|
QUEEN SIRIKIT: AN INTERVIEW
Associated Press Hua Hin, Thailand May 22, 1979 by Dennis D. Gray [แปลโดย สมเกียรติ อ่อนวิมล] สมเด็จพระราชชินีสิริกิติ์แห่งราชอาณาจักรไทยจะทรงใช้ชีวิตแบบพระราชินีในสถาบันพระมหากษัตริย์ใดๆในโลกที่เรารู้จักและอ่านเรื่องราวของพระราชวงศ์ในโลกนี้มาอย่างไรก็ได้ ทรงพระพระสิริโฉมยิ่งนักในพระบรมฉายาลักษณ์ที่แขวนไว้บนผนังบ้านประชาชนคนไทยทั่วประเทศนั้น จะให้พระองค์ทรงใช้ชีวิตแบบเจ้าหญิงเลอโฉมในพระราชวังอันยิ่งใหญ่กับการเสด็จพระราชดำเนินไปท่ามกลางขบวนหรูหราวิจิตรตระการตาในเทพนิยายใดๆก็ย่อมได้
ทว่า พระองค์กับพระสวามีกลับทรงใช้ชีวิตแปดเดือนของทุกปีพบปะเยี่ยมเยือนประชาชนผู้ยากจนของพระองค์ในชนบท พระองค์มิได้เสด็จไปต่างประเทศมา 12 ปีแล้ว หากแต่ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ศึกษาและพยายามแก้ปัญหาอันซับซ้อนของประชาชน ซึ่งถ้าหากปล่อยไปก็อาจกลายเป็นการทำลายประเทศชาติที่ดำรงอยู่เช่นทุกวันนี้ในที่สุดได้ ระหว่างการพระราชทานสัมภาษณ์ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ทรงแสดงความห่วงใยในในความแตกต่างทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างคนส่วนใหญ่ที่ยากจน ชาวไร่ชาวนา กับคนในเมืองที่ฐานะดีกว่า ความไม่เท่าเทียมกันนี้ ประกอบกับการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นตัวการนำไปสู่ช่องว่างนี้ ส่งต่อไปยังปัญหาการเกิดของกลุ่มคนที่ได้รับอิทธิพลความคิดแบบคอมมิวนิสต์ “ถ้าหากท่านไม่สามารถกำจัดความยากจนออกไปได้ ท่านก็จะไม่สามารถสร้างสันติภาพให้กับประเทศนี้ได้” พระองค์ทรงกล่าวด้วยสำเนียงภาษาอังกฤษที่งดงามมิมีที่ติ องค์สมเด็จพระราชินี ผู้ทรงเชื่อในเส้นทางการพัฒนาสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ได้ทรงเห็นขนบประเพณี 700 ปีแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นจะได้ดำเนินบทบาทต่อไปเป็นหลักของประเทศไทยในอนาคต พระองค์เองทรงเป็นผู้ทรงศักดิ์ในพระราชวงศ์อยู่แต่แรกเริ่มแล้ว ทรงเป็นพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินมาเกือบสามทศวรรษ และทรงสืบทอดต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ที่มีอายุถึง 197 ปีแล้ว ต่อไปด้วยพระราชบุตรและพระราชธิดารวมสี่พระองค์ “มีบางคนในมหาวิทยาลัยที่คิดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นล้าสมัยแล้ว”, พระองค์ทรงกล่าว, “ แต่ข้าพเจ้าคิดว่าประเทศไทยยังคงจำเป็นและต้องการมีพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงเข้าใจในพสกนิกร เวลามีคนตะโกนว่า ‘พระเจ้าอยู่หัวเสด็จแล้ว’ ('The King is comming'.) ผู้คนนับพันก็แห่แหนเรียงรายกันมารับเสด็จ เพียงคำว่า ‘พระเจ้าอยู่หัว’ คำเดียวก็มีความพิเศษอัศจรรย์อยู่ในตัวแล้ว เป็นเรื่องงดงามอัศจรรย์ใจยิ่งนัก” ประชาชนนับพันชอบที่จะเดินทางและมายืนรอรับเสด็จนานเป็นชั่วโมงๆ เพื่อเพียงจะได้พูดทักทายสองสามคำ หรือเพื่อจะถวายฎีกา หรือไม่ก็เพียงให้ได้เห็นพระพักตร์สองพระองค์เพียงเสี้ยววินาที สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยภายใต้รัฐธรรมนูญระบอบประชาธิปไตยนั้นถือกันโดยทั่วไปอย่างกว้างขวางว่าเป็นพลังผนึกหลอมรวมความสามัคคีของชาติซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นานนี้มีความพยายามที่จะยึดอำนาจการปกครองประเทศกันแทบทุกๆสองปีครึ่ง และมาวันนี้ก็กำลังเผชิญหน้ากับการคุมคามจากพวกคอมมิวนิสต์อินโดจีน แม้ว่าพระองค์จะได้รับการเคารพบูชาจากประชาชนเสมือนเป็นกึ่งเทพพระเจ้าก็ตาม แต่พระองค์กลับคิดว่าพระองค์เป็นคนติดดินธรรมดาๆ: ตอนที่ได้รับทูลเกล้าถวายรางวัลเหรียญ United Nations’ Ceres จากงานช่วยสตรีในชนบท พระองค์ทรงบอกว่า: “นับเป็นเกียรติอย่างสูง ตอนรับรางวัลนั้นข้าพเจ้ายืนขาสั่นเลย พยายามที่จะคุมตัวเองให้สงบให้ดูนิ่งดูดี แต่มันยากจริงๆ แถมยืนใส่รองเท่าส้นสูง 5 นิ้วอีกต่างหาก” ในพระชนมายุ 46 พรรษา พระองค์ยังทรงดูและพระวรกายเพรียวงดงามดีได้ ทรงบอกว่า: “ข้าพเจ้าวิ่งออกกำลังกาย ฝึกโยคะ แต่ถ้ามีฝนตก ข้าพเจ้าก็จะวิ่งขึ้นลงบันไดในพระตำหนักสามชั้น 9 รอบ ในฐานะที่เป็นคุณย่าคุณยายแล้วก็น่าอนุโลมให้ข้าพเจ้าเพิ่มน้ำหนักตัวได้นิดหน่อยนะ แต่สามีของข้าพเจ้าบอกว่าไม่อยากให้อ้วน” ในเรื่องพระราชภาระกิจที่ต้องการให้พระองค์ทรงปฏิบัติตลอดเวลานั้นพระองค์ทรงบอกว่า: “บางทีเวลาที่ข้าพเจ้าเหนื่อยมากๆ นึกๆว่าอยากไปเที่ยวพักผ่อนที่ฮาวายสักหน่อยหนึ่ง แต่สามีของข้าพเจ้าก็บอกว่า “คุณจะทิ้งประชาชนไปจริงๆตอนนี้ได้อย่างไรท่ามกลางปัญหาความวุ่นวายขณะนี้? สามีของข้าพเจ้าทุ่มเทเสียสละทำงานมากกว่าข้าพเจ้ามากนัก หากข้าพเจ้าต้องอยู่เพียงลำพังข้าพเจ้าก็จะไม่ไว้ใจตัวเองเลย...” แม้ว่าสมเด็จพระราชินีจะบอกว่าพระองค์ไม่ใช่นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีที่เรียกว่า ‘feminist’ แต่งานส่วนใหญ่ของพระองค์เป็นงานช่วยสตรีในชนบท ส่วนพระเจ้าอยู่หัวผู้มีพระชนมายุ 51 พรรษาแล้วนั้นทรงพระปรีชาสามารถหลากหลาย ก็จะมุ่งเน้นงานเกี่ยวกับการชลประทาน การพัฒนาที่ทำกิน ปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทนฝิ่น และการพัฒนาชนบทโดยรวม ความพยายามเป็นพิเศษของพระราชินีเป็นเรื่องมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ (Foundation for the Promotion of Supplementary Occupations and Related Techniques - SUPPORT) หลังจากเริ่มก่อตั้งมาได้สามปี มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯได้ทำงานช่วยครอบครัวในชนบทนับหมื่นครอบครัวให้ได้ชัยชนะเหนือปัญหาที่กัดกร่อนประเทศชาติมายาวนาน คือปัญหาการขาดรายได้นอกฤดูทำนา และปัญหาจากภัยแล้ง หรือน้ำท่วมที่กระทบชีวิตการเกษตรของประชาชนเป็นระยะๆเสมอมา ปีที่การทำนาไม่ได้ผล หรือเสียหายมากๆ บางที่ก็นำไปสู่การสูญเสียที่ดินทำกินไปเลย พระราชินีทรงบอกว่า: “ในชนบท นายทุนคนกลางเอาเปรียบประชาชนมาก...มากเหลือเกิน...” ในระดับงานที่ไม่ถึงกับจะต้องบริหารจัดการอะไรเข้มข้นนัก สมเด็จพระราชชินีก็มักจะได้รับเรื่องร้องขอความช่วยเหลือจากประชาชนสารพัดเรื่อง ตั้งแต่ค่ายารักษาพยาบาลไปจนถึงเรื่องหย่าร้างในครอบครัว คณะทำงานของพระราชินีมีราวๆ 50 คน จะทำหน้าที่ติดตามเรื่องร้องเรียนต่างๆที่เรียกว่า 'The Queen’s Cases' และหลายๆเรื่องก็ตามกันยาวหลายปี และจะใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งนั้น โครงการหลวงส่วนพระองค์ต่างๆไม่มีหน้าที่จะเข้าไปแทนโคงการพัฒนาแท้จริงของรัฐบาลซึ่งเป็นโครงการปฏิรูปประเทศที่มีขนาดใหญ่เต็มรูปแบบ โครงการส่วนพระองค์นั้นเป็นเพียงต้นแบบ เป็นตัวอย่างที่สามารถทำได้โดยไม่ผ่านขั้นตอนซับซ้อนหรือขาดประสิทธิภาพในระบบงานราชการ พระราชินีบอกว่า บางทีชาวบ้าน หรือแม้แต่กระทั่งคนที่นิยมคอมมิวนิสต์ ยังมากระซิบบอกพระองค์ว่ามีการคอรฺรัปชั่นและปฏิบัติต่อชาวบ้านแบบดูถูกเหยียดหยามไม่เคารพเกียรติกัน ชาวบ้านที่แอบมาบอกกระซิบข้างหูเบาๆกลัวคนอื่นได้ยินด้วยซ้ำ: “มีความเข้าใจผิดกันระหว่างชาวบ้านในชนบทกับคนรวย ที่เรียกกันว่าผู้มีความ เจริญในกรุงเทพฯ” พระราชินีทรงกล่าว “ประชาชนบอกว่าเขาถูกทอดทิ้งๆไม่มีใครเหลียวแล เราก็ต้องพยายามปิดช่องว่างนี้อยู่กับประชาชน ดูแลประชาชนในท้องที่ห่างไกล” “เราก็โชคดี รัฐบาลทุกรัฐบาลร่วมมือกับสถาบันพระมหากษัตริย์ดีมาก พวกรัฐบาลทั้งหลายนั้นใช้งานเราอย่างถูกทางเหมาะสม อันเป็นทางสร้างความสามัคคีในประเทศชาติ รัฐบาลทั้งหลายไม่เคยพยายามจำกัดงานของเราเลย ('They never try to limit our activies')” การใช้ชีวิตของทั้งสองพระองค์ในปีหนึ่งๆ เป็นการหมุนเวียนไปยังพระตำหนักสี่แห่งในชนบททั่วประเทศ ไปตามหมู่บ้านตำบลต่างๆ สลับกับการกลับมาอยู่ในพระราชวังในกรุงเทพซึ่งมีเนื้อที่เพียง 1 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น ในพื้นที่พระราชวังจิตรลดาในกรุงเทพนี้ก็เต็มไปด้วยฟาร์มทดลองที่ครบวงจรสมบูรณ์แบบ ส่วนอีกที่หนึ่งที่เป็นอาคารพระบรมมหาราชวังหรูหราตระการตาด้วยปลายยอดแหลมสีทองกับเสาหินอ่อนนั้นก็เพียงใช้ประกอบพระราชพิธีต่างๆที่สองพระองค์เสด็จไปปีละประมาณ 5-10 ครั้งเท่านั้น* สำหรับพระเจ้าอยู่หัวผู้เป็นพระมหากษัตริย์นั้น ทรงพระปรีชาสามารถหลากหลายด้าน ทั้งศิลปะ วิทยาศาสตร์ และ การกีฬา ทุกวันนี้ก็แทบจะไม่มีเวลาเหลือสำหรับงานอดิเรกส่วนพระองค์ เช่น - เป่าแซกโซโฟน เล่นเปียโน หรือ clarinet กับวงดนตรีพระสหายทั้งหลายแล้ว สมเด็จพระราชินีเอง ทีแรกก็เรียนและเล่นเปียโนอยากจะเป็นนักเปียโนในวง orchestra ตอนที่ได้เจอกับพระเจ้าอยู่หัวที่ยุโรปสมัยวัยรุ่น ทรงบอกว่า: “ข้าพเจ้าเคยเล่นเพลงของ Beethoven กับ Mozart ได้ แต่เดี๋ยวนี้แทบจะเล่นอะไรไม่ออกแล้ว” สมเด็จพระราชินีย้อนกลับมาชวนคุยซ้ำแล้วซ้ำอีกแต่เรื่องความสัมพันธ์ของพระองค์กับชาวชนบท ระหว่างที่ข้าราชบริพารถวายงานด้วยรูปแบบโน้มต่ำเป็นทางการพร้อมกับใช้ราชาศัพท์ สมเด็จพระราชินีทรงเล่าว่าคุณยายแก่คนหนึ่งในชนบทเข้ามาสวมกอดพระองค์แล้วเรียกพระองค์เป็นลูกสาวของยายพร้อมกับแนะนำว่าสีเสื้อผ้าฉลองพระองค์วันนั้นมันไม่เข้าชุดไม่เหมาะกับพระองค์เลย แบบนี้ก็มี!: “ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ข้าพเจ้าแอบปลอมตัวไปเที่ยวงานเทศกาลหนึ่ง ลูกสาวข้าพเจ้าก็เข้าไปร่วมรำวงกับชาวบ้าน ข้าพเจ้านั่งพักคุยกับหัวหน้าหมู่บ้าน นั่งดูลูกๆรำวงกับชาวบ้านข้างล่าง...แล้วข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงทำนองไม่สบายใจถามว่า พระองค์สนุกไหมที่อยู่กับพวกเราชาวบ้านนี่? พวกเราเป็นชาวบ้านนอก ไม่สะอาดงามตาเหมือนคนกรุงเทพฯ พระองค์อยู่กับพวกเรามันน่าจะเซ็งๆนะ ข้าพเจ้าพูดว่า 'ตรงกันข้ามเลย เรารักความอบอุ่น ความเป็นมิตร และเสียงเพลงที่งดงามจากชาวบ้าน โดยเฉพาะเพลงรัก' หัวหน้าหมู่บ้านได้ฟังดังนั้นแล้วดูมีความสุขมาก บอกว่าวันหลังเชิญเสด็จมาอีกนะ" "หัวหน้าหมู่บ้านกับข้าพเจ้านั่งคุยกันที่ระเบียงกระท่อม ดูดวงจันทร์ค่อยๆลอยแหวกแมกไม้ขึ้นสูงไปบนท้องฟ้าเหนือหมู่บ้าน.” * [Foreign Correspondent Club of Thailand, The King of Thailand in World Focus, Siriwattana Printing, Bangkok, 1988, pp.118-119] *หมายเหตุ ต้นฉบับพิมพ์ตัวเลข 500 ครั้ง น่าจะพิมพ์ผิด ผู้แปลขอแก้โดยพละการเป็น 5-10 ครั้ง ดูจะใกล้เคียงความจริงกว่า |
Vertical Divider
King Says Thailand Australia’s Frontline
Sydney Morning Herald Canberra August 29,1962 * พระมหากษัตริย์ภูมิพลทรงมีพระราชดำรัสในงานเลี้ยงพระกระยาอาหารค่ำ ณ อาคารรัฐสภา กรุง Canberra ตอนค่ำวันนี้ว่า ประเทศไทยคือด่านหน้าสำหรับการป้องกันประเทศออสเตรเลีย ('Thailand was frontline of Australia’s defence.') พระองค์องค์ขอให้เพิ่มความสัมพันธ์กันให้มากขึ้นระหว่างออสเตรเลียกับไทยผ่านแผนการโคลัมโบ (The Colombo Plan) และสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ SEATO (Southeast Asia Treaty Organization) ทรงขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือ แขกรับเชิญร่วมงานกว่า 400 คน ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกรัฐสภาและภริยา ได้ฟังพระราชดำรัสยาว 15 นาที ทรงมีพระราชกระแสอย่างช้าๆและชัดเจนว่าประเทศไทยรู้สึกซาบซึ้งสำหรับการที่ออสเตรเลียได้ส่งความช่วยเหลือมาให้ไทยอย่างฉับพลันโดยการส่งกำลังทหารมาช่วยการต่อต้านภัยรุกรานของคอมมิวนิสต์ “มันเป็นการแสดงให้เห็นว่าทั้งสองประเทศพร้อมเสมอในการยืนหยัดต่อต้านภัยรุกรานร่วมกันและเป็นการร่วมกันยืนหยัดต่อต้านอย่างฉับพลันทันที”, พระองค์ทรงกล่าว พระเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวว่า ณ วันนี้ ออสเตรเลียได้กลายมาเป็นประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The greatest industrial nation in Southeast Asia) ออสเตรเลียกับไทยมีอะไรหลายๆอย่างที่เหมือนกัน - โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความรักในความคิดเรื่องเสรีภาพและความยุยิธรรม “ประชาชนชาวไทยได้รักษาเสรีภาพของเขามาอย่างต่อเนื่อง”, พระองค์ทรงกล่าว. "พวกเขารักษามันไว้ไม่เพียงแต่ด้วยการทำงานหนักเท่านั้น แต่ประชาชนชาวไทยรักษาเสรีภาพมาด้วยเลือดเนื้อ” (“They have kept it, not only with hard work but also with blood.”) “ประชาชนชาวไทยได้ปกป้องตัวเองและพยายามสร้างประเทศของตนผ่านมานับได้หลายศตวรรษแห่งการต่อสู้ศึกสงครามเพื่อให้ดำรงไว้ซึ่งเสรีภาพของเขา.” กษัตริย์ภูมิพลทรงกล่าวว่าออสเตรเลียนั้นชอบที่จะเรียกประเทศไทยว่า ‘a country in the Far East’ (ตะวันออกไกล), แต่ตอนนี้ก็รู้แล้วประเทศไทยอยู่ที่ ‘the Near North (เหนือใกล้).’” พระองค์ทรงหวังว่าจำนวนนักเรียนไทยที่มาเรียนที่ออสเตรเลียจะได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆต่อๆไป และชาวออสเลียก็จะไปเยือนประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน “เพื่อว่าเราจะได้รู้จักมักคุ้นกันดีมากยิ่งๆขึ้น” [Foreign Correspondent Club of Thailand, The King of Thailand in World Focus, Siriwattana Printing, Bangkok, 1988, p.71] The Crown Prince of Thailand
An Interview Bangkok (Extracts from June 10, 1987 interview by FCCT) ส่วนหนึ่งจากการทูลสัมภาษณ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมุฎราชกุมาร เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ โดยคณะผู้แทนจากสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในประเทศไทย ณ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรุงเทพฯ: “ข้าพเจ้าคิดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในสถาบันที่มีความสำคัญที่สุด และ สูงที่สุดในประเทศไทย สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นแหล่งกำเนิดของพลังผลักดันและสถานภาพแห่งพลังสำหรับประชาชนผู้มีความเคารพเทิดทูน และเป็นหลักสำคัญในการรวมพลังความสามัคคีของประเทศเข้าด้วยกัน ข้าพเจ้ารู้ดีว่าในฐานะที่เป็นสยามมกุฎราชกุมารผู้มีหน้าที่สืบต่อพระราชบัลลังก์แห่งราชอาณาจักรไทย ข้าพเจ้าก็น้อมรับพระบรมราชโองการและความรับผิดชอบที่มาพร้อมกับงานในตำแหน่งมกุฎราชกุมาร ตราบเท่าที่มีชีวิตอยู่ - และเรื่องที่จะพูดนี้ก็ใช้ได้กับทุกคนที่อยู่ในห้องนี้ ทุกคนในโลกนี้ - ชีวิตยังมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาและฝึกฝนอบรมให้ดียิ่งขึ้นต่อๆไป สำหรับตัวข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าก็เห็นว่ายังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงพัฒนาอีกมากมายหลายเรื่องในทุกสาขา และข้าพเจ้าจำต้องย้ำอีกครั้งว่ายังมีอีกหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้ ยังมีช่วงแห่งความสุขและโอกาสแห่งความทุกข์อีกมากที่จะต้องเผชิญ -- แต่นั่นแหละคือชีวิต ('and that is life') [สถาบันพระมหากษัตริย์] ผนึกหลอมรวมประเทศเข้าด้วยกัน สถาบันพระมหากษัตริย์ให้สิ่งที่ประชาชนคาดหวังพึ่งพาเพื่อค้นหาแรงดลใจและพลังหนุนนำชีวิต สถาบันพระมหากษัตริย์มิได้แบ่งแยกประชาชนออกเป็นชนชั้นและพวกพรรคแยกไปเป็นหลากประเภท เราทั้งหมดเป็นพวกเดียวกัน มีความผูกพันเชื่อมโยง และมีสัมพันธภาพอันยาวนานระหว่างพระมหากษัตริย์กับประเทศชาติเป็นหนึ่งเดียวกัน ความจริงพื้นฐานเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มิเคยเปลี่ยนแปลง แต่ว่าวิถีทางที่สถาบันพระมหากษัตริย์ปฏิบัติหน้าที่การงานก็มีกระบวนการวิวัฒนาการไปตามยุคสมัยในโลกยุคใหม่นี้ เป็นวิวัฒนาการต่อเนื่อง ไม่ใช่การปฏิวัติ (‘series of evolutions, not revolutions’) สถาบันพระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนตามกาลเวลาและยุคสมัย สถานที่ และสถานการณ์ แต่ความหมายและคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์คงเช่นเดิม โดยทั่วไป การรายงานข่าวเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยโดยผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างประเทศ] ก็ถือว่าใช้ได้ ('not too bad') แต่พวกเขาควรจะมีข้อมูลความจริงมากกว่าเรื่องความรู้สึกเชิงลำเอียงต่อต้าน และไม่ควรใส่ความเห็นส่วนตัวเข้าไปในข่าว สื่อมวลชนควรแสวงหาความจริงที่ถูกต้องแม่นยำปราศจากอคติต่อสถานการณ์ ซึ่งเรื่องนี้ก็สามารถทำได้โดยรับฟังเรื่องราวจากแหล่งข่าวและผู้คนต่างๆหลากหลายให้มากๆ โดยทั่วไปก็กล่าวได้ว่า บางส่วนจำต้องมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นหากว่าท่านต้องการจะรายงานเรื่องครอบครัวพระราชวงศ์ทั้งหมดโดยรวม พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้ (พระเจ้าอยู่หัวภูมิพล) ได้ทรงรักษาประเทศไทยให้คงอยู่ด้วยความสามัคคีกันมายาวนานถึง 40 ปี นั่นเป็นงานที่จะอธิบายด้วยคำพูดใดๆยากยิ่งนัก ปัญหาต่างๆเป็นเรื่องยากในบางสถานการณ์และในบางช่วงเวลา. * [Foreign Correspondent Club of Thailand, The King of Thailand in World Focus, Siriwattana Printing, Bangkok, 1988, p.174] |
Vertical Divider
Sirikit in National Dress:
Royal Visitor’s Dazzling New Triumph Daily Telegraph Sydney August 31, 1962 ด้วยพระวรกายเล็กๆ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ทรงปรากฏพระองค์เป็นครั้งแรกในชุดไทยอันวิจิตรตระการ ชุดยาวคลุมข้อพระบาท ผู้คนหลายร้อย - ส่วนมากเป็นสตรี - ส่งเสียงฮือฮาเบาๆด้วยความชื่นชมขณะที่พระองค์เสด็จถึงโรงแรม The Australia Hotel สู่งานถวายพระกระยาหารค่ำโดยรัฐบาลออสเตรเลีย ท่านนายกรัฐมนตรี Mr. Heffron* และ Mrs. Heffron ใช้เวลาหลายวินาทีถวายการรับเสด็จบริเวณหน้าโรงแรม คล้ายๆจะดึงเวลาให้ยาวขึ้นอีกหน่อยเพื่อว่าประชาชนชาวออสเตรเลียที่มายืนเรียงรายรับเสด็จด้วยจะได้มีเวลาแถมพิเศษได้ยลพระสิริโฉมให้ชัดๆอีกนิดหนึ่ง สุภาพสตรีคนหนึ่งส่งเสียงร้องชื่นชมเมื่อได้เห็นชุดไทยยาวคลุมข้อพระบาทของสมเด็จพระราชินี เป็นชุดที่แนบพระวรกายที่บางเรียวงามงด สีชมพูของดอกกล้วยไม้แทรกด้ายไหมสีทอง เข็มขัดรัดพระกฤษฎี/บั้นพระองค์ (เอว) เป็นแผงทองหน้ากว้างประดับเพชรเรียงรายเป็นแนวยาวจนถึงด้านหน้าซึ่งประดับด้วยเพชรเม็ดใหญ่ สไบพาดพระอังสา (ไหล่) ซ้ายทอดตัวลงยาวถึงพื้น พระราชินีสิริกิติ์ทรงใส่สร้อยเพชรเรียงแบบแถวเดียว กำไลข้อพระหัตถ์ขวาเป็นเพชรเรียงสองแถว จี้เพชรรูปหงส์ หนึ่งในเครื่องเพชรที่ทรงโปรด ติดประดับบนพระอังสา (ไหล่) ขวา หลังจาก Mr. & Mrs. Heffron ถวายการต้อนรับทักทายแล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จนำทาง Mrs. Heffron, สมเด็จพระราชินี, และ Mr. Heffron ต่อด้วยขบวนตามเสด็จบนลาดพระบาทสีแดงขึ้นบันไดโรงแรมไป จากนั้นคณะผู้ร่วมงานก็เคลื่อนย้ายเข้าสู่ห้องจัดงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ Starlight Room เริ่มต้นด้วย cocktail ก่อนพระกระยาหารค่ำ แขกรับเชิญมีราว 250 คน เป็นพลเมืองคนสำคัญๆของมหานคร Sydney --- ทุกคนพร้อมใจกันร้องเชียร์กึกก้องตอนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวแสดงความยินดีต่อ Miss Tania Verstak** สตรีออสเตรเลียผู้เพิ่งจะได้รับรางวัล Miss International (1962) Beauty พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงตรัสว่า: “ข้าพเจ้าได้อ่านเอกสารนำเที่ยวอย่างเป็นทางการของเมือง (Sydney) และรัฐ (New South Wales) นี้แล้ว “ข้าพเจ้าอ่านพบว่าที่ Sydney นี้มีแสงแดด 342 วันใน 365 วันของแต่ละปี ข้าพเจ้าว่าท่านต้องเพิ่มวันมีแสงแดดเข้าไปสำหรับวันนี้อีกวันหนึ่ง ให้เรียกว่า - Tania’s Day” กษัตริย์ภูมิพลทรงบอกว่าสิ่งที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นที่ Sydney นั้นเป็นตัวแทนแสดงให้เห็นถึงความเจริญเติบโตของรัฐเครือจักรภพออสเตรเลียโดยรวม อ้างถึงการได้เสด็จไปเยี่ยมโรงงานเหล็กกล้าที่ Port Kembla เมื่อวานนี้ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลบอกว่าออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีทรัพยากรมากหลากหลาย ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยผ่านการทำงานกันอย่างหนักในเพียงชั่วเวลาอันสั้น อุตสาหกรรมเมืองท่า Port Kembla เป็นแบบอย่างแสดงถึงความก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ และพลังของประชาชนชาวออสเตรเลีย พระองค์ทรงตรัสว่าเสรีภาพที่ประชาชนชาวไทยได้รับอยู่และประสพความสำเร็จอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ก็เช่นกัน เป็นความสำเร็จที่ได้มามิใช่ด้วยเหตุบังเอิญ แต่ได้มาด้วย “การทำงานหนัก หยาดเหงื่อ และการสละเลือดเนื้อเพื่อชาติ ('hard work, toil, and blood')” กษัตริย์ภูมิพลทรงกล่าวต่อว่านโยบายประเทศไทยของพระองค์นั้นประสงค์จะเป็นมิตรกับทุกชาติที่ประสงค์จะเป็นมิตรกับเรา “นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงมาเยือนออสเตรเลีย -- และเรารู้แน่นอนอยู่แล้วว่าประชาชนชาวออสเตรเลียคือเพื่อนของเรา”, พระองค์ทรงกล่าว Mr. Heffron นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกราบบังคมทูลว่า: “เราขอแสดงความชื่นชมยกย่องต่อเกียรติภูมิและวิสัยทัศน์อันกว้างไกล อันเป็นอัตลักษณ์พิเศษเฉพาะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยและผู้ทรงนำสถาบันฯ ผู้ทรงยึดมั่นศรัทธาต่ออุดมการณ์สูงสุดว่าด้วยมนุษยธรรม (highest ideals of human justice)” “ในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยได้กลายเป็นสัญญลักษณ์ของการเรียกร้องสร้างสมซึ่งบุคคลิกภาพความหาญกล้าอันเป็นคุณสมบัติสูงสุดของชาติ “และก็เป็นเรื่องที่น่าดีใจที่คุณสมบัติเหล่านี้มีอยู่อย่างมากท่วมท้นในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล” Mr. Askin*** กล่าวว่าประชาชนชาวออสเตรเลียทั้งมวลขอแสดงความยินดีต้อนรับอย่างอบอุ่นต่อกษัตริย์ภูมิพลและพระราชินีสิริกิติ์ ความมีน้ำใจของคนไทยและการส่งพลังใจให้กับเราจากชาวไทยสู่นักโทษเชลยศึกครั้งสงครามโลกครั้งที่สองเป็นความเชื่อมโยงอันแข็งแกร่งระหว่างประเทศของเราทั้งสอง, Mr. Askin กล่าว ชาวไทยได้ส่งความช่วยเหลือทั้งอาหารและข่าวสาร ความเห็นอกเห็นใจ น้ำใจไมตรี การให้กำลังใจต่อเชลยศึกออสเตรเลีย การกระทำเช่นนี้ชาวไทยทำเต็มที่แม้ตัวจะต้องเสียงภัยอันตรายใดๆก็ตาม. * หมายเหตุ * Robert James Heffron (ช่วงชีวิต 1890-1978) นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย พรรค Labour (เป็นนายกรัฐมนตรีช่วงปี 1962-1964) **Miss Tania Verstak เกิดที่เทียนจิน ประเทศจีน จากพ่อแม่ชาวรัสเซีย อพยพเข้ามาตั้งรกรากในออสเตรเลีย ตอนเธออายุ 10 ขวบ ที่ Manly, New South Wales ปี 1961 เป็นผู้อพยพเข้าเมืองคนแรกที่ได้เป็น Miss Australia ต่อมาไปประกวดและชนะ Miss International ที่ Long Beach, California ถือเป็นสัญญลักษณ์ของผู้หญิงออสเตรเลียยุคใหม่ เป็น “a new Australia” Miss Tania Verstak แต่งงานครั้งแรก กับ Barry Ross ผู้บรรยายรักบี้ของสถานีโทรทัศน์ TV7 แต่งงานครั้งที่สองกับ Peter Young นักธุรกิจเมือง Perth ลูกสาวเป็นนักแสดงชื่อ Nina Young ***Sir Robert Williams Askin นายกรัฐมนตรีคนที่ 32 ของ New South Wales จากการเลือกตั้งปี 1965-1968-1971-1973 ถึงปี 1975 [Foreign Correspondent Club of Thailand, The King of Thailand in World Focus, Siriwattana Printing, Bangkok, 1988, p.72] |