INDIA 2014
อินเดีย
ประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก เลือกตั้ง 36 วัน (บทความนี้เขียนเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2557) อินเดียกำลังอยู่ระหว่างเลือกตั้ง จากวันที่ 7 เมษายน ถึง 12 พฤษภาคม 2014 รวมวันลงคะแนนเสียงทั้งหมด 36 วัน และนับคะแนนเพื่อประกาศผลในวันที่ 16 พฤษภาคม รวมกระบวนการเลือกตั้งนับจากวันลงคะแนนถึงวันนับคะแนน 40 วัน ขนาดอันใหญ่มหึมาของประเทศอินเดียทำให้ได้ชื่อว่าเป็น “ประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก” เพราะไม่มีประเทศไหนในโลกที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยจะมีขนาดใหญ่เท่ากับอินเดีย: ▪ พื้นที่ประเทศ 3,287,263 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าประเทศไทย 6.4 เท่า ▪ ประชากร 1,241,500,000 คน มากกว่าไทย 19 เท่า ▪ ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 814,000,000 คน มากกว่าไทย 18.2 เท่า ▪ หน่วยเลือกตั้ง 930,000 หน่วย มากกว่าไทย 9.8 เท่า ▪ เขตเลือกตั้ง หรือจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 552 เขต/คน มากกว่าไทย 72 คน ▪ คณะกรรมการการเลือกตั้ง 3 คน น้อยกว่าไทย 2 คน เฉพาะข้อมูลตัวเลขข้างบนนี้ย่อมยืนยันชัดเจนถึงความ “ใหญ่ที่สุดในโลก” แน่นอน เพราะจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกก็มิได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับประเทศไทยก็พบว่าอินเดียมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่มากเทียบสัดส่วนกับจำนวนประชากร โดยสติตัวเลขจริง (ข้อมูลอ้างอิงจาก The Economist Pocket World in Figures 2014 Edition ใช้การหารดูสัดส่วนโดยไม่อ้างอิงรัฐธรรมนูญเป็นทางการ เพื่อการดูภาพเปรียบในบทความนี้เท่านั้น) เฉลี่ยแล้วอินเดียมี ส.ส. 1 คน ต่อประชากร 2,249,094.20 คน ส่วนประเทศไทย มี ส.ส. 1 คน ต่อประชากร 144,791.66 ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งของอินเดียมีน้อยกว่าของไทย สะท้อนว่าอินเดียบริหารจัดการการเลือกตั้งได้มีประสิทธิภาพมาก และกระบวนการสังคมประชาธิปไตยในอินเดียเข้มแข็งมั่นคงมากกว่าไทยมากนัก ประชาชนชาวอินเดียเข้าใจ, มีวัฒนธรรม, และมีวินัยในความเป็นประชาธิปไตยสูงมาก ทั้งๆที่เป็นเอกราชมาพร้อมๆกับการเป็นประชาธิปไตยมาได้เพียง 67 ปี ขณะที่ไทยทดลองประชาธิปไตยมาแล้ว 82 ปี - นานกว่าอินเดียถึง 15 ปี เมื่อเปรียบกันแล้วย่อมเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่พลเมืองไทยจะได้เรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยของอินเดียจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในอินเดียเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2014 นี้ จากที่การเลือกตั้งมีขนาดใหญ่ทุกมิติ อินเดียจึงใช้เครื่องอิเล็กทรอนิคส์ในการลงคะแนนและนับคะแนน โดยใช้เครื่องอุปกรณ์ที่ผลิตภายในประเทศเอง ต่างจากในอดีตที่ใช้การกาบัตรเลือกตั้งที่เป็นกระดาษดังที่ไทยใช้มาต่อเนื่อง อินเดียจึงจะไม่มีคดีฉีกบัตรเลือกตั้ง เพราะการลงคะแนนใช้เพียงวิธีกดปุ่มบนเครื่อง ขณะที่ขนาดพื้นที่ ความแตกต่างของภูมิประเทศ ภูมิอากาศที่หลากหลายและยากลำบากต่อการเดินทางขนส่ง ตลอดจนฤดูกาลเพาะปลูกและปฏิทินเศรษฐกิจ-สังคม-วัฒนธรรมที่หลากหลาย ก็ทำให้การเลือกตั้งใน 28 รัฐ (States) และ 7 เขตปกครองพิเศษที่มิใช่รัฐ (Uninion Terrotories) มีทั้งการเลือกตั้งบนภาคพื้นชมพูทวีป และบนพื้นที่เกาะในทะเล ทำให้การกำหนดวันเวลาแตกต่างหลากหลายไม่ตรงกัน โดยยึดเอาความสะดวกเหมาะสมเป็นสำคัญ ต่างกับประเทศไทยที่เป็นประเทศเล็ก การคมนาคมขนส่งสะดวกกว่า เจ้าหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งก็ใช้มากกว่าโดยสัดส่วน แม้ไทยจะยังมิได้ใช้เครื่องอิเล็กทรอนิคส์ในการลงคะแนนก็ตาม ที่สำคัญ ที่อินเดียไม่มีการทุจริตคดโกงซื้อเสียงเหมือนกับในประเทศไทย อินเดียอาจจะมีความบกพร่องผิดพลาดหรือทุจริตในกระบวนการเลือกตั้งอยู่บ้างประปราย แต่รูปแบบและปัญหามีน้อยมากและต่างไปจากประเทศไทยโดยสิ้นเชิง พรคคการเมืองที่ร่วมลงแข่งขันทั้งระบบมีจำนวนมาก แต่มีสามพรรคสำคัญที่จะเกี่ยวข้องกับการชนะหรือแพ้และร่วมจัดตั้งรัฐบาล และมีอีก 10 พรรคในระดับท้องถิ่นหรือระดับรัฐร่วมกันเป็นกลุ่มแนวร่วมเพื่อต่อรองอำนาจการร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมซึ่งดูจะเป็นแนวโน้มการเมืองอินเดียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พรรคคองเกรส (Congress Party) นำโดยนายราหุล คานธี (Rahul Gandhi) อายุ 44 ปี เป็นผู้นำในตระกูลเนห์รู-คานธี ผู้สืบทอดมรดกทางการเมืองของครอบครัวที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียมาก่อนยาวนานและได้ปกครองประเทศอินเดียมาแต่แรกเริ่มเอกราช นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียหลังเอกราชคือเยาวห์ลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru); ลูกสาวของเนห์รู ชื่ออินทิรา เนห์รู (Indira Nehru) ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี อินทิรา แต่งงานกับ สส. ชื่อเฟโรซ คานธี จึงใช้นามสกุล “คานธี” เป็นชื่อ “อินทิรา คานธี” (Indira Gandhi)โดยไม่มีความเป็นญาติเกี่ยวข้องใดๆกับมหาตมะ คานธี (ชื่อสกุล “คานธี” ที่คนอินเดียนิยมใช้กันมากตามอย่างมหาตมะ คานธี) อินทิรา คานธี ถูกสังหารขณะอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี; ลูกชายคนโตของอินทิรา คานธี ชื่อ ราจีฟ คานธี (Rajiv Gandhi) ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และถูกสังหารโดยผู้ก่อการร้าย; ภรรยาของราจีฟ คานธี ชื่อโซเนีย (Sonia) เป็นชาวอิตาลี ปัจจุบันเป็นประธานพรรคคองเกรส แต่งตั้งลูกชายเป็นหัวหน้าพรรคนำทีมลงแข่งขันเลือกตั้งในปีนี้; ราหุล คานธี คือบุตรชาย และลูกคนหัวปีของราจีฟ และ โซเนีย คานธี พรรคประชาชนภารตะ (Bharatiya Janata Party - BJP) นำโดยนายนาเรนทรา โมดี (Narendra Modi) อายุ 64 ปี อดีตมุขมนตรี (หรือผู้ว่าการรัฐ) อันเป็นตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐกุจจาราต สร้างชื่อเสียงมากจากการพัฒนาเศรษฐกิจในรัฐกุจจาราต แต่มีปัญหาถูกตำหนิเรื่องการจราจลปี 2002 ในรัฐที่มีชาวมุสลิมเสียชีวิตถึงพันคน พรรคสามัญชน (Aam Aadmi Party) นำโดยนายอารวินด์ เขตริวาล (Arvind Kejriwal) อายุ 46 ปี เป็นพรรคเกิดใหม่มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น ตั้งพรรคเมื่อปี 2012 และชนะเลือกตั้งได้ปกครองเขตนครหลวงเดลฮี หัวหน้าพรรคได้รับราวงวัลแม็กไซไซจากฟิลิปปินส์ในฐานะผู้นำที่กำลังเกิดและเติบโตในยุคใหม่ ประเด็นหลักที่ใช้หาเสียงเลือกตั้งในอินเดียคือเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจที่กำลังชะงักงันอยู่ และเรื่องการต่อต้านการการทุจริตคอร์รัปชั่น พรรคการเมืองทั้งหลายชูประเด็นคล้ายกัน เพียงแต่พรรคคองเกรสจะเพิ่มเรื่อง “พลังสตรี” เข้าไปเป็นพิเศษ แต่พรรคคองเกรสก็ถูกกล่าวหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นมากมายหลายเรื่อง การเมืองอินเดียเป็นการเมืองที่พัฒนามาแล้วอย่างคงเส้นคงวา เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับประเทศอื่นที่ต้องการเป็นประชาธิปไตยขณะที่พลเมืองยังด้อยพัฒนา ขาดการศึกษา ขาดวัฒนธรรมพื้นฐานเรื่องประชาธิปไตย แม้นับปีแล้วอินเดียมีประสบการณ์ตรงเรื่องประชาธิปไตยมาเพียง 67 ปี เทียบแล้วน้อยกว่าไทยถึง 15 ปี แต่โดยพื้นฐานทางประวัติศาสตร์แล้วอินเดียเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยนานถึง 200 ปี ในช่วงที่ตกเป็นอาณานิคมขงอังกฤษ โดยเฉพาะในเวลา 100 ปีหลังที่คนอินเดียมีการศึกษาแบบตะวันตกแบบอังกฤษมากขึ้น การต่อสู้เพื่อเอกราชเป็นการต่อสู้ด้วยการศึกษา ความรู้ความคิดวิเคราะห์ที่ดีขึ้น ละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น จนวิถีประชาธิปไตยชองชาวอินเดียฝังรากลึกกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา สังคม และเศรษฐกิจมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง คนอินเดียรู้จักและเข้าใจประชาธิปไตย ในบริบทอินเดีย จนเป็นวัฒนธรรมสังคม ประชาธิปไตยในอินเดียจึงเป็นแบบอย่างทางการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เวลา 67 ปีของประชาธิปไตยในอินเดีย มีรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียวที่ร่างตอนได้รับเอกราช มีคนชั้นจัณฑาลเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ อินเดียไม่เคยมีการปฏิวัติหรือยึดอำนาจ มีครั้งเดียวที่นายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธี ประกาศภาวะฉุกเฉินช่วงสั้นๆด้วยเหตุการเมือง สงครามและความมั่นคงของประเทศ สำหรับประเทศไทย มีการทดลองประชาธิปไตยมานานกว่าอินเดีย แต่ยังไม่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ประชาชน โดยเฉพาะนักการเมือง ยังไม่มีความรู้ที่ถูกต้องเรื่องประชาธิปไตย การศึกษาเรื่องประชาธิปไตยสู่พลเมืองไทยและผู้นำสังคมการเมืองยังไม่มีเป็นกระบวนการที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะนักการเมืองไทยยังไม่รู้จักวัฒนธรรมประชาธิปไตย นักการเมืองไทยมีความโง่เขลาและด้อยวัฒนธรรมประชาธิปไตยสูงมาก พลเมืองไทยที่ใฝ่รู้และมีวัฒนธรรมประชาธิปไตยก็ไม่มากพอ ต้องปฏิรูปประเทศไทยทั้งระบบ ทั้งการเมือง การศึกษา กระบวนการเลือกตั้ง จิตสำนึก วัฒนธรรม ฯลฯ โดยเริ่มที่ปฏิรูปตัวนักการเมืองและผู้นำสังคมก่อนใคร! สมเกียรติ อ่อนวิมล 10 เมษายน 2557 ปล. ผมมีความเห็นว่าพรรค BJP จะได้รับชัยยนะ และนาย Narendra Modi จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอินเดียคนใหม่ เลือกตั้งอินเดีย 2014
นักการเมือง และ สื่อมวลชน กับ การพูดให้เกลียดชังกัน (26 เมษายน 2557) อินเดียกำลังอยู่ในระหว่างการเลือกตั้งทั่วไป ที่เริ่มลงคะแนนกันมาตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน และจะจบสิ้นในวันที่ 12 เมษายน แล้วจึงนับคะแนนประกาศผลกันในอีก 4 วันหลังจากนั้น รวมกระบวนการเลือกตั้ง 40 วัน แม้ว่าระหว่างที่ยังเลือกตั้งกันอยู่และยังไม่ทราบผลการเลือกตั้ง ข่าวสารที่กิดขึ้นย่อมมีผลกระทบต่อคะแนนเสียงของพรรคการเมืองต่างๆที่เกี่ยวข้องได้ทุกวัน หากมีข่าวดีก็อาจจะทำให้ประชาชนตัดสินใจลงคะแนนเลือกพรรคที่มีข่าวดีในวันลงคะแนนที่ยังมาไม่ถึง หากมีข่าวร้ายทำลายชื่อเสียงของพรรคประขาชนในรัฐที่ยังรอวันเลือกตั้งอยู่ก็อาจเปลี่ยนใจไปเลือกพรรคการเมืองอื่นก็เป็นได้ ดังนั้นข่าวสารต่างๆในช่วง 36 วันของการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งใน 28 รัฐกับอีก 7 เขตปกครองแห่งรัฐ ซึ่งจะกำหนดวันเลือกตั้งต่างกัน ย่อมมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนในรัฐต่างๆด้วย ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเรื่องสำคัญที่ตกเป็นข่าวอื้อฉาวในสื่อมวลชนอินเดียคือเรื่องคำพูดให้ร้ายฝ่ายตรงข้ามที่ทำให้เกิดความเกลียดชังกันทางการเมือง สร้างความไม่พอใจและก่อความแตกแยกระหว่างชาวฮินดูกับชาวมุสลิม เนื่องจากพรรค BJP เป็นพรรคชาตินิยมฮินดู มีแนวคิดเก่ายึดความเป็นฮินดูเป็นหลักและขาดความละเอียดอ่อนในการคำนึงถึงชาวมุสลิมเสียงข้างน้อยในสังคมอินเดีย เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์อินเดีย นายปราวีณ โทกาเดีย (Praveen Togadia) ผู้นำอาวุโสของ “วิศวะฮินดูปาริชาติ” หรือ “สภาฮินดูโลก” (Vishwa Hindu Parishad/ World Hindu Council) ได้กล่าวกับผู้สนับสนุนเขาว่าอย่าได้ยอมขายที่ดินให้กับพวกมุสลิม อย่าให้พวกมุสลิมมาสร้างบ้านเรือนอยู่ใกล้ๆกับพวกฮินดู ในเมื่อวิศวะฮินดูปาริชาติ เป็นองค์กรฮินดูหัวเก่าที่ทั้งประกาศตัวและมีพฤติกรรมสนับสนุนพรรค BJP มาชัดเจนยาวนาน เรื่องนี้จึงกระทบพรรค BJP ในทางทำให้เสียคะแนนแน่ๆ พรรค Bharatiya Janata Party - BJP (พรรคประชาชนภารตะ) เป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะชนะการเลือกตั้งด้วย หนังสือพิมพ์ The Times of India รายงานว่าข่าวนี้ถูกปฏิเสธโดยนายโทกาเดียว่าเขาไม่ได้พูดเช่นนั้น และนายโทกาเดียเองก็ขู่ว่าจะฟ้องหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวแบบนี้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็เริ่มขึ้นแล้วและจะไม่จบง่ายๆ หนังสือพิมพ์ The Hindustan Times บอกว่าคำพูดที่มีรายงานข่าวว่ามาจากนายปราวีณ โทกาเดียล่าสุดนี้ทำให้พรรค BJP ต้องแยกตัวออกห่างไม่ยุ่งเกี่ยวด้วยกับนายโทกาเดีย และองค์กรฮินดูหัวรุนแรงที่ชื่อ”วิศวะฮินดูปาริชาติ” นั้นทันที The Hindustan Times ย้ำว่าพรรค BJP ควรต้องประกาศประนามคำพูดของนายโทกาเดียให้เด็ดขาดชัดเจนในที่สาธารณะ ต้องให้ประนามคำพูดที่สร้างความแตกแยกให้กับสังคมอินเดียเช่นนี้ให้จงหนัก The Indian Express เตือนพรรค BJP ว่าจะต้องพิสูจน์ให้เป็นที่เด่นชัดแก่ประชาชนว่าจะไม่เลือกระหว่าง ศาสนา กับ การพัฒนา อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วแต่ว่าจะสะดวกต่อการหาเสียงที่ไหนเวลาใด ซึ่งก็หมายความว่าเวลาจะเอาคะแนนเสียงจากคนฮินดูก็จะพูดเอาใจผู้นับถือศาสนาฮินดูและให้ร้ายพวกมุสลิม พอเวลาจะต้องการคะแนนเสียงจากพวกมุสลิมก็จะพูดเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจแก้ปัญหาความยากจนเป็นหลัก ทำเป็นไม่ใส่ใจเรื่องชาตินิยมศาสนา The Indian Express เขียนบทวิจารณ์ว่า “พรรค BJP มีหน้าที่สำคัญที่จะต้องพิสูจน์ว่าจะไม่มีและไม่ใช้ยุทธศาสตร์การหาเสียงเพื่อการให้ได้คะแนนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยการเปลี่ยนวาทกรรมไปเรื่อยๆ แล้วแต่บริบทแห่งวัน-เวลา-สถานที่-และสถานการณ์ คำไหนใช้แล้วได้คะแนนก็ใช้คำนั้น” The Indian Express เพิ่มเติมความห่วงใยว่าจะเป็นการยากมากที่จะกำกับควบคุมพลังอารมณ์รุนแรงของกลุ่ม “พวกชอบหาเรื่องเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม” หากพรรค BJP ของนายนาเรนทรา โมดี้ ได้จัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ตามนายนาเรนทรา โมดี้ (Narendra Modi) หัวหน้าพรรค BJP ก็ประกาศผ่านหน้า Tweeter ของเขาว่า “คำพูดไร้สาระของคนที่อ้างว่าเป็นผู้สนับสนุนพรรค BJP นี้กำลังเบนความสนใจไปจากเรื่องสำคัญกว่า คือเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเรื่องการบริหารจัดการประเทศที่ดีมีธรรมาภิบาล” นายโมดี้เขียนข้อความนี้โดยไม่เอ่ยชื่อใครแต่ก็ได้ความเข้าใจชัดเจนว่าหมายถึงเรื่องที่กำลังอื้อฉาวอยู่ตอนนี้นั่นเอง เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุก็กำลังแจ้งความดำเนินคดีเองกับต่อผู้นำวิศวะฮินดูปาริชาติแล้ว ที่เกิดเหตุ หรือที่ที่มีข่าวว่ามีการปราศรัยต่อต้านให้ร้ายและยุยงให้เกลียดชังชาวมุสลิมอยู่ในเมืองภาพนาการ์ (Bhavnagar/ภาพนคร) ทางตะวันตกของรัฐกุจจาราต ฐานเสียงบ้านเกิดและที่สร้างชีวิตและผลงานของนายนาเรนทรา โมดี้ นั่นเอง ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ The Indian Express รายงานว่า เว็ปไซต์ (website) ของนายอัฒวานี (L.K. Advani) ผู้นำอาวุโสของพรรค BJP ก็ถูกเจาะเข้าไปทำลายข้อความโดยผู้ที่ใช้นามว่า “มูฮัมหมัด บิลาล” (Muhammad Bilal) ซึ่งเข้าไปเขียนข้อความว่า “Pakistan Zindabad / ปากีสถานจงเจริญ!) พร้อมทั้งเรียกร้องให้ปลดปล่อยแคว้นแคชเมียร์ส่วนที่เป็นของอินเดียให้พ้นอำนาจการควบคุมของฝ่ายทหาร เรื่องที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมทางการเมืองกับพัฒนาการสื่อสารการเมืองในสังคมอินเดียได้ชัดเจน เป็นแบบอย่างที่เหมาะแก่การศึกษาในการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยและในรัฐสมาชิกอาเซียนอื่นที่ยังไม่พัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตย หรือมีระดับความเจริญทางการเมืองต่ำเท่าๆกับประเทศไทย เพราะว่าคำพูดที่เลวร้าย คำหยาบคายป้ายสี คารมที่คิดว่าคมคายแต่ที่จริงเป็นวาทกรรมที่หยาบกร้านเสียดสี หวังความสนใจ หรือหวังความสนุกสนาน หรือหวังอารมณ์ร่วมจากมวลชน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบริบทการเมืองไทยทุกวันนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่น่าอับอายในประเทศไทยและในบางประเทศในอาเซียน ในยามที่โลกส่วนอื่นเจริญงดงามทางวจีกรรมการเมืองกันนานนับร้อยปีแล้ว จนมีหนังสือรวบรวมสุนทรพจน์ทางการเมืองอันมีพลังงดงาม พิมพ์เผยแพร่ให้อ่านและใช้อ้างอิงกันมากมายทั่วโลก อินเดียก็ยังหนีไม่พ้นวาทกรรมหยาบกร้าน เป็นการท้าทายความเสียหายทางสังคมและวัฒนธรรมการเมืองในประเทศยิ่งนัก แต่อินเดียยังเจริญก้าวไปไกลกว่าไทย โดยที่อินเดียมีสื่อมวลชนคุณภาพสูง เป็นมาตรฐานสากล คอยตรวจสอบและรายงานข่าวพร้อมทั้งให้ความเห็นเชิงสร้างสรรค์ เป็นการดึงการเมืองให้อยู่ในกรอบของความเจริญในมาตรฐานโลกได้ หน้าที่อันเป็นหลักสำคัญของสื่อมวลชน คือหน้าที่ในการสร้างสังคมประชาธิปไตย เพราะสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น ที่ให้เสรีภาพบริบูรณ์แก่สื่อมวลชน สมเกียรติ อ่อนวิมล 26 เมษายน 2557 http://www.bbc.com/news/world-asia-india-27107593 |
หลักปฏิบัติในการเลือกตั้ง ที่ อินเดีย 2014
อินเดียเพิ่งจบสิ้นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา หลังจากใช้เวลาเลือกตั้งทั้งหมด 5 สัปดาห์ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 814 ล้านคน เลือกผู้แทนราษฎร 543 คน พรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งเข้าสภาฯ 35 พรรค; พรรคที่เคยเป็นฝ่ายค้านหลัก คือพรรค Bharatiya Janata Party - BJP (พรรคภารตะชน) ได้รับชัยชนะท่วมท้นถึง 282 ที่นั่ง (จากเดิม 116 ที่นั่ง) จะได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่; พรรค Indian National Congress - INC (พรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย) ซึ่งเป็นรัฐบาลอยู่ พ่ายแพ้อย่างยับเยิน ได้เพียง 44 ที่นั่ง (จากเดิม 206 ที่นั่ง); พรรคการเมืองอื่นๆรองๆลงมา 5 พรรค ได้ 37 - 34 - 20 - 18 -16 ที่นั่งตามลำดับ; พรรคที่ได้ ส.ส. เพียงคนเดียว มี 10 พรรค; พรรค Communist Party of India - CPI (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินเดีย) ได้ 1 ที่นั่ง; พรรค Communist Party of India (Marxist) - CPI-M [พรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินเดีย (มาร์กซิสต์)] ได้ 9 ที่นั่ง; ผู้สมัครอิสระไม่สังกัดพรรคได้รับเลือกตั้ง 3 คน. การเลือกตั้งผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ด้วยฝีมือการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งอินเดีย ซึ่งมีกรรมการเพียง 3 คน จัดระบบการเลือกตั้งผ่านความร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนกว่าพันล้านคนทั่วประเทศอินเดีย และที่สำคัญ การเลือกตั้งที่ยิ่งใหญ่ซับซ้อนที่สุดในโลกที่อินเดียนี้ลุล่วงไปด้วยดีเพราะความเป็นผู้มีการศึกษาและวัฒนธรรมประชาธิปไตยของพลเมืองอินเดีย การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 16 ในประวัติศาสตร์เอกราช 67 ปี ของอินเดีย มีผู้แทน 43 คน จาก 18 ประเทศมาดูงานการเลือกตั้ง รวมผู้แทนจากอาเซียน 2 ประเทศ คือพม่า และ มาเลเซีย ไม่มีผู้ร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งจากประเทศไทย คณะกรรมการการเลือกตั้งอินเดียกำหนดหลักปฏิบัติในการเลือกตั้งไว้ 7 เรื่องหลัก คือ: 1. หลักปฏิบัติทั่วไป 2. หลักการชุมนุม 3. หลักการเดินขบวน 4. หลักปฏิบัติวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 5. คูหาเลือกตั้ง 6. ผู้สังเกตการณ์ 7. หลักปฏิบัติสำหรับพรรคการเมืองที่ครองอำนาจอยู่ ณ วันเลือกตั้ง เฉพาะเรื่องที่ 1 ว่าด้วยหลักปฏิบัติทั่วไป มีดังนี้: (1) ห้ามมิให้พรรคการเมือง หรือผู้สมัครทำกิจกรรมใดๆอันจะเป็นการสร้างความตึงเครียด แตกแยก เกลียดชังกันในหมู่ประชาชน ที่มีลักษณะต่างชุมชน ต่างศาสนา ต่างวรรณะ และต่างภาษากัน (2) การตำหนิวิพากษ์วิจารณ์พรรคการเมืองคู่แข่งหรือฝ่ายตรงข้าม ต้องทำเฉพาะในเรื่องนโยบาย โครงการที่นำเสนอในการหาเสียง และ เรื่องผลการทำงานในอดีตเท่านั้น ห้ามมิให้วิจารณ์เรื่องส่วนตัว หรือเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้นำพรรคและคนทำงานในพรรคใดๆทั้งสิ้น ห้ามมิให้มีการกล่าวหา โดยปราศจากหลักฐาน หรือบิดเบือนข้อเท็จจริงใดๆ (3) พรรคการเมืองและผู้สมัครจะต้องไม่หาเสียงโดยยึดประเด็นจูงใจที่เกี่ยวโยงกับเรื่อง ชาติวรรณะ ความรู้สึกแบ่งกลุ่มชุมชน ห้ามมิให้ใช้สถานที่ของสุเหล่า โบสถ์ วัด หรือศาสนสถานอื่นๆเป็นที่ทำกิจกรรมหาเสียง (4) พรรคการเมืองและผู้สมัครต้องไม่ประพฤติทุจริตคอร์รัปชั่นในการรณรงค์หาเสียงใดๆทั้งสิ้น ต้องไม่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เช่นการให้เงินซื้อเสียง, การข่มขู่บังคับประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง, ไม่ปลอมตัวลงคะแนนแทนผู้อื่น, ไม่หาเสียงในรัศมี 100 ของคูหาเลือกตั้ง, หยุดการชุมนุม 48 ชั่วโมงก่อนปิดการลงคะแนน, ไม่จัดการขนส่งให้ประชาชนไปลงคะแนน (5) ต้องเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนที่จะได้อยู่ใช้ชีวิตครอบครัวอย่างสงบ ไม่ว่าประชาชนคนนั้นหรือครอบครัวนั้นจะมีความเห็นขัดแย้งรุนแรงตรงข้ามกับพรรคการเมืองหรือผู้สมัครอย่างไรก็ตาม; ไม่ว่าพรรคการเมืองหรือผู้สมัครจะไม่ชอบความคิดเห็นหรือกิจกรรมทางการเมืองของครอบครัวนั้น หรือบุคคลใดในครอบครั้วนั้นก็ตาม ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัครไปจัดการชุมนุมประท้วงหน้าบ้าน หรือปิดล้อมชวางทางเข้าบ้านของบุคคลหรือครอบครัวที่มีความเห็นทางการเมืองตรงข้ามหรือขัดแย้งกัน; ห้ามเรื่องนี้ไม่ว่าจะกรณีใดๆไม่มีข้อยกเว้นทั้งสิ้น (6) พรรคการเมืองและผู้สมัครจะต้องไม่ไปใช้ที่ดิน อาคาร หรือกำแพง หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของทรัพย์สินของผู้อื่นเพื่อปิดป้ายโฆษณาหาเสียง ติดธงและสิ่งประดับเพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมการเมืองใดๆ เว้นแต่จะได้รับอนุญาจากเจ้าของที่ดิน อาคาร ฯลฯ นั้น (7) พรรคการเมืองและผู้สมัครจะต้องทำให้มั่นใจได้ว่าบรรดาประชาชนผู้สนับสนุนตนไม่ไปขัดขวางหรือล้มทำลายการชุมนุมหรือการเดินขบวนของฝ่ายอื่น, คนทำงานของพรรคและผู้สนับสนุนพรรคจะต้องไม่ไปรบกวนการชุมนุมของพรรคอื่น, ไม่ไปตั้งคำถามแบบสดๆ หรือเขียนเป็นจดหมายคำถามไปรบกวนในที่ประชุมหรือที่ชุมนุมของฝ่ายอื่น, ไม่ไปแจกแผ่นป้ายโปสเตอร์ใบปลิวหาเสียงของพรรคตัวเองในที่ชุมนุมของพรรคอื่นหรือผู้สมัครรายอื่น, การจัดการเดินขบวนต้องไม่จัดในพื้นที่เดียวกัน ติดกัน หรือใกล้กันกับพื้นที่ที่พรรคอื่นจัดอยู่แล้ว, ป้ายโปสเตอร์หาเสียงของพรรคหนึ่งจะต้องไม่ถูกปลดออกทิ้งโดยอีกฝ่ายหนึ่ง. ประเทศไทยมีคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ผม (สมเกียรติ อ่อนวิมล) และ ศาสตราจารย์ ดร. กระมล ทองธรรมชาติ ในฐานะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 เป็นผู้เสนอแนวคิดให้มีกรรมการเลือกตั้ง ตามแบบรัฐธรรมนูญอินเดีย โดยส่วนตัวผมเสนอแนวคิดนิ้เพราะได้รับอิทธิพลการศึกษารัฐศาสตรจากมหาวิทยาลัยเดลฮี ใช้ชีวิตนักศึกษาวัยหนุ่มในอินเดีย 5 ปีเศษ ระหว่างปี 1968-1973 ในสมัยนายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธี ได้มีโอกาสสังเกตการเลือกตั้งในอินเดียครั้งหนึ่ง และได้เห็นภาวะสงครามอินเดีย-ปากีสถาน เป็นวิกฤติการเมืองอินเดียอันนำไปสู่การประกาศภาวะฉุกเฉินโดยนายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธี ซึ่งเป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยอินเดีย. น่าเสียใจที่รูปแบบกรรมการเลือกตั้งและกระบวนการเลือกตั้งแบบอินเดียที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 และใช้ต่อเนื่องมาในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่ประสพความสำเร็จ หรืออาจเรียกได้ว่า “ล้มเหลว” อย่างที่จำเป็นต้องให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไป หากไม่ทำ ประเทศไทยก็จะตกต่ำลงไปหนักขึ้นในเรื่องประชาธิปไตย ทั้งนี้ก็เพราะนักการเมืองไทยขาดจริยธรรม ขาดความรู้เรื่องประชาธิปไตย ขาดจิตสำนึกรักระบอบประชาธิปไตย และประชาชนพลเมืองไทยจำนวนหนึ่งก็สนับสนุนนักการเมืองที่อ่อนด้อยจิตสำนึกและวัฒนธรรมประชาธิปไตยอีกด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้งของไทยจึงเกิดมาโดยกฎหมายที่อ่อนแอและไม่ครอบคลุมการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยในหมู่พลเมือง. สมเกียรติ อ่อนวิมล 22 พฤษภาคม 2557 Full Text: Election Commission of India Model Code of Conduct for the Guidance of Political Parties and Candidates I. General Conduct
VI. ObserversThe Election Commission is appointing Observers. If the candidates or their agents have any specific complaint or problem regarding the conduct of elections they may bring the same to the notice of the Observer. VII. Party in PowerThe party in power whether at the Centre or in the State or States concerned, shall ensure that no cause is given for any complaint that it has used its official position for the purposes of its election campaign and in particular –
|