King Bhumibol Adulyadej of Thailand
|
ในหนังสือ ชื่อ “ตามรอยพระยุคลบาทสู่เศรษฐกิจพอเพียง” พิมพ์เป็นราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 สรุปว่า:
“เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ” “เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนา และการบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆมาใช้ในการวางแผนการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรมความซื่อสัตย์ สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความ รอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้าน วัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี” เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญา อันเป็นแนวคิดที่ใช้ได้กับทุกคน ทุกสาขาอาชีพ ทุกระดับฐานะทางเศรษฐกิจ เป็นแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจของไทยให้มั่นคงยั่งยืนเศรษฐกิจพอเพียงทำให้ทุกคนรู้จุดพอเพียงของตน ณ จุดนี้เองที่ทำให้ชีวิตตนและครอบครัวเป็นสุข สังคมสงบร่มเย็น เอื้ออาทรต่อกัน เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่เริ่มตั้งแต่ครั้งพุทธกาล สร้างความสุขสมบูรณ์อย่างยั่งยืนให้กับชาวตะวันออกในอดีต ศึกษาและขยายความเข้าใจต่อมาโดยชาวตะวันตก และวิวัฒนาการความคิดใหม่อย่างเป็นระบบในภาคปฏิบัติโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดชแห่งราชอาณาจักรไทย วิวัฒนาการเศรษฐกิจโลก ชีวิตเศรษฐกิจของมนุษย์ กำเนิด ขึ้นพร้อมกับแรกเริ่มกำเนิดชีวิต วิวัฒนาการ ผ่านการทดลอง ปรับแปรรูปแบบกิจกรรม กลายมาเป็นวิถีชีวิตเศรษฐกิจที่แตกต่างหลากหลาย อยู่มาวันหนึ่งในปี 2517 หลังวิกฤติการเมืองและสังคมครั้งประวัติศาสตร์ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรีก็ทรงมีพระราชดำรัสต่อพสกนิกรของพระองค์ว่า การดำเนินชีวิตเศรษฐกิจของพสกนิกรของพระองค์นั้นต้อง “สร้างพื้นฐาน” ให้ “ถูกต้องตามหลักวิชา” ต้องสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจในราชอาณาจักรของพระองค์โดยยึดหลัก “ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน” ความคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดชมหาราชนั้น เสมือนสังคมในจินตนาการของมนุษย์โบราณกาล แรกเริ่ม ครั้งมนุษย์กำเนิดมาบนโลก มนุษย์ ดำรงชีวิตร่วมกับผลผลิตในธรรมชาติ แม้จะมีอย่างอุดมสมบูรณ์ แต่มนุษย์ก็ใช้กิน ใช้อยู่ เท่าที่จำเป็น จำเป็นเท่าใด ก็พอเท่านั้น Plato นักปราชญ์ชาวกรีซเล่าไว้เมื่อ 2400 ปีที่แล้วว่าในอดีตกาลนานก่อนที่มนุษย์จะรู้จักการบันทึกประวัติศาสตร์ได้ เล่ากันว่ามีดินแดนแห่งหนึ่งเรียกว่า Atlantis เจริญรุ่งเรื่องมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ ชีวิตการเมืองมั่นคง ชีวิตเศรษฐกิจมั่งคั่ง ชีวิตสังคมสงบสุข บริบูรณ์ อยู่มาวันหนึ่ง Atlantis ก็ระเบิด พินาศ สลายล่ม จมลงสู่ พื้นมหาสมุทร มนุษยชาติจึงเริ่มต้นชีวิตกันใหม่ นาน หลังจากนั้น อารยะธรรมตะวันตก ก็ได้ บันทึกประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ตามแนวประวัติศาสตร์ปรัชญาตะวันตกที่ยึดถือมาเป็นแบบแผนประเพณีทางวิชาการ ชาวยุโรป ฝันถึงสังคมบริบูรณ์ที่อยากให้เกิด ณ ที่ใดที่หนึ่ง เรียกเป็นภาษาละติน ว่าUtopia แปลว่า “Nowhere” “ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน” ค.ศ. 1215 Magna Carta กฎบัตรที่ยิ่งใหญ่เสมือนรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอังกฤษประกาศระบบเศรษฐกิจแบบเสรี หยุดการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร และพลเมืองผู้ยากจนทั้งหลาย แนวคิดเศรษฐกิจแบบเสรี นำไปสู่ต้นแบบทฤษฎีเศรษฐกิจแบบทุนนิยม “The Wealth of Nations” เขียนโดย Adam Smith เมื่อปี ค.ศ. 1776 ปัจจุบันยังเป็นตำราพื้นฐานของแนวคิดเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีแม้ในปัจจุบัน ฝ่ายที่คิดแยกแตกต่างออกไปก็ทำนายว่า คนจนในสังคมจะลุกขึ้นต่อสู้กับนายทุนผู้ร่ำรวย ปฏิวัติ สร้างสังคมเศรษฐกิจใหม่ที่เท่าเทียมกันต้องรุนแรงแตกหัก ก่อนชีวิตความเป็นอยู่จะเป็นที่พึงพอใจ มหาตมะ คานธี ผู้ต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษในอินเดียเมื่อเกือบร้อยปีที่แล้ว เสนอแนวทางเศรษฐกิจให้ชาวอินเดียพึ่งตนเอง ไม่พึ่งอังกฤษ โดยผลิตทุกอย่างใช้เอง โดยใช้เท่าที่มี ผลิตเองเท่าที่ทำได้ แต่แนวคิดนี้ก็เป็นเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง หรือที่โลกรู้จักกันดีในคำภาษาอังกฤษว่า “Self-Sufficient Economy” ซึ่งต่างไปจาก “เศรษฐกิจแบบพอเพียง” หรือ “Sufficiency Economy” อันเป็นนิยามศัพท์เศรษฐศาสตร์ใหม่ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แห่งราชอาณาจักรไทย ความพยายามทางเศรษฐกิจของมนุษยชาติ ดำเนินต่อไป แต่มนุษย์ส่วนใหญ่ในโลกปัจจุบันนั้นมุ่งแต่การแสวงหาวัตถุ ต้องการความมั่งคั่ง มากขึ้น เพิ่มขึ้น ดีขึ้น ซับซ้อนขึ้น ยิ่งใหญ่ขึ้น ยิ่งกว่าเดิม มากกว่าเดิม ปรัชญาเศรษฐกิจตะวันตกแสวงหาสิ่งที่ต้องการ เพิ่มเติม ไม่รู้จบ ไม่มีจุดพอเพียง ณ เวลานี้ โลกกำลังอยู่ในยุคเศรษฐกิจแบบวัตถุนิยมเสรี ขยายการผลิตต่อเนื่อง ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่มีขีดจำกัด ไม่มีจุดยุติ ทั้งๆที่โลกมนุษย์มีทรัพยากรให้มนุษย์ใช้อย่างจำกัด และมีจุดอวสาน เร่งพัฒนา เร่งใช้ เร่งทำลาย แม้ว่าผู้ที่เข้มแข็งกว่าจะเจริญมั่งคั่งกว่าก็ตาม แต่ความสุขอันยั่งยืนของมนุษย์ในโลกโดยรวมก็หาได้ยากยิ่ง เศรษฐกิจแบบพอเพียง กับ ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ เศรษฐกิจแบบใดหรือที่จะสู้การค้าการลงทุนอย่างเสรีได้? ทุนแบบไหนหรือจะสู้ทุนที่เป็นเงินตราและวัตถุ และเทคโนโลยีได้? นี่คือคำถามอันท้าทาย ที่เป็นเสมือนคำประกาศความจริงโดยไม่ต้องรอคำตอบ ประเทศไหนๆในโลกก็ยอมสยบให้กับการลงทุนข้ามชาติ เพราะเป็นการสร้างงาน สร้างผลผลิตในประเทศ ทั้งยังช่วยถ่ายทอดวิทยาการก้าวหน้าให้กับประเทศที่ยังไม่ก้าวหน้าได้เร็วทันใจ ชาติไหนๆก็ยอมอยู่ในกรอบของข้อตกลงการค้าเสรีตามกติกาขององค์การการค้าโลกเพราะโลกนี้เป็นโลกที่นำทางโดยประเทศ สังคม ที่ก้าวหน้าและพัฒนาสูงกว่า เรียกว่าเป็นโลกแห่งโลกาภิวัตน์ ทุกอย่างจำต้องปรับเปลี่ยน และ ผันแปรไปตามใครก็ตามที่คุมอำนาจเป็นผู้นำ ทุนนิยมเสรี การค้าเสรี การลงทุนเสรี ข้ามชาติ ข้ามพรมแดน ข้ามแม้กระทั่งขอบเขตอำนาจแห่งรัฐ แล้วปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่แนะนำโดยพระมหากษัตริย์ของไทย จะอยู่ได้อย่างไร? หากอยู่ได้ จะอยู่ตรงไหนของปรัชญาและระบบเศรษฐกิจของโลก Warren Buffett ตอนอายุ 77 ปี ในปี พ.ศ. 2550 ถือเป็นนักลงทุนชาวอเมริกันผู้ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับสองของโลก เขาได้บริจาคเงินงวดแรกเข้ามูลนิธิการกุศล ถึง 3 หมื่นล้านดอลล่าร์ หรือกว่า 1 ล้านล้านบาท ส่วน Bill Gates เจ้าของบริษัท Microsoft ได้ชื่อว่ามหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก ก็สละทรัพย์ส่วนตัวจำนวนมหาศาลพอๆกันเพื่อแก้ปัญหาของมนุษยชาติ Warren Buffett แนะนำพ่อแม่ที่ร่ำรวยทั้งหลายในโลกว่า: “Leave your children enough to do anything but not enough to do nothing” “ทิ้งมรดกให้ลูกๆให้พอเพียงที่จะทำงานอะไรต่อมิไรต่อไปได้ แต่อย่าให้เสียมากเกินไป จนลูกๆไม่ต้อง ทำอะไรอีกเลยในชีวิต” Warren Buffett ผู้บริจาคเงินช่วยชาวโลกผู้ยากจน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็กหลังเดิม ในเมือง Omaha รัฐ Nebraska ที่เขาซื้อมาในราคา $31,500 ดอลลาร์ เมื่อ ตอนอายุ 28 ปี เศรษฐกิจแบบพอเพียง อาจกำลังค่อยๆซึบซาบเข้าเป็นวิถีชีวิตใหม่ในโลกตะวันตกแล้วก็เป็นได้ ในปี พ.ศ. 2550 โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program - UNDP) จัดทำรายงานเรื่องการพัฒนาคนของประเทศไทย ลงความเห็นสนับสนุนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าจะช่วยพัฒนาคนไทยและสังคมเศรษฐกิจไทยไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากคนไทยจะยึดมั่นและปฏิบัติอย่างจริงจังตามแนวคิดของพระองค์ ในเอกสารของ UNDP ย้ำความคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียงว่ามีความสำคัญอย่างแท้จริง: เนื่องจากสังคมไทยส่วนใหญ่เป็นสังคมชนบท มีความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ สภาพแวดล้อมกำลังเสื่อมโทรม สังคมกำลังกำลังสูญเสียรากฐานในท้องถิ่น สังคมกำลังอ่อนแอลงมากในการควบคุมวิถีชีวิตของตนเอง พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และโครงการตัวอย่างต่างๆของพระองค์จะช่วยฟื้นฟู จิตสำนึกของชุม ปลุกชุมชนให้เข้มแข็ง พึ่งตนเองให้ได้ สร้างเกราะป้องกันวิกฤติการณ์ที่มิได้คาดหวัง นำความพอประมาณจากศาสนาพุทธและความพอเพียงจากปรัชญาที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสอน มาต่อสู้กับ เศรษฐกิจแบบวัตถุนิยม ความนิยมซื้อ นิยมใช้ที่ไร้ขอบขีดจำกัด นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเผชิญ หน้าท้ากระแสโลกาภิวัตน์ สู้กันให้ได้ และสู้ได้แน่นอน โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ บอกว่า: (UNDP – 20) “ความคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ยึดความมีเหตุผล ความพอประมาณ การมีความรู้ และการมีคุณธรรม” UNDP เห็นด้วยว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีพื้นฐานส่วนหนึ่งมาจากศาสนาพุทธ แม้จะเชื่อมโยงไม่ ได้ชัดเจนเป็นทางเดียว แต่ ทางสายกลาง ก็เป็นทางที่ศาสนาพุทธเริ่มต้นให้กับแนวคิดแบบพอเหมาะ พอควรและพอเพียง โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติอธิบายแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นสากลยิ่งกว่าจะจำกัดให้เป็นอิทธิพลของพุทธศาสนาแต่เพียงศาสนาเดียว โดยอธิบายว่า: (UNDP – 33) “ปรัชญาพื้นฐานของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และโลก ซึ่งมีอยู่ในทุกศาสนา ไม่อาจกล่าวว่าแนวคิดนี้เกี่ยวข้องกับ ศาสนาหรือวัฒนธรรมใดเป็นการเฉพาะ” ในภาคปฏิบัติ (UNDP – 39 -40-41) เศรษฐกิจพอเพียงประสพผลสำเร็จแล้วในหลายพื้นที่ เช่นเครือข่ายอินแปงใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากการปลูกพืชเศรษฐกิจ มาสู่วนเกษตร ปลูกทุกสิ่งที่กิน กินทุกสิ่งที่ปลูก ใช้ ทุกอย่างที่ผลิต ผลิตทุกอย่างที่ใช้ (UNDP-45) สร้างวิสาหกิจชุมชน สร้างองค์ความรู้ให้ชุมชนเข้มแข็ง ในภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ ตัวอย่างความสำเร็จปรากฏโดดเด่นที่เครือซิเมนต์ไทย ซึ่งประสิทธิภาพในการทำธุรกิจเติบโตควบคู่ไป กับการพัฒนาคุณภาพของคนในองค์กร ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเผชิญหน้าต่อสู้กันได้ กระแสทุน นิยมโลกาภิวัตน์ไม่มีเป้าหมายเอาแพ้เอาชนะ แต่มุ่งผสมกลมกลืนกับโลกาภิวัตน์อย่างพอเหมาะพอควร และ ยั่งยืน เศรษฐกิจพอเพียงคือปรัชญา ใช้ได้กับทุกชีวิต ทุกสังคม ทุกระดับเศรษฐกิจ กำเนิด เติบโต เป็นสมบัติทางความคิดของมนุษยชาติที่วิวัฒนาการมานานหลายพันปี จนเกิดเป็นแนวคิดที่เป็นระบบชัดเจน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราชของปวงชนชาวไทย ผ่านกระบวนการ ทดสอบ ทดลอง จนปัจจุบันกำลังจะหยั่งรากลึกเป็นฐานแห่งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวไทย เพื่อบอกชาวโลกว่า ประเทศไทยนั้นมิได้แสวงหาความยิ่งใหญ่ แต่สงบสุข ราชอาณาจักรไทยนั้น ... เล็ก และ งดงาม ... พอเพียง เพื่อ เพียงพอ. Thaivision 5 ธันวาคม 2557 ---------------------------------------------------------------------------- อ้างอิง:
|