เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 56 ปี ของ THE SOUND OF MUSIC ที่มีการสร้างละครเพลงภาคภาษาไทย โดยคนไทย
The Sound of Music มนต์รัก เพลงสวรรค์ : ละครเพลง และ ภาพยนตร์ _______________________________________________________________________________ คุณยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ (ป้าแจ๋ว), ผู้กำกับการแสดงละครเพลงเรื่อง “มนต์รักเพลงสวรรค์” ที่กำลังเปิดการแสดงอยู่ที่โรงละครรัชดาลัย กรุงเทพฯ ตลอดเดือนเมษายน 2558 นี้, บอกว่า น้อยคนนักในประเทศไทยที่จะไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับภาพยนตร์ฮอลลีวู๊ดเรื่องนี้ ซึ่งมีชื่อภาคภาษาอังกฤษว่า “The Sound of Music” หรือ “มนต์รัก เพลงสวรรค์” ในชื่อภาษาไทย คุณพอฤทัย (ดาว) ณรงค์เดช, ผู้อำนวยการและควบคุมการผลิต ละครเพลง “The Sound of Music” ภาคภาษาไทย ซึ่งถือเป็นการผลิตละครเรื่องนี้เป็นภาษาไทยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ละครเวทีของประเทศไทย, เธอก็บอกกับผมระหว่างละครพักครึ่งเวลาเมื่อคืนวันที่ 2 เมษายน ด้วยความตื้นตันใจว่า “The Sound of Music” หรือ “มนต์รัก เพลงสวรรค์” นี้คนไทยส่วนใหญ่รู้จักกันดีแต่อดีต ลูกหลานรุ่นต่อๆมาก็ได้รับรู้เรื่องราวและฟังเพลงจากภาพยนตร์ The Sound of Music กันต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้ และบอกว่าการทำละครเรื่องนี้เป็นงานที่ท้าทายความสามารถของผู้ผลิตละครเวทีของไทยมาก หากทำไม่ได้ดี ก็คงจะไม่มีวันได้ลิขสิทธิ์จากสหรัฐอเมริกามาทำละครในภาคภาษาไทยเด็ดขาด “ป้าแจ๋ว-ยุทธนา” เล่าว่า ได้ดูภาพยนตร์เรื่อง “The Sound of Music” ครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์กรุงเกษม ริมคลองผดุงกรุงเกษม ตอนที่เป็นเด็กอายุ 6 ขวบ ผมเองก็ได้ดูรอบแรกที่โรงภาพยนตร์กรุงเกษมเช่นกัน ไม่รู้ว่าเป็นรอบเดียวกับป้าแจ๋วหรือเปล่า แต่ตอนนั้น ปี 2508 (1965) ผมอายุ 17 ปี เกิดก่อนป้าแจ๋วหลายปี แต่ดูหนังเรื่องเดียวกัน พร้อมกัน ผมดู The Sound of Music มากกว่าสองรอบ เพราะดูไม่ค่อยรู้เรื่อง ฟังภาษาอังกฤษไม่ออก อาจารย์บุญเปรียบ ประจันตบริบาล อาจารย์ผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษที่วิทยาลัยครูจันทรเกษม (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม) ท่านบอกว่าผมต้องไปดูหลายรอบเป็นการฝึกภาษาอังกฤษ และให้พยายามร้องเพลงบางเลงในภาพยนตร์ให้ได้ จะได้เอาไว้ใช้ร้องเพลงให้อาจารย์ผู้สอบสัมภาษณ์ฟังหากผมผ่านสอบข้อเขียนชิงทุน American Field Service (AFS) ได้เข้าสู่รอบสัมภาษณ์ เพราะนักเรียนทุน AFS จะต้องเป็นคนกล้าพูดกล้าแสดงออก เวลาสอบสัมภาษณ์ความกล้าแสดงออกต่อหน้าอาจารย์ผู้สัมภาษณ์จะช่วยให้ผมมีโอกาสสอบผ่านรอบสัมภาษณ์ได้ ผมจึงยอมเสียเงินค่าดูหนัง สามแถวหน้า 10 บาท ดูมากกว่าสองรอบ แต่จำไม่ได้แล้วว่ากี่รอบ ผมร้องเพลงนำ The Sound of Music และอีกหลายเพลงได้ ท่องจำเนื้อจนขึ้นใจ ...ร้องได้ แต่ไม่น่าฟัง เพราะคุณภาพการเป็นนักร้องของผมจะพอได้ก็เพียงร้องลิเก ลำตัด แหล่เพลงพื้นบ้าน และเพลงลูกทุ่ง พร พิรมย์, สุรพล-ผ่องศรี, ไวพจน์-ขวัญจิต เท่านั้น เพลงฝรั่งผมร้องเหน่อเอามากๆ! ส่วนบทสนทนาจากภาพยนตร์ The Sound of Music นั้น อาจารย์บุญเปรียบ ผู้ล่วงลับไปแล้ว ก็บอกผมว่า ให้พยามท่องจำบทสนทนาต่างๆ เอาไว้ใช้ในการพัฒนาภาษาอังกฤษของผม เพื่อเตรียมสอบสัมภาษณ์ AFS อีกนั่นแหละ ดังนั้นการดูภาพยนตร์ The Sound of Music ของผมในปี 2508 เป็นการดูเพื่อปฏิรูปการศึกษาส่วนตัวของผมโดยแท้ ครับ...วิทยาลัยครูจันทรเกษมปฏิรูปการศึกษาก่อนกระทรวงศึกษาธิการประมาณ 50 ปีแล้ว! และแล้ว The Sound of Music แสดงนำโดย Julie Andrews และ Christopher Plummer จึงได้กลายเป็นภาพยนตร์ที่ผมมีประวัติศาสตร์ร่วม เป็นภาพยนตร์ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตผมจากเด็กสุพรรณฯพูดไทยยังเหน่อ เข้ามากรุงเทพฯ ขยันดูหนังฟังเพลง ปรับปรุงภาษาอังกฤษจนพอสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์ผ่าน ได้ทุน AFS รุ่น 5 ปี 1966-67 ไปเรียนที่ Park Hill High School, เมือง Parkville ติด Kansas City รัฐ Missouri, สหรัฐอเมริกา จนสำเร็จมัธยมปลายชั้นปีที่ 12 The Sound of Music ทำให้ผมกลายมาเป็นผมอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้โดยแท้ จะดีจะชั่วยังไงก็สุดแล้วแต่! อันที่จริงมีภาพยนตร์ฮอลลีวู๊ดอีกเรื่องหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของผม โดยเฉพาะในเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษ นั่นคือเรื่อง “How the West Was Won” (1963) ซึ่งออกมาฉายก่อน The Sound of Music สองปี เวลานั้นผมยังเป็นเด็กเรียนมัธยมต้นอยู่ที่โรงเรียนสามชุกรัตนโภคาราม จังหวัดสุพรรณบุรี ผมไม่มีโอกาสได้ดูภาพยนตร์โดยตรงหรอก เพียงแต่ได้ฟังเสียงในฟิล์มของภาพยนตร์ทางสถานีวิทยุที่ออกอากาศจากกรุงเทพฯ แล้วอ่านบทภาพยนตร์ตามเสียงในวิทยุไป บทภาพยนตร์เรื่อง How the West Was Won ที่ว่านี้โรงเรียนกวดวิชาสอนภาษาอังกฤษย่านสีลมพิมพ์ขายให้ผมสั่งซื้อทางไปรษณีย์ ผมหัดฟังบทภาพยนตร์เป็นภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรกก็ปี 2506 นั้นเอง ฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ก็สนุกดี กว่าจะได้ดูภาพยนตร์จริงๆก็ต่อเมื่อเข้ามาเรียนต่อที่กรุงเทพในตอนหลัง ครั้งยังเป็นเด็กตัวน้อยๆจนถึงวัยรุ่นตอนต้น อยู่บ้านสามชุก สุพรรณบุรี ผมดูหนังฝรั่งมากไม่แพ้หนังไทย ส่วนใหญ่ดูในโรงหนังประจำตลาดสามชุก ชื่อโรงภาพยนตร์วัฒนไกร (หรือที่เรียกว่า”วิก” ฉายหนัง ในสมัยนั้น) เมื่อกลับมาทบทวนดูหลังโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็น่าแปลกใจว่า ภาพยนตร์ฮอลลีวู๊ดชั้นดีเหล่านั้นไปฉายที่วิกสามชุกทำไมกัน? ใครจะดูไปเพื่ออะไร? ส่วนผมเป็นเด็ก ก็ไปดูเพราะสนุกดีเท่านั้นเอง ที่วิกหนังของตลาดสามชุกที่ว่านี้ หนังที่ผมได้ดูแล้วประทับใจ ก็เช่น “Seven Brides for Seven Brothers” (“เจ็ดคู่ชู้ชื่น”)(1954), “Far From the Madding Crowd” (ไม่ทราบชื่อภาษาไทย)(1967), และ “Creature from the Black Lagoon” ("พรายน้ำเค็ม")(1954); ที่ได้ดูจากหนังขายยากลางแปลง ก็มีมากมายเช่น “Ivanhoe” (1952), The Adventures of Robin Hood (1938), และหนังคาวบอยหลายสิบเรื่อง ชื่อ Audie Murphy (“ไอ้เสือยิ้มยาก”) และ Eva Gardner กับ Carole Baker เป็นพระเอกนางเอกฝรั่งที่ผมไม่มีวันลืม แต่การดูหนังฝรั่งพากษ์ไทยมากมายนั้นก็ไม่ช่วยให้ผมพัฒนาภาษาอังกฤษแต่อย่างใด ดูเอาสนุกๆเท่านั้นเอง ดังนั้น “The Sound of Music” และ “How the West Was Won” จึงเป็นภาพยนตร์ภาษาอังกฤษสองเรื่องที่มีความสำคัญต่อชีวิตการศึกษาของผมมากจนมิอาจลืม ภาพยนตร์สองเรื่องนี้ผมมีวิดีโอแบบเทปคาสเซ็ทท์ และแผ่นภาพยนตร์ DVD ไว้ดูที่บ้านหลายแบบ คิดถึงเมื่อไรก็เปิดดูได้เสมอ แต่ผมไม่มี DVD ละครเวทีเรื่อง The Sound of Music ดูเลย ละครเพลงแบบละครเวทีของแท้จาก Broadway เคยมาเปิดการแสดงในเมืองไทยที่โรงละครกรุงเทพ ปี 2540 ผมก็ไม่ได้ดู คนไทยเองก็ไม่เคยทำละคร The Sound of Music เป็นภาษาไทยมาก่อน .... จนกระทั่งเดือนเมษายน 2558 นี้! ละครเวทีคณะแรกในชีวิตผมที่ได้ดู ก็ที่วิกสามชุกด้วยเหมือนกัน เป็นละครร้อง คณะศรีนวล แก้วบัวสาย .... ละครอะไรก็ไม่รู้ ผู้หญิงแสดงเป็นผู้ชายทั้งเรื่อง ร้องเพลงกันตั้งแต่ต้นจนจบ! สำหรับละครเวทีฝรั่งแบบร้องเพลงทั้งเรื่อง ผมได้ดูครั้งแรกในชีวิตอีกเช่นกันเมื่อปี 1966 เป็นละครเรื่อง The King and I ที่ Starlight Theater เป็นโรงละครกลางแจ้งที่ Kansas City หลังจากนั้นโตขึ้น พอมีเงินซื้อตั๋วละครบรอดเวย์ ผมก็มีโอกาสดู Chorus Lines และ Le's Miserables ที่ New York, ได้ดู Wicked และ Le's Miserables ที่ West End, London. ครั้งที่ไป Madrid ผมเห็น The Sound of Music เปิดแสดงอยู่ในเมือง เป็นภาษาสเปน ผมบอกให้ลูกชายไปดูคนเดียว เพราะลูกชายผมเขาเป็นนักดูละครเวที เขาเคยเรียนวารสารศาสตร์ ที่ธรรมศาสตร์ ทำละครวารสาร เล่นดนตรีวง TU Band และเคยช่วยคุณบอย-ถกลเกียรติ วีระวรรณ ทำงานหลังเวทีละครรัชดาลัยมาแล้วหลายเรื่อง ต่อมาลูกชายผมได้ยกระดับงานละครเวทีของตนเองขึ้นไปเป็นนักแสดงตัวประกอบของละคร Dream Box บางเรื่อง เช่น "น้ำใสใจจริง" (เห็นวิ่งเต้นอยู่ไกลๆ) และ "Dreamgirls" (เป็นคนผสมเหล้าในบาร์) ล่าสุด ก่อนไปเรียนต่อที่ Boston ลูกชายผมก็ถูกย้ายจากตำแหน่งตัวประกอบ ไปเป็นผู้ช่วยอาจารย์ไกวัล กุลวัฒโนทัย ทำดนตรีประกอบละครเพลงเรื่อง "นางพญางูขาว" เดาว่าลูกชายผมคงไม่มีอนาคตเป็นนักแสดงแน่นอน แต่ผมก็คิดว่าหากสนับสนุนให้ลูกดูละครเวทีเยอะๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ลูกก็น่ามีโอกาสทำงานเกี่ยวกับละครเวที และงานดนตรี ได้ทางใดทางหนึ่ง ในอนาคต .... ลูกชายผมจึงได้ดู The Sound of Music ภาคภาษาสเปน ที่ Madrid .... ส่วนผมก็อยากดู ละครเพลง The Sound of Music แท้ๆจริงๆ ไม่ที่ Broadway ก็ที่ West End .... แต่ก็ยังไม่สมหวัง คงจะมีโอกาสสักครั้ง ... ก่อนตาย! เมื่อผมทราบว่า คุณดาว-พอฤทัย ณรงเดช เตรียมทำละครเวทีเป็นละครเพลงเรื่อง The Sound of Music และให้คุณยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ เป็นผู้กำกับการแสดง ผมก็ยังไม่มั่นใจว่าจะออกมาเป็นแบบไหน คุณยุทธนาก็ไม่เคยกำกับละครเวที ที่โด่งดังมาก็เพราะงานละครโทรทัศน์ ก่อนไปดูผมก็ยังบ่นกับตัวเองว่าไม่มั่นใจเรื่องเพลง น่าจะร้องเป็นเพลงต้นฉบับภาษาอังกฤษเลยจะดีกว่ามาแปลเพลงให้ร้องเป็นภาษาไทย เพราะผมเคยไปดูละครเพลงเรื่อง Dreamgirls ของคณะละคร Dream Box มาแล้ว ยังรู้สึกไม่อิ่มและไม่ธรรมชาติกับเพลงของ Dreamgirls ที่เป็นภาษาไทย The Sound of Music แรกเริ่มเป็นหนังสืออัตชีวประวัติของ Maria Augusta Trapp เธอเขียนเรื่องราวชีวิตของเธอและครอบครัว หนังสือชื่อ “The Story of the Trapp Family Singers” (1949) เธอขายลิขสิทธิ์หนังสือของเธอให้กับผู้สร้างภาพยนตร์ชาวเยอรมัน นำไปผลิตเป็นภาพยนตร์สองเรื่องต่อกัน คือ “Die Trapp Familie” (1956) และ “ Die Trapp Familie in Amerika”(1958) ต่อมาเจ้าของลิขสิทธิ์ชาวเยอรมันก็ขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ต่อให้ชาวอเมริกันไปทำละครเวทีแบบละครเพลงย่านถนนบรอดเวย์ ในนิวยอร์ค (เรียกว่า “ละครบรอดเวย์") ตั้งชื่อเรื่องว่า “The Sound of Music” เปิดแสดงปี 1959, ต่อมาในปี 1961 เปิดการแสดงที่ London’s West End และ Melbourne, Australia ถึงปี 1965 จึงจะมีการทำเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู๊ดระบบจอยักษ์โค้งยาว รับการฉายภาพยนตร์ที่ใช้ฟิล์มใหญ่กว่าปรกติสองเท่า เป็นขนาด 70 ม.ม. ปี 1965 หรือ พ.ศ. 2508 นี้เองที่เราสองคน คือป้าแจ๋ว หรือ เด็กชายยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ ในวัย 6 ขวบ กับผม หนุ่มน้อยสมเกียรติ อ่อนวิมล ในวัย 17 ปี ไปดูกัน แบบต่างคนต่างไป ไม่รู้จักกัน ไม่เคยเจอหน้ากัน! ผมไม่เคยดู The Sound of Music แบบที่เป็นละครเพลงเลย ตอนที่ Marie Osmond เล่นละครบรอดเวย์ เรื่อง The Sound of Music และแสดงเป็น Maria ปี 1994, 1995, และ 1997 เธอก็เคยมาเปิดการแสดงที่โรงละครกรุงเทพ ระหว่างวันที่ 8-13 กรกฎาคม ปี 1997 (2540) ผมมัวแต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอยู่ในปีนั้น เลยไม่รู้ว่า The Sound of Music ต้นฉบับภาษาอังกฤษมาเล่นที่เมืองไทย แถมนางเอกเป็นนักร้องนักแสดงที่ผมชอบมากๆคนหนึ่ง ผมรู้จัก Marie Osmond กับพี่ชายของเธอ จากรายการโทรทัศน์ Donny & Marie Show ครั้งที่ผมเรียนปริญญาเอกอยู่สหรัฐอเมริกาหลายปี [Marie Osmond ยังเคยแสดงเป็นแหม่มแอนนา (Anna) ในละครบรอดเวย์เรื่อง “The King and I” เมื่อปี 1997 อีกด้วย][1] ผมเคยดู The Sound of Music แต่ที่เป็นภาพยนตร์ ปี 1965 ดังนั้นความทรงจำ ความประทับใจ และการดูแบบเปรียบเทียบเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ก็จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของภาพยนตร์ปี 1965 เป็นหลัก รวมความรู้พื้นฐานอีกเล็กน้อยจากการฟังเพลงต้นฉบับของ Mary Martin ในแบบละครเวที ซึ่งผมซื้อแผ่นเสียงมาฟังหลายปีแล้ว และล่าสุดก็มีภาพยนตร์โทรทัศน์ที่สร้างในรูปแบบผสมผสานกับละครเพลง เรื่อง The Sound of Music เช่นกัน แสดงและร้องนำโดย Carrie Underwood ออกอากาศเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2013 ช่อง NBC ในสหรัฐอเมริกา (และ True Visions ในเมืองไทย) ส่วนหนังสือเกี่ยวกับ The Sound of Music ที่ห้องสมุดส่วนตัวของผมมีสี่เล่ม ก็ใช้เป็นคู่มืออ้างอิงได้ ละครเพลง “มนต์รัก เพลงสวรรค์” ภาคภาษาไทยของ "The Sound of Music" รอบแรกที่ผมไปดูเป็นรอบค่ำวันที่ 2 เมษายน 2558 ตั้งใจว่าจะไปดูรอบเดียวพอ คงไม่มีอะไรพิเศษที่จะต้องไปดูอีกรอบ ทั้งๆที่ผู้แสดงมีสองชุด โดยแต่ละชุดจะคงพระเอกคนเดิมไว้ (ชาตโยดม หิรัญยัศฐิติ แสดงเป็นกัปตัน เก-ออร์ก ฟอน ทรัปป์) กับ อาริศา หอมกรุ่น (แสดงเป็น ลีเซิล-ลูกสาวคนโต) ก็คงไว้ นักแสดงชุดสองที่จะเปลี่ยนไปก็คือนางเอก-มาเรีย ให้สลับกันแสดงระหว่าง ธนันต์ธรณ์ (ฟาง) นีระสิงห์ และ ณัฐภัสสร (ดาว) สิมะเสถียร; ผู้แสดงเป็นคุณแม่อธิการ ก็สลับกันระหว่าง ธนพร แวกประยูร และ ชิดชนก มัญชุรัตน์; ลูกๆหกคน (ไม่นับ ลีเซิล ลูกสาวคนโต) ก็ใช้ผู้แสดงสองชุด รอบค่ำวันที่ 2 เมษายน ที่ผมไปดูนั้น นางเอกที่แสดงเป็นมาเรียคือคุณณัฐภัสสร สิมะเสถียร ส่วนคุณชิดชนก มัญชุรัตน์ แสดงเป็นคุณแม่อธิการ ผมเริ่มดูแบบไม่คิดจะวิจารณ์อะไรเป็นเรื่องเป็นบทความเช่นที่กำลังเขียนอยู่นี้ เพียงคิดว่าลองดูไปก็แล้วกันว่าจะเป็นอย่างไร พอเปิดฉากแรกผมก็ตื่นตลึงในเสียงดนตรีและเสียงเพลง ผมดูเพลินไปจนจบเกือบสามชั่วโมง โดยไม่รู้ตัวและไม่ได้สนใจเลยว่ากำลังดูหนังหรือละครเพลงภาษาอังกฤษหรือภาษาไทย แปลกมาก ทั้งๆที่เพลงร้องเป็นภาษาไทยทั้งหมด ผมกลับร้องคลอตามเพลงต่างๆในใจเป็นภาษาอังกฤษตลอดเวลา คนแปลบทและคำร้องทุกเพลง คือคุณนรินทร์ ประสพภักดี แปลได้ดีตรงความหมาย ตรงอารมณ์ ถูกจังหวะ วรรคตอน พยางค์ ภาษา เป็นธรรมชาติเสียจนผมไม่สะดุดคิด ไม่สังเกตเลยว่ากำลังดูละครภาษาไทยจากภาพยนตร์ภาษาอังกฤษที่ผมคุ้นเคยไม่แพ้ผู้กำกับการแสดง คือป้าแจ๋ว ทั้งๆที่ทั้งบทพูด บทร้อง และดนตรีทั้งหมดเป็นไปตามต้นฉบับละครเพลงอย่างเคร่งครัด เพลงที่ในภาพยนตร์ไม่มีแต่ละครมีก็นำมาร้องด้วยเหมือนกัน ที่ประทับใจมากที่สุดคือการบรรเลงสดของวงออร์เคสตร้าหน้าเวที บรรเลงได้นุ่มนวล ไพเราะ เครื่องดนตรีแน่นเต็มวง อย่างมืออาชีพจริงๆ เสียงดนตรีไพเราะงดงามดุจดุริยางค์สากลวงใหญ่อย่างแท้จริง คุณปิติ เกยูรพันธ์ เป็นผู้กำกับดนตรีที่มีความสามารถมาก ผมเพลิดเพลินไปกับทุกเพลงเหมือนตัวเองย้อนกลับไปดู The Sound of Music ที่โรงภาพยนตร์กรุงเกษม เมื่อ 50 ปีที่แล้วจริงๆ คณะแม่ชี มีบทบาทนำเข้าสู่เรื่องราวทั้งหมดแต่ต้นเรื่อง การร้องเพลงแบบประสานเสียงของแม่ชีทั้งอาราม ทำได้ดีมากจนผมนึกว่าดูภาพยนตร์อยู่เช่นกัน คุณแม่อธิการก็โดดเด่นมาก เมื่อถึงบทเน้นตัวของท่าน ไม่ว่าจะบทพูด หรือบทร้องเพลง คุณชาตโยดม หิรัญยัศฐิติ ผู้แสดงนำฝ่ายชาย แสดงเป็นพ่อ สูงสง่า ราบรื่นทุกบทตอน การร้องเพลงอาจจะเหมือนนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ร้องเพลงดีคนหนึ่ง ไม่ถึงขนาดจะเป็นนักร้องแบบสุดยอดละครเพลง แต่ผมก็ว่าสมบทบาทแล้ว เพราะแสดงเป็นายทหารเรือผู้ได้รับเหรียญกล้าหาญและเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวินจากกองทัพเรือออสเตรีย จะให้ท่านร้องดีมากๆก็จะไม่เหมาะกับบทบาทนายทหารระดับสูง สำหรับ "มาเรีย" นางเอกของผม รอบแรกที่ผมไปดูนี้แสดงโดยคุณดาว-ณัฐภัสสร สิมะเสถียร ร้องเพลงไพเราะกังวานพริ้วจนอยากฟังเธอร้องต้นฉบับภาษาอังกฤษสักวันถ้ามีโอกาส คุณณัฐภัสสร แสดงเป็นธรรมชาติมาก เพียงแต่ว่าเวทีโรงละครรัชดาลัยออกจะเล็กและแคบไป ไม่พอให้เธอวิ่งให้ทั่วเนินเขา เรื่องนี้เป็นปัญหาของเวทีรัชดาลัย ถ้าเป็นละครเรื่องของไทย เช่น “ข้างหลังภาพ” หรือ “ทวิภพ” เวทีก็พอรับได้ แต่พอเจอเรื่อง “Chicago” ก็เห็นว่าจะคับแคบแสดงลำบากอยู่ ยิ่งมาเจอเทือกเขาแอลป์แห่ง “The Sound of Music” นี้ ผมว่าไม่ช้าไม่นานควรจะต้องขยายเวทีอีกสักหน่อย ไหนจะวิ่งร้องเพลงบนเนินเขา ไหนควรจะต้องมีลำธารน้ำไหลผ่าน แต่ในฉากก็ไม่มีให้เห็น ในภาพยนตร์นั้นผู้กำกับให้สร้างลำธารน้ำขึ้นมาใหม่ ทำให้มาเรียสามารถวิ่งมาวักน้ำเล่นได้ ไม่ทราบว่าบนเวทีบรอดเวย์ Mary Martin มีลำธารน้ำให้เล่นในฉากด้วยหรือเปล่า? เมื่อดูจบรอบแรก ผมรู้สึกเพลินจนเผลอลืมที่จะคิดวิจารณ์ จึงตกลงใจจะขอไปดูอีกรอบ เพื่อเปรียบเทียบกับนักแสดงอีกชุด แล้วจะได้กลับมาเขียนบทวิจารณ์ดังที่กำลังเขียนอยู่นี้ ผมได้ไปดู "มนต์รัก เพลงสวรรค์" รอบที่สองเมื่อค่ำวันอาทิตย์ที่ 5 เมษายน ตั้งใจจะดูแบบเอาเรื่อง หรือไม่ก็ "หาเรื่อง" มาคุยให้ได้ จะไม่ยอมหลวมตัวเผลอเพลินไปตาม "มนต์รัก-เพลงสวรรค์" และการแสดงที่สนุกงดงามง่ายๆอีกแล้ว ดูรอบสองแล้ว ผมก็พอมีเรื่องวิจารณ์เสนอแนะบ้าง แม้ไม่มากนัก เพราะ อย่างแรก-ผมไปดูละครเพื่อความสุขย้อนอดีต และอดีตผมในวัยรุ่นนั้นเป็นอดีตที่ดีมีความสุขสมหวังมากแล้ว ไม่มีเหตุผลอะไรที่ผมจะมาวิจารณ์หาเรื่องกับปัจจุบัน อย่างที่สอง-ผมก็ไม่เคยดูละคร The Sound of Music ของ Mary Martin อันเป็นต้นฉบับของ “มนต์รักเพลงสวรรค์” ภาคภาษาไทย ซึ่งผู้สร้างละครของไทยทำตามต้นฉบับ ไม่มีสิทธิ์ดัดแปลงอะไรให้ผิดไปจากต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ ดังนั้นผมจึงไม่มีคุณสมบัติพื้นฐานที่จะวิจารณ์เปรียบเทียบกับต้นฉบับได้เลย โดยรวม นักแสดงทั้งสองชุดมีคุณภาพสูงมากเท่าเทียมกัน ไม่มีชุดไหนเป็นชุดหนึ่ง หรือชุดไหนชุดสอง-ชุดรอง ไม่มีทีม A ทีม B ใครไปดูรอบไหน นักแสดงชุดใด ก็ไม่มีผิดหวัง เพียงแต่อาจจะได้อารมณ์ต่างกันเล็กน้อยในตัวนางเอกที่แสดงเป็นมาเรีย นางเอกทั้งสองคนแสดงและร้องดีมากเท่าเทียมกัน ต่างกันที่ขนาดรูปร่าง มาเรีย-ณัฐภัสสร ดูจะเป็นผู้ใหญ่มากกว่า ร่างสูงกว่า. ส่วนมาเรีย-ธนันต์ธรณ์ ตัวเล็กไปหน่อย ถ้าให้รับบทลูกสาวคนโตก็ยังได้ พอมารับบทมาเรีย เป็นบทแม่ต้องดูแลลูกตั้ง 7 คน ดูแปลกอยู่ เพราะตัวขนาดเท่าๆกับอาริสา หอมกรุ่น ผู้รับบทลีเซิล ลูกสาวคนโต ทั้งคุณธนันต์ธรณ์ และ คุณณัฐภัสสร นั้น หากเรื่อง “มนต์รัก เพลงสวรรค์” เปิดการแสดงต่อไปสัก 5 ปี ก็น่าจะเติบโตเป็นสาวเต็มวัย จะแสดงได้สมบทบาทแม่พอดีๆ ผมอยากเห็น “The Sound of Music | มนต์รัก เพลงสวรรค์” เปิดการแสดงต่อไปที่โรงละครรัชดาลัยอย่างน้อย 5 ปี ผมจะไปดูทุกปี ปีละอย่างน้อยปีละสองรอบ! สำหรับลูกๆทั้ง 7 คนของกัปตัน von Trapp นั้น นักแสดงเด็กไทยทั้งสองชุด แสดงดีพอๆกัน คุณอาริสสา หอมกรุ่น (ลิเซิล) แสดงดีมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะบทเต้นรำคู่กับอนุรักษ์ บุญเพิ่มพูน (โรล์ฟ) ส่วนลูกคนสุดท้องที่ชื่อเกรเทิล แสดงโดย ด.ญ. เฟรย่า พิชชา และ ด.ญ.จิตณิดา เต็มอุดมภาค น่ารัก เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะเท่ากัน ตรงบทเดียวกันอีกต่างหาก ... อันที่จริงทั้งสองรอบที่ผมไปดูนั้น พบว่าอารมณ์ขันและการปรบมือของผู้ชม ตรงกันที่เดิม เวลาเดิม ไม่ผิดเพี้ยน แสดงว่าบทละครเขียนมาเป็นอย่างดีเยี่ยม รู้ว่าจะสร้างอารมณ์สนุกสนาน อารมณ์ขันตรงไหน เวลาใด แม้ผู้ชมจะต่างสัญชาติ ต่างวัฒนธรรมกัน และดูต่างรอบกันก็ตาม ต้องถือว่าผู้ชมทั่วโลกมีวัฒนธรรม “The Sound of Music” ต้อง “มนต์รักเพลงสวรรค์” ร่วมกัน ไม่จำกัดด้วยความแตกต่างทางเชื้อชาติ, ศาสนา, เผ่าพันธุ์, วัฒนธรรม, และ ภาษา. The Sound of Music เป็นละครเวทีแบบละครเพลง ปี 1959 ที่ดัดแปลงมาจากภาพยนตร์เยอรมัน ปี 1956-1958; ซึ่งภาพยนตร์เยอรมันก็สร้างจากหนังสืออัตชีวประวัติของมาเรีย ออกัสตา แทรพพ์ เขียนปี 1949; หลังจากเป็นละครเพลงแล้ว ก็เอาละครเพลงกลับมาสร้างภาพยนตร์อีกครั้งหนึ่ง ในปี 1965 เรื่องจริงจากชีวิตของครอบครัวของมาเรีย จากหนังสือ ไปเป็นภาพยนตร์เยอรมันก็ผิดเพี้ยนไปจากความจริงมากแต่แรกแล้ว เมื่อมาเป็นละครบรอดเวย์ และต่อมาเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู๊ด เรื่องจริงของครอบครัวของมาเรียก็ผิดเพี้ยนไปจากเรื่องจริงมากเสียจนครอบครัวของมาเรียต้องทำใจยอมรับเรื่องไม่จริงในละครและภาพยนตร์ให้ได้ เพราะละครและภาพยนตร์ หากจะให้สนุกสนานบันเทิงแบบฮอลลีวู๊ด ก็ต้องปรับแก้ เปลี่ยนเรื่องจริงให้เป็นนิยายมากๆหน่อย รับรอง สนุกกว่ากันเยอะเลย! [11 เมษายน 2558] หมายเหตุ: [1][ย่อหน้านี้เขียนเพิ่มเติมใหม่หลังจากคุณ Sawet Sawetatat เพื่อน facebook ผู้เคยทำงานที่โรงละครกรุงเทพบอกมา เมื่อ 11 เมษายน หลังลงพิมพ์บทความนี้แล้ว] ตัวอย่าง On Youtube: https://www.youtube.com/watch?v=7HHoo-8Tevk https://www.youtube.com/watch?v=bNmwxB_58r0 https://www.youtube.com/watch?v=NkKnzLlfe7M https://www.youtube.com/watch?v=7cClNAh8wCk https://www.youtube.com/watch?v=wcogsScx9IE https://www.youtube.com/watch?v=h3WUeZcFHkI จากสูจิบัตร "มนต์รักเพลงสวรรค์"
จากหนังสือ
[ห้องสมุด สมเกียรติ อ่อนวิมล] |
The Sound of Music : เรื่องจริง สมเกียรติ อ่อนวิมล แปลจากบางส่วนของบทความ เรื่อง “Movie vs. Reality: The Real Story of the von Trapp Family” โดย Joan Gearin ________________________________________________________________ บางส่วนของเรื่องราวชีวิตจริงของครอบครัววอนแทรพพ์ (The von Trapp Family) จะอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (The National Archives) ตอนที่ครอบครัว von Trapp (วอนแทรพพ์) ลี้ภัยจากพวกเยอรมันนาซีที่เข้ายึดครองอำนาจในออสเตรีย พวกเขาเดินทางไปอเมริกา หลักฐานการเข้าเมือง เอกสารใบสมัครขอเป็นพลเมืองอเมริกัน ทั้งหมดเก็บรักษาไว้ในสำนักหอจดหมายเหตุและบันทึก (National Archives and Records Administration) แยกความจริง ออกจากละคร ภาพยนตร์เรื่อง The Sound of Music สร้างโดยอ้างอิงส่วนแรกของหนังสือเขียนโดย มาเรีย เอง ชื่อ “The Story of the Trapp Family” (พิมพ์ปี 1949) แต่ในภาพยนตร์ได้มีการปรับเปลี่ยนและตัดทอนทิ้งไปมากมายหลายเรื่อง.
ครอบครัว von Trapp ในชีวิตจริง Georg von Trapp เกิดปี 1880 เป็นวีรบุรุษของชาติในฐานะกัปตันกองทัพเรือออสเตรียช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในตำแหน่งผู้บังคับการกองเรือดำน้ำทำสงครามอย่างกล้าหาญ ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ของออสเตรียรับรองความกล้าหาญชั้น “Ritter” เทียบเท่าอิสริยาภรณ์ชั้น Baronet หรือ “Sir” ของอังกฤษ ปี 1912 แต่งงานกับ Agathe Whitehead ผู้เป็นหลานสาวของ Robert Whitehead (ผู้ประดิษฐ์ตอร์ปิโด) มีลูกด้วยกัน 7 คน ตามลำดับ ดังนี้:
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ออสเตรียสูญเสียเมืองท่าทางทะเลทั้งหมด และ Georg เกษียณอายุออกจากกองทัพเรือ ภรรยาของเขา (Agathe Whitehead) ถึงแก่กรรมในปี 1922 ด้วยโรค sacrlet fever (ไข้อีดำอีแดง) ครอบครัวต้องระทมทุกข์มิอาจทนอยู่ในบ้านหลังเดิมต่อไปได้ เพราะภาพแห่งความสุขที่เคยมีมาในอดีตครั้ง Agathe ยังมีชีวิตอยู่ จึงขายบ้านทิ้งไป บ้านหลังแรกที่ว่านี้อยู่ที่เมือง Pola (ปัจจุบันชื่อเมือง Pula อยู่ใน Croatia) แล้วมาซื้อบ้านและที่ดินใหม่ที่เมือง Salzberg ประเทศออสเตรีย ตรงกันกับที่เป็นส่วนหนึ่งของฉากในละครและภาพยนตร์ Maria Augusta Kutschera เกิดที่เมืองเวียนนา (Vienna) ประเทศออสเตรีย (Austria) ปี 1905 กำพร้าพ่อแม่แต่วัยเด็ก เลี้ยงดูโดยลุงที่เป็นคนไร้ศาสนา (Atheist) ก้าวร้าวใช้ความรุนแรงในการเลี้ยงดู และสอนมาเรียว่าเรื่องในพระคัมภีร์ไบเบิ้ลเป็นเรื่องเท็จทั้งหมด Maria เข้าเรียนที่วิทยาลัยครูแห่งรัฐเพื่อการศึกษาระบบก้าวหน้า (State Teachers’ College of Progressive Edication) ในนครเวียนนา ได้รับอิทธิพลส่งผลให้เกิดความเชื่อทางศาสนา ขณะฟังเทศน์โดยนักบวชคนหนึ่งในระหว่างการแสดงคอนเสิร์ต (เชื่อว่าเป็นคอนเสิร์ตเพลงของ Johann Sebastian Bach) หลังจบวิทยาลัยครูก็สมัครเข้าปวรนาตัวขอบวชเป็นแม่ชีที่วิหาร Benedictine Abby of Nonnberg ที่ Salzberg เริ่มชีวิตในวิหารเป็นผู้เตรียมบวชเป็นชี Maria ใช้เวลาสองปีปรับตัวให้เข้ากับกฎเกณฑ์อันเข้มงวดต่างๆ ซึ่งเธอก็บอกว่าเป็นสิ่งสำคัญในการปรับเปลี่ยนอุปนิสัยและวินัยของตัวเธอให้เข้าที่เข้าทาง อย่างไรก็ตาม ชีวิตในพระศาสนา เตรียมตัวบวชเป็นชี ทำให้เธอขาดการออกกำลังกาย หมกตัวอยู่ในอาคารที่อากาศไม่ถ่ายเทดีพอ ทั้งที่ชีวิตของเธอก่อนหน้านั้นได้รับอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ปลอดโปร่งสดชื่นมาโดยตลอด เมื่อ Georg von Trapp ติดต่อคุณแม่อธิการ Reverend Mother แห่งวิหาร Benedictine Abby of Nonnberg ขอครูไปช่วยดูแลลูกสาวคนที่กำลังป่วยอยู่ (ชื่อ Maria เหมือนกัน) แม่อธิการจึงเลือก Maria ให้ไปรับงานสอนและดูแลลูกสาวของ Georg คนที่ป่วยนั้น ที่เลือก Maria ก็เพราะเธอมีประสบการณ์ในการเป็นครูมาก่อน และเพราะคิดว่า Maria เองก็มีปัญหาสุขภาพ ควรที่จะได้ไปอยู่ในที่มีบรรยากาศแวดล้อมดีกว่าสดใสกว่า Maria มีกำหนดไปทำงานในบ้าน Goerg ทั้งหมด 10 เดือน จากนั้นก็จะกลับมาบวชชีเข้าอยู่ในคอนแวนต์ (Convent) ได้ Maria สอน เด็กหญิง Maria ลูกสาวของ Georg ด้วยความรักและเอ็นดู และเพิ่มพูนความรักต่อลูกๆคนอื่นๆอีกหกคนของ Georg ด้วย ร้องเพลงกับเด็ก (ที่ชอบร้องเพลง และร้องดีกันอยู่แล้ว) พาเด็กๆออกไปเที่ยวเล่นในสถานที่ต่างๆ สนุกสนานกับกิจกรรมต่างๆนอกบ้าน ต่อมา Georg von Trapp ก็ตกหลุมรัก Maria และขอเธอแต่งงาน ขอให้เธอเป็นแม่คนที่สองของลูกๆทั้ง 7 คน Maria เล่าในหนังสือของเธอว่า หาก Georg เพียงแต่จะขอเธอแต่งงานเพื่อเป็นภรรยาเท่านั้น เธอคงไม่แต่งด้วย เพราะไม่ได้รัก Georg แต่พอใช้คำว่า “ขอให้มาเป็นแม่คนที่สองของลูกๆ” คำขอนี้เองที่ชนะใจ Maria เพราะเธอรักที่จะเป็นแม่ของลูกๆทั้ง 7 คน Maria Kutscher และ Georg von Trapp แต่งงานกัน ในปี 1927 มีลูกด้วยกัน 3 คน คือ:
ระหว่างที่อยู่ออสเตรีย ครอบครัว von Trapp ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ กระทบถึงฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวมาก เงินในธนาคารก็หายไปพร้อมกับการล่มสลายของธนาคารและระบบการเงิน ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1930s Maria ต้องจำกัดการใช้จ่าย เลิกจ้างคนงานในบ้าน แบ่งห้องในบ้านเป็นห้องเช่าอยู่อาศัยชั่วคราวสำหรับคนภายนอก ช่วงที่ชีวิตลำบากนี้เองที่ครอบครัวเริ่มคิดที่จะหารายได้จากการร้องเพลงให้เป็นอาชีพใหม่จุนเจือครอบครัว แม้ Georg จะไม่ค่อยเต็มใจนักที่จะให้ครอบครัวแสดงดนตรีร้องเพลงในที่สาธารณะ แต่ก็จำยอมรับเพราะความจำเป็น ถือเป็นวิถีประทานของพระเจ้า Eleonore ผู้เป็นลูกสาวให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ The Washington Post ในปี 1978 ว่า “มันเกือบจะเป็นความปวดร้าวของคุณพ่อที่เห็นครอบครัวของเราต้องไปยืนร้องเพลงบนเวที, ไม่ใช่ว่าพ่อจะหยิ่งในศักดิ์ศรีอะไรนัก แต่พ่อต้องการปกป้องครอบครัวมิให้เสื่อมเสีย” ดังที่ปรากฏในภาพยนตร์ ครอบครัว von Trapp ชนะเลิศการประกวดร้องเพลงในงานเทศกาล Salzberg Music Festival ปี 1936 และประสพความสำเร็จมีชื่อเสียงในการร้องเพลงประเภท Renaissance และ Baroque, madrigals, และ Folk Songs ทั่วยุโรป เมื่อพวกนาซีเยอรมันเข้าผนวกออสเตรีย ในปี 1938 ครอบครัว von Trap รู้ดีว่าจะอยู่ร่วมกับพวกนาซีต่อไปได้ลำบาก เพราะความเกลียดชังพวกนาซีอย่างมาก Georg ไม่ยอมแขวนธงนาซีที่หน้าบ้าน ไม่ยอมรับตำแหน่งผู้บัญชาการในกองทัพเรือที่พวกนาซีแต่งตั้งให้ และไม่ยอมไปร้องเพลงในงานวันเกิดฮิตเลอร์ ผู้เป็นผู้นำเผด็จการนาซีเยอรมนี ไม่ชอบที่พวกนาซีต่อต้านศาสนา มีสายลับกระจายไปทั่วจนไม่มีใครไว้ใจใคร ไม่ไว้ใจแม้คนใกล้ตัว หวาดผวากับกระบวนการล้างสมองเด็กให้เกลียดชังพ่อแม่ และนโยบายโฆษณาชวนเชื่อทั้งหลายของพวกนาซี ครอบครัว von Trapp ต้องตัดสิน ชั่งน้ำหนัก ข้อดีข้อเสียของการอยู่ต่อในออสเตรียแล้วรับผลประโยชน์ต่างๆที่จะได้ หรือจะหนีออกไปนอกประเทศ ทิ้งทุกสิ่งอย่างไปเผชิญโชคชตาเอาดาบหน้า หากอยู่ต่อไปในออสเตรียก็จะได้ชื่อเสียงเงินทองมากขึ้นจากการร้องเพลง, ลูกชายที่ชื่อ Rupert ก็จะจบได้เป็นนายแพทย์, Georg เองก็จะได้ยศและตำแหน่งงานสำคัญในกองทัพเรือ ในที่สุดครอบครัว von Trapp ก็ตัดสินใจทิ้งทรัพย์สินบ้านเรือนเพื่อนฝูง ทุกสิ่งอย่างในออสเตรีย อพยพออกนอกประเทศไป เดือนมิถุนายน ปี 1938 ครอบครัว von Trapp พ่อกับแม่ พร้อมด้วยลูกๆทั้งหมด 9 คน เดินทางออกจากออสเตรียโดยทางรถไฟ มีผู้กำกับดนตรีประจำครอบครัวคือ สาธุคุณ Reverend Franz Wasner กับเลขานุการชื่อ Martha Zochbauer ร่วมเดินทางและร่วมงานด้วย รถไฟเดินทางข้ามพรมแดนเข้าประเทศอิตาลี (ไม่ใช่สวิตเซอร์แลนด์ ดังในภาพยนตร์และละคร) จากอิตาลี เดินทางไปลอนดอนเดือนกันยายน แล้วลงเรือเดินทางไปนิวยอร์ค เริ่มการแสดงคอนเสิร์ตแรกที่ฟิลาเดลเฟีย ลูกคนที่สิบ คนสุดท้อง คือลูกชายชื่อ Johannes เกิดเดือนมกราคม ปี 1939 ที่ฟิลาเดลเฟียตอนนี้เอง เมื่อวีซ่าท่องเที่ยว (visitors’ visa) เข้าสหรัฐหมดอายุครบ 6 เดือน ครอบครัว von Trapp ก็จำต้องเดินทางออกนอกประเทศสหรัฐอเมริกา ไปในแสดงในภาคพื้นสแกนดิเนเวีย แล้วกลับมานิวยอร์คอีกครั้งในเดือนตุลาคม ปี 1939 ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจับสอบสวนที่เกาะ Ellis ซึ่งเป็นสถานที่ตรวจคนอพยพเข้าเมืองที่สำคัญของสหรัฐฯในสมัยนั้น เจ้าหน้าที่ถามว่าจะอยู่สหรัฐนานเท่าใด แทนที่จะตอบว่า “หกเดือน” ตามที่ระบุในวีซ่า Maria กลับตอบว่า “Oh, I am so glad to be here ---- I never want to leave again” (โอ้, ฉันดีใจมากที่จะอยู่ที่นี่ ---- ฉันไม่อยากจากอเมริกาไปไหนอีกแล้ว) Maria เล่าในหนังสือ “The Story of the Trapp Family” ต่อไปว่า เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกักตัวครอบครัวของเธอไว้ไม่กี่วัน (a few days) แล้วปล่อยตัว จากนั้นครอบครัว von Trapp ก็เริ่มตระเวณออกแสดงตามที่ต่างๆในสหรัฐอเมริกาต่อไป ต้นปี 1940 ครอบครัว von Trapp ซื้อฟาร์มแห่งหนึ่งทำการเกษตร ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมือง Stowe รัฐ Vermont นอกจากทำฟาร์มแล้วก็ยังทำค่ายดนตรีในช่วงที่ไม่ออกแสดงอีกด้วย ปี 1944 Maria กับลูกเลี้ยง 5 คน ยื่นใบสมัครขอรับการโอนสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกัน ลูกสาวทั้งห้านั้นคือ Johanna, Martina, Maria, Hedwig, และ Agathe ยื่นเอกสารที่ศาลแขวง Burlington, Vermont ; ส่วนกัปตัน Georg ไม่สมัครขอแปลงสัญชาติ ยังคงสัญชาติออสเตรียจนสิ้นชีวิตในปี 1947 ; Rupert (ลูกคนหัวปี) กับ Werner (ลูกคนที่ 4) ได้สัญชาติอเมริกันโดยการเป็นทหารในกองทัพบก ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ; Rosemarie (ลูกสาวคนหัวปีของ Maria เองที่เกิดกับ Georg) และ Eleonore (ลูกสาวคนที่ 2 ของ Maria) เกิดในสหรัฐอเมริกา ได้สัญชาติโดยกำเนิด กัปตัน Georg von Trapp ถึงแก่กรรมในปี 1947 ฝังศพที่สุสานในที่ดินของครอบครัว ลูกๆที่ยื่นใบสมัครขอสัญชาติอเมริกันในที่สุดก็ได้รับอนุมัติในปี 1948 ต่อมาในปี 1950 ครอบครัวเปิดกิจการโรงแรมที่พักนักเดินทาง เรียกว่า The Trapp Family Lodge และดำเนินกิจการต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ ชื่อเสียงและความสำเร็จของวง The Trapp Family Singers ก็เพิ่มพูนต่อไปอย่างต่อเนื่อง แต่ครอบครัวก็เห็นว่าถึงเวลาพักงานเดินสายเปิดการแสดงร้องเพลงได้แล้ว จึงยุติการตระเวณแสดงในปี 1955 ซึ่งในตอนนั้นนักร้องในวงก็เป็นคนนอกครอบครัวเสียส่วนมาก เพราะลูกๆต่างคนต่างแสวงหาแนวทางชีวิตของตนเองไปเกือบหมด ที่วงยังอยู่ก็เพราะ Maria ผู้มารดา มุ่งมั่นที่จะดำเนินงานต่อไปเท่านั้นเอง ปี 1956 Maria (แม่), Johannes, Rosemarie, และ Maria (ลูก) ไปอยู่นิวกินี (New Guinea) ทำงานรับใช้พระเจ้าเผยแผ่ศาสนา ตอนหลัง Maria (แม่) กลับมาดูแลกิจการโรงแรม Trapp Family Lodge อีกหลายปี ; Rupert เป็นแพทย์ ; Agathe เป็นครูอนุบาลในรัฐ Maryland ; Maria (ลูกสาว) เป็นมิชชันนารีสอนศาสนาในนิวกินีนาน 30 ปี ; Werner ทำฟาร์ม ; Hegwig สอนดนตรี ; Johanna แต่งงาน แล้วตอนหลังกลับไปอยู่ออสเตรีย ; Martina แต่งงาน แต่เสียชีวิตขณะคลอดลูก ; Rosemarie และ Eleonore ตั้งบ้านเรือนอยู่ใน Vermont ต่อไป ; Johannes เป็นผู้จัดการ The Trapp Family Lodge ; Maria (แม่) ถึงแก่กรรม ปี 1987 ฝังศพคู่กับ Georg และ Martina ในสุสานของครอบครัว ครอบครัว von Trapp กับเรื่อง “The Sound of Music” ครอบครัว von Trapp ไม่ได้ไม่ดี ไม่มีรายได้อะไรนักจากรายได้มหาศาลของละครและภาพยนตร์ เรื่อง The Sound of Music ซึ่งสร้างจากเรื่องราวชีวิตของครอบครัวโดยตรง Maria ขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ให้กับผู้สร้างภาพยนตร์ชาวเยอรมัน จึงเกิดภาพยนตร์เรื่องแรกชื่อ “Die Trapp-Familie” (1956) และต่อเรื่องที่สองตามมา ชื่อ “Die Trapp-Familie in Amerika” (1958) ภาพยนตร์ประสพความสำเร็จมากในเยอรมนี ต่อมาผู้สร้างภาพยนตร์ชาวเยอรมันขายลิขสิทธิ์ต่อให้กับผู้สร้างละครและภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกา ครอบครัว von Trapp ไม่มีส่วนเกี่ยวอะไรนักกับทั้งละครและภาพยนตร์เรื่อง The Sound of Music นอกจากจะให้คำปรึกษาบ้างเล็กๆน้อย และมักจะไม่เป็นที่ยอมรับของผู้สร้างภาพยนตร์และละคร ผู้ทำละครบรอดเวย์เรื่อง The Sound of Music จ่ายค่าตอบแทนให้เล็กน้อยเพราะรับคำแนะนำจาก Maria และครอบครัวไปใช้ทำละคร แล้วครอบครัว von Trapp คิดอย่างไรกับภาพยนตร์และละคร The Sound of Music? Maria ก็รู้สึกพอใจที่ผู้สร้างไม่ได้ดัดแปลงแก้ไขเนื้อหาจนผิดเพี้ยนมากเกินขนาด เทียบกับต้นฉบับหนังสือที่เธอเขียน เรื่อง “The Story of the Trapp Family Singers” และเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเธอเองก็พอรับได้ว่าใกล้เคียงเรื่องจริงอยู่บ้าง แต่ Maria ก็ให้สัมภาษณ์ The Washington Post ในปี 1978 ว่า ทั้ง Mary Martin ผู้แสดงเป็น Maria ในละครเวที และ Julie Andrews ในภาพยนตร์ “ดูจะสุภาพอ่อนโยนเกินไป เหมือนกับเด็กสาวเรียนจบจากวิทยาลัยสตรี Bryn Mawr” (Mary Martin and Julie Andrews “were too gentle-like girls out of Bryn Mawr”) [ในการให้สัมภาษณ์ BBC ตอนหนึ่ง Maria เล่าว่าเธอรู้จากข่าวหนังสือพิมพ์ว่าจะมีการเอาเรื่องของเธอมาทำเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู๊ด เธอก็เริ่มกังวลใจ: “ฉันเริ่มกังวลว่าพวกฮอลลีวู๊ดจะเอาเรื่องของเราไปทำแบบไหน ฮอลลีวู๊ดก็คือฮอลลีวู๊ด สงสัยเขาคงจะแต่งเรื่องใหม่ให้ฉันหย่ากับสามีสักสามครั้ง แต่งงานห้าครั้ง หรืออะไรทำนองนั้น แต่แล้วพอได้ดูภาพยนตร์ก็ถือว่าออกมาดีมาก - โดยเฉพาะตอนต้นเรื่องฉากแรกที่ผู้แสดงเป็นตัวฉันวิ่งขึ้นมาบนลานหญ้าบนเนินเขา” .... “แต่ว่ามีที่ทำให้ฉันกลุ้มใจอยู่นานก็คือเรื่องที่ว่า Maria ในหนังในละครนั้นไม่จัดจ้านกระโดกกระเดกเท่าตัวจริงของฉันตอนนั้นซึ่งอายุยังน้อยอยู่ - Maria ในบทละครและภาพยนตร์เป็นกุลสตรีศรีภรรยาเกินไป แต่ตัวจริงของฉันไม่ใช่อย่างนั้น” .... Johannes ลูกชายคนสุดท้องของ Maria บอกกับ BBC ว่า “แม่เป็นผลพวงแห่งพลังธรรมชาติ ไม่ง่ายนักที่ลูกๆจะเถียงแม่ได้ แม่รวบอำนาจไว้กับตัว เป็นคนแข็งมากเป็นพิเศษ ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ..... แม่ทำอะไรๆเร็วมาก เดินเร็วมาก เดินเหมือนท่าจะกลิ้งกระโดด ลักษณะการเดินแบบนี้ก็ได้มาจากการที่แม่ชอบเดินเขาออสเตรียเป็นประจำนั่นเอง ใครจะเดินตามแม่ทัน ตอนกินแม่ก็กินเร็ว ขับรถก็เร็วเกินขนาด ภรรยาผมเคยยืมรถแม่ขับเข้าหมู่บ้านครั้งหนึ่ง ผู้คนหลบกันเป็นแถมพอเห็นรถแม่มา นึกว่าแม่เป็นคนขับ” "I felt very alarmed," she said. "I didn't know what they are going to do with us… Hollywood being Hollywood, [I thought] they will have me three times divorced and five times married or whatever. And then it turned out so nice - especially the beginning with the mountains and me coming up over the meadow. "My long drawn out misery is, I can't get these diverse Marias to be as wild and untamed as I was at that age - they are all very ladylike you see and I was not." Maria was a "force of nature" says Johannes. "It wasn't easy to disagree with her but she kept everything together… She was an extraordinarily strong person and that was both wonderful and sometimes difficult. "She did everything quickly. She walked very fast, with a rolling gait developed from hiking in the Austrian mountains and it was hard to keep up with her. She ate fast, she drove too fast. My wife borrowed her car once to go the village, and was astonished that everyone in front gave way when they saw my mother's car coming.”] [อ้างจาก http://www.bbc.com/news/magazine-31658799] ที่ Maria ไม่ชอบมากๆคือบทบาทของตัวละครกัปตัน Georg von Trapp สามีของเธอ ทั้งภาพยนตร์และละครเหมือนกัน คือทำให้สามีของเธอผิดไปตรงข้ามกับความเป็นจริง ปฏิกิริยาจากลูกๆแตกต่างกันตามประเด็น : บ้างก็รำคาญที่บท The Sound of Music ทำให้ดูเหมือนว่าครอบครัว von Trapp ร้องเพลง classic หนักๆไม่ได้, ไม่ชอบที่ทำเรื่องต่างๆให้ดูง่ายๆไปหมด, ทำให้พ่อดูเป็นคนหยาบกระด้าง บุคลิกผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง เรืองนี้เป็นประเด็นไม่พอใจเป็นหลักใหญ่ Johannes von Trap ให้สัมภาษณ์ The New York Times ไว้เมื่อปี 1998 ว่า “ครอบครัวของผมมิได้เป็นแบบในภาพยนตร์และละคร .... ไม่ได้เป็นชีวิตหรูหราแบบมาตรฐานชีวิตชนชั้นสูงที่เอาไปล้อเลียนกันสนุกสนานเช่นเรื่อง ‘Titanic’ พวกเรามีความรักละเอียดอ่อนในเรื่องสภาวะแวดล้อม และ ศิลปะ แต่ The Sound of Music ก็เอาไปทำเสีย จนดูทุกอย่างมันเป็นเรื่องง่ายๆไปหมด ผมว่าเรื่องจริงมันดูไม่หรูหราน่าดู แต่เรื่องจริงนั้นน่าสนใจกว่านิทานปรัมปราที่ไม่จริง (“it’s not what my family was about. . . . [We were] about good taste, culture, all these wonderful upper-class standards that people make fun of in movies like 'Titanic.' We're about environmental sensitivity, artistic sensitivity. 'Sound of Music' simplifies everything. I think perhaps reality is at the same time less glamorous but more interesting than the myth.”) Thaivision 11 เมษายน 2558 แหล่งอ้างอิงหลัก: ทั้งหมด แปลจากบางส่วนของบทความ เรื่อง Movie vs. Reality: The Real Story of the von Trapp Family โดย Joan Gearing ลงพิมพ์ใน Prologue Magazine / Winter 2005, Vol. 37, No. 4 / National Archive Website > http://www.archives.gov/publications/prologue/2005/winter/von-trapps.html แหล่งอ้างอิงอื่น: http://www.bbc.com/news/magazine-31658799 http://www.rnh.com/show/95/The-Sound-of-Music จากหนังสือ
[ห้องสมุด Thaivision] |