มู่หลาน / MULAN
Vertical Divider
ANONYMOUS
|
Vertical Divider
นิรนาม
|
ภาพเขียนมู่หลาน
ปลายสมัยราชวงศ์ชิง (1636-1912) จากหน้า 6 ของหนังสือ "Mulan - Five Versions..." แปลคำอธิบายภาษาจีนบนมุมซ้ายของภาพดังนี้: "แต่ดั้งเดิมเล่าไว้ว่า มู่หลาน เป็นเป็นเด็กสาวน่ารัก เธอออกไปรบในสงครามแทนบิดาของเธอ - น่าขื่นชมยิ่งนัก ไปร่วมสู้รบในดินแดนกว้างไกลนานสิบปี เธอรักษาไว้ซึ่งชื่อเสียงและเกียรติ ประวัติ เธอคือพลเอกผู้หาญกล้าไร้ผู้ใดเทียมเท่า เธอมาจากตระกูล "หัว" (แปลว่าดอกไม้) |
Vertical Divider
เกี่ยวกับ "มู่หลาน แซ่หัว"
"มู่หลาน" เป็นเรื่องของเด็กสาวลูกชาวบ้านผู้หาญกล้าแห่งตระกูลหัว หรือ "แซ่หัว" (แปลว่าดอกไม้) อาสาออกไปเป็นทหารเกณฑ์สู้รบในสงครามแทนบิดาผู้แก่ชราแล้ว อีกทั้งครอบครัวก็ไม่มีบุตรชายโตพอที่จะรับหมายเกณฑ์ได้ เธอลาบิดามารดาจากหมู่บ้านไปร่วมสงครามรับใช้พระจักรพรรดิ์จีนนาน 12 ปี ทั้งๆที่เป็นผู้หญิง แต่ก็สามารถปลอมตัวแต่งกายเป็นชายโดยไม่มีใครในกองทัพจับได้ว่าที่แท้เธอเป็นหญิง จนสงครามเสร็จสิ้น พระจักรพรรดิ์จีนทรงปูนบำเน็จรางวัลเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งให้ทหารหาญทุกนาย แต่มู่หลานมิประสงค์ลาภยศสรรเสริญใดๆ ขอรับพระราชทานเพียงม้าฝีเท้าดีอึดทนวิ่งได้วันละพันลี้ตัวเดียวเป็นพอ เพื่อเธอจะได้ควบกลับบ้านเกิดไปหาพ่อแม่และน้องสาวน้องชาย กลับไปเป็นหญิงตามปรกติของลูกสาวชาวบ้านธรรมดาๆต่อไป เมื่อกลับถึงหมู่บ้าน พ่อและแม่ของมู่หลานก็ตื่นเต้นดีใจ ถึงกับเดินทางออกไปรอต้อนรับมู่หลานก่อนที่เธอจะเข้าถึงเขตหมู่บ้านเสียด้วยซ้ำ แล้วพาเธอกลับไปเลี้ยงฉลองกันที่บ้าน แล้วมู่หลานก็กลับมาเป็นลูกสาวของพ่อแม่ เป็นพี่สาวของน้องสาวและของน้องชายต่อไป. คติสอนใจจากตำนานจีนโบราณเรื่องมู่หลานนี้ สอนให้ลูกมีความกตัญญูต่อพ่อแม่ สอนให้ประชาชนซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อประเทศชาติและองค์พระจักรพรรดิ์ สอนให้ลูกจีนทุกคนรับใช้พ่อแม่ ครอบครัว และประเทศชาติเป็นสำคัญ แม้จะเป็นหญิงซึ่งประเพณีจีนมิได้คาดหวังจะให้กระโดดโลดเต้นหาญกล้าดุจลูกชาย แต่เรื่องมู่หลานก็สะท้อนความคิดคนจีนโบราณว่า แม้จะเป็นหญิงแต่ก็สามารถมีความเข้มแข็งหาญกล้าเยี่ยงชายได้เสมอภาคกัน ดุจดังกระต่ายสองตัววิ่งคู่กัน ตัวหนึ่งตัวผู้ อีกตัวหนึ่งตัวเมีย วิ่งไปคู่กัน ดูไกลๆก็แยกไม่ออกว่ากระต่ายตัวใดเพศใด ตัวไหนตัวผู้ ตัวไหนตัวเมีย เรื่องมู่หลานแต่แรกเริ่มที่เล่าขานกันมานานปีจากปากสู่ปากขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ จนกระทั่งราชสำนักให้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในรูปแบบบทกวีประมาณศตวรรษที่ 6 บทกวีเรื่องมู่หลานเน้นความกตัญญูต่อบิดามารดา ต่อมาถึงกลางศตวรรษที่ 8 มีการเขียนเรื่องมู่หลานเป็นบทเพลง เนื้อความก็ใกล้เคียงกับบทกวีดั้งเดิม ในยุคหลังๆที่มีการเขียนเป็นบทละคร งิ้ว (อุปรากรจีน) เริ่มปรับเนื้อหาให้เน้นเรื่องความรักชาติ ความคิดชาตินิยม สิทธิสตรีและความเท่าเทียมกันในสังคมมากขึ้น ครั้นวัฒนธรรมข้ามชาติยุคโลกาภิวัตน์มาถึงโลกตะวันตก มู่หลานก็ถูกเล่าใหม่ ตามบริบทบันเทิงและการตลาดสมัยใหม่ ภาพยนตร์การ์ตูนแบบ animation ปี 1998 ของ Walt Disney ก็เน้นความบันเทิง ดนตรี เพลง เทคโนโลยีการทำภาพเคลื่อนไหว และการตลาดทุกรูปแบบ ส่วนภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่อง Mulan ของ Disney ปี 2020 แบบมีนักแสดงจริง ฉากการถ่ายทำยิ่งใหญ่ นักแสดงเป็นชาวจีน หรืออเมริกันเชื้อสายจีนเต็มรูปแบบ ทำบทภาพยนตร์เป็นภาษาอังกฤษเขียนโดยคนฝรั่งอเมริกัน กำกับภาพยนตร์โดยสตรีชาวนิวซีแลนด์ ได้ใส่ความเป็นภาพยนตร์บันเทิงยิ่งใหญ่ ถ่ายทำในประเทศจีนและนิวซีแลนด์ ตามแบบฉบับฉากธรรมชาติตระการตาที่นิวซีแลนด์มีให้ชมอย่างเต็มจอกว้าง เป็นความบันเทิงแบบครอบครัวตามแบบฉบับเคร่งครัดของ Disney แม้จะมีฉากรบราฆ่าฟันกันในสงครามอย่างไรก็ไม่มีภาพเลือดให้เห็นเลย เนื้อหาปรัชญาพื้นฐานตามวัฒนธรรมจีนดั้งเดิมว่าด้วยลูกกตัญญูยังคงเป็นหัวใจสำคัญไม่เสื่อมคลาย การสร้างภาพยนตร์นั้นมีคณะที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีนหลายคนเชื่อถือได้ถึงพื้นฐานงานก่อนจะสร้างเป็นภาพยนตร์สมัยใหม่ แต่รายละเอียดปลีกย่อยเปลี่ยนแปลงไปมากหลากหลายตามแนวการผลิตความบันเทิงสมัยใหม่ ซึ่งงานภาพยนตร์ยืนยันว่าใช้บทกวี เรื่องมู่หลานและเรื่อง อื่นๆในรูปแบบอื่นเช่นที่ปรากฏในหนังสือเล่มข้างบนนี้ คนสร้างภาพยนตร์ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วหลายรอบ หนังสือชื่อ Mulan: Five Versions of a Classic Chinese Legend, with Related Texts เขียนและแปลโดย Shiamin Kwa (Assistant Professor of East Asian Languages and Cultures, Bryn Mawr College) และ Wilt L. Idema (Professor of Chinese Literature Emeritus, Harvard University), Hackett Publishing Company, Inc., Indianapolis / Cambridge, 2010, 136 pages, ISBN-13: 978-1-60384-196-2 ⤴︎ |
Vertical Divider
อ่านบทกวีของมู่หลานแล้ว ไปดูภาพยนตร์แล้วกลับมาอ่านบทกวีดั้งเดิมอีกรอบ แล้วกลับไปดูภาพยนตร์อีกรอบ จะได้ความสนุกอิ่มเอิบสองรูปแบบวัฒนธรรม ตะวันออก-ตะวันตก ได้สมบูรณ์มากขึ้น
ผมไปดูภาพยนตร์ Mulan มาแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 11 กันยายน นี้ ที่ SF Cinema เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ ดูจบลงด้วยความพึงพอใจและเป็นสุขใจ เป็นภาพยนตรสำหรับครอบครัวได้ เหมาะด้วยสำหรับนักคิดวิเคราะห์ นักทำภาพยนตร์ นักทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ก็ยิ่งดี อย่างน้อยรางวัล Oscar สาขา Cinematography ก็สมควรจะได้ ในฐานะผู้สูงอายุ วัย 72 ผมได้ลดค่าชมภาพยนตร์ครึ่งราคาอีกต่างหาก ส่วนข้อกำหนดเคร่งครัดเรื่องการเว้นที่นั่งห่างและใส่หน้ากากป้องกัน COVID-19 นั้น หากไปชมภาพยนตร์วันธรรมดา ก็จะดีกว่า เพราะคนจะไม่มากเท่าวันเสาร์-อาทิตย์ สำหรับบทวิจารณ์เปรียบเทียบระหว่างบทกวีดั้งเดิม Poem of Mulan กับ ภาพยนตร์ Mulan โดย Disney ปี 2020 นั้น คิดว่าปล่อยให้ผู้อ่านบทความนี้ไปชมภาพยนตร์และวิจารณ์เอาเองก่อนน่าจะสนุกกว่า หรือหากจะอ่านบทวิจารณ์ภาพยนตร์โดยสื่อภาษาอังกฤษก็ตามอ่านได้ข้างล่าง ในทางวิชาการ หนังสือภาษาอังกฤษ ชื่อ "Mulan: Five Versions of a Classic Chinese Legend, with Related Texts" โดย Shiamin Kwa (Bryn Mawr College) and Wilt L. Idema (Harvard University) สรุปประวัติศาสตร์-ตำนานและวิวัฒนาการ-เรื่องมู่หลาน เฉพาะที่สำคัญ รวมห้าเรื่องห้าแบบ โดยศึกษาวิจัยเชิงวิชาการอย่างละเอียด พร้อมเขียนบทสรุปแบบยาวไว้ก่อนที่จะถึงบทแปลจากภาษาจีนเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งหมด เรื่องมู่หลาน 5 แบบที่มีการศึกษาวิจัยมีดังนี้: 1. "Poem of Mulan" หรือ "บทกวีเรื่องมู่หลาน" เป็นเรื่องแรกที่มีการบันทึกไว้สมัยโบราณ ความยาว 62 บรรทัด หรือประมาณ 2 หน้า (ก่อนศตวรรษที่ 6) 2. "Song of Mulan" นำบทกวีมาเขียนเป็นเพลง เนื้อหาใกล้เคียงกัน (กลางศตวรรษที่ 8) 3. "The Female Mulan Joins the Army in Place of Her Father" (ศตวรรษที่ 16) เป็นบทละคร หรืองิ้ว 4. "Mulan Joins the Army" (1903) บทละคร หรืองิ้วปักกิ่ง 5. "Mulan Joins the Army" (1939) บทภาพยนตร์ของ Xinhua Film แห่งเซี่ยงไฮ้ ช่วงที่ญี่ปุ่นครองอำนาจในจีน ยังมีเรื่องมู่หลานเป็นละคร งิ้ว เรื่องสั้น นวนิยาย ภาพยนตร์ ของจีนอีกมากมาย ไม่นับงานภาพยนตร์ภาพวาดเคลื่อนไหว (animation) ของ Disney (1998) และภาพยนตร์แบบมีนักแสดงและฉากจริง (live-action) ของ Disney (2020) อีก ดังนั้นเรื่องมู่หลานจึงถูกดัดแปลงกันตามใจชอบจนขยายเรื่อง ผิดเพี้ยน และผันแปรไปจากต้นฉบับ Poem of Mulan กันสนุกสนานจนลืมเรื่องต้นทางเรื่องแรก คือ "บทกวีเรื่องมู่หลาน" (Poem of Mulan) ที่ผ่านมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 กว่า 1,500-1,600 ปีแล้ว ข้อมูลเพิ่มเติมOthers' Reviews |
บทวิจารณ์
MULAN: THE POEM AND THE MOVIE
My Review
MULAN: THE POEM AND THE MOVIE
My Review
Vertical Divider
บ้านเกิดมู่หลาน
บทกวีเรื่องมู่หลานมิได้กล่าวถึงเผ่าพันธุ์บ้านเกิดและลักษณะของบ้านและหมู่บ้านของครอบครัวมู่หลานชัดเจน แต่ก็พอประเมินได้ว่าครอบครัวของมู่หลานมีฐานะดีพอสมควรเพราะมีกี่ทอผ้าตามที่กล่าวถึงในบทกวีบรรทัดที่ 2 ตอนต้น ส่วนตัวบ้านของมู่หลานนั้นดูจะมีขนาดใหญ่โอ่โถงเพราะครอบครัวมู่หลานมีพ่อ แม่ กับลูกสามคน คือมู่หลานเป็นลูกคนหัวปี น้องสาวหนึ่งคน ไม่ปรากฏชื่อ (“บรรทัดที่ 45. ได้ยินข่าวพี่สาวกลับมาแล้ว, น้องสาวของมู่หลาน, บรรทัดที่ 46. ก็รีบใส่ชุดสีแดงสดใสรออยู่ที่ประตูบ้าน.”) และ น้องชายอีกหนึ่งคนเป็นคนสุดท้องไม่ปรากฏชื่อเช่นกัน (บรรทัดที่ 47. ได้ข่าวว่าพี่สาวคนโตกลับมาแล้ว, น้องชายของมู่หลาน, บรรทัดที่ 48. ก็ลับมีดจนคมกริบส่องประกายวาววับรออยู่ต่อหน้าบรรดาหมูและแกะ.) แต่ในภาพยนตร์จะผิดไปจากบทกวีที่ไม่กล่าวถึงน้องชายราวกับจะให้สรุปเอาว่ามู่หลานไม่มีน้องชาย. ที่ว่าบ้านของมู่หลานใหญ่โอ่โถงก็เพราะตอนท้ายของบทกวีบอกตอนมู่หลานกลับบ้านหลังการรบในสงคราม เธอขอให้น้องสาวเปิดส่วนที่เป็นหอหรือ pavillion (หรือ chamber ก็ได้) ของบ้านด้านทิศตะวันออก เพื่อจะขอเข้าไปนั่งพักและเปลี่ยนชุดในห้องฝั่งตะวันตก (ซึ่งอยู่ในหอที่อยู่ฝั่งตะวันออก) แสดงว่าบ้านใหญ่เป็นสัดส่วนมีห้องหอส่วนต่างๆอธิบายตามทิศที่ตั้ง คิดว่าสมาชิกแต่ละคนจะมีห้องนอนแยกเป็นของตนเอง ลูกสาวก็จะมีโต๊ะเครื่องแป้ง กระจกเงาไว้แต่งหน้าแต่งตัว บทกวีกล่าวถึงพ่อแต่ต้นตอนที่ได้รับหมายเกณฑ์ว่าบิดาไม่มีลูกชายโตพอจะไปเป็นทหารแทนพ่อได้ (บรรทัดที่ 12,13,16, 21, 23, 27, 43) แต่มิได้กล่าวถึงความชราหรือป่วยไข้ของพ่อแต่อย่างใด แม้จะมิได้กล่าวว่าพ่อเคยรับราชการเป็นทหารแต่ก็พออนุมานได้ว่าเคยเป็นทหารมาสมัยเป็นหนุ่มตามกฎการเกณฑ์ทหารแต่โบราณสำหรับชายฉกรรจ์ของแต่ละครอบครัว ในภาพยนตร์แสดงให้เห็นดาบเก่าและชุดทหารที่พ่อเก็บไว้ด้วย สำหรับแม่ของมู่หลานก็ได้รับการกล่าวถึงตอนที่ว่ามู่หลานไปลาบิดามารดาก่อนจะออกไปรบแทนพ่อ (บรรทัดที่ 21) คิดถึงเสียงเรียกหาจากพ่อแม่ (บรรทัดที่ 21, 23) และพ่อกับแม่ออกไปรับถึงชายขอบหมู่บ้านตอนทราบข่าวว่ามู่หลานกำลังกลับมา (บรรทัดที่ 43) ครอบครัวมู่หลานเป็นคนจีนเผ่าพันธุ์ใด? ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่ใดบนแผ่นดินจีน? อันที่จริงบทกวีมิได้ให้รายละเอียดในเรื่องนี้ตรงๆ แต่เพื่อความคิดเชิงวิเคราะห์ที่ถูกกระตุ้นโดยภาพยนตร์ทำให้พบความแตกต่างและสับสนในภาพยนตร์ชัดเจน ในภาพยนตร์แต่ต้นแสดงภาพบ้านของมู่หลานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชุมชนบ้านทรงวงกลมยาวแบบบ้านของชุมชนจีนแคะ หรือ Hakka ซึ่งปัจจุบันยังคงมีอยู่ในจังหวัดฟูเจี้ยน (ประกาศเป็นมรดกโลก / UNESCO World Heritage) เจียงสี และ กวางตุ้ง ทางตะวันออกเฉียงใต้ติดชายฝั่งทะเลของจีนเหนือฮ่องกงขึ้นไป โดยชายฝั่งเยื้องลงมาทางใต้เล็กน้อยจากฝั่งตรงข้ามกับใต้หวัน ในใต้หวันเองทุกวันนี้ก็มีชุมชนบ้านวงกลมแบบนี้เช่นกัน หมู่บ้านวงกลมของชาวจีนแคะนี้เป็นเหมือนชุมชนที่มีบ้านห้องแถวเรียงติดกันเป็นวงกลมใหญ่ สูงสอง-สามชั้น ต่างครอบครัวต่างแยกกันอยู่แบบทาวน์เฮ้าส์, หรือคอนโดมิเนียม, หรืออพาร์ทเมนท์, หรือแฟลต ตามที่เรียกกันในปัจจุบัน เพียงแต่สร้างติดกันยาวโค้งเป็นวงกลมใหญ่ วงกลมใหญ่นี้ภายนอกจะเป็นดุจกำแพงทึบชั้นล่างไม่มีหน้าต่างทั้งนี้ก็เพื่อกันศัตรูมิให้รุกรานเข้าบ้านได้ โดยมีประตูทางเข้าทางใหญ่ทางเดียว ภายในก็เป็นบ้านหลายๆครอบครัวหลายคูหาติดกันเป็นวงกลม มีประตูหน้าต่างระเบียงยาวตลอดรอบเส้นวง เจ้าของบ้านออกมาตะโกนคุยกับเพื่อบ้านได้ วงหมู่บ้านตรงกลางเป็นลานกว้างหรืออาจมีอาคารส่วนกลางอื่น เป็นที่ทำกิจกรรมของหมู่บ้านได้ ชาวบ้านทุกคนจึงพบปะเจอะเจอกันได้ตลอดเวลา ชาวจีนแคะหรือฮักกะจะอพยพหนีภัยรุกรานจากเหนือลงมาใต้ทำนองเดียวกันกับคนไทยสมัยโบราณที่ประวัติศาสตร์เล่าว่ามาจากเทือกเขาอัลไตของจีน ลงสู่ดินแดนแหลมทองหรือสุวรรณภูมิ แต่ชาวจีนแคะก็อพยพลงใต้สมัยโบราณทั้งก่อนและหลังช่วงเวลาของมู่หลานในบทกวี ดังนั้นภาพยนตร์จะอนุโลมให้มู่หลานเป็นจีนแคะก็อาจได้ถ้าภาพยนตร์ชอบรูปทรงชุมชนบ้านกลมว่าจะให้ภาพสวยประทับใจในภาพยนตร์ หากจะให้มู่หลานเป็นจีนแคะสมัยศตวรรษที่ 6 ก็ยอมได้ที่จะให้คิดว่าชาวจีนแคะที่อพยพลงใต้ยังไปไม่ถึงชายฝั่งทะเล อยู่หยุดอยู่แค่แถวๆบ้านมู่หลานก็น่าจะเป็นไปได้ อย่างไรก็ตามมู่หลานจะอยู่บ้านวงกลมร่วมกับชาวบ้านอื่นคงยากที่จะมีห้องหอตะวันออกและห้องนอนตะวันตกของห้องหอส่วนของเธอ บ้านของมู่หลานจึงจำต้องเป็นบ้านครอบครัวเดี่ยวแต่เป็นบ้านใหญ่ที่มีปีกแยกเป็นห้องหอทิศตะวันออกได้ (หรือมีห้องหอทิศตะวันตกอีกด้วยก็ย่อมได้)ในชุมชนหมู่บ้านที่มู่หลานอยู่ น่าจะอยู่แยกบ้านกันไป มีบ้านแยกเป็นหลังเต็มรูปแบบบ้าน มีสวนครัว เล้าหมูเล้าไก่ คอกม้าคอกแกะ แปลงผักสวนครัว แยกบ้านกันไปจึงจะดูถูกต้องกว่าหากเป็นบ้านกลมแบบจีนแคะจะเลี้ยงแกะหมูม้ากันไว้ที่ไหน? หมู่บ้านในบทกวีจึงได้บอกว่าพ่อแม่เดินทางออกไปรับมู่หลานตอนกลับถึงชายขอบหมู่บ้าน แต่ในภาพยนตร์มู่หลานโผล่เข้ามาประตูใหญ่กลางวงกลมของบ้านชุมชนแล้ว พ่อ, แม่, น้องๆ, และชาวบ้านจึงโห่ร้องยินดีต้อนรับเธอในสนามกลางบ้านวงกลมนั้นเอง ถ้าจะให้ถูกต้องตามบทกวีก็ต้องให้พ่อแม่และชาวบ้านออกไปรอรับเธอที่ชายขอบหมู่บ้าน แล้วน้องสาวก็แต่งตัวรอกับน้องชายที่ลับมีดรอเชือดหมูเชือดแกะจัดงานเลี้ยงต้อนรับให้มโหฬาร ภาพยนตร์ กับ บทกวีดั้งเดิมจึงต่างกันไปในเรื่องที่ว่านี้ วิเคราะห์ตามบทกวีแล้ว มู่หลานต้องไม่ใช่จีนแคะ และบทกวีก็มิได้ให้ความสำคัญเรื่องชาติพันธุ์ของมู่หลาน ตำแหน่งที่ตั้งบ้านมู่หลานอยู่ ณ จุดใดบนแผ่นดินจีน? ไม่ว่ามู่หลานจะอยู่บ้านวงกลมหรือไม่-ซึ่งในที่นี้สรุปให้ว่าไม่, และไม่ว่ามู่หลานจะเป็นจีนแคะหรือไม่-ซึ่งในที่นี้ก็มิได้เห็นเป็นประเด็นที่จะให้คำตอบได้ เพียงแต่ตกลงว่ามู่หลานมิได้อยู่บ้านชุมชนวงกลมแบบจีนแคะ ในเรื่องตำแหน่งที่ตั้งบ้านและชุมชนหมู่บ้านของมู่หลานนั้นจะต้องอยู่ตอนกลางของจีนตามแผนที่ประเทศจีนปัจจุบัน บรรทัดที่ 21 บทกวีเขียนว่า “รุ่งอรุณ เธอกล่าวอำลาบิดาและมารดาผู้เป็นที่สุดแห่งความรัก", บรรทัดที่ 22 บอกต่อไปว่า “พลบค่ำ เธอหยุดพักริมฝั่งแม่น้ำหวงเหอ (แม่น้ำเหลือง)” ย่อมแปลได้ว่าบ้านมู่หลานอยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำหวงเหอ ห่างกันเพียงควบม้าวันเดียว - ออกเช้าถึงค่ำ จากบ้านมู่หลานลงไปทางใต้คือแม่น้ำแยงซี แม่นำสำคัญอีกสายหนึ่งของจีน แม่น้ำสองสายที่พาดผ่านแผ่นดินจีนจากทิศตะวันตกสู่ทิศตะวันออก แม่น้ำหวงเหอเริ่มจากทางตะวันตก ในเขตทิเบตของจีน พาดผ่านตอนเหนือ ไปออกทะเลโป๋ไห่ (Bohai) เมืองดองยิง (Dongying) จังหวัดชานดอง (Shandong) ชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ, และแม่น้ำแยงซีพาดผ่านตอนกลางค่อนข้างลงมาใต้เล็กน้อย ไปออกะเลที่เซี่ยงไฮ้ ดังนั้นมู่หลานจึงเป็นคนภาคเหนือ บ้านอยู่ระหว่างแม่น้ำแยงซีและหวงเหอ น่าจะไม่ไกลจากเมืองซีอานปัจจุบัน แต่จะใกล้แม่น้ำหวงเหอมากกว่า และการทำศึกสงครามก็ทำกับผู้รุกรานทางเหนือ เมืองหลวงที่ชื่อปักกิ่ง หรือเป่ยจิง ปัจจุบันนี้ก็อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เหนือแม่น้ำหวงเหอหรือแม่น้ำเหลืองขึ้นไป วัยเด็กถึงวัยสาวของมู่หลาน ภาพยนตร์แต่งเติมเรื่องมู่หลานวัยเด็กว่าซุกซน กระโดดเหินโหนโจนทะยานเก่งยิ่งกว่าเด็กผู้ชายทั่วไปด้วยซ้ำ คงเป็นเพราะต้องการปูพื้นฐานให้เข้าใจว่าเธอมีความสามารถเป็นทหารรบเก่งกล้าตอนเป็นสาวได้ พอโตเป็นเป็นสาวพ่อแม่ก็หวังจะให้ได้ครองเรือนจึงจัดหาแม่สื่อมาดูตัวเพื่อจะหาสามีให้เหมาะสม ส่วนนี้เป็นความสนุกของภาพยนตร์ที่แต่งเติมมาเท่านั้น ในบทกวีดั้งเดิมไม่มีเรื่องมู่หลานตอนเด็ก แต่เริ่มต้นที่มู่หลานเป็นสาวแล้วนั่งทอผ้าอยู่ด้วยความเศร้าใจวิตกกังวลว่าพ่อจะต้องถูกเกณฑ์เป็นทหารไปรับใช้องค์พระจักรพรรดิ์ต่อสู้กับศัตรูผู้รุกรานทางเหนือ ระหว่างทอผ้าไปใจก็ล่องลอยไปด้วยความห่วงพ่อ ไม่มีเรื่องชายคนรักที่ไหนในใจเธอ แปลว่ามู่หลานในวัยสาวยังไม่มีคนรัก รักและห่วงแต่พ่อแม่และน้องๆ เป็นพี่สาวคนโตที่รับผิดชอบต่อครอบครัวเต็มบริบูรณ์ในเมื่อครอบครัวไม่มีลูกชายคนโต ส่วนที่ว่ามู่หลานจะเก่งกาจในการสู้รบระหว่างอยู่บ้านก่อนเกณฑ์ทหารอย่างไรนั้นบทกวีมิได้กล่าวถึง ก็เป็นไปได้ที่เธอจะได้รับอิทธิพลฝึกฝนการต่อสู้จากพ่อแล้วไปฝึกเพิ่มเติมในค่ายทหารตอนต่อมา มู่หลานมิได้มีบุคลิกลักษณะคล้ายชายเหมือนทอมบอยแต่เป็นสาวสวยอ่อนช้อยแต่งตัวสวยงามเหมือนสาวชาวบ้านทั้งหลาย แต่เรื่องการปลอมตัวเป็นชายออกรบในสงครามเป็นการแสดงออกถึงคุณธรรมสำคัญประจำวัฒนธรรมจีนว่าด้วยความกตัญญูต่อพรรพบุรุษพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ดังนั้นแม้เป็นหญิงคุณธรรมข้อนี้ก็คงความศักดิ์สิทธิ์เท่าเทียมกัน ยิ่งต้องออกไปรบเยี่ยงชายยอมตายแทนพ่อได้อย่างมู่หลานด้วยแล้วเรื่องราวของมู่หลานจึงกลายเป็นตำนานยิ่งใหญ่ของจีนแต่โบราณมาถึงวันนี้. ⤴︎ |
Vertical Divider
มู่หลานออกจากบ้านไปรบแทนพ่อ
ภาพยนตร์ของ Disney เขียนบทให้มู่หลานขโมยม้าและดาบของพ่อหนีออกจากบ้านไปรบแทนพ่อโดยไม่บอกพ่อแม่และน้องๆ การฉีกแนวออกนอกตำนานเช่นนี้เป็นความเสียหายต่อความเป็นลูกกตัญญูรู้คุณและความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกที่ว่าหนีออกจากบ้านโดยไม่บอก ทั้งๆที่จะไปทำความดี ในบทกวีเรื่องมู่หลานนั้น มู่หลานไปตลาดสี่มุมเมืองแล้วซื้อม้าจากตลาดตะวันออก (บรรทัดที่ 17) ซื้ออานม้าจากตลาดตะวันตก (บรรทัดที่ 18) ซื้อเชือกบังเหียนม้าจากตลาดใต้ (บรรทัดที่ 19) และซื้อแส้ม้าจากตลาดเหนือ (บรรทัดที่ 20) ซื้อของมาเตรียมตัวออกรบแทนพ่อ ได้อุปกรณ์ครบถ้วน รวมทั้งดาบที่เป็นของพ่อตั้งแต่ครั้งเป็นทหาร-บทกวีไม่ได้พูดถึงดาบ จึงอนุมานเอาว่าเป็นดาบเก่าของพ่อที่พ่อคงให้ไป- จากนั้นมู่หลานก็กล่าวอำลาพ่อแม่ (และน้องๆ) ต่อหน้า มิได้หนีออกจากบ้านพร้อมทั้งขโมยม้าและอาวุธไปเหมือนในภาพยนตร์เลย ความบกพร่องของภาพยนตร์ฉากนี้ไม่มีความจำเป็นอย่างใดเลย หากยึดตามบทกวี ฉากไปตลาดและลาพ่อแม่จะน่าประทับใจซาบซึ้งมากกว่าในฐานะลูกกตัญญู ไม่ใช่ลูกที่ต้องขโมยทรัพย์สินของพ่อไปเพื่อเป็นเครื่องมือแสดงความกตัญญู เป็นความผิดของผู้เขียนบทและกำกับภาพยนตร์ที่เห็นแก่ความบันเทิงในทางลบต่อวัฒนธรรมประเพณีของครอบครัวจีน การเดินทางของมู่หลานสู่สมรภูมิ มู่หลานควบม้ามุ่งทิศเหนือ วันเดียว ตกค่ำ ก็ถึงชายฝั่งแม่น้ำหวงเหอแล้วนอนพักริ่มฝั่งน้ำ รุ่งเช้าควบม้าต่อไปพักแรมตอนค่ำที่ยอดเขาดำ ซึ่งอาจเป็นเทือกเขาถัดไปทางเหนือของแม่น้ำหวงเหอซึ่งคงดูเป็นสีดำทมึนเมื่อมองไกลๆ ไม่ใช่เขาดำ (Black Mountain Valley) แหล่งท่องเที่ยวจีนปัจจุบันที่อยู่ลงมาทางใต้แม่น้ำหวงเหอจนถึงฝั่งแม่น้ำแยงซีฝั่งเหนือ อันจะเป็นการสวนทางควบม้าของมู่หลานในตำนาน มู่หลานเดินทางขึ้นเหนือไปเรื่อยๆหลายหมื่นลี้จนถึงที่ตั้งฐานทัพแล้วร่วมรบในสงครามพรมแดนเหนือนานสิบปี บทกวีมิได้ลงรายละเอียดเรื่องมู่หลานฝึกรบในค่ายทหารก่อนออกรบจริง ให้เข้าใจว่ามู่หลานเดินไกลถึงฐานทัพรายงานตัวแล้วก็คงพร้อมรบเลย หรือจะฝึกซ้อมก่อนก็ได้ทั้งสองวิธีคิด แต่ในภาพยนตร์ให้ความสำคัญและสนุกสนานและจริงจังกับการฝึกซ้อมในค่ายทหารมาก คงเป็นความต้องการของผู้เขียนบทและกำกับภาพยนตร์ที่ต้องการเห็นความยิ่งใหญ่ตระการตาของสนามฝึกซ้อมและแถวทหารต่างๆ เพื่อให้เห็นเป็นจริงว่ามู่หลานและทหารเกณฑ์จากหมู่บ้านทั่วแผ่นดินได้รับการฝึกฝนเต็มที่จริงๆจนพร้อมรบ ส่วนมู่หลานนั้นภาพยนตร์แสดงให้เห็นว่ามู่หลานมีความสามารถและพร้อมอยู่ก่อนแล้วอย่างน่าทึ่ง มู่หลานออกรบ การออกสงครามของมู่หลาน บทกวีบอกว่ารบนาน 10 ปี แต่ตอนจบท้ายบทกวี เพื่อนทหารที่กลับมาบ้านด้วยกันบอกว่าร่วมรบกันมานาน 12 ปี ทั้งที่อยู่ในบทกวีเดียวกัน แสดงว่ามู่หลานรบจริงๆไม่รวมการเดินทางไปกลับบ้าน และการฝึกรบในค่ายทหาร รวมแล้ว 10 ปี รวมเวลาอื่นๆจึงเป็น 12 ปี มู่หลานมิได้รบเก่งกล้าผิดปรกติมนุษย์แต่กล้าหาญเก่งกาจมีฝีมือจนถึงระดับผู้นำทัพหรือผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารได้ บทเพลงและละครยุคหลังๆก็ยกย่องมู่หลานทำนองนี้ แต่แน่นอนว่ามู่หลานรบอย่างทรหดอดทนเก่งกล้าไม่แพ้ชาย เป็นการใช้ฝีมือมนุษย์ธรรมดา ไม่มีอำนาจวิเศษเหมือนกับกำลังภายในที่ต่อสู้กับแม่มดเซียนเนียนในภาพยนตร์ แม่มดในภาพยนตร์เป็นจินตนาการของคนเขียนบทภาพยนตร์ที่เติมแม่มดมาเป็นตัวแสดงเสริมให้สนุกตื่นเต้นหวาดเสียวแฝงอุดมการณ์สตรีบางประการเท่านั้น แต่ก็สร้างสีสันให้กับภาพยนตร์มากแม้จะเหหันออกไปจากความจริงของขีดความสามารถของมนุษย์ไป-ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย บรรทัดที่ 29-34 บรรยายการออกสู้รบของมู่หลานและกองทัพได้เป็นอย่างดีด้วยข้อความไม่กี่ประโยค แต่แน่นอน ในภาพยนตร์ฉากการสงครามย่อมยิ่งใหญ่ มหึมา มโหฬาร ตามแบบฉบับของงานภาพยนตร์ แต่ Disney Production บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ก็ยึดกฎการเป็นความบันเทิงสำหรับครอบครัวอย่างน่าชื่นชมยกย่อง ไม่ยอมให้เห็นเลือดในจอภาพยนตร์แม้แต่หยดเดียว ต่อให้ทำสงครามฆ่าฟันกันขนาดไหนก็แล้วแต่! ในบทกวีระหว่างสงครามไม่มีใครทราบว่ามู่หลานเป็นผู้หญิง ทว่าในภาพยนตร์เธอเปิดเผยตัวว่าเป็นหญิงตอนกลางเรื่อง แต่กว่าจะรู้ถึงกลางเรื่องภาพยนตร์ก็มีฉากสนนุกตื่นระทึกให้ลุ้นว่าเพื่อนๆทหารหนุ่มจะรู้กันหรือไม่? ตอนไหน? ตอนเปลี่ยนชุดนอน? ตอนอาบน้ำ? ฯลฯ ก็ต้องยกให้เป็นฝีมือของจินตนาการเพื่อความบันเทิงของภาพยนตร์อย่างแท้จริง โดยไม่ต้องห่วงบทกวีต้นฉบับให้เคร่งครัดจนเกินไป. มู่หลานกลับบ้าน เมื่อสงครามจบสิ้นมู่หลานกับเพื่อนทหารเข้าเฝ้าพระจักรพรรดิ์ มู่หลานปฏิเสธลาภยศสรรเสริญใดๆจากองค์พระจักพรรดิ์ ขอเพียงม้าฝีเท้าดีตัวเดียววิ่งได้วันละพันลี้ควบลับบ้านเท่านั้น ตรงนี้ทั้งบทกวีและภาพยนตร์ให้ความประทับใจในความเป็นหญิงผู้เด็ดเดี่ยวและความเป็นลูกกตัญญูของเธอ เธอจึงเดินทางกลับบ้านด้วยม้าพระราชทาน (หรืออาจเป็นอูฐในตำนานบางสำนวน) เมื่อทราบข่าวลูกสาวกำลังกลับมา พ่อแม่ของมู่หลานก็เดินทางออกไปรับถึงชายขอบทางเข้ามู่บ้าน ไม่ใช่เห็นมู่หลานเข้าประตูบ้านวงกลมเข้ามาแล้วอย่างในภาพยนตร์ถึงได้ต้อนรับด้วยปิติยินดีกันทั้งบ้านวงกลม มู่หลานกลับถึงบ้านเปลี่ยนเสื้อผ้าแต่หน้าแต่งตัวใหม่แล้ว เพื่อนทหารที่ตามมาด้วยกันจึงรู้ว่ามู่หลานเป็นผู้หญิง เรื่องจบลงโดยไม่ต่อเรื่องราวให้รู้ว่ามู่หลานจะมีคู่แต่งงานกับใครเมื่อไรแล้วจะทำอะไรต่อไป ทิ้งไว้ให้โลกจินตนาการกันเอาเอง และให้ Disney ได้มีโอกาสสร้างภาพยนตร์ยนตร์ “Mulan 2-3-4” ต่อไป กระต่ายคู่ คติสอนใจเรื่องกระต่ายคู่ตอนจบของบทกวีเรื่องมู่หลาน อยู่บรรทัดที่ 59 ถึง 62 ซึ่งในภาพยนตร์ให้กระต่ายสองตัวออกมาแต่ต้นเรื่องตอนปูพื้นเรื่องเด็กหญิงมู่หลานว่าเป็นเด็กจอมแก่นซุกซนแยกไม่ออกว่าเป็นเด็กหญิงหรือเด็กชาย ต่างไปจากบทกวีโบราณที่เล่าเรื่องกระต่ายคู่ปิดท้ายให้เป็นคติสอนใจตามมาตรฐานการเล่าเรื่องตำนานหรือนิทานทั่วไปที่ย่อมต้องปิดท้ายด้วยคติสอนใจ โดยกล่าวเปรียบเทียบเรื่องกระต่ายตัวกับผู้ตัวเมียที่ดูใกล้ๆก็แยกออกโดยการสังเกตอากัปกิริยา แต่พอดูวิ่งคู่กันไปดูไกลๆก็แยกไม่ออกว่าตัวไหนตัวผู้ตัวไหนตัวเมีย เหมือนมู่หลานที่ทำความดีแกร่งกล้าออกรบแทนพ่อเทียบเท่าชาย หากใส่เสื้อผ้าแบบชายแล้วก็แยกไม่ออกเช่นกัน เป็นการสะท้อนถึงความเท่าเทียมกันของเพศหญิง-ชาย ในการแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่และรับใช้พระมหาจักรพรรดิ์ รับใช้ชาติ แต่ในเมื่อเธอเป็นสตรีเพศ วีรกรรมออกรบแทนพ่อจึงกลายเป็นตำนานเล่าขานกันมาถึง 1,600 ปี. ไม่ว่าจะอ่านบทกวี หรือจะชมภาพยนตร์ ก็จะได้รับความรู้และความประทับใจขั้นสุดท้ายในเรื่องลูกกตัญญูเช่นที่ว่าทำนองเดียวกัน โดยอาจจะสนุกสนานและซาบซึ้งประทับใจกันคนละรูปแบบเท่านั้นเอง หากการวิจารณ์ภาพยนตร์จะมีการวิจารณ์ไปถึงเรื่องส่วนตัวและความคิดเห็นทางการเมืองส่วนตัวของนักแสดงตัวเอก วิจารณ์ไปถึงฉากการถ่ายทำในประเทศจีนไม่ถูกอารมณ์การเมืองของนักวิจารณ์ จะวิจารณ์เรื่องบท การกำกับ ตัดต่อ ถ่ายภาพ เครื่องแต่งกาย หรือจะวิจารณ์เรื่องเพลงประกอบ ดนตรีประกอบ หรือจะวิจารณ์เปรียบเทียบกับภาพยนตร์การ์ตูนเก่า 22 ปีก่อนหน้านี้ ก็เป็นเรื่องที่ผู้ชมจะต้องคิดเอาเองว่าต้องการอะไรจากเรื่องมู่หลาน จะต้องการอ่านตำนานโบราณเท่านั้น หรือจะต้องการเพิ่มเติมความสนุกสนานบันเทิงและคติสอนใจจากงานผลิตสร้างสรรค์ภาพยนตร์สมัยใหม่ เพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์จาก Hollywood นั้นเป็นเรื่อง "ศิลปะ และ วิทยาศาสตร์" คู่กันไป (เหมือนกระต่ายคู่!) ดังชื่อ The Academy of Motion Picture Arts and Sciences สถาบันผู้ตัดสินรางวัล Oscars ประจำปี. อ่านบทกวีเรื่องมู่หลานแล้วไปชมภาพยนตร์ย่อมได้ประโยชน์เป็นความสุขสนุกสนานเพิ่มขึ้นแน่นอน. สมเกียรติ อ่อนวิมล 21 กันยายน 2563 |
IN THE LIBRARY
Vertical Divider
First published in 1859, this book by Charles Darwin is the book that changed the world. Darwin has proved beyond doubt that "whilst this planet has gone cycling on according to the fixed law of gravity, from so simple a beginning endless forms most beautiful and most wonderful have been, and are being, evolved." Lives on earth have been, and are evolving wonderfully.
▶️ ON THE ORIGIN OF SPECIES |
Vertical Divider
Alexis de Tocqueville เขียน Democracy in America เพื่อให้ชาวฝรั่งเศสอ่านโดยเฉพาะ เพื่อให้สังคมที่ยังพยายามพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในวัยแรกเริ่มหลังการปฏิวัติล้มระบอบกษัตริย์ในฝรั่งเศสได้สำนึกว่าที่อเมริกานั้น การทดลองประชาธิปไตยแบบใหม่ที่ได้ไปพบเห็นมาในปี 1831-1832 นั้นล้ำหน้ากว่าฝรั่งเศสและยุโรปมากมายและน่าทึ่งยิ่งนัก กาลผ่านไป 188 ปี ถึงปี 2020 หนังสือเล่มนี้ก็ยังเป็นงานเขียนที่ถูกอ้างถึงเสมอในสุนทรพจน์ของนักการเมือง.
▶️ DEMOCRACY IN AMERICA |
Vertical Divider
This 1988 classic science writing by Stephen Hawking continues to be among the world's most-popular science book. Hawking shows us how the universe began at the big bang and he does it in language and style that can be easily understood by the general public. Stephen Hawking died in 2018. His legacy and his scientific works live on.
▶️ A BRIEF HISTORY OF TIME |
Vertical Divider
John Muir สร้างงานวรรณกรรมเชิงธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว บ่มเพาะความรักและเคารพสรรพชีวิตในธรรมชาติ The Mountains of California (1894), Our National Parks (1901), My First Summer in the Sierra (1911), The Yosemite (1912), และ The Story of My Boyhood and Youth (1913), Travels in Alaska (1915), A Thousand-Mile Walk to the Gulf (1916), The Cruise of the Corwin (1917), และ Steep Trails (1918
▶️ JOHN MUIR |
Vertical Divider
หนังสือ James Bond 007 เรื่องแรกนี้ Ian Fleming ตั้งชื่อว่า “Casino Royale” เมื่อ Ian Fleming เขียนเสร็จก็ นำต้นฉบับไปให้ William Stephenson ผู้เป็นเจ้านายของเขาในชีวิตจริงได้อ่านดู WIlliam Stephenson บอกกับ Ian Flaming ว่า “เรื่องอย่างนี้ขายไม่ออกหรอก. เรื่องจริงมักจะฟังดูแปลกไม่น่าเชื่อเสมอ...” ซึ่งก็นับว่าเป็นการคาดการณ์ผิดไปอย่างมาก 007 กลายเป็นหนังสือนวนิยายสายลับสงครามเย็นและเป็นภาพยนตร์โด่งดัง ขายดีทั่วโลก.
▶️ CASINO ROYALE |
Vertical Divider
“บุหลันเทวี” เป็นราชินีแห่งจอมโจรอย่างแท้จริง เธอไม่ได้ตั้งใจจะเกิดมาเป็นโจร ไม่เคยคิดจะเป็นโจรมาก่อน พอๆกับที่เธอไม่ได้ตั้งใจจะเกิดมาจน และไม่เคยคิดจะอยากเป็นคนจนมาก่อน แต่ชะตากรรมครั้งเยาว์วัยได้พลิกผันชีวิต “บุหลันเทวี” ให้กลายมาเป็น “ราชินีจอมโจร” เป็นขวัญใจประชาชน เป็นตัวอย่างของการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีแห่งอินเดีย และเป็นแบบอย่างสำหรับการต่อสู้ของสตรีชาวเอเชียทั้งทวีป เป็นกรณีศึกษาของขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีทั่วโลก
▶️ PHOOLAN DEVI |
|
|