THAIVISION
  • REFLECTION
  • ON PLANET EARTH
    • EARTH
  • AND BEYOND
  • THAILAND
    • KING BHUMIBOL
    • NATIONAL PARKS OF THAILAND >
      • KHAO YAI NATIONAL PARK
      • PHA TAEM NATIONAL PARK
      • PHU WIANG NATIONAL PARK
      • NAM NAO NATIONAL PARK
      • PHU HIN RONG KLA NATIONAL PARK
      • PHU KRADUENG NATIONAL PARK
      • PHU RUEA NATIONAL PARK
      • MAE YOM NATIONAL PARK
      • DOI SUTHEP-PUI NATIONAL PARK
      • DOI INTHANON NATIONAL PARK
      • THONG PHA PHUM NATIONAL PARK
      • KAENG KRACHAN NATIONAL PARK
      • MU KO ANG THONG NATIONAL PARK
      • MU KO SURIN NATIONAL PARK
      • MU KO SIMILAN NATIONAL PARK
      • HAT NOPPHARATA THARA - MU KO PHI PHI NATIONAL PARK
      • MU KO LANTA NATIONAL PARK
      • TARUTAO NATIONAL PARK
  • THE LIBRARY
    • MORNING WORLD BOOKS >
      • CASINO ROYALE
      • 1984
      • A BRIEF HISTORY OF TIME
      • A HISTORY OF THAILAND
      • CONSTITUTION OF THE UNITED STATES
    • DEMOCRACY IN AMERICA
    • FIRST DEMOCRACY
    • JOHN MUIR
    • MODELS OF DEMOCRACY
    • MULAN
    • THE VOYAGE OF THE BEAGLE
    • ON THE ORIGIN OF SPECIES
    • PHOOLAN DEVI
    • THE REPUBLIC
    • UTOPIA
    • A Short History of the World [H.G.Wells]
    • WOMEN OF ARGENTINA
    • THE EARTH : A Very Short Introduction
    • THE ENGLISH GOVERNESS AT THE SIAMESE COURT
    • TIMAEUAS AND CRITIAS : THE ATLANTIS DIALOGUE
    • HARRY POTTER
    • DEMOCRACY / HAROLD PINTER
    • MAGNA CARTA
    • DEMOCRACY : A Very Short Introduction
    • DEMOCRACY / Anthony Arblaster]
    • DEMOCRACY / H.G. Wells
    • ON DEMOCRACY / Robert A. Dahl)
    • STRONG DEMOCRACY
    • THE CRUCIBLE
    • THE ELEMENTS OF STYLE
    • THE ELEMENTS OF JOURNALISM | JOURNALISM: A Very Short Introduction
    • LOVE
    • THE EMPEROR'S NEW CLOTHES
    • THE SOUND OF MUSIC
    • STRONGER TOGETHER
    • ANIMAL FARM
    • POLITICS AND THE ENGLISH LANGUAGE
    • GEORGE ORWELL
    • HENRY DAVID THOREAU >
      • WALDEN
    • MAHATMA GANDHI
    • THE INTERNATIONAL ATLAS OF LUNAR EXPLORATION
    • พระมหาชนก
    • ติโต
    • นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ | A Man Called Intrepid
    • แม่เล่าให้ฟัง
    • SUFFICIENCY ECONOMY
    • พระเจ้าอยู่หัว กับ เศรษฐกิจพอเพียง
    • KING BHUMIBOL AND MICHAEL TODD
    • ... คือคึกฤทธิ์
    • KING BHUMIBOL ADULYADEJ: A Life's Work
    • THE KING OF THAILAND IN WORLD FOCUS
    • พระราชดำรัสเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ
  • IN MY OPINION
  • THAIVISION
  • SOMKIAT ONWIMON
    • MY STORY
    • THE DISSERTATION
    • THE WORKS >
      • BROADCAST NEWS & DOCUMENTARIES
      • SPIRIT OF AMERICA
      • THE ASEAN STORY
      • NATIONAL PARKS OF THAILAND
      • HEARTLIGHT: HOPE FOR AUTISTIC CHILDREN IN THAILAND
    • KIAT&TAN >
      • TAN ONWIMON >
        • THE INTERVIEW


the library

WHERE RESIDE THE WORLDS
Picture
บุหลันเทวี ราชินีจอมโจร
PHOOLAN DEVI : INDIA'S BANDIT QUEEN 
ชีวิตที่โชกโชนของลูกสาวชาวนายากจนที่ถูกกดขี่ข่มเหงและข่มขืน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยหมู่โจรป่าทางภาคเหนือของอินเดีย จากการที่ถูกลักพาตัวไปเป็นนางบำเรอให้หัวหน้าโจร เธอวางแผนแก้แค้น ฆ่าหัวหน้าโจรได้สำเร็จ แล้วในที่สุดเธอก็ตั้งตัวเองเป็นหัวหน้าโจรวรรณะต่ำเสียเอง ตามล่า ตามล้างแค้น ปล้นฆ่าละเลงเลือดหมู่บ้านโจรผู้รำ่รวย เอามาแบ่งปันให้คนจน หลบหนีการไล่ล่าจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐ จนในที่สุดเธอจำยอมเข้ามอบตัวในสมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรี นางอินทิรา คานธี. "บุหลันเทวี" ถูกจำคุกจนรัฐเกือบลืม พ้นโทษออกมาลงสมัครรับเลือกตั้งประสพชัยชนะเป็นขวัญใจคนยากไร้ที่ถูกเอาเปรียบในสังคม ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพียงไม่นานก็ถูกสังหารหน้าบ้านพักสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ณ กรุงนิวเดลฮี. "บุหลันเทวี" คือราชินีจอมโจร ผู้เป็นตำนานอันเป็นเรื่องราวชีวิตจริง สืบทอดเป็นบทกวี คีตะนาฏกรรม วรรณกรรม ภาพยนตร์ และเรื่องเล่าในหมู่ชาวบ้านและปัญญาชนอินเดีย จนทุกวันนี้. ผมเขียนเรื่องนี้จากการอ่านและค้นคว้าหนังสือที่เกี่ยวข้อง ลงพิมพ์ครั้งแรกในนิตสาร คู่สร้างคู่สม ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙. มีความยาว ๒๐ บท จบบริบูรณ์ 
Picture

อ่านหนังสือ...สื่อชีวิต

 ในวัยเด็ก หนังสือที่อ่านก็มักจะเท่าที่ครูบอกให้อ่าน กับที่เห็นมีในบ้าน โชคดีที่บ้านมี ขุนช้างขุนแผน มี ผู้ชนะสิบทิศ ของ ยาขอบ และมี ขุนศึก ของ ไม้เมืองเดิม 

ในวัยรุ่น ออกจากบ้านไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯก็หาหนังสืออ่านตามใจชอบ ยืมของพี่ชายอ่านบ้าง เอาเงินพี่สาวซื้ออ่านบ้าง หนังสือเรื่องสั้นต่างๆของอาจินต์ ปัญจพรรค์  รงค์ วงศ์สวรรค์ (หนุ่ม) และ มนัส จรรยงค์ ที่ได้รู้จักก็ช่วงวัยรุ่นนี้, “The Old Man and the Sea” ของ Earnest Hemingway ก็ได้ลองอ่านตอนเรียนอยู่วิทยาลัยครูจันทรเกษม 

ครั้นได้ไปเรียนชั้นมัธยมที่ Kansas City แม้เพียงปีเดียว โลกของการอ่านก็พลิกผันไปตามระบบชีวิตนักเรียนแบบอเมริกัน งานวรรณกรรมอมตะ ที่เรียกว่า “Classics” ทั้งโดยนักเขียนอเมริกัน และอังกฤษก็เริ่มผ่านเข้ามาในในชีวิต “Moby Dick” โดย Herman Melville, “The Adventures of Tom Sawyer” กับ “The Adventures of Huckleberry Finn” โดย Mark Twain แม้กระทั่งบทละครของ William Shakespeare เป็นวรรณกรรม Classics รุ่นแรกๆ ที่เริ่มพยายามอ่านตอนเป็นนักเรียนทุน AFS ที่ Park Hills High School  

มาถึงช่วงเวลาที่เรียนระดับปริญญาตรีและโทที่ University of Delhi หนังสืออ่านเล่นประเภทนวนิยายร่วมสมัย ลึกลับสืบสวนสอบสวน เช่น “The Adventures of Sherlock Holmes” โดย Sir Arthur Conan Doyle และ เรื่องประโลมโลกเช่น “The Carpetbaggers” ของ Harold Robbins  และ “Valley of the Dolls” โดย Jacqueline Susann สลับกับ “Mahabharata” และ “The Kama Sutra” ถือเป็นส่วนหนึ่งของการอ่านวัยหนุ่มยุคแสวงหาตัวเอง 

ต่อมาในระหว่างเรียนปริญญาเอก ที่ University of Pennsylvania หนังสือกึ่งตำรา เช่น “Small is Beautiful” ของ E.F. Schumacher ประทับจิตสำนึก ไม่แพ้ “Perry Mason” นักสืบคดีฆาตกรรม ของ Earle Stanley Gardner และเมื่อ 35 ปีที่แล้วนั้น. 

ในสหรัฐอเมริกา ไม่มีใครที่ไม่แอบอ่าน “Everything You Always Wanted to Know about Sex* But Were Afraid to Ask” โดย David Reuben, M.D. 

ในวัยทำงานสร้างครอบครัว ทั้งด้านวิชาการ และงานสื่อสารมวลชน วรรณกรรมร่วมสมัย ตามกระแสข่าวสารกลายเป็นความจำเป็น อ่านเพราะหนังสือดัง คนเขียนเด่น หนังสือที่ได้รับรางวัล Nobel ทั้งหลาย ถึงอ่านยาก ก็จำต้องพยายามอ่าน. 

“The Gulag Archipelago” ของ Alexander Solzhenitsyn อ่านยาก ไม่สนุกเท่า “Doctor Zhivago” ของ Boris Pasternak  

มาปัจจุบัน อายุล่วงเลยมาเกือบถึง 67 ปีแล้ว การอ่านหนังสือเร่งรีบ ร้อนรน เพราะรู้ว่าเวลาของชีวิตเหลือจำกัด ต้องอ่านหนังสือของนักเขียนที่โปรดปรานมากที่สุด คือ Jules Verne และ H.G. Wells ให้หมด สองคนรวมกันก็กว่าร้อยเรื่อง ไหนจะต้องตามอ่านวรรณกรรม Classics ของอังกฤษ และ อเมริกา อีกมากมาย หนังสือในการพิมพ์ชุด Oxford World’s Classics เริ่มจาก Henry Adams ไปจนถึง Emile Zola  ต่อด้วยหนังสือวรรณกรรมอมตะจากสำนักพิมพ์สำคัญ โดยเฉพาะในชุด Bantam Classics, The Everyman Library, The Modern Library Classics, Penguin Popular Classics, Signet Classics, และ Wordsworth Classics, นอกจากนั้นก็ยังต้องตามอ่านหนังสือชนะรางวัล Nobel และ The Man Booker Prize ที่ประกาศทุกปี

คำนวณเวลาของชีวิตแล้ว อยากมีชีวิตอมตะเหมือนงานวรรณกรรมจริงๆ  

สมเกียรติ อ่อนวิมล
1 มกราคม 2558

Picture
1984
Picture
1991
Picture
1993
Picture
1996
Picture
2003
Picture
2010

บุหลันเทวี ราชินีจอมโจร
โดย
สมเกียรติ อ่อนวิมล

บทที่ ๑

          ผมคุ้นเคยกับประเทศอินเดียพอประมาณ เพราะเคยเรียนหนังสือตั้งแต่ปริญญาตรี จนถึงปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยแห่งเดลฮี อยู่ ๕ ปี สมัยที่เป็นหนุ่ม ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เหตุที่ไม่กล้าบอกว่าคุ้นเคยกับอินเดียดีมากนั้นก็เพราะอินเดียเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาล เฉพาะพื้นที่ก็สามารถเอาประเทศไทยเข้าไปใส่ได้หกประเทศ นับจำนวนผู้คนก็มากกว่าไทยเกือบ ๒๐ เท่า พูดภาษาที่แตกต่างกันกว่า ๑,๐๐๐ ภาษา ส่วนศาสนานั้นยิ่งหนักเข้าไปอีกเพราะลำพังเทพเจ้าในศาสนาฮินดูศาสนาเดียวมีมากถึงกว่า ๑๐ ล้านองค์ ผมไปอยู่อินเดียเพียง ๕ ปี เวลาส่วนใหญ่ใช้ไปกับการเรียน และการเป็นนักศึกษาที่อินเดียก็มิได้มีเงินทองมากมายอะไรนักที่จะไปท่องเที่ยวทำความรู้จักอินเดียให้ถึงขั้น ดีมาก ได้ เคยเป็นนายกสมาคมนักเรียนไทยในกรุงเดลฮีอยู่ปีหนึ่ง และเป็นประธานหอพักนักศึกษานานาชาติที่มหาวิทยาลัยอยู่สมัยหนึ่ง ก็พอได้ประสบการณ์ ได้ทำกิจกรรม ได้คบหาเพื่อนฝูงทั้งไทย อินเดีย และเพื่อนจากอีกหลายประเทศอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีวันกล้าที่จะคุยว่ารู้จักอินเดียดี ดังนั้นจึงต้องพึงพอใจกับคำสารภาพเพียงว่ารู้จักอินเดียเพียงพอประมาณ เท่านั้น 

        หลังเรียนจบปริญญาโทวิชารัฐศาสตร์ในปี ๒๕๑๖ ผมกลับมาทำงานสอนหนังสือที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาอีก ๕ ปี แล้วกลับมาสอนวิชารัฐศาสตร์ต่อที่เดิม จากนั้นก็ลาออกไปประกอบอาชีพเป็นสื่อมวลชน วิทยุกระจายเสียงบ้าง โทรทัศน์บ้าง แล้วหันไปเริ่มทำงานการเมืองสมัครแล้วได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจากจังหวัดสุพรรณบุรีบ้านเกิด จนมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปี ๒๕๔๓ ซึ่งเป็นการได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากจังหวัดสุพรรณบุรีอีก แถมท้ายชีวิตการเมืองด้วยการได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทันทีที่พ้นตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ในช่วงเวลาเหล่านี้ในชีวิต ผมก็พอจะมีโอกาสกลับไปอินเดียเป็นระยะๆ แต่ก็ไม่เคยได้ยินชื่อเสียงของผู้หญิงอินเดียที่ชื่อ “พูลันเดวี” เลย จนกระทั่งเมื่อราวๆยี่สิบปีที่ผ่านมานั้น ทุกครั้งที่ผมได้ไปอินเดียและได้มีโอกาสไปกินอาหารที่บ้านท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงนิวเดลฮีทีไร ก็มักจะมีข้าราชการที่สถานทูตชวนคุยเรื่อง “พูลันเดวี” อยู่เสมอ มีข้าราชการผู้อาวุโสท่านหนึ่งสนใจ “พูลันเดวี” มากถึงกับเล่าเรื่องราวชีวิตของ “พูลันเดวี” ได้อย่างละเอียดทั้งข้อมูล อารมณ์ และความรู้สึก อย่างสมบูรณ์ เล่าแล้วเล่าอีก ปีนี้เล่า ปีหน้าเจอกันอีกท่านก็เล่าเรื่องเดิมอีก ราวกับว่ายังไม่เคยเล่าให้ฟังเลย ผมคิดเอาเองว่าท่านคงเล่าให้คนที่มากินข้าวที่สถานทูตฟังกันถ้วนหน้าทุกคน จนท่านจำไม่ได้ว่าใครเคยฟังไปแล้วบ้าง 

           สมัยผมเรียนหนังสือที่เดลฮีก็ไม่เคยได้รู้จักชื่อเสียงของเธอ เพราะปีที่ผมไปถึงอินเดียนั้น ผมอายุได้ ๒๐ ปี “พูลันเดวี” เพิ่งเกิดเป็นเด็กน้อยในชนบทห่างไกลอายุได้เพียง ๕ ขวบ ยังไม่ไม่มีใครในอินเดียรู้จักเธอแน่นอน เพราะเธอเกิดมาเป็นลูกชาวชนบทยากจนเหมือนคนอินเดีย ๕๐๐ – ๖๐๐ ล้านคนในสมัยนั้น ความจน ไม่ว่าจะที่อินเดียหรือที่ไทยก็ไม่ใช่เรื่องน่าสนใจของใครทั้งนั้น และคนจนก็เช่นกัน จะมีใครที่ไหนในสังคมจะไปใส่ใจ ความจนและคนจนคือภาวะปรกติในสังคมอินเดีย “พูลันเดวี” ก็เป็นชีวิตคนจนธรรมดาเท่านั้นเอง เธอเกิดมาในยุคที่อินเดียยากจนกันทั้งประเทศ อินเดียปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย พัฒนาประเทศด้วยอุดมการณ์สังคมนิยมผสมประชาธิปไตย ไม่ว่าท่านนายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธี จะยอดเยี่ยมเพียงไร ชาวอินเดียส่วนใหญ่ก็ยังคงยากจนต่อไป แล้วเหตุไฉน “พูลันเดวี” จึงจะกลายมามีชื่อเสียงโด่งดังได้ในเวลาหลังจากที่ผมกลับจากอินเดียมาได้เพียง ๑๐ ปี “พูลันเดวี” โด่งดังไม่แพ้ระเบิดนิวเคลียร์ที่อินเดียทดลองในทะเลทรายราชาสถาน สร้างความปั่นป่วนไม่แพ้ข่าวสงครามชิงแคว้นแคชเมียร์  “พูลันเดวี” โด่งดังอย่างที่สุดในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เมื่อเธอเป็นหัวหน้ากลุ่มโจรบุกฆ่าล้างแค้นฝ่ายที่เคยทำร้ายเธอมาก่อน ตายไปรวดเดียว ๒๒ ศพ จากนั้นชื่อเสียงของ “พูลันเดวี” ก็ดังกระฉ่อนทุกซอกมุมของชมพูทวีป หลังจากบุกกวาดฆ่าล้างแค้นไป ๒๒ ศพแล้ว เธอก็พากลุ่มโจรของเธอเร่ร่อนหลบซ่อนตามซอกป่าเขา ปล้น ฆ่า สลับกันไป ทำอย่างไรทางการอินเดียก็ตามจับเธอไม่ได้ ไม่ว่าจะจับเป็น หรือจะจับตาย  “พูลันเดวี” หลบเงื้อมมือของกฎหมายไปได้เสมอ ยิ่งล่า ก็ยิ่งหลบ ยิ่งตามจับ ก็ยิ่งหาตัวไม่เจอ ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ “พูลันเดวี” นั้นมิใช่โจรธรรมดา เพียงแค่ผู้หญิงเป็นโจรก็ไม่ธรรมดาแล้ว แต่นี่เธอเป็นถึงหัวหน้าโจร ชาวบ้านเล่ากันทั่วไปว่าในฐานะที่เธอเป็นโจรลูกคนจนมาก่อน การปล้นของเธอก็จะทำเฉพาะกับคนรวยและคนเลวเท่านั้น แล้วเมื่อได้เงินทองทรัพย์สินมาเท่าไรเธอก็จะแบ่งปันแจกจ่ายให้กับชาวบ้านผู้ยากจนในพื้นที่ปฏิบัติการของเธออย่างเต็มที่ ชื่อเสียงของเธอจึงเป็นเช่นเทพธิดาผู้ใจบุญ เสมือน “โรบิน ฮูด” (Robin Hood) ในเรื่องเล่าของอังกฤษ สมัยโบราณ หากแต่ที่อินเดีย “พูลันเดวี” เป็น “โรบิน ฮูด” ของคนจนแห่งอินเดียในยุคใหม่ และเรื่องราวของเธอไม่ใช่แค่นิทานหรือเรื่องเล่า แต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในยุคที่โลกเจริญมากขึ้นแล้วในเชิงวัตถุและเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร เรื่องราวชีวิตของ “พูลันเดวี” จึงเป็นเรื่องจริงที่แฝงเร้นไปด้วยความลึกลับแห่งอดีตชีวิตเธอ ที่คนอินเดียบันทึกและเล่าสู่กันมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันก็ยังไม่หยุดพูดถึง หนังสือ บทกวี นวนิยาย เรื่องสั้น เรื่องยาว ภาพยนตร์ ดนตรี เพลง รวมทั้งอินเตอร์เน็ตเว็บไซต์เกี่ยวกับ “พูลันเดวี” มีมากมายสุดคณานับ ถึงวันนี้เรื่องราวชีวิตของ “พูลันเดวี” ก็ยังไม่สร่างซา ไปอินเดียทีไรใครชวนคุยเรื่อง “พูลันเดวี” เป็นต้องสะเทือนอารมณ์จนแทบกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ สมควรแล้วที่คนอินเดียรักเธอ หลงใหลในความดีงามของเธอ สมน้ำหน้าคนชั่วที่เคยทำให้เธอทุกข์ทรมานในช่วงชีวิตตอนต้น ทึ่งในความกล้าหาญ ทรหดอดทน เฉียบขาด และโหดเหี้ยมของเธอ นิยมยกย่องในความเด็ดเดี่ยวของเธอ เศร้าสลดกับชีวิตของเธอที่ไม่เคยได้รับความเมตตาจากเทพเจ้าเลย แม้เทพเจ้าจะไม่ทรงเมตตาเธอแต่ชาวอินเดียทั้งประเทศก็รักเธอ จนถึงกับเทิดทูนบูชาเธอ “พูลันเดวี” ให้เป็น............ 


........ ”ราชินีแห่งจอมโจร”

         ชื่อ “พูลันเดวี” เป็นภาษาฮินดี แปลว่า “เทพธิดาแห่งดอกไม้” จะเรียกให้เป็นสำเนียงไทยก็ได้ว่า “บุหลันเทวี” โดยไม่เปลี่ยนแปลงความหมายไปอย่างใดเลย “บุหลันเทวี” เป็นราชินีแห่งจอมโจรอย่างแท้จริง เพราะเธอเป็นหญิงที่เป็นผู้นำขบวนการกองโจรที่ล้วนเป็นชายทั้งสิ้น แม้ในหมู่โจรกลุ่มอื่น ก็ไม่มีกลุ่มใดที่นำโดยหัวหน้าที่เป็นหญิง และไม่มีโจรกลุ่มใดเพศใดที่โด่งดังเป็นขวัญใจประชาชนเทียบเท่าเธอ เพราะเธอไม่ได้ตั้งใจจะเกิดมาเป็นโจร ไม่เคยคิดจะเป็นโจรมาก่อน พอๆกับที่เธอไม่ได้ตั้งใจจะเกิดมาจน และไม่เคยคิดจะอยากเป็นคนจนมาก่อน ถ้าเธอไม่มีเรื่องเจ็บช้ำแต่วัยเด็ก เธอก็อาจใช้ชีวิตไปตามปรกติของลูกชาวบ้านทั่วไป โอกาสที่เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของเธอจะได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ก็คงจะไม่มี แต่ชะตากรรมครั้งเยาว์วัยได้พลิกผันชีวิต “บุหลันเทวี”  ให้กลายมาเป็น “ราชินีจอมโจร” เป็นขวัญใจประชาชน เป็นตัวอย่างของการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีแห่งอินเดีย และเป็นแบบอย่างสำหรับการต่อสู้ของสตรีชาวเอเชียทั้งทวีป เป็นกรณีศึกษาของขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีทั่วโลก 

      หลัง “บุหลันเทวี” พ้นจากการเป็นโจร ผ่านกระบวนการของกฎหมายจนเธอกลายเป็นผู้ร่วมเขียนกฎหมายเองด้วย หน้าที่สุดท้ายที่ประชาชนชาวอินเดียมอบให้เธออย่างน่าทึ่งในเกียรติที่ไม่มีจอมโจรคนไหนในโลกจะเคยได้รับ คือ “บุหลันเทวี - ราชินีจอมโจร” ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนถึงขนาดได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอินเดีย หลังเธอพ้นโทษ

          ใครบ้างจะคิดว่าเด็กผู้หญิงลูกคนยากจนจะมีชีวิตที่น่าทึ่งสุดยอดเช่น “บุหลันเทวี” ราชินีจอมโจร สตรีที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ของสตรีอินเดีย


                                                                  [จบบทที่ ๑]
                                                       

บทที่ ๒

          บันทึกส่วนตัวของบุหลันเทวี เกิดจากการเล่าเรื่องให้ผู้อื่นที่รู้หนังสือเขียนลงในสมุดบันทึกแทนตัวเธอเอง แล้วส่งต่อให้กับ มาลา เซน นักเขียนชาวอินเดียที่พำนักอยู่ในอังกฤษแต่สนใจตามค้นหาเรื่องราวชีวิตของบุหลันเทวีอย่างละเอียดลึกซึ้ง จนต้องเดินทางมาสืบสวนเรื่องทั้งหมดในอินเดีย ต่อไปนี้ คือเรื่องราวบางส่วนจากบันทึกส่วนตัวของบุหลันเทวี :
..........................

“ฉันชื่อ บุหลัน[๑] พ่อแม่ของฉันยากจนมาก เรามีพี่น้องผู้หญิง ๕ คน และผู้ชาย ๑ คน พ่อและแม่ของฉันลำบากมากที่ต้องเลี้ยงดูลูกๆทั้ง ๖ คน พ่อต้องทำงานทั้งวัน ตกเย็นจึงกลับเข้าบ้าน เอาอาหารติดตัวมาด้วย จากนั้นแม่จึงสามารถทำอาหารเลี้ยงลูกๆทั้งหมดได้ จากรายได้ที่น้อยนิดนี้เองที่พ่อและแม่ต้องเจียดเอาไว้ส่วนหนึ่งเป็นค่าฟ้องร้องคดีในศาล ฉันแอบได้ยินพ่อและแม่บ่นกันบ่อยๆว่าทนายความเรียกค่าทำคดีแพงมาก แล้วเราจะเอาเงินมาจากไหนไปให้ทนายกัน? ฉันจำได้ว่าเคยถามแม่ว่า ‘ใครเป็นทนาย? ทำไมเขาจึงมาขอเงินเรา?’ และจากที่แม่เล่าให้ฟังนี่เอง ฉันจึงได้รู้เรื่องราวทั้งหมด”

 “พ่อของฉันเป็นเป็นลูกชายหนึ่งในสองคนพี่น้อง พ่อชื่อ “เดวิดิน” พี่ชายของพ่อ ชื่อลุง “บิฮาริลาล” ลุงมีลูกชายชื่อ “ไมยาดิน” พ่อของฉันไม่รู้หนังสือ แต่ลุงมีการศึกษา ลุงไปแอบติดสินบนผู้ใหญ่บ้าน ผู้มีหน้าที่เก็บเอกสารข้อมูลของลูกบ้าน ให้โยกย้ายกรรมสิทธิ์ที่ดินและทรัพย์สินต่างๆที่เป็นส่วนแบ่งมรดกของพ่อไปเป็นชื่อของลุงทั้งหมด พ่อก็ไม่รู้เรื่องเลย ตั้งหน้าตั้งตาทำไร่ไถนาในที่ดินนั้นโดยนึกว่าเป็นที่ดินของพ่อเอง จนอายุได้ ๑๙-๒๐ พ่อก็บอกลุงว่าจะขอส่วนแบ่งทรัพย์สินอันเป็นมรดกที่ควรได้ ถึงตอนนั้นลุงกับลูกของลุง คือไมยาดิน ก็ไม่ยอม แล้วรวมหัวกันไล่พ่อออกจากบ้านไป พ่อต้องไปปลูกกระท่อมอยู่รอบนอกหมู่บ้าน ทั้งสองคนเข้าครอบครองทรัพย์สินของพ่อไปทั้งหมด ทั้งที่ดิน ๘๐ บิกัส รวมทั้งบ้านสองชั้นที่ปู่สร้างไว้ให้

“ตอนแรกพ่อก็ร้องเรียนต่อกรรมการสภาหมู่บ้านเพื่อขอส่วนแบ่งทรัพย์สินคืน จึงมีการจัดประชุมกรรมการสภาหมู่บ้านเพื่อพิจารณาปัญหา ลุงบิฮาริลาลปฏิเสธต่อหน้าคนทั้งหมู่บ้านว่าพ่อไม่ใช่น้องชายที่แท้จริงของลุง ลุงบอกว่าพ่อเป็นเพียงคนใช้ที่ลุงเลี้ยงไว้เพราะสงสาร ชาวบ้านที่รู้เรื่องครอบครัวเราดีก็ไม่ยอมเชื่อ และแนะให้พ่อนำเรื่องขึ้นฟ้องร้องต่อศาล ซึ่งพ่อก็ไปฟ้องศาลตามที่แนะนำ ลุง บิฮาริลาล ก็ชนะคดีอยู่เรื่อยๆเพราะอำนาจเงิน  บางช่วงพ่อก็ดูจะได้เปรียบ ลุงกับไมยาดินก็ไม่วาย คอยก่อกวนพ่ออยู่ตลอดเวลา พวกเขาต้องการขับไล่พ่อแม่ของฉันออกจากหมู่บ้านเพื่อจะได้ฮุบที่ดินทั้งหมด พ่อแม่จะได้ไม่มีทางอ้างสิทธิ์ในที่ดินอีกต่อไป ลุงเอาพืชผลทั้งหมดจากไร่เก็บไว้ที่บ้านลุง แม้แต่ที่พ่อไปปลูกไว้ในที่ดินที่ร่วมทำกับคนอื่นในโครงการแบ่งผลผลิตลุงก็ยังไปให้คนใช้แอบไปเก็บเกี่ยวและขนมาไว้ที่บ้านลุงตอนกลางคืนเวลาที่ไม่มีใครเห็น ทำให้ผลผลิตที่ได้แยกไม่ออก ปนเปกันจนกลายเป็นของลุงทั้งหมด ลุงเอาเปรียบพ่อทุกทางที่มีโอกาส เมื่อแม่กับพ่อท้วงติง หรือร้องเรียนต่อกรรมการสภาหมู่บ้าน ลุงก็จะส่งอันธพาลมาทำร้ายพ่อและแม่ถึงบ้าน เรื่องที่เล่านี้ทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนที่เราลูกๆทุกคนจะเกิด”

“นับแต่แม่เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง ฉันก็เริ่มคิดถึงความร้ายกาจที่ลุงกับลูกลุงก่อกรรมทำเข็ญไว้จนฉันรู้สึกเกลียดชังและโกรธแค้นอย่างที่สุด ลุงเขามีคนรับใช้ตั้งสี่คน นมเนย อาหารสารพัดจะอุดมสมบูรณ์ ส่วนพ่อแม่ของฉันปะทังชีวิตด้วยโรตีแห้งๆกับน้ำเปล่า ฉันขอร้องให้แม่บอกว่าที่ดินที่ลุงโกงไปนั้นอยู่ตรงไหน แม่ก็ชี้ให้ดู ที่บางส่วนอยู่ฝั่งแม่น้ำด้านตรงข้าม อีกส่วนหนึ่งอยู่ในเขตหมู่บ้าน มังกรอลฮาร์ วันหนึ่งในเดือน จัยอิท (เทศกาลเฉลิมฉลองพืชผลออกใหม่ต้นฤดูเพาะปลูก) ฉันบอกกับ รุขมินี พี่สาวของฉัน ว่า ‘เราไปกินถั่วในไร่ของเรากันดีกว่า เพราะที่จริงไร่นั้นก็เป็นส่วนแบ่งของพ่ออยู่แล้ว “
        

        รุขมินี ผู้เป็นพี่ไม่ค่อยกล้าที่จะไปต่อกรกับลูกขอลุง ก็ถามบุหลัน ว่าไมยาดินจะว่าอย่างไร บุหลันตอบว่า “ช่างมันปะไร” แล้วบุหลันก็เดินล่วงหน้านำทางไปยังแม่น้ำยมุนาเพื่อช่วยพ่อทำงานในไร่อันเป็นที่ดินผืนเล็กๆที่ยังเหลือให้พ่อปลูกข้าวฟ่างกับทานตะวันได้ พอพ่อพักกลางวันบุหลันก็เซ้าซี้พี่สาวอีกให้แอบไปเก็บถั่วในไร่ที่ลุงยึดไปจากพ่อเป็นการล้างแค้น ในที่สุดเด็กหญิงสองคนพี่น้องก็ไปถึงไร่ถั่ว ฮอร่า (ถั่วลันเตา) ที่ปลูกผสมกับมัสตาด เพื่อไปเก็บถั่วกินให้สมแค้น อันเป็นความแค้นที่เริ่มสะสมอยู่ในตัวเด็กหญิงบุหลันตั้งแต่อายุเพียง ๑๐ ขวบ ส่วนรุขมินีพี่สาวนั้นอายุ ๑๓ เป็นคนนุ่มนวลโอนอ่อนผ่อนปรน ยังไม่กล้าหาญชาญชัยเท่าบุหลันน้องสาวที่แสดงเลือดนักสู้ให้เห็นแต่เยาว์วัย 

          บุหลันพาพี่สาวไปนั่งเล่นถึงใจกลางไร่ เก็บถั่วกินเล่น แล้วบอกกับพี่สาวว่า “สักวันหนึ่งที่ดินไร่นี้จะกลับมาเป็นของเราจริงๆ” 


          ระหว่างที่สองพี่น้องเพลินกับการเก็บถั่วและคุยเล่นกันอยู่นั้น คนรับใช้ของไมยาดินก็วิ่งแหวกดงถั่วและ มัสตาด มาด้วยความโกรธ บุหลันบอกกับพี่สาวว่าไม่ต้องห่วง เดี๋ยวเธอจะจัดการเอง เมื่อคนของไมยาดินมาถึงก็ไล่สองพี่น้องให้ออกจากไร่ไป ทั้งสองไม่ยอม คนของไมยาดินจึงกลับไปตามเจ้านายมา ไมยาดินมาถึงก็ไล่บุหลันกับรุขมินีให้กลับบ้านไป บุหลันตอบว่าที่นี่ก็เป็นเสมือนบ้านอยู่แล้วเพราะควรจะเป็นที่ดินของพ่อ ทั้งสองฝ่ายโต้เถียงเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินกันอย่างรุนแรงจนถึงขั้นทุบตีกัน บุหลันหมดสติไปโดยก่อนหน้านั้น จำได้อย่างเลือนลาง เหมือนกับว่าถูกไมยาดินตีหัวด้วยท่อนไม้ 

          ในบันทึกส่วนตัวของบุหลันเทวี เธอเล่าว่า :

“ไมยาดินทิ้งเราสองคนไว้ที่นั่น แล้วไปลากเอาพ่อกับแม่ออกจากบ้านไปเข้าที่ประชุมสภาหมู่บ้าน ร้องเรียนว่า ‘ลูกสาวสองคนของชายคนนี้ไปขโมยถั่วในไร่ของผม’ กรรมการสภาหมู่บ้านสั่งให้ลงโทษพ่อและแม่โดยการเฆี่ยนตี เป็นการรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของเราสองคน แม่ขอร้องสภาหมู่บ้านให้เห็นใจเพราะพวกเรายังเด็กอยู่ แต่ไม่เป็นผล พวกกรรมการหมู่บ้านลงโทษพ่อโดยไม่ฟังอะไรอีก ภายหลังแม่เล่าว่าตอนที่ถูกเฆี่ยนรู้สึกเหมือนว่าพวกกรรมการสภาหมู่บ้านคงต้องการตีให้กระดูกแม่แตกเป็นเสี่ยงๆไปทุกชิ้น ในสภาพที่ถูกเฆี่ยนมาอย่างสาหัสแล้วนี่เองที่พ่อกับแม่อุตส่าห์เดินมาที่ไร่ มาดูอาการและช่วยพาพวกเรากลับบ้าน แม่ร้องไห้น้ำตานองหน้า เดินไปร้องไห้ไปแล้วครวญว่า เราไม่มีอนาคตที่จะอยู่ในหมู่บ้านนี้อีกต่อไปแล้ว แม่ขอร้องให้พ่อช่วยหาเจ้าบ่าวมาแต่งงานเป็นสามีให้เราทั้งสองเสียที ภายในไม่กี่สัปดาห์ ในปี ค.ศ. ๑๙๖๗ พ่อเดินทางไปดูตัวเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่หมู่บ้าน ทีโอกา เพื่อจะให้มาเป็นคู่ครองของรุขมินีก่อน เพราะรุขมินีแก่กว่าฉัน พ่อกลับมาบอกว่าทั้งเด็กผู้ชายและครอบครัวของเขาเหมาะสมพอที่จะมาเกี่ยวดองกัน"

“แม่ของฉันขอให้พ่อพยายามไปกู้เงินมาจัดการแต่งงานให้พี่รุขมินี พ่อก็ไปตระเวนขอยืมเงินจากเกือบทุกคนในหมู่บ้านแต่ไม่มีใครจะให้ยืมเลย เพราะทุกคนเกรงกลัวสภาหมู่บ้านและหวาดกลัวอำนาจของไมยาดิน ในที่สุดพ่อต้องไปยืมเงินที่อีกหมู่บ้านหนึ่งชื่อหมู่บ้าน นาร์ฮาน โดยต้องเอาที่ดินเท่าที่เหลือเป็นประกัน จากนั้นรุขมินีจึงได้หมั้นรอการแต่งงานต่อไป มีการเตรียมการทุกอย่างเรียบร้อยแปดวันก่อนวันแต่งงาน พอดีพวกสภาหมู่บ้านสืบรู้เข้าจึงมาถามว่าจะจัดงานแต่งงานกันที่ไหน มีคนบอกไปว่าแต่งที่หมู่บ้าน ทีโอกา ในอำเภอ กันปูร์ แม่ไม่ระแคะระคายเลยว่าจะเกิดเหตุอะไรขึ้น ญาติพี่น้องเราก็มารวมตัวเริ่มฉลองกันที่บ้านก่อน จากนั้นก็พากันเดินออกไปรอรับขบวนเจ้าบ่าวที่ริมขอบหมู่บ้าน ปรากฏว่าไม่มีขบวนเจ้าบ่าว ไม่มีแม้เงาของเจ้าบ่าว ญาติพี่น้องเดินกลับบ้าน ต่างงุนงงกันไปหมดว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมเจ้าบ่าวไม่มา ทันทีนั้นกรรมการสภาหมู่บ้านและไมยาดินก็พาตำรวจมาจับพ่อโดยไมยาดินกล่าวหาว่าพ่อจับลูกสาวแต่งงานเพื่อเงินทั้งๆที่อายุยังไม่ครบกำหนดแต่งงานได้ พ่อปฏิเสธ เขาก็ไม่ฟังกัน กลับข่มขู่ญาติๆของเราต่างๆนาๆให้บอกความจริง “

          กฎหมายของอินเดียในขณะนั้นห้ามเด็กแต่งงานและห้ามการแต่งงานโดยมีการจ่ายค่าสินสอด ซึ่งเคยเป็นประเพณีเก่าแก่แต่โบราณที่ชาวอินเดียทั่วไปยังถือปฏิบัติสืบต่อกันมา แม้จะมีกฎหมายสมัยใหม่ห้ามไว้ แต่ชาวบ้านก็ยังคงทำตามประเพณีเก่าต่อไปโดยไม่สนใจกฎหมาย บทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามเด็กแต่งงานและห้ามการจ่ายค่าสินสอดทองหมั้นจึงไม่มีความหมายอันใดในสังคมเล็กๆของหมู่บ้านห่างไกลความเจริญ โดยปรกติก็เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะปล่อยไปโดยไม่ทำอะไร เว้นแต่ฝ่ายตำรวจหรือฝ่ายชาวบ้านต้องการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือล้างแค้นคนหรือครอบครัวที่ไม่ชอบหน้ากันได้  

  
         บุหลันเทวีบันทึกต่อไปว่า :

“ในที่สุดกรรมการสภาหมู่บ้านก็ดึงพ่อไปกระซิบบอกว่าจะช่วยพูดกับตำรวจให้ไม่เอาเรื่องในคราวนี้ แต่ต้องจ่ายสินบนให้ตำรวจบ้าง พ่อยืมเงินมา ๒,๐๐๐ รูปีเพื่อเป็นค่าจัดงานแต่งงาน พวกตำรวจก็เอาไปหมด ไมยาดิน ปลดวัวของเราให้ตำรวจไปอีกตัว แล้วตำรวจก็ไปจากหมู่บ้านโดยไม่เอาเรื่องอะไรกับพ่ออีก”

“จากการได้เห็นทุกข์ยากและความห่วงกังวลของพ่อ ญาติคนหนึ่งบอกพ่อว่ารู้จักเด็กผู้ชายอีกคนหนึ่งที่น่าจะให้แต่งงานกับรุขมินี ได้อย่างรวดเร็วและอย่างเงียบๆเพื่อปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีของเธอ พ่อก็ไปดูครอบครับครัวของเด็กชายคนนั้น ซึ่งเป็นครอบครัวที่ยากจนมากๆ เขาตอบตกลงทันที พี่สาวของฉันจึงถูกจับแต่งงานอย่างรวดเร็ว ฉันรู้ดีว่าคราวหน้าก็จะถึงทีที่ฉันจะโดนบ้าง”

          น่าแปลกที่ มาลา เซน ผู้ศึกษาเรื่องราวชีวิตของบุหลันเทวี สังเกตต่อมาว่ารุขมินี ใช้ชีวิตคู่ เรียนรู้จนรัก “รัมปาล” สามีของเธอได้ แม้ว่าเรื่องราวอื้อฉาวก่อนแต่งงานจะดูเป็นอุปสรรคเพียงไรก็ตาม รุขมินี มีลูกกับ รัมปาล รวมสามคนก่อนที่ รัมปาล จะเสียชีวิตที่เมือง กวาลิเออร์ ในบั้นปลาย

          และคราวที่บุหลันเทวีจะโดนเองบ้างก็มาถึง แม่ของบุหลันเทวีชื่อ “มูลา” มีพี่ชายซึ่งนับญาติว่าเป็นลุงข้างแม่ของบุหลันเทวี ลุงคนนี้ไปพยายามยุเดวิดินผู้เป็นพ่อของบุหลันเทวีว่าควรจะให้บุหลันเทวีแต่งงานตามพี่สาวไปโดยเร็ว โดยแนะว่าควรจะแต่งงานกับ “ปุตติลาล” ซึ่งอยุ่ในครอบครัวที่ฐานะดีกว่าและเป็นคนหมู่บ้านเดียวกันกับเดวิดิน จากนั้นก็มีการเจรจาพูดคุยกันระหว่างสองฝ่าย แม่ของบุหลันเทวีไม่ค่อยจะเห็นด้วยเพราะฝ่ายชายอายุแก่กว่าบุหลันเทวีถึงเกือบ ๒๐ ปี แม่ก็อึดอัดใจที่พี่ชายมาเจ้ากี้เจ้าการยุพ่อ แต่พ่อก็ยืนยันว่าฝ่ายชายมีฐานะดี และบุหลันเทวีเองก็เป็นเด็กดื้อจึงสมควรได้สามีที่อายุมากจะได้จัดการอบรมให้อยู่มือได้ 

          การเจรจารายละเอียดเพื่อพิจารณาข้อเสนอจากฝ่ายหญิงให้บุหลันเทวีได้แต่งงานกับปุตติลาลจึงเดินหน้าต่อไปโดยแม่ก็ไม่กล้าขัดขวางอะไรเพราะประเพณีฮินดูในอินเดียถือว่าการมีลูกชายนั้นเป็นการสมกับที่เกิดมาเป็นชาย ส่วนการมีลูกสาวกลับถือเป็นภาระที่ต้องเร่งจัดการให้สิ้นภาระโดยเร็ว เดวิดิน กับ มูลา มีลูกด้วยกันทั้งหมด ๖ คน โดยมีลูกสาว ๕ คน และลูกชายคนเดียวชื่อ “ชีพ นเรน” เป็นท้องที่ ๕ ในเมื่อลูกคนหัวปีคือรุขมินีแต่งงานไปแล้วก็สมควรจะถึงเวลาของลูกคนที่สองคือบุหลันเทวี ในวันเจรจาดูตัวเจ้าสาว “มันนู” ญาติใกล้ชิดของครอบครัวบุหลันเทวีเล่าว่าบรรยากาศการเจรจาต็มไปด้วยการวางท่าของฝ่ายชายทำให้บรรยากาศตึงเครียด ปุตติลาลไม่ต้องการจ่ายค่าสินสอดมากนักโดยแสดงท่าทางว่าบุหลันเทวีดูแล้วไม่น่าประทับใจอะไร  พ่อบุหลันเทวีบอกกับปุตติลาลว่าบุหลันเทวีขยันขันแข็ง แต่งงานแล้วทำงานได้เหมือนผู้ชาย และยังเป็นสาวบริสุทธิ์อยู่ ปุตติลาล บอกว่าเขารู้ว่าบริสุทธิ์ หากไม่บริสุทธิ์เข้าไม่มาเอาเป็นภรรยาหรอก เขาเองก็ลำบากอยู่ ไม่ได้ร่ำรวยอะไร เมียคนแรกก็เพิ่งตาย ไม่มีอะไรจะให้ตอบแทนมากนัก จะให้ได้เพียงวัวตัวหนึ่งกับรถจักรยานให้น้องชายบุหลันเทวีไว้ขี่เล่นอีกหนึ่งคัน เดวิดินเจรจาขอเงินสด ในที่สุดปุตติลาลก็ตกลงแถมเงินให้ ๑๐๐ รูปี (มูลค่าสมัยนั้นประมาณเกือบ ๓๐๐ บาท) โดยมูลาขอร้องฝ่ายชายว่าให้คอยสามปีก่อนที่จะส่งตัวบุหลันเทวีให้ไปอยู่กินกันฉันสามีภรรยาที่แท้จริง แต่ในที่สุดด้วยเหตุผลความยากจน บุหลันเทวีถูกบังคับให้ไปอยู่กับปุตติลาล เพียงไม่ถึงสามเดือนให้หลัง บุหลันเทวีเล่าในบันทึกส่วนตัวของเธอที่มอบให้กับ มาลา เซน ว่า :

“หลังจากนั้นไม่กี่เดือนเขาก็มาตามตัวฉัน บอกว่าเขาจำเป็นต้องมีเมียแล้ว เขาบอกกับพ่อว่าหากพ่อไม่ยอมเขาก็จะยกเลิกข้อตกลงแต่งงาน ไปหาเมียใหม่ที่เหมาะสมจะดีกว่า พ่อของฉันจำต้องยอมตกลงที่จะให้ฉันไป มิฉะนั้นจะเป็นเรื่องเสื่อมเสียเกียรติความเป็นลูกผู้หญิงของฉันเป็นอย่างมาก” 

          ท่ามกลางแม่ที่น้ำตานองหน้า พ่อจูงวัวที่ได้มาเป็นค่าแลกกับลูกสาว น้องชายก็พลัดตกจากรถจักรยานเพราะรถใหญ่เกินตัว บุหลันเทวีพร้อมด้วยห่อเสื้อผ้าเดินตามสามีสูงอายุคนแรกในชีวิตเธอไปใช้ชีวิตใหม่ที่เธอหวาดกลัวไม่รู้อนาคต ณ หมู่บ้าน มเหชปูร์กีมาริยา

บุหลันเทวีบันทึกต่อไปว่า :

“ฉันไม่เข้าใจความมายของคำว่า ‘สามี’ เมื่อเขาพยายามมาล่วงเกินฉัน ฉันก็ร้องดังๆ ฉันไม่เข้าใจในความหมายของกิริยาท่าทางที่เขาทำ ความกลัวของฉันทำให้เขาโกรธ แล้วเขาก็ตบตีฉัน เขาทำกับฉันเหมือนฉันเป็นสัตว์ตัวหนึ่ง เขาจะจับหน้าอกฉันแล้วบอกว่ามันเหมือนหัวนมที่ให้เด็กดูดเล่น เขาถามฉันว่าเมื่อไรฉันจะโตเป็นสาว ฉันว่าเขาเป็นคนวิปริต ฉันทราบว่าเมียคนแรกของเขาตายระหว่างคลอดลูกอายุเพียง ๑๔ ปี ส่วนฉันตอนไปอยู่กับเขาอายุ ๑๑ ปีเท่านั้นเอง"

“ความหวาดกลัวทำให้ฉันล้มป่วย พอแม่รู้เรื่องก็ส่งพ่อให้มารับตัวฉันกลับบ้าน แรกๆพ่อก็ไม่อยากมาเพราะเคยมาแล้วโดนดูถูกเหยียดหยาม...ในที่สุดพ่อก็มาตามที่แม่ขอร้อง แม่บอกว่าพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงมีพระเมตตาประทานกำเหนิดแก่ชีวิตเด็กๆทั้งหลายได้ พระองค์ก็ไม่ควรที่ทรงประทานความยากจนข้นแค้นให้ด้วยพระหัตถ์เดียวกันกับที่ทรงประทานชีวิต เมื่อพ่อมาถึงตอนดึกคืนหนึ่งเพื่อมารับตัวฉันกลับบ้าน พ่อก็โดนเหยียดหยามอีก สามีของฉันบอกกับพ่อว่าพ่อหลอกเขาเรื่องที่ว่าฉันเป็นคนอย่างไร หากฉันไปแล้วจะกลับมาอีก เขาก็จะขอเรียกเงินชดเชยอีก ๑๐,๐๐๐ รูปี”

“ฉันจำได้ว่าตอนนั้นก็ดึกมากแล้ว ฝนตกลงมาอย่างหนัก เขายืนยันว่าหากหาเงินมาจ่ายไม่ได้ก็ให้เอาตัวฉันกลับไป แล้วอย่ากลับมาอีก ฉันกำลังมีไข้ขึ้นสูง พ่อต้องเดินแบกฉันขี่หลังคลุมผ้าห่มไปไกลถึง ๓ โกศ (เกือบ ๑๐ กิโลเมตร) ไปถึงอำเภอ “สิคันดรา” ไปหาหมอตรวจอาการไข้ และพบว่าฉันเป็นไข้อีสุกอีใส จ่ายค่ายา ๑๐ รูปี แล้วแบกฉันไปสถานีรถโดยสารขนส่ง ฉันนอนซมที่สถานีทั้งคืนเพื่อคอยรถเที่ยวเช้ากลับหมู่บ้าน” 

“เมื่อแม่เห็นสภาพฉันตอนไปถึงบ้านแม่ก็ร้องไห้ใหญ่ บอกว่าฉันน่าจะตายไปเสียดีกว่าจะอยู่แบบนี้ แม่จะเอาเงินที่ไหนมาได้ถึง ๑๐,๐๐๐ รูปี (เพื่อส่งลูกกลับไปอยู่กับสามี)  เมื่อต้องดูแลฉันต่อไปแล้วแม่จะหาเงินที่ไหนมาเลี้ยงดูฉันต่อไปอีกตลอดชีวิต ยิ่งไปกว่านั้น ชาวบ้านก็ลือกันไปแล้วว่าปุตติลาลไล่ฉันออกจากบ้าน และต่อว่าฉันว่าเป็นคนนำแต่ความเสื่อมเสียมาสู่ครอบครัวของฉันและครอบครัวของปุตติลาล ไม่มีใครที่ไหนจะมายอมแต่งงานกับฉันอีกแล้วเพราะฉันยังคงความเป็น “ภรรยา” ของเขาอยู่ แล้วทุกคนก็จะพูดกันต่อๆไปว่าเขาไม่ยอมรับตัวฉันกลับ ปฏิกิริยาจากแม่ทำให้ฉันตกใจและเศร้าใจ แต่สิ่งที่แม่พูดนั้นก็ถูกต้องว่า...” 

“ฉันไม่มีอนาคตที่จะอยู่ในหมู่บ้านนี้อีกต่อไปแล้ว” 

“ตอนนั้นฉันไม่สบายมากจนไม่สนใจจะคิดห่วงอะไรนัก แค่ได้กลับบ้านก็ดีใจมากแล้ว อะไรจะเกิดต่อไปก็ช่างมัน”




                                                                  [จบบทที่ ๒]
                                                              

บทที่ ๓

          ชีวิตของเด็กหญิงบุหลันเทวี ในวัยเพียง ๑๓ -๑๔ ปี แตกสลายยับเยิน กลับมาบ้านเกิดโดยไม่รู้ว่าชะตากรรมข้างหน้าจะเป็นอย่างไร สามีคนแรกข่มขืนทรมานทั้งร่างกายและหัวใจ ประเพณีอินเดียที่ไม่เปิดให้ลูกผู้หญิงดำรงชีวิตได้อย่างอิสระเสรี มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่ควรเท่าเทียมกัน กดดันให้เธอแสวงหาทางเลือกใหม่แก่ชีวิตเท่าที่หนทางนั้นจะเปิดให้ จะสว่างไสว มืดมน ดี เลว ประการใด ทางเลือกช่างมีจำกัดเสียเหลือเกิน มูลา ผู้เป็นแม่ไม่ต้องการรับเธอกลับมาอยู่บ้านต่อไปอย่างถาวร ในที่สุดบุหลันเทวีก็ถูกแม่ส่งไปอยู่เป็นการชั่วคราวกับน้าคนหนึ่งที่หมู่บ้านทิโอก้า ลูกสะใภ้น้าเพิ่งจะคลอดลูกพอดี จะได้ไปช่วยงานบ้านของน้า และเมื่อหมดงานกลับมาอยู่กับแม่ที่บ้าน ชาวบ้านอาจจะลืมเรื่องที่บุหลันเทวีถูกสามีทิ้งก็เป็นได้ เสียงนินทาของชาวบ้านรุนแรงเป็นกระแสแห่งประเพณี 

          แม่ไม่คิดว่าการไปอยู่กับน้าเพียงชั่วคราวจะกลายเป็นฉากชีวิตระทมฉากใหม่ของลูกสาวเลย

          ที่บ้านน้า บุหลันเทวีได้พบกับลูกชายของน้าชื่อ ไกลาช ผู้ซึ่งภรรยาของเขาเพิ่งจะคลอดลูก ไกลาชกำลังเบื่อชีวิตกับภรรยาพอดี บุหลันมาอยู่ใต้ชายคาเดียวกันกับไกลาชในฐานะญาติ มาพร้อมกับบุคลิกภาพนิสัยใจคอที่น่าตื่นเต้นเร้าใจ ไหวพริบ อารมณ์ขัน ขี้เล่น สนุกสนาน ปากคม และมั่นใจในตนเอง แม้ชีวิตจะผ่านทุกข์ระทมมาสาหัสเพียงไรก็ตาม  ส่วนไกลาชก็เป็นคนที่เห็นโลกกว้างชอบเปิดหูเปิดตานอกบ้านมากกว่าจะอยู่เงียบเฉยในบ้าน ไกลาชแอบชอบบุหลันเทวีอยู่ในใจ วันหนึ่งไกลาชชวนบุหลันเทวีให้ร่วมเดินทางไปธุระที่เมือง กันปูร์ (Kanpur หรือ กันปุระ) จะได้พาเที่ยวเมืองไปด้วย บุหลันเทวีเองก็ไม่เคยเห็นเมืองใหญ่ๆที่ไหนมากไปกว่าเมืองกัลปิ ถิ่นกำเนิด เธอจึงรู้สึกตื่นเต้นดีใจมากที่จะได้ไปเห็นแสงสีแห่งเมืองใหญ่ 
          กันปูร์ เป็นเมืองสำคัญของรัฐอุตระประเทศภาคเหนือของอินเดีย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา แต่เดิมก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๑ กันปูร์มีชื่อว่าเมือง คาวันบุรี (Cawnpore) เป็นเมืองสำคัญด้านการพาณิชย์และอุตสาหกรรม ผลิตสิ้นค้าเช่น โลหะภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล สิ่งทอ และ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า ทางหลวง ทางรถไฟ และสะพานข้ามแม่น้ำคงคาที่เมืองกันปูร์แสดงถึงความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจของเมืองนี้ มหาวิทยาลัยกันปูร์เป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศ ในปี พ.ศ. ๒๓๔๔ อังกฤษเข้าครอบครองเมืองคาวันบุรีแล้วพัฒนาจากหมู่บ้านเล็กๆจนกลายเป็นเมืองธุรกิจอุตสาหกรรมสำคัญ เหตุทหารซีปอยที่รับจ้างจ้าวอาณานิคมอังกฤษก่อกบถในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ ที่นี่จนเกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์อินเดีย คือการสังหารหมู่ชาวอังกฤษที่ตั้งชุมชนอยู่ที่นี่หมดทั้งเมือง โดยกลุ่มของผู้เกลียดชังอังกฤษนำโดยผู้นำท้องถิ่นชื่อ นานาซาฮิบ หลังจากอินเดียได้รับเอกราชในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ กันปูร์เติบโตเป็นเมืองอุตสาหกรรมหนักของอินเดีย ปัจจุบัน (๒๕๕๘) ประมาณว่ากันปูร์มีประชากรกว่า ๒,๗๐๐๐,๐๐๐ ล้านคน 

         ทั้งสองขึ้นรถบัสจากทีโอกาไปกันปูร์ ความยิ่งใหญ่ของกันปูร์เป็นที่น่ากลัวและอึดอัดใจมากสำหรับบุหลันเทวีเมื่อแรกไปถึง ชุดส่าหรีแบบชาวบ้านที่เธอใส่พร้อมกับรองเท้าแตะพลาสติกก็ยิ่งทำให้เธอดูโทรมดุจคนขอทาน ไกลาชเอาอกเอาใจบุหลันเทวีอย่างผิดสังเกต พาไปเที่ยวซื้อของในตลาด ซื้อกำไลแก้วหลากสีสวยงามให้ใส่ พาเที่ยว และอธิบายส่วนต่างๆของเมือง ไกลาชจึงได้โอกาสใกล้ชิดกับเธอมากเป็นพิเศษ เธอประทับใจในตัวไกลาชมากที่รอบรู้เรื่องเมืองกันปูร์มาก ระหว่างที่พาไปเที่ยววัดฮินดู ไกลาชสารภาพรัก และขอแต่งงานกับบุหลันเทวี เธอหัวเราะด้วยนึกว่าพูดกันเล่นๆ  บุหลันเทวีกล่าวย้อนกลับไปว่า “อย่าทำเป็นโง่เลย ลูกเมียก็มีแล้ว จะมาขอแต่งงานกันได้อย่างไร” ไกลาชสวมมาลัยให้บุหลันเทวีในวัดนั้นแล้วบอกกับเธอว่าแม้จะอยู่ร่วมกันเป็นสามีภรรยาจริงๆไม่ได้ แต่ในจิตใจบุหลันเทวีคือภรรยาของเขา บุหลันเทวีรู้จักผู้ชายในฐานะสามีจริงๆก็เพียงปุตติลาล คนเดียว และชีวิตรักของเธอก็ล้มเหลวแหลกละเอียด สำหรับบุหลันเทวี อารมณ์รักอันหวานซึ้ง นุ่มนวลและสุนทรีย์ไม่เคยเป็นที่รู้จักมาก่อน 

          ความรักบริสุทธิ์ เป็นสิ่งใหม่สำหรับหัวใจของเธอจริงๆ

          ไกลาชพาบุหลันเทวีไปที่ร้านน้ำชาแห่งหนึ่งมีชายฉกรรจ์มากมายคราคร่ำไปหมด เธอเป็นผู้หญิงคนเดียวในร้านแต่ก็รู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยเพราะไปกับไกลาช, ญาติหนุ่มของเธอ. ไกลาชแนะนำให้เธอได้รู้จักและได้พูดคุยกับหญิงชราผู้เป็นแม่ของชายหนุ่มเจ้าของร้าน ทำให้เธอมีเพื่อนคุย ไม่รู้สึกผิดที่ผิดสถาน นี่ก็เป็นความประทับใจอีกอย่างหนึ่งที่ไกลาชปฏิบัติต่อเธอด้วยความใส่ใจ

         ที่ร้านน้ำชานี้บุหลันเทวีได้ดูโทรทัศน์เป็นครั้งแรก โทรทัศน์ขาวดำตั้งบนหิ้งสูงติดข้างฝา เธอทึ่งในภาพร้องรำทำเพลงจากภาพยนตร์ฮินดีที่เคลื่อนไหวไปมาได้พร้อมเสียงเพลงที่สนุกสนาน ส่วนไกลาชนั้นก็ไปนั่งเล่นไพ่และคุยเฮฮากับพวกผู้ชาย ระหว่างเดินทางกลับ ไกลาชบอกว่าเพื่อนๆที่ไปคุยด้วยที่ร้านน้ำชาล้วนแล้วแต่เป็นพวกขุนโจรที่โด่งดังทั้งนั้น บุหลันเทวีก็ไม่เชื่อ คิดว่าไกลาชคงจะคุยโม้อวดอ้างว่ามีเส้นสายพวกพ้องเป็นโจรเพื่อให้บุหลันเทวีประทับใจเล่นเท่านั้นเอง แท้ที่จริงไกลาชทำงานรับใช้โจรเหล่านั้นจริง เป็นสายให้บ้าง จัดหาซื้อของให้ ส่งข่าวให้ และประสานงานระดับล่างให้สารพัด ไกลาช จึงดูแคล่วคล่องเข้ากับพวกโจรเหล่านั้นได้ดี

          กาลเวลาผ่านไป ความใกล้ชิดทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุหลันเทวีกับไกลาชถลำลึก เด็กในหมู่บ้านแอบเห็นทั้งคู่เปลือยกายเล่นน้ำในลำธารด้วยกัน ยายแก่ในหมู่บ้านเล่าว่า บุหลันเทวีถึงกับเปลือยกายเต้นระบำให้ไกลาชดูด้วยซ้ำไป เล่ากันไป นินทากันมา เรื่องก็ขยายความเป็นข่าวอื้อฉาวในหมู่บ้าน พอรู้ถึงหูภรรยาของไกลาช ก็เกิดการเผชิญหน้ากัน เพื่อคาดคั้นเอาความจริง ไกลาชพยายามกลบเกลื่อนไม่ยอมสารภาพ เพราะเคยสัญญาไว้กับบุหลันเทวีที่วัด แต่ในที่สุดก็เข้าตาจนเมื่อถูกบีบคั้นมากเข้า เมื่อความแตกบุหลันเทวีจึงต้องบากหน้าลงเรือล่องแม่น้ำกลับหมู่บ้าน โกร์ฮา  คา ปูร์วา  จำจากลาชายชู้ไปด้วยความขมขื่น ในเวลานั้นเอง เรื่องพิศวาสบาดใจที่ก่อโดยบุหลันเทวีไปเข้าหูไมยาดินเข้า ไมยาดินจึงขยายผลให้เป็นเรื่องร้ายแห่งหมู่บ้านไปทันที จากนั้นเป็นต้นมาผู้คนก็จะมองบุหลันเทวีว่าเป็นหญิงแพศยา ชั่วมั่วโลกีย์ คบชู้สู่ชาย ชื่อเสียงของเธอเริ่มเสียหายหนักนับจากที่ถูกจับได้ว่าเป็นชู้กับไกลาชเป็นต้นมา

บุหลันเทวีเล่าในบันทึกส่วนตัวของเธอว่า :

 “ฉันกลับไปอยู่กับพ่อและแม่ต่อไป เราทุกคนทำงานหนักและมีชีวิตอยู่อย่างสงบพอสมควรระยะหนึ่ง น้องสาวสามคนของฉันยังไม่ได้คู่แต่งงาน น้องชายก็ยังเล็ก และน้องชายคนนี้ก็เป็นลูกคนแรกในครอบครัวเราที่ได้เรียนหนังสือ พ่อเริ่มลองปลูกผลไม้ประเภทแตงต่างๆ โดยเฉพาะแตงโม พอขายได้บ้าง โดยอาศัยที่ริมน้ำที่พ่อไปจับจองถากถางเอาใหม่ด้วยความจำเป็นต้องหาที่ทำกิน ครอบครัวของเราพออยู่ไปได้อย่างสบาย มีพืชผลเหลือเฟือ เรามีความสุขอยู่ปีกว่าๆ"

“และแล้ว สุเรช จันด์ ลูกชายคนที่สองของกรรมการสภาหมู่บ้านก็เริ่มมาติดใจฉัน ฉันเองก็เริ่มสงสัย เพราะฉันรู้จัก อโศก จันด์ พี่ชายของเขาที่เป็นเพื่อนกับไมยาดิน ฉันพยายามทำเป็นไม่รู้ไม่สนใจ แต่เขาก็ทำเป็นมาเยี่ยมแม่ฉันถึงบ้าน  ทำตัวสุภาพอ่อนโยน เคารพนบนอบ เขาบอกแม่ว่าเขาสงสารเห็นใจเรา เข้าข้างเรา แม่ก็หลงคำเขา ต้อนรับขับสู้เลี้ยงน้ำชาเขาอย่างเอาใจทุกครั้ง"

"เวลาแม่ไม่อยู่ด้วยสุเรชจะออกลาย ทำหน้าทะลึ่งลามก ยักคิ้วหลิ่วตาโบกเงินสะบัดไปมาให้ฉันดู ตอนฉันไปตักน้ำที่บ่อน้ำเขาก็ตามมาจีบให้ใครต่อใครเห็น โยนก้อนกรวดใส่หม้อน้ำของฉันเล่น ฉันไปฟ้องแม่ แม่ก็บอกว่าเป็นเรื่องธรรมดาของเด็กหนุ่ม ไม่ให้ฉันคิดอะไรมาก แม่คิดว่าสุเรชไม่มีอันตรายอะไร สุเรชทำให้แม่ตายใจได้สำเร็จ แต่ฉันก็ระวังตัวไม่ยอมให้เขาเข้ามาใกล้ เพราะลึกๆแล้วฉันรู้ดีว่าจะไว้ใจสุเรชไม่ได้แน่นอน แต่เขาก็กลายเป็นแขกประจำบ้านเรา แม้แต่พ่อก็ยินดีต้อนรับเขาโดยคิดดีใจว่าอย่างน้อยๆลูกชายกรรมการสภาหมู่บ้านก็อยู่ข้างเรา”

          เย็นวันหนึ่ง ตอนแสงอาทิตย์อ่อนลง ทุกอย่างรอบตัวบุหลันเทวีดูสงบนิ่ง และวังเวง มีเสียงชาวบ้านเดินคุยเบาๆมาแต่ไกลผสมกับเสียงกระดิ่งจากคอวัวและเสียงนกบนต้นไม้จ๊อกแจ๊กจอแจแย่งกันเข้ารังนอน เหมือนกับจะเป็นลางบอกเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ชนพื้นเมืองในแถบหุบเขาจัมบาลนี้มักจะสังเกตุความผิดปรกติของธรรมชาติเป็นลางสังหรณ์ บุหลันเทวีนั่งลงริมไร่ปลายที่ของพ่อ พื้นที่รอบๆโล่งปราศจากผู้คน เธอปล่อยใจให้ล่องลอยไปกับความคิดคำนึง เธอยังไม่ได้มัดกำก้านถั่วบัจร่าที่เพิ่มตัดมา จะต้องเอาหญ้าแห้งมามัด เสร็จแล้วก็จะทูนไปบนหัวเดินกลับบ้าน พ่อของเธอใช้ที่ลาดชัดตรงสันเขาปลูกถั่ว ซึ่งช่วงนี้แล้งมากปลูกถั่วไม่ค่อยได้ผลนัก ท่ามกลางอารมณ์เหม่อลอยนั้นเธอไม่ทันสังเกตุว่ามีจักรยานคันหนึ่งพุ่งเข้ามาจอดข้างหลังตัวเธอ เธอตกใจเมื่อได้ยินเสียงเรียกชื่อเธอ แต่ก็โล่งใจเมื่อเห็นว่าเป็น สุเรช จันด์ แม้ว่าจะรู้สึกไม่ค่อยจะดีนัก แต่ก็ยังใจชื้นที่เห็นเป็นคนรู้จักกัน

          “อ้อแกนี่เองหรือ?” 


          บุหลันเทวีขยับตัวลุกขึ้นรวบกำก้านถั่วบัจร่าที่กองอยู่บนพื้น แต่สุเรช จันด์ก็ชวนคุยต่อไปสักพักหนึ่งแล้วเสนอตัวจะขนถั่วขึ้นท้ายจักรยานกลับไปส่งให้ที่บ้าน เธอก็ขอบคุณและยินดี จะได้เบาแรงตัวเองไปบ้าง สุเรชเห็นเธอมีท่าที่อ่อนลง ยอมรับข้อเสนอได้บ้างไม่เล่นตัวแข็งกร้าวเหมือนที่เคย จึงทำท่าจีบและลวนลามไปในที แต่เธอก็ทำเป็นเฉย ไม่สนใจ ตั้งอกตั้งใจทำงานของเธอไปอย่างเดียว ในที่สุดสุเรชก็รุกคืบหน้าขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ด้วยกิริยาท่าทางที่ดูเป็นกันเอง สุเรชเอามือจับที่หัวไหล่ของบุหลันเทวีแล้วพูดว่า 

          “เห็นเขาลือกันว่าเอ็งเก่งบนพื้นไร่ เอ็งสามารถจะทำให้ผู้ชายรู้สึกว่าเท่าไรก็ไม่พอ” 

          บุหลันเทวีรู้ทันทีว่าสุเรชจะทำอะไรต่อไป เธอกัดมือสุเรชที่โอบไหล่อยู่ สะบัดตัวออกแล้วด่าใส่สุเรชไปอย่างโกรธกริ้ว 

          บุหลันเทวี วิ่งอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ขึ้นเนินเขากลับบ้านไป 

          เมื่อไปถึงใจกลางหมู่บ้านท่ามกลางสายตาชาวบ้าน กำลังจะเลี้ยวเข้าตรอกทางเข้าบ้าน สุเรชก็ขี่จักรยานไล่หลังมาทัน เขาทิ้งจักรยานลงกับพื้นแล้วขวางหน้าเธอไว้ ถอดรองเท้าแตะหนังออกมาตบหน้าและตีหัวเธออย่างแรงต่อหน้าชาวบ้านมากมากมายหลายคนที่ออดูอยู่ บุหลันเทวีล้มลงกับพื้นดินพลางยกมือปกป้องตัวเองจากการกระหน่ำตีของ สุเรช จันด์  

          ชาวบ้านเข้ามารุมล้อม ขณะที่สุเรช จันด์ยังคงปะทุอารมณ์ ตะโกนด่าบุหลันเทวีอย่างรุนแรง : 


          “มึง อีพวกวรรณะสูดรา พวกโสเภณีชั้นต่ำ อีชาติคนหาปลา [๒] กูจะสอนมึงให้รู้สำนึกซะ
          บ้าง!” 


          สุเรชจันด์เริ่มเตะบุหลันเทวี แล้วตะโกนบอกชาวบ้านว่าบุหลันเทวีทำร้ายและกัดเขาก่อนเพราะเขาไม่ยอมให้ความช่วยเหลือเธอตามที่เธอมาขอร้อง 

          บุหลันเทวีตะโกนสวนไปว่า: 

          “ไอ้โกหก...มันโกหก” 

         สุเรช จันด์ถ่มน้ำลายรดข้างๆที่บุหลันเทวีนอนเจ็บอยู่แล้วขี่จักรยานหนีไป 
          ความเจ็บปวดและอัปยศอับอายต่อหน้าชาวบ้านครั้งนั้นบุหลันเทวีจดจำฝังใจไป
          นาน.....ตลอดชีวิต

บุหลันเทวีบันทึกว่า :

“หลังจากเหตุการณ์วันนั้น พ่อกับแม่บอกฉันว่า: 

‘ลูกเอ๋ย เรามันคนจน เขามันคนรวย เราทำอะไรไม่ได้หรอก ลืมเรื่องนี้เสียเถิดลูกเอ๋ย เราไม่มีทางสู้รบปรบมืออะไรกับคนพวกนี้’ 
ฉันรู้สึกโกรธและอับอายขายหน้าเป็นอย่างมาก ฉันเริ่มรู้แล้วว่าในโลกนี้ไม่มีความยุติธรรม ฉันสวดมนต์อ้อนวอนพระแม่เจ้า 'ดุรกะ' [๓] ขอให้พระองค์จงทรงลงโทษไอ้สุเรชให้สาสม แต่ก็ดูเหมือนว่าสุเรชยังลอยหน้าเชิดหางกางขนเหมือนนกยูงลำแพนได้ในหมู่บ้านต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเพราะมันรู้ตัวดีว่ามันมีอิทธิพล แต่นั้นต่อมาสุเรชก็ชักชวนก่อกวนให้ชาวบ้านคนอื่นมาคอยรังควานครอบครัวของเรา”

          ในช่วงนี้ไมยาดินผู้ซึ่งเป็นลูกของลุงที่โกงที่ดินไปจากพ่อกลับไปมาหาสู่ทำเป็นดีด้วย ไมยาดินบอกว่าถึงอย่างไรก็เป็นญาติพี่น้องกัน อะไรที่เกิดขึ้นกับบุหลันเทวี กระทบญาติพี่น้องด้วยกันหมด ไมยาดินเสนอว่าบุหลันเทวีควรจะกลับไปอยู่กับปุตติลาล ผู้เป็นสามีคนแรก ชาวบ้านจะได้ยุติการครหานินทา เดวิดิน พ่อของบุหลันเทวีก็เห็นด้วย อยากให้บุหลันเทวีกับปุตติลาล กลับไปคืนดีอยู่กินกันต่อไปตามเดิม

“ไมยาดินมุ่งมั่นจะส่งฉันกลับไปอยู่กับปุตติลาล เพียงแค่คิดฉันก็ผวาแล้ว แต่ในที่สุดฉันก็ถูกบังคับให้เดินทางไปกับไมยาดิน เพื่อไปอยู่กับปุตติลาล เหมือนกลับไปอยู่กับในอุ้งมือของสัตว์ป่าตัวร้าย"

“เมื่อไปถึงปรากฎว่าปุตติลาลได้ภรรยาใหม่อีกคนหนึ่งไปแล้ว ชื่อ วิทยา เมื่อวิทยาเจอหน้าฉันก็ถามเหตุผลว่าฉันกลับมาทำไม  ปุตติลาลเอาผ้าห่มผืนบางๆมาให้ผืนหนึ่ง แล้วบอกว่าห้องนอนของฉันอยู่ข้างคอกวัวหลังบ้าน สักพักหนึ่งภรรยาคนใหม่ของปุตติลาล ก็กลับออกมาด่าว่าฉันอีก ไล่ให้ฉันกลับไปไม่งั้นจะฆ่าตัวเองตาย ฉันก็บอกเขาไปว่าฉันไม่ต้องการอะไรมาก ขอทำงานแลกกับโรตีไม่กี่แผ่นก็พอ ฉันไม่สนใจสามีเก่าของฉันอีกต่อไปแล้ว ที่กลับมานี่ก็เพราะถูกญาติบังคับให้กลับมาเท่านั้นเอง จากนั้นวิทยาจึงให้โรตีแห้งๆฉันสองแผ่น ให้เบาะเก่าๆเป็นที่พอรองนอนได้ผืนหนึ่ง”

“ตกเย็นฉันล้มตัวลงนอนบนที่นอนเก่าๆนั้น ถึงเช้ามืด ปุตติลาล มาปลุกให้ไปดูแลให้อาหารวัว เสร็จแล้วเขาก็ให้นมเปรี้ยว รัซซี่ ฉันกินแก้วหนึ่ง ฉันอยู่มาถึงแปดวันทำงานเหน็ดเหนื่อยแสนสาหัส และบ่อยครั้งที่หิวโหยไม่ได้กินอาหาร คิดถึงแม่มาก ปุตติลาล ถึงกับออกปากสงสารฉัน ขอร้องให้ฉันกินอาหารบ้าง พอวิทยาเห็นปุตติลาล เอาอาหารมาให้ฉันกิน ก็โกรธปึงปังโวยวาย หาว่าฉันมาอยู่ที่นี่ก็เพื่อจะมาแย่งสามี เธอเข้ามาดึงทึ้งแย่งกำไลแก้วออกจากข้อมือของฉันแล้วขว้างทิ้งแตกกระจาย ไล่ฉันออกจากห้อง ฉันเลยอดกิน...”

“ดึกดื่น ตีสี่วิทยาก็มาสั่งให้ฉันบดข้าวทำแป้งสาลีสิบกิโล พอเธอกลับมาพบว่าฉันทำได้เพียงสองกิโลครึ่งก็ตบตีฉัน แล้วขู่ว่าหากฉันไม่ทำงานก็อย่าหวังว่าจะมีอาหารกิน เธอยื่นถังน้ำใบใหญ่ให้ฉันแล้วสั่งให้ไปตักน้ำที่บ่อ แล้วสั่งให้ไปเก็บขี้วัวบนถนนในหมู่บ้าน สั่งให้ใช้มือคนละเลงขี้วัวผสมน้ำเพื่อยาพื้นบ้าน สามีของฉันได้แต่มองภรรยาคนใหม่ของเขาสั่งงานฉันสารพัดอย่าง ทั้งตะโกน ทั้งด่าทอ ไม่เคยจะหมดทางหาเรื่องกับฉันเลย!”

“สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไปนานหลายปี ฉันเองก็มักล้มป่วยกระเสาะกระแสะอยู่เป็นประจำ ในที่สุดปุตติลาล ก็บอกว่าฉันควรกลับบ้านไปอยู่กับแม่จะได้พักผ่อนให้เต็มที่ ฉันก็เชื่อตามปุตติลาล เดินทางกลับบ้านไปหาแม่"

“ปุตติลาล ทิ้งฉันไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา บอกฉันว่าจะไปหาเรือข้ามฝาก แล้วจะกลับมาภายในห้านาที ตอนนั้นบ่ายสี่โมงเย็นแล้ว รอจนถึงค่ำมืดปุตติลาลก็ไม่มา ฉันนั่งร้องไห้อยู่คนเดียว เพราะลำพังฉันเองจะกลับบ้านไปหาแม่ด้วยตัวเองคนเดียวไม่มีปุตติลาลไปส่งไม่ได้ เพราะฉันไปอยู่กับปุตติลาล ตามคำแนะนำของไมยาดิน"

“ทันใดนั้นฉันได้ยินเสียงเรือกำลังมาทางฉัน ทีแรกฉันก็ตกใจ ไม่รู้ว่าจะมีอะไรอยู่เบื้องหน้า แต่ก็ได้ยินเสียงพ่อกับแม่เรียกชื่อฉัน ฉันยืนขึ้นแล้วโบกมือ มันนู ญาติของฉันก็มาด้วย ฉันร้องไห้โฮใหญ่เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้ฟัง แม่บอกว่าคาดคิดอยู่แล้วว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นนับตั้งแต่ที่ไมยาดินออกความคิดให้ส่งตัวฉันกลับไปอยู่กับปุตติลาล พ่อเอาแต่นิ่งเงียบ แม่บอกว่าความอับอายที่เกิดขึ้นกับฉันนั้นเกิดเต็มที่บริบูรณ์แล้ว คราวนี้จะต้องรับฉันกลับไปอยู่บ้านอย่างถาวร ฉันถามแม่ว่ารู้ได้อย่างไรว่าฉันมาอยู่ที่ตรงนี้ แม่บอกว่าชาวบ้านบอกต่อๆกันว่ามีผู้หญิงมานั่งอยู่บนหาดทรายริมน้ำนี้นานแล้ว การซุบซิบนินทาให้หมู่ชาวบ้านทำให้แม่แน่ในว่าต้องเป็นลูกสาวแน่ๆ”

          บุหลันเทวีกลับมาอยู่กับพ่อและแม่ด้วยความตั้งใจจะพิสูจน์ให้พ่อแม่เห็นว่าเธอพร้อมที่จะทำประโยชน์ให้กับครอบครัวอย่างเต็มที่ไม่ว่าชีวิตจะทุกข์ระทมขมขื่นมาอย่างไรกับปุตติลาลผู้เป็นสามีคนแรกก็ตาม การเป็นลูกผู้หญิงในสังคมฮินดูปรกติก็เป็นเรื่องไม่น่าภูมิใจและเป็นที่ผิดหวังของพ่อแม่อยู่แล้ว แถมยังมีลูกสาวที่มีแต่ปัญหาอีก พ่อแม่จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน ลูกชายคือหัวใจของครอบครัว แต่ เดวิดิน เควัต ผู้เป็นพ่อของบุหลันเทวีก็โชคไม่ดี แต่งงานกับมูลา หญิงที่เข้มแข็ง เอางานเอาการ ได้ลูกคนแรกเป็นผู้หญิง ชื่อรุขมินี  คอยมาอีกสองปี นึกว่าท้องที่สองจะได้ลูกชาย อุตส่าห์สวดมนต์ภาวนา และกินไข่มุกบดกับนมสดในคืนพระจันทร์ขึ้นหนึ่งค่ำเพื่อว่าจะได้ลูกชายตามคำบอกของนักบวช แต่ก็กลับมาได้บุหลันเทวี ลูกที่พ่อแม่ไม่ได้คาดหวังว่าจะมาเกิด น้องอีกสองคนถัดไปของบุหลันเทวีก็เป็นผู้หญิง ชื่อ รามกาลี และ บูรี  ท้องที่ห้าจึงมาโชคดีได้ ชีพนเรน น้องชายคนแรกของครอบครัว น้องคนสุดท้อง เป็นลูกคนที่หก ก็เป็นหญิงอีก ชื่อ มุนนี  


          อินเดียในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๐ – ๒๕๒๐ อันเป็น ช่วงทุกข์ยากแสนลำเค็ญสำหรับวัยเด็กสู่วัยรุ่นของบุหลันเทวี ในทศวรรษนี้แม้จะมีขบวนการเรียกร้องต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ต่อสู้กับการกดขี่ของฝ่ายชายที่มักจะกระทำต่อภรรยาจนหลายรายถึงแก่ชีวิต แต่ในชนบทห่างไกล รวมในทั้งหมู่บ้านของบุหลันเทวีเองด้วย ข่าวสารเรื่องสิทธิสตรีเข้าไปไม่ถึง หากเข้าถึงก็ไม่มีผลต่อชีวิตจริง 

          อินเดียในโลกยุคใหม่ไม่เปลี่ยนไปจากยุคโบราณเท่าไรนัก

          เมื่อดูชีวิตและความสัมพันธ์ในครอบครัว ระหว่างสามีกับภรรยา ระหว่างหญิงกับชาย 
          บุหลันเทวี เกิดในปี ค.ศ. ๑๙๖๓ หรือ พ.ศ. ๒๕๐๖ ผ่านโลกไปได้สิบกว่าปี 
          ชีวิตเธอก็แทบล่มสลาย.


                                                                 [จบบทที่ ๓]
                                                    

                                            บทที่ ๔

          อากาศอินเดียภาคเหนือนั้นรุนแรงในยามเปลี่ยนฤดูกาล ถึงหน้าหนาวก็หนาวเหน็บ หน้าร้อนก็สุดร้อนระอุ แล้งสุดแล้ง  ไอร้อนพัดผ่านเสมือนจะเพิ่มทุกข์ให้กับทุกข์เดิมที่มากล้นอยู่แล้ว  เดวิดินผู้เป็นบิดาของบุหลันเทวีได้งานพิเศษทำ เป็นคนงานก่ออิฐฉาบปูนซึ่งเป็นทักษะที่ได้เพิ่มพูนให้กับตัวเองจนเป็นประโยชน์ในยามที่ฝนแล้ง ไร่ถั่วอาจไม่ได้ผลเพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัว และจ่ายค่าทนายความในคดีฟ้องร้องแบ่งมรดกที่ดินที่บิฮาริลาลผู้เป็นพี่ชายโกงไป คดีขึ้นศาลที่เมืองอาลาฮาบัด ทำให้ทั้งบิฮาริลาลและไมยาดินผู้เป็นลูกชายแค้นเป็นอย่างยิ่ง เดวิดินตื่นแต่เช้าไปถึงบริเวณก่อสร้างราว ๐๗:๐๐ นาฬิกา ทุกวัน โดยมีบุหลันเทวีติดตามไปช่วยงานด้วย ก่ออิฐโบกปูนด้วย ค่าแรงสำหรับเดวิดินได้วันละ ๑๕ รูปี ได้บุหลันเทวีช่วยอีกแรงหนึ่งก็ทำให้ได้ค่าแรงเพิ่มอีก ๑๐ รูปี สำหรับเด็กอย่างบุหลันเทวีซึ่งเป็นเด็กผู้หญิงที่มีอายุเพียง ๑๖ ปี ก็ถือว่าได้ค่าแรงพอประมาณในสังคมที่ไม่มีความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงกับชาย สังคมที่มีการกดขี่แรงงานทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เป็นวิถีชีวิตปรกติ โดยเฉพาะในชนบทห่างไกล มีงานทำก็ดีถมไปแล้ว หากฝนดีพืชผลงอกงามชีวิตคนจนอย่างครอบครัวของบุหลันเทวีก็จะยังพอตรากตรำโชคชะตาต่อไปได้  โชคไม่ดีที่แล้งนี้ฝนฟ้าขาดหายไปจนแผ่นดินร้อนเป็นไอระอุ พายุฝุ่นพัดปกคลุมหมู่บ้านเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงผลผลิตที่จะตกต่ำกว่าปีที่ผ่านมา 

          เช้าวันหนึ่งในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๗๙ (พ.ศ. ๒๕๒๒) เดวิดินเรียกทุกคนในครอบครัวไปดูไร่ถั่วซึ่งถูกลอบทำลายจนแหลกลาญ มีร่องรอยของเกวียนเทียมวัวเดินผ่าน เหยียบทับจนเสียหาย อุตส่าห์เฝ้าดูแลฟันฝ่าความแห้งแล้งมาเป็นเวลาแรมเดือน มาบัดนี้ถูกทำลายเสียหายจนสิ้น น่าจะเป็นฝีมือของไมยาดินกับพวกเพื่อนๆนักเลงหัวไม้ในหมู่บ้านที่คอยรบกวนและล้างแค้นบุหลันเทวีกับพ่อมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่คดีในศาลอาลาฮาบัดกำลังดำเนินต่อไปได้ด้วยดี 

          อีกไม่กี่วันถัดมาชีพนาเรนน้องชายของบุหลันเทวีวิ่งหน้าตาตื่น กระหืดกระหอบมาถึงลานหน้าบ้าน พลางตะโกนบอกว่า: 



          “ไอ้ไมยาดินมันกำลังใช้ขวานตัดต้นสะเดาเก่าแก่ของเราข้างบ้าน!” 

          ต้นสะเดาใหญ่เป็นไม้ยืนต้นเก่าแก่ประจำครอบครัวที่เหลืออยู่ต้นเดียว ทำหน้าที่แผ่กิ่งก้าน สร้างความร่มเย็นเป็นสุขแก่คนในบ้านมาสามชั่วอายุคนแล้ว ให้ทั้งร่มเงา ให้ทั้งยา เพราะเปลือกและใบสะเดาเป็นยาฆ่าเชื้อสมานแผลอย่างดี บุหลันเทวีวิ่งออกไปดูพร้อมกับน้องชายก็พบว่าไมยาดินกับพวกอีกสี่คน ล้วนเป็นพวกลูกคนรวยในหมู่บ้านทั้งนั้น ทั้งหมดกำลังโค่นต้นสะเดานั้นอยู่ บุหลันเทวีตะโกนด่าพร้อมกับขว้างก้อนหินเข้าใส่ ไปโดนหน้าผากของไมยาดินจนแตกเลือดไหลเล็กน้อย เพื่อนๆของไมยาดินรุมกันจับบุหลันเทวีมัดแล้วเรียกตำรวจให้มาจัดการท่ามกลางความชุลมุนวุ่นวายที่แม่ของบุหลันเทวีก็พยายามจะแก้มัดเพื่อปล่อยลูกสาวออก ในที่สุดบุหลันเทวีก็ถูกจับขึ้นรถจี๊บไปสถานีตำรวจของหมู่บ้าน ไมยาดินกับพวกแต่งตัวในชุดขาวสะอาดไม่มีรอยเปื้อนอะไรเลย ดุจไม่ได้ไปทำอะไรที่เสียหายที่ไหน เว้นแต่ไมยาดินที่โพกผ้าปิดแผลจนดูใหญ่โตราวกับจะให้เข้าใจผิดได้ว่าแผลบนหน้าผากนั้นบาดเจ็บสาหัส จากฝีมือขว้างก้อนหินของบุหลันเทวี ทั้งๆที่จริงแผลแตกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 


          นายตำรวจพุงใหญ่พูดไปพลาง เคี้ยวหมากไปพลาง กล่าวอบรมและต่อว่าบุหลันเทวีต่อหน้าทุกๆคนว่า : 

          “แกมันรังแต่สร้างความอับอายให้แก่ครอบครัว.....สร้างปัญหามามากเกินพอแล้ว เห็นเขาว่าเพราะอย่างนี้แหละที่ผัวทิ้ง แกไม่รู้จักอับอายขายหน้าชาวบ้านเลยหรือไง ไม่รู้จักเคารพยำเกรงใครเลยหรือ?” 

          บุหลันเทวีร้องไห้ด้วยความอับอาย ไม่ได้ทำผิด แต่ถูกมัดมือ ลากตัวไปโรงพัก ให้ตำรวจด่าว่าเอาเสียหายต่อหน้าใครต่อใคร บุหลันเทวีเล่าว่า ความรู้สึกในตอนนั้นเหมือนกับน้ำตาที่ไหลออกมาเป็นเครื่องยืนยันความประพฤติชั่วของตัวเธอเอง บันทึกที่สถานีตำรวจในวันที่ ๖ มกราคม ค.ศ. ๑๙๗๙ เขียนว่า บิฮาริลาล (เป็นพ่อของไมยาดิน และเป็นลุงของบุหลันเทวี) สั่งให้ตัดต้นสะเดาข้างบ้านของเธอจนเกิดเรื่องทะเลาะกัน บุหลันเทวีเป็นฝ่ายผิดที่ไปทำร้ายร่างกายไมยาดินจนบาดเจ็บ บุหลันเทวีต้องโทษจำคุกนานหนึ่งเดือนแล้วถูกปล่อยตัวเมื่อมีเงินประกัน

          เป็นครั้งแรกในชีวิตของบุหลันเทวีที่ต้องถูกจับกุมและคุมขังในคุก บุหลันเทวีเล่าถึงความรู้สึกในตอนนั้นว่ารู้สึกหวาดกลัว สิ้นหวัง กินไม่ได้ นอนไม่หลับตลอดเวลา ในห้องขังมีช่องสำหรับขับถ่ายเป็นส้วมลงไปในร่องระบายน้ำโสโครกใต้ถุนห้อง เธอได้แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่มองดูแมลงวันที่บินตอมของโสโครกด้านล่าง มีรายงานข่าวในช่วงนั้นว่าตำรวจที่โรงพักข่มขืนเธอด้วย เมื่อถูกถามเรื่องนี้บุหลันเทวีไม่ได้พูดตรงๆ แต่บอกว่า 

          “พวกมันทำกับฉันอย่างสนุกสนานมาก ทุบตีฉันจนระบม” 

          ซึ่งก็เป็นภาวะปรกติซึ่งผู้หญิงอินเดียที่ถูกข่มขืนจะไม่ยอมเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยถ้อยคำที่ตรงไปตรงมา ไม่ยอมสื่อความหมายที่แท้จริง เพราะการสารภาพความจริงจะเป็นตราบาปของผู้หญิงที่ถูกข่มขืนคนนั้นไปตลอดชีวิต เพื่อนฝูง เพื่อนบ้านจะไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วย 

          บุหลันเทวีจำเช้าวันที่เธอออกจากคุกได้ว่าเป็นเช้าที่หนาวเหน็บ แม่ส่งผ้าห่มมาให้พร้อมกับท่านฐากูร พูล ซิงห์ นายจ้างและเพื่อนของพ่อช่วยเอาเงิน ๒๐,๐๐๐ รูปีมาจ่ายเป็นค่าประกันตัว ฐากูร พูล ซิงห์ เป็นนายจ้าง ที่จ้างพ่อของบุหลันเทวีให้ทำงานในไร่จนสนิทสนมชอบพอกันเป็นเสมือนเพื่อนแม้จะต่างฐานะและชาติตระกูลกันก็ตาม เมื่อเดินมาถึงทางแยก ทั้งสองจะต้องแยกทางเดินกลับบ้านกัน ฐากูร พูล ซิงห์ บอกบุหลันเทวีว่าให้ทำตัวให้ดี อย่าไปมีเรื่องอีก เมื่อถูกเรียกตัวไปไต่สวนคดีก็ต้องไป อย่าสร้างปัญหา เพราะเขาต้องการเงินประกันคืน ฐากูรบอกว่าที่ช่วยครั้งนี้ก็เพราะชอบพอกับพ่อ บุหลันเทวีพยายามอธิบายว่าที่เธอทำไปนั้นก็เพื่อป้องกันพ่อ ไม่น่าจะผิดและไม่น่าจะต้องทำให้เธอต้องได้รับโทษถึงติดคุก ที่ทำไปก็เพราะความโมโหและลืมตัว แต่ท่านฐากูรก็ยังคงคิดว่าบุหลันเทวีเป็นเด็กเกเรไร้การควบคุมความประพฤติของตนเอง 

          ด้วยน้ำตาอาบแก้ม บุหลันเทวีก้มลงเอามือแตะเท้าท่านฐากูรด้วยความเคารพและสำนึกในความเมตตา 
          บุหลันเทวีมีประวัติเสื่อมเสียต้องคดีอาญาและได้รับโทษจำคุกไปแล้วเป็นครั้งแรกในชีวิตนานหนึ่งเดือน 

          บุหลันเทวีเดินถึงบ้าน ชีพนาเรนน้องชายเข้ามาก้มลงโอบกอดที่หัวเข่าด้วยความดีใจ มุนนี น้องสาวใส่ส่าหรีของแม่เป็นการพิเศษในโอกาสต้อนรับพี่สาวคืนสู่เหย้า มูลาผู้เป็นแม่เตรียมอาหารมื้อพิเศษจากปลาที่มันนูผู้เป็นญาติหามาได้จากแม่น้ำ ส่วนพ่อก็ต้อนรับบุหลันเทวีกลับบ้านด้วยความปรีดา แต่พ่อเป็นมังสะวิรัติ ไม่กินปลา และไม่กินเนื้อสัตว์ทุกอย่าง พ่อบอกว่าเพียงได้กลิ่นเนื้อสัตว์ก็รู้สึกไม่ดีแล้ว บุหลันเทวีรู้ดีว่าพ่อต้องลำบากเพียงไรในการที่ต้องไปขอความช่วยเหลือเรื่องเงินประกันตัวเธอ เธอรู้สึกซาบซึ้งในความเสียสละและความทุกข์ยากทั้งกายและใจของพ่อ 

          เธอก้มลมสัมผัสเท้าของพ่อ น้ำตาไหลพราก 

          กาลเวลาผ่านไป ทุกคืนมูลาผู้เป็นแม่คิดหาทางออกให้บุหลันเทวี จะให้อยู่ด้วยกันที่บ้านก็จะมีปัญหาชาวบ้านไม่ยอมรับ นอกจากนั้นลูกชายของกรรมการสภาหมู่บ้านและไมยาดิน ก็จะมารังควานอยู่เรื่อยๆ แม้ท่านกรรมการสภาหมู่บ้านดูจะเป็นคนดีพอใช้ได้ แต่ลูกชายท่านนั้นเหลือขอจริงๆ มูลาจึงตัดสินใจให้บุหลันเทวีย้ายออกจากบ้านไปอยู่บ้านรุกมินีพี่สาวคนโตในอีกหมู่บ้านหนึ่งเพื่อขจัดปัญหาทั้งปวง จะให้ไปอยู่นานแค่ไหนก็ให้เป็นเรื่องของอนาคตข้างหน้า ขอเพียงให้ระยะเฉพาะหน้านี้สงบเสียก่อนจะได้เตรียมตัวสู้คดีกับไมยาดิน ลูกชายของ บิฮาริลาล ผู้เป็นลุงของบุหลันเทวีที่ศาลเมืองอลาฮาบัดให้ดีที่สุดก่อน หากไม่มีบุหลันเทวีให้เป็นปัญหาในหมู่บ้าน ชาวบ้านอาจจะมาช่วยเป็นพยานสนับสนุนคดีก็เป็นได้ เพราะชาวบ้านทั้งหลายรู้ดีว่าที่ดินของพ่อกับลุงนั้นต้องแบ่งกันอย่างเป็นธรรม มูลาต้องการพิสูจน์ในศาลให้รู้กันให้แน่ชัดว่าครอบครัวของสองพ่อลูกบิฮาริลาลและไมยาดินนั้นข่มขู่เอาเปรียบและคดโกงเพียงไร บุหลันเทวียินดีพร้อมใจที่จะไปอยู่บ้านพี่สาว จะได้มีเวลาอยู่อย่างสงบ ได้พักผ่อนคุยเล่นและช่วยงานพี่สาว จะได้ดูแล มัธรา ประสาด ลูกคนแรกของพี่รุกมินีด้วย เดวิดินผู้พ่อพาบุหลันเทวีไปคอยรถข้างทาง ให้เงินติดตัวไป ๒๕ รูปี แม่ห่ออาหารให้ไปห่อใหญ่ มุนนีให้ก้างปลานำโชคมาชิ้นหนึ่ง บุหลันเทวีบันทึกว่า :

“บ้านของรุกมินีอยู่ในอำเภอ อีตาวาห์ เมื่อฉันไปถึงพี่สาวของฉันกำลังจะไปโรงพยาบาลเพื่อรับการผ่าตัดพอดี พี่เลยเอาฉันไปโรงพยาบาลด้วย...เราไม่รู้เรื่องราวอะไรที่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านของฉันเลย พอถึงวันที่สามหรือวันที่สี่ (หลังจากที่มาอยู่กับพี่สาว) ตำรวจมาที่บ้านบอกกับรัมปาล พี่เขยของฉันว่าฉันมีคดีร่วมกับพวกโจรใช้อาวุธเข้าบุกปล้นบ้านไมยาดิน ตำรวจได้รับแจ้งความซัดทอดความผิดมายังฉัน รัมปาลบอกฉันว่าตำรวจจับพ่อกับแม่ไปโรงพักและคอยให้ฉันเข้ามอบตัว รัมปาลอาสาจะพาฉันกลับไปบ้านเพื่อไปพบพ่อแม่ที่โรงพัก ทั้งๆที่พี่สาวกำลังรับการผ่าตัดอยู่ที่โรงพยาบาล ตกลงเราตัดสินใจไปแวะดูลาดเลาหาข่าวที่หมู่บ้านก่อนจะไปหาพ่อกับแม่ที่สถานีตำรวจ" 


"ฉันกลับบ้านทางเรือ พร้อมหนังสือรับรองว่า ตลอดเวลาที่ถูกกล่าวหาร่วมปล้นบ้านไมยาดดินนั้น ฉันอยู่กับพี่สาวที่โรงพยาบาล เจ้าของเรือดูท่าทางจะเป็นคนแก่ใจดี แกบอกให้ฉันคอยสักประเดี๋ยว แกจะไปในหมู่บ้านเพื่อตรวจดูว่าตำรวจยังอยู่ในหมู่บ้านหรือเปล่า เรานั่งคอยอยู่พักใหญ่ก็ปรากกฎว่ามีฝูงผู้คนจากหมู่บ้านมุ่งหน้ามายังเรือที่ฉันนั่งคอยอยู่ เหมือนจะยกพวกมากันทั้งหมู่บ้าน มาถึงก็ใช้ไม้กระบองไล่ตีฉันโดยเข้าใจผิดว่าฉันเป็นตัวการไปพาพวกโจรมาปล้นหมู่บ้าน เพราะเรื่องที่ฉันกับไมยาดิน ไม่ชอบหน้ากัน ชาวบ้านกล่าวหาว่าฉันปล้นบ้านไมยาดิน เจอฉันก็ตะโกนด่าแล้วถามว่าฉันหนีหายไปไหน ปล่อยให้พ่อแม่เดือดร้อนถูกพาตัวไปสถานีตำรวจแล้วทั้งคู่ มีปัญหาเพราะฉันคนเดียวแท้ๆ....ฉันพยายามอธิบาย ขอร้อง วิงวอนสารพัดอย่าง แต่ก็ไม่มีใครฟัง พวกชาวบ้านพาตำรวจมาจับตัวฉันไปได้ พี่เขยของฉันก็บอกกับตำรวจว่าเรามาที่หมู่บ้านนี้ก็เพื่อจะไปสถานีตำรวจอยู่แล้ว ไม่ได้คิดจะหนีหรือจะไปปล้นอะไรที่ไหน อธิบายอย่างไรก็ไม่มีใครฟัง”

“ฉันไปถึงสถานีตำรวจเวลาบ่ายสี่โมงเย็น ฉันถูกตำรวจหลายคนตี พวกตำรวจเตือนฉันให้ทำตามคำสั่งของ ไมยาดิน และกรรมการสภาหมู่บ้าน ไม่อย่างนั้นจะต้องโดนเล่นงานหนัก ฉันบอกว่าฉันจะยอมทำตามทุกอย่าง นายตำรวจชื่อ จักดิช ซิงห์ บอกว่าหากฉันยอมทำตามที่บอกตั้งแต่แรกแล้วป่านนี้ก็จะไม่เจอปัญหาแบบที่เจออยู่นี้ ฉันจะไม่ต้องเจ็บตัวแบบนี้”

          บุหลันเทวีเพิ่งจะโดนตำรวจซ้อมมาไม่ทันจะลืมก็มาโดนอีก คราวนี้ไม่เหมือนเดิม แต่หนักกว่าเดิม เพราะเป็นตำรวจกลุ่มเดียวกันที่โรงพักเดิมที่เคยจับและทุบตีเธอครั้งที่มีเรื่องเกี่ยวกับการขัดขวางไมยาดินกับพวกที่ไปโค่นต้นสะเดาใหญ่ของครอบครัว 

          ณ สถานีตำรวจ บุหลันเทวีหวาดผวาต่อแรงกดดันจากฝูงชนชาวบ้านที่ไล่แห่ห้อมล้อมและด่าทอ ได้พบหน้าพ่อกับแม่ แต่ตำรวจก็ไม่ให้พูดด้วย บุหลันเทวียื่นจดหมายรับรองจากโรงพยาบาลที่ยืนยันว่าเธอพักกับพี่สาวที่โรงพยาบาลตลอดเวลาที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมปล้นบ้านไมยาดิน แต่นายตำรวจผู้คุมคดีโยนจดหมายทิ้งลงพื้น แล้วกล่าวเย้ยหยันว่าจดหมายจากโรงพยาบาลไม่มีความหมายอะไร เป็นเหมือนเศษกระดาษ พอเธอจะพูดชี้แจงอะไรก็ถูกสั่งให้หุบปาก ไม่ยอมให้พูดให้ชี้แจงอะไรเลย นายตำรวจที่ชื่อ จักดิช ซิงห์ ล่วงเกินเธออย่างไม่เกรงกลัวใครทั้งสิ้น ใช้ไม้กระบองทะลวงเข้าไปใต้ส่าหรีแล้วเปิดผ้านุ่งของเธอตรวจดูทุกซอกมุม พวกตำรวจที่เป็นลูกน้องก็กล่าววาจาหยาบคายลวนลามกันเป็นที่สนุกปากระหว่างการสอบสวนที่หยาบคาย การซ้อมการทุบตีโดยพวกตำรวจเป็นประสบการณ์ที่ปวดร้าวมาก ระหว่างที่โดนตี บุหลันเทวีพยายามยกแขนยกมือขึ้นปกป้องใบหน้า ทั้งบวมและแตกตามลำตัว เลือดไหลซิบๆเป็นแนวยาว แม่ร้องไห้สุดเสียงแต่ก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้ บุหลันเทวี ถูกจับขังไว้ที่สถานีตำรวจ 
          ฝ่ายแม่มูลาก็พยายามใช้เวลาสามวันต่อมาไปหาทนายความมาช่วยต่อสู้คดีในขั้นสอบสวนโดยพนักงานตำรวจ มูลาได้ชื่อทนายความจากคนขายผ้าในตลาด ทนายผู้นี้มีน้าอยู่ในหมู่บ้านที่พอจะเห็นอกเห็นใจช่วยติดต่อประสานให้ไปพบกับทนายความคนนี้ให้ได้ สำหรับมูลา ทนายคนนี้เป็นคนเดียวเท่านั้นในหมู่บ้านกัลปิที่จะช่วยเป็นที่พึ่งพาได้ 
          ทนายความคนนี้ชื่อ เดวี กูลาม อายุมากแล้วเป็นทั้งทนายความ เป็นทั้งกวี เป็นทั้งนักร้องและนักแต่งเพลง  ซึ่งหลายปีต่อมาเมื่อบุหลันเทวีกลายเป็นโจร มีชื่อเสียงโด่งดัง และถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ทนาย เดวี กูลามได้เขียนเพลงสดุดีบุหลันเทวี และร้องเพลงในที่สาธารณะจนตัวเองถูกจับ 
          เมื่อมูลาได้พบเดวี กูลาม ซึ่งอยู่ที่ตลาดในหมู่บ้านเดียวกัน เดวี กูลาม ไม่เคยได้ยินชื่อครอบครัวของเดวิดิน และ มูลา ไม่รู้จักพ่อและแม่ของบุหลันเทวีมาก่อน แต่พอได้ฟังเรื่องราวปัญหาต่างๆ เดวี กูลาม ก็ตอบตกลงยินดีจะช่วยเหลือดูแลคดีบุหลันเทวีให้ บุหลันเทวีจำไม่ได้แน่นอนว่าต้องติดคุกอยู่นานกี่วันก่อนที่ เดวี กูลาม จะมาช่วยเอาตัวออกไปได้  เงินที่จ่ายตำรวจไปก็ได้จากการยืมท่านฐากูร พูล ซิงห์ คนเดิม เงินที่จ่ายตำรวจก็ไม่มีหลักฐานว่าเป็นค่าประกันตัว เป็นค่าปรับ หรือค่าอะไร บุหลันเทวีเล่าว่าไม่รู้เหมือนกันว่าตำรวจบันทึกไว้อย่างไร เธอเองก็ไม่ได้สนใจเพราะได้ออกจากคุกมาก็นับว่าบุญแล้ว 



          ชาวบ้านอินเดียในยุคนั้นไม่มีใครที่จะกล้าหาญตรวจสอบซักไซ้ไล่เรียงพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด การทุจริตฉ้อฉลของตำรวจ และความอยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเป็นวิถีชีวิตปรกติในชนบทอินเดีย โดยเฉพาะในหมู่คนจนต่ำต้อยด้อยวรรณะและชาติกำเนิด 

          บุหลันเทวีเดินกลับบ้านท่ามกลางเสียงครหานินทาของชาวบ้าน พยายามใช้ชีวิตให้ปรกติแต่ก็สุดจะกลับสู่ชีวิตแบบเดิมได้ คนต่างถิ่นแอบแวะเวียนวนมาดูบ้านของบุหลันเทวีตามข่าวลือว่า ที่นี่เป็นบ้านของนางโจรสาว 

          บุหลันเทวีเล่าว่าส่วนใหญ่ตัวเธอเองก็จะอยู่ในบ้าน ไม่สนใจชาวบ้านหรือนักท่องเที่ยวที่อยากมาดูบ้านนางโจร เธอถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโจร ทั้งทั้งที่ไม่ได้เป็น สังคมตราหน้าและประนามเธอจนไม่สามารถจะชี้แจงเปลี่ยนแปลงอะไรได้แล้ว  บางครั้งเมื่อจำเป็นต้องออกไปทำธุระนอกบ้าน ชาวบ้านก็จะมามุงดูชี้หน้าด่าทอวิพากษ์วิจารณ์ เย้ยหยัน ตะโกนด่า ตะโกนถามด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย 

          “ฉันเองก็ด่ากลับไปอย่างหยาบคายที่สุดเท่าที่จะนึกหาคำด่าได้ แถมยกรองเท้าแตะใส่หน้า

           คนเหล่านั้น”, บุหลันเทวีกล่าวในบันทึกของเธอ 

          สำหรับประเพณีอินเดียนั้น การชูรองเท้าใส่หน้าถือเป็นการด่าที่รุนแรงไม่แพ้การด่าด้วยวาจา บุหลันเทวีมีรองเท้าและผรุสวาจาเท่านั้นที่ใช้เป็นอาวุธตอบโต้พวกชาวบ้านที่สอดรู้สอดเห็น

          “วันหนึ่ง ขณะที่ฉันกำลังกวาดขี้วัวอยู่ มีเด็กคนหนึ่งมาถามหาบ้านบุหลันเทวี  ฉันย้อนถามชื่อเด็กผู้ชายคนนั้น เด็กตอบว่าชื่อ “บุรา” ซึ่งแปลว่า “ผู้เฒ่า” เป็นชื่อที่แปลกดี เพราะเด็กคนนี้อายุคงไม่เกิน 7-8 ขวบ เราได้คุยกัน แล้วถามว่ามาหาบุหลันเทวีด้วยเรื่องอะไรกัน"  



"บุราบอกว่ามีคนให้มาบอกเตือนให้บุหลันเทวีหนีออกจากบ้านไปหากไม่ต้องการถูกพวกโจรจับตัว" 

"ฉันถามกลับไปว่าพวกโจรเหล่านั้นอยู่ที่ไหน" 

"บุราบอกว่าอยู่ที่บ้านของมิรา" 

"ฉันถามว่าบ้านนายมิราอยู่ที่ไหน" 

"บุราบอกว่าไม่รู้ บุราเดินทางข้ามแม่น้ำมาจากหมู่บ้าน คาร์ตาลา ฝั่งตรงข้ามกับหมู่บ้านกัลปิ  ฉันบอกบุราว่าบุหลันเทวีอยู่บ้านหลังถัดไป แต่ตอนนี้ไม่อยู่" 

"ก่อนฉันกับบุราจะแยกกันไป ฉันรับปากกับบุราว่าจะบอกบุหลันเทวีให้ แล้วฝากให้ไปบอกพวกโจรว่าให้มาปล้นและลักพาตัวบุหลันเทวีได้เลย เพราะบุหลันเทวีสร้างปัญหาให้กับหมู่บ้านมากมายเหลือเกิน แล้วฉันก็ชี้ไปที่บ้านของเพื่อนบ้านหลังหนึ่งที่ปิดเงียบอยู่เพราะเจ้าของไปเยี่ยมญาตินอกหมู่บ้าน แล้วบอกว่านั่นแหละบ้านของบุหลันเทวี" 



"บุราเล่นกับแพะของฉันอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็จากไป"

“ทันทีที่บุราไป ฉันวิ่งไปบอกแม่เรื่องที่ได้ฟังมาจากเด็กผู้ชายที่ชื่อบุราที่ว่าโจรจะมาลักพาตัวฉัน แม่กลุ้มและว้าวุ่นใจ แม่พูดว่าโจรที่ไหนมันจะมาลักพาตัวฉันไปทำไม? ใช่ว่าฉันเป็นคนสวยสดงดงามถึงขนาดจะล่อใจโจร ก็ไม่ใช่ ทำไมฉันจึงชอบพูดอะไรเหลวไหลแบบนี้?  ฉันพยายามย้ำแล้วย้ำอีกกับแม่ว่าทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องจริง จนในที่สุดแม่จึงยอมเล่าต่อให้พ่อฟัง พ่อกับแม่ปรึกษากันแล้วจึงตัดสินใจไปแจ้งความที่สถานีตำรวจที่ กัลปิ หลังจากพยายามอยู่นานเราก็ผ่านด่านเข้าไปแจ้งความได้ เราได้พบหัวหน้าตำรวจที่ฉันเคยเห็นหน้ามาก่อน  นายตำรวจคนนั้นถามลูกน้องว่าเด็กผู้หญิงคนนี้เป็นใคร ทำไม่มาแจ้งความถึงที่นี่ ตำรวจผู้เป็นลูกน้องบอกว่าสงสัยจะมาหาเรื่องใส่ความญาติและกรรมการสภาหมู่บ้านอีก พอฉันจะพูดทีไรพวกตำรวจก็จะห้ามไม่ให้ฉันพูดทุกที แม่ยกมือไหว้ตำรวจขอให้ช่วย แต่พวกตำรวจก็บอกให้แม่หยุดพูดอีก พวกตำรวจต่อว่าต่อขานและเย้ยหยันเราแล้วบอกให้ฉันกลับไปอยู่กับสามีคนแรกหรือไม่ก็อพยพไปอยู่ที่อื่นจะได้หมดเรื่องหมดราวกับใครต่อใครเสียที ตำรวจบอกว่าฉันมันตัวยุ่งสร้างความยากลำบากให้กับหมู่บ้านมากมาย เรารู้ว่าขืนอยู่ที่สถานีตำรวจต่อไปก็เสียเวลาเปล่า เราจึงเลิกการแจ้งความ แม่ไปเดินซื้อของแล้วเราก็กลับบ้านในที่สุด”

          ไม่กี่วันต่อมา บุหลันเทวีได้รับจดหมายฉบับหนึ่ง เธอคิดว่าคงจะต้องเป็นเรื่องสำคัญเพราะตลอดชีวิตไม่เคยมีใครเขียนจดหมายถึงเธอมาก่อนเลย และเธอเองก็ไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เธอออกไปกลางทุ่งเฝ้าคอยชีพนาเรนน้องชายซึ่งตอนนี้อายุ 11 ขวบ ยังไม่กลับจากโรงเรียน ชีพนาเรนเป็นคนเดียวในครอบครัวที่มีโอกาสเรียนหนังสือ หากน้องกลับมาเมื่อไรเธอจะได้ขอให้น้องอ่านจดหมายให้ฟัง โดยยังไม่ให้แม่รู้ 

          บุหลันเทวีเฝ้ามองข้ามทุ่งเพ่งดูชุดนักเรียนสีขาวที่ชีพนาเรนใส่ คอยว่าเมื่อไรน้องจะมา พอเห็นน้องเดินมาแต่ไกลเธอก็วิ่งลัดทุ่งไปหาแล้วทั้งคู่ก็นั่งลงริมตลิ่ง น้ำในแม่น้ำกำลังไหลเชียวเอ่อริมตลิ่ง บุหลันเทวียื่นจดหมายให้น้องชายอ่าน ชีพนาเรนอ่านจดหมายในใจเงียบๆ ดูท่าทางตื่นตระหนก 

“อ่านดังๆซิ” บุหลันเทวีบอกน้องชาย

 “จดหมายเขียนว่าไง?”  

“จดหมายเขียนบอกว่าพี่เป็นเมียน้อยท่านฐากูร พูล ซิงห์ มันบอกว่าจะต้องให้บทเรียนแก่พี่อย่างสาสม.....อย่างไม่มีวันลืม” ชีพนาเรน บอกพี่สาวดังๆ

“ต่อไป....ว่าไง?” บุหลันเทวีคาดคั้น

“เขาบอกว่าจะตัดจมูกพี่....ตัดหู....จนทำให้พี่ไม่คู่ควรกับท่านฐากูร พูล ซิงห์อีกต่อไป” ชีพนาเรน กล่าวต่อ

“ใครเป็นคนเขียนจดหมายทุเรศฉบับนี้?” บุหลันเทวีถามต่อ

          ชีพนาเรน ตรวจดูตรายางสัญลักษณ์กำกับที่ด้านล่างของจดหมายแล้วบอกพี่สาวว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำของพวกกลุ่มโจร บาบู ซิงห์ กูจาร์ ซึ่งเป็นโจรที่โด่งดังในย่านใกล้เคียงหมู่บ้าน สองพี่น้องรู้จักกิตติศัพท์ความร้ายกาจของกลุ่มโจรนี้ดี โดยเฉพาะสมุนมือขวาของบาบู ซิงห์ กูจาร์ ที่ชื่อ วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ ซึ่งใครๆก็รู้ว่าเป็นเพื่อนกับไมยาดิน  ไมยาดินผู้ซึ่งเป็นญาติที่คอยรังควานและหาเรื่องล้างแค้นบุหลันเทวีมาตลอดเวลา บุหลันเทวีทบทวนความจำย้อนเวลาในตอนนั้นได้ว่าความหวาดกลัวทำให้เธอต้องนั่งสวดมนต์ภาวนา ณ ริมน้ำนั้นขอให้พระแม่เจ้าดูรกะ จงโปรดประทานพรช่วยปกป้องคุ้มครองด้วย ชีพนาเรนน้องชายเกาะแขนพี่สาวแน่นแล้วถามว่า :

          “แล้วพี่จะทำอย่างไร?” 

          บุหลันเทวีสนิทกับน้องชายคนเดียวคนนี้มาก เพราะเป็นน้องคนสุดท้อง เธอช่วยเลี้ยงดู ป้อนข้าวป้อนน้ำ อาบน้ำแต่งตัวให้ตั้งแต่เด็ก ความทุกข์ในเวลานี้ก็มีน้องชายคนนี้เท่านั้นที่จะร่วมปรับทุกข์กันได้ แต่เงื่อนไขที่เธอได้รับการปล่อยตัวมาในตอนนี้ก็คือต้องไม่ไปมีเรื่องกับไมยาดิน ต้องไม่แม้กระทั่งเดินผ่านที่ดินของไมยาดิน จะไปขอความช่วยเหลือจากไมยาดินก็ไม่ได้ เพราะเธอเชื่อมั่นว่าไมยาดินนั่นเองที่อยู่เบื้องหลังการข่มขู่ดังที่ปรากฏในจดหมายฉบับนี้ เธอมองเห็นแววตาหวาดกลัวของน้องชายแล้วปลอบประโลมว่า 

          “ช่างเถอะ อย่ากังวลไปเลย มันก็แค่คำขู่ ไม่ทำจริงหรอก กลับบ้านกันดีกว่า” 

          ลึกๆแล้วบุหลันเทวีเชื่อว่าทั้งหมดเป็นเรื่องจริง มิใช่เพียงคำขู่ การตัดจมูก...ตัดหู... เป็นวิธีลงโทษล้างแค้นที่ทำกันเป็นประจำในพื้นที่ หญิงใดที่นอกใจสามีจะถูกลงโทษแบบนี้เสมอ บางคนเลือดไหลไม่หยุดจนตายไปก็มี การทำให้เสียโฉมอย่างถาวรจะเป็นตราบาปที่ฟ้องสังคมไปตลอดชีวิต การลงโทษผู้หญิงวิธีนี้เป็นที่หวาดผวาของหญิงชาวบ้านมาก เพราะเพียงการใส่ร้ายป้ายสีจากฝ่ายชาย สามี ญาติของสามี หรือคนที่จะหาเรื่อง นั้นทำกันได้เสมอๆ บุหลันเทวีบอกน้องชายว่าให้เงียบไว้ อย่าไปบอกแม่ เพราะเป็นเพียงวิธีขู่ให้กลัวเล่นของไมยาดินเท่านั้น หากไปบอกแม่กับพ่อก็จะทำให้ท่านหวาดกลัวไปโดยไม่จำเป็น บุหลันเทวีคิดอยู่ว่าอยากกลับไปอยู่บ้านรุกมินีผู้เป็นพี่สาว กับรัมปาลพี่เขยอีกครั้ง จะได้บรรเทาเรื่องครหาซุบซิบนินทาไปได้บ้าง 



          ยังไม่ทันที่เธอจะเอ่ยอะไรกับแม่เธอก็ได้รับจดหมายขู่ฉบับที่สอง เธอจึงตัดสินใจบอกแม่กับพ่อถึงเรื่องจดหมายข่มขู่ทั้งหมด  ทุกคนในครอบครัวจึงปรึกษาหารือกันเพื่อหาทางออก 

          เย็นวันนั้น ราเดชยาม คนรับใช้ของท่านกรรมการสภาหมู่บ้านมาเตือนว่าเรื่องที่ขู่นั้นเป็นจริงขอให้บุหลันเทวีรีบหนีไปจากหมู่บ้านให้เร็วที่สุด ราเดชยาม เป็นคนชั้นต่ำเช่นเดียวกับครอบครัวของบุหลันเทวี จึงน่าเชื่อถือได้ว่าที่มาบอกนั้นเป็นเรื่องจริง ด้วย ราเดชยาม มีความสงสารเห็นใจคนจนคนชั้นต่ำด้วยกันเอง แม่มูลาตกลงพาบุหลันเทวีไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ กัลปิ อีกครั้งหนึ่ง ทั้งๆที่เคยผิดหวังมาแล้วอย่างไม่น่าจะกลับไปทำอะไรได้อีก

          บุหลันเทวีเล่าต่อในบันทึกส่วนตัวของเธอ :

“ฉันเอาจดหมายทั้งสองฉบับให้พวกตำรวจดู เอาเอกสารประกันตัวให้ดู เล่าเรื่องที่ราเดชยามมา บอกย้ำว่าการข่มขู่นั้นเป็นเรื่องจริงๆ  นายตำรวจบอกว่าพวกโจรที่ว่านั้นตอนนี้กำลังซุ่มคอยอยู่ที่หมู่บ้านคิชันปูร์ และพร้อมที่จะบุกจับตัวบุหลันเทวีได้ทุกเมื่อ คราวนี้นายตำรวจยอมอ่านจดหมายแล้วสั่งลูกน้องให้ไปตรวจตราความปลอดภัยในหมู่บ้าน แม่ขอไปกับตำรวจด้วย แต่เขาไม่ยอม เขาบอกว่ากำลังตำรวจตอนนี้ยังไม่พอ จะส่งไปดูแลหมู่บ้านทีหลังเมื่อพอมีกำลังเหลือ ขอให้เรากลับไปก่อน กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจะตามไป ‘ในไม่ช้า’ "

“ฝนตกลงมาอย่างหนักในวันนั้น เมื่อกลับถึงบ้าน ฉันทำกับข้าว ป้อนอาหารให้น้องๆ หาอาหารให้วัว ทุกคนกินอาหารเย็นเสร็จแล้วเข้านอนอย่างฉับพลันด้วยความเหนื่อยอ่อน ฉันยังตื่นอยู่ นอนคิดว่าสงสัยเรื่องทั้งหมดอาจเป็นเพียงแค่คำขู่ก็เป็นได้ ตำรวจก็ยังไม่เห็นมาคุ้มกันหมู่บ้าน มุนนีน้องสาวนอนหลับสนิทอยู่ข้างๆ"

“กลางดึก ฉันตื่นขึ้นราวเที่ยงคืน ได้ยินเสียงเท้าคน 4-5 คนวิ่งบุกเข้ามาในตัวบ้าน ฉับแอบมองดูจากที่นอนเห็นตำรวจในเครื่องแบบในมือถือคบไฟ ฉับไปปลุกแม่ บอกแม่ว่ามีตำรวจถือคบไฟมาในบ้าน แม่บอกให้ฉันหาที่หลบซ่อนให้ดีเพราะพวกมันอาจจะไม่ใช่ตำรวจ ‘เดี๋ยวแม่จะบอกมันเองว่าลูกไม่อยู่ ไปอยู่บ้านพี่สาวแล้ว’ แม่สั่งฉันอย่างนั้น" 

“มีฟืนกองใหญ่อยู่ข้างเตา ฉันเข้าไปแอบหลังกองฟืน พวกโจรจับพ่อกับแม่มัดโยนไปที่กลางลานหน้าบ้านแล้วขู่ตะคอกถามว่า :

          ‘ลูกสาวมึงอยู่ที่ไหน?’ 



"แม่ร้องไห้แล้วบอกว่า หลังจากที่ฉันออกจากสถานีตำรวจแล้วก็เดินทางตรงไปบ้านพี่สาวเลย น้องชายของฉันก็พูดแบบเดียวกัน ทั้งคู่เลยถูกซ้อมหนัก แต่กระนั้นทั้งแม่และน้องชายก็ยืนยันคำเดิม พวกโจรขู่ดังๆว่าจะจับตัวน้องชายไป หรือว่าจะตัดหูน้องชายแล้วไม่ต้องเอาตัวไปอย่างไหนจะดีกว่า  แม่ร้องไห้โฮใหญ่ ได้ยินดังนั้นฉันเลยออกมาจากที่ซ่อนแล้วบอกว่า : 

          ‘ฉันนี่แหละบุหลันเทวี จะฆ่าฉันก็เชิญ แต่อย่าทำอะไรน้องและครอบครัวของฉันเลย’

“เมื่อฉันไปถึงกลางลานบ้าน ฉันเห็นพวกโจรประมาณ 25 คน อาวุธครบมือ ราเดชยาม คนใช้ของท่านกรรมการสภาหมู่บ้านยืนรวมกลุ่มอยู่ด้วย  ราเดชยาม คนดีที่เคยมาบอกเตือนภัยล่วงหน้า คราวนี้กลายมาเป็นคนมาชี้บ้านให้พวกโจร (ในเครื่องแบบตำรวจ)”

    



                                                               [จบบทที่ ๔]


                                           บทที่ ๕

          ฝนต้นเดือนกรกฎาคม ปี 1979 ตกไม่ลืมหูลืมตา ทางเข้าออกหมู่บ้านเละเทะเป็นทะเลโคลน นอกเหนือจากแพะกับหมาที่หลบฝนใต้ชายคา ไม่เห็นมีชาวบ้านคนไหนโผล่หน้ามาสักคน 



          บุหลันเทวีถูกลากตัวออกจากบ้านอย่างฉับพลันโดยเธอไม่ทันคิดถึงรองเท้าแตะ เท้าทั้งสองของเธอเลอะเละไปด้วยโคลนปนกับทราย  ทำให้เดินตามแรงลากของพวกโจรลำบากยากยิ่ง ทั้งมืด ทั้งแฉะ ทั้งสองมือถูกเชือกมัดแน่น ล้มลุกคลุกคลานไปตามแรงกระชากลากถูของพวกโจร บุหลันเทวีจำได้ว่าเธอพยายามทรงตัวและหาจังหวะผ่อนลมหายใจ ทำใจให้เข้มแข็ง และสงบอารมณ์ ซึ่งยากที่จะทำได้ พอจะลื่นล้มเธอก็คว้ากิ่งก้านของพุ่มไม้ รูดเอาหนามแหลมคมขยำตำเข้าเต็มมือ ในยามปรกติทางที่เธอใช้เดินไปแม่น้ำก็เพียงข้ามทุ่งไป แต่คืนนี้พวกโจรเลือกทางอ้อมผ่านช่องเขาที่รายล้อมไปด้วยพุ่มไม้พงหนาม พวกโจรลากบุหลันเทวีเดินไปอย่างเงียบๆ อาศัยพงหนามกับช่องเขาแคบๆเป็นเกราะกำบัง บาบู ซิงห์ กูจาร์ เดินนำหน้า พวกลูกน้องทั้งหลายเดินตามเป็นแถวตอนเรียงหนึ่ง พอดีกับช่องทางเดินระหว่างเนินนั้น คนข้างหลังจะผลักเธอให้เร่งเดินเป็นระยะๆ บางทีก็ใช้มือ บางทีก็ใช้ด้ามปืน คล้ายกับจะเตือนให้รู้ว่าเธอคือนักโทษที่ถูกจับตัว และพวกมันจะไม่มีความปราณีใดๆให้ทั้งสิ้น เธอมั่นใจว่าโจรพวกนี้ทำตามคำสั่งของไมยาดิน และที่ทำก็เป็นเพียงการทำเพื่อตอบแทนบุญคุณของไมยาดินเท่านั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่าทำตามที่ถูกขอให้ทำ เพราะหากได้ตอบแทนบุญคุณไมยาดินด้วยการลักพาตัวบุหลันเทวีไปในครั้งนี้ก็จะหมายความว่าในเวลาข้างหน้าพวกมันก็จะได้ผลประโยชน์อื่นๆจากไมยาดินเป็นการตอบแทนกลับ เพราะไมยาดินในเวลานี้คือผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงอิทธิพล มีเส้นสายบารมีเหนือกรรมการสภาหมู่บ้านทั้งปวง 

          เทียบกับตัวบุหลันเทวีแล้ว เธอไม่มีค่าอะไรเลย 

          พวกโจรพาบุหลันเทวีเดินไป รวมระยะทางทั้งหมดราว ๓๐-๓๕ กิโลเมตร เหนื่อยจนสิ้นแรงก้าวขาต่อไปไม่ไหว จนล้มพับลง ทุกคนเลยต้องหยุด เธอร้องขอให้ บาบู ซิงห์ กูจาร์ หยุดพัก เธอจะได้พักบ้าง แต่มันก็ไม่ยอม แถมก็เอาด้ามปืนทิ่มไปที่หว่างขาของเธอ พร้อมทั้งหัวเราะชอบใจกันยกใหญ่ 



          แล้วมันก็ตบหน้าเธอฉาดใหญ่! 


          บาบู ซิงห์ กูจาร์ เรียกหามีด แล้วขู่ว่าจะตัดจมูกของเธอ เธอขอร้องว่าหากไม่ตัดจมูกเธอจะยอมเดินทางไปด้วยโดยดี บุหลันเทวีเล่าว่า ในวินาทีที่เธอถูกตบหน้าอย่างแรงนั้นเกิดมีพลังเข้มแข็งภายในจิตใจขึ้นอย่างประหลาด เธอหยุดร้องไห้ทันที หนึ่งในพวกโจร ดูเหมือนจะเป็นลูกน้องมือขวา หรือรองหัวหน้าของบาบู ซิงห์ กูจาร์ เข้ามาช่วยพยุงเธอให้ลุกขึ้นจากพื้น ดูสีหน้าแล้วรู้สึกว่ามันจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิงอย่างที่บาบู ซิงห์ กูจาร์ทำด้วยซ้ำไป  
          บุหลันเทวีรู้สึกคล้ายกับว่าได้เคยพบหน้าโจรคนนี้มาก่อนที่ไหนสักแห่ง แต่นึกไม่ออก ยังไม่ทันที่เธอจะเอ่ยปากพูดอะไร โจรคนนี้ก็บอกให้เดินต่อไป ไม่ต้องพูดอะไร เมื่อเดินมาถึงริมฝั่งแม่น้ำยมุนา มีเรือที่ลักษณะเป็นแพขนาดใหญ่จอดเทียบฝั่งอยู่ ในยามปรกติแพแบบนี้จะมีไว้ขนส่งอูฐและสัมภาระข้ามฝากแม่น้ำ ในเส้นทางจากแคว้น(หรือรัฐ)ราชาสถาน ผ่านอุตระประเทศ (อุดรประเทศ-แคว้นหรือรัฐเหนือ) ต่อไปยังมัธยประเทศ (มัธยมประเทศ-แคว้นหรือรัฐกลาง) อันเป็นเส้นทางการเดินทางค้าขายต่อเนื่องมาตั้งแต่โบราณกาล 
          น้ำกำลังไหลเชี่ยว และล้นเอ่อท่วมตลิ่ง ทุกคนลงไปในแพเนื้อตัวเปียกโชกกันทั่วถ้วน บุหลันเทวีถูกสั่งให้นอนราบกับท้องแพ เธอทำตามโดยไม่ขัดขืน นอนราบลงบนท้องเรือแพที่เปียกโชกไปด้วยน้ำผสมขี้อูฐ พวกโจรนั่งบนกระดานที่พาดขวางขอบแพ บุหลันเทวีจำย้อนหลังได้ว่าตอนนั้นเธอนอนราบอยู่ท่ามกลางรองเท้าบูทของพวกโจร พวกโจรเริ่มพูดคุยกันบ้าง เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนไม่มีเธอนอนราบอยู่ที่ท้องแพ ได้ยินมันพูดกันถึงชื่อเมืองกานปูร์ เธอจึงนึกออกว่า โจรที่เธอคิดว่าเคยเห็นหน้าที่ไหนนั้น ที่แท้ก็ที่กานปูร์นั้นเอง เมื่อสองสามปีก่อน ตอนที่เธอไปกานปูร์กับไกลาช ไปร้านน้ำชา เห็นไอ้โจรคนนี้เล่นไพ่อยู่ร่วมโต๊ะกับไกลาชนั่นเอง จำได้ว่าเธอไม่อยากเชื่อด้วยซ้ำที่ไกลาช ชายชู้คนแรกของเธอบอกว่า พวกคนที่เล่นไพ่ด้วยที่ร้านน้ำชานั้นทั้งหมดคือเพื่อนๆที่เป็นโจรชื่อดังแห่งอุตระประเทศ 

          บุหลันเทวีเล่าว่าเรือที่มีลักษณะเป็นแพขนส่งอูฐนั้น พาเธอกับพวกโจรล่องไปตามน้ำไปขึ้นฝั่งอีกด้านหนึ่ง เธอจำไม่ได้ว่าแพล่องลำน้ำไปนานและไกลเท่าใด ความหวาดกลัว ระคนกับความตื่นเต้นทำให้ความคิดของเธอเรื่องกาลเวลาและระยะทางบูดเบี้ยวผิดเพี้ยนไปสิ้น 



          ๕ นาที?   หรือ ๑๕ นาที?   ๕ กิโลเมตร?   ๑๐ กิโลเมตร? 


          แยกไม่ถูก คิดไม่ออด นับไม่ได้ ไม่รู้เรื่องอะไรเลย เธอสั่นไปทั้งตัว พูดอะไรไม่ออก 


          บาบู ซิงห์ กูจาร์ จ่ายเงินค่าเรือให้กับเจ้าของเรือสองคน เห็นเงินเป็นมัดใหญ่ คนเรือทั้งสองคนก้มลงแตะเท้าของบาบูแสดงความคารวะ ตลอดเส้นทางคนเรือทั้งสองจะเรียกบาบู ซิงห์ กูจาร์ ว่า “ฐากูร ซาฮิบ”  บุหลันเทวีแอบสังเกตุหน้าตาท่าทางของ บาบู ซิงห์ กูจาร์ หรือ ฐากูร ซาฮิบ ว่าดูเป็นคนผิวหยาบกร้าน เตี้ยกว่าที่คาด เขาสั่งให้เธอขึ้นจากเรือ วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ ตัดเชือกที่มัดมือเธอออก แล้วคณะโจรก็พาเดินทางฝ่าดงหญ้าสูงและโคลนปนทรายต่อไป

          วันแล้ววันเล่า พวกโจรเคลื่อนย้ายค่ายพักแรมอยู่เสมอๆ บางทีก็ขนข้าวปลาอาหารไปทำกินเอง บางทีก็แวะกินที่หมู่บ้านเล็กๆที่ชาวบ้านเป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือเจือจาน บางทีก็กินที่บ้านของสายลับของโจรด้วยกันในชุมชน  เวลาที่พวกโจรเข้าหมู่บ้าน บุหลันเทวีจะต้องคอยอยู่ที่ช่องทางเดินระหว่างเนินเขานอกหมู่บ้านโดยมีโจรสองคนพร้อมอาวุธเฝ้าอยู่ จะหาที่พักผ่อนหลับนอนซ่อนตัว หลบฝนซอกมุมไหนได้เธอก็จำต้องทำ  ส่วนบาบู ซิงห์ กูจาร์ นั้นมีผ้าพลาสติกขึงเป็นที่บังฝนนอนสบายกว่าคนอื่น คนอื่นๆนอนกลางแจ้ง หากใครได้นอนใต้ต้นไม้ก็โชคดีไป 



          และภายใต้หลังคาผ้าพลาสติกนี้เองที่บาบู กูจาร์ ข่มขืนเธอซ้ำแล้วซ้ำอีกในสองวันแรกที่เธอถูกจับตัวมา เธอพยายามต่อสู้ขัดขืน แต่บาบู กูจาร์ แข็งแรงราวกับวัว ยิ่งขัดขืนก็ยิ่งดูเหมือนว่าบาบู กูจาร์จะชอบหนักเข้าไปอีก และทำให้เธอเจ็บตัวหนักยิ่งขึ้น พอบาบูข่มขืนเธอเสร็จก็จะไล่เธอออกไปนอนกลางแจ้ง 


          บุหลันเทวีไม่ยอมร้องขอความช่วยเหลือจากใครทั้งสิ้น ด้วยความอับอาย 

          ตอนเย็นวันที่สองที่ถูกจับมา บาบู กูจาร์เมาหนัก มันกระชากแขน ลากตัวบุหลันเทวีส่งผ่านพวกโจรทีละคนแล้วถามว่าใครอยากได้ 



          “ลองลิ้มรสนางโสเภณีชั้นต่ำวรรณะสูดรา” ดูบ้าง 


          วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ เข้ามาตัดบท ควบคุมมิให้บาบู กูจาร์ ผู้เป็นหัวหน้าทำอะไรที่เกินเลยไปอีก และบอกกับสมุนโจรคนอื่นว่าอย่าทำอะไรที่ไม่บังควรกับบุหลันเทวีแบบที่หัวหน้าทำไปอย่างเด็ดขาด บาบู กูจาร์แสดงความไม่พอใจที่อำนาจของตนถูกท้ายทายโดยสมุนมือขวา แต่ก็ไม่กล้าทำอะไรเพราะรู้ดีว่า วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ มือขวาของเขานั้นมีพวกหนุนหลังอยู่หลายคน จนต้องได้รับการเลื่อนขั้นขึ้นมาเป็นรองหัวหน้าอยู่ในตอนนี้ บาบู กูจาร์ ผลักบุหลันเทวีออกไปข้างๆ แล้วหันหลังกลับไปหาขวดเหล้าต่อไป เวลาที่เหลือนั้นตึงเครียดตลอดทั้งคืน แต่บาบู กูจาร์ก็ไม่กล้ากล้ำกรายอะไรกับเธออีก บาบู กูจาร์ หลับไปเพราะฤทธิ์เหล้า บุหลันเทวีรู้สึกปลอดภัยก็เพียงชั่วคราวเท่านั้น

          บุหลันเทวีเล่าว่า :

“เมื่อเราเดินทางถึงหมู่บ้าน “นารฮาน” พวกโจรเอาเสื้อกันฝนปูพื้นเตรียมพักผ่อน ถึงตอนนี้ฉันเริ่มรู้ว่าพวกนี้เป็นโจรปล้น*จริงๆ ฉันได้ยินมันคุยกัน มันบอกว่ามันจะไม่ฆ่าฉันหรอกแต่จะปล่อยตัวฉันหลังจับไว้สี่วัน ตอนนั้นฉันได้ยินบาบู ซิงห์  ถามพวกสมุนว่าควรจะตัดจมูกฉันดีไหม  มันเตือนให้ฉันให้อยู่นิ่งๆเงียบๆ หากพยายามหนีมันจะฆ่าฉันทิ้งจริงๆ ฉันกลัวมาก แล้วบอกมันว่าฉันไม่หนีหรอก ขออย่าทำร้ายร่างกายฉันก็แล้วกัน”

“พวกมันเริ่มทะเลาะแก่งแย่งตัวฉันกัน วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ สั่งไม่ให้ใครแตะต้องตัวฉัน แต่บาบู ซิงห์บอกว่าจะขอเอาตัวฉันไว้บำเรอ พวกมันถกเถียงกันจนตกลงว่าจะไม่มีใครแตะต้องตัวฉันนานแปดวัน จากนั้นฉันต้องไปอยู่กับทุกคนที่อยากได้ฉัน แต่ว่า วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ ตอนนั้นกำลังคิดจะกำจัดบาบู ซิงห์ กูจาร์ อยู่  สามวันจากนั้น ก็สบโอกาส แล้ววิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ ก็ลอบฆ่า บาบู ซิงห์ กูจาร์ ได้สำเร็จ”

            เหตุเกิดที่หมู่บ้าน มังกัลวาลา ธนา  ในเขตอำเภอ ออร์ไรยา เมือง เอตาวาห์  วันที่ ๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๗๙ ( พ.ศ. ๒๕๒๒) วันที่บาบู ซิง กูจาร์ หัวหน้าโจรถูกลูกน้องมือขวาฆ่า เมื่อฆ่าเสร็จ วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ ก็กวาดเอาอาวุธปืนเมาเซอร์ไปทั้งหมดเท่าที่มีอยู่สามกระบอก เดินทางต่อไปที่หมู่บ้าน อัสตา ที่นั่น วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ แจกเงินให้ลูกน้องทุกคน บุหลันเทวีคิดว่าวิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ ฆ่าหัวหน้าของเขาเองเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของเธอ วันนั้นเป็นวันที่สามที่บุหลันเทวีถูกลักพาตัวมา ความตึงเครียดระหว่างวิกรัม กับ บาบู ทวีมากขึ้นและชัดเจนต่อหน้าสมุนโจรทั้งหลาย พวกโจรย้ายที่พักแรมไปอีกแห่ง บุหลันเทวีถูกสั่งให้ทำหน้าที่แม่ครัว ทำอาหารจากกองไฟที่จุดขึ้นชั่วคราว มีไฟอีกกองหนึ่งจุดขึ้นสำหรับให้ความอบอุ่นกับพวกสมุนโจรที่นั่งล้อมวงรอบกองไฟนั้น นับจำนวนโจรทั้งหมดได้ ๒๕ คน บาบู ซิงห์เริ่มกินเหล้าเมาอีก เริ่มต่อว่าต่อขานวิกรัม ซิงห์ ว่าควรจะสำนึกบุญคุณที่ได้รับแต่งตั้งเป็นถึงรองหัวหน้าโจร ไม่ควรจะมาทำใหญ่ขวางทางขวางอารมณ์บาบู ซิงห์ กูจาร์ 
          ตอนแรก วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ ก็แสดงอาการเฉยเมยต่อคำลำเลิกบุญคุณของบาบู ซิงห์  ดังนั้นแล้ว บาบู ซิงห์ ก็เลยทำเป็นไม่แยแสต่อข้อตกลงที่ว่าทุกคนจะไม่ไปยุ่งกับบุหลันเทวีเป็นเวลาแปดวัน 

          บาบู ซิงห์ บอกวิกรัม ซิงห์ ว่า “คืนนี้มีอารมณ์” อยากได้บุหลันเทวีมาบำเรออีก 

          “ไอ้หมามัลลาห์ตัวไหนก็อย่ามาขวางกูเลย!” บาบู ซิงห์ ประกาศก้อง

          ถึงจุดนี้ วิกรัม ซิงห์ ทนไม่ไหว ย้อนกลับไปว่า :

          “ฐากูร ซาฮิบ”, วิกรัม ซิงห์ กล่าว พร้อมเอ่ยชื่อชาติกำเหนิดของบาบู ซึ่งเกิดในชาติตระกูลเทียบเท่า “ฐากูร” ในวรรณะกษัตริย์หรือนักรบ ตามด้วยคำว่า “ซาฮิบ” อันเป็นการแสดงความเคารพ 

          “ไปยุงเกี่ยวทำร้ายบุหลันเทวีมันทำไมอีก แค่นี้มันก็กลัวจนผวาแล้ว ยังไม่พออีกหรือ?”

          “มันกลัวจนผวาหรือ? ทำร้ายอะไรมันหรือ?”, บาบู ซิงห์ ยียวนกวนประสาท แล้วพูดต่อ

          “กูจะทำให้มึงรู้ว่า ใครกันแน่ที่ใหญ่สุดที่นี่ จะสอนให้รู้ว่าไอ้สมุนพวกนี้เป็นลูกน้องของกูฐากูร 
          หรือว่ามันจะเป็นลูกปลาชั้นต่ำ [๒]”

           ว่าแล้วบาบู ซิงห์ ก็เอื้อมมือไปจับด้ามปืนที่เข็มขัดคาดเอว เป็นปืนไรเฟิลแบบเมาเซอร์ ขนาด .๓๐๓ ม.ม. แต่ก็ไม่ทันความไวของ วิกรัม ซิงห์  กระสุนเพียงนัดเดียวจากปืนของ วิกรัม ซิงห์ จบชีวิต บาบู ซิงห์ กูจาร์ หรือ “ท่านฐากูร” โดยฉับพลัน สมุนอีกสองคน ซึ่งเป็นญาติห่างๆกับบาบู ซิงห์ ทำท่าขยับปืนก็โดนกระสุนของวิกรัม ซิงห์ ล้มคว่ำคลุกกองเลือดในเสี้ยววินาที

          บุหลันเทวีตะลึงงัน ศพโจรสามศพโชกเลือดแน่นิ่งอยู่ต่อหน้า 

          เธอมีความรู้สึกว่าเกียรติภูมิลูกผู้หญิงวรรณะต่ำอย่างเธอถูกกู้กลับคืนมาแล้วในบัดดล  


          ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเห็ยผู้ชายคนไหนปกป้องศักดิ์ศรีของลูกผู้หญิงเท่ากับที่วิกรัมซิงห์ทำเพื่อผู้
          หญิงวรรณะต่ำอย่างเธอในครานี้ 

          บุหลันเทวีขยับตัวเข้าใกล้วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ ก้มลงเอามือแตะเท้าชายผู้กู้ศักดิ์ศรีของเธอด้วย

          ความรู้สึกสำนึกในพระคุณ

          บรรยากาศเงียบสงัดลงชั่วขณะ และแล้ว ภารต ซิงห์ กับ มาโธ ซิงห์ คนสนิทของวิกรัม ซิงห์ โผเข้ากอด วิกรัม ซิงห์  พร้อมกับตะโกนก้อง 

          “ไชโย ไชโย!  วิกรัม มัลลาห์!  ไชโย!” 

          สมุนโจรคนอื่นๆผสานเสียง ไชโย! ตามจนก้องป่า 

          วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ คือหัวหน้าแก๊งค์โจร "ดาคอยต์" คนใหม่ นับแต่วินาทีนี้

          แม้ว่าจะไม่มีเสียงโต้แย้งดังๆออกจากปากสมุนคนใด แต่ก็มีความรู้สึกอึดอัดอยู่ไม่น้อยในหมู่พวกสมุนฝ่าย บาบู ซิงห์ เดิมที่เป็นคนในวรรณะสูงกว่า  บาบู ซิงห์ เกิดในชาติตระกูล “กูจาร์” เทียบเท่าชาติ “ฐากูร”  ซึ่งจัดอยู่ในวรรณะนักรบ หรือวรรณะ “กษัตริย์” มีสมุนโจรหลายคนที่ บาบู ซิงห์ ชวนมาร่วมงานด้วย ล้วนมาจากวรรณะกษัตริย์เช่นเดียวกัน ที่เหลือจำนวนไม่มากมาจากชาติกำเนิดต่ำ ภายใต้การนำของของบาบู ซิงห์ การจัดลำดับชั้นของโจรในกลุ่มจะเป็นไปตามฐานะทางสังคมชนชั้น ชาติกำเนิด และวรรณะ เช่นเดียวกับชาวบ้านในหมู่บ้านทั่วไป ดูตามสภาพสังคมแล้ว วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ จัดอยู่ในวรรณะต่ำสุด คือวรรณะ “สูดรา”,  ส่วน ภารต ซิงห์,  มาโธ ซิงห์, บุหลันเทวี และสมุนโจรอีกจำนวนหนึ่งก็อยู่ในชาติและวรรณะต่ำสุดเช่นเดียวกัน, เมื่อได้ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าแทนบาบู ซิงห์ ก็ถือว่า วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ กลับหัวกลับหางระบบวรรณะในสังคมโจรดาคอยต์ หากเปรียบโดยจำนวนคน เป็นสัดส่วนกับชาติและวรรณะดูจะเกิดการถ่วงดุลย์ทางอำนาจกับดุลย์ทางสังคมอย่างพอเหมาะพอดี ภารต ซิงห์ และ มาโธ ซิงห์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้า เป็นเสมือนมือขวา มือซ้าย ของ วิกรัม ซิงห์ ทั้งสามคนเกิดในชาติ "มัลลาห์" หมายถึงชาติตระกูลครอบครัว "คนหาปลา" เหมือนกัน  


          ในระยาวการปรับโครงสร้างอำนาจและสังคมวรรณะในกลุ่มโจรครั้งนี้จะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงเกินกว่าที่เหล่าโจรฝ่ายวรรณะกษัตริย์จะคาดถึง 
          ทว่า ณ คืนเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๗๙ (พ.ศ. ๒๕๒๒) คืนนี้ ยังไม่มีใครจะอาจล่วงรู้อนาคตได้ พวก ฐากูร และ กูจาร์ ล้วนไม่รู้อนาคตทั้งสิ้น 
          พวกฐากูร และ กูจาร์ ร่วมโห่ร้องแสดงความยินดีต้อนรับหัวหน้าโจรคนใหม่ วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ คนหาปลาต่ำชาติวรรณะ ขึ้นมาผงาดเหนือพวกวรรณะกษัตริย์ด้วยเหตุการณ์ที่พลิกผันชั่วข้ามคืน บางทีอาจเป็นเพราะเหล่าสมุนโจรวรรณะสูงคิดว่าเรื่องที่ขัดแย้งจนต้องฆ่ากันเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องแย่งผู้หญิงกัน ระหว่างคนสองคน มากกว่าจะเป็นเรื่องระหว่างวรรณะหรือชาติกำเนิด
          สมุนโจรสองคนที่ถูกยิงตายไปพร้อมกับบาบู ซิงห์ คนหนึ่งร่างเล็ก เตี้ย อายุอยู่ในวัยรุ่น วิกรัม ซิงห์ สั่งให้ ภารต ซิงห์ ถอดเสื้อผ้าและรองเท้าออกจากศพ บอก มาโธ ให้ค้นเงินในกระเป๋าเสื้อผ้า 



          แล้วส่งเสื้อผ้าชุดนั้นพร้อมรองเท้าให้กับบุหลันเทวี พร้อมสั่งว่า:

          “บุหลัน เปลี่ยนเสื้อผ้าซะ เราต้องย้ายค่ายพักแรมไปที่อื่น ที่นี่เป็นที่โชคร้าย”

          วันนี้เป็นวันที่สับสนและหวาดผวามากสำหรับบุหลันเทวี เธอจำยอมสวมใส่เสื้อผ้าที่เลือดยังอาบชุ่มอยู่ทั่วไป เป็นชุดเครื่องแบบตำรวจสีกากี รองเท้าผ้าใบเป็นแบบที่เขาใช้วิ่งออกกำลังกายกัน แรกเริ่มเธอก็ขยาดไม่กล้าและไม่อยากใส่เสื้อผ้าของคนตาย แต่เมื่อใส่แล้วก็รู้สึกสบาย เพราะรองเท้านุ่มช่วยให้เดินสบายกว่าเท้าเปล่ามากนัก เสื้อผ้าชุดตำรวจก็ช่วยปกปิดร่างกาย กันหนามเกี่ยวระหว่างเดินทางฝ่าพงหนามที่เรียงรายสองข้างร่องเขาเป็นอย่างดี บุหลันเทวีรู้สึกขอบคุณ วิกรัม ซิงห์ มาก ที่เอาใจใส่และมีเมตตาต่อเธอ 

          ในคืนนั้น ณ ที่พักแรมแห่งใหม่ วิกรัม ซิงห์ บอกบุหลันเทวีว่าจากนี้ต่อไปเธอจะเป็น "ผู้หญิงของเขา" ไม่มีสมุนโจรคนใดจะมาล่วงเกินเธอได้ วิกรัม ซิงห์ สั่งให้บุหลันเทวีนอนใต้ร่มผ้าพลาสติกที่เคยเป็นของบาบู ซิงห์  แต่มาบัดนี้ตกเป็นสมบัติของวิกรัม ซิงห์แล้ว  เขาสั่งให้บุหลันเทวีนอนข้างๆตัวเขา แม้จะเป็นคำสั่ง แต่บุหลันเทวีก็ทำตามโดยสงบ มันเป็นคำสั่งที่ไม่เหมือนคำสั่ง มันนุ่มนวล สุภาพ ไม่น้ำเสียงของการวางอำนาจแต่อย่างใดเลย ทันทีที่บุหลันเทวีเอนกายลงนอนข้างวิกรัม ซิงห์ เธอก็ประหลาดใจ วิกรัม ซิงห์พล๋อยหลับไปอย่างรวดเร็ว มือข้างหนึ่งกุมปืนแน่น

          บุหลันเทวีเล่าในบันทึกย้อนอดีตของเธอว่า :

“ตอนนี้พวกโจรเหลือจำนวนเพียง ๑๕-๑๖ คน พวกสมุนโจรเตือนฉันว่าอย่าได้แส่หาเรื่อง ไม่อย่างนั้นจะถูกฆ่าแน่ ฉันต้องเป็นนางเมียบำเรอของวิกรัม ซิงห์ ไม่อย่างนั้นก็จะโดนฆ่าอีกเช่นกัน ฉันก็ตกลงตามที่ว่า จากนั้นไปเป็นเวลานานหกเดือนพวกโจรเฝ้าจับตามองฉันไม่คลาดสายตา เผื่อว่าฉันจะหาทางหลบหนี”

“ฉันมันเพียงแค่สมบัติชิ้นหนึ่ง ไม่มีทางเลือกอย่างอื่นหรอก”

     



                                                                [จบบทที่ ๕]




                                                                 บทที่ ๖

          วันรุ่งขึ้นหลังจากที่บุหลันเทวีถูกลักพาตัวออกจากบ้านไป มูลาผู้เป็นแม่ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเมืองกัลปิและบอกชื่อโจรบางคนที่จำได้ แต่ตำรวจไม่ยอมฟัง แถมยังไล่ให้ไปให้พ้นโรงพักไม่ต้องมาเสียเวลาเรื่องลูกสาวแสนเลวของแก ตามบันทึกของตำรวจ บุหลันเทวีมิได้ถูกลักพาตัวแต่หนีการประกันตัว ท่านฐากูร พูล ซิงห์ จะต้องถูกริบเงินค่าประกัน ๒๐,๐๐๐ รูปี หากบุหลันเทวีไม่มาแสดงตัวที่สถานีตำรวจเมื่อถึงกำหนด  มูลากลับบ้านด้วยความเศร้า ไม่รู้จะบอกกับสามีถึงเรื่องที่ถูกไล่กลับมาจากสถานีตำรวจอย่างไรดี เมื่อกลับมาถึงหมู่บ้านก็พบว่าไมยาดินกระจายข่าวให้ลือกันไปทั่วแล้วว่าบุหลันเทวีหนีตามพวกโจรไป ไมยาดินบอกกับกรรมการสภาหมู่บ้านว่าการที่บุหลันเทวีไปกับพวกโจรครั้งนี้เป็นการพิสูจน์ว่าบุหลันเทวีมีส่วนร่วมกับแก๊งค์คนร้ายในการบุกบ้านของไมยาดินแน่นอน ไมยาดินบอกให้ตำรวจบันทึกไว้ว่าบุหลันเทวีเป็นอาชญากรที่ต้องตามจับตัวให้ได้  
          ส่วนบุหลันเทวีนั้น จากบันทึกและจดหมายส่วนตัวของเธอ และจากคำบอกเล่าของญาติพี่น้องในเวลาต่อมา หลังจากวันที่เธอสวมชุดใหม่กลายเป็น "ผู้หญิงของ วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์" แล้ว วันรุ่งขึ้น - เหนื่อยทั้งกายเพลียทั้งใจ ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร - เป็นวันแรกที่เธอตื่นเองโดยไม่มีพวกโจรมาปลุก พวกโจรตื่นกันหมดทุกคนแล้ว บุหลันเทวีเห็นบางคนนั่งนับเงินจำนวนมากและโต้เถียงอะไรกันอยู่ บางคนก็ไปก่อไฟ  ภารต ซิงห์  เอาชาร้อนมาให้ถ้วยหนึ่ง เมื่อคืนเขายังเอาถุงเท้ายาวแบบทหารมาให้คู่หนึ่งเพื่อว่าใส่แล้วรองเท้าจะคับพอดี พวกโจรทำรายการข้าวของที่ต้องการซื้อ มีพวกกระสุนปืน ผ้าห่ม เครื่องรับวิทยุที่ดีกว่าเครื่องเดิม  ผ้าพลาสติกสำหรับกางกันฝน ฯลฯ วิกรัมไม่พอใจที่พวกลูกน้องมาแย่งเงินจากคนตาย เขาเตือนลูกน้องว่าแต่ไหนแต่ไรมาก็ไม่เคยทะเลาะกันเรื่องเงินมาก่อน ทำไม่ต้องมาถกเถียงกันเรื่องเงินคนตาย เขาเองไม่เคยคิดจะฆ่าเพื่อนร่วมหมู่โจรเพราะต้องการเงิน ที่จริงไม่ควรแตะต้องเงินของคนตายเลย ไม่ควรเอาไปใช้จ่ายอะไรทั้งสิ้นเพราะจะนำมาแต่ความโชคร้าย วิกรัมบอกให้เอาเงินนั้นไปแจกจ่ายให้คนจนในหมู่บ้าน เพราะจะทำให้โชคร้ายกลายเป็นดี ชาวบ้านก็จะได้ชื่นชมยินดี แล้วชาวบ้านจะกลายเป็นฝ่ายนิยมยกย่องและสนับสนุนการปล้นของพวกเขาต่อไปอย่างภักดี ในเมื่อความคิดของวิกรัมเป็นความไม่เห็นแก่ตัว พวกสมุนโจรก็จำยอมทำตาม โดยจะเอาเงินที่ได้มาจากบาบู ซิงห์ กูจาร์ และสมุนคนสนิทอีกสองคนที่ถูกวิกรัม ยิงตาย ไปแจกจ่ายในหมู่บ้าน แม้บางคนอาจจะขอแบ่งเอาไว้ใช้เท่าที่จำเป็นในยามฉุกเฉินบ้างก็ตาม 

          พอรุ่งสางกลุ่มโจรทั้งหมดก็เดินทางไปยังหมู่บ้าน อัสตา ที่อยู่ไม่ไกลนัก ชาวหมู่บ้านอัสตาเป็นคนยากจนวรรณะต่ำ เป็นชุมชนที่มีสายของพวกโจรอยู่คอยหาข่าวและจัดส่งเสบียงอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ต่างให้เป็นประจำมานานแล้ว การที่วิกรัมเลือกหมู่บ้านอัสตาเป็นที่แจกจ่ายเงินแสดงถึงการให้ความสำคัญต่อบทบาทของชนวรรณะต่ำในกิจกรรมการปล้นของเขามากขึ้นทันทีที่เขาได้เป็นหัวหน้าแก๊งค์ "โจรดาคอยต์" หรือ "โจรปล้นบนทางหลวง" แห่งแคว้นอุตระประเทศ การเปลี่ยนวรรณะของตำแหน่งหัวหน้าโจรครั้งนี้แม้วันนี้ยังไม่มีใครแสดงความไม่พอใจ แต่ในกาลข้างหน้าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องขัดแย้งใหญ่โตต่อไป พวกโจรเลือกเส้นทางเดินเข้าหมู่บ้านที่ไม่ซ้ำกับทางปรกติที่ตำรวจและชาวบ้านใช้กัน บุหลันเทวีสวมชุดสีกากีกลมกลืนไปกับพวกผู้ชาย เมื่อไปถึงหมู่บ้าน วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ ตะโกนประกาศผ่านเครื่องโทรโข่งต่อหน้าชาวบ้าน :

          “เราเป็นผู้สงสารและเห็นใจคนจน เราสาบานตนว่าจะเป็นศัตรูกับคนรวยตลอดไป 

          เรามาเพื่อให้  ไม่ใช่มาเพื่อมาเอา  ไม่ต้องกลัวพวกเรา” 

          สมุนโจรวัยรุ่นยิงปืนขึ้นฟ้าอย่างร่าเริง วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ ส่งเสียงตะโกนต่อไป ....  

          “เราไม่ใช่ตำรวจ เราก็พวกคนจนเหมือนพี่น้องทั้งหลาย 

           ไม่มีอะไรจะต้องมาหวาดกลัวพวกเรา” 

          พวกเด็กๆได้ยินเสียงปืนและเสียงประกาศก้องทางโทรโข่งก็วิ่งมาดูกันเป็นกลุ่มแรก 

          บุหลันเทวีเดินตามขบวนโจรเข้าหมู่บ้าน
          เสมือนเป็นพวกโจรด้วยกันอย่างเป็นทางการแล้วในวันนี้ 


          เธอแอบสังเกต วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ ด้วยความทึ่งในบุคคลิกที่หนุ่มแน่นกระฉับกระเฉง มั่นใจในตนเอง ดูคล่องแคล่วเหมือนคนคุ้นเคยและเป็นที่ชื่นชมในบรรดาชาวบ้านที่นี่เป็นอย่างดี  วิกรัมเดินเข้าหมู่บ้านไปพลางคุยกับลูกน้องไปพลาง แล้วอุ้มเด็กผู้หญิงตัวน้อยๆคนหนึ่งชูขึ้น ดูน่ารักและเป็นกันเอง เด็กน้อยก็ดูจะตื่นเต้นต่อการได้รับความสนใจเป็นพิเศษในครั้งนี้ ชาวบ้านที่เป็นผู้ใหญ่ที่พบสองคนแรกเป็นหญิงสูงอายุสองคนนั่งดื่มน้ำชาอยู่บนเตียงสานด้วยเชือกหน้าบ้าน ทั้งสองมองดูพวกโจรอย่างสนใจแต่ไม่แสดงอาการหวาดหวั่นพรั่นพรึงอันใด อาจเป็นเพราะเห็นเด็กๆเดินตามกันมาเป็นพรวนอย่างคึกคักสนุกสนานจึงไม่น่าจะเป็นเรื่องน่ากลัวอะไร วิกรัมเดินแยกจากขบวนเข้าไปหาหญิงชราทั้งสอง ยกมือไหว้แล้วก้มลงสัมผัสเท้าของหญิงชราทั้งสองเป็นการแสดงความเคารพแล้วสั่ง ภารต ซิงห์ ให้มอบเงินจำนวนหนึ่งให้ผู้ชราทั้งสอง  

          “กรุณารับเงินจำนวนนี้เสมือนว่ามาจากลูกชายคนหนึ่งของท่าน”,

           วิกรัม ซิงห์ กล่าวอย่างนอบน้อม

          ภารต ซิงห์ ส่งเงินมัดใหญ่ให้ หญิงชราทั้งสองปูผ้าเชื้อเชิญให้วิกรัมและทุกคนนั่งรับเลี้ยงเป็นการแสดงน้ำใจตอบแทน ชาวบ้านจำนวนมาก อาจถึงครึ่งของหมู่บ้าน มาห้อมล้อมร่วมวงเสวนากับพวกโจรด้วยอย่างคึกคัก 

          เรื่องเล่าและตำนานเกี่ยวกับชุมโจรทั้งหลาย ทั้งการปล้น ฆ่า และ แจกจ่ายเงินช่วยคนจน มีมากมายในแถบเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ของอินเดีย โดยเฉพาะในแถบ “หุบเขาจัมบาล” (Chambal Valley) จริงบ้าง เล่ากันเกินความไปบ้าง ทั้งเรื่องโจรที่ชาวบ้านกลัว และโจรที่เป็นขวัญใจชาวบ้าน สร้างเป็นภาพยนตร์ฮินดีจากเมืองบอมเบย์ หรือ มุมไบ [๑] ก็มีมากมาย วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ เกิดและเติบโตในพื้นที่หุบเขานี้จึงภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของตำนาน เขาจึงแสดงตนเป็นหัวหน้าโจรผู้มีเมตตาต่อหน้ามวลหมู่ชาวบ้านผู้ยากจนได้อย่างธรรมชาติ บุหลันเทวีเล่าว่า วิกรัม เรียกตัวเองว่า “วิกรัม ซิงห์ มัสตานา” หมายถึงบุคคลผู้ซึ่งพอแล้ว ไม่ยึดติดกับทรัพย์สินเงินทองอะไรเป็นส่วนตัว จึงพร้อมที่เป็นผู้ให้ มิใช้ผู้รับ ณ หมู่บ้าน อัสตา ในวันนั้น วิกรัมคือดาราขวัญใจชาวบ้าน เขาถอดกระสุนปืนออกแล้วปล่อยให้เด็กๆเล่นกับกระบอกปืนกันอย่างเพลิดเพลิน เขานั่งล้อมวงคุยกับชาวบ้านเรื่องชีวิตความเป็นอยู่และการทำมาหากิน ปัญหาเรื่องน้ำและการชลประทาน เรื่องดิน พืชผล ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืช เขาไปไหว้พระผู้เป็นเจ้าที่วัดเล็กๆสร้างด้วยหินปูนทาสีขาว เขาสวมสร้อยทองคล้องพระวิษณุ เทพเจ้าแห่งการปกปักรักษา เขาออกแจกจ่ายเงินให้กับชาวบ้านมากมายหลายครอบครัว ชาวบ้านพาเจ้าสาวคนหนึ่งที่กำลังจะเข้าพิธีแต่งงานมาไหว้ วิกรัมรับไหว้ด้วยสร้อยคอทองคำ ทุกตรอกซอยที่วิกรัมเดินไปจะมีเด็กๆและหนุ่มๆชาวบ้านแห่แหนตามเป็นขบวน ทั่วทั้งหมู่บ้านเปี่ยมล้นไปด้วยบรรยากาศคล้ายกับเทศกาลเฉลิมฉลองอันเคร่งขลังแบบที่ชาวฮินดูเรียกว่า “เมลา” 

          บุหลันเทวีเฝ้าสังเกตุบรรยากาศแล้วบันทึกไว้ในใจ ชาวบ้านมิได้สนใจอะไรในตัวเธอเป็นพิเศษ แม้จะรู้ว่าเธอเป็นผู้หญิงคนเดียวในหมู่โจร ชาวบ้านก็ไม่มีปฏิกิริยาในทำนองลบแต่อย่างใด คราที่เดินทางกลับออกจากหมู่บ้าน หลังจากเวลาผ่านไปกว่าสามชั่วโมง วิกรัมแวะทักทายหญิงชราทั้งสองอีกครั้ง หญิงชราคนที่อายุมากกว่าอีกคนเจิมฝุ่นแป้งสีเหลืองเป็นศิริมงคลกลางหน้าผากของวิกรัมแล้วมอบเงินขวัญถุงให้สองรูปีเป็นการให้โชคลาภตอบแทน วิกรัมก้มลงสัมผัสเท้าหญิงผู้เฒ่า บุหลันเทวีมองภาพที่ปรากฏต่อหน้าอย่างประทับใจ 

          พวกโจรดาคอยต์ทั้งหลายในอินเดียต้องผูกสัมพันธ์กับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านรักและไว้ใจ มิฉะนั้นแล้วก็จะทำงานอย่างยากลำบาก เพราะชาวบ้านจะไม่ร่วมมือ ทั้งเป็นสายข่าวและเป็นฝ่ายส่งกำลังบำรุง ย้อนไปในอดีต มหาโจรชื่อ “มานซิงห์” นับเป็นจอมโจรที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์อินเดีย เกิดในช่วงเปลี่ยนศตวรรษ พ่อของมานซิงห์เป็นชาวนารายเล็กและเป็นผู้ให้เงินกู้ในหมู่บ้าน เล่ากันว่าพ่อของมานซิงห์ติดต่อทำธุรกิจกับพวกโจรเป็นเวลายาวนานแม้ตำรวจในพื้นที่ก็ไม่ระแคะระคาย และพวกกลุ่มโจรหลายกลุ่มก็ทั้งปล้นทั้งปฏิบัติการต่อต้านอังกฤษผู้ปกครองอาณานิคมในสมัยนั้นไปด้วย ดั้งนี้พวกโจรจึงได้รับการปกป้องและสนับสนุนจากพ่อของมานซิงห์และชาวบ้านทั่วไป ครอบครัวของมานซิงห์ก็มาจากเชื้อสายราชวงศ์ “โตมาร์ ราชปุต” ซึ่งต่อต้านอำนาจผู้ปกครองอาณานิคมมาแต่อดีตแรกเริ่ม ตั้งแต่ครั้งพวก “โมกุล” เข้ามาปกครองอินเดีย มาถึงยุคของอังกฤษก็ไม่ต่างอะไรไปจากพวกโมกุล ที่เป็นเพียงผู้เข้ามาครอบครองอาณานิคมอินเดียอีกเผ่าพันธุ์หนึ่งเท่านั้นเอง ในฐานะนายทุนผู้ออกเงินกู้ในหมู่บ้าน บิฮารี ซิงห์ พ่อของ มานซิงห์ นับเป็นผู้ทรงอิทธิพลในท้องถิ่น พวกที่เป็นลูกหนี้ก็จะกลัวและไม่ชอบ บิฮารี ซิงห์  พวกราชาที่ดินหรือเจ้าของที่ดินรายใหญ่ๆในหมู่บ้านแม้จะอยู่ในวรรณะพราหมณ์ที่มีชาติกำเนิดที่สูงกว่าพ่อของ มานซิงห์  แต่ก็ยังไม่มีอิทธิพลสูงเท่า พวกพราหมณ์ราชาที่ดินจึงเฝ้าหาทางกำจัด บิฮารี ซิงห์ เพื่อตัวเองจะได้เข้ามาครองอิทธิพลในหมู่บ้านแทน ในครั้งนั้นพวกพราหมณ์ร่วมมือกับอังกฤษผู้ครองอาณานิคมสอบสวนพยายามเอาผิดทุกแง่มุมในชีวิตของพ่อของ มานซิงห์  จนแล้วจนรอดก็ยังหาเรื่องเอาผิดชัดเจนไม่ได้ ในที่สุดพวกพราหมณ์ก็ไปจ้างช่างไม้คนหนึ่งชื่อ ชฮิดดา ให้ซัดทอด บิฮารี ซิงห์ ว่าร่วมมือกับพวกโจรมาปล้นบ้าน แต่ข้อกล่าวหาก็ไม่มีหลักฐานจะแกล้งเอาผิดได้ ด้วยความแค้น ในวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๘ (พ.ศ. ๒๔๗๑) มานซิงห์ ผู้เป็นลูกชายบุกเข้าทำร้ายร่างกายญาติของ ชฮิดดา ก่อชนวนสงครามในหมู่บ้าน ระหว่างพวกวรรณะ “พราหมณ์” กับ พวกชาติกำเนิด “ฐากูร” นับแต่บัดนั้น มีการวางเพลิงบ้านและยุ้งฉางหลายแห่ง ฆ่ากันตายไปหลายศพ จนในที่สุดเจ้าหน้าที่ก็เข้ามาระงับเหตุและจับกุมตัว มานซิงห์ไปได้ มานซิงห์ ถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ในตอนนั้น มานซิงห์ มีลูกชายทั้งหมดสี่คนซึ่งร่วมการฆ่าล้างแค้นครั้งประวัติศาสตร์ในครั้งนั้นด้วย แต่ทั้งสี่คนหนีการจับกุมไปได้ มานซิงห์ได้รับการลดโทษและถูกปล่อยตัวจากเรือนจำกลางเมือง “อักรา” (Agra Central Jail) ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ (พ.ศ.๒๔๘๒) มานซิงห์ออกจากเรือนจำมาพบกับความขมขื่น ลูกชายสองคนถูกฆ่าตายด้วยเรื่องขัดแย้งในหมู่บ้าน อีกสองคนหนีไปอยู่ในป่าช่องเขา ไม่กล้าแม้กระทั่งจะออกมาเยี่ยมแม่ในหมู่บ้าน มานซิงห์ปรึกษากับภรรยาถึงการหาทางล้างแค้นให้ลูกชาย รุขมินี ผู้เป็นภรรยาก็สนับสนุนด้วยการเล่าเรื่องที่ถูกเอาเปรียบข่มเหงรังแกโดยพวกพราหมณ์ราชาที่ดินในหมู่บ้านนำโดยหัวหน้าใหญ่ชื่อ ตุลฟิราม จากนั้น มานซิงห์ ก็ตัดสินใจออกตามหาลูกชายสองคนที่เหลือและวางแผนล้างแค้นพวกพราหมณ์ต่อไป จากปี ค.ศ. ๑๙๓๙ (พ.ศ. ๒๔๘๒) ถึง ค.ศ. ๑๙๕๕ (พ.ศ. ๒๔๙๘) มานซิงห์เป็นขุนโจรที่ยิ่งใหญ่ โหดเหี้ยม ชื่อเสียงก้องไปทั่วหุบเขาจัมบาล ตุลฟิรามกับพวกพราหมณ์สมุนพร้อมทั้งทุกคนที่มีส่วนโยงใยถูกกวาดล้างเข่นฆ่าหมดเกลี้ยง พื้นที่ของพวกพราหมณ์ถูกเผาพลาญ พืชผล บ้านเรือนถูกทำลายวินาศ มานซิงห์ เป็นจอมโจรผู้โด่งดังที่สุดของอินเดียในยุคที่อังกฤษปกครองอาณานิคมอินเดียต่อเนื่องข้ามยุคมาสู่สมัยที่อินเดียได้รับเอกราชแล้ว มานซิงห์ถูกเจ้าหน้าที่ยิงตายในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๕ (พ.ศ. ๒๔๙๘) ตลอดช่วงชีวิตของการเป็นมหาโจรผู้ยิ่งใหญ่แห่งประวัติศาสตร์อินเดีย มานซิงห์ ปล้น ๑,๑๐๒ ครั้ง ลักพาตัวเรียกค่าไถ่ได้เป็นเงิน ๕๐ ล้านรูปี ฆ่าคนตาย ๑๘๕ คน ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ๘๐ ครั้ง ตำรวจตาย ๓๒ คน สมุนของ มานซิงห์ตาย ๑๔ คน รวมตัวของ มานซิงห์ อีก ๑  รวมเป็น ๑๕ คน รัฐบาลใช้เงินงบประมาณกว่า ๑๐ ล้านรูปีในการตามล่า มานซิงห์ เมื่อทราบข่าว มานซิงห์ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงตาย เยาวหาร์ลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีอินเดียในสมัยนั้นได้ส่งโทรเลขแสดงความยินดีไปยังรัฐบาลของรัฐอุตระประเทศทันที
          หลังการตายของ มานซิงห์ กลุ่มโจรชาติกำเนิด “ฐากูร” ชาติเดียวกับ มานซิงห์ ก็รุ่งเรืองโด่งดังต่อเนื่องมา บดบังรัศมีพลของพวกพราหมณ์ บาบู ซิงห์ กูจาร์ หัวหน้าโจร ผู้เป็นนายของ วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ ก็เป็นพวกชาติ “ฐากูร” เช่นเดียวกับมหาโจร มานซิงห์ มาบัดนี้เมื่อ บาบู ซิงห์ กูจาร์ ถูกวิกรัม ฆ่าไปแล้ว ก็ถึงคราวกลุ่มโจรเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ยุคจอมโจรวรรณะและชาติกำเนิดต่ำโดยแท้ คือวรรณะสูดรา ชาติมัลลาห์-คนหาปลา นำโดย วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ โดยมี “บุหลันเทวี” จากวรรณะและชาติเดียวกันอยู่เคียงคู่เป็น “นางหญิง” ของนายโจร 



          ในบันทึกส่วนตัวของเธอ บุหลันเทวีเล่าถึงความเคียดแค้นชิงชังที่วิกรัมมีต่อพวกตำรวจว่ามีมากจนทุกครั้งที่ปะทะกันวิกรัมไม่เคยคิดถอย จะยิงสู้อย่างไม่คิดชีวิต :

“สำหรับวิกรัม หากใครเอ่ยถึงตำรวจ เขาจะออกอาการโกรธแค้นเป็นที่สุด หากเดินทางผ่านไปพบขบวนตำรวจที่ใดวิกรัมจะบุกโจมตีทันที ดุจเสือสมิง รุกสู้ไม่มีถอย มีครั้งหนึ่งหลังจากยิงสู้กันนานถึงกว่าสี่ชั่วโมง ดูแล้วตำรวจจะมีกำลังเหนือกว่า สู้ไปก็ไม่มีทางชนะ เขาก็ส่งสัญญาณให้วิ่ง เราก็จะวิ่งกันทั้งคืน อย่างน้อยคืนหนึ่งๆจะวิ่งหนีตำรวจกันไกลถึง ๒๐ โกส [๒] (กว่า ๖๔ กิโลเมตร) คราใดที่ถูกตำรวจไล่ล่า เราก็จะวิ่งหนี  วิกรัม เป็นคนฉลาด เขาจะปล้นคืนเดียวถึงสามครั้งทำให้ตำรวจหัวหมุน ตามไม่ถูก แล้วก็จะส่งจดหมายไปเย้ยตำรวจ ว่า :



          ‘ไอ้ตำรวจหน้าโง่ ดูดนมแม่เสร็จแล้วออกมาสู้กันกลางแจ้งเลยนะโว้ย  ทำไมพวกมึงจึงเอาแต่
          รังแกคนจน คนบริสุทธิ์ ทำไมต้องไปทุบตีแล้วจับคนจนเข้าคุก มาสู้กับพวกกูดีกว่า พวกกูเป็น
          ผู้ร้าย ที่มึงต้องการตัวมิใช่หรือ?’ 

“เขาเคารพผู้หญิงและจะก้มลงสัมผัสเท้าหญิงทุกคนที่เขาพบระหว่างทาง บางทีก็ให้เงิน และขอให้สมุนโจรทุกคนช่วยบริจาคสมทบด้วย เขาจะบอกว่าเขาคือ “วิกรัม ซิงห์ มัสตานา” ระหว่างที่เขายังไม่ตาย ขอให้พวกผู้หญิงทุกคนใช้ชีวิตไปไหนมาไหนอย่างเสรี ให้ทุกคนสบายใจไม่ต้องกลัวเกรงอะไรทั้งสิ้น ไม่มีใครจะกล้าแตะต้อง เพราะเขาคือผู้ปกป้องผู้หญิงทุกคนในหมู่บ้าน" 



          "เขาคือกฎหมาย"

“วิกรัมจะเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเล็กๆน้อยๆของชาวบ้าน เขาจะเตือนชาวบ้านว่าหากมีปัญหาอะไรอย่าไปร้องเรียนกับพวกตำรวจ เพราะตำรวจจะไม่ฟัง ไม่ช่วยอะไรทั้งสิ้น ชาวบ้านก็ยอมเชื่อตามที่วิกรัมสั่ง และยอมรับในคำตัดสินข้อพิพาทของวิกรัม”

          วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ ก็เช่นเดียวกับโจรคนอื่นๆในอินเดียที่ยึดเอามหาโจรมานซิงห์เป็นต้นแบบ วิกรัมต้องการสร้างชื่อเสียงของเขาให้โดดเด่นแบบ มานซิงห์ เขาไม่ต้องการภาพของความโหดเหี้ยมสร้างความหวาดกลัวแบบ บาบู ซิงห์ กูจาร์ แต่เขาต้องการชนะใจชาวบ้านด้วยการมีเมตตาปล้นจากคนจนคนเลว มาช่วยเหลือแบ่งปันให้กับคนยากจน เขาไม่ต้องการเพียงเงินและอำนาจธรรมดาเท่านั้น แต่เขาต้องการสร้างภาพพจน์ของจอมโจรผู้ใจดีตามฝันและจินตนาการของตัวเขาเอง เหมือนพระเอกในภาพยนตร์ภาษาฮินดี เขาเป็นคนเคร่งศาสนาแบบมานซิงห์ เคร่งจนถึงจุดที่เชื่อถือในโชคลางและอำนาจลึกลับของพระผู้เป็นเจ้า การแสดงออกต่อหน้าชาวบ้านในเรื่องการเคารพผู้หญิงและการไม่ดื่มสุราแสดงถึงความพยายามของเขาที่จะดำรงชีวิตแบบ “ดาอู” หรือนักบุญนักบวชแบบที่ชาวบ้านเคารพยกย่องและกราบไหว้บูชา 

          มูลา-แม่ของบุหลันเทวีเล่าในภายหลังว่าวิกรัมรักและให้เกียรติยกย่องบุหลันเทวีให้เป็นภรรยาอย่างแท้จริง มีครั้งหนึ่งวิกรัมโขมยรถไถนาจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งขับไปหามูลากลางวันแสกๆ เมื่อได้พบมูลา วิกรัมก็บอกว่าจะมาขอแต่งงานกับบุหลันเทวีอย่างเป็นทางการ มูล่าบอกว่าจะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อโดยทางการแล้วบุหลันยังเป็นภรรยาของปุตติลาลผู้ยังคงถือว่าสามีคนแรกของเธออยู่ แม้จะไม่ได้อยู่กินด้วยกันแล้วก็ตาม วิกรัมบอกว่า คนที่ใช้ชิวิตติดดินทรายบนโลกไม่มีความจำเป็นต้องทำตามกฎหมายของคนอื่นใด เขามาหาแม่ของบุหลันเทวีก็เพื่อมาเป็นฝ่ายให้ มิได้มาเรียกร้องขอเงินสินสอดทองหมั้นในฐานะเจ้าบ่าวตามประเพณีฮินดูแต่ประการใด ไม่ว่าจะอย่างไรเขาก็ถือว่าบุหลันเทวีคือภรรยาที่ถูกต้องแท้จริงตามหัวใจรักของเขา วิกรัมมอบเงินให้มูลาไว้ใช้ ๕,๐๐๐ รูปี 


          มูลาบอกว่าเกิดมาไม่เคยเห็นผู้ชายคนไหนเป็นสุภาพบุรุษสุดยอดเท่า วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ 




                                                                  [จบบทที่ ๖]

                                                

                                                             บทที่ ๗


          ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน บุหลันเทวีก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของพวกโจรอย่างกลมกลืน ข่าวลือกระจายไปทั่วว่าเธอเป็นภรรยาน้อยหรือนางบำเรอของ วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ หัวหน้าแก๊งค์โจรแห่งหุบเขาจัมบาล ที่จริงวิกรัมนั้นมีภรรยาที่ถูกต้องตามประเพณีอยู่แล้ว และมีลูกชายด้วยกันคนหนึ่ง แต่ชีวิตแบบโจรที่ต้องเร่ร่อนรอนแรมกลางป่าดง ทำให้วิกรัมไม่อาจอยู่กับครอบครัวได้ ภรรยากับลูกจึงต้องอยู่ในหมู่บ้านกับพ่อตา วิกรัมก็ได้แต่ส่งเงินไปให้ใช้อย่างสม่ำเสมอ บุหลันเทวีเล่าว่าจากการที่เคยเป็นผู้ถูกโจรลักพาตัวไป บัดนี้เธอได้กลายมาเป็นโจรผู้ถูกกฎหมายตามล่าเสียแล้ว พวกโจรก็ยินดีปรีดากันไม่น้อยต่อสถานภาพใหม่ของเธอ ครั้งหนึ่งเธอได้มีโอกาสรู้จักกับโจรอีกกลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของ บาบา กันชยาม  ซึ่งเข้ามาร่วมงานปล้นด้วย กลุ่มของวิกรัม กับ กลุ่มโจรกันชยาม จึ่งร่วมงานกันอยู่ในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่นานก็เกิดการเขม่นขัดแย้งกัน ตัวของกันชยามนั้นนับเป็นญาติกับ มัลข่าน ซิงห์ โจรดาคอยต์ผู้โด่งดังที่สุดในพื้นที่ ทั้งคู่มาจากชาติกำเหนิด มีรดัส ซึ่งถือว่ามีระดับต่ำกว่าชาติฐากูร แต่สูงกว่ามัลลาห์ และ สูดรา เมื่อกันชยามมาร่วมกลุ่มปล้นด้วย แล้วมาพบว่ามีบุหลันเทวีร่วมกลุ่มด้วยจึงไม่พอใจ แม้กันชยามจะชื่นชมยกย่องวิกรัม มัลลาห์ แต่ก็ไม่เห็นด้วยที่วิกรัมไปฆ่าบาบู ซิงห์ กูร์จา หัวหน้าโจรคนก่อน เพราะจะทำให้ความสัมพันธ์กับพวกชาติกำเหนิดฐากูรมีปัญหา นอกจากเรื่องนี้แล้วยังมีเรื่องอื่นที่ขัดข้องใจกันตามมาอีก มีสมุนโจรสองคนในกลุ่มของกันชยามชื่อ วิชัย ซิงห์ พัดรี กับ ฉัตรศัล ซิงห์ ปันดี ทั้งคู่เป็นญาติกับ ฐากูร พูล ซิงห์ ผู้มีพระคุณต่อบุหลันเทวีเพราะเคยช่วยออกเงินค่าประกันตัวให้ทั้งสองครั้งที่เธอถูกจับ สมุนโจรทั้งสองคนบอกว่าท่านฐากูร พูล ซิงห์ สั่งให้หาทางช่วยเอาตัวบุหลันเทวีออกมาจากกลุ่มโจรวิกรัม มัลลาห์ ให้ได้ กันชยามก็รับปากจะเจรจาให้ แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะวิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ไม่ยอม ต่อมาท่านฐากูรก็อุตส่าห์ลงทุนเดินทางมาด้วยตัวเองเพื่อมาขอตัวบุหลันเทวีกลับ แต่วิกรัมก็ยังไม่ยอมอีก 

          ตอนที่ท่านฐากูรมา บุหลันเทวีเล่าว่าเธอกำลังทำกับข้าวอยู่ในค่ายที่ตั้งบนเนินสูงสามารถมองลงไปข้างล่างช่องเขาเห็นฐากูรกับสมุนโจรสองคนกำลังเดินขึ้นเขามา ซึ่งก็จะใช้เวลาครึ่งชั่วโมงก่อนจะขึ้นมาถึงที่พักได้ วิกรัม มัลลาห์ กำลังเล่นไพ่อยู่ แม้บุหลันเทวีจะบอกว่าท่านฐากูรกำลังขึ้นมาแต่วิกรัม มัลลาห์ก็ไม่สนใจอะไรเป็นพิเศษ ตั้งหน้าตั้งตาเล่นไพ่ต่อไป บุหลันเทวีจำความรู้สึกของตัวเองในตอนนั้นได้ว่าไม่พอใจเป็นอย่างมากที่วิกรัมไม่แสดงความห่วงใยอะไรเธอเลย ใจของเธอก็ยิ่งปั่นป่วน การที่ฐากูรจะมาขอตัวเธอกลับไปนั้นเธอคิดวาเป็นเพราะฐากูรกับพ่อชอบพอกัน ฐากูรคงอยากจะช่วยพ่อของเธอมากกว่า แต่เมื่อคืนก่อนหน้านี้วิกรัมมัลลาห์กลับบอกเธอว่า:

          “ไอ้พวกฐากูรมันไม่ต้องการอะไรนอกจากเงินเท่านั้น” 

          บุหลันเทวีพยายามเชื่อตามวิกรัม มัลลาห์ 

          ใจของเธอคิดฟุ้งซ่านต่อไป...หากเธอต้องกลับไปหมู่บ้าน ไปหาพ่อจริงๆ เธอก็คงต้องถูกจับ โทษฐานหนีประกัน แล้วจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้นกับเธอต่อไปก็สุดที่จะคาดคิด ตลอดทั้งคืน ต่อมาอีกในวันนี้ทั้งวัน รวมทั้งช่วงครึ่งชั่วโมงที่ฐากูรกำลังเดินขึ้นเนินเขามาที่ค่ายพักซุ้มโจร บุหลันเทวีคิดหนักว่าจะตัดสินใจอย่างไรดี จะอยู่กับพวกโจรต่อไป หรือจะไปหาพ่อแม่ดี ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจที่จะอยู่กับวิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ ต่อไป เพราะการยอมกลับไปหาพ่อกับแม่มิได้หมายความว่าจะได้อยู่กับพ่อกับแม่จริงๆ เธอมีคดีติดตัว แม้ว่าจะถูกใส่ร้าย เธอไม่เคยทำผิดคิดร้ายอะไรกับใคร แต่เท่าที่ผ่านมาไม่เคยมีความยุติธรรมสำหรับลูกคนจน  “ชาติมัลลาห์-คนหาปลา” อย่างเธอเลย กลับไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย มีแต่จะเสี่ยงอันตรายที่รออยู่ข้างหน้าอย่างไม่ปราณี แม่เธอจะตัดสินใจแล้วว่าจะอยู่ แต่เธอก็รู้ดีว่าเธอไม่มีสิทธิตัดสินใจอะไรเพื่อตัวเธอ วิกรัมกับพวกจะตัดสินใจแทนเธอ ตามที่วิกรัมต้องการ เมื่อเธอบอกวิกรัมว่าท่านฐากูรกำลังขึ้นเนินมา วิกรัมกลับเฉยเมย ไม่แยแส หัวใจของบุหลันเทวีจึ่งสั่นระทึก หวั่นว่าวิกรัมอาจตัดสินใจในทางที่เธอไม่ประสงค์ก็เป็นได้ เธออ่านใจวิกรัมไม่ออก เธอจึงไม่พอใจต่อการไม่แยแสของวิกรัม
          กันชยามลุกขึ้นต้อนรับ ฐากูร พูล ซิงห์ แล้วพาตรงมาพบ วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ ทันที วิกรัมยังคงเล่นไพ่ต่อไป เสียงวิทยุทรานซิสเตอร์ดังจนกลบเสียงพูดคุยกัน  เธอเดาไม่ถูกว่าทั้งสองพูดอะไรกัน ต่อมาฐากูรเดินมาทางบุหลันเทวี 

          บุหลันเทวีก้มลงคารวะด้วยการสัมผัสเท้าท่านฐากูร

          “ไปกันเถอะ บุหลัน” ฐากูรสั่งด้วยเสียงหนักแน่น

          ด้วยความตกตื่นใจ บุหลันเทวีตรงไปที่ห่อเสื้อผ้าโดยฉับพลัน เตรียมจะไปกับฐากูร เพราะคิดว่าทั้งสองตกลงปล่อยตัวเธอกลับไปแน่นอน

          “มึงลองไปซิ กูยิงตายแน่” 
          วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ ตะโกนก้องอย่างท้าทาย

          บุหลันเทวีรู้ทันทีว่าอนาคตเธออยู่ที่นี่แน่นอน วิกรัมแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ยอมตามฐากูร  แถมเสนอให้ทองคำและเงินรูปพรรณ เพื่อแลกกับการเอาตัวบุหลันเทวีไว้ พร้อมทั้งสั่งให้จ่ายเงินสดชดเชยแก่ฐากูร พูล ซิงห์ ตามที่ ฐากูรเคยต้องจ่ายให้กับตำรวจเพื่อเป็นค่าประกันตัวบุหลันเทวี ๒๕,๐๐๐ รูปี  
          วันนั้น วันที่วิกรัมสั่งจ่ายชดเชยค่าตัวของบุหลันเทวีให้กับฐากูรไป เธอมีความรู้สึกเหมือนกับว่าเป็นการจ่ายค่าสินสอดทองหมั้นเพื่อให้เธอเป็นภรรายาที่รักของวิกรัมอย่างสมบูรณ์แท้จริง เสมือนกับการปลดปล่อยให้เป็นเสรี มิใช่เป็น “นางบำเรอ” ดังที่ชาวบ้านนินทากันอีกต่อไปแล้ว เธอรู้สึกซาบซึ้งในพระเมตตาในความสุขที่“พระแม่เจ้าทุรกะ” ทรงประทานมาให้ ส่วนวิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ ในคืนนั้น ดูเขาจะเงียบขรึมเป็นพิเศษ

          วันรุ่งขึ้น กันชยามประกาศแยกทางไปพร้อมกับสมุนในกลุ่มของวิกรัมที่อยู่ในชาติกำเหนิดฐากูร และ กูร์จา ทั้งหมด ทิ้งไว้แต่โจรชาติกำเหนิดต่ำแบบเดียวกันกับวิกรัม

          “กลุ่มโจรวิกรัม มัลลาห์ ณ ตอนนี้มีเหลือเพียง ๗ คน”, บุหลันเทวีเล่าต่อ 

          “มีภารต ซิงห์, มาโธ ซิงห์, วาเรย์ลาล, กุดดี-กาลี ชรัน, ธารามจิต และ ตัวฉัน สมุนคนอื่นไปอยู่กับ บาบา กันชยาม หมด วิกรัมให้ปืนฉันใช้กระบอกหนึ่ง ฉันก็พยายามฝึกยิงปืน ตอนนี้ฉันเป็นภรรยาของวิกรัมโดยแท้จริงแล้ว”
          “วิกรัมกับฉันจะแยกตัวนอนห่างจากพวกลูกน้องทั้งหลาย แต่ก็จะมีคนอยู่เวรยามเฝ้าดูแลความปลอดภัยสองคน แบ่งเป็นผลัด ผลัดละสองชั่วโมง คนหนึ่งเฝ้าฉันกับวิกรัม อีกคนหนึ่งเฝ้าพวกสมุนโจร”, บุหลันเทวีเล่าย้อนความหลัง
          ”ท่าทางวิกรัมจะชอบฉันมาก เขาจะใช้เวลามากในการช่วยสอนการยิงปืน และสอนการวิ่งหนีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามให้กับฉัน เขาบอกว่าเมื่อถูกตามไล่ล่า ขีดความสามารถในการวิ่งหนีเป็นสิ่งสำคัญมาก พวกเราอยู่ด้วยกันฉันเพื่อนฝูงในบรรยากาศสบายๆแบบกันเอง ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่มีการอิจฉาริษยา หรือการหึงหวงใดๆ วิกรัมมักจะเอาใจใส่ดูแลฉันเป็นพิเศษ เมื่อเดินทางไกล หิวน้ำเขาก็จะเอาน้ำมาให้ฉันก่อนใครๆ แม้ตอนที่ฉันบอกว่าไม่หิว เขาก็คะยั้นคะยอให้ฉันกินอาหาร เวลาเขาซักเสื้อผ้าของเขาเองเขาก็จะเอาเสื้อผ้าของฉันไปซักให้ด้วย ก่อนที่ฉันจะไว้ผมสั้น เวลาผมของฉันยาวเขาก็มาถักเปียให้ เวลาใดที่เราเผชิญหน้าต้องยิงต่อสู้กับพวกตำรวจ วิกรัมจะจับมือฉันไว้แน่น ให้ความอุ่นใจ บอกฉันไม่ให้กลัว อยู่กับเขา มีเขาอยู่ใกล้ๆ ไม่มีทางเป็นอันตรายแน่นอน แล้วเขาก็จะตะโกนด่าพวกตำรวจว่า ‘มึง ไอ้พวกตำรวจลูกหมา กู วิกรัม มัลลาห์ ไม่ได้อยู่คนเดียวนะโว๊ย กูอยู่กับอวตารหนึ่งของ ปุตลี ไบ’ จะไปกลัวตายทำไมกัน”

           “ปุตลี ไบ” เป็นชื่อของโจรผู้หญิงคนหนึ่งที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์โจรป่าของอินเดีย ในช่วงหลังปี พ.ศ.๒๔๙๐ ปุตลี ไบ ถูกทางการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ นักการเมือง สื่อมวลชน และคนทั่วไป เรียก ปุตลี ไบ ว่า “Bandit Queen” หรือ “ราชินีจอมโจร” แห่งชนบทอินเดีย ซึ่งก็เป็นชื่อที่เรียกบุหลันเทวีในเวลาต่อมาด้วยเช่นกัน%2



                                                              บทที่ ๘

เมื่อตอนที่ วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ ฆ่า บาบู ซิงห์ กูจาร์ นั้น สมุนโจรพี่น้องสองคน ชื่อ ศรี ราม และ ลาลา ราม ถุกจับขังอยู่ในเรือนจำโทษฐานลักโขมย ทั้งสองเกิดในชาติฐากูร คนที่ชื่อ ศรี ราม เป็นผู้เป็นพี่นั้นเป็นที่ชื่นชมของวิกรัมมานานหลายปี วิกรัมเรียก ศรี ราม ว่า “กูรู” [๑] ในฐานะที่วิกรัมเกิดในชาติ “มัลลาห์” หรือ ”คนหาปลา” มาเป็นสมุนโจรอยู่ท่ามกลางพวกชาติกำเหนิด “ฐากูร” และ “กูจาร์” การไต่เต้ายกระดับภาระหน้าที่โจรขึ้นมาอย่างรวดเร็วจึงเป็นเรื่องน่าทึ่ง ครั้งที่เริ่มฝึกงานโจรใหม่ๆ ศรี ราม ก็คอยช่วยให้คำแนะนำ สนับสนุน และปกป้องวิกรัมเป็นอย่างดี ยังผลให้วิกรัมเคารพและภักดีต่อศรี ราม เป็นอย่างมาก มาบัดนี้ใกล้ถึงเวลาที่ ศรี ราม จะพ้นโทษแล้ว ด้วยความเคารพที่ยังไม่เสื่อมคลาย วิกรัมจึงส่งจดหมายไปแสดงความคารวะต่อ ศรี ราม เล่าเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นในกลุ่มโจร โดยเฉพาะการอธิบายสาเหตุที่ต้องฆ่า บาบู ซิงห์ กูจาร์ นอกจากนั้นยังได้เล่าถึงเรื่องของ บุหลันเทวี และขอความเห็นที่ว่าจะขอให้ บุหลันเทวี อยู่ด้วยในกลุ่มโจรต่อไป ศรี ราม ก็มิได้ว่าอะไรในเรื่องที่เกี่ยวกับ บุหลันเทวี แถมยังส่งคำอวยพรมาในจดหมายด้วย วิกรัมจึงรู้สึกโล่งอกไปได้ส่วนหนึ่ง แต่นั่นก็เป็นเพียงเรื่องที่เกี่ยวกับบุหลันเทวีเท่านั้น

บุหลันเทวีเล่าในบันทึกส่วนตัวของเธอว่า:

“เราอยู่กันอย่างสงบสุขนานหลายเดือนจนถึงวันที่ได้รับจดหมายจาก ศรี ราม บ่นว่าตอนนี้ วิกรัม ได้เป็นหัวหน้ากลุ่มโจรกลุ่มใหญ่แล้ว ทำไม่จึงลืมเขากับน้องชาย ‘จะปล่อยให้เน่าตายในคุกหรืออย่างไร?’ ศรี ราม เขียนต่อว่ามาในจดหมายฉบับนั้น” 

‘หลานสาวคนเล็กของกูอยู่ในหมู่บ้านยังหาผัวไม่ได้ มึงมันน่าอับอายนักที่ไม่พยายามช่วยหาผัวให้หลาน’ 

“เมื่อได้อ่านจดหมายแล้ว วิกรัม ก็เรียกประชุมสมุนโจรทั้งหมดแล้วสั่งว่า : 

‘เรื่องนี้เราต้องช่วยกันให้ได้ ปล้นคราวหน้าเงินที่ได้เราจะไม่เอามาแบ่งกัน เราจะเอาไปใช้เพื่อการหาคู่และแต่งงานให้หลานสาวของท่านฐากูร’ 

“วิกรัมวางแผนปล้นทันที เย็นวันหนึ่งเราตระเตรียมการปล้นพร้อมสรรพ ออกไปขวางทางหลวงสาย กันปูร์-อักรา พอรถบรรทุกผ่านมาเราก็เรียกให้หยุดแล้วแสดงตัวเป็นตำรวจ บอกคนรถไปว่าเราได้รับแจ้งว่ารถคันนี้มียาเสพติดซุกซ่อนอยู่ เราบอกว่าเรามีหมายค้น ด้วยวิธีนี้เราก็สามารถปล้นรถบรรทุกได้ถึง ๒๖ คัน ในช่วงเวลา ๑๘:๓๐ น. ถึง ๒๒:๐๐ น. ไม่มีใครสงสัยพวกเราเลย เพราะทุกคนแต่งเครื่องแบบตำรวจติดยศต่างๆกัน พอปล้นเสร็จในคืนนั้น วิกรัมก็เขียนจดหมายฉบับหนึ่งเพื่อเย้ยพวกตำรวจในพื้นที่ว่า:

‘มึง ไอ้ตำรวจลูกหมาทั้งหลาย กู วิกรัม มัลลาห์ พ่อมึง ปล้นรถบรรทุกไปแล้ว ๒๖ คัน มึงอย่าไปเหมาลงโทษพวกคนจนๆคนบริสุทธิ์ อย่าไปจับผิดคน ขอให้มึงจงตามมาล่ากูกับบุหลันเทวีให้ได้’ 

“เขียนเสร็จก็ปะติดไว้ท้ายรถบรรทุกที่ยางทุกเส้นถูกเจาะแบนหมดไปไหนไม่ได้แล้ว จากนั้นพวกเราก็ยกขบวนกลับ ฉันจำได้ว่าขากลับเราเดินไกลถึง ๓๐ โกศ (๙๖.๖ กิโลเมตร) ไปถึงบ้านลูกสาวของ ศรี ราม เวลา ๐๔:๐๐ น.”

“วิกรัมถามลูกสาวของ ศรี ราม ว่า จะให้หลานสาวแต่งงานกับคนชาติกำเนิดใดได้บ้าง ลูกสาวของ ศรี ราม ตอบว่าครอบครัวของเธออยู่ในชาติ “มาโย ฐากูร” จะแต่งงานได้เพียงเฉพาะกับพวกชาติ “เชาราสี” เท่านั้น เมื่อได้ข้อมูลแล้วพวกเราก็เดินทางออกจากหมู่บ้าน ต่อไปข้ามแม่น้ำยมุนาตอน ๐๖:๐๐ น. อากาศก็หนาวเหน็บ การเดินไกลๆแบบนี้แสนจะทรมาน อย่างไรก็ตามในเวลา ๑๐:๐๐ น. เราก็เดินทางมาถึงหมู่บ้านที่ชื่อว่า “นิพพาน”  เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ประธานสภาหมู่บ้านเป็นคนมั่งคั่งมาก วิกรัมเรียกประธานหมู่บ้านมาคุย แล้วถามว่ามีลูกชายกี่คน ประธานหมู่บ้านบอกว่ามีลูกชายสองคน คนโตแต่งงานแล้ว ส่วนคนเล็กยังเรียนอยู่ชั้นปีที่ ๑๒ [๒]  วิกรัมปลอบใจว่า ‘โปรดอย่าได้กลัวอะไร เรียกลูกชายคนเล็กมาคุยด้วยหน่อย’ เมื่อเด็กชายคนนั้นมานั่งต่อหน้า วิกรัมบอกเด็กให้ทำใจให้สบาย แล้วสั่งเด็กว่านับแต่วันนั้นเป็นต้นไปจะนับว่าเป็นลูกเขยใน ‘ครอบครัวที่ดี’ ครอบครัวหนึ่ง!” 

“ต่อหน้าชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน วิกรัมมอบเงินสด ๘๕,๐๐๐ รูปี ให้กับมือเด็กชายคนนั้น แล้วแจกจ่ายเงินทองข้าวของทั้งหมดที่ปล้นรถบรรทุกมาได้ให้กับชาวบ้านหมดทั้งหมู่บ้าน บางคนก็ได้นาฬิกา บางคนได้สร้อยทองคำ บ้างก็ได้แหวน วิกรัมเตือนชาวบ้านว่าอย่าไปบอกอะไรแก่พวกตำรวจ วิกรัมบอกให้ชาวบ้านไปร่วมพิธีแต่งงานที่หมู่บ้าน จักยะปุระ ในเขตอำเภอ ศรีกานดรา โดยถามว่าชาวบ้านจะพร้อมไปงานเมื่อไร ชาวบ้านตอบว่าควรจะไปทำพิธีตามฤกษ์ในเดือน แจตร [๓]  ของฤดูใบไม้ผลิ เราร่วมกินอาหารกับชาวบ้าน แล้วลาจาก เดินทางกลับเข้าป่าไป หลังจากนั้นลูกชายคนเล็กของประธานสภาหมู่บ้าน นิพพาน ก็ได้แต่งงานกับหลานสาวของ ศรี ราม ตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันในวันนั้น”

          สองสามเดือนต่อมามีจดหมายจาก ศรี ราม มาอีกฉบับหนึ่ง ขอร้องให้วิกรัมเร่งไปประกันตัวเขาให้ออกมาก่อนกำหนดโดยเร็ว ศรี ราม บอกว่าจะทนเน่าอยู่ในคุกอีกต่อไปไม่ได้แล้ว ขืนต้องทนอยู่ต่อไปอีกเขาจะฆ่าตัวตายไปเลยจะดีกว่า  ดังนั้นวิกรัมก็ออกปล้นอีกหลายครั้งเพื่อรวบรวมเงินไปประกันตัวศรี ราม ออกจากคุก ศรี ราม ต้องคดี ๖ คดีที่เมือง กันปูร์ ค่าประกันตัว ๓๐,๐๐๐ รูปี อีก ๒ คดีที่เมือง โอไร  ค่าประกันตัว ๑๔,๐๐๐ รูปี ในที่สุดก็ประกันตัว ศรี ราม ออกมาได้ในเดือน แวศาข [๔] กลางฤดูฝนพอดี ศรี ราม ไม่ยอมกลับไปบ้านเพราะกลัวตำรวจจะย้อนไปจับคดีอื่นอีก พอพ้นจากคุกเขาก็มุ่งตรงมาอยู่กับพวกเราในป่าทันที”

“เมื่อ ศรี ราม พบหน้า วิกรัม, ศรี ราม กล่าวว่า :

‘ตอนนี้มึงดังมากแล้วนะ อาวุธก็ทันสมัย พรรคพวกก็มาก แถมมีนางบำเรออีกคน! ไม่เลวเลย’ 

วิกรัมตอบว่า ‘ครูครับ ผมหวังว่าคงมิได้ทำอะไรลงไปให้ครูลำบากใจ ก่อนจะทำอะไรผมจะขออนุญาตครูทุกครั้งเสมอ’ 

วิกรัมปลดปืนไรเฟิลที่สะพายอยู่ออกจากบ่ายื่นให้ ศรี ราม พลางกล่าวว่า 
‘ครูครับ โปรดรับปืนของครูคืนไป ผมดีใจที่เห็นครูกลับมาอยู่กับพวกเรา’ 

แล้ว ศรี ราม ก็ถามหาตัวฉัน โดยกล่าวว่า :
‘ตามตัวมาซิ แนะนำให้รู้จักกันหน่อย’ 

          วิกรัมไปหาฉันแล้วบอกว่าท่านครูมาถึงแล้วฉันควรจะไปพบและขอพรจากท่าน ฉันกำลังเอนหลังพักผ่อนอยู่พอดี จึงลุกขึ้นแล้วเดินไปยังกลุ่มสมุนโจรที่ล้อมวงคุยกันอยู่ ถามวิกรัมว่าคนไหนที่เป็น “ครู” ของเขา เพราะว่ามีคนแปลกหน้ามาตั้ง สาม-สี่คน วิกรัมชี้ไปยังชายร่างเล็กเตี้ยที่นั่งบนเตียงที่จัดไว้อย่างเรียบร้อย ฉันก้าวไปข้างหน้า ก้มลงสัมผัสเท้า “กูรู”  ฉับพลันนั้นท่านกูรูก็ดึงมือฉันไว้แล้วบอกให้นั่งบนเตียงข้างๆตัวท่านเลย แล้วพูดว่า :

          ‘จะไปไหนกัน? ตั้งแต่ทรมานอยู่ในคุก ครูก็ได้แต่คิดถึงวันนี้ วันที่เราจะได้พบหน้ากัน’ “

          บุหลันเทวียอมทำตามที่ครูสั่ง เพื่อเห็นแก่หน้า วิกรัม เธอเล่าเรื่องต่างๆที่เป็นประสบการณ์การปล้นของเธอ ฝ่าย กูรู ศรี ราม ก็คุยถึงเรื่องในคุก ส่วนน้องชายที่ชื่อ ลาลา ราม นั้น ไม่ค่อยพูดอะไรมากนัก 
          บุหลันเทวี รู้สึกไม่ชอบหน้า ศรี ราม ทันทีที่พบและชิงชังตัว ลาลา ราม ที่ดูเป็นคนอ่อนแอเป็นลูกไล่ของพี่ชายอยู่ตลอด วิธีพูดจา การทำตัวของ ศรี ราม ต่อหน้าสมุนโจรไม่ต่างอะไรไปจาก บาบู ซิงห์ กูจาร์ ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ศรี ราม ก็เริ่มวางอำนาจ สั่งสมุนโจรต่างๆนาๆ สั่งให้ไปเอาน้ำชามาให้ สั่งให้เตรียมข้าวปลาอาหาร ถ้อยคำที่ใช้ก็หยาบคายจนบุหลันเทวีรับไม่ได้ เธอจึงหลบฉากออกไปคุยกับ ภารต ซิงห์ ที่เข้าเวรยามอยู่รอบนอกของค่ายที่พัก ภารต เองก็บอกว่าไม่ชอบหน้า ศรี ราม เหมือนกัน เขาบอกว่าได้เตือน วิกรัม แล้วว่าให้ห่าง ศรี ราม เข้าไว้ เพราะ ศรี ราม นี่แหละจะเป็นตัวทำให้เกิดการแตกแยก  แต่เนื่องจาก วิกรัม รู้จัก และ เป็นเด็กรับใช้ ศรี ราม มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก การที่จะมีความรู้สึกกระด้างกระเดื่องต่อ ศรี ราม จึงเห็นสิ่งที่ยากจะทำได้ บุหลันเทวี สุดจะทนทานกับความอึดอัดใจในเรื่องนี้ แต่ก็ดีใจที่ ภารต ซิงห์ รู้สึกคล้ายกัน เธอตัดสินใจว่าจะต้องคุยกับ วิกรัม ถึงเรื่อง ศรี ราม เพราะเธอเชื่อในสัญชาติญานของเธอที่บอกกับตัวเธอเองว่า วิกรัม คงจะรู้สึกแบบเดียวกัน วิกรัมเป็นคนที่ฟังคน และจะฟังเธอเป็นพิเศษก่อนจะตัดสินใจทำอะไรที่มีความสำคัญ มิใช่ว่าวิกรัมจะเห็นว่าธอมีประสบการณ์อะไรนักหนาในเรื่องชีวิตโจรในป่าเขา แต่วิกรัมมักจะเชื่อในสัญชาติญานและยอมรับในการตีความ “สัญลักษณ์” และ “ลางบอกเหตุ” ที่บุหลันเทวีดูจะมีพรสวรรค์เป็นพิเศษในการอ่าน ”สัญญาน” จากพระผู้เป็นเจ้า

          คืนวันนั้น บุหลันเทวีนั่งไขว่ห้าง มีวิกรัมนอนอยู่ข้างๆ อ่อนเพลียจากเหตุการณ์ที่ผ่านวันมา บุหลันเทวี บอก วิกรัม ว่าเธอรู้สึกเครียด ไม่ปลอดภัย และหวั่นไหวหวาดกลัว เธอบอกว่าสองพี่น้อง ศรี ราม กับ ลาลา ราม เป็นตัวนำความโชคร้ายมาให้ ขออย่ารับทั้งสองเข้ากลุ่มโจรเลย วิกรัมตอบว่าทั้งสองเป็นเจ้าของกลุ่มเท่าๆกับคนอื่นๆ บุหลันเทวีคงไม่เข้าใจเพราะมิได้อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ต้น ไม่ว่าบุหลันเทวีจะพูดว่าอะไร วิกรัมจะหลับตาฟังอย่างเงียบๆ ไม่ตอบอะไรอีกต่อไป บุหลันเทวีบอกว่าตอนที่คุยกับ ภารต เห็นอีกาจับอยู่บนต้นไม้แห้ง วิกรัมทำสีหน้าขำๆ  การไม่พูดไม่ตอบทำให้บุหลันเทวีคิดว่า วิกรัมไม่แยแสในความเห็นของเธอ 

          บุหลันเทวี เริ่มร้องไห้  สะอื้น ฟ้องให้คิดดูว่า “วันนี้ ศรี ราม มันทำอะไรกับฉันบ้าง” 



          บุหลันเทวีบันทึกว่า:

“ดูเหมือนวิกรัมจะโกรธฉัน เขาเตือนฉันว่า ‘บุหลันเทวี เธอไม่ควรทำตัวเป็นคนยอมคนง่ายๆเหมือนยอมสยบไม่มีปัญหาอะไรแบบนี้ ตอนที่ ศรี ราม ดึงมือเธอ ทำไม่เธอถึงไม่ตบหน้ามันเสียเลยหละ? ทีหน้าทีหลัง เวลามีใครมาล่วงเกินเธอ ตบมันเลย แล้วยกปืนขึ้นขู่มัน’ ฉันบอกว่าที่ไม่ได้ทำอะไรลงไปเพราะเห็นวิกรัมเรียกมันว่า “กูรู” จึงไม่ต้องการทำให้โกรธ วิกรัมบอกว่า ‘ก็อย่ามาห่วงซิว่าฉันจะพูดอะไรอย่างไร จำไว้นะว่าฉันจะคอยปกป้องคุ้มครองเธอเสมอ’ ต่อจากนั้นวิกรัมก็บอกว่าพรุ่งนี้เช้า ศรี ราม และ ลาลา ราม จะไปเยี่ยมครอบครัวในหมู่บ้าน และเขาให้เงินทั้งสองคนไปแล้ว ๑๐,๐๐๐ รูปี ส่วนพวกเราจะเดินทางไปเข้าป่าเขต มเหศปูร์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านที่สามี (ปุตติลาล สามีคนแรก) ของฉันกับครอบครัวอาศัยอยู่ วิกรัมถามด้วยอารมณ์ขันว่าฉันอยากไปเยี่ยมแม่ผัวแล้วถือโอกาสลักพาตัว ปุตติลาล หรือไม่ ฉันเลยแกล้งบอกว่าก็ดีเหมือนกัน ไอ้สัตว์แบบนั้นสมควรจะต้องโดนดีเสียบ้าง เรื่องที่วิกรัมพูดแบบเล่นๆนั้นรบกวนความรู้สึกฉันตลอด ไม่มีหยุด จริงอยู่ที่ฉันยอมเป็นน้ำใต้ศอกเป็นข้าทาสรับใช้ผู้ชาย จากวันนั้นเป็นต้นมาฉันสาบานกับตัวเองแล้วว่าจะไม่ยอมพวกผู้ชายอีกต่อไป จะต่อสู้ในแบบฉบับของตัวฉันเอง วันรุ่งขึ้น หลังจากเราย้ายที่ตั้งค่ายพักแรม ฉันพูดกับ วิกรัม ว่า :

‘ไปบ้านผัวเก่าฉันกันดีกว่า ขอวันนี้ให้ฉันได้ตบไอ้ปุตติลาลด้วยฝ่ามือของฉันเองสักวัน’ 

“วิกรัมเรียกสมุนโจรมาครึ่งหนึ่งแล้วออกเดินทางเวลาเที่ยงวัน ไปถึงหมู่บ้านสามีของฉันเวลาบ่ายสามโมง”

“เราบุกเข้าไปในบ้านของปุตติลาล จับทุกคนที่อยู่ในบ้าน วิกรัมบอกให้ฉันชี้ตัว ปุตติลาล แต่ปุตติลาลไม่ได้อยู่ในกลุ่มคนในบ้านที่เราจับตัวไว้ เราค้นทั่วทุกซอกมุม ไปพบตัวปุตติลาลซ่อนอยู่ให้ห้องเก็บอาหารวัว ภารต ซิงห์ เป็นคนไปพบแล้วลากตัวออกมาให้เรา ฉันระเบิดอารมณ์ที่ถูกเก็บกดมานานหลายปี โดยร้องตะโกนใส่ปุตติลาลด้วยความโกรธแค้น” 

‘ไอ้เหี้ย! ไอ้คนโหด! มึงจำกูได้ไหม? กูเป็นตัวอะไรของมึง?’ 

“ปุตติลาล นึกว่าฉันเป็นผู้ชาย เลยนึกไม่ออก บอกว่าไม่รู้จัก จำไม่ได้ ฉันเลยตบมันไปอีกหลายที”

‘มึงจำกูไม่ได้หรือ? กูคืออีบุหลันเทวี เมียมึงไง มึงไอ้คนใจบาปหยาบช้า! 

ได้ข่าวว่ามึงแต่งเมียอีกสามคนแล้ว ไช่ไหม? 

มึงจำที่มึงทรมานกูไม่ได้แล้วหรือ?’ 

“ฉับตีมันอย่างไม่ยั้งมือเหมือนคนบ้า ตีมันไป...ร้องไห้ไป... 

พร้อมกันนั้นฉันก็บอกพวกสมุนโจรไปด้วยว่า ‘ตอนนั้นฉันอายุเพียง ๑๑ ขวบ ส่วนปุตติลาลก็แก่อย่างที่เห็นตอนนี้ มันข่มขืนฉันเป็นเหมือนของเล่นสนุกสนานตามอำเภอใจ จนฉันกลัวลนลานและล้มป่วยอยู่ตลอดเวลาที่อยู่บำบัดความไคร่ของมัน มันไม่เคยมีเมตตาสงสาร เมื่อตอนที่ฉันกลับไปหาพ่อแม่เพื่อหลบทุกข์ชั่วคราว แล้วจำต้องกลับไปอยู่กับมันอีก มันกับเมียใหม่ก็ทรมานฉันอย่างไม่ปราณี พวกมันจะทุบตีฉันอย่างโหดเหี้ยม กักตัวไม่ให้อาหารกินเลยนานหลายๆวัน ’ 

“ระหว่างที่เล่าเรื่องไป ก็ระบายความแค้นไปด้วยการทุบตบตีปุตติลาล ด้วยมือ ด้วยด้ามปืน และด้วยเท้า คละปะปนกันไป เรามัดตัว ปุตติลาล และ วิทยา เมียใหม่ของมัน แล้วลากตัวทั้งคู่ออกจากหมู่บ้านไปกับเราด้วย ฉันตั้งใจจะฆ่ามันทั้งคู่เมื่อไปถึงใกล้ๆสถานีตำรวจอำเภอ ศรีกานดรา แล้วจะทิ้งข้อความไว้ให้รู้ว่าใครที่มีสองเมียก็จะต้องตายแบบนี้ เมื่อพวกเรามาถึงประมาณสักกิโลเมตรเศษๆห่างจากโรงพักฉันก็เปลี่ยนใจ อยากให้มันทั้งสองคนรอดชีวิตอยู่เพื่อจะได้จำเรื่องไปเล่าต่อๆกันไป ตอนนี้ฉันเริ่มตบตีมันอีกจนปุตติลาลแขนขาหัก และฟันหักไปสองซี่ แล้วฉันมัดมันทั้งคู่ทิ้งไว้พร้อมกับจดหมายถึงพวกตำรวจให้รู้ว่าทั้งหมดเป็นฝีมือของฉันเอง”

“วิกรัมพอใจในการกระทำของฉันเป็นอย่างยิ่ง ตบหลังฉันเบาๆแล้วพูดว่า ‘เธอแอบซ่อนพลังเหล่านี้ไว้ที่ไหนกัน ไม่ยักรู้ ผมไม่รู้จริงๆว่าเธอมีความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญที่สามารถทำอย่างได้เห็นถึงขนาดนี้ นี่จะเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับเธอ เธอจะได้เผชิญหน้ากับศัตรูทั้งหลายเยี่ยงนางโจรที่แท้จริง!’ “

“จากนั้นเราก็เดินทางเข้าป่าแห่งลุ่มน้ำยมุนา รุ่งเช้าเราได้ข่าวว่า ศรี ราม และ ลาลา ราม ต้องหนีตำรวจอีกแล้ว และกำลังตามหาพวกเราอยู่เพื่อจะกลับเข้ากลุ่มกับเราอีกครั้ง เพราะไม่มีหนทางอื่นที่จะพึงพาและหาพวกไปสู้กับตำรวจได้ ถึงตอนนี้พวกเราส่วนใหญ่ไม่ต้องการต้อนรับพี่น้องคู่นี้อีกแล้วเพราะเกรงว่าจะทำให้พวกเราแตกกันอีก แต่ วิกรัม ก็บอกว่าเราต้องช่วย หากเราไม่ช่วยแล้วใครที่ไหนจะช่วย วิกรัม ส่งสมุนสองคนออกตามหา ศรีราม และ ลาลา ราม สั่งให้กระจายข่าวไปว่าพวกเราจะคอยอยู่ในป่า ไรปูร์ สักไม่กี่วัน ผลสุดท้าย ศรี ราม และ ลาลา ราม ก็ใช้เวลาถึงแปดวันกว่าจะตามหาเราพบ


                                                                    [จบบทที่ ๘]


                                                

                                               บทที่ ๙


          อินเดียในยุคใหม่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนได้รับเอกราชจากอังกฤษ มีประชาชนเปลี่ยนศาสนาจากศาสนาฮินดูไปนับถือศาสนาอื่นมากขึ้น บางกลุ่มชนเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธ บางกลุ่มก็เข้ารีตไปนับถือศาสนาคริสต์ และอีกจำนวนมากหันไปนับถือศาสนาอิสลาม ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้ชีวิตหลุดพ้นไปจากวงจรอุบาตของระบบวรรณะและการแบ่งชาติกำเนิดที่แยกย่อยลงไปยิ่งกว่าระบบวรรณะธรรมดาๆ  อันเป็นความขมขื่นและการถูกกดขี่ชนชั้นทางสังคมที่ต่อเนื่องมายาวนานแต่สมัยประวัติศาสตร์โบราณด้วยประกาศิตแห่งคัมภีร์พระเวทย์ การเกิดมาในครอบครัวฮินดูนั้นถือว่าเป็นผู้นับถือศาสนาฮินดูโดยกำเหนิด เช่นเดียวกับชาวไทยที่เกิดมาก็เป็นชาวพุทธโดยกำเนิดตามครอบครัวของพ่อและแม่ การเป็นชาวฮินดูหมายถึงการถูกพันธนาการอยู่ในระบบสังคมสี่วรรณะ คือ พราหมณ์, กษัตริย์, ไวศยะ และ สูดรา กับชนไร้วรรณะที่อยู่ต่ำสุดในระดับสังคม คือพวกจัณฑาล ที่สังคมถือว่าสกปรกเป็นมลภาวะทางสังคม จนใครๆในวรรณะที่สูงกว่าจะสัมผัสไม่ได้ การสัมผัสไม่ได้ที่ว่านี้นั้นมิได้มีความหมายเพียงกายสัมผัส คือการถูกเนื้อต้องตัวเท่านั้น หากแต่หมายถึงการสัมผัสด้วยสายตาก็ยังถือว่าสัมผัสไม่ได้ หากใครต้องสัมผัสแม้เพียงสายตาก็จะถูกมลภาวะทางชนชั้นติดตัวสกปรกโสโครกไปจนต้องทำพิธีอาบน้ำชำระมลภาวะดังกล่าวให้หมดจดสะอาดสิ้นการแปดเปื้อนทางสังคมไป คนเหล่านี้เรียกว่าชนชั้นต่ำที่สัมผัสด้วยไม่ได้ ภาษาอินดีเรียกว่า “จัณฑาล” ภาษาอังกฤษเรียกว่าพวก “Untouchables” ท่าน มหาตมะคานธี ผู้นำขบวนการต่อสู้เรียกร้องเอกราชและความเป็นธรรมในสังคมได้บัญญัติศัพท์เรียกพวกจัณฑาล หรือพวก Untouchables ใหม่ว่า “หริชน” หรือ “Harijan” แปลว่า “ผู้เป็นบุตรของพระผู้เป็นเจ้า” รัฐธรรมนูญอินเดียยังได้บัญญัติไว้ว่าให้ยกเลิกการแบ่งชั้นวรรณะ และให้ถือว่าไม่มีพวก Untouchables อยู่ในสังคม แต่นั่นเป็นทางกฎหมาย ในทางปฏิบัติจริงแม้ในปัจจุบันอินเดียได้รับเอกราชมา ๖๗ ปีแล้วการแบ่งชนชั้น กีดกันวรรณะ ยังคงมีอยู่อย่างยากที่จะกำจัดได้ นอกจากนั้นพวกที่เกิดอยู่ในแต่ละวรรณะยังจะต้องถูกแยกย่อยกีดกันไปตาม “จา-ติ” (Jati) หรือชาติกำเนิด ที่มีมากหมายนับพันนับหมื่นในแต่ละวรรณะ การจะขยับฐานะทางสังคมขึ้นสูงไม่มีทางทำได้เพราะ “จา-ติ” หรือ “ชาติ” และ “วรรณะ” จะกดให้อยู่ในกรอบประเพณีของสังคมไปตลอดชีวิตและตลอดชาติของคนคนนั้น และทุกคนที่เกิดมาในครอบครัวนับญาติกันได้ต่อเนื่องไปชั่วกัปกัลป์ อย่างไรก็ตาม สังคมอินเดียยุคใหม่ในช่วงใกล้ได้รับเอกราชชาวฮินดูด้อยวรรณะและชาติตระกูลจำนวนไปน้อยก็พยายามเปลี่ยนสถานภาพทางสังคมของตนเท่าที่จะหางทางทำได้ เมื่อเลือกชาติและวรรณะเกิดไม่ได้ก็มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบอย่างอื่นของชีวิต เช่นย้ายที่อยู่เพื่อไม่ให้มีใครรู้จัก เปลี่ยนชื่อเพื่อลบกลบประวัติชาติกำเนิดเดิม เรียนหนังสือให้สูงขึ้น เพิ่มการศึกษาเพื่อเปลี่ยนฐานะทางสังคม ทำงานอาชีพที่มีศักดิ์ศรีมากขึ้นเมื่อได้เรียนจบระดับการศึกษาที่สูง หากเป็นผู้มีฐานะดีก็ใช้เงินเพื่อสร้างความเคารพยกย่องในสังคม บางคนก็เดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ หรือไม่ก็ตั้งรกรากในต่างประเทศไปเสียเลย แต่วิธีที่นิยมทำกันมากที่สุด ประหยัดที่สุด และเห็นผลอย่างรวดเร็วที่สุดก็คือการเปลี่ยนศาสนา เพราะศาสนาอื่นจะไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะและชาติกำเหนิดดังเช่นศาสนาฮินดู 

          ในยุคเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ดร. บี. อาร์. อัมเบ็ดการ์ (B.R. Ambedkar) ผู้เกิดมาในครอบครัวจัณฑาล นับถือศาสนาฮินดู จัดอยู่ในพวก Untouchables ต่อมาท่านเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธได้ทุนการศึกษาไปเรียนต่อจนจบปริญญาโทและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา และไปทำงานต่อที่ วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economics) ประเทศอังกฤษ กลับไปสอนหนังสือที่บอมเบย์ ต่อมาได้เป็นผู้พิพากษาศาลสูงแห่ง บอมเบย์  จนในที่สุดได้เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญของอินเดียในช่วงก่อนได้เอกราช อันเป็นรัฐธรรมนูญที่ยกเลิกการแบ่งชั้นวรรณะและยกเลิกการมีชนกลุ่ม Untouchables ไปโดยนิตินัย 

           รัฐธรรมนูญฉบับแรกและฉบับเดียวของอินเดีย นี้นั้นยังคงใช้อยู่จนทุกวันนี้ 

          ปัจจุบันมีชาวฮินดูเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธอยู่ตลอดเวลา ปีละหลายหมื่นคน ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ส่วนภาคใต้ก็นิยมเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ ในเวลาเดียวกันชาวมุสลิมทางเหนือก็อพยพมาอยู่ทางภาคกลางและภาคตะวันออกมากขึ้นทำให้ชาวฮินดูที่ยากจนในวรรณะต่ำหันไปนับถือศาสนาอิสลามมากขึ้นตามกาลเวลา 

          สำหรับในหมู่โจรทั้งหลายทางภาคเหนือและภาคกลางนั้น ก็น่าแปลกที่โจรมุสลิมกับโจรฮินดูเข้ากันได้ ทำงานร่วมกันได้โดยไม่มีการกีดกันชนชั้นวรรณะแต่อย่างใด หรือแม้กระทั่งโจรที่ต่างวรรณะในศานาฮินดูด้วยกันเองก็ยังมีความพยายามยอมรับกันอยู่บ้างแม้จะยังไม่ราบรื่นนัก เช่นในกรณีของ วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ ซึ่งเป็นฮินดูวรรณะสูดรา ชาติกำเนิด “มัลลาห์” กับ พวกลูกน้องของ บาบู ซิงห์ กูจาร์ ซึ่งอยู่ในวรรณะไวศยะ ชาติกำเนิด “ฐากูร” แต่ถ้าระหว่างโจรฮินดูกับโจรมุสลิมแล้วกล่าวได้ว่าไม่มีปัญหาวรรณะ ชาติ และศาสนาระหว่างกันและกันเลย

          วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ นั้นนอกเหนือจะได้รับอิทธิพลในวัยเด็กจาก ศรี ราม แล้ว ยังมีโจรมุสลิมอีกคนหนึ่ง ชื่อ มุสตาคีม ผู้ซึ่งจะกล่าวได้ว่าอยู่ในความชื่นชอบของวิกรัมมาก มุสตาคีมโด่งดังเป็นที่สุดในด้านการปล้น จับลูกคนรวยไปเรียกค่าไถ่ ได้เงินแต่ละครั้งมากมายมหาศาล ชาวบ้านเรียก มุสตาคีม ด้วยความเคารพว่า “บาบา มุสตาคีม” เพราะ มุสตาคีม จะยึดหลักชนะใจคนจนด้วยการปล้นคนรวยเอาไปแจกจ่ายเผื่อแผ่ให้คนจนต่อ ผลงานการปล้นของ บาบา มุสตาคีม มีมากมายยิ่งกว่าเอาผลงานของโจรทุกๆกลุ่มมารวมกันเสียอีก แม้ บาบา มุสตาคีม จะเป็นชาวมุสลิม และลูกน้องของเขาจะมีผสมกันทั้งมุสลิมและฮินดูวรณะต่ำ เมื่อครั้งที่มุสตาคีมอายุ ๒๖ ปี ซึ่งก็เท่ากับอายุของวิกรัมขณะที่เล่าเรื่องนี้ ชื่อเสียงของ มุสตาคีมเป็นรองก็แต่เพียง มัลข่าน ซิงห์ เท่านั้น ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๗๐ (ราวหลังปี พ.ศ. ๒๕๑๕) มัลข่าน ซิงห์ คือเจ้าพ่อในหมู่จอมโจรตัวจริงแห่งหุบเขาจัมบาล การกลับมาของพี่น้องสองราม คือ ศรี ราม และ ลาลา ราม ทำให้วิกรัมต้องปรับตัวเพราะไม่ต้องการให้พี่น้องสองรามนั้นเข้าใจผิดว่า วิกรัม ทำงานคนเดียว ไม่มีพวก วิกรัมจึงต้องมองหาพันธมิตร เขาจึงมองไปที่ บาบา มุสตาคีม เพราะทั้งชื่อเสียงและวิธีทำงานของมุสตาคีมล้วนแล้วแต่จะเป็นที่ชื่นชมของวิกรัมทั้งสิ้น มุสตาคีม เลี้ยงลูกน้องโดยไม่แบ่งชั้นวรรณะ ใช้วิธีเลือกอย่างเจาะจงโดยมีข้อมูลและการตัดสินใจล่วงหน้าในการลักพาตัวคนรวยที่กำหนดไว้ในบัญชีมาเรียกค่าไถ่ ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ ไม่ใช้วิธีปล้นสะเปะสะปะตามโอกาสตามดวง การปล้นโดยไม่เลือกที่เป็นการเสี่ยงอันตราย ได้ไม่คุ้มเสีย บางที่เจ้าของบ้าน ผู้มีอิทธิพลในหมู่บ้านก็อาจรวมตัวกันต่อสู้ บางทีอาจถึงตาย หรือบาดเจ็บสาหัสได้ วิกรัมเองก็เคยถูกยิงบาดเจ็บที่ขามาแล้วครั้งหนึ่ง มุสตาคีม ยึดลักการปล้นว่า: “ปล้นคนรวยเอามาซื้อน้ำใจคนจน” ตรงกันข้าม แก๊งโจรของ ฐากูร เน้นที่การครองอำนาจของกลุ่มชาติกำเหนิดในวรรณะเดียวกัน แบ่งชั้นวรรณะในหมู่โจร และปล้นคนวรรณะเดียวกันเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่เหนือคนในวรรณะและชาติกำเนิดเดียวกัน  บาบา ซิงกูจาร์ ฐากูร และ ศรี ราม ฐากูร ล้วนแล้วแต่ต้องการประกาศศักดาเหนือชาติ “ฐากูร” อื่นๆทั้งสิ้น สำหรับวิกรัม ซิงห์ เป็นชาติ “มัลลาห์” ไม่เคยคิดจะทำอะไรที่เป็นอันตรายต่อ “มัลลาห์” ด้วยกัน ไม่มีความทะเยอทะยานจะยิ่งใหญ่เหนือ “มัลลาห์” คนอื่นๆแต่อย่างใด วิกรัมไม่เห็นความจำเป็นใดๆที่จะต้องไปปล้นเอาทรัพย์สินเงินทองจากพวก “มัลลาห์” ด้วยกันเลย วิกรัมปรึกษาเรื่องที่คิดกับบุหลันเทวี ภารต ซิงห์ และ มาโธ ซิงห์ แล้วตกลงกันว่าจะต้องตามหา “บาบา มุสตาคีม” ซึ่งตอนนี้มีข่าวว่าเขากับพวกสมุนโจรกำลังทำงานอยู่ในป่าทางเหนือของหุบเขาจัมบาลนี้เอง

          วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์ และ บุหลันเทวี ออกเดินทางขึ้นเหนือไปกับสมุนโจรครึ่งหนึ่งของกลุ่ม มุ่งหน้าสู่เมือง อีตาวาห์ (Etawah) วิกรัมรู้จักหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่เขาจะสามารถหาข่าวเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของ มุสตาคีมได้ ปรากฏว่าการตามหา มุสตาคีมไม่ยากอย่างที่คาด ภายในสองวันพวกของวิกรัมก็ได้คนนำทางไปสู่ค่ายพักของ มุสตาคีม ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำ บนลานที่ถางพงหนามออกไปจนโล่ง ทันที่เห็นหน้า วิกรัม มุสตาคีม ก็พลันเข้ากอดอย่างยินดี แล้วทักทายคณะที่ตามมาจนหมด จากนั้นก็หันกลับมาพูดกับวิกรัม:

          “มึงจะบ้าหรือ? มึงทำอะไรกับผู้หญิงคนนี้ ที่กูเคยสอนมึงไว้ มึงไม่เคยจำหรืออย่างไร เรื่องเอาผู้หญิงมาอยู่ในกลุ่มโจรด้วยกัน?” มุสตาคีมต่อว่าวิกรัมโดยไม่คำนึงถึงหัวอกบุหลันเทวีที่ยืนอยู่ไม่ไกล

          บุหลันเทวีตกใจและอับอายที่ได้ยินคำดูหมิ่นเช่นนั้น เธอนั่งฟังอยู่ห่างๆ พยายามข่มใจ ไม่แสดงออกถึงความรู้สึก ขณะที่ มุสตาคีม บอกชายคนรักของเธอว่าผู้หญิงเป็นตัวนำโชคร้าย การมีผู้หญิงในแก๊งโจรเป็นสัญลักษณ์แห่งความตาย วิกรัมย้ำอย่างหนักแน่นแต่แฝงด้วยอารมณ์ดีถึงเรื่องการตัดสินใจของเขาที่รับบุหลันเทวีไว้ในกลุ่ม แล้วบอก มุสตาคีมว่าเขามาคุยธุระไม่ใช่มาปรึกษาเรื่องของบุหลันเทวี ซึ่งก็ทำให้บุหลันเทวีโล่งอกสบายใจ วิกรัมบอกบุหลันเทวีว่ามีเรื่องต้องคุยกับมุสตาคีมยาวจึงจำต้องค้างคืนหนึ่ง บุหลันเทวีไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่นจึงยอมรับและพยายามแยกตัวห่างจากวิกรัมเข้าไว้เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหารบกวนความรู้สึกของ มุสตาคีม 

          สองวันต่อมา ระหว่างเดินทางกลับ วิกรัม บอก บุหลันเทวี ว่าได้ทำข้อตกลงกับ มุสตาคีม โดยจะร่วมมือกันในทุกครั้งที่จะมีการปล้นในครั้งใหญ่ โดยรวมพลังสมุนโจรด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าใครจะช่วยฝ่ายละกี่คนก็ไม่สำคัญ จะแบ่งผลประโยชน์จากการปล้นครึ่งต่อครึ่งเท่ากันเสมอ นอกจากนั้น มุสตาคีมก็ยังจะให้ข้อมูลข่าวสารและคำแนะนำที่สำคัญต่อการปล้นลักพาตัวคนต่างๆเฉพาะส่วนที่พวกวิกรัมต้องการปฏิบัติการเองในงานปล้นรายย่อย วิกรัมดูจะยินดีปรีดาต่อการผูกพันธมิตรใหม่ในครั้งนี้เป็นที่ยิ่ง เขามั่นใจว่าพันธมิตรนี้จะช่วยให้เขาพร้อมที่จะต่อกรกับกลุ่ม ศรี ราม  และ ลาลา ราม ได้อย่างสบาย ยิ่งไปกว่านั้น มุสตาคีม เองก็ชิงชังพวก ฐากูร มากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สองสามวันหลังจากนั้นนั้น ศรี ราม และ ลาลา ราม ก็กลับมาเข้าร่วมขบวนการโจรด้วยกันอีกครั้ง 

          บุหลันเทวี บันทึกว่า:

          “วิกรัมต้อนรับพวก ศรี ราม มอบปืนไรเฟิ้ลให้ แต้มจุด “ติลัก” สีแดงที่หน้าผากของ ศรี ราม เป็นการแสดงความเคารพ แล้วพูดว่า:

‘ท่าน ฐากูร ครับ ขอได้โปรดช่วยดูแลลูกน้องของท่านด้วย กรุณาปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความเคารพต่อกันและกัน ในสายตาของพระผู้เป็นเจ้า เราทุกคนเท่าเทียมกัน ขอท่านได้โปรดคิดถึง บุหลันเทวี เสมือนเป็นบุตรสาวของท่านเอง โชคชะตาชีวิตมิได้มีเมตตาต่อเธอมาก่อนเลย’ 

“เราทั้งหมดออกจากพื้นที่ หลังจากนั้นเพียงไม่นาน ศรี ราม ก็แสดงธาตุแท้ของมันออกมา มันสั่งให้ใครต่อใครรับใช้สารพัดเรื่อง สั่งแม้กระทั่งให้บีบนวดเท้าหลังจากเดินทางมาเมื่อยล้า พวกสมุนโจรเริ่มบ่นเริ่มต่อว่าเรื่องนี้กับวิกรัม โดยบอกว่า 

‘หัวหน้าครับ ศรี ราม มันมีแต่สร้างปัญหา มันคิดแต่เรื่องตัวมัน มันนึกว่ามันเป็นใคร ใหญ่มาจากไหนกัน?’ 

“แล้วเตือนว่าจะไม่ยอมทนอย่างนี้ไปนานนัก หากถึงที่สุดต้องแตกหักก็ให้แตกหักกันไปเลย เรื่องนี้ทำให้ วิกรัม ไม่สบายใจมาก จึงเข้าไปคุยกับ ศรี ราม ว่า:

‘พวกลูกน้องทั้งหลายไม่พอใจท่านมาก ขอได้โปรดระมัดระวังตัวหน่อย’ 

“จากนั้นมา ศรี ราม ก็ดูจะเริ่มปรับตัว เปลี่ยนนิสัยและความประพฤติไปอย่างเห็นได้ชัด จนทุกคนนึกว่าเขาเปลี่ยนไปได้จริงๆ”

“อยู่มาวันหนึ่ง พวกเราเดินทางมาถึงป่าแห่งหนึ่งในเขตเมือง ฮามีร์ปูร์ ริมฝั่งแม่น้ำ เบตวา ในตอนเช้า เราส่งข่าวไปถึง “มุขียา” หรือผู้ใหญ่บ้าน ของหมู่บ้าน ดาดรี ขอให้ส่งอาหารและสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่างๆมาให้พวกเรา แต่ผู้ใหญ่บ้านก็อุตส่าห์เดินทางมาหาพวกเราด้วยตัวเอง แจ้งว่าหลานสาวกำลังจะแต่งงานพอดี อยากจะขอเชิญให้พวกเราไปร่วมงานเพื่อเป็นการให้เกียรติผู้ใหญ่บ้าน คู่บ่าวสาว และชาวบ้าน วิกรัมเลือกลูกน้องที่ไว้ใจได้ให้ไปร่วมงานพิธีแต่ง ๕ คนจากกลุ่มของ ภารต ซิงห์ โดยกำชับให้สำรวมตัวไปแล้วอย่าดื่มเหล้าเมามาย หรือไปสร้างปัญหาให้ชาวบ้านหมั่นไส้หรือไม่พอใจ วิกรัมเองตัดสินใจที่จะไม่ไปด้วย แต่ฝากเงินไป ๕,๐๐๐ รูปี พร้อมทั้งสร้อยทองคำอีกเส้นหนึ่งให้เป็นของขวัญแก่เจ้าสาว ยังไม่ทันที่พวก ๕ คนจะจากไปได้นานเท่าไรก็มีคำเชิญไปร่วมงานแต่งงานลูกสาวชาวนาที่ยากจนอีกหมู่บ้านหนึ่งที่อยู่ใกล้กันมาอีก วิกรัมเลือกสมุนโจรอีกจำนวนหนึ่งให้ไปงานแล้วขอให้ ศรี ราม นำคณะไป แต่ ศรี รามปฏิเสธ โดยอ้างว่าไปแล้วไม่รู้จะไปทำตัวอย่างไร วิกรัมก็เลยบอกให้ ชะโฮต มิชรา เป็นคนนำคณะไปพร้อมด้วยเงินของขวัญแก่เจ้าสาว ๕,๐๐๐ รูปี กับสร้อยทองคำหนึ่งเส้น แล้วเตือนลูกน้องเรื่องการประพฤติตัวในหมู่บ้านแบบเดียวกัน ถึงตอนนี้สมุนโจรที่เหลืออยู่ก็มีเพียงพวกเด็กๆ ศรี ราม เห็นโอกาสที่จะวางแผนกำจัด วิกรัม เสียในตอนนี้”

“เวลาเที่ยง ศรี ราม ชวน วิกรัม ไปอาบน้ำในแม่น้ำ วิกรัมชวนฉันไปด้วย ศรี ราม ก็แกล้งกระเซ้าว่า หมู่นี้วิกรัมกับฉันจะห่างกันไม่ได้เลยเชียวหรือ วิกรัมแสดงอาการไม่ชอบใจ และรู้สึกขายหน้าต่อหน้า มหาเวียร์ ญาติห่างๆของ ศรี ราม ที่มาเยี่ยมในตอนนั้น ในที่สุดทั้งสามคนก็ไปอาบน้ำที่แม่น้ำ ฉันไม่ได้ไปด้วย พอทั้งสามคนไปถึงฝั่งน้ำ ศรี ราม บอกว่าไม่ได้กินแตงโมมานานแล้วจึงออกไปหาแตงโมมากิน ช่วงนี้เป็นฤดูปลูกแตงโมพอดี ตามริมฝั่งแม่น้ำจะมีไร่แตงโมมากมาย ระหว่างคอย ศรี ราม กลับมา วิกรัม ก็นั่งคุยกับชาวบ้านที่เป็นเจ้าของเรือ โดยนั่งหันหลังให้ทั้งมหาเวียร์ และ ศรี ราม ทั้งสองคน ทันใดนั้นก็มีเสียงปืนดังขึ้นนัดหนึ่ง เห็น มหาเวียร์ วิ่งหนีไป วิกรัม รู้ตัวว่าถูกยิงและเชื่อว่าเป็นฝีมือของ มหาเวียร์ และเมื่อลูกน้องคนอื่นได้ยินเสียงปืนก็ตกใจกันชุลมุน มาดูเหตุการณ์ก็เห็น วิกรัม นอนเลือดโชกอยู่กับชายเจ้าของเรือโดยมี ศรี ราม อยู่ข้างๆออกคำสั่งว่าไม่ต้องตกใจควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ฉันเองวิ่งสุดกำลังไปที่แม่น้ำกับพวกสมุนคนอื่นๆ วิกรัมตะโกนว่า:

‘ทุกคนหยุด อย่าเข้ามาใกล้กู กูถูกยิง ใครก็ไม่รู้ยิงกู บุหลัน มานี่ซิ มาคนเดียว คนอื่นไม่ต้องมา’ 

“ฉันเดินเข้าไปหาวิกรัม ร้องไห้โฮเมื่อเห็นเลือด วิกรัมบอกว่า:

 ‘อย่าห่วงเลย ฉันไม่เป็นอะไรมากหรอก ปืนไรเฟิ้ลของเธออยู่ที่ไหน?’ 

“ฉันบอกว่าทิ้งไว้ที่ค่าย”

“วิกรัมบอกว่า:

‘เอาหละช่วยพยุงฉันยืนขึ้นหน่อย แล้วหยุดร้องไห้ด้วย หากขืนร้องไห้อยู่พวกมันเห็น มันจะรู้ว่าเธอรับสถานการณ์ไม่ได้ ทำใจให้เข้มแข็งไว้’ 

“ด้วยการช่วยพยุงจากฉัน วิกรัม ยืนขึ้นได้ คว้าปืนไรเฟิ้ลมาถือแล้วขยับผ้านุ่งให้กระชับเอวพร้อมตะโกนออกคำสั่ง:

‘กูไม่รู้ว่ามันจะหนักแค่ไหน จะอยู่หรือจะตาย ทุกคนวางปืนลง แล้วเข้ามาหากูทีละคน’

“ศรี ราม วางปืนลง โผเข้ามากอด แล้วร้องไห้เหมือนผู้หญิง คนอื่นๆก็เดินตามมา แล้วพวกเราก็พยุง วิกรัม เดินกลับไปพักที่ค่าย วิกรัม ถาม ศรี ราม ว่าทำไมญาติของ ศรี ราม จึงต้องวิ่งหนีไป ศรี ราม ตอบว่า:

‘มันคงกลัว นึกว่าเป็นตำรวจมาล้อม มันเป็นชาวไร่ชาวนาธรรมดาๆ ไม่คุ้นเคยเรื่องของพวกโจรแบบเรา ก็เลยเตลิดหนีไป’ 

ต่อมาในตอนเย็นวันนั้น ภารต และ ชะโฮต มิชรา กับพรรคพวกก็เดินทางกลับมาจากงานแต่งงานในหมู่บ้าน นั่งเคียงข้างเฝ้าดูอาการของ วิกรัม ที่ไข้กำลังขึ้นสูง กระสุนฝังในโคนขา เลือดไหลออกไม่หยุด ซึมผ่านผ้าพันแผลที่บุหลันเทวีฉีกจากชุดสีกากีที่ได้มาใหม่มาทำเป็นผ้าพันแผล บอกให้ ภารต กลับไปยังหมู่บ้าน ดาดรี เพื่อหารถยนต์มาพา วิกรัมไปรักษาพยาบาล บุหลันเทวี กับ วาเรย์ลาล ผู้เป็นลุงของวิกรัม ตั้งใจมั่นว่าถึงอย่างไรก็จะพาวิกรัมไปรักษาตัวที่เมือง จะฮานซี ให้ได้ พี่ชายของวิกรัมอยู่ที่นั่น เขาจะสามารถช่วยหาหมอดีๆมารักษาวิกรัมได้ วาเรย์ลาล เชื่อเช่นนั้น ในระหว่างที่รอคอยรถจาก ภารต อยู่นั้น ศรี ราม พยายามบอก บุหลันเทวี ว่าอย่าผลีผลาม อย่าด่วนตัดสินใจอะไรลงไปที่บุ่มบ่ามด้วยอารมณ์ร้อน อาจไม่ถูกต้องเสียหายได้ 

“แกไม่เห็นหรือไงว่าวิกรัมกำลังอาการหนัก กำลังจะตาย? กูเห็นคนตายมามากแล้ว  กูรู้ว่า วิกรัม มันไม่อยากตายอย่างหมาต่อหน้าพวกตำรวจ ให้วิกรัมมันตายที่นี่ดีกว่า จะได้ช่วยกันทำพิธีให้อย่างสมเกียรติ หากมันตายที่โรงพยาบาล ตำรวจก็จะเอาศพไป” ศรี ราม บอกกับ บุหลันเทวี

บุหลันเทวี เชื่อมั่นว่าทั้งหมดเป็นฝีมือการวางแผนฆ่าโดย ศรี ราม เอง เธอจึงไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะเชื่อฟัง ศรี ราม เธอจึงกล่าวย้อนกลับไปโดยไม่เกรงใจว่า:

“ฉันจะไม่ยอมให้ วิกรัม ตาย และเขาจะต้องไม่ตาย เท่าที่ฉันรู้ มีคนยิงเขา แต่ไม่เห็นตำรวจแถวนั้นสักคน”

เวลาผ่านไปหลายชั่วโมงจึงมีชาวนาแก่คนหนึ่งมาพร้อมกับเกวียนเทียมวัวคันหนึ่ง ศรี ราม พูดอีกว่า:

“นี่มันจะบ้ากันใหญ่แล้ว! เอา วิกรัม ขึ้นเกวียนแบบนี้เมื่อไรจะไปถึง จะฮานซี!”

บุหลันเทวีตอกกลับไปอย่างไม่แยแสว่า:

“แกจะไปคาดหวังอะไรนักจากหมู่บ้านเล็กๆแบบนี้? จะเอาเฮลิคอปเตอร์หรือไง? หยุดพูดทุเรศๆเสียเถอะ ฉันต้องการเงินไปจ่ายค่าหมอ ใครที่เป็นเพื่อนแท้ควรต้องเสียสละกับบ้างในตอนนี้ มีเท่าไรก็เอามา ถ้าเป็นทีพวกแกโดนบ้าง วิกรัม ก็จะช่วยเต็มที่แบบเดียวกัน”

ภารต, มาโธ และ วาเรย์ลาล ช่วยกันยกร่างเกือบหมดสติของ วิกรัม ขึ้นเกวียน ศรี ราม ให้เงิน บุหลันเทวี ไปมัดหนึ่ง 

บุหลันเทวี บันทึกความทรงจำของเธอในตอนนั้นว่า:

“แล้ว ภารต ก็บอกฉันว่า:

 ‘ช่วยดูแลเขาด้วย ฉันจะสวดมนต์ให้เขาหาย ฉันเสียใจที่ไม่อาจเดินทางไปกับแกด้วยได้’ 

“จากนั้น วิกรัม ก็พูดว่า 

‘ฉันไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับฉัน แต่เธอและพวกเราทุกคนต้องสามัคคีกันอย่างเหนียวแน่น’ วิกรัมแต่งตั้ง ภารต เป็นหัวหน้ากลุ่มโจรแทนเขาทันที เขาย้ำว่า ‘ฉันไม่เห็นใครจะเหมาะสมไปกว่า ภารต’ 

วาเรย์ลาล ลุงของวิกรัมอาสาเดินทางไปกับฉันด้วย ลุงบอกว่า เกรงว่าฉันจะจัดการทุกอย่างด้วยตัวเองไม่ไหว”

 “เราเดินทางออกจากค่ายพักแรมไปถึงเมือง โอไร เวลาเที่ยงคืน เราต้องหารถตุ๊กๆ(สามล้อเครื่อง) เพื่อเดินทางต่อไป ตอนแรกพวกรถตุ๊กๆก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมพาไปเพราะกลัวจะถูกข้อหาเกี่ยวข้องกับเรื่องบาดเจ็บของวิกรัม หากเรื่องไปถึงตำรวจ แต่ในที่สุดชายคนขับตุ๊กๆคันหนึ่งก็ตกลงด้วยราคาที่สูงมโหฬารถึง ๕๐๐ รูปี เขาไม่มีใบอนุญาตขับข้ามไปเมือง จะฮานซี ทำให้การเดินทางครั้งนี้ต้องเครียดไปตลอดทาง (เพราะกลัวถูกจับฐานไม่มีใบขับขี่ข้ามเมือง) เมื่อคนขับถามว่าเกิดอะไรขึ้นเราก็ต้องสร้างเรื่องโกหกว่าพวกเราเป็นคนงานก่อสร้างสะพาน แล้วคนที่บาดเจ็บ (คือวิกรัม) ตกสะพานจนบาดเจ็บสาหัส ต้องเร่งกลับไปบ้านไปหาหมอ คนขับรถตุ๊กๆก็ถามใหญ่เรื่องนายจ้าง ว่าน่าจะรับผิดชอบ ทำไมไม่รับผิดชอบรักษาพยาบาลให้ เราก็เลยคุยกันทั้งคืนเรื่องความเลวร้ายของนายจ้างที่รังแต่จะเอาเปรียบลูกจ้าง!”

“ในที่สุดเราก็มาถึงเมือง จะฮานซี ในตอนเช้าตรู่ วิกรัม มีพี่ชายชื่อ รามปาล โดยคนในละแวกใกล้เคียงไม่รู้ว่าเขามีน้องชายเป็นโจร ดาคอยต์ เราเข้าไปถึงบ้านของเขาโดยการบอกทางของวิกรัมตลอด รามปาล ตกลงช่วยเหลือโดยด่วน ออกไปตามหมอมาให้ทันที รามปาล บอกหมอว่าเป็นเรื่องทะเลาะกันในครอบครัว พี่ชาย เถียงกับน้องชาย เลยเอาปืนของพ่อมายิงน้องชาย ในเมื่อเป็นเรื่องทะเลาะกันเกี่ยวกับน้องสะใภ้จึงไม่อยากแจ้งความกับตำรวจ เกรงว่าครอบครัวจะเสื่อมเสียชื่อเสียง จึงจำต้องขอให้หมอมารักษาอาการบาดเจ็บของน้องชายที่บ้าน หมอเดินทางมาถึง รามปาล ถามหมอเรื่องค่ารักษา หมอบอกว่าอาการแบบนี้อันตรายมากๆ แล้วถามว่า รามปาล จะมีจ่ายเท่าไร รามปาล เอาเงินใส่มือหมอ ๑๐๐,๐๐๐ รูปี แล้วบอกให้หมอนับเอาเอง พอเห็นเงินหมอก็ออกไปเรียกแท็กซี่ บอกว่าต้องเอาตัวไปรักษานอกเมืองเพื่อความปลอดภัย และไม่ให้เพื่อนบ้านสงสัย  ดังนั้น รามปาล, หมอ, วิกรัม และตัวฉัน จึงขึ้นแท็กซี่ออกไปนอกเมืองไกลกว่า ๖ กิโลเมตร ถึงบ้านร้างแห่งหนึ่ง หมอขอตัวกลับออกไปบอกว่าจะไปเอาเครื่องมือผ่าตัด ทิ้งเราไว้กับความหวั่นวิตกว่าจะไว้ใจหมอได้เพียงไร แต่หมอก็กลับมาพร้อมอุปกรณ์ต่างๆภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง แล้วเริ่มผ่าเอากระสุนออก หมอจัดยาและเครื่องมือทำแผลไว้ให้สำหรับ ๘ วันแล้วบอกว่าจะติดต่อมาตามดูอาการผ่าน รามปาล หมอบอกว่าหากเราจ่ายเพิ่มอีก ๓๐,๐๐๐ รูปี หมอจะจัดการให้เราพักอยู่ที่บ้านร้างนี้ต่อไปได้จนกระทั่ง วิกรัมอาการดีขึ้น ฉันบอก รามปาล ว่าได้ ฉันมีเงิน ก็จ่ายเงินให้หมอไป จากนั้น รามปาล และ วาเรย์ ลาล ก็ออกไปหาข้าวปลาอาหารและที่นอนมาแทนของเดิมที่เปรอะเลือดไปหมดแล้ว”

“วันเวลาผ่านไปหลายวัน วิกรัมนอนหลับเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ฉันดูท่าทางแล้วก็มั่นใจว่าอาการเขาดีขึ้นเรื่อยๆ แต่แล้วก็มีข่าวในหนังสือพิมพ์ว่าวิกรัมเกิดเรื่องถูกยิง แถมยังรายงานด้วยว่ามีคนนำตัววิกรัมเข้าเมืองเพื่อรักษาตัว รายงานข่าวในหนังสือพิมพ์บางฉบับก็บอกว่าวิกรัมตายแล้ว หมอจึงเริ่มสงสัย วันหนึ่งหมอมาที่บ้านที่เราพักอยู่แล้วซักไซ้เอาความจริง วิกรัมบอกโดยไม่รั้งรอว่าให้มาพรุ่งนี้อีกที ฉันจะบอกความจริงให้ทราบ และจะให้รางวัลตอบแทนอย่างงามที่ได้ช่วยฉันกับภรรยาของฉันเป็นอย่างดี ทันทีที่หมอกลับไป วิกรัมบอกพวกเราว่า เราต้องหนีแล้ว ฉันออกไปข้างนอก หารถแทร็กเตอร์เช่าได้คันหนึ่ง บังเอิญเจ้าของรถเขากำลังจะไปเมืองกันปูร์พอดี เราเก็บข้าวของทั้งหมดออกหนีไปกับรถแทรกเตอร์คันนั้น คนขับรถนึกว่าบ้านที่เราพักอยู่เป็นบ้านของเราเลยไม่สงสัยอะไร เราบอกเขาว่า คอยพี่เขยนานแล้วก็ไม่เห็นมา จำต้องรีบพาวิกรัมไปเอ็กซ์เรย์ที่โรงพยาบาลที่เมือง กันปูร์ ชายเจ้าของแทรกเตอร์โอภาปราศรัยอย่างเป็นกันเองดีมาก วิกรัมเสนอจะให้เงินค่าเช่ารถเขาก็ไม่เอา โดยบอกว่าถึงอย่างไรเขาก็จะมาทางนี้อยู่แล้ว การรับพวกเราขึ้นรถมาด้วยมิได้ทำให้เสียค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มขึ้นเลย”

“ที่ กันปูร์ เราสามารถหาห้องเช่าได้ห้องหนึ่ง ติดต่อหมอมาดูแลวิกรัมได้คนหนึ่ง ค่าใช้จ่ายในเมืองสูงมาก ในไม่ช้าเงินของเราก็หมด วิกรัมเองยังไม่แข็งแรงพอที่จะเดินทาง ฉันกับ รามปาล จึงต้องเดินทางไปตามหา ภารต กับพวกเพื่อขอเงินมาใช้จ่ายเพิ่ม กว่าจะตามหาตัวกันได้ก็ยากลำบาก แต่ก็ตามหาจนพบ พวกเพื่อนๆทุกคนช่วยเงินกันอย่างเต็มที่เท่าที่จะมีให้ได้ ใครไม่มีเงินสดก็ให้ทองคำและเงินรูปพรรณแทน”


                                                                 [จบบทที่ ๙]





                                                                บทที่ ๑๐


          ความใหญ่โตโอฬารของเมืองกันปูร์ทำให้เป็นเรื่องไม่ยากที่ วิกรัม และ บุหลันเทวี จะหาห้องเช่าได้โดยผ่านคนกลาง แม้จะเป็นห้องเล็กๆแคบๆแต่บุหลันเทวีก็มีความรู้สึกว่ามีความปลอดภัยเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา เธอยังจำเสียงเด็กๆวิ่งเล่นขึ้นลงบันไดและระเบียงกันเจี๊ยวจ๊าวทั้งวัน ทุกวัน เสียงเล่นสนุกสนานของเด็กๆทำให้เธอนึกถึงพ่อกับแม่และชีวิตเก่าของเธอกับครอบครัว พี่ น้อง เธอรู้สึกอยากมีลูกเป็นของเธอเองเหมือนกัน แต่ชีวิตโจรเร่ร่อนแบบนี้เธอจะไปลงหลักปักฐานมีลูกเช่นครอบครัวปรกติได้อย่างไร และมีบ่อยครั้งที่เธอมีอาการรอบเดือนเจ็บปวดและตกเลือดมากผิดปรกติ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไรนอกจากจะคิดให้เป็นลางบอกเหตุร้ายเท่านั้นเอง  เพียงมีชีวิตรอดมาได้จนบัดนี้ก็ต้องขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าเป็นอย่างยิ่งแล้ว วิกรัมฟื้นจากการบาดเจ็บอย่างรวดเร็วน่าทึ่ง วิกรัมมีเพื่อนที่กันปูร์หลายคน และเพื่อนๆเหล่านั้นก็ชอบที่จะพาบุหลันเทวีไปเที่ยวหาซื้อข้าวของในเมือง สำหรับบุหลันเทวีการออกไปเดินซื้อของอย่างสนุกสนานสบายใจเช่นนี้เป็นประสบการณ์ที่เธอไม่เคยได้มีโอกาสมาก่อนเลยในชีวิต ได้ไปซื้อของจำเป็นเช่นผ้าพันแผล ยาฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดแผล ซื้อส่าหรีสวยๆมาลองใส่ดู ได้ซื้อกำไลแก้วสีสันงดงาม ซื้อมะม่วงจากพ่อค้าข้างถนนมากินเล่น ทุกอย่างดูจะสนุกสนานสำราญใจมากสำหรับเด็กสาวที่อยู่แต่ในป่าอย่างเธอ ที่กันปูร์เธอได้ดูภาพยนตร์เรื่อง “โชเลย์” ซึ่งตอนที่ออกฉายใหม่คนทั้งประเทศถกเถียงวิจารณ์กันมากว่าเอาเรื่องของโจรดาคอยต์แบบที่เธอกับวิกรัมเป็นอยู่มายกย่องเชิดชู “โชเลย์” นำแสดงโดย อมิตาพ บัชจัน พระเอกคนดังที่ตอนหลังลงสมัครได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ราจีฟ คานธี  

   แม้ว่าโจรปล้นทางหลวงในแถบหุบเขาจัมบาล ที่เรียกว่า “ดาคอยต์” กลุ่มต่างๆกลับมาเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์กันอีกอย่างคึกคัก ทั้งฉบับภาษาฮินดีและภาษาอังกฤษ แต่ยังไม่เคยมีหนังสือพิมพ์ฉบับไหนได้ถ่ายรูป วิกรัม มัลลาห์ และ บุหลันเทวี ไว้ได้เลย ดังนั้นทั้งสองคนจึงไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกสบายระหว่างอยู่ที่กันปูร์ ไม่ต้องห่วงเลยว่าจะมีใครรู้จักหรือจำหน้าตาได้ ในย่านห้องเช่าที่บุหลันเทวี อยู่นั้นเธอก็ทำความรู้จักมักคุ้นพูดคุยผูกมิตรกับเพื่อนบ้านได้อย่างกลมกลืน บอกว่าเป็นญาติกับผู้เช่าห้องตัวจริง ที่มาพักอยู่นี้ก็ชั่วคราว เพื่อมารักษาตัวที่บาดเจ็บจากการทำนา คนแถวๆนั้นก็ไม่ได้คิดแปลกใจอะไรกัน เห็นเป็นเรื่องปรกติธรรมดา มีวันหนึ่งตอนที่......*

[*บุหลันเทวี ราชินีจอมโจร มีทั้งหมด ๒๐ บท หากมีผู้อ่านสนใจมากพอจะสามารถจัดพิมพ์จำหน่ายได้]
Picture
                                                                     
                                                    เชิงอรรถ / Footnotes
                     [ตามตัวเลขในวงเล็บกำกับท้ายข้อความที่ต้องการคำอธิบายเพิ่มเติม]

บทที่ ๒
๑. ออกเสียงเป็นภาษาฮินดีว่า “พูลัน” สะกดเป็นภาษาอังกฤษว่า “Phoolan” มาจากคำว่า “พูล” ในภาษาฮินดี แปลว่า “ดอกไม้”

บทที่ ๓
๑. วรรณะต่ำสุดที่เรียกว่าวรรณะสูดรา (Sudra)
 ๒. “ชาติ” หรือ “Jati” ในสังคมแบ่งชั้นวรรณะหมายถึงชาติกำเหนิด ซึ่งคนในวรรณะต่ำสุดคือวรรณะ “สูดรา” แม้จะต่ำสุดแล้วยังแยกย่อยระดับความต่ำวรรณะไปตามความต่ำของชาติกำเหนิดของแต่ละคนด้วย วรรณะ “สูดรา” เดียวกันอาจมีชาติกำเหนิดต่างกัน บอกได้ด้วยชื่อสกุลและอาชีพ ดังนั้นวรรณะเดียวกันอาจสูงต่ำไม่เท่ากันได้ การแบ่งชั้นวรรณะในสังคมฮินดูแบ่งเป็น ๔ วรรณะ ตามลำดับจากสูงไปหาต่ำดังนี้ : ๑. พราหมณ์ (นักบวช นักพรต)  ๒. กษัตริย์ (นักรบ นักปกครอง) ๓. ไวศยะ (พ่อค้าวาณิชย์ เกษตรกร)   ๔. สูดรา  (คนชั้นต่ำรับจ้าง รับใช้ ทำงานระดับต่ำ)  ต่ำกว่าวรรณะที่ ๔ (คือวรรณะสูดรา) แล้ว ยังมีคนชั้นที่ต่ำสุดโดยไม่มีวรรณะจะจัดให้อยู่เพราะต่ำเกินไป เรียกว่าพวก “จัณฑาล” หรือพวกที่แตะต้องไม่ได้ (Untouchable) พวกขอทานเร่ร่อนนอนกลางถนน ชาวต่างชาติก็จัดอยู่ในชั้นจัณฑาลด้วยโดยทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติชาวฮินดูจะไม่รวมชนต่างชาติเข้ากระบวนการกีดกั้นทางสังคม 

เดวิดิน เควัต พ่อของบุหลันเทวีเกิดในชาติคนหาปลา เรียกว่า “มัลลาห์” (Mallah)ซึ่งเป็นส่วนย่อยของวรรณะสูดรา ต่ำสุดในสังคมฮินดู

ในภาษาไทยปัจจุบัน คำว่า “ชาติ” แม้จะยืมมาจากภาษาสันสกฤตของอินเดียโบราณ ความหมายเปลี่ยนไปเป็นประเทศชาติ เชื้อชาติ และ สัญชาติไปแล้ว ในอินเดียปัจจุบันคำว่า “ชาติ” ออกเสียง “ชา-ติ” ยังมีความหมายเชิงแบ่งชั้นวรรณะและชาติตระกูลที่กำเหนิดเช่นเดิม ส่วนคำว่า “ประเทศ” หรือ “Pradesh” ในภาษาฮินดีปัจจุบัน หมายถึงรัฐที่ประกอบเป็นประเทศอินเดีย เช่น Uttar Pradesh (อุดรประทศ หรือ รัฐภาคเหนือ),  Madhaya Pradesh (มัธยมประเทศ หรือ รัฐภาคกลาง) ประเทศบังคลาเทศ ก็คือ Bangladesh มาจากคำว่า Bengal + Pradesh หมายถึง “ประเทศเบงกอล”

๓. “Durga Mata” หรือ  “พระแม่เจ้าดุรกะ” เป็นมเหสีของพระศิวะ เป็นเทพเจ้าแห่งการทำลาย อารมณ์ร้าย เทพธิดาแห่งเทือกเขาหิมาลัย บางทีก็เรียกว่า “Kali” หรือ “เจ้าแม่กาลี” Durga ปัจจุบันเป็นชื่อแม่น้ำที่ไหลมาจากเทือกเขา Vindhya อันเป็นเทือกเขาที่แบ่งอินเดียภคาเหนือออกจากคาบสมมุทรเดคข่านที่เป็นส่วนใต้ของอนุทวีปอินเดีย หรือที่เรียกว่าชมพูทวีป ทวีปแห่งต้นไม้สมัยโบราณที่ชื่อต้น “ชมพู”

บทที่ ๕ 
๑. ภาษาฮินดีเรียกว่า “ดาคอยต์” เขียนเป็นศัพท์ภาอังกฤษว่า “Dacoit” (เอกพจน์ หากเป็นพหูพจน์ให้เติม s เป็น “Dacoits” เหมือนคำนามภาษาอังกฤษทั่วไป ปัจจุบันกลายเป็นศัพท์ภาษาอังกฤษไปแล้ว โดยมีรากศัพท์มาจากภาษาฮินดีในราวคริสศตวรรษที่  ๑๘  ช่วงที่อังกฤษครองอาณานิคมอินเดีย อังกฤษได้รับอิทธิพลทางภาษาจากอินเดียเลยเรียกพวกโจรติดอาวุธที่ปล้นทรัพย์สินชาวบ้านว่า Dacoits ตามภาษาฮินดีของชาวอินเดีย โจร Dacoits พวกนี้ส่วนใหญ่จะปล้นตามทางหลวง หรือถนนที่เปลี่ยว

๒. ชื่อ “วิกรัม ซิงห์ มัลลาห์” อ่านตามลำดับ ชื่อ=วิกรัม ;  นามสกุล=ซิงห์ ;
ชาติกำเนิด = มัลลาห์-หมายถึงชาติกำเนิดคนหาปลา ซึ่งเป็นส่วนย่อยของวรรณะ “สูดรา” อันเป็นวรรณะต่ำสุดในระบบการแบ่งชั้นวรรณะ สี่วรรณะในสังคมฮินดู
บาบู ซิงห์ กูจาร์ ชาติกำเนิด “กูจาร์” เทียบเท่า “ฐากูร” ในวรรณะกษัตริย์ หรือ นักรบ

บทที่ ๖
๑. เมืองมุมไบ (Mumbai) ชื่อเดิม “บอมเบย์” (Bombay) ชาวอังกฤษเข้ามาปกครองอินเดียเป็นอาณานิคมตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ในราวช่วงระหว่าง ปี ค.ศ. ๑๗๔๐ – ค.ศ. ๑๗๖๑ ถือเป็นช่วงปรับการครอบครองอินเดียให้เป็นอาณานิคมอังกฤษอย่างแท้จริง และปกครองต่อมาจนให้เอกราชแก่อินเดียและปากีสถานในปี ค.ศ. ๑๙๔๗ (พ.ศ. ๒๔๙๐) รวมเวลา ๒๐๐ ปี อังกฤษจึงเป็นผู้บัญญัติศัพท์ ออกเสียงและเขียนคำสะกดชื่อเมืองต่างตามที่เห็นสะดวกและเหมาะสมในระบบของอังกฤษเอง เช่นชื่อประเทศ “อินเดีย” (India)  เมือง “บอมเบย์” (Bombay) และ มัดราส (Madras)  แต่ชาวอินเดียพื้นเมืองจะเรียกชื่อประเทศของตนตามประเพณีนิยมแต่ดั้งเดิมว่า “บาหรัต” (Bharat) หรือที่ชาวไทยเรียกว่า “ภารตะ” หรือที่เรียกเป็นทางการว่า “ฮินดูสถาน” (Hindustan) แม้ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียจะกลับมาเรียกชื่อเดิมของเมือง “บอมเบย์” เป็น “มุมไบ” และเมือง “มัดราส” ก็เรียกตามชื่อเดิมเป็น “เชนไน” (Chennai) แต่ชื่อประเทศ “อินเดีย” (India) ยังคงเดิมตามที่คุ้นเคยกันเป็นสากล ส่วนพม่าซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษในยุคเดียวกันและถูกบัญญัติศัพท์ชื่อเฉพาะตามแบบอังกฤษเช่นเดียวกัน ก็เปลี่ยนการเรียกชื่อเมืองและชื่อประเทศกลับมาตามแบบประเพณีนิยมดั้งเดิม เมืองหลวง Rangoon จึงกลับมาเป็น Yangon แต่ไทยเราออกเสียงเป็น “ย่างกุ้ง” มาแต่อดีตกาลแล้วจึงคงเรียกแบบไทยอย่างเดิมต่อไป เช่นเดียวกับชื่อประเทศ ”Burma” แบบอังกฤษ เปลี่ยนกลับมาเป็น   “Myanmar” แต่ราชบัณฑิตยสถานของไทยยังคงให้เรียก “พม่า” ตามเดิม ไม่ต้องเปลี่ยนไปเรียก “เมียนม่าร์” ตามที่รัฐบาลพม่าประกาศเปลี่ยนไป เว้นแต่เมื่อจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษก็ต้องเขียนให้เป็นสากลตามที่เจ้าของประเทศต้องการ 

๒. “โกส” (Kos) เป็นหน่วยวัดระยะทางของอินเดีย ระยะทาง ๑ โกส = ประมาณ ๓.๒๒ กิโลเมตร

       ๒๐ โกส = ๖๔.๔ กิโลเมตร

บทที่ ๗
๑. อักรา (Agra) คือเมืองที่ตั้งของ “ทัชมาฮาล” อนุสรณ์สถานแห่งความรักของกษัตริย์ ชาห์ จาฮาน แด่พระมเหษี มุมตัสมาฮาล

๒. แคว้น “โดลปูร์” ปัจจุบันอยู่ในรัฐราชาสถาน ที่เรียกว่าเป็นแคว้นแห่งมหาราชานั้นก็เพราะอินเดียสมัยโบราณมีมหาราชามากมายปกครองดินแดนแว่นแคว้นต่างๆแยกกันไปทั่วแผ่นดินที่กว้างใหญ่ไพศาลดุจทวีป ดินแดนอินเดียทั้งหมดจึงเรียกว่าเป็น “อนุทวีป” หรือที่เรียกในสมัยพุทธกาลว่า “ชมพูทวีป” (แปลว่าทวีปแห่งต้นจัมบู หรือต้นชมพู) มีประเทศใหญ่น้อยเรียกว่าแคว้น ปกครองโดยพระราชา หรือ มหาราชา กระจายไปทั่วอนุทวีป เมื่ออังกฤษเข้ามาล่าอาณานิคม ได้ปกครองดินแดนเพียงส่วนที่ไม่มีมหาราชาปกครอง หรือหากมีก็ยินยอมตกเป็นอาณานิคมใต้ปกครอง ดินแดนที่อังกฤษปกครองเรียกว่า “อินเดียของอังกฤษ” หรือ “British India”  ส่วนพื้นที่อีกราวสองในสามของอนุทวีปยังคงเป็นอิสระอยู่ภายใต้การปกครองของมหาราชาต่างๆ เรียกว่า รัฐ หรือ “แคว้นแห่งมหาราชา” หรือ “Princely States” หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้วรัฐส่วนใหญ่ยินยอมเข้าร่วมเป็นส่วนของประเทศอินเดีย แคว้นของมหาราชาแห่งโดลปูร์เข้าร่วมเป็นส่วนของรัฐราชาสถานของอินเดียยุคเอกราชโดยเรียบร้อยไม่มีข้อขัดแย้งเพราะอยู่ในดินแดนส่วนในและประชาชนนับถือศาสนาฮินดูเป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับแคว้นแคชเมียร์ แม้ว่าจะเป็นแคว้นที่ปกครองโดยมหาราชาชาวฮินดู แต่ประชาชนในแคว้นแคชเมียร์เป็นชาวมุสลิม เมื่อมหาราชาแห่งแคชเมียร์ยอมเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประทศอินเดียตอนได้เอกราช ประชาชนไม่ยอม และแคว้นอิสลามที่แยกตัวไปเป็นประเทศปากีสถานก็ไม่ยอม จึงเกิดสงครามและความขัดแย้งแย่งชิงดินแดนแคชเมียร์กันระหว่างอินเดียกับปากีสถานมาจนถึงทุกวันนี้

บทที่ ๘
๑. คำว่า “กูรู” (Guru) ภาษาไทยนำมาใช้ โดยออกเสียงว่า “คุรุ” แปลว่า “ครู” ตรงตามความหมายดั้งเดิม 

๒. ชั้นปี่ที่ ๑๒ เป็นปีสุดท้ายของมัธยมปลาย เทียบเท่ามัธยม ๖ ของไทย

๓. เดือน “แจตร” ออกเสียงว่า “แจต” อยู่ในราวเดือน มีนาคม-เมษายน (คำสะกด และคำเรียกชื่อเดือน อ้างตามหนังสือชื่อ “พูดภาษาฮินดี กับสถานการณ์ต่างๆในอินเดีย” เขียนโดย ดร.บำรุง คำเอก ศูนย์สันสกฤตศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.๒๕๔๓)

๔. เดือน “แวศาข” อยู่ช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม

บทที่ ๑๒  
๑. “จะปาตี” จะปาตีเป็นอาหารหลักสำหรับชาวอินเดีย เป็นแป้งสาลีแผ่นบางๆปิ้งหรืออบแห้งในเตาดินเผาหรือบนกระทะเหล็ก ใช้จิ้มกินกับแกงแพะ หรือกินร่วมกับอาหารอื่นเสมือนเราชาวไทยกินข้าว กับ กับข้าวต่างๆ  จะปาตีก็ใช้กินแทนข้าว อาหารประเภทแป้งปิ้งระดับสูงและดูแพงหรือหรูหราขึ้นตามลำดับก็มี โรตี ปูรี บาราทา และที่ถือว่าเป็นเป็นแป้งปิ้งระดับสูงที่สุดคือ “นาน” (Nan) เป็นแป้งสีขาว นุ่ม พอง อบในเตาดินเผา อาจโรยงา ทาเนย กินกับกับข้าวอื่นๆได้ กับข้าวหลักของคนอินเดียทั่วไป โดยเฉพาะคนจนก็จะกินจะปาตีกับแกงแพะ มีถั่วเขียวปอกเปลือกต้มสุกจนเละเรียกว่า “ดาล” และผักต้มเป็นอาหารข้างเคียง หากฐานะดีก็จะกินแป้งปิ้งระดับสูงขึ้นไปเช่นกินนานกับแกงไก่หรือไก่อบ ร้านอาหารอินเดียในประเทศไทยโดยส่วนมากก็จะมีนานกับแกงไก่หรือไก่อบเป็นเมนูหลัก หากไม่ชอบแป้งปิ้งทั้งหลายคนอินเดียก็จะกินข้าวแทน โดยเฉาะทางภาคใต้จะนิยมกินข้าว ข้าวชั้นดีที่คนรวยนิยมกินกัน คือข้าวพันธุ์ “บาสมาตี” ซึ่งถือเป็นข้าวคุณภาพสูงสุด งานเลี้ยงทั้งหลายที่ต้องการแสดงถึงระดับความมั่งคั่งของเจ้าภาพจะใช้ข้าวบาสมาตีเป็นอาหารหลักเสมอ ข้าวบาสมาตีของอินเดียและปากีสถานคือคู่แข่งข้าวหอมมะลิของไทยในตลาดโลก

๒. น้ำชาแบบอินเดียจะชงกับนมสดต้มร้อนเติมน้ำตาล ภาษาฮินดีเรียกว่า “ไจ” หรือ “ชา” นั่นเอง ที่จริงในโลกของเรานั้น คำว่า “ชา” จะออกเสียงใกล้เคียงกันในหลายภาษา ภาษาไทยเรียก “ชา” ภาษาอังกฤษเรียก “Tea-ที” ภาษาจีนเรียก “เต๊” แสดงถึงวัฒนธรรมการดื่มชาที่เชื่อมโยงกัน

บทที่ ๑๔
๑. Angela Davis ชาวอเมริกัน เป็นอาจารย์สอนวิชาปรัชญาที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ นครลอสแอนเจลีส (University of California at Los Angeles – UCLA) และเป็นนักรณรงค์หัวรุนแรง เธอเกี่ยวข้องกับคดีวางระเบิดและฆ่าเพื่ออุดมการณ์ในสหรัฐอเมริกาหลายคดี  เดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๗๐ เธอถูกจับที่นิวยอร์คโทษฐานมีส่วนร่วมในคดีฆ่าผู้พิพากษา นักโทษ และลักพาตัวผู้ต้องหาจากศาลที่แคลิฟอร์เนีย


๒. Jesse Woodson James ช่วงชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ. ๑๘๔๗ –๑๘๘๒  เป็นคาวบอยมือแม่นปืนและเป็นโจรปล้นธนาคาร ปล้นรถไฟในสหรัฐอเมริกายุคบุกเบิกตะวันตก การปล้นอันโด่งดังกลายเป็นตำนานที่ชาวบ้านยกย่องโจร Jesse James ให้เป็นวีระบุรุษ ในที่สุดก็ถูกลูกน้องหักหลัง โดยถูกลอบฆ่าตายเพื่อเอาเงินรางวัล เรื่องราวของ Jesse James ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์คาวบอยมากมายหลายครั้ง

๓. St. Valentine’s Day Massacre หมายถึงวันฆ่าหมู่แก๊งวายร้ายที่นคร Chicago ในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. ๑๙๒๙ โดยฝีมือของแก๊ง Al Capone ฆ่าพรรคพวกของ Bugs Moran ตายไป ๖ คน ในสงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่ในหมู่อันธพาลและผู้ทรงอิทธิพลค้าของผิดกฎหมายใต้ดิน ภาพยนตร์เกี่ยวกับ St. Valentine’s Day Massacre ก็มีมากมายไม่แพ้ภาพยนตร์อินเดียว่าด้วยเรื่องราวของบุหลันเทวีเช่นกัน ส่วนคำว่า Saint Valentine เป็นตำนานในสมัยโบราณของชาวยุโรปตะวันตก หมายถึงนักบุญชาวโรมันในคริสต์ศตวรรษที่ ๓ สองคน ชื่อเดียวกัน ที่ยอมเสียสละชีวิตเพื่อจรรโลงความรักในสงครามโรมันยุคโบราณ ซึ่งถือเอาวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์เป็นวันระลึกถึงนักบุญชื่อ Saint Valentine (“Saint” เขียนย่อเป็น “St.” วันของนักบุญวาเลนไทน์จึงเขียนว่า “St. Valentine’s Day”)

๔. อัตราแลกเปลี่ยนประมาณรูปีละ ๓.๕๐ บาท ในสมัยนั้น

๕. ตำแหน่ง Minister of State หรือ “รัฐมนตรีกิจการรัฐ” มีฐานะเป็นรัฐมนตรีอาวุโสน้อย ในระดับรัฐบาลปกครองรัฐ โดยมีหัวหน้ารัฐบาลระดับรัฐเรียกว่า Chief Minister หรือ “มุขมนตรี”

๖. U.P. = Uttar Pradesh = อุตตาร์ประเทศ = อุดรประเทศ = รัฐทางเหนือ

บทที่ ๑๗
๑. Acharya = อาจารย์

๒. มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) ผู้นำขบานการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชของอินเดียจากการปกครองอาณานิคมโดยอังกฤษ วิธีการต่อสู้อย่างสันติของท่านเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าวิธี “อหิงสา” คือการไม่ใช้กำลังรุนแรง ใช้ความสงบและสันติเป็นแนวทาง โดยยึดหลักความจริง หรือ “สัตยะเคาระห์” เป็นเครื่องมือในการต่อสู้

๓. นางอินทรา คานธี (Indira Gandhi) นายกรัฐมนตรีคนที่สามของอินเดีย หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ นามสกุลเดิม “เนห์รู” เพราะเป็นบุตรสาวของ บัณฑิต เยาวฮาร์ลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่งของอินเดีย มิได้เป็นญาติเกี่ยวพันกับมหาตมะ คานธี แต่อย่างใด เหตุที่นามสกุล “คานธี” ก็เพราะไปแต่งงานกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชื่อ เฟโรซ คานธี (Feroz Gandhi) ซึ่งเฟโรซ คานธี ก็มิได้เป็นญาติกับ มหาตมะ คานธี แต่อย่างใด บังเอิญนามสกุลเหมือนกันเท่านั้น

๔. โจรชื่อ “มุสลิม”

๕. ไมยาดิน  เป็นลูกลุงที่คอยตามก่อกวนและคดโกงที่ดินของพ่อของบุหลันเทวี ตั้งแต่บุหลันเป็นเด็กเล็กๆ อันเป็นสาเหตุของชีวิตที่ผันแปรไปเป็นโจรในเวลาต่อมา

๖. สาธุ (Sadhu) หมายถึงพระหรือนักบวช เป็นคำเดียวกับที่ในภาษาไทยใช้กล่าวเวลายกมือไหว้พระ

บทที่ ๑๘
๑. “นมัสเต” (Namastay) หรือ “นมัสการ์” / “นมัสการ” (Namaskar) เป็นคำทักทาย ใช้กับคนทั่วไป เหมือนคำว่า “สวัสดี”

๒. เตาไฟ ในภาษาฮินดี ซึ่งได้รับอิทธิพลจากภาษาสันสกฤต เรียกว่า “จุฬา” (Chula)

๓. “ดาล”(Dal) คือถั่วเขียวปอกเปลือก ต้มจนสุกเละสีเหลืองปรุงด้วยเกลือให้เค็มเล็กน้อย เป็นอาหารจานเคียง กับอาหารจานหลัก เสมือนแทนต้มซุปในวัฒนธรรมตะวันตก ยามยากจน ไม่มีแกงแพะ แกงไก่ เป็นอาหารจานหลัก กินกับแป้งปิ้งประเภท “จะปาตี” “โรตี” หรือ “นาน”  คนจน (หรือนักศึกษาหอพัก ที่เที่ยวจนเงินหมด อดข้าว) ก็จะกินแต่ ดาล กับ จะปาตี

๔. บุหลันมีปัญหาภายในอักเสบ ปวด เสียเลือดมากและบ่อย มาตลอดชีวิต หลังจากถูกข่มขืนในวัยเด็ก จึงต้องแอบไปพบแพทย์อยู่บ่อยๆ
๕. 1 โตลา = 11.663 8038 กรัม
๖. “มาลี” (Mali) = คนขายดอกไม้

๗. พี่เขยชื่อ “รัมปาล” เป็นสามีของ “รุขมินี” พี่สาวคนโต บุหลันเทวี มีพ่อชื่อ เดวิดิน เควัต แม่ชื่อ มูลา มีพี่น้องรวม ๖ คน เป็นหญิง ๕ ชาย ๑ บุหลันเทวีเป็นลูกคนที่สอง ดังนี้:
                (๑) รุขมินี  (หญิง)
                (๒) บุหลันเทวี (หญิง)
                (๓) รามกาลี (หญิง)
                (๔) บูรี (หญิง)
                (๕) ชีพ นาเรน (ชาย)
                (๖) มุนนี (หญิง)

บทที่ ๒๐
๑. อ้างจากหนังสือบันทึกส่วนตัวของบุหลันเทวี ชื่อ “The Bandit Queen of India” เล่าโดย บุหลันเทวี เรียบเรียงโดย Marie-Therese Cuny และ Paul Rambali 

๒. ข้อความอ้างอิงต่างๆในบทนี้อ้างจาก “The Bandit Queen of India” เล่าโดย บุหลันเทวี เรียบเรียงโดย Marie-Therese Cuny และ Paul Rambali  เช่นเดียวกัน


Picture
THAIVISION® 
REFLECTION ON EVENTS ON PLANET EARTH AND BEYOND 
​©2021 All Rights Reserved  Thai Vitas Co.,Ltd.  Thailand  
✉️
  • REFLECTION
  • ON PLANET EARTH
    • EARTH
  • AND BEYOND
  • THAILAND
    • KING BHUMIBOL
    • NATIONAL PARKS OF THAILAND >
      • KHAO YAI NATIONAL PARK
      • PHA TAEM NATIONAL PARK
      • PHU WIANG NATIONAL PARK
      • NAM NAO NATIONAL PARK
      • PHU HIN RONG KLA NATIONAL PARK
      • PHU KRADUENG NATIONAL PARK
      • PHU RUEA NATIONAL PARK
      • MAE YOM NATIONAL PARK
      • DOI SUTHEP-PUI NATIONAL PARK
      • DOI INTHANON NATIONAL PARK
      • THONG PHA PHUM NATIONAL PARK
      • KAENG KRACHAN NATIONAL PARK
      • MU KO ANG THONG NATIONAL PARK
      • MU KO SURIN NATIONAL PARK
      • MU KO SIMILAN NATIONAL PARK
      • HAT NOPPHARATA THARA - MU KO PHI PHI NATIONAL PARK
      • MU KO LANTA NATIONAL PARK
      • TARUTAO NATIONAL PARK
  • THE LIBRARY
    • MORNING WORLD BOOKS >
      • CASINO ROYALE
      • 1984
      • A BRIEF HISTORY OF TIME
      • A HISTORY OF THAILAND
      • CONSTITUTION OF THE UNITED STATES
    • DEMOCRACY IN AMERICA
    • FIRST DEMOCRACY
    • JOHN MUIR
    • MODELS OF DEMOCRACY
    • MULAN
    • THE VOYAGE OF THE BEAGLE
    • ON THE ORIGIN OF SPECIES
    • PHOOLAN DEVI
    • THE REPUBLIC
    • UTOPIA
    • A Short History of the World [H.G.Wells]
    • WOMEN OF ARGENTINA
    • THE EARTH : A Very Short Introduction
    • THE ENGLISH GOVERNESS AT THE SIAMESE COURT
    • TIMAEUAS AND CRITIAS : THE ATLANTIS DIALOGUE
    • HARRY POTTER
    • DEMOCRACY / HAROLD PINTER
    • MAGNA CARTA
    • DEMOCRACY : A Very Short Introduction
    • DEMOCRACY / Anthony Arblaster]
    • DEMOCRACY / H.G. Wells
    • ON DEMOCRACY / Robert A. Dahl)
    • STRONG DEMOCRACY
    • THE CRUCIBLE
    • THE ELEMENTS OF STYLE
    • THE ELEMENTS OF JOURNALISM | JOURNALISM: A Very Short Introduction
    • LOVE
    • THE EMPEROR'S NEW CLOTHES
    • THE SOUND OF MUSIC
    • STRONGER TOGETHER
    • ANIMAL FARM
    • POLITICS AND THE ENGLISH LANGUAGE
    • GEORGE ORWELL
    • HENRY DAVID THOREAU >
      • WALDEN
    • MAHATMA GANDHI
    • THE INTERNATIONAL ATLAS OF LUNAR EXPLORATION
    • พระมหาชนก
    • ติโต
    • นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ | A Man Called Intrepid
    • แม่เล่าให้ฟัง
    • SUFFICIENCY ECONOMY
    • พระเจ้าอยู่หัว กับ เศรษฐกิจพอเพียง
    • KING BHUMIBOL AND MICHAEL TODD
    • ... คือคึกฤทธิ์
    • KING BHUMIBOL ADULYADEJ: A Life's Work
    • THE KING OF THAILAND IN WORLD FOCUS
    • พระราชดำรัสเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ
  • IN MY OPINION
  • THAIVISION
  • SOMKIAT ONWIMON
    • MY STORY
    • THE DISSERTATION
    • THE WORKS >
      • BROADCAST NEWS & DOCUMENTARIES
      • SPIRIT OF AMERICA
      • THE ASEAN STORY
      • NATIONAL PARKS OF THAILAND
      • HEARTLIGHT: HOPE FOR AUTISTIC CHILDREN IN THAILAND
    • KIAT&TAN >
      • TAN ONWIMON >
        • THE INTERVIEW