล่าวในวิดีโอชักชวนอาสาสมัครนักรบเข้าร่วมขบวนการ เขาพูดว่า
‘คนเรา เวลาเห็นม้าที่แข็งแรงเทียบกับม้าที่อ่อนแอ โดยธรรมชาติแล้ว เขาก็จะ เลือกม้าตัวที่แข็งแรงกว่าแน่นอน’ อธิบายเชิงเปรียบเทียบในบริบทกว้างก็คือ มนุษย์เรานั้นนิยมที่จะแสดงความสงสารเห็นใจฝ่ายที่เสียเปรียบมากกว่า แต่ก็ไม่ยอมที่จะให้ฝ่ายเสียเปรียบเป็นต่อถ้าจะต้องพนันกันว่าจะเข้าข้างฝ่ายไหน” คิดแบบนี้ก็น่าจะหมายความว่าฝ่ายก่อการร้ายพวก Osama bin Laden นั้นมีพลังด้อยอ่อนแอเสียเปรียบกว่าฝ่ายตรงข้าม น่าสงสารเห็นใจยิ่งนัก Bin Laden คงจะต้องแพ้ ถ้าไม่มีใครเข้าไปช่วยเป็นอาสาสมัครนักรบให้มากขึ้น ให้เป็นม้าที่แข็งแรงวิ่งชนะ รบชนะให้ได้ในที่สุด นี่เองที่ Osama bin Laden ให้ Hard Power ทำงานร่วมกับ Soft Power เสริมพลังกันและกัน ไม่เซาะกร่อนบ่อนทำลายกัน “สงคราม Iraq ปี 2003 มีตัวอย่างที่น่าสนใจเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างสองรูปแบบอำนาจนี้ กล่าวคือ ในช่วงเวลาก่อนสงครามกับ Iraq นั้น Donald Rumsfeld รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เข้ามารับตำแหน่งโดยมีความเชื่อว่าอำนาจของอเมริกากำลังอ่อนลง เป็นดุจ ‘เสือกระดาษ’ ในสายตาชาวโลก ‘เป็นยักษ์ใหญ่ที่่อ่อนแอ โดนหมัดเดียวก็ล้ม’แเขาจึงเข้ารับตำแหน่งเพื่อพลิกสถานการณ์ กู้ชื่อสหรัฐอเมริกาอภิมหาอำนาจโลกกลับคืนมา ให้โลกเห็นพลังอำนาจอันเข้มแข็งของสหรัฐอเมริกา ชัยชนะของสหรัฐฯในสงครามอ่าวเปอร์เชียครั้งที่หนึ่งมีส่วนช่วยให้เกิดกระบวนการความตกลงที่ Norway เพื่อสันติภาพในตะวันออกกลาง ชัยชนะใน Iraq ปี 2003 ก็อาจจะส่งผลทำนองเดียวกัน (หนังสือเล่มนี้พิมพ์ปี 2004) อาจจะเป็นการส่งพลังขวางกั้น Iran กับ Syria มิให้เหิมเกริมสนับสนุนขบวนการก่อการร้ายทั้งหลายในภูมิภาคก็เป็นได้ (ถึงปี 2024 นี้ ดูจะยังไม่สัมฤทธิผล - ส.อ.) ทั้งหมดที่ว่ามานี้เป็นเหตุผลในการเข้าทำสงครามด้วย Hard Power แต่ก็ยังมีแรงจูงใจอีกอีกชุดหนึ่งที่เกี่ยวโยงกับ Soft Power พวกคนในกลุ่มแนวคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมใหม่ (Neoconservatives) เชื่อว่าอำนาจสหรัฐฯที่สำแดงอยู่ใน Iraq นั้นจะเป็นพลังอำนาจส่งออกความคิดแบบประชาธิปไตยเข้าระบบการเมือง Iraq และต่อไปเปลี่ยนระบบการเมืองยังที่อื่นๆในตะวันออกกลาง หากทำได้สำเร็จก็จะเป็นเหตุผลอธิบายในตัวของมันเองว่าการทำสงครามแบบ Hard Power ที่ผ่านมานั้นมีความชอบธรรมเพราะส่งผลให้เกิดประชาธิปไตยในตะวันออกกลางตามต้องการได้ ‘จะมีอะไรผิดหรือถ้าจำต้องแสดงอำนาจเข้าครอบครอง ถ้าทำโดยหลักการที่ถูกต้องและอุดมการณ์ที่สูงส่ง’”, Joseph Nye, Jr. อ้างคำกล่าวของนักคิดสองคนชื่อ Williams Kristol และ Lawrence Kaplan จากหนังสือเรื่อง “The War Over Iraq, Saddam’s Tyranny and America’s Mission”(San Francisco: Encounter Books, 2003, p.112)
อำนาจทั้งมวลในโลกยุคข้อมูลข่าวสารสารสนเทศ (Power in the Global Information Age)
“อำนาจในบรรดาประเทศประชาธิปไตยก้าวหน้าทุกวันนี้วัดค่าได้ยากมากขึ้น และมีแรงกดดันเชิงขู่บังคับลดน้อยลงยิ่งกว่ายุคใดๆในอดีต ในเวลาเดียวกัน ส่วนใหญ่ในโลกก็มิใช่ว่าจะเป็นประเทศประชาธิปไตยก้าวหน้ากันทั่วหน้า จึงเป็นข้อจำกัดในการที่จะเคลื่อนย้านถ่ายเทอำจาจไปยังที่ต่างๆในโลก ตัวอย่างเห็นได้ในแอฟริกาและตะวันออกกลางซึ่งมีระบบเศรษฐกิจเท่ากับยุคการเกษตรก่อนอุตสาหกรรม สถาบันการเมืองอ่อนแอ รัฐปกครองแบบอำนาจนิยม มีรัฐที่จัดอยู่ในประเภท “รัฐล้มเหลว” (Failed States) เช่น Somalia, Congo, Sierra Leone, และ Liberia ล้วนแล้วแต่จะเป็นพื้นที่หรือเวทีแห่งความรุนแรงทั้งนั้น ประเทศขนาดใหญ่บางประเทศ เช่น จีน, India, และ Brazil กำลังพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ก็อาจต้องเผชิญกับพลังขัดขวางเหมือนกับที่ชาติตะวันตกที่พัฒนาแล้วเคยเผชิญมาก่อนในช่วงพัฒนาอุตสหกรรมแบบเดียวกันในตอนต้นศตวรรษที่ 20th ในโลกแห่งความซับซ้อนหลากหลาย แหล่งทรัพยากรอันเป็นที่มาของอำนาจทั้ง 3 แหล่ง - อำนาจการทหาร, อำนาจเศรษฐกิจ, และ อำนาจนุ่มนวล หรือ Soft Power - ยังคงมีความชอบด้วยเหตุผลที่จะยังคงต้องมีต้องใช้ผสมผสานกันไป ด้วยระดับความเข้มข้นสูงต่ำมากน้อยที่ต่างกันไปในสภาวะปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม หากว่าแนวโน้มเรื่องการปฏิวัติข้อมูลข่าวสารดำเนินต่อไปอย่างแน่วแน่ไม่ชงักติดขัด ก็จะมีแนวโน้มว่า Soft Power จะมีความสำคัญมากขึ้นๆยิ่งกว่ารูปแบบอำนาจอื่นอีกสองแบบ คืออำนาจการทหารและอำนาจเศรษฐกิจ “การปฏิวัติระบบข้อมูลข่าวสาร และ กระบวนการโลกาภิวัตน์ด้านเศรษฐกิจกำลังเปลี่ยนแปลงโลก ทำให้โลกเสมือนว่าจะเล็กลงๆ เพราะความรวดเร็วครอบคลุมการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลข่าวสารทั้งหลาย ตอนเริ่มศตวรรษที่ 21 ทั้งสองพลังนี้ (คือการปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร และ โลกภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ) เสริมสร้างพลังแกร่งกล้าให้กับสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ย่อมจะมีการถ่ายโอนเทคโนโลยีไปยังประเทศอื่นและประชาชนชาวโลกทั้งหลาย อำนาจของสหรัฐฯที่เคยมีเหนือชาติอื่นก็ย่อมจะเจือจางลดพลังลงไปตามกาลเวลาและการเคลื่อนย้ายถ่ายโอนของเทคโนโลยี ในวันนี้ (2004) ประชากรอเมริกันเป็น 1/20 ของประชากรรวมทั้งโลก แต่เท่ากับครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ใช้ Internet ในโลก ภาษาอังกฤษแม้ว่าจะเป็นภาษาหลักของโลก เหมือนภาษาละตินในสมัยที่อาณาจักร Rome ถึงปลายทางแห่งความรุ่งเรือง ณ จุดใดจุดหนึ่งในอนาคต บางทีอาจจะเป็นใน 10-20 ปีข้างหน้า (2010s-2020s) สังคม Cyber หรือ Internet ในเอเชียอาจจะมีมากเหนือกว่าสหรัฐอเมริกาก็เป็นได้ ยิ่งไปกว่านั้น สังคมโลก Cyber/Internet นับวันก็จะเป็นสังคมเสมือนจริงที่แผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่โลกแบบไร้พรมแดนประเทศใดจะขวางกั้นได้ บรรษัทข้ามชาติ องค์กรที่มิใช่รัฐ คือองค์กรภาคเอกชน หรือภาคประชาชน รวมทั้งพวกผู้ก่อการร้ายข้ามประเทศ ก็จะมีบทบาทมากขึ้น ปฏิบัติการข้ามพรมแดนได้มากขึ้นสะดวกขึ้นสารพัดรูปแบบเทคโนโลยี องค์กรหลายหลากเหล่านี้ จะมีพลัง Soft Power ของตนเองดึงดูดผู้อื่นให้ชื่นชอบ รัก หลงไหล นิยม ชมชื่น ได้ดึงดูดพลเมืองข้ามชาติให้เข้าร่วมงานองค์กรโดยไม่มีพรมแดนรัฐเป็นอุปสรรค การเมือง ถึงตอนนั้น ส่วนหนึ่งก็จะกลายเป็นการแข่งขันกันด้วยอำนาจการดึงดูด, ความชอบธรรม, และความน่าเชื่อถือ (ในบรรดารัฐหรือองค์กรที่มิใช่รัฐจะมีฐานอำนาจของตนเอง - ส.อ.) “ความสามารถในการแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร - และให้เป็นที่น่าเชื่อถือ - กลายเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญในการสร้างแรงดึงดูดและสร้างอำนาจ” (“The ability to share information - and to be believed - becomes an important source of attraction and power.”)
“เกมการเมืองเรื่องยุคข้อมูลข่าวสารในโลกเช่นว่านี้ เป็นข้อแนะนำว่า พลังอำนาจนุ่มนวลหรือ Soft Power จะเพิ่มความสำคัญมากขึ้นๆเรื่อยๆ ประเทศที่มีแนวโน้มที่จะสามารถเพิ่มเติมเสริมพลัง Soft Power ในยุคข้อมูลข่าวสาร คือ:
เงื่อนไขเช่นว่านี้แนะว่าจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับสหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศในยุโรป และประเทศ อื่นๆด้วยเช่นกัน (ซึ่งจะอธิบายในบทที่ 3) “อำนาจนุ่มนวล หรือ Soft Power ที่กำลังมีความสำคัญมากๆยิ่งขึ้นในยุคข้อมูลข่าวสารนี้นั้นส่วนหนึ่งเป็นผลพลอยได้ทางสังคมและเศรษฐกิจมากกว่าจะได้จากนโยบายหรือการทำงานจากฝ่ายรัฐ อำนาจ Soft Power จากองค์เอกชนทีีไม่หวังผลกำไร เป็นอำนาจที่เขาสร้างขึ้นมาเอง ซึ่งก็อาจทำให้เป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนหรืออาจถึงขั้นขัดขวางการทำงานของรัฐก็เป็นได้ การทำธุรกิจเชิงวัฒนธรรมสมัยนิยม (commercial popular culture) อาจจะเป็นการกีดขวางหรือช่วยหนุนเป้าประสงค์ของนโยบายของรัฐได้ทั้งสองทาง ทว่าแนวโน้มระยะยาวที่ยิ่งใหญ่สำคัญกว่าเรื่องเฉพาะหน้าสำหรับสหรัฐอเมริกาย่อมจะดูว่ามีโอกาสดี หากรัฐบาลสหรัฐฯจะรู้จักการใช้ Soft Power ให้ถูกทาง เรียนรู้การใช้ soft Power ให้ดี โดยเป้าหมายที่ว่านโยบายอย่างเป็นทางการของสหรัฐฯทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต้องเป็นไปตามหลักการสร้างและสนับสนุนประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชน, การเปิดกว้างเสรี, และการเคารพความเห็นของผู้อื่น, ทำอย่างนี้ได้อเมริกาก็จะได้รับประโยชน์โภชน์ผลจากแน้วโน้มแห่งยุคปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร แต่ก็เห็นมีอันตรายว่าสหรัฐอเมริกาอาจจะทำให้แนวคิดเหล่านี้ขุ่นมัวทำลายความหมายอันลุ่มลึกแท้จริงของอุดมการณ์และยโยบายที่ว่า ด้วยนิสสัยของการเป็นคนคุยโอ่ กร่าง กร้าว ไม่ฟังใคร หยิ่งผยอง (arrogance) (ดังที่จะอธิบายในบทต่อไป) วัฒนธรรมอเมริกัน ทั้งสูงและต่ำ ยังคงช่วยสร้าง Soft Power ได้อยู่เสมอ แต่การทำงานของรัฐบาลนั้นมีความสำคัญเช่นกัน ไม่เพียงแค่จะใช้รายการวิทยุกระจายเสียงจาก “Voice of America” และทุนการศึกษา “Fulbright Scholarship” เท่านั้น แต่การดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบไม่วางตัวเย่อหยิ่งจองหอง ทำตัวเหนือคนอื่น แล้วยืนหยัดยึดมั่น ทำงานต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ดังที่ว่ามานั้นแท้จริง สหรัฐอเมริกาก็จะสามารถได้รับประโยชน์ในยุคปฏิวัติและโลกาภิวัตน์ข้อมูลข่าวสารนี้อย่างแท้แน่จริง แต่เราต้องเรียนรู้ที่จะไม่เผลอเดินไปเหยียบอุดมการณ์ที่เราต้องการจะสื่อสารส่งต่อออกไป หากหลีกเลี่ยงได้ ก็จะได้ผลสำเร็จตามประสงค์
“Smart power means learning better how to combine our hard and soft power.” “อำนาจฉลาดหมายถึงการเรียนรู้ที่จะหลอมรวมใช้ทั้ง hard และ soft power เข้าด้วยกัน” เป็นอันว่า จบบทที่ 1 เรื่องหลักเกี่ยวกับ Soft Power ที่ควรทำความเข้าใจทั้งหมด โดย ศาสตราจารย์ Joseph Nye, Jr. อีก 4 บทที่เหลือเป็นเรื่องการอธิบาย ขยายความวิเคราะห์ วิวัฒนาการการใช้ Soft Power ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย.