Democracy
โดย Herbert George Wells * (402) ‘…there has been growing criticism of “party” and “politicians,” and a great weakening in the power and influence of representative institutions. There has been a growing demand for personality and initiative in elected persons’ “...การตำหนิวิพากษ์พรรคการเมือง และนักการเมืองนับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อำนาจและอิทธิพลของสถาบันผู้แทนราษฎรตกต่ำอ่อนแอลงเป็นอย่างมาก ผู้คนเริ่มเรียกร้องหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้มีบุคลิกภาพและความคิดริเริ่มใหม่ๆมากขึ้น” เพราะ (405) ‘…pothouse politicians, wire-pullers, busybodies, local journalists, and small lawyers working for various monetary interests…’ “ผู้สมัครและผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรล้วนแล้วแต่เป็นคนประเภทนักการเมืองขี้เมา พวกใช้เส้นสายการเมืองทำประโยชน์ให้พรรคพวก เป็นคนจุ้นจ้าน เป็นนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นแสวงหาอำนาจทางการเมือง อีกทั้งพวกนักกฎหมายทนายความวัยอ่อนที่ยอมทำงานแลกกับผลประโยชน์ทางการเงินต่างๆนาๆ" พวกนี้แหละที่ได้มาเป็น ส.ส. ในสภาฯ นี่แหละคือปัญหาของการเมืองในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ในประเทศอังกฤษ Herbert George Wells หรือ H.G. Wells เขียนบทความยาวสามตอนจบ เรื่อง Democracy หรือ ประชาธิปไตย บทความนี้เมื่ออายุ 51 ปี ในปี 1917 หรือ 90 ปีที่แล้ว นี่ความคิดทางการเมืองของนักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ผู้โด่งดังจากเรื่อง “The Time Machine” (1895) “The Invisible Man” (1897) และ “The War of the Worlds” (1898) ที่จริงงานนวนิยายวิทยาศาสตร์ทุกเรื่องของ H.G. Wells ล้วนสะท้อนวิกฤติทางการเมืองและสังคมในอังกฤษ ยุโรป และในโลกโดยรวม และ H.G. Wells เองก็โด่งดังจากงานเขียนตำราประวัติศาสตร์โลกถึงสองเล่มที่ขายดีที่สุดในอังกฤษอีกด้วย คือ “The Outline of History” (1920) และ “A Short History of the World” (1922) ความห่วงใยในความไม่ก้าวหน้าของมนุษยชาติ แสดงออกเป็นความห่วงใยในปัญหาการเมือง และปัญหาการเมืองคือปัญหาประชาธิปไตย ที่ใครต่อใครในอังกฤษยังไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง (395) (397) บทความชื่อ Democracy นี้ลงพิมพ์รวมอยู่ ในหนังสือชื่อ “The World Set Free and Other War Papers” ที่พิมพ์เผยแพร่นอกประเทศอังกฤษเป็นครั้งแรกในปี 1926 บทความนี้แสดงถึงความอึดอัดคับข้องใจในระบบเลือกตั้งผู้แทนราษฎรของอังกฤษที่เป็นระบบเลือกตั้งแบบเก่าแก่ดั้งเดิมที่ประชาชนมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎร เพียงเสียงเดียว และให้เลือกผู้แทนราษฎรได้คนเดียวจากพรรคเดียวในเขตเลือกตั้งเขตเดียว ระบบการเลือกตั้งแบบนี้ทำให้พรรคการเมืองเป็นผู้กำหนดตัวผู้สมัครตามระบบเส้นสายและแนวคิดตามใจคนในพรรค ประชาชนไม่มีสิทธิเลือกคนอื่นที่พรรคไม่ส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้ง แม้ว่าจะดีกว่า น่าเลือกมากกว่าก็ตาม ระบบเลือกตั้งแบบคนเดียวเสียงเดียวนี้เป็นที่มาคนนักฉวยโอกาสทางการเมือง และนักเลือกตั้งอาชีพที่ไม่สนใจความต้องการของประชาชน หากแต่จะเข้าสภาไปทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของผู้มีพระคุณต่อพรรค ทำตามที่พรรคสั่งให้ทำ พูดตามที่พรรคกำหนดให้พูด ระบบการเลือกตั้งแบบนี้ H.G. Wells วิจารณ์โดยยืมคำอมตะของประธานาธิบดี Woodrow Wilson ของสหรัฐอเมริกาสมัยนั้น ที่ว่าจะไม่ปลอดภัยสำหรับประชาธิปไตย ประธานาธิบดี Woodrow Wilson กล่าวจนโลกจำได้ขึ้นใจว่า ‘The World is to be made “safe for democracy” ‘ “จะต้องทำให้โลกอยู่เป็นที่ปลอดภัยสำหรับประชาธิปไตย” (397) ‘…an idea that is often rather felt than understood, the idea of democracy’ “ประชาธิปไตย” เมื่อ 100 ปีที่แล้ว สำหรับ H.G. Wells เป็นเรื่องของความรู้สึก มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของความเข้าใจ” Wells จึงเริ่มต้นบทความ โดยตั้งคำถามว่า (397) “I would like to ask what, under modern conditions, does democracy mean, and whether we have got it now anywhere in the world in its fullness and completion.’ ‘ผมต้องขอถามว่า ในเงื่อนไขของโลกสมัยใหม่นี้ ประชาธิปไตยมีความหมายอย่างไรกัน และเรามีประชาธิปไตยที่ถูกต้องสมบูรณ์อยู่ที่ใดในโลกหรือไม่’ (428) ‘And before everything else we have to realize this crudity and imperfection in what we call “democracy” at the present time. Democracy is still chiefly an aspiration, it is a spirit, it is an idea; for the most part its methods are still to seek.’ ‘ก่อนอื่นใด เราต้องยอมรับว่าสิ่งที่เราเรียกว่าประชาธิปไตยนี้นั้นอยู่ในรูปแบบเพิ่งก่อตัว ณ วันนี้ ยังไม่สมบูรณ์ ประชาธิปไตยยังคงอยู่ในสภานะภาพของแรงดลใจเป็นสำคัญ เป็นลักษณะของจิตวิญญาณ เป็นแนวความคิด และโดยส่วนใหญ่แล้วยังต้องค้นหาวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมกันต่อไป’ Wells ตั้งคำถามถึงความหมายของประชาธิปไตยสมัยใหม่ เพราะไม่อาจจะยกเอารูปแบบประชาธิปไตยของนครรัฐ Athens หรือ Greece สมัยโบราณมาใช้ในโลกปัจจุบันได้ เพราะขนาดของรัฐ จำนวนประชากร และความจำเป็นในการสื่อสารคมนาคม และระบบเศรษฐกิจ และ การเมืองแตกต่างกันมาก แต่ Wells ก็เห็นพ้องกับนครรัฐ Athens ว่าประชาธิปไตยในปัจจุบันยังคงต้องมี รัฐสภา การถกเถียงอภิปรายปัญหาบ้านเมือง การลงคะแนนเสียง แต่รูปแบบการจัดระบบการศึกษา และระบบการสื่อสารคมนาคมในสมัยใหม่ย่อมต้องแตกต่างไปมากจากยุคโบราณ แต่ประชาธิปไตยในอังกฤษก็มีจุดบกพร่องที่ความเห็นของประชาชนทั่วไปแสดงออกได้เพียงผ่านเสียงข้างมากจากการออกเสียงเลือกตั้ง จุดอ่อนนี้ยิ่งอ่อนแอมากขึ้น เมื่อผู้สมัคร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถูกจัดสรรมาจากผู้มีอำนาจไม่กี่คนในพรรคการเมือง เสียงข้างมาก เลือกคนที่คนจำนวนน้อยจัดมากให้เลือกตั้งกัน ประชาธิปไตยแบบนี้ H.G. Wells เรียกว่า (410) ‘Delegate Democracy’ ประชาธิปไตยแบบเลือกตัวแทนพรรค ซึ่งไม่ดี เพราะประชาชนถูกบังคับ หรือไม่ก็ถูกหลอกโดยพรรคการเมืองให้เลือกคนที่พรรคจัดมาให้เลือกเท่านั้น H.G. Wells เชื่อมั่นใน ‘Selective Democracy’ ประชาธิปไตยแบบเลือกสรรผู้แทนได้ตามที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องการ ประชาธิปไตยแบบนี้ต้องการการปฏิวัติระบบการเลือกตั้งมาเป็นแบบให้มีผู้แทนราษฎรตามสัดส่วนของจำนวนประชากรและโอนคะแนนเลือกตั้งไปให้ผู้สมัครคนอื่นได้เมื่อผู้ชนะอันดับหนึ่งได้คะแนนมากพอกับสัดส่วนแล้ว แบบนี้เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Proportional Representation with a Single Transferable vote’ วิธีนี้ทำให้เขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้น มี ส.ส.ได้มากกว่า 1 คน ต่อ 1 เขต ประชาชนมีสิทธิลงคะแนนมากเท่ากับจำนวนผู้จะได้เป็น ส.ส. โดยลงคะแนนโดยจัดลำดับความชอบที่ 1-2-3 สมมุติว่าในเขตเลือกตั้ง 1 เขต มีผู้แทนได้ 5 คน มีผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 20,000 คน ก็ไปลงคะแนน 5 คะแนน เลือกผู้สมัคร 5 คน ตามลำดับที่ชอบมากที่สุดไปถึงน้อยที่สุด ผู้สมัครที่จะชนะได้รับเลือกต้องได้คะแนนถึง 1 ใน 5 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือต้องการคะแนนเพียง 4,000คะแนนเท่านั้น วิธีนี้ทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากกว่าที่จะถูกจำกัดโดยพรรคการเมือง คนนอกพรรค ผู้สมัครอิสระจะมีโอกาสได้รับเลือกไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนที่พรรคส่งมา H.G. Wells กล่าวว่า (406) ‘The problem that has confronted modern democracy since its beginning has not really been the representation of organized minorities….but the protection of the unorganized mass of busily occupied, fairly intelligent men from the tricks of the specialists who work the party machines.’ ‘ปัญหาที่ประชาธิปไตยยุคใหม่เผชิญมาตั้งแต่เกิดประชาธิปไตยมิใช่เรื่องการปกป้องผลประโยชน์ของชนกลุ่มน้อยที่มีการจัดการกันดีแล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่การปกป้องคนส่วนใหญ่ที่ขาดการรวมกลุ่มขาดการจัดการเพราะมัวแต่ยุ่งอยู่กับชีวิตประจำวัน ต้องปกป้องคนส่วนใหญ่ให้รอดพ้นจากเล่ห์เพทุบายของผู้ชำนาญการในพรรคการเมืองที่หลอกล่อประชาชนได้เก่งโดยผ่านกลไกของพรรค’ H.G. Well บอกว่า (399) ‘You can fool all the people some of the time, and some of the people all the time.’ ‘คุณอาจจะหลอกคนทั้งหมดได้เป็นบางเวลา และหลอกบางคนได้ตลอดเวลา’ ดังนั้นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องไม่ถูกพวกนักการเมืองและพรรคการเมืองหลอกให้เลือกคนที่พรรคต้องการ (403) ‘…What sensible men desire in a member of parliament is honour and capacity rather than a mechanical loyalty to a “platform.” ’ ‘สิ่งที่ประชาชนผู้มีความคิดอ่านมีเหตุผลในระบอบประชาธิปไตยต้องการในตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือการเป็นผู้มีเกียรติ และมีความสามารถในการทำงาน มากกว่าจะเป็นเครื่องจักรกลของพรรค ประชาชนไม่ต้องการ ส.ส. ที่มีแต่ความซื่อสัตย์และจงรักภักดีแต่พรรคการเมืองของตนเท่านั้น’ ประชาธิปไตยไม่พัฒนาเพราะนักการเมืองคิดว่า (424-425) ‘The common man is a fool who does not know what is good for him. So he has to be stampeded. Politics…is a sort of cattle-driving.’ ‘ประชาชนคนทั่วไปเป็นคนโง่เขลา ไม่รู้ว่าอะไรดีสำหรับตนเอง การเมืองจึงเป็นเสมือนการกวาดต้อนประชาชนเหมือนต้อนฝูงวัวฝูงแกะ’ H.G. Wells กล่าวเตือนชาวอังกฤษเมื่อ 90 ปีที่แล้วว่า (424-425) ‘Life is going to be very intense in the years ahead of us. If we go right on to another caricature Parliament, with perhaps half a hundred leading men in it and the rest hacks and nobodies, the baffled and discontented outsiders in the streets may presently be driven to rioting and the throwing of bombs.’ ‘ชีวิตในหลายปีจากนี้ไปจะตึงเครียดหนัก หากเราปล่อยให้มีรัฐสภาที่เป็นตัวตลก มีผู้แทนชั้นดีเพียง 40-50 คน ที่เหลือเป็นพวกที่ไม่ปรากฏคุณค่าในความเป็นคนสำคัญอะไรในสังคม มุ่งแต่แสวงหาประโยชน์ส่วนตัว’ นี่คือระบบเลือกตั้งที่ทำลายประชาธิปไตยในอังกฤษในศตวรรษที่ผ่านมา H.G. Wells เรียกร้องให้มีการปฏิวัติระบบเลือกตั้ง เพื่อปฏิรูปประชาธิปไตย ซึ่งต้องอาศัยความตื่นตัวของผู้มีการศึกษา ผู้มีภูมิปัญญาเรื่องประชาธิปไตย ในเมื่อนักการเมืองคิดว่าประชาชนคือฝูงปศุสัตว์ที่กวาดต้อนได้ตามต้องการ H.G. Wells ก็ขอเรียกร้องให้ (428) ‘The intellectual people of the world have a duty of co-operation they have too long neglected. The modernization of political institutions, the study of these institutions until we have worked out and achieved the very best and most efficient methods whereby the whole community of mankind may work together under the direction of its chosen intelligence, is the common duty of every one who has a brain for the service.’ ‘ปัญญาชนของโลกมีหน้าที่ที่จะต้องร่วมมือกันหลังจากที่ละเลยมานาน ทำสถาบันการเมืองให้ทันสมัย ศึกษาสถาบันเหล่านี้จนกว่าจะได้ค้นพบวิธีการที่ดีมีประสิทธิภาพมากที่สุด อันจะเอื้ออำนวยให้ชุมชนมนุษยชาติทำงานร่วมในทิศทางที่กำหนดโดยสติปัญญาของมนุษย์เอง เป็นหน้าที่ของทุกคนที่มีมันสมองพร้อมจะรับใช้และให้บริการแด่มนุษยชาติ’ Democracy โดย H. G. Wells |