ส่วนที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมมหาอำนาจโลกก็กำลังถูกมวลชนดึงกลับสู่จิตสำนึกต่อคุณค่าของสิ่งแวดล้อม เดือนมกราคม ปี 1969 เกิดอุบัติเหตุเรือบันทุกน้ำมันดิบรั่วลงทะเลที่ชายฝั่ง Santa Barbara รัฐ California เป็นอุบัติภัยสิ่งแวดล้อมทางทะเลครั้งใหญ่ นกทะเลตายนับหมื่นตัว คราบน้ำมันเป็นแนวยาวตลอดชายฝั่ง แม้จนวันนี้ก็ยังต้องนับว่าเป็นวินาศภัยทางสิ่งแแวดล้อมในทะเลที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์รัฐ California
ท่ามกลางบรรยากาศการประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนามตามมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศสหรัฐฯ ปัญหามลภาวะในธรรมชาติเข้ามาผสมโรงด้วยกับกระบวนการนักศึกษา สมาชิกวุฒิสภา Gaylord Nelson จึงเสนอความคิดให้นักศึกษาทั้งหลายหันมาสนใจห่วงใยเรื่องสิ่งแวดล้อม จัดให้มีการรวมตัวประชุมหรือจัดชั้นเรียนพิเศษเรื่องสิ่งแวดล้อมและมลภาวะ ให้อาจารย์กับนักศึกษาได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันในช่วงปิดเทอมฤดูใบไม้ผลิจนถึงเวลาก่อนสอบปลายปี เรียกว่า “teach-in” ไม่ต้องไปนั่งยกป้ายหรือเดินขบวนประท้วงที่ไหน เข้ามานั่งเรียนพิเศษในห้องเรียนมหาวิทยาลัย เรียนเรื่องสิ่งแวดล้อมฟรี ฟรีทั้งไม่ต้องจ่ายค่าฟังบรรยาย และฟรีทั้งในเรื่องการแสดงความคิดเห็น Sen. Gaylord Nelson เลือกวันที่ 22 เมษายน 1970 เป็นวันชั้นเรียนพิเศษ หรือ teach-in นี้ ก่อนถึงวันที่ 22 เมษายน เขาขอให้เพื่อน ส.ส. California พรรค Republican ชื่อ Pete McCloskey และ Denis Hayes นักกิจกรรมหนุ่มช่วยวางแผนงาน ‘sit-in’ ผลปรากฏว่ามีนักศึกษาร่วมกิจกรรมล้นหลามทั่วประเทศ จน ‘teach-in’ ที่เป็นการปิดห้องสอน กลายเป็น ‘sit-in’อันเป็นการปิดห้องประท้วงเรื่องมลภาวะไปอย่างเข้มข้น วันที่ 22 เมษายน 1970 จึงถูกเรียกว่าเป็นวัน Earth Day Protest คือวัน Earth Day แห่งการชุมนุมประท้วงเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก เป็นวันสำคัญต่อมาจนทุกวันนี้ ถึงปี 2024 ก็เป็นปีที่ 54 แล้ว ในปีแรก ปี 1970 นั้น มีการชุมนุมร่วมกิจกรรมประท้วงทั่วสหรัฐอเมริกา 2,000 มหาวิทยาลัย และ 10,000 โรงเรียน ผู้คนเข้าร่วมกิจกรรม 20 ล้านคน มีทั้งกิจกรรมชุมนุมประท้วง ทำความสะอาดทางน้ำแม่น้ำลำคลองไม่ให้อุดตัน และกิจกรรมอื่นๆหลากหลาย จากการสำรวจความเห็นประชาชนตอนนั้นพบว่าประชาชนมีความห่วงใยปัญหาสิ่งแวดล้อมมากกว่าปัญหาอาชญากรรมและปัญหาการกีดกันผิว ปี 1971 สำรวจพบว่า 78% ของประชาชนยินดีจ่ายเพื่อรักษาอากาศและน้ำให้บริสุทธิ์อย่างเต็มใจ สมาชิกวุฒิสภา Gaylord Nelson กล่าวกับหนังสือพิมพ์ New York Times ว่าการทำกิจกรรม Earth Day ประสพความสำเร็จท่วมท้นเพราะเป็นความคิดที่ดี เป็นความคิดที่เสนอให้ทุกคนไปคิดไปจัดทำกิจกรรมกันเอาเอง ไม่มีใครไปบริหารจัดการจากศูนย์กลางที่ไหน ท่านบอกว่า Earth Day เป็นการที่ประชาชนรวมตัวกันบอกนักการเมืองและผู้นำประเทศเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คือเรื่องที่ประชาชนห่วงใยแท้จริง
หลังปี 1970 ประธานาธิบดี Richard Nixon ลงนามในกฎหมาย National Environment Policy Act (กฎหมายนโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ), Occupational Safety and Health Act (กฎหมายสุขภาพและความปลอดภัยในการประกอบอาชีพ), และ Clean Air Act (กฎหมายอากาศบริสุทธิ์) นำไปสู่การปฏิรูปงานสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายมิติ เช่น การที่กฎหมายบังคับให้ต้องศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก่อนเริ่มโครงการต่างๆของรัฐ เรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในที่ีทำงาน สถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ ตลอดจนเรื่องการควบคุมมลภาวะจากท่อไอเสียรถยนต์ เพียง 8 เดือน หลัง Earth Day ปี 1970 ประธานาธิบดี Nixon จัดตั้ง US Environmental Protection Agency หรือสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (EPA) ในทศวรรษเดียวกันก็ผ่านกฎหมาย Clean Water Act (กฎหมายน้ำสะอาด) ควบคุมการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลำธาร, Endangered Species Act (กฎหมายว่าด้วยพันธุ์พืชและสัตว์เสี่ยงภัยสูญพันธุ์), Federal Insecticide, Fungicide, and Rodenticide Act (กฎหมายว่าด้วยกำกับดูแลมาตรการการใช้ ยาฆ่าแมลง เชื้อรา และหนู) ในที่สุด สารพิษ DDT ก็ถูกสั่งห้ามในสหรัฐอเมริกา
สิบปีหลัง Earth Day ปีแรก ขบวนการเรียกร้องเรื่องสิ่งแวดล้อมพัฒนาเข้มแข็งขึ้นตามกาลเวลา ท่ามกลางฝ่ายมองโลกในมุมกลับว่าขบวนการนี้จะอยู่ได้ไม่นานนัก แล้วก็อาจฟ่อสลายหายไป แต่กลับเป็นว่าโลกเห็นด้วยกับ Earth Day และ Sen. Gaylord Nelson ในวาระครบรอบ 20 ปีของ Earth Day นาย Denis Hayes ผู้ที่เคยช่วยงาน Earth Day แต่ปีแรกเริ่ม ได้จัดการรณรงค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการนำวัสดุมาใช้ใหม่หรือ recycle ในประเทศ Gabon รอบโลกมีประชาชนร่วมกิจกรรมถึง 200 ล้านคน ทั้งหมดนำไปสู่การประชุมสุดยอดสภาวะแวดล้อมโลกโดยองค์การสหประชาชาติ ที่เรียกว่า “Eart Summit” ที่ Brazil ปี 1992 จากนั้นมา คำว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainability) ก็กลายเป็นมนตราประทับอย่างมั่นยืนในหมู่ประชากรทั้งโลก
นิตยสาร National Geographic รายงานสรุปเมื่อครบรอบ 50 ปีของวัน Earth Day ในปี 2020 ว่า โลกรณรงค์ Earth Day ผ่านมาด้วยทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวในหลายเรื่องเช่น:
1999 พัฒนาสายพันธุ์ Golden Rice: ข้าวพันธุ์ทอง Golden Rice เกิดจากกระบวนการพันธุวิศวกรรม ทำให้เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ เพิ่ม Vitamin A เป็นประโยชน์มหาศาลด้านโภชนการสำหรัลพลเมืองประเทศยากจนในเอเชียและแอฟริกา
2006 ภาพยนตร์สารคดี และหนังสือของ Al Gore รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรื่อง “An Inconvenient Truth” ได้รับรางวัล Oscar ต่อมา Al Gore ได้รับรางวัล Nobel สาขาสันติภาพปี 2007
Emily Martin : “This is the story of the first Earth Day - and why It mattered”, National Geographic magazine, April 22, 2022 (https://www.nationalgeographic.com/history/article/first-earth-day-history-legacyrid=DC046C6E090D9B307C95383B9ABFB7B0&cmpid=org=ngp::mc=crmemail::src=ngp::cmp=editorial::add=Daily_NL_Monday_Science_20240422)
2. National geographic Staff “50 Years of progress - and setbacks - since the first Earth Day”, National Geographic Magazine}, March 25,2020 (https://www.nationalgeographic.com/magazine/article/timeline-shows-fifty-years-of-progress-and-setbacks-since-first-earth-day-feature?rid=DC046C6E090D9B307C95383B9ABFB7B0&cmpid=org=ngp::mc=crm-email::src=ngp::cmp=editorial::add=Daily_NL_Monday_Science_20240422)