Library Collections
A Short History of the World
H. G. Wells Wells, H. G., A Short History of the World, First Published 1922, England, Published in Penguin Books 1936, Reprinted in Penguin Books 1967, Reprinted with a new Introduction in Penguin Books, London, 1991, 320 หน้า, ISBN 0 14 01.8438 4 เริ่มเวลาประวัติศาสตร์ แล้วก็ถึงเวลาของประวัติศาสตร์โลกมนุษย์ หากไม่มีเวลา ก็ไม่มีประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มคิดว่าหากไม่มีมนุษย์ก็ไม่มีประวัติศาสตร์ และหากมนุษย์เกิดมาไม่มีปัญหา ไม่คิดทำอะไรเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรเลย มนุษย์ก็ไม่มีประวัติศาสตร์เหมือนกัน นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มคิดไปไกลถึงว่าหากมนุษย์มีประวัติศาสตร์แล้ว เกิดสร้างชีวิตและสังคมได้สมบูรณ์จนหมดความจำเป็นที่จะต้องทำกิจกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงโลกและสังคมอีกแล้ว มนุษย์ก็หยุดนิ่ง ประวัติศาสตร์ก็ยุติ ความเป็นมนุษย์ก็หมดค่าไร้ความหมาย นักปราชญ์ไทยเขียนประวัติศาสตร์ช้ากว่าชาวตะวันตก และชาวตะวันออกชาติอื่นมาก เรื่องราวของคนไทยด้วยกันเองจึงถูกเขียนโดยชาวตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ อาจเป็นเพราะคนไทยเห็นความสำคัญของสังคมตนเองน้อยไป หรือไม่ก็ ยังไม่มีสังคมไทย มีแต่คน ที่ต่างคนต่างอยู่ ไม่ใยดีจะรวมตัวกันเป็นสังคม หรือเป็นชนชาติกลุ่มเดียวกัน หนังสือประวัติศาสตร์โลกนั้นมีมากมายนับร้อยนับพัน แต่ “A Short History of the World เขียนโดยนักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่โด่งดังชื่อ Herbert George Wells มีลักษณะแปลกไปจากตำราประวัติศาสตร์ธรรมดาทั่วไป โดยเฉพาะในอังกฤษ ปี ค.ศ. 1922 คนที่อ่านหนังสือประวัติศาสตร์โลกเล่มนี้ แล้วจะชม H.G. Wells ว่าเป็นครูประวัติศาสตร์ที่เขียนเรื่องจริงได้อย่างชนิดที่อ่านแล้วเพลินเหมือนอ่านนวนิยาย เพราะวิธีการเขียนที่วิเคราะห์ภาพรวมของสังคมโลกในมุมกว้าง มากกว่าที่จะวิเคราะห์เหตุการณ์แยกย่อยที่เป็นกิจกรรมของมนุษย์ การเดินทางย้อนอดีตเข้าใกล้ราชอาณาจักรไทยเข้าไปทุกทีแล้ว เฉพาะใน “A Short History of the World” โดย H.G. Wells นี่เริ่มมองเห็นความสำคัญของเอเชีย และปรัชญาชีวิตของผู้คนในเอเชียบ้างแล้ว Herbert George Wells หรือ H.G.Wells เป็นชาวอังกฤษ มีชื่อเสียงอมตะในฐานะนักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ผู้มองโลกในอนาคตด้วยจินตนาการที่กว้างไกลเกินจินตนาการร่วมสมัย ผลงานของท่านโด่งดังมาตั้งแต่เมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว ที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดจนนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ก็มีหลายเรื่องเช่น “The Time Machine” (1895), The Island of Doctor Moreau” (1896), “The Invisible Man” (1897), “The War of the Worlds” (1898), “The First Men in the Moon” (1901) และ “The Shape of Things to Come (1933) แต่ H.G.Wells นั้นเริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นครูช่วยสอนตั้งแต่อายุ 15 ปีขณะเรียนชั้นมัธยม เมื่อเรียนจบปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิตก็ยังคงได้งานครูต่อไป ฉะนั้นงานเขียนหนังสือเล่มแรกของท่านจึงเป็นตำราเรียนชีววิทยาชื่อ “A Text Book of Biology” (1893) หลังจากนั้นสองปีงานชิ้นเอก “Time Machine” ได้รับการตีพิมพ์ทำให้ H.G.Wells มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก จนปัจจุบันแม้ท่านจะจากโลกไปแล้วกว่ากึ่งศตวรรษ นวนิยายวิทยาศาสตร์ของท่านหลายเรื่องยังได้รับความสนใจอ่านกันด้วยความชื่นชมเป็นอมตะวรรณกรรม.
แต่ H.G.Wells มีงานเขียนตำราอีกสองเล่มที่โลกรู้จักและโด่งดัง เป็นที่นิยมอ่านกันมาก โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษในช่วงชีวิตของท่าน แม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีใครกล่าวถึงกันนักเลยก็ตาม ตำราสองเล่มนั้นเป็นตำราประวัติศาสตร์โลก ชื่อ “The Outline of History” (1920) และ “A Short History of the World” (1922) ท่านเขียน “The Outline of History” ก่อนโดยใช้ชื่อเต็มว่า “The Outline of History : Being a Plain History of Life and Mankind” เป็นตำราประวัติศาสตร์เต็มรูปแบบทั้งเนื้อหาและแผนที่รวมทั้งภาพประกอบ แบ่งเป็นสองเล่ม (เล่มที่ผมมีที่บ้านเป็นปกแข็งรวมสองเล่มเป็นเล่มเดียวกันพิมพ์เมื่อปี 1927 โดย MacMillan Company, New York รวมความยาวถึง 1190 หน้า) ด้วยเหตุที่เป็นตำราที่มีความยาว ละเอียดลึกซึ้งใช้เวลาอ่านมากและแถมสร้างปัญหาในหมู่นักวิชาการโดยเฉพาะฝ่ายศาสนาในสมัยนั้นที่คัดค้านเนื้อหาบางตอนที่พาดพิงฝ่ายศาสนาคริสต์ในทางลบ สองปีต่อมา (1922) H.G.Wells จึงเขียน “A Short History of the World” เล่มใหม่ย่อลงจนเหลือประมาณหนึ่งในสี่ของเล่มแรก “A Short History of the World” จึงเหมาะสำหรับการอ่านรวดเดียวจบระหว่างการเดินทางหรือเมื่อว่างอยากรู้จักโลกภายในหนึ่งวัน “A Short History of the World” ก็เช่นเดียวกับ “The Outline of History” ที่เป็นตำราแบบบรรยายเรื่องโดยไม่ต้องมีเอกสารอ้างอิง ไม่มีเชิงอรรถ (footnote) ให้เกะกะสายตา ผู้อ่านก็ต้องยอมเชื่อผู้เขียนว่ารู้จริง แม้ H.G.Wells จะเป็นครูมาก่อนแต่หลังจากเขียน “The Time Machine” แล้วก็ยึดอาชีพนักเขียนเป็นงานเลี้ยงชีพอย่างเดียว ในเมื่อมีชื่อเสียงทางด้านนวนิยายวิทยาศาสตร์ (สมัยนั้นคำว่า “Science Fictions” ยังไม่มีใช้กัน งานของ H.G.Wells จึงมักจะเรียกกันว่า “scientific romances”, “scientific fantasies” หรือ “science-fantasy novels”) แต่ยังกล้ามาเขียนตำราวิชาการขนานไปกับงานนวนิยายและเรื่องสั้น ก็เลยทำให้ความสามารถเชิงวิชาการของ H.G.Wells ถูกท้าทายมาก โดยเฉพาะจากฝ่ายคริสตจักรซึ่งโกรธมากที่ถูกวิจารณ์ในตำราประวัติศาสตร์ทั้งสองเล่ม H.G.Wells วิเคราะห์ปัญหาของศาสนาคริสต์ในศตวรรษที่ 11 ว่าสะสมความมั่งคั่ง แข่งแย่งอำนาจกับสถาบันกษัตริย์ และพระสันตะปาปาก็มักจะอยู่ในตำแหน่งจนสูงพระชนม์แม้เลอะเลือนทำอะไรไม่ได้ก็ไม่มีระบบสื่บทอดตำแหน่งที่ชัดเจน Bernard Bergonzi วิจารณ์ในหนังสือ “H.G.Wells : A Collection of Critical Essays” ในปี 1976 ว่า H.G. Wells เขียนประวัติศาสตร์โดยใช้จินตนาการของตนเองที่มีความกดดันจากชีวิตที่ต้องต่อสู้กับปัญหาส่วนตัวและการหางานทำเพื่อสร้างอนาคต H.G.Wells เขียนประวัติศาสตร์ไม่ใช่เพื่อให้รู้จักอดีตแต่เขียนประวัติศาสตร์เพื่อตำหนิอดีตและหาทางให้อนาคตดีกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม Norman Stone ผู้เขียนบทนำให้กับ “A Short History of the World” ฉบับ Penguin Books ลิขสิทธิ์ปี 1991 วิจารณ์ว่า H.G.Wells ไม่สามารถจะมองเห็นและอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างศาสนาคริสต์ในยุคกลางต่อกับยุโรปยุคใหม่หรือยุคปฏิวัติชนชั้นกลางได้ ทำให้เนื้อหาประวัติศาสตร์สมัยกลางอ่อนไปแต่ความรู้ของ H.G.Wells ในส่วนโลกสมัยโบราณนั้นดีพอใช้ทีเดียว. สำหรับผู้อ่านชาวไทย หากได้มีโอกาสอ่าน “A Short History of the World” หรือจะดียิ่งขึ้นไปอีกหากได้อ่าน “The Outline of History” อาจจะประทับใจในความใจกว้างและความรอบรู้ของ H.G.Wells เกี่ยวกับโลกที่ไม่ใช่ตะวันตก H.G.Wells ให้ความสำคัญกับรัสเชีย ตะวันออกกลาง จีนและเอเชียมาก โดยเฉพาะเรื่องศาสนา ทั้งอิสลามและพุทธศาสนา จนบางทีอาจทำให้รู้สึกว่าท่านไม่พอใจศาสนาในสังคมตะวันตกจนหันมายกย่องชื่นชมศาสนาอิสลามและพุทธศาสนาเป็นทางเลือกใหม่หรือทางเปรียบเทียบ ใน “A Short History of the World” บทที่ XXVIII (The Life of Guatama Buddha) ท่านยกย่องพระพุทธเจ้าว่า “เป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ผู้ซึ่งเกือบจะเรียกได้ว่าปฏิวัติความคิดและความรู้สึกทางศาสนาทั้งทวีปเอเชีย” หลังจากอธิบายพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยย่อแล้ว H.G. Wells วิเคราะห์ว่า “หัวใจสำคัญในคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอภิปรัชญาที่ละเอียดลึกซึ้ง (metaphysical = อภิปรัชญา ว่าด้วยหลักเบื้องแรกของสิ่งทั้งหลาย) ไม่ง่ายนักที่จะทำความเข้าใจ ไม่เหมือนกับที่พวกกรีกสั่งให้เห็นให้รับรู้โดยปราศจากความกลัวและอย่างถูกต้องชอบธรรม ไม่เหมือนกับพวกฮิบรูว์ที่สั่งให้กลัวในพระเจ้าและทำแต่ความดีงาม คำสอนของพระพุทธองค์นั้นไกลถึงขนาดเกินไป จนแม้กระทั่งสานุศิษย์ของพระพุทธองค์รุ่นแรกจะเข้าใจได้ด้วยซ้ำไป และไม่น่าประหลาดใจเลยที่ทันทีที่สิ้นพระองค์ไปแล้วศาสนาพุทธก็เริ่มผิดเพี้ยนและผิวเผิน” “A Short History of the World” มีเสน่ห์มากที่บทเริ่มแรกของโลก ในบทที่ I ถึงบทที่ XI จากเอกภพในอวกาศ ผ่านกาลเวลา เริ่มปรากฎสิ่งมีชีวิต ปลา สัตว์เลื้อยคลาน นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ลิง มนุษย์สมัยโบราณ จนถึงมนุษย์ที่ปรากฎในปัจจุบันเรียกว่า “มนุษย์แท้จริง” ยุคแรก (บทที่ XI “The First True Men”) นับเป็นตำราประวัติศาสตร์โลกที่พยายามอธิบายโลกยุคที่อธิบายได้ยากอย่างละเอียดดีเยี่ยม. H.G.Wells เขียน “A Short History of the World” ออกเผยแพร่เมื่อปี 1922 ขณะอายุ 56 ปี เป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ปีเดียวกับที่ T. S. Eliot เขียน “The Waste Land” หนึ่งปีหลัง Albert Einstein ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ 47 ปีก่อนยาน Apollo 11 ไปลงดวงจันทร์ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อวกาศยังไม่มากเท่า แต่นับเป็นความกล้าหาญทางวิชาการของท่านเป็นอย่างมากที่ใช้วิทยาศาสตร์เท่าที่มีในยุคสมัยผสมกับการมองการณ์ไกลที่ปัจจุบันเรียกว่าวิสัยทัศน์ แต่สมัยของท่านอาจเรียกว่า “จินตนาการ” ทำให้ “A Short History of the World” เป็นหนังสือที่อ่านสนุกอ่านง่าย อ่านแล้วรู้ว่า H.G.Wells เขียนได้ทั้งประวัติศาสตร์ เขียนได้ทั้งอนาคต และทั้งสองอย่างมนุษย์ปัจจุบันก็ยังเขียนแล้วเขียนอีกไม่จบสิ้น. Herbert George Wells เป็นชาวอังกฤษ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1866 เรียนชั้นต้นที่โรงเรียนราษฎร์ใน Bromley จบปริญญาตรีวิชาชีววิทยาที่ Royal College of Science ทำงานเป็นนักเรียนช่วยครูสอน เป็นผู้ช่วยงานร้านเย็บผ้าม่าน เป็นครูสอนระดับมัธยม และเป็นอาจารย์ช่วยสอนที่วิทยาลัยสอนทางไกล ก่อนที่จะมาทำงานเป็นนักเขียนอาชีพ ก่อนเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1946 ท่านเขียนหนังสือกว่า 80 เล่ม ทั้งตำราวิชาการ นวนิยายวิทยาศาสตร์ นวนิยายชีวิต นวนิยายเชิงปรัชญา บทความสารพัดสาระความรู้ เฉพาะที่รวบรวมได้ในห้องสมุดเมือง Bromley งานเขียนของ Herbert George Wells มีถึง 675 ชิ้น รวมงานเขียนอื่นที่เกี่ยวข้องกับท่าน ทั้งหนังสือ บทความ เอกสาร ภาพถ่าย ภาพวาด ฯลฯ ห้องสมุด Bromley มีถึง1296 รายการ (The Catalogue of the H. G. Wells Collections in the Bromley Public Libraries, SBN 09010002 02 X, edited by A. H. Watkins F. L. A., London Borough of Bromley Public Libraries, Bromley, 1974). |