ในบริบท ของ สมเกียรติ อ่อนวิมล IN CONTEXT of Somkiat Onwimon WK008/2024 [3] Soft Power - 2: บทที่หนึ่ง - ธรรมชาติแห่งความเปลี่ยนแปรของอำนาจ (Chapter One - The Changing Nature of Power)
ศาสตราจารย์ Joseph S. Nye, Jr., อดีตคณบดี The Kennedy School of Government ลงมือเขียนเรื่อง “Soft Power: The Means to Success in World Politics (“อำนาจนุ่มนวล: หนทางสู่ความสำเร็จในการเมืองโลก”) เพื่อความเข้าใจที่แจ่มแจ้งชัดเจนเพื่อว่ารัฐบาลอเมริกันของท่านจะได้เข้าใจและนำไปใช้ในนโยบายต่างประเทศได้อย่างเป็นผลในยามที่อำนาจแข็งโดยอาวุธและพลังเศรษฐกิจเริ่มบ่งชี้ว่าใช้ไม่ได้ผลตามที่เคยใช้ได้มาก่อนหนังสือเล่มนี้คือต้นกำเนิดหรือแม่บทของเรื่อง Soft Power แต่ถ้าจะมีผู้อื่นรัฐบาลประเทศอื่นๆนำความคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ก็ถือเป็นวิวัฒนาการของความคิดหรือ “ทฤษฎี” ว่าด้วย Soft Power อันเป็นสากลแล้วก็ย่อมใช้ได้เป็นสากลตามๆกันไปถือว่าหนังสือเล่มนี้คือตำราต้นฉบับเรื่อง Soft Power ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2004 ผ่านมาถึงปี 2024 ได้ 20 ปีพอดี
ในบทที่หนึ่งเป็นการวางพื้นฐานเบื้องต้นของความคิดรวบยอดหรือ “basic concepts” เรื่อง Soft Power เริ่มจากการอธิบายคำนิยามตามด้วยการยกตัวอย่างหลากหลายข้อมูลจากงานสำรวจงานวิจัยเชิงประวัติศาสตร์แล้วศึกษาผลกระทบและข้อจำกัดของ Soft Power ในหลากหลายทิศทางที่ท่านไม่เคยเขียนอย่างละอียดลึกซึ้งเช่นนี้มาก่อนแถมด้วยเรื่องที่ท่านวิเคราะห์เกี่ยวกับบริบทแห่งอำนาจในการเมืองโลกที่เปลี่ยนไปแล้วอธิบายว่าทำไม Soft Power ในโลกปัจจุบันจึงมีความสำคัญกว่าในอดีตมากบทที่หนึ่งนี้เป็นบทสำคัญใช้อธิบายได้ในบริบทกว้างเป็นสากลหรือจะเรียกว่า “บริบทโลก” ก็ได้ บทที่สองอธิบายเรื่องแหล่งที่มาของ Soft Power ของสหรัฐอเมริกาหรือจะเรียกว่า Soft Power ในบริบทอเมริกาก็ได้เป็นเรื่อง Soft Power ของอเมริกาในด้านวัฒนธรรม, ค่านิยมในชาติ, และเรื่องนโยบายของประเทศและเรื่องรูปแบบและเนื้อหาของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา บทที่สามชี้ว่าเนื่องจากสหรัฐอเมริกามิได้เป็นชาติเดียวที่มี Soft Power ชาติอื่นๆในโลกก็มี Soft Power ในทำนองเดียวกันบทที่สามนี้สำรวจดู Soft Power ในประเทศต่างๆทั้งระดับรัฐและในภาคประชาชนและองค์กรที่มิใช่รัฐ (nonstate actors) บทที่สี่ตรวจดูปัญหาในภาคปฏิบัติอันเกิดจากการใช้ Soft Power ผ่านนโยบายเชิงการทูตสาธารณะ (public diplomacy) บทที่ห้าบทสุดท้ายสรุปเรื่อง Soft Power ในบริบทของสหรัฐอเมริกาว่ามีความหมายอย่างไรต่อสหรัฐอเมริกาหลังสงครามกับอิรัก
ศาสตราจารย์ Joseph S. Nye, Jr. สรุปท้ายบทนำของหนังสือนี้ว่า: “ชาวอมเริกัน -และชนชาติอื่นๆ- กำลังเผชิญหน้ากับภาวะท้าทายที่ไม่เหมือนที่เคยคุ้นแต่เก่าก่อนมันเป็นการท้าทายจากด้านมืดของโลกาภิวัตน์และการทำสงครามแบบจ้างเอกชนรบแทนหรือร่วมรบเป็นสงครามที่ร่วมรบด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆนี่คือเป้าเล็งของยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศเช่นเดียวกับความท้าทายในยุคสงครามเย็นสงครามหรือการสู้รบในยุคปัจจุบันที่มาจากการก่อการร้ายรูปแบบต่างๆนี้จะไม่สามารถจัดการให้สงบลงได้ในเวลาอันรวดเร็วและอำนาจทางการทหารก็ยังมีบทบาทสำคัญแต่ว่ารัฐบาลอเมริกันใช้จ่ายเงินงบประมาณทางด้านอำนาจแข็ง (คืออำนาจการทหารและเศรษฐกิจ-ส.อ.) มากกว่างบประมาณด้าน soft Power ถึง 400 เท่าก็เช่นเดียวกับสงครามเย็นสงครามในยุคปัจจุบันจะพึ่งอำนาจอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างเดียวไม่ได้แล้วด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่คนอเมริกัน-และคนชาติอื่นๆ-ควรจะเข้าใจเรื่อง Soft Power และนำไปใช้ให้ถูกต้องและสัมฤทธิ์ผล ‘Smart Power’ หรือ ‘อำนาจฉลาด’ นั้นไม่เป็นอำนาจแข็งหรืออ่อนนุ่มอย่างหนึ่งอย่างใดแต่ ‘Smart Power’ หรือ ‘อำนาจฉลาด’ เป็นทั้งสองอย่างเลยทั้งแข็งและนุ่มนวล”
มาถึงตอนนี้ก็เห็นชัดแล้วว่า Soft Power เกิดจากการศึกษาปัญหานโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯที่ผันแปรไปจากช่วงสงครามโลกอันร้อนระอุผ่านสงครามเย็นที่แบ่งข้างแบ่งขั้วกลุ่มความคิดเศรษฐกิจและอุดมการณ์มาสู่ยุคสงครามการก่อการร้ายแทรกเสริมด้วยแสนยานุภาพทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ Soft Power เป็นปัญหาของนโยบายต่างประเทศของอเมริกาเมื่อ 20 ปีที่แล้วเท่านั้นกาลผ่านไปประเทศอื่นๆก็สนใจจะใช้ Soft Power ที่คิดแบบอเมริกันมาใช้แก้ปัญหาในบริบทของตนเองบ้างเช่นบริบทไทยหรือบริบทแบบไทยๆ! ก่อนจะไปวิพากษ์บริบทไทยจำเป็นต้องเข้าใจบริบทแบบแผนดั้งเดิมคือ Soft Power บริบทอเมริกันเสียก่อน ดังนั้นบทที่หนึ่งของหนังสือเล่มนี้จึงสำคัญมากสำหรับรัฐบาลประเทศใดก็ตามที่อยากจะตรวจสอบหรือลองทำและใช้นโยบาย Soft Power ในบริบทของประเทศของตนเองบ้าง
ในบทที่หนึ่งเป็นการวางพื้นฐานเบื้องต้นของความคิดรวบยอดหรือ “basic concepts” เรื่อง Soft Power อันเป็นผลสะท้อนจากธรรมชาติของอำนาจที่แปรเปลี่ยนไป:
“กว่า 400 ปีมาแล้ว”, ศาสตราจารย์ Joseph Nye, Jr. เริ่มสาธยาย, “Niccolo Machiavelli แนะนำบรรดาเหล่ากษัตริย์และเจ้าชายทั้งหลายในอิตาลีว่าหลักสำคัญในการปกครองนั้นคือการทำให้คนกลัวมากกว่าที่จะทำให้คนรักแต่ว่าในโลกปัจจุบันถ้าทำได้ทั้งสองแบบจะดีที่สุดทั้งให้กลัวและให้รักการเอาชนะหัวใจและจิตใจนั้นสำคัญยิ่งและยิ่งในยุคข้อมูลข่าวสารนี้ด้วยแล้วก็ยิ่งสำคัญยิ่งๆขึ้นไปอีกมากข้อมูลข่าวสารคืออำนาจการกระจายข้อมูลข่าวสารในโลกทุกวันนี้ทำได้อย่างกว้างไพศาลยิ่งกว่ายุคใดๆในประวัติศาสตร์แต่ทว่าผู้นำทางการเมืองทั้งหลายกลับใช้เวลาน้อยมากที่จะคิดถึงเรื่องที่ว่าธรรมชาติแห่งอำนาจนั้นมันเปลี่ยนแปลงผันแปรไปมากแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่ว่าจะผสานรวมมิติด้านนุ่มนวลแห่งอำนาจเข้าไ้ว้ด้วยกันในยุทธศาสตร์การใช้อำนาจของรัฐเข้าด้วยกันอย่างไร?”
What is Power? แล้ว “อำนาจ” ที่ว่านี้เราจะนิยามว่าอย่างไร?
Prof. Joseph Nye อธิบายต่อ: “อำนาจนั้นคล้ายกับสภาวะลมฟ้าอากาศทุกคนต้องพึ่งพาและขึ้นอยู่กับสภาวะลมฟ้าอากาศชอบพูดถึงกันเป็นประจำแต่ที่จะมีความเข้าใจก็ไม่กี่คนเวลาที่เกษตรกรและนักอุตุนิยมวิทยาพยายามจะพยากรณ์อากาศนั้นผู้นำทางการเมืองและนักวิเคราะห์การเมืองก็พยายามอธิบายและคาดการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจต่างๆในทางการเมืองด้วยเช่นกันอำนาจก็เหมือนความรักที่ว่าเป็นเรื่องง่ายที่จะได้สัมผัสประสบการณ์ง่ายกว่าที่จะนิยามและวัดค่าทั้งๆที่ความรักที่ว่านั้นมันมีอยู่จริงๆพจนานุกรมอธิบายว่า power หรืออำนาจคือขีดความสามารถที่จะกระทำการใดๆในความหมายทั่วๆไปอำนาจคือความสามารถที่จะทำให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่เราต้องการพจนานุกรมยังบอกเราอีกด้วยว่าอำนาจหมายถึงการที่เรามีขีดความสามารถที่จะสร้างผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้อื่นทำให้ผู้อื่นกระทำสิ่งต่างๆตามที่เราประสงค์ได้ความหมายเฉพาะเจาะจงคืออำนาจคือความสามารถที่จะส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้อื่นทำให้ผู้นั้นกระทำให้เกิดผลตามที่เราต้องการแต่มันก็มีหลายหนทางในการที่จะทำให้เกิดผลดังว่านั้นโดยท่านอาจจะใช้วิธีบังคับขู่เข็ญหรือวิธีหลอกล่อด้วยเงินทองสินจ้างรางวัลหรืออาจใช้วิธีสร้างแรงดึงดูดใจให้เกิดพลังรักพลังชอบที่จะทำตามที่ท่านต้องการได้โดยไม่ต้องบังคับหลอกล่อ”
นั่นคือนิยามของคำว่า “power” หรือ “อำนาจ” ที่ศาสตราจารย์ Joseph Nye อธิบายดังอ้างอิงมาท่านยกตัวอย่างว่าทำไม Bin Laden หัวหน้ากลุ่มก่อการร้ายมุสลิมจึงมีคนสนับสนุนและร่วมรบโดยวิธีก่อการร้ายด้วยนั่นไม่ใช่เพราะค่าจ้างหรือค่าตอบแทนใดๆหากแต่เป็นเพราะความคิดของเขาที่เป็นที่นิยมเลื่อมใสในหมู่อาสาสมัครร่วมรบและก่อการร้ายด้วยท่านบอกว่า “เรื่องแบบนี้บางทีก็ซับซ้อนเกินความเข้าใจของนักการเมือง”
“การมีขีดความสามารถและการเป็นผู้ครอบครองทรัพยากรหรือเครื่องมือในการสร้างอิทธิผลทำให้เกิดผลตามต้องการดังนั้นผู้นำทางการเมืองเหล่านั้นจึงมักคิดว่าประเทศของตนเป็นประเทศมีอำนาจเพราะมีประชากรมากมีพื้นที่กว้างใหญ่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมหาศาลมีพลังเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมีอำนาจการทหารและมีสังคมที่มั่นคงคุณลักษณะเด่นของนิยามเรื่องอำนาจแบบที่สองนี้คือรูปธรรมที่ชัดเจนวัดปริมาณได้คาดการณ์หวังผลได้แต่นิยามอำนาจเช่นนี้ก็มีปัญหาเพราะเวลาที่เรานิยามอำนาจให้เท่ากับทรัพยากรที่เป็นที่มาของอำนาจบางทีก็จะเจอหลุมพรางหรือกับดักว่าใครก็ตามที่เพียบพร้อมล้อมรอบด้วยพลังอำนาจแบบนี้อาจจะไม่ได้ผลตามที่คาดหวังก็เป็นได้ “ทรัพยากรอันเป็นที่มาของขุมพลังแห่งอำนาจนั้นไม่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ง่ายๆเหมือนแลกเปลี่ยนเงินตราใช้ในบางที่อาจจะชนะแต่บางที่ใช้อำนาจแบบเดียวกันก็ไม่ชนะไพ่ที่ชนะในเกม Poker เอาไปเล่นไพ่ Bridge ก็ไม่ชนะแม้ในเกม Poker เกมเดียวกันเล่นไม่ถูกมือหรือเล่นไม่ดีทั้งๆที่มือเหนือกว่าก็แพ้ได้อีกเช่นกันการมีทรัพยากรเป็นขุมพลังอำนาจไม่ใช่หลักประกันว่าท่านจะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการเสมอไปยกตัวอย่างสงครามเวียดนามสหรัฐอเมริกามีทรัพยากรมากมายมหาศาลเหนือเวียดนามแต่ก็ยังแพ้สงครามกับเวียดนามต่อมาในปี 2001 เวลาที่อเมริกามีฐานะเป็นอภิมหาอำนาจในโลกแต่เพียงผู้เดียวแต่อเมริกาก็ล้มเหลวในอันที่จะป้องกันเหตุร้าย 11 กันยายนหรือ 9/11 ได้” Joseph Nye อธิบายว่า: “การเปลี่ยนทรัพยากรไปเป็นอำนาจเพื่อให้ได้สิ่งที่ประสงค์นั้นจำต้องใช้การวางแผนออกแบบยุทธศาสตร์และการมีผู้นำที่มีทักษะและความสามารถมีบ่อยที่ยุทธศาสตร์ไม่ดีพอและผู้นำตัดสินใจผิดพลาดดูการใช้อำนาจของเยอรมนีและญี่ปุ่นปี 1941 (ที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง-ส.อ.) ก็ได้หรือจะดูที่ยุทธศาสตร์ของ Saddam Husein ในอิรักปี 1990 ก็ได้ก่อนที่จะเริ่มเล่นเกมอะไรกันเราก็ควรประเมินสถานการณ์ก่อนให้ชัดแจ้งควรรู้ว่าใครถือไพ่เหนือกว่าใครและสำคัญไม่แพ้กันคือเราต้องรู้ว่าเรากำลังเล่นเกมอะไรกันอยู่ทรัพยากรอะไรแบบไหนที่จะเป็นฐานแห่งพฤติกรรมการใช้อำนาจที่ดีที่สุดในบริบทหนึ่งบริบทใดโดยเฉพาะ? (‘Which resources provide the best basis for power behavior in a particular context?’)”
Joseph Nye กล่าวว่าสหรัฐอเมริกามิใช่จ้าวอาณาจักรบนโลกนี้อีกต่อไปแม้จะมีอำนาจการทหารและเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลกก็ตามแต่ท่านก็ยังยืนยันว่าอเมริกายังเป็นอภิมหาอำนาจที่สำคัญที่สุดในโลกและมิได้อยู่ในช่วงอำนาจตกต่ำลดถอยหรือ “ขาลง” เพียงแต่ว่าอเมริกาจะต้องตามการเปลี่ยนแปลงของอำนาจในโลกให้ทันต้องให้รู้ว่าอำนาจนุ่มนวลเชิงวัฒนธรรมนโยบายต่างประเทศและค่านิยมประชาธิปไตยเสรีของสังคมอเมริกันนั้นคือมิติที่สามแห่งอำนาจ
เรียกว่า “Soft Power” หรือพลังอำนาจอันนุ่มนวล
จะเห็นว่าเรื่อง “อำนาจ” ไม่ว่าอำนาจแข็งหรืออำนาจนุ่มนวล - ไม่ว่าจะเป็น Hard Power หรือ Soft Power โดยหลักการพื้นฐานแล้วเป็นเรื่องของนโยบายต่างประเทศวัฒนธรรมและค่านิยมในสังคมที่จะจูงใจให้พลเมืองและรัฐบาลประเทศชาติอื่นพึงพอใจผันตัวเข้าเป็นมิตรแท้และถาวรกับสหรัฐอเมริกาในที่สุด
Soft Power เป็นเรื่องที่เกิดจากการค้นหาทางแก้ปัญหานโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาเองจนความคิดนี้กลายเป็นความคิดที่รัฐบาลชาติอื่นๆนำไปใช้กับนโยบายต่างประเทศของตนเอง
ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายต่างประเทศเฉพาะเจาะจงในเรื่อง Soft Power แต่ที่ได้ข่าวและพบเห็นมีกิจกรรมของรัฐบาลไทยในปัจจุบันนี้ไม่ใช่นโยบายต่างประเทศแต่เป็นการคิดสั่งการให้ทำกิจกรรมบางอย่างที่เข้าใจว่าเป็นฐานทรัพยากรอันเป็นที่มาแห่งอำนาจนุ่มนวลหรือ Soft Power ที่แท้จริง การที่รัฐบาลไทยเพียงแค่มีการสั่งการให้ทำกิจกรรมที่บอกว่าเป็นเรื่อง Soft Power สั่งให้มีกรรมการสั่งตั้งประธานกรรมการแล้วกรรมการสั่งให้ทำกิจกรรมบางอย่างที่สั่งให้รับรู้ว่าเป็น Soft Power เหล่านี้เป็นการใช้อำนาจสั่งการเป็นอำนาจ “แข็ง” หรือ “Hard Power” ทั้งสิ้นเพราะไม่มีการจูงใจหรือดึงดูดใจโดยไม่ต้องใช้เงินบังคับให้คิดทำโดยความสมัครใจรักใจชอบแต่อย่างใด
เริ่มต้น Soft Power ก็ใช้ Hard Power แล้ว!
ในบริบทสัปดาห์ที่ 9/2024 สัปดาห์หน้า เรื่อง Soft Power ตอนที่ 3 ตอนต่อไปจะเป็นเรื่อง
1. Soft Power คืออะไร? 2. ทรัพยากรอันเป็นฐานพลังของ Soft Power คืออะไรมาจากไหน? 3. Soft Power มีข้อจำกัดอะไรบ้าง
จากหนังสือ “Soft Power: The Means to Success in World Politics” (“อำนาจนุ่มนวล: หนทางสู่ความสำเร็จในการเมืองโลก”) โดย Prof. Joseph S. Nye, Jr.