Love Toni Morrison ตามประเพณีของชาวคริสต์ มักจะรำลึกถึงวันสละชีวิตของนักบุญ St. Valentine เป็นวันแห่งความรัก โดยถือเอาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นวัน St. Valentine’s Day คนไทย ซึ่งส่วนใหญ่มิได้นับถือศาสนาคริสต์ กลับนับถือวัน Valentine กันยิ่งกว่าฝรั่ง โดยนับถือ St. Valentine กันทั้งเดือน ความรักอาจไม่มีพรมแดนทางศาสนา และเชื้อชาติเผ่าพันธุ์. เช้าวันนี้ ขอแนะนำ “Love” โดย Toni Morrison นักเขียนสตรีผิวดำชาวอเมริกัน อาจารย์ Princeton University รางวัล Nobel สาขาวรรณกรรม ปี 1993 The Bluest Eye (1970), Song of Solomon (1977), Beloved (1987) เป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรมประเภทนวนิยายที่สร้างชื่อเสียงให้กับ Toni Morrison จนได้รับรางวัล Nobel สาขาวรรณกรรมในปี ค.ศ. 1993 จากนั้นงานเขียนก็มิได้หยุดยั้ง: Paradise (1997), Love (2003) เมื่อสองปีเศษที่ผ่านมา Toni Morrison ได้รับคำชื่นชมยกย่องจากนักวิจารณ์อเมริกันเสมอมาทั้งงานเขียนในอดีต และปัจจุบัน เพราะเธอเป็นคนอเมริกัน เป็นคนผิวดำที่สังคมอเมริกันเลิกเรียกว่า Negro แล้ว แต่ใช้คำว่า African American หรือ อเมริกันเชื้อสายแอฟริกันแทน แต่กระนั้นก็ตามก็ยังคงเรียกกันสั้นๆว่า “Black” หรือ “คนดำ” ต่อไป งานของ Toni Morrison ส่วนใหญ่จึงผูกพันกับเรื่องราวชีวิตของคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา เรื่อง “Love” นี้ก็เช่นกัน เป็นเรื่องของครอบครัวคนผิวดำในรัฐ Georgia ที่มีความรัก ความชัง ความอิจฉาริษยา ของคนรอบรอบตัว Bill Cosey เจ้าของ Cosey’s Hotel & Resort ผู้ใจกว้าง มั่งคั่ง หว่านเงินและความเมตตาสร้างทั้งความรัก หวังทั้งความใคร่ ทิ้งปัญหาไว้มากมายหลังสิ้นชีวิต ทำให้ Heed ภรรยาหม้าย, Christine ผู้เป็นหลานสาวซึ่งเป็นเพื่อนของภรรยา อีกทั้งลูกสะใภ้จากลูกชายของภรรยาคนแรก, และ “L” - แม่ครัว และใครต่อใครอีกหลายคนต้องวุ่นวายไม่รู้จบกับความรัก ความไม่รัก โดยเฉพาะความโลภ ที่หลอกตัวเองว่าเป็นความรัก “Love” ไม่ใช่นวนิยายรักหวานซึ้งที่ควรอ่านในวันแห่งความรักเลย เพราะไม่มีเรื่องรักหวานซึ้งแบบ “Love Story” ของ Eric Segal ที่เราท่องจนขึ้นใจเมื่อ 40 ปีที่แล้วว่า “Love means never having to say you are sorry” “ความรัก หมายความว่าจะไม่มีวันที่จะต้องพูดว่าเสียใจ” ใน “Love” ของ Toni Morrison ไม่มีคำนิยามความรักที่คมคายหวานซึ้งที่ไหนเลย อันที่จริง “Love” สำหรับ Toni Morrison นั้น มีจุดประสงค์ในการเขียนเพื่ออย่างอื่นมากกว่า เพราะชีวิตของ Bill Cosey มี “lust” มากกว่า “love” เป็นเรื่องตัณหา-ราคะของ Bill Cosey เศรษฐีผิวดำเจ้าของ Cosey’s Hotel & Resort “The Best Good Time” สถานบันเทิงเริงใน อันเป็นที่ซึ่งคนดำจะมาหาความสุข และใช้เวลาที่ดีที่สุดในชีวิต Toni Morrison เป็นนักวิชาการ สอนวิชามานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัย Princeton งานเขียนของเธอจึงเป็นการวิเคราะห์ความเป็นมนุษย์ของชาวอเมริกันผิวดำร่วมสังคมกับเธอ ⤴︎ |
และที่เด่นที่สุด และทำให้อ่านยากที่สุดคือการใช้ภาษาอังกฤษเล่าเรื่องราวชีวิตทั้งหมดอย่างสมกับที่วงการวรรณกรรมยกย่องว่าเธอคือผู้เจริญรอยตาม William Faulkner นักประพันธ์อเมริกันชาวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้รับรางวัล Nobel (1950) 43 ปีก่อนหน้าเธอ
“Love” เป็นแบบอย่างของนวนิยายที่ใช้ใช้ภาษาเพื่ออธิบายวิถีชีวิตและความเป็นไปในวัฒนธรรมได้อย่างดี ตัวอย่างตอนหนึ่ง บรรยายชีวิตเด็กหญิงผิวดำว่า: “เด็กผู้หญิงที่ไม่มีแม้ชุดนอน หรือชุดว่ายน้ำ ไม่เคยใช้ช้อนส้อมตักอาหารกิน...นอนก็นอนกับพื้น อาบน้ำก็เพียงวันเสาร์...ทางบ้านเก็บกระดาษหนังสือพิมพ์ไว้ก็มิใช่เอาไว้อ่าน หากแต่เอาไว้เป็นกระดาษชำระ...จะพูดอะไรกับใครให้เต็มประโยคสมบูรณ์ไม่ได้” นี่คือคนจน คนดำในอเมริกา นอกเหนือจากความจนขาดสิ่งจำเป็นพื้นฐานในชีวิตแล้ว ความไม่มีวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะการไม่รู้จักพัฒนาการใช้ภาษาให้สมบูรณ์เป็นสัญลักษณ์ของ ความต่ำต้อยด้อยที่สุดในสังคม ความจนเชิงวัฒนธรรมนี่เองที่ไม่สามารถยกระดับคนผิวดำให้สูงได้ แม้กระทั่ง Bill Cosey ผู้ร่ำรวยทรัพย์สินเงินทอง เกินกว่าคนดำทั่วไป ก็ต่ำต้อยเชิงวัฒนธรรม มีตันหาราคะ มากกว่าความรัก “Love” ของ Toni Morrison เตือนเด็กสาวผิวดำคนรุ่นใหม่แต่งตัวเปิดเผยยั่วกามกิเลสเยี่ยงโสเภณีสมัยก่อน ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความต่ำค่าทางวัฒนธรรมของกุลสตรี แต่บทพรรณนาเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ปรากฏอยู่หลายแห่ง Toni Morrison ก็ทำได้รัดกุม สุนทรี “Love” ประชดคนรุ่นใหม่ที่ทำลายภาษา พูดจาไม่เป็นประโยค ไม่เป็นภาษาที่ควรจะสื่ออะไรได้ คำบรรยายในงานพิธีรับรางวัล Nobel เมื่อปี 1993 เธอกว่าว่า “เมื่อภาษาตายไป เพราะความไม่ระมัดระวัง การไม่ใช้ การไร้ความภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของภาษา การไม่แยแสต่อภาษา...ผู้ใช้และผู้สร้างภาษาทุกคนต้องรับผิดชอบต่อการตายของภาษานั้น...พวกผู้นำรัฐ ที่ไร้เดียงสา และพ่อค้าผู้มั่งคั่งทรงอำนาจคือพวกที่มักจะเป็นผู้ทำลายภาษาเสมอ เพราะใช้ภาษาประเภทสั่งงานกับคนที่ยอมรับคำสั่ง หรือบังคับให้ยอม ทำให้พวกคนรวยทรงอำนาจเหล่านั้นปิดกันตัวเองจนหมดทางใช้ภาษาที่จะแสดงสัญชาติญาณแห่งความเป็นมนุษย์ของตนเอง” นักการเมืองผู้มีอำนาจ พ่อค้าผู้มั่งคั่ง นักวิชาการ เด็กรุ่นใหม่ที่เลื่อนไหลไปตามแฟชั่นการแต่งตัวแบบเปิดเผยเนื้อหนังและร่างกาย ล้วนแล้วแต่ร่วมกันทำลายภาษาทั้งสิ้น นั่นคือสังคมอเมริกัน ไม่ว่าจะจน หรือรวย ดำหรือขาว เพียงแต่ว่าคนผิวดำนอกเหนือจะไม่พัฒนาการใช้ภาษาของตนเองแล้ว และนอกเหนือจากจะช่วยฆ่าภาษาอังกฤษด้วยแล้ว ยังฆ่าโอกาสที่จะสร้างตัวให้ทัดเทียมคนผิวขาวในสังคมอย่างไม่มีทางฟื้น “Love” โดย Toni Morrison เป็นความรักเชิงวัฒนธรรมที่ Toni Morrison เขียนไว้อย่างงดงาม สมเกียรติ อ่อนวิมล 14 กุมภาพันธ์ 2560 __________________ อ่านเพิ่มเติม The Pioneering Books of Toni Morrison by Beth Carswell |