สุพรรณบุรี 2543
เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาแบบแบ่งเขต
เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาแบบแบ่งเขต
Vertical Divider
การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๓ นั้นมีผู้สมัครที่จังหวัดสุพรรณบุรีรวม ๑๗ คน รวมทั้งตัวผมเองด้วย ซึ่งได้เบอร์ ๑๓ เลขโชคร้ายที่สุด หากมีปรัชญาชีวิตที่เชื่อถือโชคลางแบบตะวันตกผมคงกลุ้มใจหนัก แต่ประชาชนต้องเรียนรู้ว่าใครได้หมายเลขอะไรนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ ในสหรัฐอเมริกา หรือประเทศอื่นที่พัฒนาประชาธิปไตยแล้ว จะไม่มีหมายเลขกำกับชื่อผู้สมัครเลย มีชื่ออย่างเดียวก็พอ เพราะเห็นชื่อประชาชนก็ตัดสินใจเลือกได้แล้ว
ผมได้รับเลือกตั้งมาด้วยคะแนน ๘๐,๓๖๒ คะแนน ใช้เงินไปสดๆรวม ๒๒,๐๐๐ บาท (สองหมื่นสองพันบาทถ้วน) แยกเป็นค่าสมัคร ๑๐,๐๐๐ บาท ค่ารูปถ่าย ๔,๐๐๐ รูป รูปละ ๓ บาท รวม ๑๒,๐๐๐ บาท นอกนั้นไม่นับค่าน้ำมันรถเดินทางไปแนะนำตัวใน ๑๐ อำเภอ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งของจังหวัดกำหนด ผมไม่ได้พิมพ์เอกสาร แผนปลิว นามบัตร โปสเตอร์ หรือป้ายโฆษณาชื่อและหมายเลข ๑๓ ของผมแต่ประการใด เพื่อนๆที่เคยเรียนหนังสือมาด้วยกันสมัยเด็กๆที่อำเภอสามชุกอุตส่าห์เอาใบประวัติของผมที่ใช้ประกอบใบสมัครรับเลือกตั้งไปทำสำเนาแจกชาวบ้านประมาณสองสามพันใบ โดยโรงพิมพ์ในตลาดเขาพิมพ์ให้ฟรี ผมก็ไม่ว่าอะไรเมื่อพิมพ์ไปแล้ว แต่ขอร้องให้หยุด อย่าพิมพ์เพิ่ม ส่วนที่เพื่อนๆทำป้ายผ้าไปติดไว้ตามตลาดอำเภอสามชุก เดิมบางนางบวช และหนองหญ้าไซ จำนวนประมาณกว่าสิบผืนนั้น เมื่อผมทราบก็รีบขับรถตระเวนไปดึงออก ร้านขายทองที่หนองหญ้าไซซึ่งอนุญาตให้ติดป้ายผ้าที่เพื่อนผมเอาไปฝากติดไว้ได้ ก็ยังสงสัยไม่หายว่า : “ดร. นี่มันเป็นคนยังไงของมัน แทนที่จะโฆษณาประชาสัมพันธ์บ้าง นี่ไม่เอาอะไรกับใครเลย!” ผมขับรถไล่ตามเก็บป้ายผ้าลงหมดภายในวันเดียว ทำไมผมจึงจัดกระบวนการประชาสัมพันธ์ตัวเองแบบประหลาดพิสดารเช่นนี้? นึกว่าแน่มาจากไหน หรืออย่างไร อยู่ๆจะมาสมัคร ส.ว. สุพรรณฯ ถิ่นอิทธิพลคุณบรรหาร ศิลปอาชา แล้วหวังจะได้รับเลือกได้อย่างไร? ก่อนอื่นผมต้องบอกเสียก่อนว่าป้ายผ้าที่ผมตามไปปลดลงนั้นใหญ่ผิดขนาดเกินกว่าที่คณะกรรมการเลือกตั้งกำหนด แม้เพื่อนๆจะปรารถนาดีช่วยทำให้ โดยผมไม่ทราบมาก่อน แต่ก็อาจทำให้ผมหมดสิทธิเป็นผู้สมัครได้ รีบไปเก็บมาเสีย ปลอดภัยที่สุด ส่วนในปลิว แผ่นพับ หรือโปสเตอร์แนะนำตัวอื่นๆที่ผู้สมัครทั้งหลายทำกันตามกรอบของกฎหมายนั้นผมไม่ทำ เพราะไม่มีความจำเป็น จังหวัดสุพรรณบุรีนั้นมี ๑๐ อำเภอ หากจะพิมพ์เอกสารใบปลิวแจกไปทั่วเห็นที่จะหมดเงินเป็นล้าน ไม่ใช่ผมจะเสียดายเงิน แต่ผมไม่มีเงินจะเสียดายต่างหาก แล้วการลงสมัครับเลือกตั้ง ส.ว. สุพรรณฯนั้น โอกาสที่ผมจะได้รับเลือกมองไม่เห็นหนทางเลย ผมไม่มีทีมงามช่วยหาเสียง ไม่มีหัวคะแนน ไม่มีเครือข่ายอะไรที่จะช่วยได้ มีแต่เพื่อนๆที่เคยเป็นเด็กเรียนหนังสือโรงเรียนสามชุกรัตนโภคารามด้วยกัน นี่ก็เพียงอำเภอเดียว ผมมีที่พึ่งอย่างเดียวคือประวัติการทำงาน และชื่อเสียงที่ชาวบ้านอาจพอจำได้จากงานข่าวโทรทัศน์และความอื้อฉาวหลายเรื่องที่เป็นผลพวงจากงานข่าวโทรทัศน์ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๗ เป็นต้นมาเท่านั้น อำเภอสามชุก เป็นบ้านเกิดของผม ผมช่วยแม่หาบขนมขายตั้งแต่เล็กจนโต คนในตลาดน่าจะเมตตาสงสารลงคะแนนให้บ้าง เพื่อนๆที่เติบโตมาด้วยกันก็มีอยู่หลายคน คงจะช่วยกันหาคะแนนให้ได้เป็นกอบเป็นกำ เพื่อนคนหนึ่งกลายเป็นเจ้าอาวาสวัดหนึ่ง ท่าจะมีคะแนนให้ผมสักร้อยสองร้อยคะแนน
อำเภอศรีประจันต์ ที่อยู่ข้างๆมีญาติๆอยู่บ้างก็ไม่กี่คะแนน แถมศรีประจันต์ก็เป็นอาณาจักรสั่งได้ของท่าน ส.ส. ประภัตร โพธสุธน แห่งพรรคชาติไทย คุณประภัตร โพธสุธน นั้น ไม่มีวันที่เขาจะมาสั่งให้หัวคะแนนของเขามาช่วยผมแน่นอน เพราะเขามีคนของเขาที่จะสนับสนุนอยู่แล้ว ข้ามไปชายแดนตะวันตกเฉียงเหนือ ที่ อำเภอเดิมบางนางบวช เขตของ ส.ส. จองชัย เที่ยงธรรม ผมเองเป็นเพียงผู้มีทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่หมู่ ๔ ตำบลปากน้ำ เพราะผมย้ายทะเบียนบ้านไปอยู่ที่นั่น ใช้สิทธิเลือกตั้งที่ตำบลปากน้ำ อำเภอเดิมบางนางบวชนี้มาหลายปีแล้ว ด้วยเหตุที่ได้ซื้อที่ดินริมแม่น้ำสุพรรณไว้ ๗ ไร่ สงบสวยงาม หวังจะมาอยู่อ่านหนังสือเขียนหนังสือตอนแก่ และเมื่อตายก็จะได้เผาศพตัวเองที่วัดปากน้ำที่ห่างออกไปเพียงคุ้งน้ำเดียว ผมจะเอาคะแนนอะไรที่ไหนมาให้ตัวเองได้ ส่วนอำเภอที่เหลือ ผมไม่รู้จักใครเป็นส่วนตัวใกล้ชิดทั้งสิ้น อำเภอสองพี่น้อง ผมรู้จักแต่ พุ่มพวง ดวงจันทร์ แต่เธอก็ตายแล้ว หากยังไม่ตายพุ่มพวงอาจช่วยร้องเพลงหาคะแนนให้ผมได้ไม่น้อย มีลูกศิษย์คณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิตอยู่คนหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นผมเป็นคณบดีอยู่พอดี เห็นว่าพ่อเขาจะช่วยถามชาวบ้านให้ว่าชอบที่จะลงคะแนนให้ผมบ้างหรือไม่ แต่ผมก็ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวจัดการอะไรร่วมกับลูกศิษย์เป็นเรื่องเป็นราว อำเภออู่ทอง ผมมีญาติเกี่ยวดองอยู่ครอบครัวหนึ่ง ลูกสาวเขามาเป็นน้องสะใภ้ของผม พี่ชายเขาเลยรู้สึกผูกพัน บอกว่าจะช่วยหาคะแนนให้ อำเภอด่านช้าง ไกลสุด ติดแดนอุทัยธานี มีแต่ทุ่งนา ป่าเขา กับสนสองใบ และไร่อ้อย มีเกี่ยวดองเชิงน้องๆของพี่สะใภ้อยู่ครอบครัวเดียว ขายข้าวแกงอยู่ในตลาด ไม่เคยเจอกัน ๓๐ ปีแล้ว อำเภอดอนเจดีย์ ผมรู้จักแต่พระนเรศวรมหาราช กับหลวงพ่อเอี้ยง เจ้าอาวาสวัดดอนเจดีย์ มีแม่ค้าไอติมกะทิอยู่จ้าวหนึ่งที่เขามักจะเพิ่มกะทิให้ ส.ส. กัญจนา ศิลปอาชา มากเป็นพิเศษ ส่วนผม เป็นขาจร แวะไปกินก็ได้เพียงไอติมรสชาติปริมาณกะทิธรรมดาๆ อำเภอหนองหญ้าไซ ที่ติดกับ อำเภอด่านช้าง เคยเป็นถิ่นที่พ่อของผมเคยรอนแรมมารับจ้างถ่ายรูปสมัยที่แกยังเป็นหนุ่ม เด็กคนหนึ่งที่เคยให้พ่อถ่ายรูป ตอนนี้ก็แก่อายุ 80 แล้ว ท่าทางผมจะได้ไม่กี่คะแนน “ดร.สมเกียรติ ลูกตาอุย ยายแม้น จากสามชุก มันมาสมัคร ส.ว. ก็ช่วยมันสักคะแนนสองคะแนนก็แล้วกัน” เห็นเขาว่าอย่างนั้น อำเภอบางปลาม้า ที่ผมรู้จักอยู่คนหนึ่งก็คือพี่ศิลปินแห่งชาติไวพจน์ เพชรสุพรรณ แต่พี่แกก็อยู่กรุงเทพเป็นส่วนใหญ่ คะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดพี่แกก็ได้ไม่พอเลี้ยงตัวเองในตอนสมัครสมัยที่สอง เฮียเอี้ยงแห่งร้านกุ้งทอดเกลือ “กุ่ยหมง” ร้านอาหารที่อร่อยที่สุดของตลาดบางปลาม้า และคนสุพรรณฯมากินอาหารร้านนี้มากที่สุด ก็ไม่สนิทกับผมมากจนถึงขนาดจะมาช่วยหาคะแนนให้ แม้ผมจะเชื่อว่าแกคงเทคะแนนให้ผมทั้งครอบครัว รวม ๓ คะแนน บวกกับของอาจารย์ไพรัชกับภรรยาแห่งร้านข้าวสารชื่อ “ทุ่งกุลาร้องไห้” ที่ใครๆเชื่อมั่นในข้าวหอมมะลิ ๑๐๐% ไม่มีผสม ผมก็ได้อีก ๒ คะแนน อำเภอเมือง เป็นเขตของพวกคุณบรรหารทั้งหมด ผมไม่รู้จักใครเลย มีเจ้าของโรงแรมคุ้มสุพรรณ ที่ใจดี เคยให้ผมใช้ห้องประชุมและบริการอาหารฟรี ครั้งที่ผมทำงานรับฟังความคิดเห็นชาวสุพรรณฯในฐานะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ คราวนี้จะไปขออะไรฟรีๆแบบปี ๒๕๔๐ คงจะไม่สมควร ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าของโรงแรมคุ้มสุพรรณนั้นก็ไม่ใช่คนสุพรรณฯ แกเป็นคนจังหวัดพิจิตร! รวมแล้วคิดว่าน่าจะได้คะแนนทั้งจังหวัดราวๆ ๒๐,๐๐๐ คะแนน! คิดแล้วว่าคงแพ้ ไหนๆ จะแพ้แล้ว จะไปเสียเงินค่าทำเอกสารแนะนำตัวไปทำไม หนทางแพ้สำหรับผมนั้นแจ่มใส ดูจากวัฒนธรรมทางการเมืองของชาวสุพรรณฯ ดูจากความบีบคั้นและต่ำศักดิ์ศรีทางเศรษฐกิจของคนจนในสุพรรณฯ ดูจากโครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองของสุพรรณบุรีแล้ว เห็นทีผมจะเสียเวลาและเสียเงินเปล่าคราวนี้! วันหนึ่ง คุณบรรหาร ศิลปอาชา ผู้วางโครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองของจังหวัดสุพรรณบุรีจนมีรากฐานมั่นคง ฝากให้เพื่อนผมโทรศัพท์เรียกให้ไปหา เพื่อสอบถามเรื่องที่ได้ข่าวว่าผมจะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสุพรรณบุรี ผมบ่ายเบี่ยงไม่ยอมไปพบอยู่นานหลายวัน จนเพื่อนขอร้องอย่างโอดครวญว่า ท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของเรา ส่วนเพื่อนผมก็เป็นหัวคะแนนของท่าน
“ไปคุยกับ ‘น้า’ แกซะหน่อย” จะได้สบายใจกันทุกฝ่าย เนื่องจากผมทราบมาว่า ที่สุพรรณฯนี้ใครจะลงสมัคร สว. จะต้องไปหาคุณบรรหารเพื่อตกลงลู่ทางกันเสียก่อน เพราะคุณบรรหารเป็นเสมือนเจ้าถิ่น หรือเจ้าที่เจ้าทาง ไปขอความสนับสนุนจากแกให้ได้ก่อนแล้วทุกอย่างจะราบรื่น หาก “น้า” แกไม่เอาด้วย ก็ไม่มีทางได้ จะไปสมัครให้เสียเวลาเสียเงินเสียทองหาควรไม่ คะแนนทุกคะแนนในสุพรรณบุรีเป็นของพรรคชาติไทย สั่งได้ กำหนดได้ โดยไม่ต้องซื้อ อีกต่อไปเหมือนสมัยผมแอบถ่ายภาพข่าวออกอากาศที่ช่อง ๙ แล้ว คนสุพรรณฯเดี๋ยวนี้ให้ข้าวกินมื้อหนึ่งแถมถนนลาดยางอีกสายเดียวผ่านหน้าบ้าน ข้าวในนาจะราคาตกต่ำแค่ไหนก็ยอมคุณบรรหารหมด คนอย่างผมจะเอาอะไรไปสู้ เมื่อทนการขอร้องจากเพื่อนบ่อยๆไม่ไหว ผมก็ต้องคิดหนักว่าควรจะไปหา “น้า” บรรหารแกดีหรือไม่ เพราะผมเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาก่อน และเป็นในนามจังหวัดสุพรรณบุรีเสียด้วย รัฐธรรมนูญที่เราช่วยกันเขียนนั้นบอกไว้ว่าสมาชิกวุฒิสภาจะต้องเป็นอิสระทางการเมืองโดยไม่สังกัดพรรคการเมือง ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง หากใครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็ต้องลาออกให้ตัวไกลใจห่างพรรคการเมืองอย่างน้อยหนึ่งปีจึงจะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้ ผมร่างรัฐธรรมนูญมากับมือจะเข้าไปหาคุณบรรหารก่อนการเลือกตั้ง ส.ว. ได้อย่างไร เดี๋ยวใครรู้เห็นเข้าจะเป็นที่ครหานินทาได้ หรือหาก คณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดทราบเข้าจะเข้าใจผิดว่าผมมีอะไรเกี่ยวโยงในทางไม่ชอบด้วยกฎหมายเลือกตั้งก็เป็นได้ แต่ด้วยความเกรงใจและอยากรู้จักหัวใจประชาธิปไตยของคุณบรรหารที่แท้จริงว่าทำด้วยอะไร? อย่างไร? ปฏิรูปแล้วหรือยัง? หรือว่า “ปฏิรูปได้หรือไม่?” ในที่สุด ผมก็ตกลงไปพบคุณบรรหารในห้องทำงานของท่านที่บริษัทของท่านที่บางขุนพรหม สองต่อสอง ตัวต่อตัว มีเลขานุการส่วนตัวของท่านเท่านั้นที่รู้ว่าผมเข้าไปพบ แต่เธอก็คงไม่รู้ว่าผมคุยอะไรกับคุณบรรหาร อันที่จริงเลขานุการของคุณบรรหารคนนี้เคยนัดหมายให้ผมได้เข้าพบพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะทางการเมืองกันหลายครั้งที่บ้านซอย ๕๕ ถนนจรัลสนิทวงศ์ ของท่าน สมัยที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงที่ผมช่วยงานช่อง ๑๑ ยุครัฐมนตรีปิยะณัฐ วัชราภรณ์ คุมกรมประชาสัมพันธ์ ครั้งนั้น ผมรู้จักคุณบรรหารมากพอที่กล้าคุยกับท่านตรงๆหลายเรื่อง และหวังว่าคุณบรรหารจะรู้จักผมดีพอที่จะพูดอะไรกับผมตรงๆมากนักไม่ได้ แต่คุณบรรหารก็พูดอะไรกับผมตรงๆ เปิดใจทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในจังหวัดสุพรรณบุรี ผมคุยกับคุณบรรหารนานราวครึ่งชั่วโมง กลับออกมาด้วยความมั่นใจว่า หัวใจคุณบรรหารทำด้วยเลือดเนื้อของนักสู้ผู้ไม่ยอมแพ้ใครในเวทีการเมือง คุณบรรหารยังไม่พร้อมที่จะปฏิรูปการเมือง และคุณบรรหารคงปฏิรูปตัวเองให้เป็นนักการเมืองตามรัฐธรรมนูญที่คุณบรรหารกับอาจารย์ชุมพล ศิลปอาชา น้องชาย ช่วยกันจัดการให้เกิดขึ้นไม่ได้ น่าเสียดายความเป็นคนสุพรรณและความเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของคนของคุณบรรหารเป็นที่ยิ่ง คุณบรรหารแนะผมว่า ไม่ควรมาสมัคร ส.ว. สุพรรณฯเลย เพราะคุณบรรหารไม่สามารถจะช่วยจัดการหาคะแนนให้ผมได้ คุณบรรหารมีผู้สมัครในสังกัดแผนที่อิทธิพลทางการเมืองของท่านแล้ว หากผมลงสมัครท่านก็จะไม่ช่วย แต่หากไม่ลงสมัครท่านก็แนะว่ามีงานดีๆที่ผมอาจอยากทำและท่านอาจช่วยผลักดันหรือสนับสนุนได้ คุณบรรหารก็เป็นคนดีอย่างนี้แหละ หากยอมร่วมมือเป็นพวกด้วย ก็จะมีบำเหน็จรางวัลให้ แม้ผมจะทำหน้าที่เป็นเสียงที่ติดตามวิพากษ์วิเคราะห์และต่อว่าเสียดสีคุณบรรหารมาตลอดชีวิตการเป็นสื่อมวลชนของผม จนเป็นที่น่ารำคาญเหมือนเหลือบ ไร ยุง เรือด ริ้น ที่คอยตอมอาชาสีหมอกแห่งเมืองสุพรรณอยู่เป็นนิจ จะอย่างไร คุณบรรหารก็แสดงแต่เพียงอาการรำคาญ เบื่อหน่าย และหงุดหงิดต่อการที่ผมไม่ยอมเข้าร่วมเป็นพวกกับท่านเลย คุณบรรหารเคยชวนผมเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยเพื่อลงสมัคร ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ผมก็ปฏิเสธ ขอเพียงโอกาสในการได้ให้คำแนะนำว่าคุณบรรหารควรเป็นนายกรัฐมนตรีแบบใดจึงจะดีสำหรับประเทศชาติ และเป็นที่พอใจของผม นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เลขานุการส่วนตัวของคุณบรรหารต้องนัดหมายให้ผมได้ไปพูดคุยกับคุณบรรหารที่บ้านหลายครั้ง ผมเคยแนะนำคุณบรรหาร แนะนำคุณหญิงแจ่มใส และคุณกัญจนา ลูกสาวคนโปรดของท่านว่าควรลดขนาดป้ายแสดงความเป็นผู้บริจาคเงินหรือวิ่งเต้นจัดหางบประมาณสร้างอาคารสถานที่ หรือรั้วอาคารสถานที่ต่างๆในจังหวัดสุพรรณบุรีให้เล็กลง เพราะมันดูใหญ่น่าเกลียด ไม่มีรสนิยม และมีป้ายเป็นจำนวนมากที่ขอบคุณคุณบรรหารมากมายจนน่าขายหน้าทั้งๆที่คุณบรรหารไม่ได้บริจาคอะไร นอกจากจะวิ่งเต้นแปรญัตติ หรือจัดหางบประมาณแผ่นดินมาให้ตามหน้าที่ ส.ส. ที่ทำกันเป็นการหาเสียงโดยปรกติเท่านั้น
บางป้ายก็เพียงบริจาคเงินสร้างรั้ว แต่เขียนป้ายของคุณตัวเองเสียใหญ่จนคนอาจเข้าใจผิดว่าท่านบริจาคเงินสร้างตัวอาคารสถานที่ทั้งหมด ตัวอย่างที่น่าอับอายแก่ใจนี้ดูได้ที่กำแพงรั้วสนามกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรีซึ่งสร้างโดยงบประมาณของรัฐเป็นของการกีฬาแห่งประเทศไทย ส่วนกำแพงรั้วรอบสนามสร้างโดยเงินบริจาคจากคุณบรรหารและคุณหญิงแจ่มใส โรงเรียนบรรหารแจ่มใส ๑ ถึง ๗ ในสุพรรณบุรีก็เช่นกัน สร้างโดยงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนใหญ่ มูลนิธิบรรหารแจ่มใสบริจาคสมทบจำนวนหนึ่ง แต่คุณบรรหารกับคุณหญิงได้ชื่อโรงเรียนไปเต็มบริบูรณ์ โรงเรียนสามชุกรัตนโภคารามของผมก็ทราบว่ามีข่าวลือถึงความพยายามจะขอเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนบรรหารแจ่มใส ๘” อยู่โดยแลกกับการบริจาคที่ดินทำสนามฟุตบอล พวกผมกับเพื่อนๆก็ขวางกันอยู่อย่างเหนียวแน่น ผมยังคอยอยู่ว่าจะมีร่างกฎหมายฉบับใดที่ผ่านเข้ามาให้ผมได้มีโอกาสแปรญัตติเรื่องการตั้งชื่ออาคารสถานที่สาธารณะต่างๆบ้าง เป็นสมาชิกวุฒิสภาครบ ๖ ปีแล้ว ไม่พบโอกาสแบบนี้เลย คุณบรรหารบอกผมว่า จะไม่ช่วยผมเลยในการลงสมัคร ส.ว. สุพรรณฯของผม เพราะคุณบรรหารจัดคนของท่านไว้ครบสามคนแล้ว ผมก็บอกท่านว่าที่มาพบนี้มิได้ต้องการให้ช่วยอะไร ที่มาพบก็เพื่อมาตามที่ท่านต้องการให้มาพบ มาเพื่ออยากรู้ว่าท่านจะมีเรื่องอะไรที่ต้องการพูดกับผม เมื่อทราบเจตนาของท่านแล้วว่าต้องการบอกให้ผมรู้ว่าผมไม่ควรสมัคร ผมก็บอกท่านไปว่า ท่านไม่ควรแทรกแซงการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในจังหวัด ท่านเองก็เคยเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันกระบวนการปฏิรูปการเมืองก่อนที่จะแก้ไขมาตรา ๒๑๑ ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จัดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่หมดทั้งฉบับโดยรับฟังความเห็นของประชาชนทั้งประเทศ ท่านไม่น่าที่จะมาทำผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในเรื่องเลือกตั้ง ส.ว. คราวนี้เลย
คุณบรรหารบอกว่า ท่านไม่อยากทำ แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะพรรคการเมืองอื่นเขาทำกันทั้งนั้น ทำกันทุกจังหวัด ทำกันทั่วประเทศ หากท่านไม่ทำบ้างคนอื่นก็จะทำอยู่ดี ได้ยินดังนี้แล้วผมจึงเข้าใจความเป็นผู้ไม่ยอมแพ้ใครของท่าน จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นของท่าน คนอื่นจะมาเอาไปจากท่านไม่ได้ ไม่ว่าท่านจะต้องยกเลิกกระบวนการคิดแบบปฏิรูปการเมืองไปก็ตาม ตราบใดที่สุพรรณบุรียังจงรักภักดีต่อท่านอยู่ท่านก็คงจะมีความสุข มีเพื่อนชาวสุพรรณที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งบอกผมว่า สุพรรณบุรีเป็นของคุณบรรหาร หากเขาจะไปลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาแบบผมก็คงแพ้ และผมก็คงไม่รอด เป็นคนสุพรรณฯ แม้จะก่อร่างสร้างตัวจนมีชื่อเสียงระดับชาติแค่ไหนเพียงไร กลับสุพรรณฯ ชาวสุพรรณฯเขาก็ไม่ต้อนรับหากคุณบรรหารสั่งไม่ให้ต้อนรับ ผมเคยชวน ดร.กระมล ทองธรรมชาติให้ลงสมัครด้วย ท่านก็บอกว่าไม่มีทางได้รับเลือก เพราะเชื่อว่าคุณบรรหารจะสั่งให้ขวาง นึกถึงความรู้สึกของคณบดีเก่าเลือดสุพรรณฯของผมแล้วผมก็สบายใจ เพราะคุณบรรหารยังมีเมตตาต่อผม การพูดคุยกันที่บริษัทของท่านที่บางขุนพรหมวันนั้น คุณบรรหารบอกผมว่าจะไม่ช่วย และจะไม่ขัดขวาง “เชิญคุณสมเกียรติ ตามสบาย” ผมบอกท่านว่า ผมรู้ดีว่าคะแนนมีอยู่ประมาณ ๒๐,๐๐๐ คะแนนเท่านั้นที่อำเภอสามชุกเป็นหลัก แถมนิดหน่อยที่อำเภอศรีประจันต์ และ อำเภอเดิมบางนางบวช ผมคงแพ้ท่านแน่นอน ไม่มีทางติดหนึ่งในสาม ส.ว. สุพรรณฯแน่ๆ ผมจากคุณบรรหารออกมาด้วยความรู้สึกสบายใจว่าได้เข้าพบ “น้าบรรหาร” ตามที่เพื่อนขอร้องแล้ว ซึ่งได้ทำให้รู้จักคุณบรรหารดีขึ้นมากแล้ว และเคารพตัวเองมากขึ้นอย่างที่สุดด้วย ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาสุพรรณบุรีในวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๓ ที่จะมาถึงนั้น คงไม่เจ็บปวดอะไร เสียเงินเพียง ๒๒,๐๐๐ บาท ได้ผลงานวิจัยภาคสนามชิ้นยอด เก็บเอามาเขียนบันทึกความทรงจำได้อย่างทรงคุณค่า ให้ลูกหลานสุพรรณได้อ่านให้เจ็บใจเล่น คนสุพรรณต่างหากที่จะเจ็บปวด หากรู้จักคิดถึงศักดิ์ศรีตนเองและรู้จักคุณค่าของการปฏิรูปการเมืองที่จะมีต่อวิถีชีวิตตน ผมอุตส่าห์ร่ำเรียนเขียนอ่าน ทำงานสร้างตัว แสวงหาโอกาสช่วยสร้างประเทศชาติมาจนถึงเพียงนี้ จะทุจริตประพฤติมิชอบให้ตัวเองร่ำรวยก็ไม่เคยทำ (ที่ผมทุจริตประพฤติมิชอบให้คนอื่นร่ำรวยนั้นก็พอมี แต่จะไม่ขอบอก ณ ที่นี้)
หากชาวสุพรรณฯไม่เลือกผมให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา ก็น่าเสียดาย ไม่เลือกก็อย่าเลือก ไม่ให้เป็นก็ไม่เป็น ไม่มีคนคอยตำหนิวิจารณ์คุณบรรหารให้แล้วจะเสียใจทีหลัง ดังนี้แล้วผมก็เดินหน้าหาก๋วยเตี๋ยวและโอเลี้ยงกาแฟเย็นกินทั่วทั้ง ๑๐ อำเภอ การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสุพรรณบุรีเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๓ นั้น เป็นการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในจินตนาการของ พรรคชาติไทยอาจจะไม่ได้ทำในนามพรรคอย่างเป็นทางการ แต่คุณบรรหารและบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคชาติไทยในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แบ่งพื้นที่จังหวัดเป็นสามเขตเท่ากับจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มีได้ ผู้ที่คุณบรรหารเห็นว่าควรสนับสนุนจริงๆจะถูกคัดเลือกให้เหลือสามคนแบ่งให้แต่ละคนอยู่ความรับผิดชอบของ ส.ส.ผู้มีบารมีคนหนึ่ง โดยให้คุมหัวคะแนนให้ได้คะแนนสนับสนุนแน่นอนในเขตที่จัดแบ่งไว้ เขตหนึ่งก็สามอำเภอกว่าๆ สุพรรณบุรีมี ๑๐ อำเภอ ประชากรประมาณเกือบ ๙๐๐,๐๐๐ คน มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ๖๑๐,๔๒๘ คน หากสั่งหัวคะแนนให้ไปสั่งประชาชนให้เลือกตามที่คุณบรรหารและเหล่า ส.ส. พรรคชาติไทยในสุพรรณฯกำหนด ให้ได้คะแนนราวๆคนละ ๖๐,๐๐๐ ถึง ๑๐๐,๐๐๐ คะแนน ก็น่าจะชนะได้ ส่วนผม หากบุญมาวาสนาส่งให้ได้ ๒๐,๐๐๐ คะแนน ก็ถือว่าไม่อับอายขายหน้าชาวสามชุกแล้ว ถึงแพ้ก็แพ้แบบรู้หัวนอนปลายเท้า! ⤴︎ |
Vertical Divider
การที่ผมได้รับเลือกตั้งมาด้วยคะแนน ๘๐,๓๖๒ คะแนน เป็นอันดับที่หนึ่งของทั้งจังหวัดนั้นเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายของทุกคนในโลกนี้ โดยเฉพาะโลกของพรรคชาติไทย รวมทั้งเหนือความคาดหมายของผมเองที่อยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรีของคุณบรรหารด้วย คุณบรรหารเองจะรู้สึกอย่างไรผมไม่มีทางทราบ แต่ผมรู้ว่าคุณบรรหารไม่ได้รับชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จในครั้งนี้ก็เพราะความดีและความไม่ดีของคุณบรรหารเอง
ความดี ที่ไม่ซื้อเสียงด้วยเงินสด ความไม่ดี ที่ไม่ซื้อเสียงด้วยเงินสด คุณบรรหารมีความดีที่ไม่ได้ใช้เงินซื้อเสียงในการสนับสนับสนุนผู้สมัครสังกัดบารมีคุณบรรหารเลย โดยเฉพาะในช่วงต้นๆของการ “แนะนำตัว” ผู้สมัคร ซึ่งกฎหมายไม่เรียกว่า “การหาเสียง” ส.ส. ผู้มีบารมีของพรรคชาติไทยที่รับหน้าที่คุมสามเขตเลือกตั้งใช้วิธีจัดงานเลี้ยงหัวคะแนนและบุคคลที่มีบารมีระดับอำเภอและตำบล บางแห่งเลี้ยงกันเป็นพันโต๊ะ โดยในระหว่างงานมีการแนะนำตัวผู้สมัคร ส.ว. ที่ไม่บอกว่าสังกัดพรรคอะไร ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ตัวผมเองและเพื่อนเคยแอบไปดูและถ่ายภาพไว้เพื่อประโยชน์ในการบันทึกประวัติศาสตร์ เห็นภาพแล้วก็อ่อนใจว่า คนสุพรรณยุคใหม่แค่ข้าวมื้อเดียวก็ยอมขายเสรีภาพและเกียรติภูมิส่วนตัวให้พวกผู้มีอิทธิพลทางการเมืองแล้ว “คนพวกนี้ขออย่าได้กลับใจมาลงคะแนนให้ผมเลย” ผมรำพึงในใจด้วยความรู้สึกอันหดหู่ หารู้ไม่ว่า ไม่ควรคิดชิงชังคนที่มากินเลี้ยงเหล่านี้ทั้งหมด เพราะตอนหลังผมได้ทราบจากปากคนที่ไปงานเลี้ยงกลุ่มหนึ่งว่า ไปงานเลี้ยงที่โรงเรียนสมเด็จพระวันรัตน์กับเขาด้วย จัดโต๊ะเลี้ยงกันเพียบราวสองพันโต๊ะ กลางสนามหน้าโรงเรียน แต่ถึงเวลาลงคะแนนกลับมาลงให้ผม ไม่ใช่ด้วยความพิสมัยอะไรในตัวผมหรอก หากแต่เพราะความโมโหที่ไปงานเลี้ยงโต๊ะจีน แล้วกลับไม่ได้นั่งโต๊ะจีน เสียความรู้สึก เลย “เลือกด็อกเตอร์” ประชดมันเสียเลย! ผมทราบจากเพื่อนๆล่วงหน้าว่าจะมีงานเลี้ยงใหญ่ที่สนามโรงเรียนสมเด็จพระวันรัตน์ อำเภอสามชุก เพื่อแนะนำตัวผู้สมัคร ส.ว. คนหนึ่ง ที่อยู่ในเขตความดูแลของ ส.ส. ประภัตร โพธสุธน โรงเรียนที่จะให้สถานที่จัดเลี้ยงก็เป็นโรงเรียนที่ผมเคยเรียนจบประถมปีที่ ๔ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ย้ายจากริมแม่น้ำสุพรรณมาอยู่ติดกับบ้านผมที่สามชุกเพราะที่กว้างขวางกว่า ผมแอบไปดูป้ายหน้างานให้แน่ใจแล้วจึงขอนัดพบผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อบอกท่านว่าท่านกำลังทำในสิ่งที่ไม่ใช่การปฏิรูปการเมือง เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง ไม่เคารพเกียรติของนักการศึกษา ครู อาจารย์ เป็นการสร้างแบบอย่างที่ไม่ดีสำหรับเด็กและเยาวชน ผู้อำนวยการโรงเรียน และครูจำนวนหนึ่งมาร่วมคุยกับผมด้วย แล้วก็บ่นว่าไม่ทราบจะหลีกเลี่ยงอย่างไร รู้ว่าไม่เหมาะไม่ควรทำ แต่พูดไม่ออก ผมก็ร่ายยาวเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญของผม การช่วยประชาพิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ อะไรต่อมิอะไรสารพัดจะยกข้อมูลวิชาการมาจูงใจคณะครูให้พยายามทำตัวให้กล้าหาญแสวงหาความเป็นอิสระให้กับตนเองเพื่อเกียรติภูมิของวิชาชีพครู คุยกันเสร็จแล้วผมก็จากไป รุ่งขึ้นทราบจากเพื่อนครูที่โรงเรียนนั้นว่าคุณบรรหารเดินทางไปที่อำเภอสามชุก ไม่ไปที่โรงเรียนสมเด็จพระวันรัตน์ แต่เรียกผู้อำนวยการโรงเรียนไปต่อว่า ณ อีกที่หนึ่ง ซึ่งผมทราบสถานที่ แต่ไม่ทราบรายละเอียดการต่อว่า อย่างไรก็ดี ก็ยังผลให้ โรงเรียนเปลี่ยนป้ายหน้าบริเวณงานใหม่ จากเดิมเป็นงานเลี้ยงแนะนำตัวผู้สมัคร ส.ว. กลับกลายเป็นป้ายงานเลี้ยงแสดงความยินต่อ “ท่าน ส.จ. ศักดา จาละ” ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาในสภาจังหวัดอีกครั้ง
การจัดงานเลี้ยง โดยไม่จ่ายเงินซื้อเสียง ดูจะไม่ได้ผลนัก ไม่ใช่เพราะการที่ผมได้ตามไปรบกวนรูปแบบของงาน ผมไม่มีกำลัง ไม่มีปัญญาจะตามไปถ่ายภาพทุกหนแห่ง เพราะงานเลี้ยงจัดกันมากมายตลอดเวลา แต่งานเลี้ยงที่สามชุกที่ผมว่ามานี้ก็สร้างคะแนนให้กับผมได้โดย (ส.ส. ประภัตร) ไม่คาดคิด ชาวบ้านที่ไปงานเลี้ยงเกิดโมโหว่า จัดงานเลี้ยงใหญ่โต จัดโต๊ะจีนจากนครปฐม แต่จัดไม่ครบให้ทุกคนที่มางาน เงินจัดงานมาจากผู้จ่ายเงินที่มีบารมีทางการเมือง นำไปจ้างโต๊ะจีน ที่มีรายการอาหารอุดมสมบูรณ์จำนวนหนึ่ง โดยให้เชิญเฉพาะคนสำคัญๆในตลาดมานั่งโต๊ะจีน ส่วนชาวบ้านนั้นเขาจัดเงินให้กลุ่มแม่บ้านกลุ่มละประมาณ สอง หรือ สามพันบาท ให้ไปซื้อกับข้าวมาทำแล้วนำมาเลี้ยงแยกเป็นซุ้มอาหาร พวกชาวบ้านธรรมดาที่ถือว่าไม่มีเกียรติ (คือขายสิทธิ์ขายเสียงตัวเองง่ายๆอยู่แล้ว สั่งอะไรก็ทำให้ได้ทุกอย่างอีก) ชาวบ้านพวกนี้ไม่มีสิทธิ์ได้นั่งโต๊ะจีน ชาวบ้านที่มางานส่วนใหญ่จึงต้องเดินไปตักอาหารกันเอง แล้วไปนั่งโต๊ะไทยว่างๆที่จัดไว้ โดยไม่มีหมูหัน! ไม่มีหูฉลาม! ไม่มีโหงวก๊วย! นี่คือที่มาของความโกรธ ตกลงชาวบ้านจำนวนหนึ่งบอกผมว่า “โมโหแม่มัน! อยากไม่ให้ฉันนั่งโต๊ะจีน ฉันเลยเลือก ด๊อกเตอร์ สมน้ำหน้ามัน” นี่หากคุณประภัตรลงทุนอีกนิดหนึ่ง ให้ทุกคนได้กินหูฉลามคนละสองสามคำ เห็นที “ด๊อกเตอร์” คงไม่มีทางชนะเลือกตั้งเลย! เมื่อคุณบรรหารไม่ได้ใช้เงินซื้อเสียง ใช้แต่กระบวนการกินเลี้ยงที่ได้ผลต่ำเกินคาด แล้วใครเป็นผู้ซื้อเสียงทำให้เกิดการปั่นป่วนฐานคะแนนของชาวสุพรรณผู้ไร้ศักดิ์ศรีในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ชาวสุพรรณฯก็ยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลงประเพณีทางการเมือง ยังยอมขายเสียงตัวเองในราคา ๒๐๐ – ๕๐๐ บาท ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งในอำเภอเดิมบางนางบวชบอกผมว่าลูกบ้านครอบครัวหนึ่งมีสมาชิกในครอบครัวที่มีสิทธิเลือกตั้ง ๕ คนได้เงินจากหัวคะแนนของผู้สมัครที่ไม่ใช่พวกคุณบรรหาร ๒,๕๐๐ บาท เท่ากับว่ามีผู้สมัครคนหนึ่งจ่ายเงินซื้อเสียงในราคาเต็ม ๕๐๐ บาท ต่อ ๑ เสียง โดยหัวคะแนนไม่หักเข้ากระเป๋าตัวเองเลย เท่าที่ทราบจากเพื่อนๆที่เป็นหัวคะแนนให้ผู้สมัครสังกัดฐานคะแนนพรรคชาติไทย ผู้สมัครรายหนึ่งที่คุณบรรหารไม่สนับสนุน ทุ่มเทเงินซื้อเสียงอย่างต้องการสร้างประวัติศาสตร์การเมืองใหม่ให้กับสุพรรณบุรี ด้วยความโมโหว่าขอความสนับสนุนจากคุณบรรหารแล้ว “น้า” แกก็ไม่ยอม ดังนั้นจึงต้องประกาศสงครามการเมืองกันโดยต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ต้องพึ่งคุณบรรหารก็สามารถได้รับเลือกตั้งได้ และเพื่อเป็นการหยามพรรคชาติไทยของน้าบรรหารให้ได้อาย ก็ขอชนะเลือกตั้งแบบให้ได้คะแนนสูงสุด ในเมื่อชาวสุพรรณมักจะถูกตราหน้าว่าซื้อได้แต่หยามไม่ได้ สงครามครั้งนี้จึงมีแนวโน้มจะนองอารมณ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.สุพรรณทั้งหมดมี ๑๗ คน คุณบรรหารดูแลสนับสนุนและจัดการให้มี ๓ คน ซึ่งไม่พบหลักฐานจากผู้ใหญ่บ้านว่ามีการจ่ายเงินซื้อเสียง ส่วนผมก็เป็นผู้สมัครอิสระ ที่ไม่ซื้อเสียงแน่นอนคนหนึ่งแล้ว ก็เหลืออีก ๑๓ คน ที่ดูรายชื่อแล้วก็ตกเป็นข่าวลืออยู่คนเดียว ซึ่งผมก็เพียงแต่ได้รับรายงานจากสายข่าวและหัวคะแนนของคุณบรรหาร บวกกับข้อมูลเพิ่มเติมจากบรรดาร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านโอเลี้ยง และแม่ค้ากล้วยแขกต่างๆ รวมทั้งตัวเลขการเบิกจ่ายที่นินทากันในหมู่กรรมการหอการค้าจังหวัดสุพรรณบุรี
กรรมการหอการค้าฯท่านหนึ่งคำนวณให้ผมดูว่าเงินที่ใช้ซื้อเสียงสูงใกล้เคียง ๔๐ ล้านบาท หากใช้เงินส่วนตัวก็เห็นทีว่าครอบครัวของผู้สมัครที่ซื้อเสียงจะไม่ยอมและคงมีไม่พอ แต่การเอาชนะคุณบรรหารที่จังหวัดสุพรรณบุรีของคุณบรรหารเอง ถือเป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่งของพรรคการเมืองอื่นที่ได้ความพ่ายแพ้เป็นรางวัลเสมอ พรรคประชาธิปัตย์พยายามมานานหลายสมัยเลือกตั้งแล้วก็ยังล้มพรรคชาติไทยไม่ได้ อย่าให้ถึงล้มกันเลย เอาแค่เพียงเบียดแทรกเข้ามาสักคนก็ถือว่าเป็นปรากฏการณ์อัศจรรย์ยิ่งนักแล้ว ก็ยังไม่มีพรรคไหนทำได้ คุณบรรหารและพรรคชาติไทยครองเสียงชาวสุพรรณด้วยคำสั่งผ่านหัวคะแนน การที่จะต้องจ่ายเงินเป็นรายหัวเพื่อซื้อเสียงนั้น ย้ายจากสมรภูมิระดับชาติไปสู่ระดับท้องถิ่นแล้ว ดังนั้น คนอื่นที่จะมาเบียดพรรคชาติไทย หรือจะแย่งเก้าอี้ ส.ว. จากลูกน้อง ส.ส. พรรคชาติไทยที่ได้รับการอุ้มชูอยู่แล้วก็ไม่มีทางสู้อย่างอื่นใดนอกไปจากจะใช้เงินสดๆ เพราะชาวสุพรรณที่คุณภาพทางความคิดอ่านทางการเมืองต่ำยังมีอยู่มากมายตามไร่นาต่างๆ ชาวบ้านเหล่านี้จ่ายเพียงสองร้อยบาทก็ยอมขายเสียงของตัวเองแล้ว ดังนั้น กระบวนการซื้อเสียงที่ใช้เงินส่วนตัวบวกกับเงินของพรรคการเมืองร่ำรวยจากกรุงเทพ ซึ่งลือกันว่าเป็นพรรคไทยรักไทยจึงเริ่มขึ้น ผมไม่ทราบจริงๆว่าพรรคไทยรักไทยจะมาทุ่มเงินเพื่อทำบทเรียนใหม่ให้กับคุณบรรหาร จึงได้แต่เก็บข้อมูลที่มาจากข่าวลือนั้นไว้ในใจ เพราะผมไม่สนใจจะไปตรวจสอบ ไม่อยากกล่าวหา หรือหาทางยับยั้งการทุจริตการเลือกตั้งครั้งนี้แต่ประการใด ตรงกันข้าม ผมต้องการให้การลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเสมือนงานวิจัยทางรัฐศาสตร์ภาคสนาม ใครจะทำอะไรก็เชิญ ผมไม่ต้องการไปขวาง เพราะไม่ต้องการชนะเลือกตั้งแบบ “Technical Knock-Out” ไม่ต้องการไปจับผู้ได้คะแนนสูงกว่าผมให้แพ้แล้วเลื่อนผมที่คะแนนควรจะแพ้อยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าลำดับสาม มากๆขึ้นมาให้ถึงลำดับสาม ท่าทางคงเป็นไปไม่ได้ ในสัปดาห์สุดท้ายก่อนการลงคะแนน เพื่อนผมซึ่งเป็นคนทำงานที่ศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของกลุ่มหัวคะแนนคุณบรรหาร-ประภัตร-จองชัย แจ้งผลการสำรวจแนวโน้มคะแนนของผมว่าผมอยู่อันดับที่ ๗ คะแนนนิยมในสามเขตของคุณบรรหารยังดีอยู่เพียงสองเขต ส่วน พ.ต.อ. ปรีดี เจริญศิลป์ อดีตนายตำรวจใหญ่ของสุพรรณบุรี ผู้เคยใกล้ชิดสนิทสนมและช่วยเหลือร่วมมือในการแสดงความเคารพคุณบรรหารมานาน และคราวนี้มาลงสมัครด้วยความมุมานะของตนเองโดยมิได้รับพรอันใดจากคุณบรรหาร
อำเภออู่ทองที่ใครๆ นึกว่าเป็น “ของแน่นอน” สำหรับคุณบรรหาร เอาเข้าจริงๆ ก็พบว่า พ.ต.อ. ปรีดี นี่แหละของจริง คะแนนนิยมในการสุ่มสำรวจก่อนวันลงคะแนนจริงพบว่า พ.ต.อ. ปรีดี เจริญศิลป์ ท่าทางจะสร้างบทเรียนที่เจ็บช้ำให้กับคุณบรรหารได้ พ.ต.อ. ปรีดี เป็นผู้สมัครอิสระจริงๆ? หรือว่าเป็นตัวแทนทางอ้อมของพรรคไทยรักไทย? เรื่องนี้ก็นินทากันไปทั้งจังหวัด ส่วนผมเองนั้นไม่ทราบ และไม่สนใจ เพราะหากไม่จริงก็จะดีมากที่จะได้ช่วยลดความยิ่งใหญ่ของคุณบรรหารลงบ้าง แต่หากว่าจริงก็จะเป็นความเศร้าส่วนตัวของผมที่อยากจะเห็นชาวสุพรรณปฏิรูปความคิดทางการเมืองของตนเองบ้าง ถ้าขืนชาวสุพรรณยังคงไร้เกียรติยอมเอาเสรีภาพและอำนาจอธิปไตยส่วนของตนไปแลกกับเงิน ๒๐๐-๓๐๐ บาท ผมก็คิดว่าเสียทีที่เกิดมาเป็นคนสุพรรณเปล่าๆ ผมไม่เคยรู้จัก พ.ต.อ. ปรีดี เจริญศิลป์ รู้แต่ว่าท่านสมัครได้เบอร์ ๒ เห็นใบปลิว แผ่นป้ายของท่านทั่วทุกหนแห่ง ไม่เคยพบท่านต่อหน้าเพราะท่านไม่เคยมาร่วมการแนะนำตัวตามห้องประชุมอำเภอต่างๆ เลย ก.ก.ต.จังหวัดจัดการแนะนำตัวผู้สมัคร ๑๐ ครั้ง พ.ต.อ. ปรีดี ไม่เคยมาแนะนำตัวเลยแม้แต่ครั้งเดียว สองวันสุดท้ายก่อนถึงวันที่ ๔ มีนาคม อันเป็นวันลงคะแนน เพื่อนจากศูนย์คอมพิวเตอร์ของกลุ่มหัวคะแนนพรรคชาติไทยบอกผมด้วยความงุนงงว่า “เฮ้ยไอ้เกียรติ มึงมาที่สี่แล้วว่ะ” ก็แปลกดี แต่ที่สี่ก็แพ้ตามคาดหมายอยู่ดี เพียงแต่ผมอยากจะรู้ว่าจะได้คะแนนมากกว่า ๒๐,๐๐๐ คะแนนเชียวหรือ ถึงวันลงคะแนนเสียง ๔ มีนาคม ๒๕๔๓ เฉพาะหน่วยเลือกตั้งตำบลปากน้ำ อ.เดิมบางนางบวชที่ผมลงคะแนน ทั้งๆที่ชาวบ้านบอกว่า พ.ต.อ. ปรีดี ไม่เคยมาให้เห็นหน้าค่าตาเลย แต่ก็สามารถทำคะแนนเป็นที่สอง ตามหลังผมไม่กี่สิบคะแนน สุดยอดแห่งความสามารถในการหาคะแนนจริงๆสำหรับ พ.ต.อ. ปรีดี และสุดเศร้าจริงๆสำหรับชาวบ้านปากน้ำ เดิมบางฯ “อีสาวเดิมบางเองช่างใจดี” เสียจริงๆ ไม่เคยเห็นหน้า ไม่เคยได้ยินเสียง รู้แต่ว่าผู้อำนวยการโรงเรียนเขาบอกให้เลือก ก็เลือกตามที่ “ท่าน ผ.อ.” แนะนำ ผลการเลือกตั้งในที่สุด พ.ต.อ. ปรีดี เจริญศิลป์ คนที่คุณบรรหารไม่สนับสนุน คนที่เขาลือกันว่าได้รับคำอวยพรจากคุณทักษิณตามศัพท์ภาษาอังกฤษที่ว่า “Blessing” มาเป็นที่ ๑ ด้วยคะแนน ๑๒๗,๔๕๖ คะแนน ผมได้เป็นลำดับที่ ๒ ด้วยคะแนน ๘๐,๓๖๒ คะแนน พล เอก มนัส อร่ามศรี ได้ลำดับที่ ๓ มี ๗๔,๗๔๕ คะแนน ส่วนที่เฉียดไป เกือบได้ คือ คุณมนัส รุ่งเรือง ได้ที่ ๔ ชาวสุพรรณฯลงให้ ๗๒,๐๐๖ คะแนน อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ชื่อสมพงศ์ ศรียะพันธุ์ ได้ที่ ๕ มี ๒๑,๖๒๖ คะแนน ส.ส.ประภัตร โพธสุธน ที่รับหน้าที่ดูแลคะแนนให้ท่านอดีตผู้ว่าฯสมพงศ์ บ่นดังๆกับทีมงานว่า “ไอ้เกียรติ มันชนะกูได้ยังกันวะ?” ถึงตอนนี้ต้องบอกเสียก่อนว่า คุณประภัตร โพธสุธน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น เป็นเพื่อนนักเรียนที่เรียนในประเทศอินเดียรุ่นเดียวกับผม คุณประภัตรเรียนที่ Aligarh Muslim University ส่วนผมเรียนที่ University of Delhi ในช่วงที่ผมเป็นนายกสมาคมนักเรียนไทยในกรุงเดลฮี คุณประภัตรก็ไปมาหาสู่ร่วมกิจกรรมกับผมที่เดลฮีเสมอ เราจึงเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน เฮฮา มึง-กู กันได้ จนทุกวันนี้ก็ยังทักทายพูดคุยกันได้ มิใช่คู่แข่งทางการเมืองอะไรกัน เพียงแต่ว่าคุณประภัตรเป็นคนศรีประจันต์ เขตเลือกตั้ง ส.ส. ของคุณประภัตรนั้นรวมอำเภอ สามชุกบ้านเกิดของผมด้วย คะแนนเลือก ส.ส. ที่สามชุกเป็นของคุณประภัตรมาชั่วกาลนาน ดังนั้น คะแนนเลือก ส.ว. ที่สามชุกก็น่าจะสั่งได้ตามเดิม ส่วนคะแนนที่ศรีประจันต์บ้านของคุณประภัตร ก็ไม่น่าจะเทมาให้ผม นับเป็นเรื่องแปลกประหลาดใจเป็นอย่างมาก ผู้ว่าฯสมพงศ์ ศรียะพันธุ์ เจอกับผมที่วัดดอนเจดีย์ในเย็นวันกำหนดแนะนำตัว ท่านยังบอกผมว่าท่านเองคงไม่หวังอะไรนักหนา และท่านก็ยังให้กำลังใจผมด้วย ผมได้คะแนนที่อำเภอสามชุกตามที่คาดไว้ แถมได้ ศรีประจันต์ และเดิมบางนางบวชมาเกินกว่าที่คาดไว้อีก ส่วนที่อำเภออื่นแทบจะไม่ได้คะแนนจากพื้นที่ชาวไร่ชาวนาเลย ชาวนาข้าว ชาวไร่อ้อย ส่วนใหญ่ไม่กล้าหาญที่จะเป็นคนสุพรรณมาตรฐานประชาธิปไตยยุคปฏิรูปการเมืองได้ จึงเลือกตามที่หัวคะแนนสั่ง แลกกับอาหารมื้อสองมื้อและความรู้สึกภูมิใจว่าได้เป็น “พวกบรรหาร” ผลการเลือกตั้งรอบแรกสร้างความผิดหวังและคลางแคลงใจให้กับพลพรรคชาติไทยและฝ่ายคุณบรรหารเป็นอย่างมาก นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่เห็นว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตยุติธรรม จึงมีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งส่วนกลาง โดยนายอำเภอทั้ง ๑๐ อำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดที่ชื่อวิพัฒน์ คงมาลัย รวมกันไปร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้งถึงกรุงเทพฯ
น่าชื่นชมในความเอาจริงเอาจังของผู้นำฝ่ายปกครองของจังหวัดจริงๆ ไม่ต้องคอยให้ผู้แพ้เลือกตั้งร้องเรียนก่อนเลย อาสาไปร้องเรียนเองถึงกรุงเทพฯ ดังนั้นแล้ว พ.ต.อ. ปรีดี จึงถูกแขวนด้วยใบเหลือง ด้วยเหตุที่การเลือกตั้งรอบแรกที่ให้คะแนน พ.ต.อ. ปรีดีมากเป็นที่หนึ่ง ได้ถึง ๑๒๗,๔๕๖ คะแนน มากกว่าผมที่ได้ที่ ๒ เกือบ ๕๐,๐๐๐ คะแนน ผมเลยได้รับการประกาศรับรองจาก กกต. ให้ได้รับเลือกตั้งก่อน โดยเลื่อนลำดับขึ้นมาเป็นที่ ๑ บุญแห่งสถิติหล่นทับโดยผมรับแทบไม่ทัน ผมถูก กกต.ส่วนกลางที่กรุงเทพเรียกตัวมาสัมภาษณ์ (หรือสอบสวน) ก่อนการรับรอง กกต.ถามมากมายหลายเรื่อง ผมก็ตอบหลายเรื่องที่เกี่ยวโยงกับการซื้อเสียง และการทุจริตอื่นๆที่สุพรรณบุรี หลังจากนั้น พล อ. มนัส อร่ามศรี ก็ได้รับการรับรองตามหลังผมไม่กี่วัน สุพรรณบุรีต้องมีการเลือกตั้งใหม่ถึงสองครั้ง จึงได้ คุณมนัส รุ่งเรือง มาเป็น สมาชิกวุฒิสภาคนที่สาม แทน พ.ต.อ. ปรีดี เจริญศิลป์ ซึ่งพ่ายแพ้ฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองเรื่องหัวคะแนนและฐานกำลังฝ่ายข้าราชการไปอย่างเจ็บแค้นแน่นในหัวอก
พ.ต.อ. ปรีดี เจริญศิลป์ นั้น ต่อมาได้มาโผล่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย อย่างยืนยันข่าวลือ ดังนั้น ข่าวลือเรื่องที่ พ.ต.อ. ปรีดี เจริญศิลป์ สมัคร ส.ว. สุพรรณฯโดยได้รับพรจากคุณทักษิณ จึงเป็นเรื่องที่ท่านผู้อ่านข้อเขียนนี้จะต้องปะติดปะต่อความซับซ้อนเอาเอง ปะติดปะต่อได้ผลอย่างไรแล้วแจ้งให้ “น้าบรรหาร” และ ผมทราบด้วยจะเป็นพระคุณยิ่ง ทำไมผมจึงได้รับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสุพรรณบุรีด้วยคะแนนที่มากมาย ทั้งๆที่ไม่ได้แสวงหา ไม่ได้ลงทุน ใช้เงินเพียง ๒๒,๐๐๐ บาท เป็นค่าสมัครและค่ารูปถ่าย นอกนั้นก็เพียงค่าน้ำมันรถ ที่ขับไปไหนมาไหนเพียงคนเดียว ประชาชนชาวสุพรรณไม่มีวันรู้เลยว่าผมสมัคร และได้หมายเลขอะไร หากไม่ไปหาข้อมูลเอาเอง แสดงว่าชาวสุพรรณในปี ๒๕๔๓ ไม่เหมือนเดิมอย่างที่ผมเศร้าใจในอดีตอีกต่อไปแล้ว! ที่ซื้อเสียง ซื้อเสรีภาพได้ในราคาถูกยังมีอยู่ แต่นับวันจะค่อยหายไป หรือลดน้อยลงไป ที่รู้จักเกียรติภูมิของตนเอง และเห็นค่าของประชาธิปไตยมีมากขึ้น การอยู่ใกล้กรุงเทพเพียงขับรถชั่วโมงเดียวทำให้ชาวสุพรรณรับรู้ข้อมูลข่าวสารและแนวคิดวิเคราะห์สังคมการเมืองที่ลุ่มลึกมากขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจช่วยให้คนเป็นอิสระทางการเมืองมากขึ้น จะเห็นได้จากการที่คะแนนส่วนมากที่ผมได้จะอยู่ในเขตตลาดในอำเภอ เขตเทศบาล เขตอำเภอเมือง การศึกษาที่สูงขึ้นและกระจายกว้างขวางขึ้น ทำให้ชาวสุพรรณตัดสินใจทางการเมืองได้น่าเคารพอย่างสูงศักดิ์ศรีมากขึ้น ดูได้จากคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผมได้มากกว่าผู้สมัครรายอื่น และคะแนนจากครู นักเรียน และข้าราชการ แม้กระทั่งที่ศาลากลางจังหวัด ก็ลงให้ผมมากเป็นพิเศษ ความจู้จี้จุกจิกเอาแต่ใจตัวเองเวลาคุณบรรหารไปตรวจงานที่สุพรรณบุรี ในวันเสาร์ ที่ท่านทำอย่างสม่ำเสมอ แทนที่จะเป็นคะแนนนิยมในฝ่ายคุณบรรหารในหมู่ข้าราชการ กลับกลายเป็นคะแนนขบถในยามที่ระบบการนับคะแนนค้นหาตรวจสอบตัวขบถไม่ได้ การวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งที่ทำให้ผมชนะ ได้รับเลือกตั้งอย่างที่ไม่คาดหวังอะไรมาก่อน ทำให้ผมมีความหวังมากขึ้นในระบอบประชาธิปไตยที่หวังเห็นสมาชิกวุฒิสภามีอิสระจริงๆในการถ่วงดุลกับสภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลในระบบพรรค แต่การเล่าเรื่องนี้อย่างละเอียดก็เป็นการชี้ช่องให้พรรคชาติไทยได้ปรับแก้ อุดช่องโหว่ที่รั่วจนผมแทรกเข้ามาได้ หากพรรคชาติไทยและพรรคการเมืองอื่นในจังหวัดอื่นๆยังไม่ปฏิรูปการเมืองและไม่พัฒนาความคิดและพฤติกรรมทางการเมืองของตน เรื่องที่ผมเล่านี้ก็จะช่วยให้พรรคการเมืองเหล่านั้นได้วางแผนการทำลายวุฒิสภา และทำลายระบอบประชาธิปไตยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่หากพรรคการเมืองทั้งหลาย ต้องการเห็นประชาธิปไตยไทยพัฒนาขึ้น อยากได้วุฒิสภาไว้เป็นสภาอิสระ เป็นเพื่อนคอยช่วยแนะนำให้ทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศชาติ บรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายก็ต้องไม่แทรกแซงทำให้การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งต่อๆไปกลายเป็นการเลือกตั้ง ส.ว.ระบบบัญชีรายชื่อพรรค แบบแบ่งเขต เบอร์เดียวตามสั่ง อย่างที่แบ่งกันเรียบร้อยแล้วที่จังหวัดสุพรรณบุรี ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ สุพรรณบุรีอยู่ใกล้กรุงเทพมาก จนพอจะเปลี่ยนวัฒนธรรมทางการเมืองได้อย่างน่าภูมิใจแล้วเมื่อปี ๒๕๔๓ และขอให้ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งพลังต่อเนื่องในอนาคตอย่างยั่งยืน เปลี่ยนวัฒนธรรมและพฤติกรรมทางการเมือง เปลี่ยนค่านิยมทางสังคม เปลี่ยนคุณภาพทางการศึกษา เปลี่ยนอะไรหลายอย่างให้ดีขึ้นได้ เปลี่ยนให้หมด ขออย่างเดียว ที่ไม่ต้องการให้ความใกล้กรุงเทพมาเปลี่ยนแปลง อย่าเปลี่ยนสำเนียงเหน่อให้หายไปก็แล้วกัน ไม่งั้นมีเรื่องแน่! [จบ] สมเกียรติ อ่อนวิมล เขียนครั้งแรก ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๘ ปรับแก้ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๔ |