Vertical Divider
A STATEMENT ON
|
Vertical Divider
คำแถลงเรื่อง
|
Vertical Divider
วันที่ 6 สิงหาคม 1945/2488
เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-29 ของสหรัฐอเมริกา มีชื่อเรียกว่า “Enola Gay” ทิ้ง “ระเบิดอะตอม” (Atomic Bomb)* ลงเหนือเมืองฮิโรชิม่าทางใต้ของเกาะฮอนชิวของญี่ปุ่น ระเบิดอะตอมลูกนี้กองทัพอเมริกันตั้งชื่อเล่นว่า “Little Boy” (ไอ้หนูน้อย/เด็กชายตัวน้อย) มีขนาดความยาว 10 ฟุต กว้าง 28 นิ้ว น้ำหนัก 9,000 ปอนด์ ภายในบรรจุแร่ Uranium-235 น้ำหนักประมาณ 60 กิโลกรัม โดยใช้ Uranium-235 หนัก 700 กรัม เป็นตัวจุดระเบิดแตกอะตอม (fission) ของแร่ Uranium ทั้งหมด ระเบิดเป็นอภิมหาพลังแสนยานุภาพความร้อนระอุของกัมมันตรังสีเทียบเท่ากับแรงระบิดของดินระเบิด TNT 12,500 กิโลกรัม บันทึกของนักบินผู้ทิ้งระเบิดระบุว่า: 08:15 น. - ปล่อยระเบิดลง 43 วินาทีต่อมา แสงสว่างเหมือนฟ้าแลบวาบขึ้น เกิดคลื่นสั่นสะเทือนในมวลอากาศ ดันเครื่องบินเอียงไหววูบวาบ เห็นมวลเมฆอะตอมมหึมา 09:00 มองเห็นเมฆแล้ว ณ ระดับความสูง 12,000 เมตร นักบินทิ้งระเบิดลงหนือจุดกลางเมืองฮิโรชิม่า กำหนดให้เกิดการระเบิดกลางอากาศ ณ ระดับ 580 เมตร เหนือพิ้นดินกลางเมือง จุดบนพื้นดินเบื้องล่างตรงกับจุดระเบิดกลางอากาศเบื้องบน เรียกว่า “hypocenter” สามวันถัดมา วันที่ 9 สิงหาคม 1945/2488 เวลา 11:02 น. สหรัฐอเมริกาก็ทิ้งระเบิดอะตอมลูกที่สองทำลายล้างญี่ปุ่น คราวนี้ ณ ระดับความสูง 500 เมตรเหนือเมืองนางาซากิ ทางชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะกิวชิว ระเบิดมีชื่อเล่นว่า “Fat Man” (ไอ้อ้วน) ความยาว 10 ฟุต 8 นิ้ว อ้วนกว้าง 5 ฟุต น้ำหนัก 10,000 ปอนด์ ภายในบรรจุแร่กัมมันตะรังสี Plutonium-239 หนัก 20 กิโลกรัม ถูกแตกอะตอมโดยพลังของ Plutonium-239 หนัก 1.3 กิโลกรัม ส่งแรงระเบิดเท่ากับ TNT 22,000 ตัน *คำว่า “ระเบิดอะตอม” แปลตรงตัวจากคำภาษาอังกฤษว่า “Atomic Bomb” นี้ เรียกในภาษาไทยว่า “ระเบิดปรมาณู” มาจากคำสันสกฤติซึ่งแปลว่าระเบิดของ “สิ่งเล็ก(อณุ/อณู)มาก+อย่างยิ่งยวด(ปรม/บรม-อ่านว่า ปะ-ระ-มะ) ที่เรียกอย่างเข้าใจสะดวกง่ายตรงตัวตามหลักวิชาฟิสิกส์ว่า “ระเบิดอะตอม” นั้นก็เพราะเป็นระเบิดที่เกิดจากกระบวนการแตกตัวของอะตอม (splitting atom) ซึ่งเป็นองค์ประกอบเล็กสุดของสะสาร (matter) ตามที่วิชาฟิสิกส์ค้นพบและจัดการให้แตกระเบิดได้ในช่วงเวลาก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง สะสารที่ใช้เป็นแหล่งพลังงานแตกระเบิดในตอนนั้นคือแร่ที่มีกัมตภาพรังสีร้อนแรง แร่กัมมันตรังสีนั้นหากถูกแตกตัวที่ส่วนประกอบเล็กสุด คืออะตอม จะเกิดการระเบิดเป็นพลังมหาศาลรุนแรงทั้งแรงระเบิด การส่งแรงสะเทือนไปทำลายวัตถุอื่นรอบพื้นที่ระเบิด ทั้งชีวิต อาคารบ้านเรือน ฯลฯ พร้อมด้วยเปลวเพลิงและไอร้อนจากกัมมันตภาพรังสี เผาผลาญทำลายสรรพสิ่ง พร้อมทั้งส่งกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกายมนุษย์และสัตว์ ทำให้เสียชีวิตโดยพลันและเจ็บป่วยล้มตายในระยะยาว แอีกทั้งยังส่งผลต่อกระบวนการทางพันธุกรรมข้ามช่วงชีวิตของมนุษย์ที่เกี่ยวข้อง พลังระเบิดอะตอมรุนแรงกว่าระเบิดจากดินระเบิดแบบ TNT ธรรมดามากมายนัก ระเบิดปรมาณูทั้งสองลูกนับว่าเป็นอาวุธทำลายร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สงครามของมนุษยชาติ จำนวนผู้เสียชีวิตในทั้งสองเมืองทันทีที่โดนระเบิด กับผู้เสียชีวิตในวันเวลาต่อมา - ต่อมาอีกนานหลายปี - ซึ่งเกิดจากอาการบาดเจ็บที่ค่อยๆส่งผลถึงแก่ชีวิต และโรคภัยอันเกิดจากการรับกัมมันตภาพรังสีจากระเบิดปรมาณูอันเป็นอานุภาพของรังสีจากแร่ยูเรเนี่ยมและพลูโตเนียม ทให้ำประชาชนในเมืองฮิโรชิม่าและนางาซากิตอนนั้น ทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวเกาหลีที่กองทัพญี่ปุ่นจับตัวมาบังคับใช้แรงงานในสองเมือง อีกทั้งคนที่เข้ามาในทั้งสองเมืองทีหลัง หลังการระเบิด เพื่อติดตามหาญาติพี่น้อง บุคคลที่รู้จัก หรือเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสพภัยและช่วยฟื้นฟูกู้ชีวิตและซากเมือง ซึ่งอาจจะอยู่นานนับเดือนนับปี ผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินเหล่านี้ยากที่จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงในระยะเวลาศึกษาตรวจสอบระยะสั้น และระยะยาว แม้ปัจจุบันนี้ วัน ณ ปี 2020 เวลาผ่านไป 75 ปี ก็ยังมิอาจตกลงยอมรับข้อมูลตัวเลขและการวิเคราะห์ที่ถูกต้องใกล้เคียงความจริงได้ การศึกษาหาข้อมูลทำโดยทั้งฝ่ายญี่ปุ่น ฝ่ายอเมริกา และองค์ระดับนานาชาติ ต่างก็ให้ผลที่แตกต่างกันไป ตัวเลขผู้ตายที่ได้จากฝ่ายสหรัฐอเมริกาจะต่ำกว่าตัวเลขของญี่ปุ่น
32 ปีหลังเหตุการณ์ การศึกษาก็ยังมิอาจจบสิ้นได้ ปี 1977 จึงมีองค์กรที่มิใช่ของรัฐ (Non Governmental Organization - NGO) ชื่อ International Peace Bureau (IPB-สำนักสันติภาพระหว่างประเทศ) มีสำนักงานกลางอยู่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนผลักดันโดยองค์กรภาคเอกชนจากนานาประเทศ ทำงานเรื่องสันติภาพระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชน และการปลด-ลดอาวุธ จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1910 มีสมาชิกทั่วโลกประมาณ 20 ล้านคน/องค์กร IPB ได้จัดตั้งคณะทำงานประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science Group of Experts) รวม 44 คน จาก 14 ประเทศ ประชุมเริ่มงานหารือกันที่เมืองฮิโรชิม่า ระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม ถึง 3 สิงหาคม ปี 1977 เพื่อศึกษาวิเคราะห์เอกสารข้อมูลมากมายที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น คณะทำงานได้ไปเยิ่ยมประชุมหารือกับสถาบันวิจัย และโรงพยาบาลต่างๆในเมืองฮิโรชิม่าและนางาซากิ สัมภาษณ์แพทย์ เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ และผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณู ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้ความจริงที่ใกล้เคียงความจริงแท้แน่นอนมากที่สุดเกี่ยวกับวินาศภัยจากระเบิดปรมาณูสองลูกแรกที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อทำลายล้างกันเองบนโลก เพราะเส้นทางความขัดแย้งอันจะนำไปสู่สงครามที่รุนแรงกว่าสงครามโลกครั้งที่สอง คือสงครามโลกครั้งที่สาม จะหนักหน่วงรุนแรงร้ายกาจวินาศมากกว่าสงครามระเบิดปรมาณูยิ่งนัก เพราะจะเป็นสงครามนิวเคลียร์ไม่เพียงเฉพาะสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่จะมีอีกหลายประเทศมีระเบิดนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง การทำลายล้างกันเองของประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์จะทำลายล้างกันเองนั้นแน่นอนแต่ประเทศที่เป็นทางผ่านของไอร้อนและอนุภาคของกัมมันตรังสี ที่มาตามลมฟ้าอากาศ ก็จะถูกเผาผลาญทำลายไปด้วย สงครามนิวเคลียร์ในอนาคตอาจจะไม่เหลือชีวิตใด้อยู่บนผิวโลกเลย แม้แต่ดินหินและน้ำก็จะเต็มไปด้วยสารกัมมันตรังสีปิดกั้นกำเนิดชีวิตที่สมประกอบสรีระในอนาคตอันยาวนานนับหมื่นแสนล้านปี การศึกษาทำความเข้าในรอบด้านต่อผลกระทบจากแสนยานุภาพแห่งระเบิดอะตอมที่ฮิโรชิมาและนางาซากิเมื่อปี 1945 จึงเป็นทางหนึ่งที่จะเตรียมพร้อมมนุษย์ให้รู้จักเลือกทางเดินแห่งชีวิตว่าจะไปทางสร้างสรรหรือทำลายล้างตัวมนุษย์เอง. ก่อนการศึกษาข้อมูลของคณะนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติจาก International Peace Bureau ในปี 1977 นั้น มีการศึกษารวบรวมข้อมูลแต่แรกเริ่มหลังวันระเบิดแล้วโดยหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องทันทีหลังการทิ้งระเบิดปรมาณูทั้งสองลูก สหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศผู้ชนะสงครามได้เข้าครอบครองบริหารจัดการประเทศญี่ปุ่นในฐานะผู้แพ้สงคราม รวมทั้งการร่างรัฐธรรมนูญใหม่บังคับให้ญี่ปุ่นใช้ โดยยกเลิกระบอบการปกครองเดิมที่มีองค์พระจักรพรรดิ์เป็นประมุขและผู้นำประเทศ มาเป็นเพียงสัญญลักษณ์ของชาติ แล้วบังคับไม่ให้ญี่ปุ่นมีกองทัพป้องกันประเทศแบบที่ทุกประเทศมีกัน แต่ลดระดับมาเป็นเพียงกองกำลังป้องกันตัวเองขนาดเล็กๆ ตัดโอกาสที่ญี่ปุ่นจะทำสงครามกับชาติใดในโลก การป้องกันประเทศอย่างแท้จริงก็อาศัยกองกำลังป้องกันตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาอาศัยกำลังกองทัพอเมริกันตลอดกาล การครอบครองญี่ปุ่นโดยสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของพลเอก Douglas MacArthur ได้รับการสนับสนุนร่วมมืออย่างเต็มที่จากอังกฤษและเครือจักรภพ และจำต้องให้บทบาทเล็กน้อยแก่สหภาพโซเวียต มีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบและการสูญเสียชีวิตจากระเบิดปรมาณู (The Atomic Bomb Casualty Commission) ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล และเก็บเป็นความลับในระยะแรกๆ ระเบิดปรมาณูถล่มฮิโรชิม่าและนางาซากิ วันที่ 6 และ 9 สิงหาคม 1945 ตามลำดับ ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามวันที่ 15 สิงหาคม 1945 คณะกรรมาธิการ ABCC ส่งทีมล่วงหน้าไปยังฮิโรชิม่าและนางาซากิต้นเดือนกันยายน-หนึ่งเดือน หลังระเบิด ทำหน้าที่ตรวจดูระดับกัมมันตภาพรังสีก่อน จากนั้นเริ่มการศึกษาเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคมถัดมา ส่วนฝ่ายญี่ปุ่นเองก็มีคณะนักวิทยาศาสตร์ศึกษาข้อมูลแยกต่างหาก แต่ก็ถูกสหรัฐอเมริกาบังคับให้ส่งข้อมูลและผลการศึกษาให้ ABCC ด้วย วันที่ 19 กันยายน 1945 กองกำลังยึดครองญี่ปุ่นของพลเอก MacArthur ออกคำสั่งควบคุมสื่อสารมวลชน (Press Code) ตรวจตัดบทความข่าวสารต่างๆเกี่ยวกับระเบิดปรมาณู นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ของญี่ปุ่นพยายามปกปิดซุกซ่อนเอกสารข้อมูลและตัวอย่างชิ้นส่วนเพื่อการศึกษาวิจัยต่างๆอย่างที่ยอมเสี่ยงต่อการถูกจับลงโทษ แต่ในที่สุดก็ถูกจับได้และบังคับเอาข้อมูลต่างๆไปไว้ที่สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้อาจด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการเก็บความลับมิให้ตกถึงมือสหภาพโซเวียตซึ่งกำลังมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนักกับสหรัฐฯทั้งๆที่มีส่วนร่วมในการครอบครองญี่ปุ่นด้วยกันแต่มีบทบาทน้อยกว่า อีกทั้งสหรัฐฯอาจคิดไกลถึงสงครามปรมาณูในอนาคตกับสหภาพโซเวียตที่จะรุนแรงกว่าระเบิดอะตอมหรือระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิด้วยก็ได้ งานวิจัยของญี่ปุ่นถูกจำกัดมากหลังระเบิดจนถึงปี 1952 ปีที่ญี่ปุ่นลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่ San Francisco แต่แม้กระนั้นก็ตามฝ่ายญี่ปุ่นก็มิได้เร่งทวงคืนเอกสารข้อมูลงานศึกษาวิจัยคืนมาจากสหรัฐอเมริกาจนกระทั่งปลายทศวรรษ 1960s รัฐบาลญี่ปุ่นทำหนังสือทวงคืนเป็นทางการเดือนกุมภาพันธ์ 1972 แล้วในที่สุดสหรัฐฯก็ยอมส่งข้อมูลเอกสาร และตัวอย่างชิ้นส่วนทางพยาธิวิทยาคืนให้ในเดือนพฤษภาคม 1973 ที่ส่งคืนมีชิ้นส่วนตัวอย่างทางพยาธิวิทยา บันทึกงานวิจัยชำแหละศพ ฯลฯ และภาพถ่าย (2,000 ภาพ) รวม 20,000 รายการ และไม่มีทางทราบว่าสหรัฐฯแอบกักเก็บเอาไว้โดยไม่บอกญี่ปุ่นอีกกี่รายการ เพราะตอนเอาไปหสรัฐฯก็มิได้มีการบันทึกชัดเจนในรายละเอียด แต่เท่าที่ได้คืนก็นับว่าสถาบันพาธิวิทยาแห่งกองทัพสหรัฐฯ (US Armed Forces Institute of Pathology) ได้เก็บรักษาหลักฐานเอกสารและชิ้นส่วนต่างๆไว้เป็นอย่างดีนานถึง 28 ปี หลังจากนั้นก็แบ่งแยกแจกจ่ายเพื่อการศึกษาวิจัยในองค์กรต่างๆทั่วประเทศญี่ปุ่นจนทุกวันนี้ มาปี 1977 คณะนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติจาก IPB ก็เห็นความสำคัญของข้อมูลเอกสารหลักฐานเหล่านี้จึงจัดการให้ติดตามศึกษาทุกสิ่งอย่างให้ครบถ้วน ⤴︎ |
Vertical Divider
จำนวนผู้เสียชีวิต
เมืองฮิโรชิม่าตั้งอยู่บนพื้นที่ราบสามเหลี่ยม มีเทือกเขาอยู่ทางเหนือและตะวันตก ชายหาดและทะเลอยู่ทางใต้ ความเสียหายเกิดแบบเดียวกันรอบทุกทิศทุกทาง ส่วนเมืองนางาซากินั้นตั้งอยู่บนที่สูงไหล่เขา ความเสียหายเกิดหลากหลายรูปแบบไม่เหมือนกันในแต่ละทิศทาง แต่นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นที่ให้การต่อผู้เชี่ยวชาญนานาชาติสรุปว่าอัตราการเสียชีวิตนับจากจุดศูนย์กลางที่ลงของระเบิดที่เรียกว่า hypocenter (จุดบนพื้นดินใต้การระเบิดที่เกิดกลางอากาศเหนือพื้นดินนั้น) นับจำนวนการเสียขีวิตห่างๆออกไปตามระยะห่างจาก hypocenter จะเท่าๆกันในทั้งสองเมือง ประมาณ 97% ของประชากรที่อยู่ในรัศมี 500 เมตรจาก hypocenter ตอนระเบิดปรมาณูลง จะตายภายในก่อนสิ้นปี 1945 คนที่อยู่ในรัศมี 2 กิโลเมตรจะตายทั้งหมด โดยในจำนวนนี้ 75% ตายใน 24 ชั่วโมง, เกือบ 90% ตายใน10 วัน, 2% ของคนในรัศมี 2-5 กิโลเมตร ตายภายในสิ้นปี 1945 ไม่มีตัวเลขแน่นอนเกี่ยวกับจำนวนประชากรฮิโรชิมาในวันที่ถูกทิ้งระเบิดปรมาณู ที่ว่ามีทหารอยู่ 40,000 คนนั้นก็ไม่แน่นอนว่าจะเป็นจำนวนที่ถูกต้อง ส่วนจำนวนชาวเกาหลีที่ถูกบังคับใช้แรงงานสงครามที่ฮิโรชิม่าก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าเท่าไร โดยรวมที่รับกันได้เป็นตัวเลขคร่าวๆก็น่ามีผู้คนในฮิโรชิม่าทุกประเภทเกี่ยวข้องกับระเบิดปรมาณูวันที่ 6 สิงหาคมราวๆ 350,000 (สามแสนห้าหมื่น)คน ยอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บก็มีการประเมินแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่นตัวเลขขององค์การสหประชาชาติประกาศเมื่อปี 1967 ว่ายอดผู้เสียชีวิตที่ฮิโรชิม่าประมาณ 78,000 คน ตัวเลขของผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ ณ ปลายปี 1945 ให้สูงถึง จาก 130,000 ถึง 140,000 และอาจถึง 150,000 คน แม้ตัวเลขนี้ก็ยังเชื่อกันว่าต่ำไป เพราะยังมีจำนวนผู้สูญหายอีกหลายพันคนตามการทำสัมโนประชากรในปี 1950 จำนวนผู้รอดชีวิตวันแรกๆแต่มาเสียชีวิตในสองสามปีต่อมาก็ไม่มีใครทราบแน่ชัด ในสัปดาห์แรกหลังระเบิดมีประชนจากนอกเขตเข้ามาในเมืองอีกราว 37,000 คน ก็ไม่มีใครทราบชตากรรมอนาคตของคนเหล่านี้เช่นกัน ประชากรในเมืองนางาซากิประมาณว่ามี 280,000 ณ วันที่ถูกระเบิดปรมาณู ตัวเลขผู้เสียชีวิตทันทีวันนั้นและวันต่อๆมาถึงสิ้นปี 1945 ประมาณ 74,000 คน ถือเป็นตัวเลขที่รับกันได้ว่าใกล้เคียงความจริงที่สุด มีคนเกาหลีจำนวนมากในนางาซากิเช่นกัน คาดว่าจะเสียชีวิตไปราวๆ 10,000 คน แม่ว่าจะไม่อาจยืนยันได้ชัดเจนก็ตาม ที่แน่ๆก็คือตัวของสหประชาชาติที่ว่ามีผู้เสียชีวิตในนางาซากิเพียง 27,000 คนนั้นถือว่าผิดเพี้ยนไปจากความจริงมาก หลังสิ้นปี 1945 ไปแล้วตัวเลขผู้เสียชีวิตที่นางาซากิไม่มีใครจะรู้ได้เลย และก็อาจจะไม่มีวันรู้ความจริงได้อีกต่อไป บทความของ Bulletin of the Atomic Scientists เดือนธันวาคม 1977 ประมาณว่าระเบิดปรมาณู Little Boy และ Fat Man ฆ่าผู้คนไปกว่า 250,000 คน เท่ากับ 40% ของจำนวนประชากรทั้งหมดรวมทั้งสองเมือง ล่าสุด สำนักข่าว BBC รายงานวันที่ 2 สิงหาคม 2020 เรื่องผู้รอดชีวิตจากฮิโรชิม่าและนางาซากิ ให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ ฮิโรชิม่า 140,000 คน จากประชากร 350,000 คน และเสียชีวิตที่นางาซากิ 74,000 คน (ไม่บอกจำนวนประชากร) แม้ BBC จะได้รายงานข่าวโดยมิได้อ้างที่มาของข้อมูล แต่ดูแล้วก็ตรงกับตัวเลขของ IPB ตามรายงานของ Bulletin of the Atomic Scientists ฉบับ December 1977 ที่เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงของการเขียนบทความภาษาไทยของ THAIVISION นี้. แผ่นดินลุกเป็นไฟปรมาณู ประชาชนที่เสียชีวิตทันทีส่วนใหญ่ก็ถูกอาคารสิ่งปลูกสร้างถล่มทับ หรือไม่ก็ถูกเผาทั้งเป็นจากเปลวเพลิงและพลังแห่งกัมมันตรังสี ไอร้อนผสมกับพลังระเบิดรวมกันเป็นแสนยานุภาพทำลายล้างอันมหาศาลสุดประมาณ ถ้าไม่มีไฟ คนที่ถูกอาคารถล่มทับอาจหนีรอดชีวิตไปได้โดยเพียงได้รับบาดเจ็บและอาจไม่ถึงตาย แต่ที่ปรากฎจริงๆคือพื้นที่ 13 ตารางกิโลเมตรที่ฮิโรชิม่า และ 6.7 ตารางกิโลเมตรที่นางาซากิ ถูกระเบิดปรมาณูทำลายพินาศราบเรียบลงระนาบพื้นดินแล้วถูกไฟเผาสิ้นเป็นเถ้าถ่าน ที่ขนาดพื้นที่ทำลายต่างกันนั้นก็เป็นเพราะลักษณะของภูมิประทศที่แตกต่างกันระหว่างที่ราบของฮิโรชิม่า กับ ที่สูงเนินเขาของนางาซากิ ประมาณครึ่งหนึ่งของพลังงานที่เกิดจากระเบิดปรมาณูเป็นพลังงานระเบิด (blast) ที่ส่วนรอบนอกหรือด้านหน้าโเป็นเส้นรอบวงวิ่งออกเป็นคลื่นสั่นสะเทืองอย่างรุนแรง เป็นแรงกดดันอากาศสูงสุดขีด กระจายแผ่ออกไปข้างหน้าด้วยความเร็วเท่ากับหรือมากกว่าความเร็วของเสียง วิ่งกระจายออกไปเร็วเกือบ 4 กิโลเมตรต่อ 10 วินาทีหลังระเบิด และประมาณ 11 กิโลเมตรใน 30 วินาทีต่อมาโดยพลัน ขณะที่ยังคงแสนยานุภาพการทำลายอยู่ต่อไป จากนั้นก็ตามมาด้วยลมพายุระดับพายุเฮอร์ริเคน เมื่อคลื่นแรงสั่นสะเทือนแผ่กระจายออกไปรอบนอกแรงดันอากาศส่วนหลังก็ลดลงต่ำกว่าแรงกดดันของชั้นบรรยากาศโลก แล้วอากาศก็กดดันถอยกลับหลัง เกิดคลื่นสั่นสะเทือนแรงมหาศาลความเร็วเหนือเสียง ตามมาติดๆด้วยลมพายุอีกวาบหนึ่ง แล้วลมก็กลับสงบนิ่งอย่างประหลาดถึงใจสั่นอย่างไม่คาดคิดอีกชั่วขณะ แล้วฉับพลันก็เกิดลมพายุพัดสวนกลับทิศทางมาอีก! นี่คือระเบิดจากการแตกอะตอม Uranium-235 ที่ฮิโรชิม่า แรงดันระเบิดสูงสุด ณ ระยะ 2 กิโลเมตรจาก hypocenter เท่ากับประมาณ 3 ตันต่อตารางเมตร อัตราเร่งการเคลื่อนไปข้างหน้า (velocity) ของแรงระเบิดเท่ากับ 70 เมตรต่อวินาที อาคารบ้านเรือนที่ขวางทางถูกทำลายราบเรียบกองลงดินแบบไม่มีทางซ่อมแซมได้ ในรัศมี 1.3 กิโลเมตรจาก hypocenter ผู้คนล้มตายลงอย่างฉับพลันด้วยแรงระเบิด ขนาด 7 ตันต่อตารางเมตร อัตราเร่งการเคลื่อนไปข้างหน้า (velocity) 20 เมตรต่อวินาที ประมาณหนึ่งในสามของพลังงานจากระเบิดปรมาณูเป็นพลังงานความร้อน (thermal energy) ลูกไฟจากการระเบิดของอะตอมเป็นไอร้อนสูงถึงหลายล้าน ℃ ภายในเวลา 1/10,000 วินาที วงแห่งไอร้อนขยายตัวออกกว้างถึง 28 เมตร ณ อุณหภูมิที่ 300,000 ℃ แล้ววงแห่งความร้อนระเบิดนี้จะแผ่กว้างที่สุดถึง 280 เมตร ใน 1 วินาที อุณภูมิพื้นผิวเท่ากับ 5,000 ℃ ใน 2 วินาทีต่อมาอุณหภูมิสูงขึ้นเป็น 1,700 ℃ จากนั้นความร้อนจะค่อยๆลดลงทีละน้อย ณ ระยะ 500 เมตรจาก hypocenter ที่ฮิโรชิม่า การแผ่รังสีความร้อน (thermal radiation) ออกมาใน 3 วินาทีแรก วัดพลังงานได้ 60 แคลอรี่ (calories) ต่อ 1 ตารางเซ็นติเมตร แม้กระทั่ง ณ ระยะ 3 กิโลเมตรจาก hypocenter ก็ยังวัดพลังงานจากรังสีความร้อนได้ถึง 2.6 แคลอรี่ ต่อ 1 ตารางเซ็นติเมตร หรือมากกว่า 40 เท่าของพลังจากรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ พลังรังสีความร้อนจากระเบิดปรมาณูที่นางาซากิเข้มข้นมากเป็นเกือบสองเท่าของที่ฮิโรชิม่า ความเข้มข้นรุนแรงของรังสีความร้อนนั้นมากพอที่จะเผาไหม้ผิวหนังมนุษย์ที่อยู่ห่างออกไปถึง 3.5 กิโลเมตรจาก hypocenter ที่ฮิโรชิม่า และ 4 กิโลเมตรที่นางาซากิ ณ ระยะห่างเท่าที่ว่านี้จะสามารถเผาเสื้อผ้าและแผ่นไม้ได้จนเป็นก้อนถ่าน ผู้คนจำนวนมากที่โดนแรงระเบิดจากรังสีความร้อนในที่โล่งแจ้งระยะ 1.2 กิโลเมตรจาก hypocenter จะถูกเผาไหม้ตายทันที นอกจากแรงระเบิดและรังสีความร้อนแล้วยังมีพายุเพลิงที่เผาผลาญฮิโรชิม่า และ นางาซากิ อย่างไม่ปราณี ที่ฮิโรชิม่าจะรุนแรงกว่ามากเป็นพิเศษ กินเวลานานถึง 6 ชั่วโมง เผาผลาญทุกสิ่งอย่างที่เป็นเชื้อเพลิงเผาลุกไหม้ได้ในรัศมี 2 กิโลเมตรจาก hypocenter เมื่ออนุภาคของเถ้าธุลีละอองจากเพลิงลอยสูงขึ้นกระทบความเย็นในอากาศเบื้องบนก็กลั่นตัวเป็นน้ำฝนผสมกัมมันตรังสีและคราบเหมือนน้ำมัน เรียกกันจนทุกวันนี้ว่า “black rain” หรือ “ฝนดำ” ฮิโรชิม่ามีอาคารประมาณ 76,000 หลังก่อนระเบิดปรมาณูลง หลังระเบิดพบว่า 63% ของอาคารถูกไฟเผาทำลาย, 5% ถูกทำลายโดยแรงระเบิด, และ 24% ถูกทำลายเสียหายรุนแรง ที่นางาซากิ มีอาคารประมาณ 51,000 หลัง, 25% ถูกทำลายพินาศ, อีก 11% เสียหายรุนแรง ความเสียหายจากรังสีไอออน (Ionizing Radiation) 15% ของพลังงานจากระเบิดปรมาณูออกมาเป็นรังสีของไอออน [การแผ่รังสีของอะตอมที่มีประจุไฟฟ้าบวกหรือลบจากปฏิกริยาของอีเลคตรอน (electron) เมื่อมีการจุดระเบิดด้วยการแตกอะตอม (spliting atom)] 1 ใน 3 ของ 15% ที่ว่านี้จะเกิดขึ้นภายใน 1 นาทีหลังระเบิด เรียกว่าการแผ่รังสีขั้นแรก (initial radiation) ที่เหลือจะเป็นการแผ่รังสีที่ตกค้าง (residual radiation) ซึ่งอยู่ในชิ้นส่วนของระเบิดที่แตกกระจายออกมา รวมทั้งกัมมันตภาพรังสีที่แทรกซึมอยู่ในดิน ผนังอาคาร และ สิ่งต่างๆทั่วบริเวณระเบิดไปถึง การแผ่รังสีในส่วนแรกหรือแนวหน้าสุดเรียกว่ารังสีในอากาศ (air dose) ณ จุด hypocenter ที่ฮิโรชิม่า เชื่อว่าอยู่ที่ประมาณ 24,000 rads (หน่วยวัดการซึมซับรังสี เรียกว่า rad/rads) -- 10,000 rads จากรังสี gamma และ 14,000 rads จาก nutron ที่นางาซากิ น่าจะมีค่ารังสีในอากาศ หรือ air dose เท่ากับประมาณ 29,000 rads -- 25,000 rads จากรังสี gamma, 4,000 rads จาก nutrons โดยทั่วไปเชื่อกันว่าประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรจำนวนมากที่ได้รับรังสีในอากาศแบบ air dose เข้าทั่วร่างกายราวๆ 400 rads จะตายในที่สุด คนที่ได้รับ 700 rads หรือมากกว่าจะตายในระยะเวลาอันสั้น คนที่รับรังสีทางอากาศในรัศมี 1 กิโลเมตร ที่ฮิโรชิมา และ 1.2 กิโลเมตรที่นางาซากิ จะได้รับรังสีเข้าร่างกายประมาณ 400 rads สำหรับปริมาณรังสีส่วนหลังหรือรังสีตกค้างในตัวบุคคล (dosimetry) นั้นไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่ประมาณคร่าวๆว่าจะอยู่ที่ 150 rads ทั้งสองเมือง ในเรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์เห็นว่าควรจะได้มีการศึกษาเพิ่มเติมให้มากขึ้นต่อๆไป โดยเฉพาะการศึกษาปริมาณ plutonium ในร่างกายคนในทั้งสองเมือง ประชากรจำนวนมากที่ได้รับกัมมันตรังสีปริมาณมากในเวลารวดเร็วจะเวียนหัว คลื่นไส้อาเจียนพิการฉับพลัน ซึ่งเป็นอาการของผู้ที่ได้รังกัมมันตรังสีจากการแตกอะตอม อาการขั้นต่อไปจะอาเจียนเป็นเลือด ไข้ขึ้นสูง ท้องเสีย และอุจจาระเป็นเลือด โดยทั่วไปจะตายภายใน 10 วัน หากได้รับกัมมันตรังสีปริมาณน้อยจะเกิดอาการเวียนหัว อาเจียน ท้องเสีย อุจจาระเป็นเลือด เลือดออกที่เหงือก จมูก และอวัยวะเพศ ประจำเดือนผิดปรกติ ผมร่วงหมด เป็นไข้ และอ่อนเพลียหมดเรี่ยวแรง ภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อเสื่อมถอยลงมาก และอาการเลือดเป็นพิษ (cepticemia) จะส่งผลให้คนจำนวนมากตายในที่สุด ผลกระทบระยะยาว ประชากรที่รอดชีวิตมาได้ถึงปลายปี 1945 พบว่ามีสุขภาพดีพอสมควร จากนั้นก็พบว่าจะเริ่มมีอาการเจ็บป่วยหลากหลายอย่างต่างๆกันไป รวมทั้งโรคทางตา กระแสเลือดผิดปรกติ เนื้องอก อาการทางจิตประสาท โรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาว หรือ leukemia ในหมู่ผู้รอดชีวิตปรากฏเพิ่มขึ้นในสิบปีแรก อัตราการตายจาก lukemia เพิ่มเป็น 30 เท่าของผู้ป้วย leukemia ที่มิได้รับกัมมันตรังสี จนถึงปี 1977 ที่มีการศึกษา อัตราการตายเช่นนี้ก็ยังไม่ลดลงกลับสู่ค่าเฉลี่ยทั่วไปในระดับชาติ โรคมะเร็งชนิดอื่นๆในหมู่ผู้รอดชีวิตที่ได้รับกัมมันตรังสีก็มีมากกว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้รับกัมมันตรังสี เช่นมะเร็งต่อมไทรอยด์, มะเร็งเต้านม, มะเร็งปอด, มะเร็งต่อมน้ำลาย, มะเร็งกระดูก, มะเร็งต่อมลูกหมาก, ฯลฯ และยังเป็นเช่นนี้ต่อไป คณะนักวิจัยยังเสนอแนะด้วยว่าควรมีการศึกษาเพิ่มขึ้นสำหรับการเป็น leukemia กับประชากรที่ได้รับกัมมันตรังสีต่ำกว่า 100 rads เด็กทารกที่เกิดจากแม่ที่ตั้งครรภ์ในช่วงระเบิดปรมาณูลงทั้งสองเมือง พบว่ามีลักษณะผิดปรกติเช่นศีรษะเล็กกว่าขนาดปรกติ แต่ไม่ปรากฏการเพิ่มผิดปรกติของโรค leukemia หรือมะเร็งในเม็ดเลือดขาวในเด็กเหล่านั้น และที่เห็นว่าเป็นเรื่องน่าแปลกใจคือการที่ไม่พบว่ามีผลกระทบต่อลักษณะทางพันธุกรรมของประชากรในหมู่ผู้ได้รับกัมมันตรังสี ในเรื่องนี้คณะนักวิจัยมีความเห็นว่ามีเหตุผลดังนี้:
ผลกระทบทางสังคม ผลกระทบของระเบิดปรมาณูด้านสังคมและจิตวิทยานับว่ารุนแรงยิ่งยวด ชุมชนแตกกระจัดกระจาย กระบวนงานบริการสังคมแตกสลายยับเยิน คนจำนวนมากเป็นโรคประสาท หรือเป็นบ้า ฆ่าตัวตาย เด็กนับหลายพันคนกลายเป็นเด็กกำพร้าพ่อแม่ ผู้รอดชีวิตมีอายุที่แตกต่างหลากหลายกันมาก ไม่ได้สัดส่วนที่เหมาะสมตามองค์ประกอบของประชากร ความรู้สึกหวาดกลัวว่าจะได้ทารกพิการหรือผิดรูปร่างสรีระทำให้ผู้คนไม่ต้องการมีคู่แต่งงานหรือมีครอบครัว การจ้างงานก็เกิดชงักงันเพราะความหวาดวิตกในผู้ร่วมงานที่อาจติดเชื้อจากกัมมันตภาพรังสี โรคภัยไข้เจ็บที่ตามมาส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจ เพิ่มจำนวนคนยากจน ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยเป็นภาระครอบครัวและสังคม นี่เป็นการศึกษา ณ เวลา 32 ปี หลังระเบิดปรมาณูลงถล่มทำลายฮิโรชิม่า และนางาซากิ โดยฝีมือของสหรัฐอเมริกาต่อญี่ปุ่นผู้แพ้สงคราม แม้วันนี้ผลกระทบต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ สังคม และจิตใจชาวญี่ปุ่นก็ยังมิได้จางหาย และการศึกษาหาข้อเท็จจริงก็ยังดำเนินต่อไป. สมเกียรติ อ่อนวิมล 6 สิงหาคม 2020/2563 แหล่งข้อมูล และ เอกสารอ้างอิง ประกอบการเขียนบทความนี้: The Bulletin of the Atomic Scientists, December 1977:
Special coverage: Hiroshima & Nagasaki at 75 ▶️ JAPAN |
Frank Barnaby, นักฟิสิกส์ และผู้อำนวยการ Stockholm International Peace Research Institute วิเคราะห์เมื่อปี 1977 ในบทความลงพิมพ์ใน The Bulletin of the Atomist Scientists ว่าเทคโนโลยีและการออกแบบระเบิดปรมาณูสมัยใหม่สามารถใช้ Uranium-235 เพียง 20 กิโลกรัมให้พลังระเบิดถึง 100 กิโลตัน (1 แสนตัน) หรือมากกว่า - ขณะที่ Little Boy ใช้ Uranium-235 ถึง 60 กิโลกรัมเพื่อผลิตระเบิดขนาด 12.5 กิโลตัน - และถ้าหากใช้วิธีแตกนิวเคลียส์ทำระเบิดนิวเคลียร์ แรงระเบิดจะมากกว่า Little Boy ถึง 1 พันเท่า และระเบิดนิวเคลียร์สมัยใหม่แม้ขนาดรอบนอกเปลือกหุ้มลูกระเบิดแค่ 8 นิ้วก็จะได้ระเบิดรุนแรงเท่ากับ Little Boy และ Fat Man ที่มีขนาดกว่า 120 นิ้ว. หัวรบนิวเคลียร์แบบ Minuteman III น้ำหนักเพียง 200 ปอนด์ ให้แรงระเบิดถึง 200 กิโลตัน.
ดังนั้นเทคโนโลยีระเบิดนิวเคลียร์ปัจจุบันนี้ก้าวไกลไปมากแล้ว มีพลังทำลายล้างมากกว่าระเบิดปรมาณูสองลูกแรกเมื่อ 75 ปีที่แล้วมากมหาศาล และโลกวันนี้มีหัวรบนิวเคลียร์อยู่มากถึง 13,400 ลูก ใน 9 ประเทศ สหรัฐอเมริกาไม่ใช่ผู้เดียวที่ผูกขาดอาวุธนิวเคลียร์ สงครามนิวเคลียร์ในอนาคตจะทำลายล้างทุกฝ่ายที่ร่วมต่อสู้กันในสงครามและรวมทั้งประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมสงครามก็จะถูกทำลายติดร่างแหแห่งกัมมันตรังสีนิวเคลียร์ไปด้วยอย่างไม่มีทางเลี่ยง ไม่เว้นประเทศใดทั้งสิ้น!
ดังนั้นเทคโนโลยีระเบิดนิวเคลียร์ปัจจุบันนี้ก้าวไกลไปมากแล้ว มีพลังทำลายล้างมากกว่าระเบิดปรมาณูสองลูกแรกเมื่อ 75 ปีที่แล้วมากมหาศาล และโลกวันนี้มีหัวรบนิวเคลียร์อยู่มากถึง 13,400 ลูก ใน 9 ประเทศ สหรัฐอเมริกาไม่ใช่ผู้เดียวที่ผูกขาดอาวุธนิวเคลียร์ สงครามนิวเคลียร์ในอนาคตจะทำลายล้างทุกฝ่ายที่ร่วมต่อสู้กันในสงครามและรวมทั้งประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมสงครามก็จะถูกทำลายติดร่างแหแห่งกัมมันตรังสีนิวเคลียร์ไปด้วยอย่างไม่มีทางเลี่ยง ไม่เว้นประเทศใดทั้งสิ้น!
กำลังอาวุธนิวเคลียร์ 9 ประเทศในโลก*
WORLD NUCLEAR FORCES January 2020 ● SIPRI YEARBOOK 2020
เครื่องหมาย ..=ไม่มีข้อมูล; -=0
|
*ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2020 ของ THE STOCKHOLM INTERNATIONAL PEACE RESEARCH INSTITUTE (SIPRI) YEARBOOK 2020 : Armaments, Disarmament and International Security สรุปจาก Chapter 10. World Nuclear Forces บทที่ 10. กองกำลังนิวเคลียร์โลก ภาพรวมเป็นดังนี้: เริ่มปี 2020 มี 9 ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์รวมประมาณ 13,400 หัวรบ (nuclear weapon warheads -nww):
วัตถุดิบที่ใช้เป็นพลังงานจากการแตกนิวเคลียสคือ highly enriched uranium (HEU) หรือ separated plutonium
Additional reading: "Ban Ki-moon, "To Honor the Victims of Hiroshima and Nagasaki 75 Years on, We Must Lay Down Our Nuclear Weapons", TIME August 4, 2020 |
Vertical Divider
|
Vertical Divider
|
Vertical Divider
|