บทนำ
ในวัยเด็ก หนังสือที่อ่านก็มักจะเท่าที่ครูบอกให้อ่าน กับที่เห็นมีในบ้าน โชคดีที่บ้านมี “ขุนช้างขุนแผน” มี “ผู้ชนะสิบทิศ” ของ ยาขอบ และ “ขุนศึก” ของ ไม้เมืองเดิม ในวัยรุ่น ออกจากบ้านไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯก็หาหนังสืออ่านตามใจชอบ ยืมของพี่ชายอ่านบ้าง เอาเงินพี่สาวซื้ออ่านบ้าง หนังสือเรื่องสั้นต่างๆของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ รงค์ วงศ์สวรรค์ (หนุ่ม) และ มนัส จรรยงค์ ที่ได้รู้จักก็ช่วงวัยรุ่นนี้ “The Old Man and the Sea” ของ Earnest Hemingway ก็ได้ลองอ่านตอนเรียนอยู่วิทยาลัยครูจันทรเกษม ครั้นได้ไปเรียนชั้นมัธยมที่ Kansas City แม้เพียงปีเดียว โลกของการอ่านก็พลิกผันไปตามระบบชีวิตนักเรียนแบบอเมริกัน งานวรรณกรรมอมตะ ที่เรียกว่า “Classics” ทั้งโดยนักเขียนอเมริกัน และอังกฤษก็เริ่มผ่านเข้ามาในในชีวิต “Moby Dick” โดย Herman Melville, “The Adventures of Tom Sawyer” และ “The Adventures of Huckleberry Finn” โดย Mark Twain และ “The Hobbit” ของ J.R.R. Tolkien แม้กระทั่งบทละครของ William Shakespeare เป็นวรรณกรรม Classics รุ่นแรกๆ ที่เริ่มพยายามอ่านตอนเป็นนักเรียนทุน AFS ที่ Park Hill High School มาถึงช่วงเวลาที่เรียนระดับปริญญาตรีและโทที่ University of Delhi หนังสืออ่านเล่นประเภทนวนิยายร่วมสมัย ลึกลับสืบสวนสอบสวน เช่น “The Adventures of Sherlock Holmes” โดย Sir Arthur Conan Doyle และ เรื่องประโลมโลกเช่น “The Carpetbaggers” ของ Harold Robbins และ “Valley of the Dolls” โดย Jacqueline Susann สลับกับ “Mahabharata” และ “The Kama Sutra” ถือเป็นส่วนหนึ่งของการอ่านวัยหนุ่มยุคแสวงหาตัวเอง ต่อมาในระหว่างเรียนปริญญาเอก ที่ University of Pennsylvania หนังสือกึ่งตำรา เช่น “Small is Beautiful” ของ E.F. Schumacher ประทับจิตสำนึก ไม่แพ้ “Perry Mason” นักสืบคดีฆาตกรรม ของ Earle Stanley Gardner และเมื่อ 35 ปีที่แล้วนั้น ในสหรัฐอเมริกา ไม่มีใครที่ไม่แอบอ่าน “Everything You Always Wanted to Know about Sex* But Were Afraid to Ask” โดย David Reuben, M.D. ในวัยทำงานสร้างครอบครัว ทั้งด้านวิชาการ และงานสื่อสารมวลชน วรรณกรรมร่วมสมัย ตามกระแสข่าวสารกลายเป็นความจำเป็น อ่านเพราะหนังสือดัง คนเขียนเด่น หนังสือที่ได้รับรางวัล Nobel ทั้งหลายถึงอ่านยาก ก็จำต้องพยายามอ่าน “The Gulag Archipelago” ของ Alexander Solzhenitsyn อ่านยาก ไม่สนุกเท่า “Doctor Zhivago” ของ Boris Pasternak ตอนอายุล่วงเลยมาถึง 60 ปี การอ่านหนังสือเร่งรีบ ร้อนรน เพราะรู้ว่าเวลาของชีวิตเหลือจำกัด ต้องอ่านหนังสือของนักเขียนที่โปรดปรานมากที่สุด คือ Jules Verne และ H.G. Wells ให้มากที่สุด ถ้าหากหาอ่านทั้งหมดไม่ได้ หรือถ้าไม่มีเวลาอ่านทั้งหมด สองคนรวมกันก็กว่าร้อยเรื่อง ไหนจะต้องตามอ่านวรรณกรรม Classics ของอังกฤษ และ อเมริกา อีกมากมาย ตั้งแต่ Henry Adams ไปจนถึง Emile Zola อีกทั้งหนังสือชนะรางวัล Nobel และ The Man Booker Prize ที่ประกาศทุกปี รวมทั้งรอคอย Harry Potter เล่มที่ 7 อันเป็นเล่มจบสุดท้าย ซึ่งก็ได้อ่านสมกับที่รอคอย คำนวณเวลาของชีวิตแล้ว อยากมีชีวิตอมตะเหมือนงานวรรณกรรมจริงๆ Thaivision |
โลกหนังสือ
********************* ค้นหาประเทศไทย In Search of Thailand เราอ่านหนังสือเพราะต้องการหาความรู้ ทำความเข้าใจกับสังคม โลก และเอกภพรอบโลกของเรา ที่สำคัญเราต้องการรู้จักและเข้าใจความเป็นอยู่ของตัวเราเอง มีหนังสือจำนวนมากที่เราอ่านเพราะชอบและต้องการอ่าน แต่ก็มีอีกจำนวนมากที่อ่านเพราะต้องอ่าน เพราะเป็นหนังสือดี ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม มีหนังสือภาษาอังกฤษจำนวนมากที่ผมอ่านเพราะชอบและต้องการอ่าน แต่ก็มีอีกจำนวนมากที่อ่าน เพราะต้องอ่านด้วยเหตุที่เป็นหนังสือดี ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม มีหนังสือจำนวนมากเป็นวรรณกรรมสะท้อนบทเรียนแห่งชีวิตและสังคม ทั้งที่เป็นสารคดี และ ที่เป็นนวนิยาย และมีอีกจำนวนมากเป็นวรรณคดีอมตะที่โลกรู้จัก และได้อ่านกันทั้งโลกมาเป็นเวลายาวนาน และจะต้องอ่านกันต่อไปอีกเป็นอมตะกาล หนังสือเหล่านี้ทำให้ผมมองตัวเอง มองโลกรอบตัว มองเอกภพรอบโลกและมองเอกภพอื่น ได้อย่างเข้าใจ ไม่มีสิ่งใดจะให้ความสุขต่อชีวิตเท่ากับความเข้าใจในสรรพสิ่ง และแหล่งที่ให้ความเข้าใจในสรรพสิ่งนั้น คือ ……….หนังสือ หนังสือ ...... สื่อชีวิต สารบาญ
บทนำ 1. A Brief History of Time Stephen Hawking 2. The Earth: A very Short Introduction Martin Redfern 3. The Origin of Species Charles Darwin 4. A Short History of the World H. G. Wells 5. A History of Thailand Chris Baker and Pasuk Phongpaichit 6. The English Governess at the Siamese Court Anna Leonowens 7. The King of Thailand in World Focus The Foreign Correspondents Club of Thailand 8. The Story of Mahajanaka H.M. King Bhumibol Adulyadej 9. A Man Called Intrepid William Stevenson 10. นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ พระราชนิพนธ์แปล จากเรื่อง “A Man Called Intrepid” โดย William Stevenson พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช 11. Casino Royale : James Bond 007 Ian Flaming 12. ติโต พระราชนิพนธ์แปล จากเรื่อง “Tito” โดย Phyllis Auty พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช 13. The End of Poverty Jeffrey Sachs 14. As The Future Catches You Juan Enriquez 15. Thaksin: The Business of Politics in Thailand Pasuk Phongpaichit and Chris Baker 16. Globalization and Its Discontent Joseph Stiglitz 17. The Thaksinization of Thailand Duncan McCargo และ Ukrist Pathmanand 18. How to Become CEO Jeffrey J. Fox 19. Pigs at the Trough Arianna Huffington 20. The Man Who Would be King Rudyard Kipling 21. Sadako and the Thousand Cranes Elizabeth Coer 22. 1984 George Orwell 23. How to Overthrow the Government Arianna Huffington 24. Why CEOs Fail David L. Dotlich and Peter C. Cairo 25. Christmas Books: A Christmas Carol Charles Dickens 26. All My Sons Arthur Miller 27. Brave New World Aldous Huxley 28. The Emperor’s New Clothes Hans Christian Andersen Fairy Tales 29. Ozymandias Percy Bysshe Shelley 30. The Day the Leader Was Killed Naguib Mahfouz 31. The Diagnosis Alan Lightman 32. The Time Machine H.G. Wells 33. A Guide to the End of the World Bill McGuire 34. Small Is Beautiful : Economics As If People Mattered E.F. Schumacher 35. Small is Beautiful: 25 years later….with commentaries E.F. Schumacher ณ กาลเวลา
เรามักจะพูดกันเสมอจนเป็นธรรมชาติว่า “เวลา” นั้นสำคัญ จะคิดจะทำสิ่งใดก็ให้เสร็จตามเวลา “เวลา” เป็นสิ่งมีค่า... เป็นเงินเป็นทอง “เวลา” มีน้อย หมด “เวลา” แล้ว ที่จริงแล้ว “เวลา” มีมาก อาจมีวันหมด หรือไม่มีวันหมด “เวลา” เลยก็ได้ “เวลา” ในอดีต ทำให้เกิด “เอกภพ” หรือ “เอกภพ” ทำให้เกิด “เวลา” หรือไม่ก็ทั้ง “เอกภพ” และ “เวลา” เกิดขึ้นพร้อมกันและดำรงอยู่คู่ขนานกันไป “เวลา” นั้นเกิดก่อนโลก เมื่อโลกแล้ว ก็ดำรงอยู่คู่ขนานไปกับ หรือไม่ก็ถูกครอบคลุมด้วย “เวลา” โลกจะพบจุดจบก่อนจุดจบของ “เวลา” นั้นแน่นอน และประเทศไทยก็จะถึง “เวลา” สูญสลายก่อนที่คนไทยคนใดจะรู้คำตอบที่แท้จริงว่า “เวลา” ที่ว่ามีค่าและจะหมดลงแล้วนั้น หมดจริงหรือเปล่า ความรู้ขั้นแรกที่ชาวไทยต้องรู้ก็คือ “ดินแดนไทยอยู่ส่วนไหนของกาลเวลา? ประเทศไทยสัมพันธ์กับเอกภพเวลาไหน? อย่างไร?” หนังสือเล่มแรกในชีวิตมนุษย์ควรเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเวลาเอกภพ อันเป็นที่มาของโลกมนุษย์ ก่อนที่จะมาเป็นสังคมมนุษย์ และเป็นประเทศของมนุษย์ในแต่ละสังคม หนังสือเรื่อง “A Brief History of Time” โดย “Stephen Hawking” เป็นหนังสือที่ไม่ได้ให้คำตอบทั้งหมด และคำตอบที่ให้ก็ไม่อาจบอกได้ว่าเป็นความจริงทั้งหมด แต่ก็เป็นคำตอบที่ท้าทายให้มนุษย์ค้นหาตัวเองต่อไป |
“A Brief History of Time” โดย Stephen Hawking [Hawking, Stephen, A Brief History of Time, Bantam Books, First Edition, Great Britain, 1988, 211 หน้า, ISBN 0- 553-17698-6] นับแต่เริ่มกำเนิดมนุษย์บนโลก ความสงสัยในที่มาของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตก็เกิดขึ้นพร้อมกัน เมื่อมนุษย์มีความสงสัยใฝ่รู้มากขึ้นคำถามใหญ่ก็ตามมา “เอกภพเกิดขึ้นได้อย่างไร ตั้งแต่เวลาใด?” ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ คือประวัติศาสตร์ของโลก คือประวัติศาสตร์ของเอกภพ คือประวัติศาสตร์ของกาลเวลา “เอกภพเกิดขึ้นได้อย่างไร ตั้งแต่เวลาใด?” เป็นคำถามที่หน้าแรกของตำราประวัติศาสตร์โลก ตำราทุกเล่มไม่เคยมีคำตอบให้เป็นที่พอใจได้ “A Brief History of Time” โดยศาสตราจารย์ Stephen Hawking พยายามหาคำตอบให้จนงานเขียนของท่านเล่มนี้แม้จะเพิ่งพิมพ์เมื่อปี 1988/2531 เท่านั้น แต่ก็กลายเป็นงานอมตะที่ต้องอ่าน เป็นงานวรรณกรรมที่กลายเป็นวรรณคดี เรียกในภาษาอังกฤษว่า “classic” ไปแล้ว กระทั่งในบรรดานักอ่านหนังสือทั่วโลกถามกันเองว่าอ่าน“A Brief History of Time” แล้วหรือยัง นักอ่านที่แท้จริงต้องอ่าน “A Brief History of Time” และ นักอ่านที่แน่จริงต้องอ่าน “A Brief History of Time” ให้เข้าใจด้วย ผู้ซึ่งไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์อ่านแล้วก็ได้ความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีการกำเนิดของเอกภพ และดวงดาวต่างๆ ความคิดเกี่ยวกับเอกภพในอดีต รายละเอียดลึกล้ำเกี่ยวทฤษฎีฟิสิกส์และดาราศาสตร์ แถมด้วยเกร็ดความรู้ปลีกย่อยต่างๆที่เอาไว้เล่าสู่กันฟังในครอบครัว หรือในหมู่เพื่อนฝูงต่อไปได้ “A Brief History of Time” เริ่มด้วยการอธิบายถึงความเข้าใจของมนุษย์ในยุคโบราณว่าโลกแบน ซึ่งต่อมาในปี 340 B.C. Aristotle นักปรัชญาชาวกรีกได้อธิบายไว้ในหนังสือชื่อ “On the Heavens” ว่าโลกกลม แต่ Aristotle คิดว่าโลกลอยนิ่งเป็นศูนย์กลางและดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ และดาวฤกษ์ดวงอื่นโคจรรอบโลก ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่สอง Ptolemy อธิบายเพิ่มเติมถึงระบบสุริยะที่มีโลกเป็นศูนย์กลาง มีดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์อีกห้าดวงโคจรรอบๆ รวมแปดวงโคจร ปี ค.ศ. 1514 นักบวชชาวโปแลนด์ชื่อ Nicholas Copernicus เสนอแนวคิดใหม่ว่าดวงอาทิตย์ลอยนิ่งเป็นศูนย์กลางแล้วโลกกับดวงดาวอื่นๆโคจรรอบดวงอาทิตย์ เวลาผ่านไปเกือบศตวรรษความคิดนี้จึงจะเริ่มได้รับการสนับสนุนและคิดต่ออย่างจริงจังโดยนักดาราศาสตร์สองคน คนหนึ่งเป็นชาวเยอรมันชื่อ Johannes Kepler และอีกคนหนึ่งเป็นชาวอิตาลีชื่อ Galileo Galilei กล้องดูดาวผลงานประดิษฐ์ของ Galileo มองเห็นแม้กระทั่งดวงจันทร์หลายดวงของดาวพฤหัส ซึ่งหมายความว่าดาวดวงอื่นๆมิได้โคจรรอบโลก ส่วน Kepler ก็อธิบายว่าวงโคจรของดวงดาวไม่กลมแต่เป็นวงรี ในปี 1687 Sir Isaac Newton อธิบายเรื่องแรงดึงดูดระหว่างดวงดาวในหนังสือชื่อ “Philosophiae Naturalis Principia Mathematica” ทฤษฎีของ Sir Isaac Newton ทำให้ต้องคิดใหม่ว่าไม่มีอะไรในเอกภพที่หยุดนิ่งเพราะมีแรงโน้มดึงเข้าหากันและแรงผลักออกจากกันอยู่เสมอ ในที่สุดก็มาถึงวันนี้ที่นักวิทยาศาสตร์และมนุษย์ทั่วไปต้องตั้งคำถามใหม่ที่ใหญ่กว่าทุกคำถามว่า “เอกภพ (Universe) เกิดขึ้นได้อย่างไร?” หากหาคำตอบได้ ก็จะได้ดูภาพในอดีตว่า “มนุษย์และสรรพชีวิตทั้งปวงบนโลกของเราเกิดมาอย่างไร?” แล้วจึงค่อยไปหาคำตอบว่า “สิ่งมีชีวิตบนดาวดวงอื่นมีหรือไม่? อย่างไร?” ศาสตราจารย์ Stephen Hawking อธิบายไว้อย่างสนุกว่าภาพเอกภพในอดีตนั้นปรากฎให้เราได้เห็นอยู่ในเวลาปัจจุบันตลอดเวลา อดีตที่มองไม่เห็นก็ยังล่องลอยอยู่ มีเครื่องตรวจวัดเมื่อไรก็คงมองเห็นอดีตได้ ท่านกล่าวตอนหนึ่งว่า “หากดวงอาทิตย์จะหยุดส่องแสง ณ เวลานี้ มันจะไม่มีผลต่อสรรพสิ่งบนโลกในเวลาปัจจุบัน เพราะสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นจะไปอยู่ในเขตเหตุการณ์อื่นขณะที่ดวงอาทิตย์ดับ เราจะรับรู้เรื่องดวงอาทิตย์ดับก็หลังจากผ่านไปแปดนาที เท่ากับเวลาที่แสงจากดวงอาทิตย์เดินทางมาถึงโลก”... “แสงที่เราเห็นจาก Galaxy ที่ห่างไกลออกเดินทางมาจาก Galaxy เหล่านั้นหลายล้านปีมาแล้ว และในกรณีย์ของสิ่งที่อยู่ไกลที่สุดที่เรามองเห็นได้นั้น แสงออกเดินทางมาแปดพันล้านปีมาแล้ว” (หน้า 30) “A Brief History of Time” เสนอให้พิจารณาทฤษฎีมหากัมปนาท หรือ การระเบิดครั้งใหญ่ที่เรียกว่า “hot big bang model” ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบันแล้วว่าสามารถอธิบายต้นกำเหนิดของเอกภพได้น่าเชื่อถือที่สุด “big bang” เกิดเมื่อหนึ่งหมื่นล้านปีมาแล้ว (10,000,000,000) ณ เวลานั้นเอกภพมีขนาดเป็นศูนย์ พลันที่ระเบิด พลังความร้อนพุ่งสูงไม่มีที่สิ้นสุด เอกภพเริ่มขยายตัว อุณหภูมิของการแผ่รังสีจึงเริ่มลดลง หนึ่งวินาทีหลังการระบิดครั้งใหญ่หรือ big bang นั้นอุณหภูมิลดลงเหลือหนึ่งหมื่นล้านองศา (10,000,000,000) ณ ตอนนี้เอกภพส่วนใหญ่จะประกอบด้วยอนุภาคเล็กสุดๆที่เรียกว่า photons, electrons และ neutrinos พร้อมกับเศษธุลีละอองของอนุภาคเหล่านี้พร้อมด้วยอีกบางส่วนที่เรียกว่า protons และ neutrons หนึ่งร้อยวินาทีหลัง “big bang” อุณหภูมิของเอกภพลดลงเหลือหนึ่งพันล้านองศา (1,000,000,000) เกิด helium, lithium และ berylium ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลัง “big bang” การผลิตธาตุ helium และธาตุอื่นๆในเอกภพหยุดลง เอกภพขยายตัวไปอีกประมาณหนึ่งล้านปีโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้นแปลกไปจากเดิมนัก ในเขตที่มีความหนาแน่นกว่าปรกติก็จะชะลอการขยายตัว หยุดขยายตัว เริ่มยุบตัว เขตที่ยุบตัวอาจโดนแรงดึงดูดจากนอกเขตให้ขยับเหวี่ยงหมุนไปบ้างเล็กน้อย ยิ่งยุบตัวเล็กลงมากขึ้นแรงหมุนก็มากขึ้น จนมากพอที่จะสร้างสมดุลกับแรงดึงดูดนอกพื้นที่ได้ นี่เองคือจุดกำเนิดของ galaxies ที่มีลักษณะเป็นจานหมุน ส่วนที่ไม่มีแรงหมุนเหวี่ยงก็เกิดเป็น galaxy แบบวงรี กาลผ่านไป ก๊าซ hydrogen และ helium ในบรรดา galaxies ทั้งหลายก็แตกย่อยเป็นกลุ่มเมฆ ยุบตัวด้วยแรงดึงดูดในตัวของตัวเอง ก๊าซ hydrogen เปลี่ยนเป็น helium มากขึ้น ความร้อนเพิ่มแรงกดดันมากขึ้น หมู่เมฆหยุดการหดตัว คงสภาวะเดิมเป็นเวลายาวนาน สภาวะเช่นว่านี้ก็คือสภาวะการเป็นดาวฤกษ์เช่นดวงอาทิตย์ของเรา ส่วนกลางของดวงดาวจะยุบตัวลงจนมีความหนาแน่นสูงจนเป็น “ดาวนิวตรอน” (neutron star) หรือ “หลุมดำ” (black hole) ส่วนรอบนอกของดวงดาวอาจถูกแรงระเบิดมหาศาลกระจายออกไปเป็น supernova ในบั้นปลายของชีวิตดาวเกิดธาตุที่หนักกว่าแผ่กระจายไปใน galaxy เป็นวัตถุดิบในการสร้างดาวรุ่นใหม่ต่อไป “ดวงอาทิตย์”ของเรามีธาตุหนักเหล่านี้ประมาณ 2% เพราะเป็นดวงดาวรุ่นที่สองหรือรุ่นที่สาม อายุประมาณห้าพันล้านปีมาแล้ว (5,000,000,000) โดยเกิดจากเมฆของกลุ่มก๊าซที่หมุนตัวออกมาจากเศษของ supernova เมฆจากก๊าซเหล่านั้นรวมตัวเกิดเป็นดวงอาทิตย์ของเรา บางส่วนก็ถูกระเบิดพัดกระจายออกไป และส่วนของธาตุหนักปริมาณเพียงเล็กน้อยก็รวมตัวกันเป็นดาวเคราะห์ดวงต่างๆ รวมทั้งดาวโลก (Earth) ของมนุษย์เราด้วย ต่างก็โคจรรอบดวงอาทิตย์ดังปรากฏการณ์ปัจจุบัน พลันที่โลกมนุษย์เกิด โลกร้อนมาก ไม่มีบรรยากาศ ต่อมาค่อยๆเย็นลง ก๊าซจากหินปล่อยออกมาสร้างเป็นบรรยากาศ ยังไม่มี oxygen มีก๊าซอื่นๆที่เป็นพิษซึ่งมนุษย์ปัจจุบันใช้หายใจไม่ได้ จากนั้น atoms รวมตัวเป็นโครงสร้างที่ใหญ่ขึ้นเรียกว่า macromolecules วิวัฒนการในสภาวะที่เหมาะสมรวมกับ atoms อื่นๆในทะเล เพิ่ม ขยายตัว ลองผิดลองถูกตามกระบวนการวิวัฒนาการ บรรยากาศที่เปลี่ยนไปก่อกำเหนิดเป็นสิ่งมีชีวิตเบื้องต้นขนาดเล็กจิ๋ว แล้วตามมาด้วยรูปแบบชีวิตที่สูงกว่า ซับซ้อนกว่า เช่น ปลา สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และในที่สุดก็กำเนิดมนุษยชาติดังที่มีอยู่บนโลกปัจจุบัน นี่คือกำเนิดเอกภพ กำเนิดดวงอาทิตย์และดวงดาวต่างๆ และกำเนิดโลกมนุษย์ตามทฤษฎี “big bang” หรือ “มหากัมปนาท” หรือ “การระบิดครั้งใหญ่” จากบทที่ 8 ของ “A Brief History of Time” ศาสตราจารย์ Stephen Hawking เกิดที่เมือง Oxford ประเทศอังกฤษเมื่อปี 1942 สามร้อยปีพอดีนับจากวันเสียชีวิตของ Galileo ท่านเป็นนักฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ เริ่มการศึกษาวิชาฟิสิกส์ที่ Oxford University ในปี 1958 จนจบในปี 1962 ต่อปริญญาโทและเอกจบในปี 1966 ที่ Trinity College, University of Cambridge ในช่วงหลังจบปริญญาตรีท่านเป็นโรคที่เรียกว่า Amyotrophic Lateral Sclerosis ทำให้กล้ามเนื้อลีบเป็นง่อยต้องนั่งรถเข็น หมดความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกายและการพูดตามปรกติ แต่มันสมองความคิดอ่านยังใช้การได้สมบูรณ์ดี ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์วิชาคณิตศาสตร์ที่ Cambridge ได้รับการยกย่องในวงการวิทยาศาสตร์ว่าเป็นนักคิดวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับแต่ Sir Isaac Newton และ Albert Einstein แต่ท่านไม่เคยได้รับรางวัลโนเบล ทั้งๆที่นักฟิสิกส์รุ่นหลังหลายคนได้รับ และท่านเอ่ยถึงด้วยความชื่นชมผสมอารมณ์ขันเชิงประชดหลายตอนใน “A Brief History of Time” ท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในการอธิบายความซับซ้อนเชิงวิชาการเหล่านั้นให้คนทั่วไปเข้าใจได้ โดยเฉพาะหนังสือสามเล่มของท่าน คือ “A Brief History of Time”, “Black Holes and Baby Universe” และ “ The Universe in a Nutshell” โดยเฉพาะ “A Brief History of Time” เป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดในโลกเล่มหนึ่ง อ่านกันทุกเพศทุกวัยทุกเชื้อชาติศาสนาทั้งๆที่รู้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ เมื่อได้อ่านจริงๆแล้วผู้ที่พอมีความสามรถอ่านหนังสือภาษาอังกฤษทั่วไปก็อ่านได้อย่างสนุก ด้วยภาษาที่ง่าย ศัพท์วิทยาศาสตร์ไม่ซับซ้อน แถมท้ายเล่มยังมีคำอธิบายศัพท์วิทยาศาสตร์ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อให้ผู้อ่านสามัญทั่วไปเข้าใจได้อีก 71 คำ หนังสือประวัติศาสตร์โลกทุกเล่มควรจะต้องเขียนบทที่หนึ่งใหม่ตามนี้ จนกว่ามนุษย์จะรู้จริงไปกว่านี้ หนังสือต่อเนื่อง
---------------------------------------------------------------------------------------------------- โลก ในกาลเวลา เมื่อได้เรียนรู้เบื้องต้นถึงเรื่องกาลเวลาแล้ว ก็พอรู้ที่มาของโลกมนุษย์ตามหลักทฤษฎี โลก ในความหมายของคำภาษาอังกฤษว่า “Earth” หมายถึงโลกทางกายภาค คือโลกทางภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา โดยไม่คำนึงถึงชีวิตหรือสังคมมนุษย์และสัตว์บนโลก ตามความหมายของคำว่า “World” หากจะลำดับตามกาลเวลา “โลก - Earth” เกิดก่อน “โลก – World” ดังนั้นกว่าจะค้นพบประเทศไทยที่เราคนไทยอยู่อาศัยกันมาทุกวันนี้ก็ต้องทำความรู้จักกับโลกทางกายภาคเสียก่อน การมองโลกทั้งใบโดยยังไม่มีคนไทย สังคมไทย และประเทศไทยปรากฏอยู่เลยนั้น มีความสุขยิ่งนัก เพราะยังไม่มีปัญหาอันใดที่จะทำให้ต้องขบคิดหรือตามแก้ อันที่จริงแล้ว ในมุมกว้าง โลกที่มนุษย์ยังไม่เกิดนั้นน่าอยู่ยิ่งนัก เพราะไม่มีปัญหาอันใดเลย “The Earth: A Very Short Introduction” โดย Martin Red Fern ทำให้พอมีจุดเริ่มต้นในการเดินทางย้อนอดีตอันยาวไกลถึงบรรพ์กาล ถึงยังไม่พบประเทศไทย แต่ก็ทำให้รู้ว่าอีกช่วงเวลาหนึ่ง อาจนานสักหน่อย จะมีประเทศไทยบน โลกกายภาคนี้แน่นอน 2 The Earth: A very Short Introduction โดย Martin Redfern [Redfern, Martin, The Earth: A Very Short Introduction, Oxford University Press, New York, 2003, 141 หน้า, ISBN 0-19-280307-7] ”Oxford University Press” สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย Oxford มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก ผู้พิมพ์ The Oxford English Dictionary พจนานุกรมภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดในโลก, The Oxford World’s Classics, หนังสือชุดวรรณกรรมอมตะแห่งโลกตะวันตกที่นำเสนองานเขียนทั้งนวนิยาย และสารคดี แต่โบราณกาล ถึงปัจจุบัน มาบัดนี้ได้เริ่มโครงการหนังสือหนังสือสารคดีวิชาการชุดแนะนำเรื่องสำคัญที่บุคคลคนผู้แสวงหาความรู้สามารถเริ่มต้นอ่านเพื่อสร้างความรู้พื้นฐานได้ หนังสือชุดนี้เรียกว่า ชุด “A Very Short Introduction” หรือ ชุด “บทแนะนำอย่างสั้นมาก” หนึ่งเรื่อง หนึ่งเล่ม อย่างสั้นๆประมาณ 150 หน้า โดยจุดมุ่งหมายก็เพื่อจะให้ทุกคนที่สนใจเรื่องราวความรู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยในชีวิต ได้มีจุดเริ่มต้น ได้มีโอกาสหาความรู้เบื้องต้น สั้นๆ ง่ายๆ ก่อนที่จะหลงใหลใฝ่ฝันเพิ่มพูนความรู้ในเรื่องเดียวกันในระดับที่ละเอียดลึกซึ้ง และซับซ้อนมากขึ้นในขั้นต่อไปของชีวิตผู้แสวงหาความสุขสมบูรณ์แห่งภูมิปัญญา ปัจจุบันหนังสือชุด “A Very Short Introduction” ของมหาวิทยาลัย Oxford พิมพ์ออกมาแล้วกว่า 100 เรื่อง ตามแผนก็จะถึง 200 เรื่องเป็นอย่างน้อย สำหรับเรื่อง The Earth: A very Short Introduction โดย Martin Redfern เป็นลำดับที่ 90 พิมพ์ออกเผยแพร่ในปี 2003 ตรงเวลาที่โลกกำลังทุกระทมด้วยภัยพิบัติจากความพิโรธของโลกมนุษย์อยู่พอดี แผ่นดินไหว ภูเขาไฟ ไฟป่า ผืนดินแล้ง พายุ Hurricane ไต้ฝุ่น Tsunami น้ำท่วม น้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำทะเลสูงขึ้น อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น ชั้น Ozone ในบรรยากาศทะลุเป็นช่องโหว่ นี่คือปรากฏการณ์บนโลก ดาวเคราะห์ที่เรียกว่า Earth เมื่อมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นบนโลก เกิดพืช สัตว์ และเกิดมีมนุษย์ มีกิจกรรม มีสังคม มีชุมชน มีพรมแดนขอบเขตประเทศชาติ “Earth” ก็มีสถานภาพเป็น “World” หรือ “ดาวเคราะห์โลก” กลายเป็น “โลกมนุษย์” เนื่องจากเป็นหนังสือแนะนำให้ความรู้เบื้องต้น “The Earth: A very Short Introduction” โดย Martin Redfern จึงจำกัดคำแนะนำอยู่เฉพาะ Earth คือโลกส่วนที่เป็นดวงดาว ยังไม่ก้าวไปอธิบายเรื่องราวของมนุษย์ เป็นเรื่องราวของดาวเคราะห์โลก หรือ Earth ที่ยังไม่สงบ แม้ว่าอายุของโลกล่วงเลยมาถึงครึ่งทางแล้วก็ตามโลกที่มนุษย์อยู่อาศัยทุกวันนี้เกิดมาเมื่อ 4,500 ล้านปีที่แล้ว และยังเหลือเวลาอีก 5,000 ล้านปี โลกเราก็จะถึงจุดจบ ตามดวงอาทิตย์ที่จะมอดดับหมดแสงสิ้นพลังในเวลานั้น ย้อนกลับไปเมื่อ 4,500 ล้านปีก่อนหน้านี้ ปรากฏกลุ่มเมฆมวลก๊าซมหึมาในเอกภพ อันเป็นผลจากการระเบิดของดวงดาวที่ระเบิดต่อเนื่องมายาวนานสุดประมาณกาลเวลา เมฆหมอกมวลก๊าซค่อยๆรวมตัวกันโดยพลังแรงดึงดูดในตัว กดดันโดยพลังจาก Supernova หรือดวงดาวใกล้เคียงที่เกิดระเบิดขึ้นอีก มวลเมฆหมอกมีการหมุนรอบตัว เพิ่มแรงหมุนเร็วขึ้นตามการหดตัวที่เพิ่มขึ้น ส่งฝุ่นละอองแห่งจักรวาลพวยพุ่งออกไปรอบใจกลางที่กำลังจะเกิดเป็นดาวฤกษ์ดวงใหม่บ กาลเวลาผ่านไป ศูนย์กลางของมวลเมฆซึ่งส่วนใหญ่เป็น Hydrogen และ Helium บีบตัวจนเกิดแรงกดอัดมากพอที่จะเกิดปฏิกิริยา Nuclear แบบรวมตัวระเบิดเป็น Nuclear Fusion ณ จุดศูนย์กลาง เกิดเป็นดวงอาทิตย์ เริ่มส่องแสงส่งพลังไปรอบอาณาจักรวาล จากนั้นลมอันเป็นอนุภาคก็พุ่งฟุ้งกระจายรอบตัว กวาดล้างฝุ่นละอองรอบอาณาบริเวณรอบนอกไกลสุดจากดวงอาทิตย์ Hydrogen และ Helium รวมตัวกันเป็นดาวเคราะห์ที่องค์ประกอบเป็นก้อนก๊าซขนาดยักษ์ คือ Saturn ดาวเสาร์ และ Jupiter ดาวพฤหัส ส่วนที่เป็นละอองน้ำแข็งที่เกิดจากน้ำ ก๊าซ Methane และ Nitrogen ถูกพัดพุ่งไกลออกไปยิ่งกว่า แล้วรวมตัวกันเป็นดาวเคราะห์รอบนอก เป็นวงโคจรของเทหวัตถุเรียกว่า Kupier belt และดาวหาง หรือ Comets สำหรับพื้นที่รอบวงในบรรดามวลหมู่ละอองอานุภาคต่างก็พุ่งเข้าชนกัน บ้างก็รวมกัน บ้างก็แตกกระจัดกระจาย ในที่สุดก็มีบางส่วนที่เกาะตัวกันเป็นกลุ่มก้อน ใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้น เพิ่มแรงดึงดูดมากขึ้น เพิ่มพลังอันเกิดจะการพุ่งกระทบเพื่อรวมตัวมากขึ้น กลายเป็นดาวเคราะห์วงในรอบดวงอาทิตย์ มี Mercury (ดาวพุธ), Venus (ดาวศุกร์), Earth (ดาวโลก), และ Mars (ดาวอังคาร) ความร้อนรุนแรงหลายระดับหลอมละลายวัตถุธาตุต่างๆ ในอัตราที่ไม่เท่ากัน เพราะองค์ประกอบของ มวลวัตถุ มวลก๊าซ และพลังร้อนระอุไม่เท่ากัน การตกตะกอน การลอยตัว การเย็นตัว ยืดตัว และ หดตัวไม่เท่ากัน จึงเกิดเป็นแผ่น เป็นชั้น เหลวก็มี แข็งก็มี ความหนาแน่นต่างๆกัน ที่หนาแน่นมากที่สุดคือแร่ธาตุที่เป็นเหล็ก หรือ Iron ก็จมลงลกสุดเป็นแกนกลางของดวงดาวเคราะห์เช่น Earth หรือดาวโลก กาลเวลาผ่านไป 1,000 ล้านปี เกิดชั้นบรรยากาศ เกิดน้ำ เกิดดินที่เย็นตัวบน พื้นผิวโลก รูปแบบชีวิตขั้นต้นที่คล้ายชีวิตพืชเบื้องต้นก็ถือกำเนิดขึ้น ปูทางไปสู่ชีวิตสัตว์ชั้นต้นที่ใช้ Oxygen หายใจ กินพืชเป็นอาหาร ในอีก 1,100 ล้านปีต่อมา จากนั้นก็วิวัฒนาการเป็นสัตว์ชั้นสูงและ เกิดมนุษย์ เป็นที่มาของโลกซึ่งมนุษย์อยู่อาศัย ใช้และทำลายทรัพยากร อยู่อย่างสามัคคีและอย่างเป็นศัตรูต่อกันและกัน และต่อดวงดาวที่ให้กำเนิดชีวิตเรามาจนทุกวันนี้ “The Earth: A very Short Introduction” โดย Martin Redfern มิได้อธิบายเรื่องของมนุษย์ แต่อธิบายเรื่องของโลกและแผ่นดินของโลก จากแกนในใจกลางสุด ถึงพื้นผิว เทือกเขา และมหาสมุทร จนเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่าดินหินและปรากฏการณ์บนโลกนี้สัมพันธ์กับปรากฏการณ์อันยังไม่สงบใต้เปลือกโลกอย่างไร โลกที่แผ่นดินและเปลือกโลกเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ดังแสดงในภาพที่ชี้ว่าโลกที่ผ่านมา 200 ล้านปีที่แล้ว 20 ล้านปีต่อมา ถัดมาอีก 45 ล้านปี…70 ล้านปี...ถึงปัจจุบัน โลกมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกเสี้ยววินาที ความร้อนละลายใต้โลกยังคงอัดดันระเบิดออกมาเป็นภูเขาไฟไม่หยุดยั้ง แผ่นดินยังสะเทือนเคลื่อนไหวไม่สงบนิ่ง และจะเป็นเป็นเช่นนี้ไปอีกนานเท่ากับกาลเวลา โลกที่มีอดีตยาวลึกย้อนหลังไปไกลเท่ากับกับกาลเวลาเช่นกัน โลกที่มนุษย์ยังไม่เคยรู้จัก และยังไม่เคยได้เห็นอะไรจริงๆเกิน 30 กิโลเมตรใต้พื้นผิวดินอันเป็นส่วนบนสุดของเปลือกโลก โลกของเราลึกลงถึงใจกลาง 6,400 กิโลเมตร ความลึกที่สุดที่มนุษย์พยายามขุดลงไปเพื่อศึกษาก็ทำได้เพียง 11 กิโลเมตร จากผิวดินเท่านั้นเอง มนุษย์ยังรู้จักโลกของตนเองน้อยเหลือเกิน ********************** กำเนิดชีวิต เพื่อมิให้การเดินทางค้นหาประเทศไทยเร็วจนเกินไปจนไม่เห็นความสำคัญของชีวิต กว่าจะเกิดเป็นคนไทยในราชอาณาจักรไทย ต้องเกิดเป็นชีวิตในรูปแบบต่างๆก่อน ถือกำเนิด และวิวัฒนาการชีวิตไปอย่างช้าๆ โดยกระบวนการคัดสรรโดยธรรมชาติ ใครแข็งแรงก็อยู่รอดและพัฒนาพันธุ์ต่อไป นี่คือหลักการของชีวิตที่ Charles Darwin นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษเขียนเป็นทฤษฎีไว้ ส่วนที่เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์กลุ่มพันธุ์หรือสายพันธุ์ไทย ก็จะเป็นวิวัฒนาการทางการเมืองในยุคหลังต่อมา ซึ่งเรื่องหลังนี้เป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ไทย ”The Origin of Species” โดย Charles Darwin มีชื่อเต็ม และยาวว่า “The Origin of Species by Means of Natural Selection or the Preservation of Favoured Races in the Struggle for Life” เป็นหนังสือที่มนุษย์ทุกชาติพันธุ์ต้องอ่าน เป็นหนังสือสำคัญที่ต้องอ่านก่อนพระคัมภีร์ Bible ต้องอ่านก่อนพระไตรปิฎก และต้องอ่านก่อนพระคัมภีร์อัลกุรอ่าน มนุษย์ต้องรู้ต้นกำเนิดของชีวิตตนเองก่อน แล้วจึงจะเลือกทางดำเนินชีวิตที่เหมาะสมและทรงคุณธรรม 3 The Origin of Species by Means of Natural Selection or the Preservation of Favoured Races in the Struggle for Life โดย Charles Darwin [Darwin, Charles, On the Origin of Species ( ชื่อเดิมเมื่อพิมพ์ครั้งแรก : The Origin of Species by Means of Natural Selection or the Preservation of Favoured Races in the Struggle for Life - A Facsimile of the First Edition published in London by John Murray, 1859), Harvard University Press, Cambridge, U.S.A. and London, U.K., 2001, 513 หน้า, ISBN 0-674-63752-6] หนังสือเล่มพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1859 ผู้เขียนคือผู้บุกเบิกงานชีววิทยาและธรรมชาติวิทยา เป็นผู้บอกมนุษย์บนโลกว่า ชีวิตบนโลกกำเนิด เติบโต และเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมมาได้อย่างไร เป็นหนังสือที่ทุกคนในโลกต้องรู้จัก และมนุษย์ทุกคนควรอ่าน The Origin of Species ต้นกำเนิดสรรพชีวิตชนิดพันธุ์ต่างๆ เขียนโดย Charles Darwin หาก Charles Darwin ยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะคิดอย่างไรกับความผันแปรของมวลหมู่ชีวิตบนโลก ซึ่งอาศัยเทคโนโลยีชีวภาพ พันธุวิศวกรรมศาสตร์ การตัดแต่งองค์ประกอบทางพันธุกรรม เพื่อสร้างสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ มากมาย ภายในเวลาอันสั้นไม่กี่ปี หรือบางที บางที่ ก็ทำได้ภายในเวลาไม่กี่วัน ในช่วงชีวิตของ Charles Darwin การศึกษาสิ่งมีชีวิตบนโลก ทั้งพืช สัตว์ และ มนุษย์ ต้องอาศัยการทดลองภาคสนาม ในธรรมชาติจริง และต้องคอยกาลเวลาตามธรรมชาติไม่ว่าจะนานสักเท่าใด เป็นกระบวนเปลี่ยนแปลงรูปแบบพันธุกรรม Charles Darwin ต้องปลูกพันธุ์ไม้หลายแปลง หลากพันธุ์ ผสมเกสรข้ามพันธุ์ ข้ามดอก ข้ามแปลง แล้วคอยให้กาลเวลาและฤดูกาล หาคำตอบให้ นอกจากนั้น ท่านก็ต้องเดินทางไปในดินแดนห่างไกลเพื่อสังเกต ศึกษา เก็บข้อมูลความรู้มาเปรียบเทียบ เพื่อหาคำตอบว่าสิ่งมีชีวิตต่างๆ มีความเป็นมาอย่างไร ในปี ค.ศ.1831 Charles Darwin เดินทางไปกับเรือชื่อ HMS Beagle นาน 5 ปี เพื่อสำรวจธรรมชาติในอเมริกาใต้ โดยเฉพาะพืชและสัตว์บนหมู่เกาะ Galapagos แหล่งรวมธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ที่สุดของโลก ในประเทศ Ecuador หลังจากเดินทางกลับอังกฤษแล้ว Charles Darwin ศึกษาค้นคว้าต่อไปอีกนานถึง 23 ปี ท่านจึงยอมสรุปงานศึกษาค้นคว้าวิจัยธรรมชาติของท่าน เขียนออกมาเป็นหนังสือชื่อ “The Origin of Species by Means of Natural Selection or the Preservation of Favoured Races in the Struggle for Life” หรือที่รู้จักกันในแบบชื่อย่อว่า “The Origin of Species” จากชื่อก็จะเห็นว่าเป็นความพยายามที่จะศึกษา เพื่อทำความรู้จักกับต้นกำเนิดของชนิดและกลุ่มพันธุ์สิ่งมีชีวิตต่างๆบนโลกมนุษย์ ซึ่งการศึกษาค้นคว้าและทดลอง แต่เริ่มแรกจน Charles Darwin มีอายุถึง 50 ปี นั้นสรุปได้ว่า ธรรมชาติ และกาลเวลา จะปรับปรุงคัดสรรความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เหลือพันธุ์ที่จะเหมาะสมที่สุดที่อยู่รอด และเติบโตต่อไป ดังชื่อหนังสือที่แปลความได้ว่า “ต้นกำเนิดของกลุ่มพันธุ์ชีวิต โดยกระบวนการคัดสรรของธรรมชาติ หรือการรักษากลุ่มพันธุ์ที่ธรรมชาติพอใจ ในการต่อสู้เพื่อชีวิต” อันเป็นที่มาของทฤษฎีที่นักวิทยาศาสตร์มาตั้งชื่อกันภายหลังว่า “ทฤษฎีวิวัฒนาการ” หรือ “Theory of Evolution” หรือที่พูดเป็นวลีที่คุ้นเคยว่า “Survival of the Fittest” แปลว่า “ใครปรับตัวได้ดีก็อยู่รอด” “ใครดีใครอยู่” ชีวิตใดที่ปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมของโลกได้ดีที่สุด ชีวิตนั้นก็ยั่งยืนอยู่กับโลกได้ อันที่จริงในหนังสือ “The Origin of Species” นั้น Charles Darwin มิได้ใช้คำว่า “Evolution” หรือ “วิวัฒนาการ” มิได้ใช้วลี “Survival of the Fittest” เพื่อให้คำนิยาม หรือ อธิบายทฤษฎีของท่านเลย คำหลักที่ท่านใช้อธิบายวิวัฒนาการ คือ “Natural Selection” หมายถึงพลังคัดสรรของธรรมชาติ ซึ่งในที่สุดจักทำหน้าที่รักษาชีวิตที่เหมาะสมที่สุด มีพลังเข้มแข็งที่สุด ที่จะสามารถทนสภาวะแวดล้อมรุนแรงของทำธรรมชาติที่กดดันอยู่ตลอดเวลา ให้ดำรงชีวิต และเผ่าพันธุ์อยู่ได้ คำว่า “Bio-Diversity” หรือ “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ที่ใช้กันมากในปัจจุบัน ในสมัยของ Charles Darwin ก็ยังไม่มีคำนี้ใช้ แต่ท่านใช้คำว่า “Variation” หมายถึงความผันแปรหลากหลายของสายพันธุ์แห่งมวลหมู่สรรพชีวิตตามธรรมชาติ ที่แวดล้อมไปด้วยแรงกดดันต่างๆกัน ซึ่งก็มีความหมายทำนองเดียวกันกับ “Bio-Diversity” คำว่า “Variation” หรือสายพันธุ์ที่หลากหลายในธรรมชาตินั้น เป็นความสำคัญพื้นฐาน เป็นผลพวงของวิวัฒนาการ “The Origin of Species” โดย Charles Darwin มีรวมทั้งสิ้น 14 บท 3 ใน 14 บท คือบทที่ 1 บทที่ 2 และ บทที่5 ให้รายละเอียดเรื่อง Variation หรือความแตกต่างหลากหลายของสายพันธุ์ อย่างละเอียดลึกซึ้ง เริ่มบทที่ 1 Variation Under Domestication ว่าด้วยเรื่องความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ ที่มนุษย์ปลูกและเลี้ยงในครัวเรือน บทที่ 2 Variation Under Nature ว่าด้วยเรื่องพันธุ์พืชและสัตว์ที่เติบโตเองในธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ต้องต่อสู้เพื่อการอยู่รอดดังอธิบายใน บทที่ 3 Struggle for Existence การต่อสู้และอยู่รอดด้วยพลังของธรรมชาติในการคัดสรรชีวิต เหนือพลังความสามารถของมนุษย์ ที่แม้จะพยายามจะคัดสรรตัดแต่งแปลงพันธุ์เอาเอง ก็ไม่มีทางเอาชนะเหนือธรรมชาติได้ ดังปรากฏในบทที่ 4 ต่อไป บทที่ 4 Natural Selection หลังการคัดสรรโดยธรรมชาติแล้วจึงได้บทสรุปเป็นกฎแห่งความหลากหลายของชีวิตทั้งมวล บทที่ 5 Laws of Variation เป็นการอธิกายกฎเกณฑ์ของความหลากหลายของชีวิต จากนั้น Charles Darwin จึงต่อไปอธิบายปัญหาของทฤษฎีในครึ่งหลังของหนังสือ Charles Darwin กล่าวตอนหนึ่งว่า: “เมื่อเราดูพืชและสัตว์ที่ปลูกและเลี้ยงกันมาแต่เก่าก่อน แต่ละต้น แต่ละตัว ที่อยู่ในสายพันธุ์ หรือสายพันธุ์ย่อยกลุ่มเดียวกัน หนึ่งในสิ่งแรก ที่ทำให้น่าสนใจก็คือว่า มันแตกต่างกันมากในหมู่พวกกันเอง ยิ่งกว่าความแตกต่างระหว่างพืชและสัตว์ต่างสายพันธุ์กัน ที่เติบโตเองตามธรรมชาติ” ข้อสรุปนี้บอกชัดว่า ตัวแปรสำคัญของวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตนั้นคือ ธรรมชาติ โดย ธรรมชาติเอง และมนุษย์ที่เอาพืชมาปลูก เอาสัตว์มาเลี้ยง เป็นเพียงกระบวนการเปลี่ยนธรรมชาติของธรรมชาติให้มาอยู่ในกำกับของมนุษย์ เท่านั้น แต่ Charles Darwin ก็ยืนยันชัดเจนว่า มนุษย์สร้างชีวิตพันธุ์ใหม่โดยไม่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ และสายพันธุ์ดั้งเดิมไม่ได้ “มนุษย์มิได้เป็นผู้สร้างความหลากหลายของเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิต” Charles Darwin กล่าวในบทที่ 14 บทสรุปสุดท้ายของหนังสือที่เริ่มต้นวิชาธรรมชาติวิทยา และ ชีววิทยาของมนุษยชาติ ท่านเตือนถึงความจำกัดของมนุษย์ในการสร้างสัมพันธ์กับธรรมชาติว่า มนุษย์ : “เพียงแต่นำสิ่งมีชีวิตมาให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขใหม่ของชีวิต โดยไม่ได้ตั้งใจ แล้วปล่อยให้ธรรมชาติเป็นผู้จัดการ จนยังผลก่อเกิดเป็นความหลากหลายของสายพันธุ์ชีวิตใหม่ แต่ว่ามนุษย์สามารถเลือกสายพันธุ์ที่ธรรมชาติส่งมอบมาให้เลือกได้ สะสมเลี้ยงดูต่อไปตามประสงค์ แล้วปรับสัตว์และพืชใช้เพื่อผลประโยชน์หรือความพึงพอใจของมนุษย์เอง มนุษย์อาจทำอย่างเป็นระบบ หรืออาจทำโดยไม่รู้ตัว โดยเก็บรักษาพันธุ์ที่ให้ประโยชน์สูงสุดเอาไว้ ในตอนนั้น โดยไม่คิดจะไปปรับปรุงแก้ไขสายพันธุ์แต่ประการใด” ทำเพียงแต่เท่านี้ มนุษย์ก็มีส่วนในการแผ่อิทธิพลต่อวิวัฒนาการมากแล้วตามกาลเวลาที่ผ่านมา ตามหลักคิดของทฤษฎี “การคัดสรรโดยธรรมชาติ” หรือ “Natural Selection” ในหนังสือ “The Origin of Species” ของ Charles Darwin ซึ่งอาจอนุโลมเรียกตามแบบสมัยใหม่ว่า “ทฤษฎีวิวัฒนาการ” หรือ “Evolution” ก็ได้นั้น สิ่งมีชีวิตทั้งปวงอาจจะเริ่มต้นกำเนิดเดียวกันครั้งที่โลกเกิดมาใหม่ๆ แต่ด้วยธรรมชาติ และอิทธิพลของมนุษย์ ที่วิวัฒนาการไปกับกาลเวลา โลกมนุษย์ปัจจุบันจึงอุดมไปด้วยรูปแบบชีวิต ที่หลากหลาย จนต้องแบ่งตามหลักวิชาชีววิทยา เป็น Phylum Class / ชั้น Order / ลำดับ Family / ตระกูล Genus / พันธุ์ Species / กลุ่มพันธุ์ Variety / สายพันธุ์ และ Sub-Species / กลุ่มพันธุ์ย่อย ดังที่อธิบายไว้ในบทที่ 1 ว่าด้วยเรื่องความหลายหลายของสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์เลี้ยงเอง ปลูกเองในครัวเรือน ในบทที่ 9 : “On the Imperfection of the Geological Record” ว่าด้วยเรื่องหลักฐานทางธรณีวิทยาที่ไม่สมบูรณ์ Charles Darwin กล่าวว่า : “สิ่งมีชีวิตกลุ่มพันธุ์เดียวกัน ล้วนเชื่อมโยงได้กับกลุ่มพันธุ์พ่อแม่ของแต่ละพันธุ์ โดยมีความแตกต่างไม่มากไปกว่าความแตกต่างที่เราเห็นได้ระหว่างสายพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่มพันธุ์เดียวกันในปัจจุบัน และกลุ่มพันธุ์พ่อแม่เหล่านี้ แม้ปัจจุบันโดยทั่วไปจะสาบสูญไปหมดแล้ว ก็เชื่อมโยงกับกลุ่มพันธุ์บรรพบุรุษแต่โบราณเช่นกัน และเชื่อมโยงย้อนหลังต่อๆไปเช่นนี้ ไปสู่บรรพบุรุษเดียวกันของแต่ละชั้นเดียวกัน” หากชีวิตเป็นไปตามทฤษฎีของ Charles Darwin ดังที่ว่านี้ ปัญหาก็คือ ร่องรอยการเชื่อมต่อในแต่ละช่วงของวิวัฒนาการหายไปไหนหมด ทั้งที่ยังเป็นชีวิตอยู่ หรือที่ล้มตายไปแล้ว ทำไมจึงมองหาไม่พบเลย ที่ว่ามนุษย์วิวัฒนาการมาจากลิง หากเป็นจริง ชีวิตแบบที่อยู่ระหว่างกลาง จากลิง มาเป็นมนุษย์ นั้น ทำไมจึงไม่มีให้เห็น ซากดึกดำบรรพ์ที่เป็นกลุ่มพันธุ์ระหว่างทาง ที่เชื่อมต่อระหว่างกลุ่มแรก กับกลุ่มที่สาม ซึ่งควรจะเป็นกลุ่มที่สอง หายไปไหนกันหมด นกพิราบพันธุ์หางพัด กับ พันธุ์คอพอง เกิดมาจากต้นสายพันธุ์นกพิราบป่าพันธุ์ นกพิราบหินพันธุ์เดียวกัน ทำไมจึงหานกพิราบที่หางเป็นพัดและคออวบพองด้วยไม่ได้ Charles Darwin อธิบายรอยเชื่อมต่อที่หายไป (The Missing Links) นี้ในบทที่ 9 -10-11 และ 12 ว่า หลักฐานทางธรณีวิทยาที่ควรจะมีอยู่ให้เห็นได้ถูกธรรมชาติและกาลเวลาอันยาวนานทำลายไปหมดสิ้น หรือหากยังเหลือก็ยังค้นหาไม่พบ โลกนี้กว้างเกินกว่าที่มนุษย์จะขุดค้นหาอดีตทุกตารางนิ้วได้ การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ที่ค่อยๆค้นพบในโลกปัจจุบันโดยรวมจะเป็นการค้นพบโดยบังเอิญมากว่า นอกจากนั้น การกระจายถิ่นเติบโตของพืชและสัตว์ไปตามที่ต่างๆที่มีความหลากหลายและมีระยะทางห่างไกลกันจากถิ่นกำเนิดเดิมของกลุ่มพันธุ์พ่อแม่ จากน้ำสู่เขา จากบกสู่ทะเล จากมหาสมุทรสู่เกาะ ล้วนเป็นตัวแปรที่ทำให้การบันทึกหลักฐานทางธรณีวิทยาไม่สมบูรณ์ทั้งสิ้น เรื่องนี้ Charles Darwin ต้องอธิบายมากเป็นพิเศษ เพราะ ความสำเร็จของทฤษฎีการคัดสรรโดยธรรมชาติ อยู่ที่ความกระจ่างในเรื่องภาพต่อเนื่องจากอดีตที่แสนยาวนานดึกดำบรรพ์ มาถึงศตวรรษที่ 19 อันเป็นยุคของช่วงชีวิต Charles Darwin ยุคที่มนุษย์ยังเชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้ทรงสร้างโลกสร้างมนุษย์ สร้างชีวิตทั้งปวง ทุกอย่างพระองค์สร้างเสร็จใน 7 วัน มาจนถึงปัจจุบันนี้ ศตวรรษที่ 21 มนุษย์กำลังทำ ทั้งผสมเทียม ทั้งปรุงแต่งดัดแปลงชีวิต และสร้างชีวิตใหม่ มนุษย์กำลังเริ่มไม่เชื่อในพระเจ้ากันมากขึ้นแล้ว มนุษย์กำลังจะกลายเป็นพระเจ้าเองแล้ว ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ Genome - แผนที่พันธุกรรมชีวิต GMO – การแปลงโครงสร้างของพันธุ์ชีวิต Cloning – การสร้างชีวิตใหม่เหมือนทำสำเนาแบบจากต้นกำเนิดชีวิตเดิม Charles Darwin มิอาจมีชีวิตอยู่ได้นานพอที่จะเห็นมนุษย์ในยุคปัจจุบันทำตัวเป็นพระผู้เป็นเจ้าเองได้ แต่ท่านก็กล่าวไว้เมื่อประมาณ 150 ปีที่แล้วว่า ธรรมชาติเท่านั้นที่เป็นผู้สร้างชีวิตได้ ธรรมชาติสร้างแล้วคัดสรรชีวิตที่เหมาะสมให้อยู่รอดสืบสายพันธุ์ จรรโลงโลกต่อไป มนุษย์ทำได้เพียงเลือกปรับแต่งใช้ชีวิตให้เกิดประโยชน์ตามควรเท่านั้น Charles Darwin เสี่ยงมากที่พิมพ์เผยแพร่ The Origin of Species เพราะเป็นความรู้ใหม่ที่ขัดแย้งกับพระเจ้า และลดบทบาทของพระเจ้าไปเกือบสิ้น แต่มนุษย์ในโลกปัจจุบันกำลังเสี่ยงยิ่งกว่า Charles Darwin เพราะมนุษย์วันนี้กำลังทำตัวเป็นพระเจ้าเสียเอง หมายเหตุ หนังสือ “The Oriigin of Species” ของ Charles Darwin เป็นหนังสือที่โด่งดังมากที่สุดในโลกที่มนุษย์ทุกคนต้องอ่าน จึงมีการพิมพ์หลายครั้งหลายรูปแบบ ตั้งแต่การพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1859 สำหรับเล่มที่ใช้อ้างอิงในบทความนี้เป็นการพิมพ์สำเนาเหมือนต้นฉบับเดิมในปี ค.ศ. 1859 ทุกประการ รวมทั้งปกเดิมที่ปรากฏในหน้า iii ********************** เริ่มเวลาประวัติศาสตร์ แล้วก็ถึงเวลาของประวัติศาสตร์โลกมนุษย์ หากไม่มีเวลา ก็ไม่มีประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มคิดว่าหากไม่มีมนุษย์ก็ไม่มีประวัติศาสตร์ และหากมนุษย์เกิดมาไม่มีปัญหา ไม่คิดทำอะไรเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรเลย มนุษย์ก็ไม่มีประวัติศาสตร์เหมือนกัน นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มคิดไปไกลถึงว่าหากมนุษย์มีประวัติศาสตร์แล้ว เกิดสร้างชีวิตและสังคมได้สมบูรณ์จนหมดความจำเป็นที่จะต้องทำกิจกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงโลกและสังคมอีกแล้ว มนุษย์ก็หยุดนิ่ง ประวัติศาสตร์ก็ยุติ ความเป็นมนุษย์ก็หมดค่าไร้ความหมาย นักปราชญ์ไทยเขียนประวัติศาสตร์ช้ากว่าชาวตะวันตก และชาวตะวันออกชาติอื่นมาก เรื่องราวของคนไทยด้วยกันเองจึงถูกเขียนโดยชาวตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ อาจเป็นเพราะคนไทยเห็นความสำคัญของสังคมตนเองน้อยไป หรือไม่ก็ ยังไม่มีสังคมไทย มีแต่คน ที่ต่างคนต่างอยู่ ไม่ใยดีจะรวมตัวกันเป็นสังคม หรือเป็นชนชาติกลุ่มเดียวกัน หนังสือประวัติศาสตร์โลกนั้นมีมากมายนับร้อยนับพัน แต่ “A Short History of the World เขียนโดยนักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่โด่งดังชื่อ Herbert George Wells มีลักษณะแปลกไปจากตำราประวัติศาสตร์ธรรมดาทั่วไป โดยเฉพาะในอังกฤษ ปี ค.ศ. 1922 คนที่อ่านหนังสือประวัติศาสตร์โลกเล่มนี้ แล้วจะชม H.G. Wells ว่าเป็นครูประวัติศาสตร์ที่เขียนเรื่องจริงได้อย่างชนิดที่อ่านแล้วเพลินเหมือนอ่านนวนิยาย เพราะวิธีการเขียนที่วิเคราะห์ภาพรวมของสังคมโลกในมุมกว้าง มากกว่าที่จะวิเคราะห์เหตุการณ์แยกย่อยที่เป็นกิจกรรมของมนุษย์ การเดินทางย้อนอดีตเข้าใกล้ราชอาณาจักรไทยเข้าไปทุกทีแล้ว เฉพาะใน “A Short History of the World” โดย H.G. Wells นี่เริ่มมองเห็นความสำคัญของเอเชีย และปรัชญาชีวิตของผู้คนในเอเชียบ้างแล้ว 4 “A Short History of the World” โดย H. G. Wells [Wells, H. G., A Short History of the World, First Published 1922, England, Published in Penguin Books 1936, Reprinted in Penguin Books 1967, Reprinted with a new Introduction in Penguin Books, London, 1991, 320 หน้า, ISBN 0 14 01.8438 4] Herbert George Wells หรือ H.G.Wells เป็นชาวอังกฤษ มีชื่อเสียงอมตะในฐานะนักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ผู้มองโลกในอนาคตด้วยจินตนาการที่กว้างไกลเกินจินตนาการร่วมสมัย ผลงานของท่านโด่งดังมาตั้งแต่เมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว ที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดจนนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ก็มีหลายเรื่องเช่น “The Time Machine” (1895), The Island of Doctor Moreau” (1896), “The Invisible Man” (1897), “The War of the Worlds” (1898), “The First Men in the Moon” (1901) และ “The Shape of Things to Come (1933) แต่ H.G.Wells นั้นเริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นครูช่วยสอนตั้งแต่อายุ 15 ปีขณะเรียนชั้นมัธยม เมื่อเรียนจบปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิตก็ยังคงได้งานครูต่อไป ฉะนั้นงานเขียนหนังสือเล่มแรกของท่านจึงเป็นตำราเรียนชีววิทยาชื่อ “A Text Book of Biology” (1893) หลังจากนั้นสองปีงานชิ้นเอก “Time Machine” ได้รับการตีพิมพ์ทำให้ H.G.Wells มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก จนปัจจุบันแม้ท่านจะจากโลกไปแล้วกว่ากึ่งศตวรรษ นวนิยายวิทยาศาสตร์ของท่านหลายเรื่องยังได้รับความสนใจอ่านกันด้วยความชื่นชมเป็นอมตะวรรณกรรม แต่ H.G.Wells มีงานเขียนตำราอีกสองเล่มที่โลกรู้จักและโด่งดัง เป็นที่นิยมอ่านกันมาก โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษในช่วงชีวิตของท่าน แม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีใครกล่าวถึงกันนักเลยก็ตาม ตำราสองเล่มนั้นเป็นตำราประวัติศาสตร์โลก ชื่อ “The Outline of History” (1920) และ “A Short History of the World” (1922) ท่านเขียน “The Outline of History” ก่อนโดยใช้ชื่อเต็มว่า “The Outline of History : Being a Plain History of Life and Mankind” เป็นตำราประวัติศาสตร์เต็มรูปแบบทั้งเนื้อหาและแผนที่รวมทั้งภาพประกอบ แบ่งเป็นสองเล่ม (เล่มที่ผมมีที่บ้านเป็นปกแข็งรวมสองเล่มเป็นเล่มเดียวกันพิมพ์เมื่อปี 1927 โดย MacMillan Company, New York รวมความยาวถึง 1190 หน้า) ด้วยเหตุที่เป็นตำราที่มีความยาว ละเอียดลึกซึ้งใช้เวลาอ่านมากและแถมสร้างปัญหาในหมู่นักวิชาการโดยเฉพาะฝ่ายศาสนาในสมัยนั้นที่คัดค้านเนื้อหาบางตอนที่พาดพิงฝ่ายศาสนาคริสต์ในทางลบ สองปีต่อมา (1922) H.G.Wells จึงเขียน “A Short History of the World” เล่มใหม่ย่อลงจนเหลือประมาณหนึ่งในสี่ของเล่มแรก “A Short History of the World” จึงเหมาะสำหรับการอ่านรวดเดียวจบระหว่างการเดินทางหรือเมื่อว่างอยากรู้จักโลกภายในหนึ่งวัน “A Short History of the World” ก็เช่นเดียวกับ “The Outline of History” ที่เป็นตำราแบบบรรยายเรื่องโดยไม่ต้องมีเอกสารอ้างอิง ไม่มีเชิงอรรถ (footnote) ให้เกะกะสายตา ผู้อ่านก็ต้องยอมเชื่อผู้เขียนว่ารู้จริง แม้ H.G.Wells จะเป็นครูมาก่อนแต่หลังจากเขียน “The Time Machine” แล้วก็ยึดอาชีพนักเขียนเป็นงานเลี้ยงชีพอย่างเดียว ในเมื่อมีชื่อเสียงทางด้านนวนิยายวิทยาศาสตร์ (สมัยนั้นคำว่า “Science Fictions” ยังไม่มีใช้กัน งานของ H.G.Wells จึงมักจะเรียกกันว่า “scientific romances”, “scientific fantasies” หรือ “science-fantasy novels”) แต่ยังกล้ามาเขียนตำราวิชาการขนานไปกับงานนวนิยายและเรื่องสั้น ก็เลยทำให้ความสามารถเชิงวิชาการของ H.G.Wells ถูกท้าทายมาก โดยเฉพาะจากฝ่ายคริสตจักรซึ่งโกรธมากที่ถูกวิจารณ์ในตำราประวัติศาสตร์ทั้งสองเล่ม H.G.Wells วิเคราะห์ปัญหาของศาสนาคริสต์ในศตวรรษที่ 11 ว่าสะสมความมั่งคั่ง แข่งแย่งอำนาจกับสถาบันกษัตริย์ และพระสันตะปาปาก็มักจะอยู่ในตำแหน่งจนสูงพระชนม์แม้เลอะเลือนทำอะไรไม่ได้ก็ไม่มีระบบสื่บทอดตำแหน่งที่ชัดเจน Bernard Bergonzi วิจารณ์ในหนังสือ “H.G.Wells : A Collection of Critical Essays” ในปี 1976 ว่า H.G. Wells เขียนประวัติศาสตร์โดยใช้จินตนาการของตนเองที่มีความกดดันจากชีวิตที่ต้องต่อสู้กับปัญหาส่วนตัวและการหางานทำเพื่อสร้างอนาคต H.G.Wells เขียนประวัติศาสตร์ไม่ใช่เพื่อให้รู้จักอดีตแต่เขียนประวัติศาสตร์เพื่อตำหนิอดีตและหาทางให้อนาคตดีกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม Norman Stone ผู้เขียนบทนำให้กับ “A Short History of the World” ฉบับ Penguin Books ลิขสิทธิ์ปี 1991 วิจารณ์ว่า H.G.Wells ไม่สามารถจะมองเห็นและอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างศาสนาคริสต์ในยุคกลางต่อกับยุโรปยุคใหม่หรือยุคปฏิวัติชนชั้นกลางได้ ทำให้เนื้อหาประวัติศาสตร์สมัยกลางอ่อนไปแต่ความรู้ของ H.G.Wells ในส่วนโลกสมัยโบราณนั้นดีพอใช้ทีเดียว สำหรับผู้อ่านชาวไทย หากได้มีโอกาสอ่าน “A Short History of the World” หรือจะดียิ่งขึ้นไปอีกหากได้อ่าน “The Outline of History” อาจจะประทับใจในความใจกว้างและความรอบรู้ของ H.G.Wells เกี่ยวกับโลกที่ไม่ใช่ตะวันตก H.G.Wells ให้ความสำคัญกับรัสเชีย ตะวันออกกลาง จีนและเอเชียมาก โดยเฉพาะเรื่องศาสนา ทั้งอิสลามและพุทธศาสนา จนบางทีอาจทำให้รู้สึกว่าท่านไม่พอใจศาสนาในสังคมตะวันตกจนหันมายกย่องชื่นชมศาสนาอิสลามและพุทธศาสนาเป็นทางเลือกใหม่หรือทางเปรียบเทียบ ใน “A Short History of the World” บทที่ XXVIII (The Life of Guatama Buddha) ท่านยกย่องพระพุทธเจ้าว่า “เป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ผู้ซึ่งเกือบจะเรียกได้ว่าปฏิวัติความคิดและความรู้สึกทางศาสนาทั้งทวีปเอเชีย” หลังจากอธิบายพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยย่อแล้ว H.G. Wells วิเคราะห์ว่า “หัวใจสำคัญในคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอภิปรัชญาที่ละเอียดลึกซึ้ง (metaphysical = อภิปรัชญา ว่าด้วยหลักเบื้องแรกของสิ่งทั้งหลาย) ไม่ง่ายนักที่จะทำความเข้าใจ ไม่เหมือนกับที่พวกกรีกสั่งให้เห็นให้รับรู้โดยปราศจากความกลัวและอย่างถูกต้องชอบธรรม ไม่เหมือนกับพวกฮิบรูว์ที่สั่งให้กลัวในพระเจ้าและทำแต่ความดีงาม คำสอนของพระพุทธองค์นั้นไกลถึงขนาดเกินไป จนแม้กระทั่งสานุศิษย์ของพระพุทธองค์รุ่นแรกจะเข้าใจได้ด้วยซ้ำไป และไม่น่าประหลาดใจเลยที่ทันทีที่สิ้นพระองค์ไปแล้วศาสนาพุทธก็เริ่มผิดเพี้ยนและผิวเผิน” “A Short History of the World” มีเสน่ห์มากที่บทเริ่มแรกของโลก ในบทที่ I ถึงบทที่ XI จากเอกภพในอวกาศ ผ่านกาลเวลา เริ่มปรากฎสิ่งมีชีวิต ปลา สัตว์เลื้อยคลาน นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ลิง มนุษย์สมัยโบราณ จนถึงมนุษย์ที่ปรากฎในปัจจุบันเรียกว่า “มนุษย์แท้จริง” ยุคแรก (บทที่ XI “The First True Men”) นับเป็นตำราประวัติศาสตร์โลกที่พยายามอธิบายโลกยุคที่อธิบายได้ยากอย่างละเอียดดีเยี่ยม H.G.Wells เขียน “A Short History of the World” ออกเผยแพร่เมื่อปี 1922 ขณะอายุ 56 ปี เป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ปีเดียวกับที่ T. S. Eliot เขียน “The Waste Land” หนึ่งปีหลัง Albert Einstein ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ 47 ปีก่อนยาน Apollo 11 ไปลงดวงจันทร์ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อวกาศยังไม่มากเท่า แต่นับเป็นความกล้าหาญทางวิชาการของท่านเป็นอย่างมากที่ใช้วิทยาศาสตร์เท่าที่มีในยุคสมัยผสมกับการมองการณ์ไกลที่ปัจจุบันเรียกว่าวิสัยทัศน์ แต่สมัยของท่านอาจเรียกว่า “จินตนาการ” ทำให้ “A Short History of the World” เป็นหนังสือที่อ่านสนุกอ่านง่าย อ่านแล้วรู้ว่า H.G.Wells เขียนได้ทั้งประวัติศาสตร์ เขียนได้ทั้งอนาคต และทั้งสองอย่างมนุษย์ปัจจุบันก็ยังเขียนแล้วเขียนอีกไม่จบสิ้น Herbert George Wells เป็นชาวอังกฤษ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1866 เรียนชั้นต้นที่โรงเรียนราษฎร์ใน Bromley จบปริญญาตรีวิชาชีววิทยาที่ Royal College of Science ทำงานเป็นนักเรียนช่วยครูสอน เป็นผู้ช่วยงานร้านเย็บผ้าม่าน เป็นครูสอนระดับมัธยม และเป็นอาจารย์ช่วยสอนที่วิทยาลัยสอนทางไกล ก่อนที่จะมาทำงานเป็นนักเขียนอาชีพ ก่อนเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1946 ท่านเขียนหนังสือกว่า 80 เล่ม ทั้งตำราวิชาการ นวนิยายวิทยาศาสตร์ นวนิยายชีวิต นวนิยายเชิงปรัชญา บทความสารพัดสาระความรู้ เฉพาะที่รวบรวมได้ในห้องสมุดเมือง Bromley งานเขียนของ Herbert George Wells มีถึง 675 ชิ้น รวมงานเขียนอื่นที่เกี่ยวข้องกับท่าน ทั้งหนังสือ บทความ เอกสาร ภาพถ่าย ภาพวาด ฯลฯ ห้องสมุด Bromley มีถึง1296 รายการ (The Catalogue of the H. G. Wells Collections in the Bromley Public Libraries, SBN 09010002 02 X, edited by A. H. Watkins F. L. A., London Borough of Bromley Public Libraries, Bromley, 1974) ********************** 5 A History of Thailand โดย Chris Baker and Pasuk Phongpaichit [Baker, Chris and Pasuk Phongpaichit, A History of Thailand, Cambridge University Press, New York, 2005, 301 หน้า, ISBN 13 978-0-521-81615-7 (hb), ISBN 10 0-521=01647 (ppb)] ] ปัญหาของประวัติศาสตร์อยู่ที่ไหน? คำถามนี้ต้องตอบว่า ปัญหาของประวัติศาสตร์อยู่ที่... ...คนเขียนประวัติศาสตร์ แล้ว... ...ปัญหาของคนเขียนประวัติศาสตร์ไทยอยู่ที่ใด คำตอบก็คือ... คนเขียนประวัติศาสตร์ไทยมีอยู่คนเดียว คือ “กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” เมื่อเห็นชื่อ Chris Baker กับ ผาสุก พงษ์ไพจิตร ในฐานะคู่เขียน A History of Thailand ประวัติศาสตร์ไทยภาคภาษาอังกฤษ แล้วก็คิดถึงปัญหาใหญ่ของประวัติศาสตร์ไทยทั้งสองปัญหานี้ บวกกับปัญหาพิเศษส่วนตัวของนักวิชาการนักเขียนสองคนนี้เข้าไปอีกปัญหาหนึ่งด้วย Chris Baker กับ ผาสุก พงษ์ไพจิตร เป็นนักเขียนประวัติศาสตร์ที่จะเป็นปัญหาหรือไม่? นักวิชาการทั้งสองนี้พร้อมจะเผชิญหน้ากับกรมพระยาดำรงราชานุภาพหรือเปล่า? และ Chris Baker กับ ผาสุก พงษ์ไพจิตร เป็นนักประวัติศาสตร์หรือเปล่า? ๑. ต่อคำถามแรก Chris และ ผาสุก เป็นปรากฏการณ์ร่วมสมัยของนักประวัติศาสตร์ไทย เป็นความพยายามที่จะเขียนประวัติศาสตร์จากดีร่วมสมัยมุมมองใหม่ แล้ว ส่งปัญหาต่อไปยังผู้อ่าน A History of Thailand โดย Chris Baker and Pasuk Phongpaichit เป็นประวัติศาสตร์โดยย่อของไทย สั้นเพียง 301 หน้า เขียนเป็นภาษาอังกฤษ เริ่มเรื่องตั้งแต่ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ กล้าหาญย้อนหลังไป ถึง 180,000 ปี โดยเขียนว่า ดินแดนไทยยุคดึกดำบรรพ์นั้นมีร่องรอยของมนุษย์ถ้ำเร่ร่อนล่าสัตว์ ผ่านยุคปลูกข้าวและโลหะสัมฤทธิ์เมื่อ 5,000 ปีที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะหมายถึงอารยธรรมบ้านเชียง เข้าสู่ยุคเหล็กเมื่อ 2,500 ที่แล้วนี้เอง จากนั้น Chris และ ผาสุกก็นำเราเข้าสู่สังคมโบราณ ที่ผู้คนหลากเผ่าพันธุ์อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันอย่างกระจัดกระจาย ผ่านประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรไทยสมัยต่างๆ ตั้งแต่สุโขทัยมา อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ มาจนถึง ยุค ไทยรักไทย A History of Thailand โดย Chris Baker and Pasuk Phongpaichit อ่านได้เพลิน อ่านง่ายจบเร็วสำหรับผู้ที่เป็นชาวต่างชาติ หรือผู้ที่ประสงค์จะอ่านประวัติศาสตร์ไทยในภาคภาษาอังกฤษ แนวคิดแนวเขียนแนวการจัดพิมพ์เป็นแบบสากลสมบูรณ์โดยแท้ ตั้งแต่บทนำ เนื้อเรื่อง เชิงอรรถ ดัชนี คำอธิบายศัพท์ที่เป็นไทย รายชื่อหนังสืออ้างอิงและหนังสือแนะนำ มาตรฐานมหาวิทยาลัย Cambridge ผู้จัดพิมพ์โดยแท้ หากเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาไทยจะยิ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้อ่านชาวไทยที่ต้องการปัญหาใหม่ๆทางประวัติศาสตร์ให้ขบคิดต่อ Chris กับ ผาสุก ไม่เป็นปัญหา แต่เป็นผู้สร้างปัญหาส่งต่อให้เราคิด หากเราเป็นคนไทย ๒. มาถึงคำถามที่สอง กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถูกท้าทายหรือไม่? หรือยัง?ษ (73) A History of Thailand โดย Chris Baker and Pasuk Phongpaichit A History of Thailand โดย Chris Baker and Pasuk Phongpaichit เป็นความพยายามอย่างสุภาพอ่อนโยนอีกครั้งในการท้วงติงประวัติศาสตร์ไทยที่เขียนโดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพแต่เพียงผู้เดียว หนังสือ “ไทยรบพม่า” ของท่านได้รับการยกย่องโดย Chris และ ผาสุก ว่าเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่โด่งดังประสพความสำเร็จสูงสุดของไทย ชมแล้ว ก็วิจารณ์ว่ากรมพระยาดำรงราชานุภาพมองประวัติศาสตร์ผ่านราชวงศ์ผู้ปกครองราชอาณาจักร (77-78) Chris กับ ผาสุก วิจารณ์ว่ากรมพระยาดำรงราชานุภาพเขียนประวัติศาสตร์เพื่อสร้างความเป็นชาติไทยใหม่ สร้างความรู้สึกชาตินิยม และตัดต่อตกแต่งประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นให้พระเจ้าแผ่นดินเป็น “King of the people” and “for the people” เป็น “กษัตริย์ของประชาชน” และ “เพื่อประชาชน” อะไรที่ไม่เหมาะสม กรมพระยาดำรงตัดออก และตกแต่งให้ดีขึ้น นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ดิ้นรนอย่างสงบและเชื่องช้าในการตรวจสอบและคัดค้านประวัติศาสตร์ไทยแบบฉบับของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ A History of Thailand โดย Chris Baker and Pasuk Phongpaichit A History of Thailand โดย Chris Baker and Pasuk Phongpaichit พยายามแตะต้องกรมพระยาดำรงราชานุภาพอย่างสุภาพและเป็นข้อสังเกตเชิงวิชาการ มากกว่าจะเป็นเป็นการวิพากษ์วิเคราะห์โดยตรง แต่ก็นับเป็นความกล้าหาญที่นักประวัติศาสตร์ไทยยุคใหม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการนำร่องการเขียนประวัติศาสตร์ไทยใหม่ที่ควรทำกันให้อย่างจริงจังเสียที ๓.คำถามสุดท้าย Chris กับ ผาสุก เป็นนักประวัติศาสตร์หรือเปล่า? ไม่น่าถาม เพราะคำตอบคือเป็น แต่เป็นนักประวัติศาสตร์ตามแบบฉบับของนักประวัติศาสตร์ยุคแสวงหาแนวทางใหม่ Chris Baker เคยสอนประวัติศาสตร์เอเชียที่มหาวิทยาลัย Cambridge มาเป็นนักเขียนอิสระอยู่เมืองไทยติดต่อกันจนปัจจุบันรวม 20 ปี ผาสุก พงษ์ไพจิตร สอนเศรษฐศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่เคารพยกย่องสูงในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ไทย และได้รับความสนใจกว้างขวางระดับสากลด้วยงานเขียนวิชาการภาษาอังกฤษหลายเล่ม ก่อนถึง A History of Thailand Chris Baker กับ ผาสุก พงษ์ไพจิตร ร่วมกันเขียน “Economics and Politics” “Thailand’s Boom and Bust” “Thailand’s Crisis” และล่าสุด “Thaksin: The Business of Politics in Thailand” Chris Baker กับ ผาสุก พงษ์ไพจิตร เขียนประวัติศาสตร์เชิงเศรษฐกิจและสังคมของผู้คนที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ มากกว่าประวัติศาสตร์ตามลำดับราชวงศ์ผู้ปกครองราชอาณาจักร แม้จะยังคงอาศัยลำดับวันเดือนปีปฏิทินการปกครองเป็นเครื่องมือในการอธิบายประกฎการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม แต่เรื่องราวที่พยายามอธิบายเป็นเรื่องของชุมชน บุคคล ครอบครัวผู้อพยพจากต่างแดน ตั้งแต่ (53) ตระกูลบุนนาค ไกรฤกษ์ แสงชูโต อมาตยกุล และ ชินวัตร Chris Baker กับ ผาสุก พงษ์ไพจิตร มิได้เขียน A History of Thailand ให้คนไทยอ่านโดยตรง ท่วงทำนองลีลาแบบตะวันตก ที่เรียกชื่อบุคคล โดยไม่ใช้ตำแหน่งหรืออิสริยยศนำหน้า เช่น (66 ย่อหน้าที่หนึ่งและสอง) Chulalongkorn แทนที่จะเป็น King Chulalongkorn (ย่อหน้าที่สามหน้า 106) Vajiravudh แทนที่จะเป็น King Vajiravudh รวมถึง (146) Phibun Wichit และ 148 Sarit เขียนแบบตะวันตก อ่านโดยคนไทย อาจต้องปรับวัฒนธรรมของคนอ่านบ้าง A History of Thailand โดย Chris Baker and Pasuk Phongpaichit A History of Thailand โดย Chris Baker and Pasuk Phongpaichit เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ไทยแบบย่อ เขียนด้วยภาษาอังกฤษ คิดแบบนักประวัติศาสตร์ที่ต้องการผลักดันแนวคิดใหม่ ตั้งคำถามสุภาพแบบไทยโดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร วิพากษ์แบบตะวันตกโดย Chris Baker ********************** 6 The English Governess at the Siamese Court โดย Anna Leonowens [Leonowens, Anna Harriette, The English Governess at the Siamese Court: Being Recollections of Six Years in the Royal Palace at Bangkok, (พิมพ์ครั้งแรก 1870) Oxford University Press, 1988, New York, Bangkok, Tokyo, Toronto, ISBN 0-19-588897-9] “ฉันเป็นเพียงผู้เดินทางผ่านมา สำรวจดูทุ่งราบแห่งหมู่มวลมนุษย์นี้อย่างกว้างๆ และห่างๆ แต่ฉันก็พอมองเห็นได้ว่ามีการดูแลอย่างเป็นระบบ โดยผู้นำความคิดคนสำคัญคนหนึ่ง” แหม่ม Anna กล่าวถึง เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ หรือที่เธอเรียกว่า “กลาโหม” หรือ “นายกรัฐมนตรี ของสยาม” ด้วยความชื่นชม แต่คนไทยและคนอังกฤษที่อ่านงานเขียนของ Anna Leonowens หรือ แหม่ม Anna เรื่อง The English Governess at the Siamese Court แล้วมักจะหาเหตุไม่ชื่นชมแหม่ม Anna ได้มากกว่าที่จะชื่นชม ไม่ว่าใครจะว่าเธออย่างไร หนังสือเล่มนี้ก็โด่งดังไปทั่วโลกเมื่อ 134 ปีที่แล้ว ประเทศไทยก็สั่งห้ามอ่านห้ามขายหนังสือเล่มนี้ รวมทั้งหนังสือ กึ่งนวนิยาย กึ่งสารคดี ชื่อ Anna and the King of Siam ที่ Margaret Landon เขียนโดยเอาพื้นฐานมาจากบันทึกของ แหม่ม Anna เรื่อง The English Governess at the Siamese Court นี้เอง เล่มนี้ก็ถูกห้ามอ่านห้ามขาย ภาพยนตร์ที่สร้างตามมาภายหลังก็ถูกห้ามเช่นกัน คำสั่งห้ามนี้ แม้ปัจจุบันจะไม่เคยมีการยกเลิกอย่างเป็นทางการ แต่หนังสือทั้งสองเล่มนี้ และภาพยนตร์ที่สร้างมาสามแบบ ก็สามารถหาซื้ออ่านและชมได้อย่างที่รัฐบาลไทยไม่เคยว่าอะไร Anna Leonowens หรือ แหม่ม Anna เขียนหนังสือทั้งหมดในชีวิตเธอเพียงสี่เล่ม คือ
ที่สร้างปัญหาให้กับนักอ่าน โดยเฉพาะนักประวัติศาสตร์ชาวไทยก็คือสองเรื่องแรก ที่ว่าด้วยประสบการณ์ของเธอในแผ่นดินสยาม สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 หรือ King Mongkut ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์ และแหม่ม Anna เดินทางจากสิงคโปร์เข้ามากรุงเทพเพื่อเป็นครูสอนพระองค์และเจ้าฟ้าหญิงและเจ้าฟ้าชายทั้งมวลในพระราชวัง หลังจากเรือ “เจ้าพระยา” เทียบท่าสยามเมื่อ วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2405 วันเวลาผ่านไปสามเดือนแหม่มแอนนาก็ยังไม่ได้บ้านอยู่เป็นสัดส่วนของครอบครัวของเธอ ซึ่งมีตัวเธอเอง ลูกชายชื่อ Louis และคนรับใช้ชาวมุสลิมคู่สามีภรรยา ชื่อ Moonshee และ Beebe แหม่ม Anna ถูกจัดให้อยู่ในเขตพระราชวังอย่างใกล้ชิดด้วยพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แทนที่เธอจะซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณว่าทรงเมตตาให้เกียรติได้ใกล้ชิด เธอกลับเห็นว่าเป็นการขาดเสรีภาพที่จะไปไหนมาไหน และเป็นการไม่ทำตามสัญญา อันที่จริงเธอไม่พอใจตั้งงแต่วันแรกที่เรือเทียบท่าแล้วที่พระกลาโหมมิได้เตรียมบ้านพักไว้ให้ล่วงหน้าเลย ก้าวแรกเมื่อถึงแผ่นดินสยาม ก็เสียอารมณ์แล้ว ชีวิตต่อมาของแหม่ม Anna จึงคละเคล้าไปด้วยความคาดหมาย และการคาดหวังที่ไม่บรรลุความปรารถนาของเธอ เธอได้รับแต่งตั้งเป็น “เจ้าคุณครูใหญ่” ได้รับพระราชทานศักดินาและได้รับพระราชทานที่ดินที่ลพบุรีลำพระพุทธบาท เธอก็วิจารณ์ว่าพิธีพระราชทานศักดินามีการโปรยเหรียญทองคำไม่กี่เหรียญ และน้ำเย็น 21 หยดจากหอยประดับพลอย ได้ที่ดินก็ไกลถึงลพบุรี ต้องเดินทางไปด้วยช้าง ฝ่าดงพงไพรอย่างยากลำบาก เธอบอกว่า “เพราะฉะนั้น สู้ปล่อยที่ดินเป็นทานให้กับผู้คน เสือ ช้าง แรด หมูป่า และฝูงลิง ไปดีกว่ามีไว้เสียภาษี ส่วนตัวฉันก็ขอเป็นครูสอนหนังสือต่อไปโดยไม่ใยดีต่อยศศักดิ์อันใด” ตลอดเล่ม แหม่มแอนนาอยู่ในวัฒนธรรมตะวันตกของเธอที่ปรับเข้าไม่ได้กับวัฒนธรรมสยาม เธอหวังจะได้เงินเดือนขึ้น ก็ไม่ได้ ได้ศักดินา ทรัพย์สินที่ดิน เธอก็ไม่ต้องการ เพราะเธอเป็นหม้าย ต้องเลี้ยงดูส่งลูกเรียนถึงสองคน ลูกสาวเรียนหนังสืออยู่อังกฤษ ลูกชายอยู่กับเธอที่บางกอก ไม่มีใครเข้าใจเธอ และเธอก็ไม่เข้าใจสยาม เธอขอลาออก แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงขอให้เธอไปพักผ่อนได้ 6 เดือนแล้วให้กลับมารับใช้เบื้องพระยุคลบาทต่อ แหม่ม Anna เดินทางกลับอังกฤษ พร้อม Louis ลูกชาย แล้วก็มิได้กลับมาสยามประเทศอีกเลย แหม่ม Anna ใช้ชีวิตช่วงปลายที่ Canada ถึงแก่กรรมวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1915 อายุได้ 84 ปีฝังศพที่สุสานเมือง Montreal กาลผ่านไป เกือบ 90 ปี จนปัจจุบันยังไม่มีนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ และนักวิจารณ์ทั้งไทยและต่างประเทศคนใดมีเมตตาต่อแหม่ม Anna เนื่องจากบันทึกของเธอที่เป็นหนังสือทั้งสองเล่มเกี่ยวกับสยามมีมุมมองจากตัวเธอเองเป็นหลัก และเป็นมุมมองที่ไม่เป็นที่โปรดปรานของปัญญาชนสยาม แทนที่จะพยายามทำความเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรม นักวิจารณ์เธอ กลายเป็นนักประณามเธอ ด้วยการขุดคุ้ยประวัติที่ไม่ชัดเจนของเธอจากอังกฤษ ไปอินเดีย ถึงสิงคโปร์ และมาสู่ประเทศสยาม หนังสือสองเล่มเกี่ยวกับสยามของ Anna Harriet Leonowens คือ The English Governess at the Siamese Court และ The Romance of the Harem ได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่งในสหรัฐอเมริกา และ อังกฤษเธอได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนชั้นเยี่ยมในหมู่สตรียุค Victoria ถูกจัดอยู่ในชั้นเดียวกันกับ Harriet Beecher Stow ผู้เขียน Uncle Tom’s Cabin The English Governess at the Siamese Court และ The Romance of the Harem เป็นหนังสือสองเล่มที่คนไทยไม่เพียงแค่ควรอ่าน แต่ต้องอ่าน จะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม เพราะ การแสดงความชิงชังงานเขียนของแหม่ม Anna ด้วยเหตุผลของมุมมองที่แตกต่างทางวัฒนธรรม ถูกเติมด้วยเชื้อเพลิงแห่งการดูหมิ่นชีวประวัติที่คลุมเครือของเธอ ยังผลให้ Anna Harriet Leonowens หรือ แหม่ม Anna มิได้มีที่อยู่ในประวัติศาสตร์สยามอย่างทรงคุณค่าเลย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ King Mongkut เสด็จสวรรคตในช่วงที่แหม่ม Anna กราบบังคมทูลลากลับไปพักผ่อนที่อังกฤษพอดี แหม่ม Anna เล่าในตอนต่อมาว่า เธอก็คอยอยู่ว่าจะมีรับสั่งให้กลับไปสอนหนังสือต่อที่สยามประเทศหรือไม่ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว จึงขาดการติดต่อกับสยามไปเลย 3 ปีต่อมา ในปี 1870 หรือ พ.ศ. 2413เธอจึงเขียน และได้พิมพ์ The English Governess at the Siamese Court ซึ่งก็ได้รับการชื่นชมยกย่องจากนักอ่านในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และอังกฤษ ในฐานะสตรีตัวอย่างนักต่อสู้และปฏิรูปสังคมในยุค Victoria แต่ในแผ่นดินสยามและในหมู่ชาวอังกฤษผู้เข้าในสังคมสยามดีกลับไม่พอใจ โดยเห็นว่า Anna Leonowens หรือแหม่ม Anna ฉวยโอกาสที่ได้ใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ปรุงแต่งเรื่องราวที่เธอไม่รู้จริงและมีอคติ เขียนเป็นหนังสือที่ยกย่องตัวเองเพื่อให้เทียบชั้นกับ Harriet Beecher Stow ผู้ซึ่งมีงานเขียนกระทบระบบทาสในสหรัฐอเมริกา ในหนังสือชื่อ Uncle Tom’s Cabin เพราะเธอเองก็เขียนเรื่องระบบทาสในสยามประเทศ ในหนังสือสองเล่มของเธอคือ The English Governess at the Siamese Court และ The Romance of the Harem หรือ Siamese Harem Life เฉพาะ The English Governess at the Siamese Court นั้น เป็นการบันทึกประสบการณ์ของ Anna Harriet Leonowens ระหว่าง 5 ปี 4 เดือนที่ได้มารับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น Governess หรือครูและพี่เลี้ยงถวายความรู้แก่พระราชโอรสและพระราชธิดาแบบตะวันตก ทั้งวิชาภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และวรรณคดี โดยมีข้อห้ามมิให้สอนศาสนาคริสต์ แหม่ม Anna ได้เข้าใกล้ชิดส่วนในของพระราชวัง เข้าถึงข้าราชบริพาร นางสนม นางทาส ห้องสมุด เข้าออกพระราชวังอย่างสะดวกสบาย อะไรที่เธอพบเห็นที่ขัดกับแนวคิดแบบตะวันตกของเธอ เช่าเรื่องระบบทาส นางสนมกำนัลสนองพระโอษฐ์ ทำให้เธอมองชีวิตชาวสยามอย่างไม่ชื่นชม ในเมื่อการสังเกตชีวิตในวังและนอกวังของเธอเป็นไปอย่างจำกัด เธอจึงถูกกล่าวหาว่าไม่รู้จริง เอาแต่ใจตนเองเป็นใหญ่เขียนประวัติศาสตร์คลาดเคลื่อน เขียนเรื่อจริงให้เป็นดุจนวนิยาย Ian Grimble จากวิทยุ BBC ของอังกฤษ ตำหนิแหม่ม Anna อย่างรุนแรง ลงพิมพ์ใน The New York Times ฉบับวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1970 ว่าเธอเป็น “…a mischief maker, a squalid little girl…one of those awful little English governesses, a sex-starved widow.” “เป็นคนชอบหาเรื่อง เป็นเด็กงกเงินจนไร้สมบัติผู้ดี...เป็นแบบพวกครูอังกฤษที่น่าทุเรศ เป็นแม่หม้ายกระหายกาม” แรงมากๆสำหรับคนอังกฤษที่ต่อว่าคนอังกฤษด้วยกันเอง คนต่อว่ารักและเข้าใจ พร้อมปกป้องสยามประเทศ คนถูกต่อว่าเขียนเท่าที่คิดและรู้สึกได้ A.B. Griswold ในหนังสือของเขาชื่อ King Mongkut of Siam วิจารณ์ว่า แหม่ม Anna “ยืนอยู่บนเส้นแบ่งความจริง และชอบหนีไปอยู่ในแดนฝันบ่อยๆ ไม่รู้อะไรถูก อะไรควร มีแต่ความรู้สึกเหมือนละครสะเทือนอารมณ์” W.S. Bristow เขียนหนังสือชื่อ Louis and the King of Siam ว่าด้วยเรื่องของ Louis T. Leonowens ลูกชายของแหม่ม Anna ซึ่งเป็นพระสหายกับเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ หรือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่ง Bristow วิจารณ์ แหม่ม Anna ว่า “เป็นพวกต้มตุ๋นหลอกลวง โกหกได้ทุกเรื่อง” แต่การบันทึกเรื่องราวที่เธอไม่ชอบ ตามมุมมองของเธอที่นักอ่านชาวสยามหรือชาวตะวันตกผู้รักสยามประเทศกลับไม่พอใจเธอนั้น ก็มีส่วนเป็นประโยชน์ทำให้เราได้ความรู้เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในราชอาณาจักรสยามยุคนั้นเป็นอย่างดี บทที่ 15 ว่าด้วยเรื่องเมืองบางกอก บรรยายภาพชีวิตบ้านในเรือตามลำน้ำเจ้าพระยาอย่างแจ่มชัด จากปากน้ำ ปากลัดล่าง ขึ้นถึงปากลัดบน บทที่ 16 เล่าเรื่องช้างเผือก บทที่ 17 เรื่องพระราชพิธีฉัตรมงคล บทที่ 19 เรื่องพระราชประเพณีโกนจุก บทที่ 20 เรื่องการบันเทิงในวัง บทที่ 21 เรื่องศิลปะ และวรรณกรรมสยาม บทที่ 22 เรื่องพระพุทธศาสนากับพระสงฆ์ และบทที่ 28 สรุปเรื่องราชอาณาจักรสยาม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความรู้ที่คนไทยควรต้องอ่านอย่างกลั่นกรอง เพื่อเอาความรู้ และแสวงหาความรู้สึก พร้อมกับสร้างทัศนะวิจารณ์ แม้กระทั่งเรื่องการไปเที่ยวนครวัตในเขมรที่ไม่เกี่ยวอะไรกับสยามโดยตรง แหม่ม Anna ก็เขียนบรรยายอย่างละเอียด ซึ่งละเอียดมากจนนักวิจารณ์ฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาว่าเธอยกเมฆนั่งเทียนเขียน มิได้เดินทางไปนครวัตจริงๆเลย แต่เธอก็ยืนยันในตอนหลังว่าเธอไปนครวัตจริง และเก็บข้อมูลมาเขียนทีหลัง เป็นที่น่าวิตกว่า การค้นคว้าประวัติชีวิตที่แท้จริงของแหม่ม Anna ทำได้อย่างยากยิ่ง ลูกหลานรุ่นหลังๆ ไม่สามารถค้นหาสมุดบันทึกชีวิตของแหม่ม Anna ได้เลย แต่เท่าที่ค้นคว้าได้ก็สรุปตรงกันว่า แหม่ม Anna ไม่บอกความจริงเกี่ยวกับชีวิตเธอหลายเรื่อง วันเกิด อายุ ก็ไม่บอกความจริง ชีวิตในอินเดียและสิงคโปร์ ก็ปรับแก้ให้ดูดีกว่าที่เป็นจริงเท่าที่ค้นคว้าได้ตอนหลัง Leslie Smith Dow ค้นคว้าเรื่องราวชีวิตของ Anna Harriet Leonowens อย่างละเอียดเท่าที่จะตามหาข้อมูลได้ สรุปว่า Anna เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1831 ไม่ใช่ปี 1834 ตามที่เธออ้าง เธอโกงอายุให้อ่อนลง 3 ปี เธอเกิดที่อินเดีย ไม่ใช่ที่ Wales ตามที่เธอบอกกับใครต่อใคร มารดาของเธออาจเป็นหญิงอังกฤษ หรือมีเชื้อลูกผสมอินเดียพื้นเมืองก็ได้ หรือไม่ก็เป็นชาวอินเดียมาได้กับพ่อของเธออย่างไม่ทราบหัวนอนปลายเท้าก็ได้ หากพ่อเธอเป็นทหารอังกฤษทำงานในอินเดีย พ่อของเธออาจเป็นทหารระดับล่าง ไม่ใช่นายทหารระดับสูงอย่างที่เธออ้าง W.S. Bristow อธิบายว่าแหม่ม Anna พยายามปกปิด “ความไม่บริสุทธิ์ในสายเลือดของตัวเอง” เธอเกิดมาในนามสกุล Edwards ไม่ใช่ Crawford ตามที่เธอบอก เธอแต่งงานหรือเปล่าก็ไม่แน่ แต่เธอได้สามีชื่อ Thomas Leon Owens ซึ่งเป็นทหารอังกฤษยศต่ำในอินเดียยุคอาณานิคม ลูกสองคนแรกเสียชีวิตแต่ยังเด็ก ลูกคนถัดมาเป็นหญิง ชื่อ Avis ลูกคนสุดท้องเป็นชายชื่อ Louis ปี 1857 เธอย้ายครอบครัวจากอินเดียไปอยู่สิงคโปร์อันเป็นที่ซึ่งสามีของเธอเสียชิวิตในปีต่อมาระหว่างล่าเสือ จากนั้นเธอต้องหางานทำเลี้ยงชีพและลูกๆด้วยตัวเธอเองตามลำพัง โดยเป็นครู เธอส่ง Avis ลูกสาวกลับไปอยู่อังกฤษ เหลือลูกชายที่ชื่อ Louis ที่เธอชอบเรียกว่า Boy ติดสอยห้อยตามเธอตลอดมา Anna เปลี่ยนนามสกุล จาก Owens เอกชื่อกลางของสามีมารวมเข้าด้วยกันเป็น Leonowens ต่อมาในปี 1862 เธอได้รับการแนะนำจาก Tam Kin Ching ตัวแทนรัฐบาลสยามในสิงคโปร์ และ John Adamson จากบริษัท Borneo ให้ไปรับงานเป็นครูในราชสำนัก King Mongkut แห่งราชอาณาจักรสยาม นาน 5 ปี 4 เดือน จากนั้น กลับไปอยู่อังกฤษ ต่อไป Ireland สหรัฐอเมริกา และ Canada ได้ลูกเขยฐานะดี เป็นนายธนาคาร จึงอยู่ด้วยกันกับลูกสาวและลูกเขยที่ Halifax จนถึงแก่กรรมที่ Montreal ในปี ค.ศ. 1915 รวมอายุได้ 84 ปี ส่วน Louis ลูกชายแยกตัวไปเผชิญโชคใน Australia เมื่ออายุ 19 ปี จนอายุ 26 จึงกลับมาพึ่งพระบรมโพธิ์สมภารของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ซึ่ง Louis เป็นที่ทรงโปรดของพระองค์ครั้งร่วมชั้นเรียนเดียวกันขณะทรงพระเยาว์ Louis มั่งคั่งในแผ่นดินสยาม ได้สัมปทานป่าไม้ภาคเหนือ ตั้งบริษัท Louis T. Leonowens และเป็นผู้ก่อตั้งโรงแรม Oriental ริมฝั่งเจ้าพระยาที่บางกอก ไม่ว่าประวัติชีวิตของ Anna จะเป็นอย่างไร จริงแท้มากน้อยแค่ไหน ใครจะตำหนิวิพากษ์เธอจนเสียหายอย่างไร งานเขียนของเธอก็กลายเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยไปแล้วอย่างแน่นอน การที่นักประวัติศาสตร์และนักวิจารณ์ขุดคุ้ย เอาประวัติชีวิตของเธอ มาทำลายคุณค่างานเขียนบันทึกเรื่องราวในแผ่นดินสยามตามที่เธอมองเห็น ในมุมมองของเธอเอง เป็นการไม่ให้ความยุติธรรมต่อเธอเลย The English Governess at the Siamese Court โดย Anna Leonowens ********************** 7 The King of Thailand in World Focus โดย Foreign Correspondents Club of Thailand [Foreign Correspondents Club of Thailand, The King of Thailand in World Focus, FCCT, Bangkok, 1988, 189 หน้า, ISBN 974-86773- 3-8] สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในประเทศไทย จัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๑ / ค.ศ.1988 ในพระบรมราชวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ หรือ 60 พรรษา ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จเยือน สหรัฐอเมริกา และทรงแวะเยี่ยมโรงพยาบาล Mt. Auburn อันเป็นสถานที่ประสูติ ณ เมือง Boston รัฐ Massachusette 16 หนังสือพิมพ์ Boston Globe ฉบับวันที่ 8 กรกฎาคม ปี 1960/๒๕๐๓ อธิบายเกี่ยวกับพระองค์ว่า ‘The “darling baby” who grew up to be king was the darling of Mt. Auburn Hospital’ ‘เด็กน้อยที่น่ารัก’ ผู้ซึ่งเติบโตมาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นที่รักของทุกคนที่โรงพยาบาล Mt. Auburn” แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงตั้งข้อสังเกตว่า ‘The king noted he had been termed “a nice baby,” and, “I hope I have grown into something nice.” ‘ “เมื่อใครต่อใครที่โรงพยาบาลเรียกพระองค์ว่าเด็กน่ารักแล้ว ข้าพเจ้าก็หวังว่าตอนนี้ที่โตขึ้นมาแล้วก็คงจะเป็นอะไรที่น่าดูต่อไป” พยาบาลทั้งสี่คนที่ดูแลพระองค์ช่วงที่อยู่ที่โรงพยาบาล 21 วันต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า 17 “What a lovely boy” พยาบาล Leslie H. Leighton บอกว่า “His parents were very modest people and didn’t want any fanfare at all” “พระราชบิดา และพระราชมารดาของพระองค์ทรงสมถะมาก อยู่ที่โรงพยาบาลแบบไม่ต้องการอะไรพิเศษไปกว่าใครเลย” “We will never forget this day” “เราจะไม่ลืมวันนี้เลย วันที่พระองค์กลับมาที่โรงพยาบาล Mt. Auburn อีก” พยาบาลทั้งสี่คนกล่าวหลังจากเวลาผ่านไป 32 ปี และได้มีโอกาสพบเด็กน้อยผู้น่ารักที่กลายมาเป็นกษัตริย์แห่งกรุงสยาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสในตอนต่อมา วันเดียวกัน ต่อหน้าคณะผู้นำของรัฐ Massachusetts ว่า 17 “Boston had much to do with me. I was born here. My mother and father studied here. But apart from these things, Boston represents much more. It has been the birthplace of your country, and the spirit of freedom is very strong here…. I come here as a private citizen, as a human, to see my birthplace… and to see the things you do here, and to feel your spirit of freedom.” “Boston มีความหมายต่อข้าพเจ้ามาก ข้าพเจ้าเกิดที่นี่ แม่และพ่อของข้าพเจ้าก็เรียนหนังสือที่นี่ แต่นอกเหนือจากนั้น Boston มีความหมายแทนสิ่งอื่นที่สำคัญยิ่งกว่า Boston เป็นที่ให้กำเนิดประเทศของท่าน วิญญาณแห่งเสรีภาพที่นี่เข้มข้นแรงกล้าเป็นอย่างมาก... ข้าพเจ้ามาที่นี่เป็นการส่วนตัว เยี่ยงมนุษย์ธรรมดาสามัญ เพื่อมาดูสิ่งที่ท่านทั้งหลายมุ่งมั่นทำกันอยู่ และเพื่อมาซึมซับรับรู้ให้เข้าถึงจิตวิญญาณของเสรีภาพที่แท้จริง” นี่คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชแห่งสยาม ที่หนังสือพิมพ์ The Boston Globe เขียนถึงในขณะที่พระองค์ทรงพระชนมายุ 32 พรรษา จิตวิญญาณแห่งเสรีภาพกำเนิดมาพร้อมกับพระองค์ และดำรงทรงอยู่ในพระราชหฤทัยตลอดเวลาของการครองสิริราชสมบัติจนปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้ The King of Thailand in World Focus โดย Foreign Correspondents Club of Thailand รวบรวมข่าวและบทความในสื่อมวลชนต่างประเทศ ทั่วโลก ใน 60 ปีแรกของพระชนชีพของพระองค์ โดยบรรดาผู้สื่อข่าวชาวต่างประเทศที่มาทำงานข่าวในประเทศไทยในครั้งนั้น คิดกันว่าจากการที่ได้มาพึ่งพระบรมโพธิ์สมภารในแผ่นดินไทย เมื่อวาระครบ 60 พรรษาในปี 2503 ก็สมควรที่จะได้ทำงานชิ้นสำคัญที่พวกเขามีความชำนาญสูงสุดถวายเพื่อพระองค์ นั้นคือการจัดทำหนังสือรวบรวมข่าว บทความ และภาพถ่าย เกี่ยวกับพระองค์ที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และรายงานของสำนักข่าวต่างประเทศทั้งหลาย ซึ่งในที่สุดก็คัดเลือกมาพิมพ์ 80 เรื่อง จากสื่อมวลชนทั่วโลก 38 องค์กร มีภาพถ่าย 194 ภาพ จาก 52 แหล่งภาพข่าว ได้หนังสือหนา 189 หน้า จาก มีเรื่องสุข เรื่องทุกข์ เรื่องเจริญรุ่งเรือง และเรื่องวิกฤติในแผนดินของพระองค์ผสมผสานคละเคล้ากันไป กับการปฏิบัติหน้าที่พระมหากษัตริย์ของพระองค์ เสมือนบันทึกประวัติศาสตร์ประเทศไทย ภายใต้ร่มพระบารมีของ “พระมหากษัตริย์ผู้มิทรงแย้มพระสรวล” ดังที่สำนักข่าว AP บรรยายภาพเหตุการณ์ครั้งเสด็จนิวัติพระนครในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2494 ผ่านสู่ยุคที่ทรงแย้มพระสรวลเล็กน้อย ในสิบปีต่อมา จนถึงวันที่ชาวไทยทั้งประเทศยิ้มแย้มร่าเริงร่วมกับพระองค์เมื่อ ถึงวันเฉลิมฉลองปีที่ทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย สำนักข่าว AP โดย Milton Marmor รายงานข่าววันที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเสด็จกลับจากยุโรป วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2494 ว่า 37 “An unsmiling young king returned from Europe today to his picturesque capital that still was politically jittery over Thursday’s bloodless governmental coup. ….. Clad in naval uniform, the bespectacled king was not seen to smile once during the arrival ceremonies at the royal landing, the requisite visit to the temples and the two-and-a-half-mile drive past more than 100,000 adoring subjects.” “พระมหากษัตริย์หนุ่มผู้มิได้แม้แต่จะแย้มพระสรวล หรือยิ้มเลย เสด็จกลับจากยุโรปมายังนครหลวงอันสวยงามของพระองค์ในวันนี้ อันเป็นวันที่การเมืองยังหวั่นไหวหลังการการยึดอำนาจแบบไม่สูญเสียเลือดเนื้อ...ฉลองพระองค์ในชุดนายทหารเรือ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระแว่น มิได้มีใครเห็นพระองค์ทรงแย้มพระสรวลเลยแม้แต่ครั้งเดียว ตลอดพิธี ตั้งแต่เสด็จถึงท่าเทียบเรือ เสด็จประกอบพระราชพิธีที่พระอารามหลวง และตลอดเส้น ทางเสด็จพระราชดำเนินยาว สองไมล์ครึ่ง ท่ามกลางพสกนิกรที่ยืนเรียงรายถวายความความจงรักภักดีกว่า 1 แสนคน” ราชอาณาจักรสยาม หรือ ประเทศไทยของพระองค์ เริ่มจากต้นรัชสมัยที่พระองค์ไม่ทรงแย้มพระสรวลหรือไม่ทรงยิ้มเลยในตอนเริ่มแรกนั้น พระองค์ทรงกล่าวกับหนังสือพิมพ์ The Observer ของอังกฤษในอีก 9 ปีต่อมาว่า 40 “The queen smiles for me” “สมเด็จพระราชินีก็ทรงยิ้มแย้มพระสรวลแทนข้าพเจ้าแล้ว” 40 The Observer ฉบับวันที่ 17 กรกฎาคม 1960/๒๕๐๓ เขียนว่า “Hitherto the shy, slight, bespectacled king, now thirty-two years old, has only slowly shown sign of shedding the unsmiling formality which has characterized his public appearances…” “พระมหากษัตริย์พระชนมายุ 32 พรรษา ดูจะทรงสันทัด ท่าทางอายๆ สันทัด ทรงพระแว่น พระองค์นี้เริ่มจะแสดงสัญญาณแห่งการเลิกพระบุคลิกที่ไม่แย้มพระสรวลได้เล็กน้อยแล้ว” อะไรจึงทำให้สื่อมวลชนตะวันตกมองพระการการแย้ม หรือไม่แย้มพระสรวลของพระองค์ เป็นประเด็นเชิงสัญลักษณ์ในการรายงานข่าวจากประเทศไทย หนังสือพิมพ์ The Observer อาจจะแย้มคำตอบให้ชาวไทยได้ลองคิดดูได้เล็กน้อยเมื่อรายงานว่า “…Thailand has been floundering between the rock of despotic monarchy she abandoned in 1932 and the farther shore of modern democracy.” ช่วงต้นที่ขึ้นครองสิริราชสมบัติของพระองค์นั้น “ประเทศไทยเหมือนลอยคออยู่กลางทะเล หลังจากทิ้งระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อปี พ.ศ. 2475เสมือนทิ้งโขดหินก้อนใหญ่ที่ยึดเหนี่ยวมาช้านาน ส่วนชายฝั่งแห่งประชาธิปไตยที่พยายามจะว่ายไปหา ก็ยังอยู่อีกแสนไกล” หนังสือเล่มนี้ The King of Thailand in World Focus โดย Foreign Correspondents Club of Thailand เป็นมุมมองและแนวทำความเข้าในกับพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลของชาวไทย ตามแบบวัฒนธรรมวิจารณ์ของชาติตะวันตก ที่ไม่มีการตัดทอน เพียงแต่เลือกข่าว และข้อเขียนบทความที่เป็นตัวแทนของเส้นทางแห่งกาลเวลาของประวัติศาสตร์แผ่นดินสยามในสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช The King of Thailand in World Focus โดย Foreign Correspondents Club of Thailand สมเกียรติ อ่อนวิมล โลกหนังสือยามเช้า The King of Thailand in World Focus โดย Foreign Correspondents Club of Thailand สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย เสนอมุมมองแนวคิดเชิงวิเคราะห์ผ่านรายงานข่าวโดยสื่อมวลชนโลก ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดชในช่วงพระชนม์พรรษา 5 รอบ หรือ 60 พรรษา แบ่งเรื่องตามลำดับตั้งแต่ 12 ครั้งทรงพระเยาว์ ปี 2470 – 2493 ตั้งแต่วันประสูติ 13 หนังสือพิมพ์ Simmons College Review ลงภาพพระสุติบัตร 5 ธันวาคม ค.ศ. 1927 Cambridge, Massachusettes ทรงเข้าโรงเรียนที่ Switzerland พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสิ้นพระชนม์ วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 และพระองค์ขึ้นสืบต่อราชบัลลังก์ อุบัติเหตุทางรถยนต์ วันที่ 4 ตุลาคม 2491 24 และการเสด็จนิวัติพระนคร พ.ศ. 2493 28 - 29 ต่อมา ในปีบรมราชาภิเษก 33 ซึ่งหนังสือพิมพ์ Neue Zuricher Zeitung รายงานว่า เป็นสีสันตระการตาแห่งดินแดนตะวันออก “…and the people hope this heralds the beginning of a new, prosperous era in their country’s history” เป็นที่หวังของพสกนิกรของพระองค์ว่าจะเป็นปีเริ่มของยุคใหม่แห่งความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ในประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักรสยาม 36-37 ในช่วง 20 ปีแรกของการปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะพระมหากษัตริย์ ระหว่างปี พ.ศ. 2494-2514 สำนักข่าว AP รายงานเรื่องทรงผนวช 39 เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 5 ในประวัติศาสตร์ไทยที่ทรงผนวชระหว่างที่ครองราชย์ 39 (ข่าวด้านล่าง) อีก 1 ปีต่อมาสำนักข่าว AP รายงานเรื่องการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อบทบาทพระราชภาระกิจของพระองค์เพื่อสงบมั่นคงของบ้านเมือง 40 The Observer ของอังกฤษลงข่าวในวันที่ 17 กรกฎาคม 1960/2503 รายงานพระราชประวัติอย่างละเอียด และวิจารณ์ว่า ”.... he set out to tour his country, showing himself to million, talking, with kindness, intelligence and humour to the peasants in the villages. The public flowering of his personality delighted the rural masses who had earlier sympathized with him but had been cut off from him, and who felt rather as the English did when Queen Victoria mourned so long for the prince consort.” “...พระองค์เสด็จออกเยี่ยมเยียนประชาชนนับล้านของพระองค์ในต่างจังหวัดทั่วประเทศ มีพระราชปฏิสันถารกับชาวไร่ชาวนาตามหมู่บ้านต่างๆ ด้วยพระเมตตา พระปรีชาญาณ และพระอารมณ์ขันร่าเริง พระบุคลิกภาพอันสดใสดุจความงามของดอกไม้เป็นที่ชื่นชมของพสกนิกร แม้ก่อนหน้านี้ประชาชนทั้งมวลจะสงสารพระองค์มากที่ต้องเผชิญวิกฤติในพระชนม์ชีพของพระองค์ ทำให้ทรงโทมนัส ต้องห่างเหินจากประชาชนไปนาน เฉกเช่นเดียวกับที่สมเด็จพระราชินี Victoria ของอังกฤษเคยทรงโศกเศร้ายาวนานจากการสิ้นพระชนม์ของพระสวามี” 42 - 43 “The King now shows an increasingly lively awareness of his role as a constitutional monarch of the twentieth century” “พระเจ้าอยู่หัวของไทยตอนนี้ทรงเข้าในถึงบทบาทพระราชกิจอย่างเพิ่มพูนสมบูรณ์มากขึ้น ในฐานะพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งโลกในศตวรรษที่ 20” Reader’s Digest เดือนกรกฎาคม ปี 1960 / 2503 เสนอรายงานการเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาพร้อมด้วยพระราชินีสิริกิติ์ ผู้ทรงพระสิริโฉมยิ่ง และวิจารณ์ว่า 43 “His reign, which started out inauspiciously in 1946, has shown signs of being one of the most successful in Thailand’s long history. His was the stabilizing influence which helps Thailand not only to survive but to prosper through a period of unique political strain, both internal and external.” “ช่วงการครองราชย์ของพระองค์ ซึ่งเริ่มอย่างไม่ดีนักในปี 2489 เริ่มส่งสัญญาณว่าจะกลายเป็นรัชสมัยที่ประสพความสำเร็จสูงสุดในประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศไทย พระองค์ทรงเป็นพลังสร้างความมั่นคง ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้ประเทศไทยอยู่รอดในช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดทางการเมืองอันสำคัญเท่านั้น หากแต่จะทรงทำให้ประเทศไทยเจริญมั่งคั่งรุ่งเรืองต่อไปได้ ทั้งภายในประเทศและด้านการต่างประเทศ” นิตยสาร TIME วันที่ 27 พฤษภาคม 1966/2509 พาดหัวข่าวว่า พระมหากษัตริย์ไทยทรงต่อสู้เพื่ออิสรภาพ เป็นผู้พิทักษ์รักษาราชอาณาจักร และเป็นพลังแห่งแผ่นดิน ในขณะที่ทุกแห่งในแหลมอินโดจีนเต็มไปด้วยความระส่ำระสายไม่มั่นคงทางการเมือง ด้วยการรุกรานของลัทธิคอมมิวนิสต์ 45 “Everywhere on the great peninsular, militant communism, poverty, misery, illiteracy, misrule and a foundering sense of neighborhood are the grim order of the Asian day.” “With one important exception: the lush and smiling realm of their Majesties King Bhumibol and Queen Sirikit, which spreads like a green meadow of stability, serenity and strength from Burma down to the Malaysian Peninsula – the geopolitical heart of South East Asia. Once fabled Siam, rich in rice, elephants, teak and legend, Thailand (, literally, Land of the Free) today crackles with a prosperity, a pride of purpose, and a commitment to the fight for freedom…” “ทุกหนแห่งบนคาบสมุทรที่ยิ่งใหญ่ ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ความยากจน ทุกข์ภัย การขาดการศึกษา การปกครองที่ฉ้อฉล ความรู้สึกที่ขาดมิตรภาพแห่งความเป็นประเทศเพื่อบ้าน ล้วนเป็นสภาวะที่เห็นทั่วไปในเอเชีย” “แต่มีที่ยกเว้นที่สำคัญแห่งหนึ่ง คือราชอาณาจักรอันยิ้มแย้มแจ่มจรัสของพระมหากษัตริย์ภูมิพล และพระราชินีสิริกิติ์ ซึ่งทอดดินแดนเขียวขจีดุจทุ่งหญ้าชุ่มชื่น กว้างไพศาล จากพรมแดนพม่า ลงถึงคาบสมุทร Malaysia มั่นคง สงบงดงาม เข้มแข็ง เป็นหัวใจแห่งภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สยาม ที่ครั้งหนึ่งเคยรู้จักกันเป็นดินแดนในเทพนิยาย อุดมไปด้วย ข้าว ช้าง ไม้สัก และตำนาน มาบัดนี้เรียกว่า Thailand หมายความตามตัวอักษรว่า ดินแดนแห่งผู้เป็นเสรี ปัจจุบันนี้ดารดาษไปด้วยความมั่งคั่ง มีความภาคภูมิใจในเป้าหมายของแผ่นดิน มุ่งมั่นในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ...” 51 นิตยสาร LOOK ฉบับวันที่ 27 มิถุนายน ปีถัดมา กล่าวว่า “Thailand’s King, Phumibol Aduldet, is a sun over his country, a presence that shines through the bloodied dust of the Vietnam war, the hazes of the 185 – year – old Chakri dynasty and the bitter, scudding clouds of nationalism and struggle that overshadow Southeast Asia.” “พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชของประเทศไทยทรงเป็นประดุจดวงสุริยะส่องสว่างเจิดจ้าเหนือประเทศของพระองค์ ทรงเป็นปรากฏการที่ส่องทะลุผ่านฝุ่นละอองอันคละคลุ้งของสงครามเวียดนาม ม่านหมอก 185 ปีของราชวงศ์จักรี เมฆที่พวยพุ่งสู่ลัทธิชาตินิยม และการต่อสู้ทั่วทุกแห่งหนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เมื่อทรงครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี สำนักข่าว AP รายงานเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1971 / 2514 ว่า พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระชนมายุ 44 พรรษา และสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ของราชอาณาจักรไทยทรงพระสิริโฉมยิ่งนัก พระสกนิกรของพระองค์ ราว 5 แสนคนเรียงรายเนืองแน่นตลอดแนวถนนราชดำเนิน ชื่นชมพระบารมี และชมขบวนพาเหรดอันเป็นการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย 57 ในช่วงทศวรรษที่ 1960s คือหลังปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเสด็จเยือนต่างประเทศอย่างมากมายกว้างไกล ทั้งยุโรป อเมริกาเหนือ และ เอเชีย ส้วนการเสด็จพระดำเนินต่างประเทศโดยสมเด็จพระลูกเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทุกพระองค์ก็เป็นการเจริญพระราชพันธไมตรีกับต่างประเทศด้วยเช่นกัน ดุจดังเป็นเอกอัครราชทูตส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยตรง 57 หนังสือพิมพ์ San Jose Mercury ของรัฐ California สหรัฐอเมริกา ฉบับวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1960/พ.ศ. ๒๕๐๓ รายงานข่าวการเสด็จเยือนโรงงานของบริษัท IBM Computer gเรียกชื่อเล่นที่สื่อมวลชนอเมริกันตั้งให้ว่า “The Siamese Cat” หรือ “แมวสยาม” ‘King Who’s Real Cool “Cat” Visits IBM’ “พระมหากษัตริย์ผู้คือแมวสุดยอดตัวจริงเยี่ยมชมบริษัท IBM” โดยรายงานอย่างชื่นชมว่าพระองค์ทรงสนพระทัยงานของ IBM อย่างแท้จริง กันเอง ไม่มีพิธีการหรือราชองค์รักษ์ ห้อมล้อมปกป้องเหมือนครั้งที่ประธานาธิบดี Khrushchev แห่งสหภาพโซเวียตที่เพิ่งมาเยี่ยมโรงงาน IBM แห่งนี้เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พระองค์ทรงแย้มพระสรวล พระอารมณ์ดี กับพนักงาน IBM ตลอด และในระหว่างรวมพระกายาหารกลางวันกันพนักงาน 600 คน ที่โรงอาหารกลางของโรงงานพระราชดำรัสอันสนุกร่าเริงของพระองค์ที่ตอบกลับไปยังนาย Arthur K. Watson ประธานบริษัทการค้าโลก IBM ก็เรียกเสียงหัวร่ออย่างครื้นเครงจากชาว IBM หลังจาก Arthur Watson สดุดีสรรเสริญเทิดทูลพระองค์อย่างงดงามยืดยาว พระองค์ทรงตอบกลับว่า “I know these remarks must be true. They tell me all the facts put into an IBM computer come out true the same way.” “ข้าพเจ้ารู้ว่าคำชื่นชมทั้งหมดของท่านประธานที่กล่าวยกย่องข้าพเจ้านั้นต้องเป็นความจริงแน่นอน เพราะคนที่ IBM เขาบอกข้าพเจ้าว่าข้อความจริงทั้งหมดที่ใส่ลงไปในเครื่องคอมพิวเตอร์ IBM แล้วผลลัพธ์ที่กลับเป็นข้อมูลออกมาก็เป็นความจริงทั้งหมดแบบเดียวกัน” 59 นิตยสาร TIME ซึ่งสนใจรายงานเรื่องราวของพระองค์มาแต่แรกเริ่ม คราวนี้ก็เสนอข่าวเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาโดย ทรงพบกับประธานาธิบดี Eisenhower 58 ทรงมีพระราชดำรัสต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาอเมริกัน สมาชิกรัฐสภาถึงกับทึ่งในพระราชดำรัสที่เฉียบคมของพระองค์ที่ทรงกล่าวขอบคุณและซาบซึ้งในความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา แต่ก็ทรงย้ำว่า 59 “We are grateful for American Aid. But we intend one day to do without it” “สักวันหนึ่งเราหวังว่าจะไม่ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากท่าน” 59 60 ที่ New York นิตยสาร TIME รายงานเรื่องการทรงดนตรี Jazz ร่วมกับ Benny Goodman นาน 90 นาที TIME ชื่นชมพระบารมีของพระองค์ โดยเฉพาะเรื่องดนตรี และการมีมเหสีเพียงพระองค์เดียว ต่างไปจากกษัตริย์ส่วนใหญ่ในโลกที่มักจะพระราชินี มีมเหสี นางสนม กำนัลมากมาย “Almond-eyed Queen Sirikit” สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ผู้มีดวงพระเนตรเรียวงามดุลผล Almond และทรงพระสรีระดุจเครื่องดนตรี Mandolin ของ Italyพระราชินีพระองค์นี้ทรงกล่าวด้วยพระอารมณ์ขันกับ TIME ว่า 60 “He doesn’t need any more wives. For him, his orchestra is one big concubine” “พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมิทรงจำเป็นต้องมีพระมเหสีมากกว่าหนึ่งองค์เลย เพราะ สำหรับพระองค์แล้ว วง Orchestra ทั้งวงก็เหมือนกับพระมเหสีองค์มหึมาเลย” 61 หลังจาก New York พระองค์เสด็จต่อไปยังสหราชอาณาจักรประทับราชรถร่วมกับสมเด็จพระราชินี Elizabeth II ในขบวนเสด็จอันยิ่งใหญ่บนถนนกลางนคร London สู่พระราชวัง Buckingham 60 หนังสือพิมพ์ The Times รายงานกระแสพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษว่า “Although the visits which Your Majesty’s illustrious predecessors made to this country in 1897 and 1934 are still remembered. Your Majesty is the first Thai monarch whom we have been able to welcome here on a state visit. This fact indeed contributes much towards making the present occasion a truly memorable one” “แม้ว่าก่อนหน้านี้เราจะยังจำได้ว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามผู้ทรงพระบารมีพระองค์อื่นจะเคยเสด็จเยือนอังกฤษในปี 1897 และ 1934 แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่พระมหากษัตริย์และพระราชินีของไทยเสด็จเยือนอังกฤษและพระองค์ทรงถวายการต้อนรับอย่างเป็นทางการ ข้อเท็จจริงที่ว่านี้จึงทำให้การเสด็จของทั้งสองพระองค์ครั้งนี้จะอยู่ในความทรงจำไปนานแสนนาน” 62 ที่ Paris วันที่ 12 ตุลาคม 1960 หนังสือพิมพ์ France Soir พาดหัวข่าวว่า 62 (Close-up พาดหัว) “พระมหากษัตริย์ของไทยและสมเด็จพระราชินีเสด็จกลับมา Paris ถิ่นแห่งรักแรกพบของสองพระองค์” 63 หนังสือพิมพ์ L’Aurore วันที่ 14 ตุลาคม 1960 ลงภาพ และข่าวเสด็จทอดพระเนตรละคร Opera กับประธานาธิบดี และ Madame de Gaulle. “Three centuries after the delegation that one of his ancestors sent to Louis XIV, the king of Siam was welcomed yesterday to the Chateau de Versailles” “หลังจากบรรพบุรุษของพระองค์ทรงส่งทูตคณะทูตมาเจริญไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กาลเวลาผ่านไป 300 ปี พระราชวัง Versailles ก็ได้โอกาสถวายการต้อนรับพระเจ้ากรุงสยามอีกครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้” 64 ที่นคร Vatican กับสมเด็จพระสันตะปาปา John XXIII เดือน ตุลาคม ปี 1960 66 (ภาพขาว-ดำ ภาพล่าง) ที่ Oslo, Norway กับ กษัตริย์ Olav V และ เจ้าหญิง Astrid ปี 1960 และในปีเดียวกันนี้ที่ 83 ภาพที่ 4 Sweden 81 (ภาพที่ 5) Denmark 83 ภาพที่ 6 Luxembourg 83 ภาพที่ 7 The Netherlands 80 (ภาพที่ 3) Belgium 80 (ภาพที่ 4) Spain 80 (ภาพที่ 5) Tokyo 81 (ภาพที่ 1) Portugal 83 ภาพที่ 5 Indonesia 69 ที่ Kuala Lumpur ปี 1962 71 ที่ Sydney, Australia สิงหาคม ปี 1962 67 (ภาพขาว-ดำ ภาพล่าง) ที่ New Zealand ปี 1962 73 74 75 Tokyo เดือนพฤษภาคม 1963 76 กรกฎาคม 1963 ที่ Manila 82 ภาพที่ 3 Taiwan 1963 82 ภาพที่ 7 Austria 1964 83 ภาพที่ 3 Germany ตะวันตก ปี 1966 67 (ภาพสี ภาพบน) ที่ Massachusetts สหรัฐอเมริกา ปี 1967 66 (ภาพสี ภาพบน) ที่ Ottawa, Canada ปีเดียวกัน 76 ในการเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา และ Canada นาน 3 สัปดาห์ นิตยสาร TIME ฉบับวันที่ 16 มิถุนายน ปี 1967 รายงานพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า : “The Thai People are a fighting people. We have kept our liberty and independence for hundreds of years. We are not militant. We just have to fight to keep the most essential thing for a man. And that is freedom.” “คนไทยเป็นนักสู้ เรารักษาเสรีภาพ และเอกราชของเรามานานหลายร้อยปี เราไม่ใช่นักรบผู้รุกรานใคร เราเพียงแต่ต้องสู้เพื่อรักษาสิ่งที่จำเป็นอันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของความเป็นมนุษย์ นั่นคือเสรีภาพ” ในสายตาของสื่อมวลชนโลก พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ของไทย คือนักสู้ ผู้พิทักษ์เสรีภาพ เพื่อพสกนิกรของพระองค์ The King of Thailand in World Focus โดย The Foreign Correspondents Club of Thailand สมเกียรติ อ่อนวิมล โลกหนังสือยามเช้า 87 ถนนราชดำเนิน วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม 1516 88 หน้ากรมประชาสัมพันธ์ วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม วันรุ่งขึ้น 89 เมื่อการเผชิญหน้าถึงจุดสุดขีด ประชาชนจะพึ่งใคร? 90 เดือนเดียวกัน อีก 3 ปีต่อมา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 91 นักศึกษาถูกตำรวจยิงตายอย่างน้อย 39 คน ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ช่วงปี ค.ศ. 1972 – 1982 หรือ พ.ศ. 2515 – 2525 สมคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยเรียกว่า 85 The Turbulent Years คลื่นลมทางการเมืองในประเทศไทยแปรปรวนผวนผันเป็นมหันตวายุ สำนักข่าว United Press International รายงานเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 1972/๒๕๒๕ เรื่องการสถาปนาเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์เป็นสยามมกุฎราชกุมาร ใน 12:23-12:33 เวลาอันเป็นฤกษ์มงคล ในเวลาเดียวกันผู้ก่อการร้ายชาว Palestine บุกยึดสถานฑูต Israel ในกรุงเทพ จับเจ้าหน้าที่สถานทูต 6 คนเป็นตัวประกัน เหมือนว่าวันที่ 28 ธันวาคม จะเป็นวันเริ่มแรกที่ประเทศไทยต้องคำสาปทางวิกฤติการเมืองแต่บัดนั้น 86 Peter O’Laughlin แห่งสำนักข่าว AP รายงานอีกสองวันต่อมาว่าผู้ก่อการร้ายอาหรับทั้ง 4 คนที่บุกยึดสถานทูต Israel นั้นยอมรับว่าเลือกวันก่อการร้ายไม่เหมาะสมเลย พลอากาศเอกทวี จุลทรัพย์ พาผู้ก่อการร้ายทั้งหมดออกเดินทางไปประเทศ Egypt บอกกับพวกผู้ก่อการร้ายว่า ไม่น่าเลือกวันก่อเหตุร้ายในวันอันเป็นพระราชพิธีสำคัญของไทยที่ร้อยปีจะมีครั้งเดียวเลย ผู้ก่อการร้ายยอมสารภาพและขอโทษว่าไม่รู้เลยว่าวันที่ 28 ธันวาคม จะเป็นวันสำคัญ วันสถาปนา มกุฎราชกุมารของไทย “We have told the government and the generals from the army that we are sorry” “We need to know the Thai People---we love them and we want to say we are most sorry to do this in Thailand.” “We are most sorry we did not know this day. We love your king, he is beautiful. We hope the Thai people will know our problem---this embassy is our land.” “We hope the Thai people will come to see us---we come from many lands, from Africa, the United States and Europe. I hope some of the Thai people will become Palestinian commandos with us.” “One day we would like to come back and visit in a different way” “เราบอกกับรัฐบาลไทย และนายพลทหารจากกองทัพบกไทยแล้วว่าเราเสียใจที่มาก่อเหตุร้ายผิดวันเวลา” ผู้ก่อการร้ายปาเลสไตน์กล่าวขอโทษชาวไทย โดยบอกต่อไปว่า “เราน่าจะรู้จักคนไทยให้ดีกว่านี้ เรารักคนไทย เราอยากจะบอกว่าเราเสียใจมากที่จำต้องมาปฏิบัติการร้ายในประเทศไทย” “เราไม่รู้มาก่อนถึงความสำคัญของวันสถาปนามกุฎราชกุมาร เรารักพระเจ้าอยู่หัวของท่าน พระองค์ทรงเป็นผู้สง่างาม เราหวังว่าชาวไทยจะเข้าใจปัญหาของเรา สถานทูตอิสราเอลในไทยนั้นเราถือเสมือนเป็นดินแดนของ Palestine ของเราด้วย” “เราหวังจะเห็นชาวไทยมาเยี่ยมเยือนทำความรู้จักกับเราชาว Palestine บ้าง เรามาจากหลายที่ในโลก จาก อัฟริกา สหรัฐอเมริกา และยุโรป อยากให้คนไทยมาร่วมเป็นนักรบช่วยเราชาว Palestine ด้วย” “สักวันหนึ่งเราเองก็อยากกลับมาเมืองไทยอีก แต่ไม่ใช่มาแบบที่มาคราวนี้” แม้วันเวลาจะไม่เหมาะสมที่จะก่อการร้าย เมื่อได้สำนึก นักรบ Palestine ก็แสดงความเข้าใจในบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย และสรรเสริญพระบารมีพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลแห่งราชอาณาจักรไทย จากปี 2515 เป็นต้นมารวม 10 ปี พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชก็ทรงต้องเผชิญกับคลื่นลมการเมืองที่กระทบราชอาณาจักรและพสกนิกรของพระองค์ต่อเนื่องมา 86 14 ตุลามคม 2516 สำนักข่าว AP รายงานเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วมหานคร 87 “In the midst of the crisis, King Bhumibol, 46, has retained support and loyalty from all sides. Students carried his portrait and sang hymns in his praise as they marched more than 100,000 strong through Bangkok Saturday, joined by many adults.” “ท่ามกลางวิกฤติการณ์ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ซึ่งปัจจุบันมีพระชนมายุ 46 พรรษา ยังคงได้รับการสนับสนุนและความจงรักภักดีจากประชาชนทุกหมู่เหล่า บรรดานักเรียนนักศึกษาและประชาชนกว่าแสนคนเดินขบวนถือพระบรมฉายาลักษณ์ และร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ตามท้องถนนในกรุงเทพเมื่อวันเสาร์” 87 “Thailand’s King Bhumibol Adulyadej told his people Sunday that Prime Minister Field Marshal Thanom Kittikachorn has resigned in the wake of anti-government violence.” “The King said he had appointed Dr. Sanya Dhammasakdi, Rector of Thammasat University, to form a new government.” “King Bhumibol urged the people to support the new government and to end the conflict…” “พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงตรัสต่อพสกนิกรของพระองค์เมื่อวันอาทิตย์ว่านายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิติขจรได้ลาออกในท่ามกลางเหตุวิกฤติแล้ว” “พระองค์ทรงตรัสว่าได้ทรงแต่งตั้ง ดร. สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว” “พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงขอให้ประชาชนสนับสนุนรัฐบาลใหม่เพื่อยุติความขัดแย้งรุนแรงในขณะนี้….” 88 17 ตุลาคม 2516 สถานการณ์กลับสู่ภาวะปรกติ สำนักข่าว AP อ้างสาเหตุจากพระบารมีของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล “King Bhumibol, who has been a consistent supporter of peaceful student activism and opponent of corruption in high places.” “พระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ผู้ซึ่งทรงสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ทางการเมืองอย่างสันติของนิสิตนักศึกษา และทรงต่อต้านการทุจริตฉ้อราษฏร์บังหลวงในหมู่ผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ในสังคมและการเมืองไทย” 90 ปีรุ่งขึ้น นิตยสาร TIME ฉบับวันที่ 7 มกราคม 1974 / ๒๕๑๗ รายงานว่าความสำเร็จของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 299 คนที่ประชุมกันที่สนามม้านางเลิ้งจะขึ้นอยู่กับพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ซึ่งก่อนวิกฤติ 14 ตุลานี้ได้ทรงหลีกเลี่ยงการเข้าแทรกแซงในการเมืองมาโดยตลอด แต่ก่อนนี้พระองค์จะทรงแต่เสด็จไปทั่วราชอาณาจักรของพระองค์ ทรงทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาล พระราชทานปริญญาบัตร และเยี่ยมหมู่บ้านต่างๆ 90 “It is precisely this tiring, often tedious regimen that has made Bhumibol so unreservedly loved throughout the country. His travels also made him aware of the disfavor felt toward the military regime and the need to bring farmers and laborers into the National Assembly” Barry Hillenbrand ผู้สื่อข่าวของนิตยสาร TIME รายงานว่า “ด้วยเหตุที่พระองค์เสด็จเยี่ยมประชาชนอย่างกว้างไกลทุกหนแห่งโดยมิพักด้วยความเหน็ดเหนื่อยพระวรกายนี้เองทำให้ทรงทราบว่าทุกสุขของประชาชนเป็นอย่างไร ทรงทราบว่าประชาชนรักพระองค์มากเท่าไร และเกลียดเผด็จการทหารอย่างไร ทำให้พระองค์ทรงเห็นความจำเป็นในการนำชาวไร่ชาวนาและผู้ใช้แรงงานมาร่วมเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ประเทศไทยของพระองค์สงบลงเพียงชั่วคราว 91 แล้วเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็อุบัติขึ้น นิตยสาร Newsweek ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม 1976/๒๕๑๙ รายงานว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็สามารถยุติลงได้ด้วยการที่พระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลคณะปฏิรูปการปกครอง 92 ที่นำโดย พลเรือเอก สงัด ชะลออยู่ แทนที่ มรว. เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้า 92 ‘He launched the coup , Sangad said, to “preserve the Thai monarchy against a communist plot backed by Vietnamese collaboration.” Newsweek รายงานอ้างคำพูดของ พลเรือเอกสงัดชะลออยู่ ว่า ที่ก่อการยึดอำนาจก็ ”เพราะต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้รอดพ้นจากภัยคุกคามทำลายของพวกคอมมิวนิสต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากเวียดนาม” อีกครั้งหนึ่งที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องถูกสถานการณ์นำพาเข้าไปเกี่ยวกับวิกฤติ และต้องทรงเข้าไปแก้ปัญหาอันเป็นกระแสคลื่นและแรงพายุทางการเมืองของราชอาณาจักรของพระองค์ที่นักการเมืองยังคงทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างไม่สร่างซา ถึงวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของพระองค์ ปีที่ 50 ในวันที่ 5 ธันวาคม ปี พ.ศ. 2520 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 1 ปี 93 หนังสือพิมพ์ Los Angeles Times รายงานว่าการที่พระองค์ต้องทรงฝ่าและสงบวิกฤติการเมืองไทยมาอย่างมาก ทำให้นักคิด และบรรดาปัญญาชนไทยจำนวนหนึ่งเริ่มวิพากษ์วิจารณ์สถานภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ถูกการเมืองดึงเข้าไปเกี่ยวโยง แม้จะเป็นการวิจารณ์อย่างเงียบและลับ แต่ก็เกรงกันว่าพลังของแผ่นดินอันสูงสุดอาจจะลดลง แต่ หนังสือพิมพ์ Los Angeles Times ก็รายงานว่า “Although the turbulence of Thai politics over the last five years has certainly cost the monarchy some support, nothing of this was evident in the biggest Thai celebrations since Bhumibol was crowned 27 years ago.” “แม้พายุการเมืองไทยใน 5 ปีที่ผ่านมา จะกระทบสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยนั้นแน่นอน แต่ก็ไม่ปรากฏสัญญาณอันใดเลยว่าการสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล โดยประชาชนชาวไทย จะได้ลดน้อยถอยลงแต่อย่างใดเลย งานฉลองวันเฉลิมพระชนม์พรรษาปีนี้ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ทรงครองสิริราชสมบัติมาตั้งแต่ 27 ปีที่แล้ว” 94 2 เมษายน 1981 / ๒๕๒๔ สำนักข่าว UPI รายงานข่าวพล อ. สันต์ จิตรปฏิมา ล้มเหลวในการยึดอำนาจจาก พล อ. เปรม ติณสูลานนท์ 92 (ภาพล่าง) กบฏ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 ก็ไม่สำเร็จ 95 96 97 98 99 Asiaweek 23 เมษายน 1982/๒๕๒๕ เสนอข่าวงานฉลอง 200 ปีราชวงศ์จักรี 100 101 102 103 วิเคราะห์ว่า “The Chakri line produced a succession of monarchs of truly outstanding caliber. Not due to mere chance…” “ราชวงศ์จักรีได้ผลิตกษัตริย์ผู้สื่อราชสันตติวงศ์ ที่ทรงคุณภาพยอดเยี่ยมมาอย่างต่อเนื่อง และนี่มิใช่เหตุบังเอิญ...” The King of Thailand in World Focus โดย The Foreign Correspondents Club of Thailand สมเกียรติ อ่อนวิมล โลกหนังสือยามเช้า The Working Royals The King and Royal Family Spur Thailand’s Development and Preserve Traditions “พระราชวงศ์ผู้ทรงงาน พระมหากษัตริย์ และครอบครัวที่ทรงบุกเบิกเริ่มงานพัฒนาและรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี” คือเรื่องราวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยเฝ้ามอง และมองเห็นผลงานของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช หลังคลื่นลมการเมืองจากการรัฐประหารดูว่าจะสงบลงแล้ว ความสัมพันธ์ในเชิงสร้างงานพัฒนาประเทศ ระหว่างพระองค์กับพสกนิกรวางรากฐานมั่นคง และขยายวงกว้าง สื่อมวลชนต่างประเทศพุ่งความสนใจไปที่งานต่างๆมากมายที่พระองค์เสด็จออกทรงทำร่วมกับประชาชนของพระองค์ โดยเฉพาะในชนบท ห่างไกล ทุรกันดาน ยากจน และความพิเศษในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาจนปัจจุบันก็คือ ทุกพระองค์ที่เป็นสมาชิกในครอบครัวแห่งราชวงศ์จักรีร่วมทรงงานพัฒนากันอย่างมิเห็นแก่ความเหนื่อยยาก 105 นิตยสารสวัสดี เดือนมกราคม 1987 บทความโดย Denis Gray เขียนว่าพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ และพระราชวงศ์ทั้งหมด คือคนทำงาน หากเปรียบงานเป็นการรบในสงคราม ก็เป็นการรบที่ลงละเอียดทุกหย่อมหญ้า ร่วมกับประชากร 80 % ของราชอาณาจักร สร้างแหล่งน้ำ เหมืองฝายมากขึ้น เพิ่มผลผลิตข้าวให้มากที่สุด สร้างโรงเรียน สถานีอนามัยเพิ่มขึ้น ยกระดับความเป็นอยู่ของคนยากจน กำจัดความระส่ำระสายในสังคม สร้างเกียรติภูมิให้แก่ประเทศชาติ ที่สถาบันพระมหากษัตริย์รักษาเสรีภาพมาไว้กว่า 700 ปีแล้ว 110 111 112 113 Far Eastern Economic Review เดือนมกราคม 1986 ตามเสด็จไปที่สกลนคร รายงานว่าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล คือแบบอย่างที่กระตุ้นให้เกิดความก้าวหน้าในประเทศ 114 UPI วันที่ 7 ตุลาคม 1980 รายงานว่า ในป่าดงดิบ ด้วยฉลองพระบาท Boots ท่ามกลาง ปลิง ทาก และฝนที่โชกชุ่ม ที่เห็นนี้คือวันทำงานปรกติของกษัตริย์ไทย 116 UPI วันที่ 26 มกราคม 1981 สดุดีพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการปลูกพืชทดแทนฝิ่น 118 119 AP รายงานจากหัวหิน วันที่ 22 พฤษภาคม 1979 หลังได้รับพระราชทานสัมภาษณ์พิเศษจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ “In the countryside middlemen take so much advantage of the people… Misunderstandings arise between people in rural areas and the rich, so-called civilized people in Bangkok.” “ในชนบท พ่อค้าคนกลางเอาเปรียบชาวบ้านมาก...มีความไม่เข้าใจกันระหว่างชาวบ้านในพื้นที่ชนบท กับคนรวย คนจากกรุงเทพ ที่เขาว่าเป็นผู้เจริญแล้ว” 120 121 ผลผลิตงานศิลปาชีพที่ชาวบ้านได้เรียนรู้จากพระองค์เป็นที่สนใจของนิตยสาร Reader’s Digest ซึ่งรายงานเมื่อเดือนมกราคม 1984 ว่า ความสำเร็จ ของงานศิลปาชีพนั้นก็เนื่องมาจากสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ทรงเป็นแบบอย่าง ทรงเป็นผู้นำด้านรูปแบบแฟชั่น และพระองค์ทรงภาคภูมิพระทัยยิ่งที่คนไทยยังคงมีความสามารถผลิตสิ่งของที่สวยงามมากได้อย่างที่ทำอยู่ -------------------------------------------------- 122 Reader’s Digest เดือนกุมภาพันธ์ ปี 1975 เรียกสมเด็จพระศรีนครินทร์พระบรมราชชนนีว่า Thailand’s Healers from the Sky ผู้รักษาการป่วยไข้ของประชาชน ที่มาจากฟ้า “The Royal Mother from the Sky” แม่ฟ้าหลวงของปวงชนชาวไทย 123 ทรงดูแลชาวบ้านจนมืดค่ำแล้วจึงทรงกลับพระตำหนักที่เชียงใหม่ 124 ทีมแพทย์อาสาเคลื่อนที่ตามเสด็จบริการประชาชนที่ภาคใต้ 125 เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรกับงานบูรณะพระบรมมหาราชวัง และที่วัดพระแก้วมรกต หนังสือพิมพ์ Singapore Straits Times วันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1985 ยกย่องสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ว่าเป็นนักสังคมสงเคราะห์ผู้ทรงอุทิศทั้งชีวิตของพระองค์ให้กับประชาชน ‘As a little girl, she was called “The Hurricane” by her father because she could not keep still. ‘But as Princess Sirindhorn grew up, her sense of responsibility and dedication to the welfare of her people was such that her father now describes her as “permanent secretary working for the Thai peoples.” “ครั้งที่ยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ พระองค์ถูกเรียกโดยเสด็จพ่อว่าพายุ Hurricane เพราะความเป็นเด็กที่ไม่ยอมอยู่นิ่งเฉย แต่เมื่อเจ้าหญิงสิรินธรทรงเติบโตขึ้น ความรู้สึกรับผิดชอบ ความทุมเทเสียสละเพื่อ ความสุขและสวัสดิการของประชาชนของพระองค์ พระราชบิดาของพระองค์จึงทรงเรียกพระองค์ใหม่ว่าเป็น เลขานุการถาวรที่ทำงานให้ประชาชน” 126 หนังสือพิมพ์ Die Zeit วันที่ 2 มีนาคม 1984 เขียนว่า เจ้าหญิงมหาจักรีสิรินธรเสด็จไปได้ทุกหนแห่งตามพระทัยในพื้นที่ภาคใต้ 127 ไม่ทรงห่วงเรื่องความปลอดภัยอันใดเลย ทรงตามเสด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี ไปกับพ่อ และ แม่เยี่ยมดูทุกข์สุขของประชาชนตั้งแต่ยังเด็ก จนโต 127 ‘I have learned a lot from my father’ “ฉันเรียนรู้อะไรมากมายจากพ่อ” สมเด็จพระเทพฯทรงกล่าวกับหนังสือพิมพ์ Germany ‘One cannot but like this princess. And indeed the whole country lies at her feet. After the king, who is considered nearly a saint she is certainly the most popular person in Thailand. Everybody knows her, even in the remote corners of the kingdom. Whenever her name is mentioned: Sirindhorn - it means a person full of kindness - faces light up. Even the British queen can only dream of such popularity’ ‘ไม่ทางเลยที่ใครจะไม่ชอบเจ้าหญิงพระองค์นี้ ที่จริงแล้วคนทั้งประเทศยอมสยบใต้เบื้องบาทพระองค์ หากไม่นับพระเจ้าอยู่หัวซึ่งถือกันไปแล้วว่าเกือบจะพอๆกับนักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์จากสรวงสวรรค์ หรือ ที่เรียกตามประเพณีตะวันตกว่า Saint สมเด็จพระเทพฯคือบุคคลที่โด่งดังเป็นที่รู้จักมากที่สุดในแผ่นดินไทย ทุกๆคนรู้จักชื่อเสียงของสมเด็จพระเทพฯ แม่จะอยู่ไกลสุดชายแดน พระนามสิรินธร หมายถึง “พระองค์ผู้ทรงเปี่ยมไปด้วยเมตตา” ทุกครั้งที่ได้ยินชื่อ สิรินธร ใบหน้าของประชาชนจะสดชื่นแจ่มใส ร่าเริง’ หนังสือพิมพ์ Die Zeit ถึงกลับสรุปว่า “แม่แต่สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษก็ได้เพียงแต่ฝันว่าจะทรงมีความโด่งดังเป็นที่รู้จักชื่นชมเท่าสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี” 128 เจ้าฟ้ามหาจักรี ทรงเป็นนักดนตรีผู้ประสบความสำเร็จ เป็นทั้งอาจารย์สอนนักเรียนนายร้อยทหาร 129 นอกเหนือจากหน้าที่เลขานุการของประชาชน 129 เด็กหญิงตัวน้อย ในป่ามืดทึบวิ่งตามหลังพ่อที่เดินนำหน้าด้วยก้าวที่ยาวกว่า เด็กน้อยทั้งเหนื่อย ทั้งหิว เท้าโดนหนามตำจนเลือดไหลซึม กลัวสัตว์ป่า ก็กลัว ก็ได้แต่ถามพ่อซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า “พ่อ...เมื่อไรจะถึงสักที พ่อ...เมื่อไรจะถึง!” พ่อตอบว่า: “Child! On the earth there exists no place Only filled with pleasure and comfort, Our road is not covered with pretty flowers. Go! Always, even if it breaks your heart. I see the thorns prick your tender skin. Your blood: rubies on the grass, near the water. On the green shrubbery, your tears dropped. Diamonds on emerald, show their beauty. For all the human race does not loose its course In the face of pain. Be tenacious and wise. And be happy to have an ideal so dear. Go! If you want to walk in the footsteps of your father.” “ลูกเอ๋ย ในโลกนี้ ไม่มีที่ใดที่ไหนเลยที่จะมีแต่ความสุขสบายสนุกสนานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เส้นทางเดินของเรามิได้โรยด้วยกลีบดอกไม้อันสวยงาม แต่ลูกจงเดินต่อไปข้างหน้าเถิด อย่าหยุด อย่ายั้ง แม้หัวใจของลูกจะแตกสลาย พ่อเห็นแล้วหละว่าหนามตำผิวอันละเอียดนุ่มของลูก แต่เลือดที่ไหลออกมาจากเท้าลูกงามดุจทับทิมบนผืนหญ้าริมธารน้ำ น้ำตาของลูกหยดลงบนพุ่มไม้ที่เขียวชอุ่ม ดุจน้ำเพชรทาบบนมรกตส่งประกายงามหมดจด เพราะมนุษยชาติมิได้พลัดหลงออกนอกเส้นทางด้วยเหตุแห่งความเจ็บปวด ลูกจงอดทนมุ่งมั่นและพากเพียรด้วยปัญญา ลูกจงมีความสุขด้วยอุดมคติที่ทรงค่า ลูกจงเดินต่อไป! หากลูกต้องการเดินตามรอยเท้าของพ่อ” ทั้งเหนื่อย ทั้งหิว เท้าโดนหนามตำจนเลือดไหลซึม กลัวสัตว์ป่า ก็กลัว ก็ได้แต่ถามพ่อซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า “พ่อ...เมื่อไรจะถึงสักที พ่อ...เมื่อไรจะถึง!” สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยอธิบายประปรีชาสามารถของพระเจ้าอยู่หัวว่าเป็น Renaissance Man Renaissance หมายถึงยุคการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการในทวีปยุโรปในช่วง คริสต์ศตวรรษที่ 14-16 ช่วง 300 ปี ที่ผ่านมา 300-400 แล้ว เพราะพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถพิเศษหลายอย่าง “The King’s Many Talents” 146 147 The New York Times 1 พฤษภาคม 1950 / ๒๔๙๓ พาดหัวรายงานข่าวว่า พระมหากษัตริย์ไทย ทรงคุมวง Orchestra เขียนเพลงให้ละคร Broadway นั่นคือข่าวเมื่อครั้งทรงพระชนมายุ 22 พรรษา Michael Todd ผู้ควบคุมและกำกับการแสดงละคร Broadway เรื่อง Peepshow ให้รายละเอียดว่าเพลงที่กษัตริย์หนุ่มจากเมืองไทยทรงพระราชนิพนธ์นั้นชื่อ Blue Night 147 นี่คือภาพการ์ตูน เกี่ยวกับละคร Broadway เรื่อง Peepshow ของ Mike Todd ใน The new York Times วันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน 1950 ผสมกลิ่นอายของเพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ ดังสะท้อนออกมาทางด้านขวาของภาพ Mike Todd คือสามีคนหนึ่งของ Elizabeth Taylor นางเอกภาพยนตร์ผู้โด่งดัง Mike Todd กล่าวครั้งที่มากำกับการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Around the World in Eighty Days ในประเทศไทยว่า ชื่นชม และเป็นพระสหายที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมาก ทำให้บทภาพยนจร์ส่วนที่มีภาพวัดอรุณราชวรารามกับเรือสุพรรณหงส์และขบวนเรือพระราชพิธี ได้ปรากฏเป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์ที่โด่งดังที่สุดในยุคแรกของระบบจอกว้าง Cinemascope ทั้งที่ในหนังสือต้นฉบับของ Jules Verne ตัวเอก Felias Fogg ตัวเอกในเรื่องไม่มีการเดินทางผ่านกรุงเทพแต่อย่างใด 143 Harry Rolnick เขียนลงใน Sawasdee Magazine เดือนมีนาคม 1987 ว่า “The World of Jazz has had its Duke, its Earl and its Count. But to the Thai world, H.M. King Bhumibol Adulyadej is undoubtedly the King of Jazz.” โลกแห่งดนตรี Jazz ก็มี Duke / Earl และมี Count แห่งวงการ Jazz แต่สำหรับโลกของคนไทย พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นเจ้าแห่งแผ่นดิน Jazz The King of Jazz อย่างแท้จริง 143 ภาพนี้ถ่ายเมื่อปี 1960 ขณะทรงร่วมเล่นคนตรีกับวง Dixieland Jazz Band ที่ Honolulu, Hawaii 144 เมื่อทรงมีเวลาว่าง ก็ทรงจัดรายการเพลงที่สถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต 145 ทรงเป็นช่างถ่ายรูปชั้นยอด ทรงฝึกถ่ายรูปตั้งแต่ทรงพระเยาว์ 133 ภาพนี้ กับ Elvis Presley King of Rock and Roll พบกับ King of Jazz Anthony M. Paul เขียนใน Reader’s Digest เดือนธันวาคม 1984 ว่า พระองค์คือความหวังที่สูงสุด ของคนไทย แม้จะมิได้ทรงมีพระราชอำนาจเกี่ยวโยงตรงในด้านการเมืองของรัฐบาล แต่ในเมื่อรัฐบาลไม่ดี ทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ประชาชนคนไทยก็จะนึกถึงพระองค์เป็น Best Hope ความหวังอันเป็นพึ่งที่สุดท้าย 139 บทความที่ลงพิมพ์ในสื่อต่างประเทศหลายแห่งของ Peter Cummins ในเดือนธันวาคม 1987 เล่าถึงความเป็นนักแข่งเรือใบของพระองค์ว่า 140 The King developed into one of the region’s best dinghy sailors. พระเจ้าอยู่หัวของไทยทรงพัฒนาเป็นนักแล่นเรือใบที่ดีที่สุดพระองค์หนึ่งแห่งภูมิภาค 141 142 เดือนธันวาคม ปีเดียวกัน John Hoskin เขียนเรื่องประปรีชาสามารถด้านจิตรกรรมที่มีรูแบบท่วงทำนองที่หลากหลาย 137 ในปี 1979 โทรทัศน์ BBC ของอังกฤษผลิตภาพยนตร์สารคดียกย่องพระองค์ว่าคือ Soul of a Nation จิตวิญญาณของชาติ ทรงพระราชทานสัมภาษณ์แก่ BBC เรื่อง His Job As king งานการเป็นพระมหากษัตริย์ของพระองค์ The King and I ภาพยนตร์เรื่อง The king and I Village Problems ปัญหาในชนบท Communist Insurgency การก่อการร้ายของพวก Communists Why study several hours every evening, looking at maps, listening to radios? การทรงงานมากหลายชั่วโมงทุกคืน ศึกษาแผนที่ ฟังวิทยุ 138 Hilltribes เรื่องชาวเขาทางภาคเหนือ Buddhism and its importance for the king ศาสนาพุทธกับความสำคัญต่อความเป็นกษัตริย์ 134 135 นิตยสาร Leaders ฉบับเดือนเมษายน – มิถุนายน 1982 ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสัมภาษณ์พิเศษ คำถามแรก ถามว่า Because of the way you have been king you have so much of the respect of the people that you are more than a constitutional monarch. You really have power, probably the power of love. Is that correct? “เพราะพระองค์ท่านทรงดำรงพระองค์เป็นกษัตริย์ในแบบฉบับของพระองค์เองที่ทรงเป็นอยู่เช่นนี้ใช่ไหมที่ทำให้ได้รับความเคารพจากประชาชนอย่างสูงยิ่งไปกว่าที่จะเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญธรรมดาๆทั่วไป พระองค์ทรงมีพลังอำนาจยิ่งนัก อันเป็นพลังอำนาจแห่งความรัก The Power of Love” พระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลย์เดชทรงตอบว่า “One must first look at the principle of Constitutional Monarchy, which is rather simple. It says the king can do no wrong and those words can be difficult to understand. Sometimes it can be understood that the king can do no wrong because he adheres strictly to the scope of responsibility. But, on the other hand, it can also be understood that the king can do no wrong because he has love….The king is under the law….The Tenfold Practice of Kingship” เราจะต้องดูที่หลักการของระบอบการปกครองแบบที่มีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก่อนอื่น ซึ่งกำหนดว่า พระมหากษัตริย์จะทรงกระทำอะไรเป็นความผิดมิได้ ซึ่งก็ฟังดูแล้วพูดง่าย แต่เข้าใจยาก อาจจะหมายความว่าให้พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติหน้าที่ในกรอบที่กำหนดอย่างเคร่งครัดเท่านั้นก็เป็นอันไม่มีอะไรผิด แต่ดูอีกทางหนึ่งก็ได้ว่า พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงทำอะไรผิดๆได้เลย เพราะพระองค์ทรงปฏิบัติหน้าที่ต่อประชาชนด้วยความรัก พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้กฎหมายที่เรียกว่า ทศพิธราชธรรม” 149 กลับไปหลังเวทีละคร Broadway อีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่เรื่อง Peepshow ของ Mike Todd แต่คราวนี้เป็นหลังเวที The King And I 150 สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เสด็จหลังเวที พบกับ Yul Bryner พระเอกของเรื่อง ผู้แสดงเป็น King Mongkut พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่สี่ ทั้งหนังสือ ละคร ภาพยนตร์ เรื่อง The King And I ที่สร้างนวนิยายเรื่อง Anna and the King of Siam ของ Margaret Landon ถูกห้ามเผยแพร่ในประเทศไทยเพราะรัฐบาลไทยสมัยนั้นเห็นว่า เป็นเรื่องที่แต่งผิดเพี้ยนไปจากประวัติศาสตร์พระเจ้ากรุงสยามที่แท้จริง และทำให้พระเจ้าแผ่นดินของไทยดูเป็นเรื่องตลกขบขันบน แต่ที่สหรัฐอเมริกา ละคร The King and I แสดงต่อเนื่องมานานถึงปี 1985 ตอนนั้น ก็รวมได้ 34 ปีแล้ว สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์เสด็จหลังเวที แสดงความยินและขอบคุณคณะนักแสดง ทรงมีพระราชดำรัสกับ Yul Bryner ว่า ทรงสนุก พอพระทัย การแสดงสวยงามมาก Yul Bryner กราบบังคมทูลว่า 149 “We have done so many things about your country without really knowing it. But we do it with great love” “เราเอาเรื่องเมืองไทยมาแสดงแล้วหลายเรื่องโดยที่เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเมืองไทยเท่าไรนัก เราทำทุกอย่างด้วยความรักเมืองไทยเป็นอย่างมาก” 150 ผู้แทนพระองค์ให้สัมภาษณ์ต่อมาว่า “She thinks the show is fun. She and the king are open-minded and we all know that the court would never act like that.” สมเด็จพระราชินีมิได้ทรงเห็นว่าละครเรื่อง The King and I จะมีปัญหาดูหมิ่นกษัตริย์สยามแต่ประการใด พระองค์บอกว่าดูแล้วเพลิดเพลิน พระเจ้าอยู่หัวของสยามนั้นทรงมีพระทัยเปิดกว้าง และทรงทราบว่าละครก็คือละครที่แสดง เรื่องจริงๆในวังไม่เป็นอย่างในละคร ใครๆก็ทราบอยู่แล้ว สำนักข่าว Reuters รายงานเรื่องนี้ ในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1985 148 ในช่วงหลังปี 1980 สื่อมวลชนต่างประเทศสนใจรายงานแง่มุมที่ไม่ใช่การเมืองการปรกครองของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมากเป็นพิเศษ 151 หนังสือพิมพ์ Los Angeles Times รายงานวันที่ 29 พฤษภาคม 1980 รายงานเรื่องช้างเผือกคู่สถาบันพระมหากษัตริย์ แถมคำพังเผยไทยโบราณว่า “To know a woman you must look at her mother, to know an elephant you must look at its tail.” “ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” 152 สำนักข่าว AP รายงานวันที่ 22 สิงหาคม 1980 รายงานเรื่อง Julie Jensen ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์ของไทย หลังจากแต่งงานกับชาวอเมริกัน 8 ปีก่อนหน้านั้น ชื่อของ Princess Uboltatana ก็หานไปจากสังคมไทย พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเคยร่วมแข่งเรือใบกับ Julie Jensen จนได้เหรียญทองในกีฬาแหลมทอง และหลังจาก เจ้าหญิงอุบลรัตน์จากไปอยู่สหรัฐอเมริกา กลายเป็น Julie Jensen พระองค์ก็มิได้ทรงเล่นเรือใบอีกเลย 153 Julie และ Peter Jensen กลับมาเยือนประเทศไทยพร้อมด้วยลูกๆทั้งสามคนบ่อยขึ้นหลังปี 1987 สำนักข่าว UPI รายงานวันที่ 5 ธันวาคม 1983 เรื่องการทำมันวันเฉลิมพระชนมพรรษา 154 รายงานต่อมาวันที่ 2 มิถุนายน 1984 มีรายงานเรื่อง สมเด็จพระราชินี ทรงเข้าช่วยเหลือดูแลเด็กหญิงลำดวน ขำมี ที่ถูกนายจ้างกักขังตัวนาน 9 เดือน 155 วันที่ 9 เมษายน 1985 UPI รายงานเรื่อง ราชประเพณี ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี 156 157 เน้นถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประชาธิปไตย .ในสมัยรัชกาลที่ 7 ปี พ.ศ. 2475 UPI วิจารณ์ว่า “The king accepted the changeover to avoid bloodshed but two years later left the country for self-imposed exile in England, where he abdicated the throne in 1935. “Queen Rambhai remained in England until 1949, when she returned to Thailand with the ashes of her husband and was given an emotional welcome.” “พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงยอมรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด แต่สองปีต่อมาพระองค์ก็เสด็จลี้ภัยการเมือง จากประเทศไทยไปอังกฤษ และทรงสละราชสมบัติ ในปี 1935 ( พ.ศ. 2478) สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงอยู่ในอังกฤษถึงปี 1949 แล้วจึงเสด็จกลับประเทศไทยพร้อมด้วยพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่ามกลางบรรยากาศสะเทือนอารมณ์พสกนิกรไทย” 158 1987 ปีสำคัญของชาวไทย พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงพระชนมายุครบ 5 รอบ 60 พรรษา 159 UPI รายงานแต่ตอนนั้นแล้วว่า ชาวไทยคาดกันว่าพระมหากษัตริย์ของเขาจะได้ทรงครองสิริราชสมบัติยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย 160 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า “The Chao Phya River has to flow on and the water that has flowed on must be replaced. It is the same in our own life” “แม่น้ำเจ้าพระยาไหลไป น้ำที่ไหลไป ต้องถูกน้ำใหม่มาแทนที่ มันก็เช่นเดียวกับชีวิตของเรา” 160 วันที่ 6 พฤษภาคม 1987 สำนักข่าว AFP ของฝรั่งเศสรายงานว่า ประชาชนชาวไทยพร้อมใจกันเทิดทูลพระบารมีของพระองค์ให้ทรงเป็นมหาราช King Bhumibol Adulyadej “The Great” 161 ชาวไทย และ กรุงเทพมหานคร เฉลิมฉลองกันอย่างงดงามตระการตา 162 Power and Awe Surround Royal Family Toledo Blade Bangkok September 6, 1978 By Ben Barber 163 A Royal Extravaganza Asiaweek October 30, 1987 By Chuchart Kangwaan 166 The Homage of a Nation Asiaweek December 18, 1987 By Chuchart Kangwaan 168 A Royal Birthday Party: King Bhumibol Adulyadej Turns 60 And the Country Celebrates Far Eastern Economic Review December 10, 1987 By Paisal Sricharatchanya and Rodney Tasker 169 “The King will remain on the throne for many years” 170 “The Democratic King: The Monarch Plays a Pivotal Role in Political Stability” 171 “The king’s cautious hand in the country’s political life was evident again in the aftermath of the bloody military coup in October 1976”. 172 “…the king’s influence has been pivotal in maintaining stability…” The King of Thailand in World Focus โดย Foreign Correspondence Club of Thailand ********************** 8 The Story of Mahajanaka โดย H.M. King Bhumibol Adulyadej H.M. King Bhumibol Adulyadej, The Story of Mahajanaka เดือนมิถุนายน เป็นเดือนแห่งการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงได้รับการสรรเสริญจากองค์การสหประชาชาติว่าเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกผู้ทรงพระอัจฉริยภาพด้านการพัฒนามนุษย์ การพัฒนาภูมิปัญญาของมนุษย์ผ่านงานวรรณกรรมของพระองค์ก็อยู่ในส่วนของพระอัจฉริยภาพด้านนี้ของพระองค์ด้วย มีผลงานวรรณกรรมสำคัญของพระองค์สามเรื่องที่จะแนะนำในเดือนนี้ ขอเริ่มที่ The Story of Mahajanaka หรือ พระมหาชนก ฉบับภาษาอังกฤษ 84 บน 85 “Any enterprise that is not achieved Through perseverance, is fruitless; Obstacles will occur. When any enterprise undertaken with such misdirected effort results in Death showing his face, what is the use of such enterprise and misdirected effort?” 82 บน 85 “การงานอันใด ยังไม่ถึงที่สุดด้วยความพยายาม การงานอันนั้นก็ไร้ผล มีความลำบากเกิดขึ้น การทำความพยายามในฐานะอันไม่สมควรใด จนความตายปรากฏขึ้น ความพยายามในฐานะอันไม่สมควรนั้น จะมีประโยชน์อะไร” 92-93 นางมณีเมขลากล่าวต่อพระมหาชนกที่กำลังเพียรพยายามฝ่าคลื่นลมและกระแสน้ำแห่งมหาสมุทร โดยวันเวลาผ่านไปแล้ว เจ็ดวัน เจ็ดคืน มิมีวี่แววว่าจะเห็นฝั่งแผ่นดิน 89 บน 97 แต่พระมหาชนกก็มิเห็นด้วยกับคำของนางมณีเมขลา เทพธิดาแห่งท้าวโลกบาลทั้งสี่ ผู้ถูกส่งมาดูแลสัตว์โลกผู้ประกอบคุณความดี มิสมควรสิ้นชีวิตในมหาสมุทร พระมหาชนกโต้แย้งนางมณีเมขลาว่า 89 “Hark, o Goddess! Anyone who knows for sure that his activities will not meet with success, can be deemed to be doomed; if that one desists from perseverance in that way, he will surely receive the consequence of his indolence.” 86 “ดูก่อนเทวดา ผู้ใดรู้แจ้งว่าการงานที่ทำจะไม่ลุล่วงไปได้จริง ชื่อว่าไม่รักษาชีวิตของตน ถ้าผู้นั้นละความเพียรในฐานะเช่นนั้นเสีย ก็จะพึงรู้ผลแห่งความเกียจคร้าน” 89 “Hark, o Goddess! Some people in this world strive to get results for their endeavours even if they don’t succeed” 86 “ดูก่อนเทวดา คนบางพวกในโลกนี้เห็นผลแห่งความประสงค์ของตน จึงประกอบการงานทั้งหลาย การงานเหล่านั้นจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม” 89 “Hark o Goddess! You do see clearly the results of actions, don’t you? All the others have drown in the ocean; we alone are going to endeavour further to the utmost of our ability; we are going to strive like a man should to reach the shores of the ocean.” 86 “ดูก่อนเทวดา ท่านก็เห็นผลแห่งกรรมประจักษ์แก่ตนแล้วมิใช่หรือ คนอื่นๆจมในมหาสมุทรหมด เราคนเดียวยังว่ายข้ามอยู่ และได้เห็นท่านมาสถิตอยู่ใกล้ๆเรา เรานั้นจักพยายามตามสติกำลัง จักทำความเพียรที่บุรุษควรทำ ไปให้ถึงฝั่งแห่งมหาสมุทร” นี่คือหัวใจของพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” ความเพียร ที่ต้องยึดมั่น แม้เทวดาจะแสร้งท้วงติงอย่างไร ก็ต้องโต้แย้งเทวดาได้ เมื่อพระมหาชนกทรงยึดมั่นในความเพียร นางมณีเมขลาจึงมั่นใจว่าพระองค์ทรงเป็นผู้บำเพ็ญเพียรโดยแม้ มิสมควรตายในมหาสมุทร 100 นางจึงได้ช่วยพาพระมหาชนกไปยัง 101 ไปครองมิถิลานคร แห่งชมพูทวีปต่อไป The Story of Mahajanaka เรื่อง พระมหาชนก เป็นงานพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดชทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษ ตรงจากมหาชนกชาดก ในพระไตรปิฎก ส่วนพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกายชาดก เล่มที่ 4 ภาคที่ 2 ปรับแต่งดัดแปลงเล็กน้อย เพื่อให้เข้าใจง่าย และสอดคล้องกับยุคสมัยและปัญหาโลกปัจจุบัน เป็นหนังสือที่ทรงพระพระราชนิพนธ์ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย สำหรับฉบับพิเศษเล่มนี้พิมพ์ทั้งสองภาษา โดยสำนักพิมพ์อมรินทร์เมื่อปี พ.ศ. 2542 หลังจากการพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2539เป็นหนังสือที่สวยงามที่สุดในประวัติศาสตร์การพิมพ์ ด้วยภาพเขียนประกอบโดยจิตรกรที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศไทย 10 คน รวม 37 ภาพ 54-55 และภาพนางมณีเมขลาพยากรณ์อากาศอันเป็นภาพฝีพระหัตถ์จากคอมพิวเตอร์ของพระองค์ The Story of Mahajanaka เรื่อง พระมหาชนก เป็นชาดกโบราณในคัมภีร์ศาสนาพุทธ เมื่อทรงนำมานำเสนอใหม่ในโลกยุคโลกาภิวัตน์จึงประจักษ์ในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ในฉบับภาษาอังกฤษ สำนวนภาษาอังกฤษแบบยุคกลาง หรือ Middle English ดั่งที่ J.R.R. Tolkien ใช้ใน The Lord of the Rings จึงปรากฏใน เรื่อง พระมหาชนก The Story of Mahajanaka ไม่มากจนถึงกับอ่านยาก เพราะมีสำนวนภาษาสมัยใหม่ที่ออกจะสนุกสนาน พร้อมด้วยคำภาษาสันสกฤตโบราณเขียนด้วยตัวอักษรเทพนาลีของอินเดีย สอดแทรกผสมผสานพระอารมณ์ขัน วิทยาการสมัยใหม่ และความเป็นไทย 53 พระมหาชนกขอพระราชมารดาเสด็จไปสุวรรณภูมิหรือประเทศไทยก่อนไปกู้บ้านเมืองที่มิถิลานคร เพราะสุวรรณภูมิมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์จะได้ค้าขายแลกเปลี่ยนเพื่อสะสมความพร้อมในการกู้อาณาจักรมิถิลานคร 101 นี่คือมิถิลานคร 126-127-128 และมิถิลานครยุคโลกาภิวัตน์ เมืองอวิชชาที่ฟอนเฟะ ผู้คนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม ต้นมะม่วงทั้งต้นถูกโค่นล้มทะลาย เพราะอำมาตย์ราชมนตรี และประชาชนชาวมิถิลานคร เพียงเพราะต้องการกินผล เทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรถูกใช้ทำลายระบบการเกษตรทั้งหมด ดุจการล้มมะม่วงทั้งต้น 134+135 พระมหากษัตริย์จึงทรงพระราชทานเทคโนโลยีโครงการหลวงฟื้นฟูมะม่วง 9 ประการ 1. Seed culture เพาะเม็ดมะม่วง 2. Root Nursing ถนอมราก 3. Cutting Culture ปักชำ 4. Grafting เสียบยอด 5. Bud-Grafting ต่อตา 6. Branch Splicing ทาบกิ่ง 7. Branch Layering ตอนกิ่ง 8. Tree Smoking รมควัน 9. Cell/Tissue Culture ชีวาณูสงเคราะห์ หรือ ปลูกเนื้อเยื่อ พระมหากษัตริย์แห่งมิถิลานครทรงมีโครงการในพระราชดำริเพื่อฟื้นฟูประเทศชาติถึง 9 วิธี แต่มหาอำมาตย์ราชมนตรี และประชาชนกลับไม่รับสนองพระบรมราชโอการเลย ทุกคนต่างแต่จะโค่นต้นมะม่วง เพื่อเอาเป็นของตนเองทั้งหมดเอาไปกินเองที่บ้านคนเดียวครั้งเดียว หนทางฟื้นต้นมะม่วงกอบกู้มิถิลานครจึงมืดมน แล้วพระมหาชนกจะทรงครองนครให้รุ่งเรื่องได้อย่างไร เมื่อประโยชน์ส่วนตนเข้ามาแทนที่ความสามัคคี และความเสียสละ ความโง่เขลาเข้ามาอยู่เหนือความรู้ ความเกียจคร้านสิ้นหวังเข้ามาทำลายและความเพียร เรื่อง พระมหาชนก The Story of Mahajanaka พระราชนิพนธ์ H.M. King Bhumibol Adulyadej ********************** 9 "A Man Called Intrepid" โดย William Stevenson ในช่วงวโรกาสเฉลิมราชย์ 60 ปี ปี 2549 นี้ โลกยามเช้าจะขอเชิญชวนท่านผู้รักการอ่านหนังสือภาษาอังกฤษร่วมทำความรู้จักกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชของเราในแง่มุมที่ต่างไปจากปรกติ นั่นก็คือ ผ่านหนังสือที่พระองค์ทรงโปรด และหนังสือเล่มนี้ต้องเป็นที่ทรงโปรดอย่างที่สุดแน่นอน เพราะพระองค์ทรงนำมาแปลให้พสกนิกรของพระองค์ได้อ่านในภาคภาษาไทย สำหรับวันนี้จะเริ่มต้นด้วยต้นฉบับภาษาอังกฤษก่อน A Man Called Intrepid โดย William Stevenson "คนที่ถูกเรียกว่า Intrepid" "Intrepid" จาก Oxford English Dictionary แปลว่า ความ "Fearless" "ไม่กลัว" "Undaunted" "ไม่ย่นย่อถ้อถอย" "Brave" "หาญกล้า" "ท้าทาย" "Daring" อันเป็นเป็นคุณสมบัติในบุคคล และใน Merriam-Webster’s Third International Dictionary แปลว่า "characterized by resolute fearlessness in meeting dangers or hardships and enduring them with fortitude" "คนซึ่งมีคุณลักษณะไม่หวาดกลัวสิ่งใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะต้องเผชิญภยันตราย หรือความลำบากยากเข็ญอย่างไร เพียงใด ก็จะบากบั่นฝ่าฟันด้วยมานะมุ่งมั่น" A Man Called Intrepid โดย William Stevenson จึงเป็นเรื่องราวของบุคคลซึ่งเรียกได้ว่ามีความมุ่งมั่นหาญกล้าท้าทายไม่ย่นย่อท้อถอยต่อภัยอันตรายทั้งปวง คนคนนี้ชื่อจริงจะชื่ออะไรก็ตาม แต่เขาสมควรได้รับสมยานามว่า "INTREPID" P2 ภาพถ่าย พล เอก William "Wild Bill" Donovan หัวหน้าสำนักงานบริการยุทธศาสตร์สหรัฐอเมริกา ที่ท่านมอบให้ "The Man Called Intrepid" โดยเขียนบันทึกถึง Intrepid เพื่อนรักว่า "To Intrepid...whose friendship, knowledge and continuing assistance contributed so richly to the establishment and the maintenance of an American intelligence service in World War II" [Bill Donovan] "ความเป็นเพื่อน ความรู้ และความร่วมมือช่วยเหลือที่ตลอดต่อเนื่องทำให้ก่อกำเนิดและเป็นประโยชน์ยิ่งต่อปฏิบัติการงานข่าวกรองหรืองานสืบการลับของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง" P3 Kim Philby Superspy หรือสุดยอดสายลับของสหภาพโซเวียต เป็นชาวอังกฤษผู้กลบเกลื่อนงานลับด้วยการแสดงความเห็นสนับสนุน Nazi Germany และ Hitler ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง P4 Enigma เครื่องส่งข่าวติดรหัสลับ และถอดรหัสลับที่ Hitler ใช้ Intrepid นำปฏิบัติการถอดรหัสการสื่อสารของ German Nazi เทคโนโลยีแปลงสัญญาณข้อมูลข่าวสารอันสลับซับซ้อนที่อังกฤษต้องการถอดรหัสให้ได้ อนาคตความอยู่รอดของประเทศจากเงื้อมมือหฤโหดของ Hitler ขึ้นอยู่กับการดักฟังและถอดรหัสข้อมูลที่รับส่งจากเครื่อง Enigma นี้ และ Intrepid คือคนที่จะช่วยจัดการเรื่องนี้ได้ P5 คฤหาสน์หลังนี้ ตั้งอยู่ ณ เมือง Bletchley กลางแคว้น England เป็นที่ผลิตเครื่อง Enigma เลียนแบบของ Germany ที่นี่เป็นที่อ่านรหัสลับการสื่อสารของ กองทัพ German ทีมงานของ Intrepid สามารถสร้างระบบอ่านรหัสลับและส่งรหัสลับรบกวนแทรกแซงงานข่าวกรองของ Germany ได้ ระบบถอดรหัสของ Intrepid นี้เรียกว่า "Top-secret Ultra" P6 นี่คือ Ian Flaming ผู้ให้กำเนิด James Bond สายลับ 007 อันเลื่องชื่อของอังกฤษผู้มี License to Kill ใบอนุญาตสังหาร งานในชีวิตจริงของ Ian Flaming เป็นนายทหารเรือฝ่ายข่าวกรอง ช่วยงาน Intrepid อย่างใกล้ชิด P7+P8+P9 สายลับส่งข่าว Top-secret Ultra ทำงานให้ Intrepid อาจเป็นคนธรรมดาที่ไม่มีใครรู้จัก ปลอมตัวกลมกลืนไปกับฝูงชน ทุกหนแห่งในโลกยามสงคราม นี่คือสายลับ Eric Bailey P7 ใน Tibet ปี 1904 P9 คนนั่งในภาพ ถ่ายที่ Tashkent 15 ปีให้หลัง P8 และใน Uzbek สหภาพโซเวียต ต่อมาอีกหนึ่งปี อายุของ สายลับ Bailey เกือบครบ 60 ปี P12 Madeleine สายลับใต้ดินชาวฝรั่งเศสแฝงตัวทำงานเป็นพนักงานส่งวิทยุโทรเลขให้ Nazi German เรียกชื่อคนงานคุมเครื่องโทรเลขเช่น Madeleineว่า "Pianist" Madeleine เป็นสายลับคนเดียวที่เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างหน่วยใต้ดินฝรั่งเศสกับอังกฤษ หลังจากที่คนอื่นๆถูกพวกของ Hitler จับไปหมดแล้ว P13 P14 P18 P16 P15 Madeleine ต้องฝึกหนักเหมือนสายลับชายทุกคน รวมทั้งการฝึกโดดร่มลงจุดเป้าหมายในพื้นที่ศัตรู P17 หากทำงานพลาด ถูก German จับได้ Madeleine ต้องกินยาพิษนี้ฆ่าตัวตายทันที เพื่อเก็บความลับ P39 Cynthia เป็นชื่อสายลับสาวงามชาวอเมริกัน ทำงานให้หน่วยสืบข่าวลับอังกฤษ ค้นหาและขโมยเครื่อง Enigma ของ German ที่ผลิตใน Poland เธอใช้ความเป็นสาวสวยของเธออย่างเป็นประโยชน์คุ้มค่าการเป็นสายลับ (P40+P41+P42 dissolve คู่กับภาพ Cynthia P39) นี่คือผลงานจารกรรมส่วนหนึ่งโดยสายลับ Cynthia ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของของงานจารกรรม อันเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายงานสายลับใต้ดินที่ Intrepid ควบคุมอยู่คลุมพื้นที่ทั้งยุโรป และ อเมริกา รวมทั้งส่วนอื่นๆของโลก ทั้งหมดเป็นเรื่องจริง จริงยิ่งกว่านวนิยาย หรือภาพยนตร์จารกรรมสายลับ James Bond 007 เรื่องใด Intrepid คือใคร ทำไมจึงเก่งกาจสามารถ ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่และลับลึกสุดยอดยิ่งนัก ที่อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และพันธมิตรผ่านสงครามโลกครั้งที่สองมาได้ ด้วยชัยชนะเหนือ Hitler และ Nazi Germany นั้น หัวใจสำคัญมิใช่เทคโนโลยีอาวุธสงครามทั้งหลาย หากแต่เป็นด้วยงานจารกรรมข้อมูล ข่าวสาร งานถอดรหัสลับใต้ดินของอาสามสมัครชาวบ้านธรรมดาที่มิได้ฝึกฝนเรียนรู้วิชาการสงครามมาก่อน ทุกคนทำงานในเครือข่ายจารกรรมและนักก่อการลับใต้ดินที่ Winston Churchill มอบหมายให้ Intrepid ควบคุมปฏิบัติการทั้งหมด "A Man Called Intrepid" คือใคร? P1 (เน้น-คนขวามือ ภาพมืดหันหลังให้) ชายคนนี้คือ "The Man Called Intrepid" จากหนังสือเรื่องเรื่องจริงสมัยสงครามโลกทั้งสองครั้ง ค้นคว้าและเขียนโดย William Stevenson เมื่อปี 1972 34 ที่ผ่านมา Intrepid คือใคร??? วันที่ 1 กันยายน 1939 กองทัพ Hitler เริ่มยาตราทัพนาซีบุก Poland Poland ถูกยึดครองภายใน 26 วัน Norway ถูกครอบครองใน 28 วัน Holland ล่มสลายภายใน 5 วัน Denmark ตกเป็นของ Germany ในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง Luxembourg 12 ชั่วโมง ฝรั่งเศสคือเป้าหมายต่อไป และ ก้าวสำคัญต่อไปในการยึดเป็นฐานขยายอำนาจ ครองโลกของ Hitler คืออังกฤษ สงครามโลกครั้งที่สอง ปี 1939 มองไม่เห็นหนทางใดเลยที่อังกฤษจะรอดพ้นการครอบครองของกองทัพอันยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกของ Nazi Germany ของเผด็จการ Hitler ไปได้ Neville Chamberlain นายกรัฐมนตรีอังกฤษหวังเพียงเจรจาผ่อนปรน ประนีประนอมกับ Hitler ให้อังกฤษรอดตัว เงินและทองคำหมดคลัง อาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่เพียงพอ ล้าสมัย ขวัญกำลังใจไม่มีเหลือ Winston Churchill ยังไม่มีโอกาสขึ้นสู้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ Churchill ก็ไม่ย่อท้อ จัดตั้งกระบวนเครือข่ายการสายลับใต้ดินอังกฤษ เตรียมพร้อมสู้กับ Germany โดยนายกรัฐมนตรี Chamberlain ไม่ระแคะระคายแม้แต่น้อย Winston Churchill แทบไม่มีอิทธิพลใดๆในรัฐสภา แต่ใต้ดิน ท่านมีพวกพ้องลูกน้องที่เลื่อมใสในความรักชาติอย่างหาญกล้าของท่านจำนวนหนึ่ง Churchill ทราบดีว่าอังกฤษไม่มีทางต้าน Hitler และกองทัพ Nazi ได้ ในที่สุดอังกฤษก็จะตกเป็นเมืองครอบครองของ Hitler ชาวอังกฤษจะถูกฆ่าล้มตายมากมาย ที่เหลือจะตกเป็นทาสของพวก Nazi แต่ Churchill ไม่มีวันยอมแพ้ ท่านเชื่อว่าการรบแบบกองโจรใต้ดินของอาสาสมัครประชาชนที่ไร้ชื่อ ทำงานเป็นเครือข่ายลับเชื่อมโยงปฏิบัติการอย่างเสียสละ โดยส่วนใหญ่จะเสียงชีวิต และอายุเฉลี่ยในงานสายลับก่อนตายไม่เกิน 6 เดือน และคนที่ Churchill ไว้ใจ เชื่อฝีมือ แต่งตั้งอย่างลับๆ ก็คือชายคนหนึ่ง ที่รับคำสั่งโดยตรงจาก Churchill ไม่มีใครล่วงรู้ แม้รัฐบาลอังกฤษ นายกรัฐมนตรี Neville Chamberlain ก็ไม่รู้เรื่อง ชายคนนั้นเกิดที่ Canada ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ปี 1914 อังกฤษประกาศสงคราม กับ Germany เด็กชายชาว Canada คนนั้นอายุ 19 ปี สมัครเป็นทหารเข้าร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับนักบินขับไล่กองทัพอากาศอังกฤษ อย่างกล้าหาญ บ้าบิ่น ไม่กลัวตาย จนบาดเจ็บ หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขาอายุ 23 กลับ Canada เป็นอาจารย์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัย Manitoba เขาคิดว่าเขาควรตายเหมือนเพื่อนๆนักบินในสงคราม เมื่อไม่ตาย ชีวิตที่เหลือรอดมาจึงต้องมีเหตุผลเพียงพอในการดำรงอยู่อย่างถูกต้องเหมาะสม 15 “Being still alive, I had an obligation to justify my survival” เขาบอกว่า ในเมื่อเขายังไม่ตาย ก็ต้องมีพันธะที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างมีเหตุผลและความหมาย เขากลับไปอังกฤษ เป็นนักคิด นักประดิษฐ์ นักธุรกิจ นักสื่อสาร คิดค้น สร้างอาณาจักรธุรกิจ อุตสาหกรรม วิทยุกระจายเสียง และโรงถ่ายภาพยนตร์ และอุตสาหกรรมอื่นอื่นจนเป็นมหาเศรษฐี ในวงการอุตสาหกรรมผลิตภาพยนตร์ ธุรกิจของเขายิ่งใหญ่ไม่แพ้ Hollywood ไม่มีใครในอังกฤษ ยุโรป และอเมริกา ไม่มีใครไม่รู้จักเขา Hitler ก็รู้จักเขา แต่ไม่มีใครรู้เลยว่ามหาเศรษฐีคนนี้ คือมือขวา ของ Winston Churchill เขาเป็นผู้คุมเครือข่าวสายลับของอังกฤษ ปฏิบัติการรอบโลก ต่อต้าน Hitler และ Nazi Germany เขาคือ The Man Called Intrepid เขาสร้างเครือข่ายสายลับใต้ดินให้กับ Churchill ตั้งแต่ Churchill ยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี หลัง นายกรัฐมนตรี Neville Chamberlain ถูกลงมติไม่ไว้วางใจในรัฐสภา พ้นจากตำแหน่ง Churchill ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี วันที่ 10 พฤษภาคม 1940 เครือข่ายสายลับใต้ดินยังคงทำลานลับต่อไป 112 วันหนึ่ง Churchill บอกกับมหาเศรษฐีผู้รับงานคุมเครือข่ายสายลับต้าน Hitler คนนี้ว่า จะต้องพยายามดึงความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกามาให้ได้ ชาวอเมริกันก็ต้องไม่รู้ว่าประธานาธิบดี Roosevelt แอบให้ความช่วยเหลืออังกฤษอยู่อย่างลับๆ ทั้งๆที่สหรัฐประกาศตัวเป็นกลาง คนคุมเครือข่ายสายลับใต้ดินอย่างนี้ต้องหล้าหาญไม่กลัวสิ่งใด ต้องเป็นคน Fearless ต้องเป็นคน Dauntless ไม่ย่นย่อท้อถอยต่ออันตรายทั้งปวง Churchill หยุดคิดครู่หนึ่ง เพื่อหาคำอธิบายคุณสมบัติของหัวหน้าหน่วยใต้ดิน คำที่ดีกว่า Fearless ลึกล้ำกว่า Dauntless “You must be – intrepid!” มหาเศรษฐีอดีตทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 1 คนนั้น จึงมีชื่อ เป็น Code ลับ ว่า “INTREPID” จากนั้นเป็นต้นมา หนังสือเรื่อง A Man Called Intrepid โดย William Stevenson เป็นสารคดีเขียนจากเอกสารลับของ Intrepid ที่ปกปิดเป็นความลับมานานแม้หลังสงคราม ที่ผลงานของ Intrepid ทำให้กับอังกฤษ และชนชาติผู้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นรากฐานทางวัฒนธรรม จนพลิก ความพ่ายแพ้เป็นชัยชนะได้นั้น ไม่มีใครประสงค์จะเปิดเผย เพราะความลับทั้งหลายนั้นสำคัญ ลึกซึ้ง และอันตรายยิ่งหากถูกเปิดเผย แม้สงครามจะผ่านไปหลายปีแล้วก็ตาม จนกระทั่งปี 1962 ข่าวรั่วไหลบางส่วนทำให้จำยอมเปิดเผยความลับบางส่วนของ Intrepid โดยวางแผนให้ความลับออกมาในรูปของหนังสือชื่อ “The Quiet Canadian” เขียนโดยเพื่อนของ Intrepid ชื่อ H. Montgomery Hyde หนังสือเล่มนี้ใช้ชื่อ “Room 3603” เมื่อพิมพ์จำหน่ายในสหรัฐอเมริกา จากนั้นพวก Russia ก็เริ่มรู้เรื่องลับของ Intrepid มากขึ้น จนมีความจำเป็นที่ทางการอังกฤษและสหรัฐอเมริกาต้องเปิดเผยความลับทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานของ Intrepid โดยในปี 1972 Intrepid มอบเอกสารทุกชิ้น ทั้งหมดให้กับ William Stevenson เป็นผู้ศึกษาค้นคว้า และเขียนเป็นหนังสือเล่มนี้ ที่ชื่อ A Man Called Intrepid บัดนี้ทุกคนที่ได้อ่าน A Man Called Intrepid โดย William Stevenson ตั้งแต่เมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมาแล้วย่อมรู้แล้วว่า Intrepid คือใคร ทุกอย่างทุกเรื่องที่ถูกเปิดเผยออกมาในหนังสือเล่มนี้ ตื่นเต้น ตื่นตา ตื่นใจ และน่าทึ่งในข้อเท็จจริง ที่จริงยิ่งกว่านิยายสายลับเรื่องใด A Man Called Intrepid โดย William Stevenson ********************** 10 “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” พระราชนิพนธ์แปล โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช [แปลจากเรื่อง “A Man Called Intrepid” โดย William Stevenson] “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” คือชื่อหนังสือฉบับแปล Intrepid พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงแปลว่า “นายอินทร์” เพียงแค่เริ่มแปลชื่อ Intrepid เป็น นายอินทร์ ก็สะท้อนพระอัจฉริยภาพสองประการแล้ว เพราะหากเป็นนักแปลอาชีพทั่วไปแล้วก็จะต้องแปลตรงตัวว่า “บุรุษผู้ชื่อว่า นายกล้าหาญ” หรือไม่ก็ “ชายคนนั้นชื่อ Intrepid” พระอัจฉริยภาพประการที่หนึ่ง คือความมั่นใจเด็ดเดี่ยวที่จะไม่แปลตามตัวอักษร แต่จะทรงแปลตามที่ควรจะเข้าในความหมายของคำและความหมายที่แฝงอยู่ในคำ เพราะ Intrepid เป็นชื่อ Code ปลอมตัวของสายลับหัวหน้าเครือข่ายจารกรรมของอังกฤษ ต่อต้าน Hitler และ Germany สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ในบทที่ 16 ของ A Man Called Intrepid อันเป็นตอนที่อธิบายที่มาของชื่อ Intrepid ซึ่งต้นฉบับเขียนว่า “The manoeuvre which brings an ally into the field is as serviceable as that which wins a great battle,” Churchill had written in his autobiographical account of World War I. As prime minister in the second, he added that the man to bring in the Americans must be fearless. He paused, “Dauntless?” He searched for the right word while Stephenson waited. “you must be—intrepid!” พระเจ้าอยู่หัวทรงแปลดังนี้ “อุบายวิธีที่ช่วยชักนำให้สัมพันธมิตรลงสนามร่วมรบมีความสำคัญพอๆกับยุทธวิธีที่นำชัยชนะในยุทธการครั้งใหญ่.” นี่เป็นข้อเขียนของเชอร์ชิลล์ในอัตชีวประวัติตอนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง. ในฐานะนายกรัฐมนตรีตอนสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเพิ่มเติมข้อความว่า บุรุษที่จะชักนำพวกอเมริกันจะต้องเป็นคนไม่รู้จักกลัว. เขาหยุดตรองครู่หนึ่ง. “จะเป็นเหี้ยมหาญดี ไหม.” เขาควานหาคำที่จะเหมาะ สตีเฟนสันได้แต่คอย. “คุณต้องเป็น – นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ!” แล้วพระองค์ก็ทรงอธิบายความหมายเพิ่มเติมใส่ไว้ในวงเล็บ สำหรับผู้อ่านชาวไทย เพื่อความเข้าใจในตัวของนาย “Intrepid” หรือชื่อจริง William Stephenson หัวหน้าเครือข่ายจารกรรามข่าวกรองของ Churchill (Intrepid – ไม่รู้จักกลัว ไม่รู้จักหวาด กล้าหาญแต่ไม่เหี้ยม สู้ศัตรูทั้งภายนอกภายในอย่างไม่ท้อถอย ไม่น้อยใจ ไม่หยุดยั้ง รุกรันฟันฝ่า...) การแปลชื่อ Intrepid เป็น “นายอินทร์” ก็เป็นการอิงคำภาษาอังกฤษเดิมที่สะกด INTRE – PID พยางค์แรก อ่านได้คล้ายชื่อ “พระอินทร์”หรือนายอินทร์ ที่มี “ท-ร์” (ท-ร-การันต์) ผู้ปิดทองหลังพระ พยางค์หลัง PID ออกเสียงว่า “ปิด” ได้ในภาษาไทย และสามารถให้อรรถาธิบายได้ว่า “เป็นผู้ปิดทองหลังพระ” อิงคำว่า “PID” ในภาษาอังกฤษโดยดึงเอาความหมายในภาษาไทยออกมาได้ นี่เป็นพระอัจฉริยภาพอีกอย่างหนึ่ง ในด้านพระอารมณ์ขันเชิงวรรณศิลป์ ที่ทำให้การแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ได้ทั้งเนื้อหาความหมายที่ถูกต้องลึกซึ้ง และได้อารมณ์ขันที่อ่านได้อย่างสนุกสนาน เพราะสำนวนไทยที่ว่า “ปิดทองหลังพระ” นั้นคือชีวิตจริงของสายลับที่มีสมญานามว่า “INTREPID” หรือ “นายอินทร์” สายลับทุกคนที่ร่วมงานจารกรรมในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ทำทุกอย่างเพื่อต่อสู้ขวางทางรุกรานและให้มีชัยเหนือพวก Nazi Germany และ Hitler ผู้บ้าคลั่งอำนาจหมายครองโลก เมื่อทำแล้วต้องปกปิดเป็นความลับ ไม่บอกใครให้ทราบถึงวีรกรรมทั้งหมด ไม่ต้องการคำสรรเสริญเยินยอใดๆทั้งสิ้น Intrepid และบรรดาสายลับจารชนทั้งหลายที่เรียกรวมกันว่า Baker Street Irregulars ทำงานแบบปิดทองหลังพระจริงๆ การแปลชื่อ INPTREPID ว่า “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ” จึงสมบูรณ์และลึกซึ้ง สะท้อนชีวิตและงานของ Intrepid และจารชนร่วมงานทั้งมวล อย่างถูกต้องที่สุด ยากยิ่งที่นักแปลอาชีพทั่วไปจะหาญกล้าแปลเช่นนี้ได้ การที่พระองค์ทรงให้คำอธิบายเพิ่มเติมในวงเล็บว่า (Intrepid – ไม่รู้จักกลัว ไม่รู้จักหวาด กล้าหาญแต่ไม่เหี้ยม สู้ศัตรูทั้งภายนอกภายในอย่างไม่ท้อถอย ไม่น้อยใจ ไม่หยุดยั้ง รุกรันฟันฝ่า...) ทั้งๆที่ในต้นฉบับไม่มี ก็เพราะต้องการให้ผู้อ่านชาวไทยได้เข้าใจ Intrepid อย่างลึกซึ้ง เพราะ ลำพังจะเรียกว่า “นายอินทร์” แล้วอธิบายตามสั้นๆว่าเป็นผู้ทำงานแบบ “ปิดทองหลังพระ” เฉยๆ นั้น ผู้อ่านจะขาดความลึกซึ้งถึงชีวิตจริงของมหาเศรษฐีนักบินผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่กลับมาใช้ชีวิตร่วมเป็นร่วมตายในสงครามโลกครั้งที่สองอย่างยึดความอยู่รอดของประเทศชาติเหนือชีวิต เมื่อต้องแปล พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงเติมคำอธิบายเพิ่มว่า (Intrepid – ไม่รู้จักกลัว ไม่รู้จักหวาด กล้าหาญแต่ไม่เหี้ยม สู้ศัตรูทั้งภายนอกภายในอย่างไม่ท้อถอย ไม่น้อยใจ ไม่หยุดยั้ง รุกรันฟันฝ่า...) คุณสมบัติของ สายลับ หรือจารชนเช่น Intrepid นั้น ตัว Intrepid หรือ ชื่อจริง William Stephenson เองอธิบายไว้ และพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลว่า “บุคคลที่เหมาะสมจะต้องมีคุณสมบัติหลายอย่างพร้อมกัน จะต้องมีทั้งความซื่อสัตย์สุจริตและความรอบคอบสุขุม ทั้งความเมตตาและความมุ่งมั่น. เขาจะต้องละสังคมที่มั่งคั่งและฟุ่มเฟือย เข้าสู่สังคมที่ต้องประหยัดกระเบียดกระเสียรและถูกความหายนะคุกคาม เขาจะต้องอดทนต่ออารมณ์ที่เคร่งเครียดและผลุนผลันของคนที่ตรากตรำเพราะภัยสงคราม” แม้ Intrepid จะพูดถึงคนที่จะมาเป็นหัวหน้าหน่วยจารกรรมฝ่ายอเมริกัน ที่จะทำงานเคียงคู่กับตัวเขาเอง แต่คุณสมบัติที่กล่าวถึงนั้นก็คือความเป็น Intrepid ที่ชัดเจน ส่วนนี้ในหนังสือเล่มนี้นี่เองที่สะท้อนคุณลักษณะของคนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชื่นชมอย่างที่สุด เมื่อพระองค์ทรงพบในตัว William Stephenson หรือ Intrepid ดังที่นาย William Stevenson ผู้เขียนหนังสือที่บังเอิญมีชื่อคล้ายกัน ได้เขียนเล่าไว้ด้วยแนวการเขียนที่ตื่นเต้นระทึกใจ และนี่คงจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เวลาถึงสามปี แปล A Man Called Intrepid ให้พสกนิกรของพระองค์ทั้งประเทศได้อ่าน เพื่อว่าชีวิตที่เสียสละเพื่อชาติของ Intrepid และคณะจารชนใต้ดินอังกฤษทั้งหลายนับหมื่นนับแสนคนที่สละชีพเพื่อให้ชาติได้พ้นภัยสงครามไปได้ทั้งหลายเหล่านั้น จะได้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและสร้างประเทศชาติไทย โดยผู้นำและประชาชนที่มีคุณสมบัติเฉกเช่น “A Man Called Intrepid” และสายลับปฏิบัติการใต้ดินทั่วยุโรปและอเมริกา และทั่วโลกที่ทำงานให้ William Stephenson “A Man Called Intrepid” “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” พระราชนิพนธ์แปล โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช [แปลจากเรื่อง “A Man Called Intrepid” โดย William Stevenson Leslie Howard นักแสดงอังกฤษผู้แสดงเป็น Ashley Wilkes คนที่ Scarlet O’Hara หลงรัก ในภาพยนตร์เรื่อง Gone With the Wind Leslie Howard เสียชีวิตเมื่อเครื่องบินตก เหนืออ่าว Biscay ชีวิตจริงที่ชาวโลกรู้จัก Leslie Howard เป็นพระเอกภาพยนตร์ ชีวิตลับ เขาคือสายลับกู้ชาติอังกฤษ ทำงานให้กับ William Stephenson หรือ Intrepid หรือที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่านายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ ขณะที่เขากำลังเดินทางกลับไปปฏิบัติงานให้ Intrepidในอังกฤษ เครื่องบินที่เขาแอบโดยสารมา ถูกฝ่าย Germany ยิงตก เหนือ อ่าว Biscay คนที่โด่งดังในโลกที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นสายลับต้าน Nazi ก็ถูกเปิดเผย Greta Garbo ดาราภาพยนตร์สาวงามชาว Sweden Noel Coward นักเขียนบทละครชาวอังกฤษ Roald Dahl ผู้เขียนหนังสือสำหรับเด็ก “Charlie and the Chocolate Factory” ๒๙๗ P.G. Wodehouse นักเขียนเรื่องสนุกของ Jeeves และ Ian Flaming ผู้เขียนเรื่อง James Bond 007 บุคคลที่มีชื่อเสียงเหล่านี้ล้วนมีชีวิตลับเป็นหน่วยจารกรรมข่าวกรองเสี่ยงชีวิตเพื่อปฏิบัติการใต้ดินต่อต้าน Hitler, และ Nazi Germany ทั้งสิ้น ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของ INTREPID ทุกคนล้วนเป็นนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระเช่นเดียวกับ William Stephenson INTREPID ผู้เป็นหัวหน้า ทั้งสิ้น หากไม่มีหนังสือที่เปิดเผยข้อมูลลับเรื่อง A Man Called Intrepid ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปล และให้ชื่อว่า “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ” ก็คงไม่มีใครทราบ หนังสือเล่มนี้มิได้เป็นงานวรรณกรรมล้ำเลิศของโลกเฉกเช่นงานของ Homer William Shakespeare Charles Dickens หรือ Leo Tolstoy ทำไมพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสยามจึงได้ทรงอุทิศเวลาอันมีค่าของพระองค์ถึงสามปี เพื่อแปลหนังสือเล่มนี้ หากพระองค์จะอ่านและทรงรับประโยชน์จากเรื่องของนายอินทร์แต่เพียงอย่างเดียว เวลาอ่านวันเดียวก็คงพอเพียง การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลเรื่อง INTREPID เป็นภาษาไทยนั้นก็เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์ได้ร่วมอ่านหาความรู้ รับความประทับใจไปด้วย ดังนั้นเป้าหมายสำคัญของการอ่าน พระราชนิพนธ์แปลเรื่อง “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” จึงต่างกับจุดมุ่งหมายในการอ่าน “A Man Called INTREPID” ที่เป็นต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่าน “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” นอกจากจะได้ความรู้ ข้อมูลลับสุดยอดยามสงคราม และความตื่นเต้นที่ได้จากเรื่องจริงที่ยิ่งกว่านิยายแล้ว ผู้อ่านชาวไทยจะต้องหาคำตอบให้ได้ว่า “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” นั้นสำคัญอย่างไรสำหรับพระเจ้าอยู่หัว และความสำคัญนั้นย่อมเป็นสิ่งที่พสกนิกรของพระองค์พึงต้องทราบ หัวใจสำคัญของเรื่อง “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” เรื่องของคนดีที่เสียสละเพื่อชาติ ตลอดความยาว 603 หน้า ล้วนเป็นเรื่องของคนดีที่ชาติต้องการทั้งสิ้น เมื่ออ่านจบจึงรู้ว่านี่คือลักษณะคนดีที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงต้องการสนับสนุนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ มาเดอเลน Madelene เป็นชื่อ Code ลับ ของสายลับสาวสวย เลือดผสม อินเดีย กับ อเมริกัน ชื่อจริง Noor Inayat Khan นอร์ อินายัต ข่าน สมัครและฝึกงานสายลับกับ นายอินทร์ เมื่ออายุ 25 ออกเดินทางไปกระโดดร่มลงที่ฝรั่งเศส และเริ่มหาที่หลบซ่อน แฝงตัว ทำหน้าที่ส่งข่าวผ่าน Code วิทยุสื่อสาร ได้นานสามเดือนครึ่ง ถูก ตำรวจลับ Gestapo จับตัวและกักขังในค่ายทรมานสังหารนักโทษนาน 10 เดือน และถูกประหารชีวิต ณ ค่าย ดัคเคา (Dachau) ใน Germany วันที่ 12 กันยายน 1944 ชีวิตที่สั้นนักของสายลับ มาเดอเลน นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลเรื่องของ เธออย่างสะเทือนอารมณ์ยิ่งนัก ในบทที่ 27 (289) พร้อมทั้งทรงเพิ่มเติมเป็นคำอธิบายจากผู้แปลนอกเหนือไปจากที่มีในหนังสือต้นฉบับภาษาอังกฤษด้วย เรื่องราวเสียงชีวิต และเอาตัวเข้าและกับข่าวกรองโดยงานจารกรรมของ สายลับ CYNTHIA บทที่ 35 ถึง 38 ให้อารมณ์ระทึกใจอีกแบบหนึ่ง ต่างไปจากความสะเทือนใจที่ได้จาก เรื่อง ของมาเดอเลน CYNTHIA ไม่ตาย แต่พลีร่างกายให้กับงานจารกรรมอย่างไม่คำนึงถึงสิ่งใด นอกจากชัยชนะเหนือ Hitler ผู้คลั่งอำนาจ เครือข่ายสายลับของ Intrepid อยู่ใน อังกฤษ New York Canada Bermuda Trinidad Jamaica และอีกหลายแห่งในโลก สายลับหลายแสนคน ส่วนใหญ่ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีใครรับรู้ถึงวีรกรรม และจำนวนหลายหมื่นคนตายไป โดยไม่มีใครสดุดีอย่างเป็นทางการ Ian Flaming จากกรมข่าวทหารเรืออังกฤษ ผู้ร่วมงานบริหารเครือข่ายจารกรรม และผู้ช่วยคนสำคัญของ Intrepid รู้เห็นเรื่องและวีรกรรมลับของจารชนทั้งหลาย ไม่สามารถเปิดเผยเรื่องลับเหล่านั้นได้ Ian Flaming จึงเริ่มเขียนนวนิยายสายลับจารชน 007 หักเหลี่ยม สอบสวนสืบสวนเรื่องแรกชื่อ Casino Royale ในปี 1953 INTREPID ตรวจต้นฉบับแล้วบอกกับ Ian Flaming ว่า (357) “เรื่องอย่างนี้ขายไม่ออกหรอก. เรื่องจริงมักจะฟังดูแปลกไม่น่าเชื่อเสมอ...” สายลับ James Bond 007 ประสพความสำเร็จเป็นนิยายสายลับ ต่อเนื่องมา 14 เล่ม คนทั้งโลกยังอ่านมาจนทุกวันนี้ ชีวิตของ UNTREPID และสายลับใต้ดินทุกคน ตื่นเต้น ระทึกใจยิ่งกว่าชีวิตของ James Bond และส่วนใหญ่ จบชีวิต โดยไม่มีใครรู้จัก แต่โลกไม่มีวันลืม “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” พระราชนิพนธ์แปล โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” พระราชนิพนธ์แปล โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช [แปลจากเรื่อง “A Man Called Intrepid” โดย William Stevenson] ********************** 11 “คาสิโน รัวยาล” Casino Royale James Bond 007 เรื่องแรก ของ Ian Fleming โดย สมเกียรติ อ่อนวิมล *************************************** กำเนิด 007 ในบทที่ 31 ของหนังสือสารคดีเบื้องหลังงานสายลับจารกรรมสมัยสงครามโลกครั้งที่สองเรื่อง “A Man Called Intrepid” เขียนโดย William Stevenson เมื่อปี ค.ศ.1989 (พ.ศ. ๒๕๓๒) และต่อมาเป็นพระราชนิพนธ์แปลโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งพระองค์ทรงตั้งชื่อว่า “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” ในหน้า ๓๕๗ เล่าถึงช่วงชีวิตจริงตอนหนึ่งของ Ian Fleming (เอียน เฟล็มมิง) ขณะไปปฏิบัติงานให้กรมข่าวทหารเรืออังกฤษในฤดูร้อนปี ค.ศ. 1941 โดยเขาได้เห็นปัญหาการทำงานจารกรรมและการต้องปกปิดทุกอย่างเป็นความลับมากมายหลายเรื่อง การฆ่า การถูกฆ่า การมุ่งมั่นทำงานเพื่อชาติ เพื่อให้ได้ชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่สอง ที่แรกเริ่มไม่มีวี่แววเลยว่าจะต้านพลังและฟันฝ่าอำนาจของ Adolf Hitler (อะดอล์ฟ ฮิตเลอร์) เผด็จการนาซีเยอรมนีไปได้ แต่เครือข่ายสายลับอังกฤษภายใต้การนำอย่างลับสุดยอดของ Willam Stephenson หรือชื่อสายลับเรียกว่า “Intrepid” หรือ “นายอินทร์” ก็สามารถเอาชนะเยอรมนีและสงครามโลกครั้งที่สองได้ สายลับจำนวนมากได้รับอนุญาตให้ฆ่าได้อย่างถูกต้องตามระเบียบราชการข่าวกรอง เรียกว่า “การฆ่าอันชอบธรรม” เรื่องที่ต้องเก็บเป็นความลับไปจนตายนี้นั้นทำให้ Ian Fleming จำต้องหาทางระบายออกมาเป็นงานเขียนนวนิยายสายลับ “James Bond 007” เรื่องแรกในชีวิตการเป็นนายทหารเรือฝ่ายข่าวกรองและงานจารกรรม โดยอธิบายว่า รหัส 00 (ศูนย์สองตัว) มีความหมายว่าได้รับอนุญาตให้ฆ่าคน (License To Kill)ได้โดยถือเป็น “การฆ่าอันชอบธรรม” ในหนังสือ James Bond 007 เรื่องแรกนี้ James Bond ตัวเอกของเรื่องเล่าถึงการฆ่าของเขาสองครั้งแรก: “เรื่องแรกเกิดขึ้นที่นิวยอร์ค – เรื่องผู้เชี่ยวชาญรหัสญี่ปุ่นขบประมวลรหัสของเราที่ ชั้นสามสิบหกของตึก อาร์.ซี.เอ. (R.C.A. Building) ใน ร็อกกิเฟลเลอร์ เซนเตอร์ ซึ่งเป็นสถานกงสุลของอ้ายญุ่น. ผมไปเช่าห้องบนชั้นที่สี่สิบของตึกระฟ้าใกล้เคียง และสามารถมองข้ามถนนลงไปในห้องที่เขาทำงานอยู่ ต่อไป ผมเรียกเพื่อนร่วม หน่วยในนิวยอร์คมาพร้อมกับปืนเรมิงตันแบบสามสิบ-สามสิบ สองกระบอก ทั้ง กล้องเล็งทางไกลและเครื่องเก็บเสียง...ผู้นี้มีหน้าที่เพียงแต่ยิงให้กระจกหน้าต่างแตก เป็นช่องให้ผมยิงอ้ายญุ่นได้. ที่ร็อกกิเฟลเลอร์ เซนเตอร์ มีกระจกหน้าต่างหนา เพื่อ ไม่ให้เสียงจากภายนอกรบกวน. งานผ่านพ้นไปอย่างสะดวกมาก...ผมยิงโดนอ้ายญุ่น เข้าตรงปาก เมื่อมันหันมาอ้าปากค้างด้วยความตกใจ..”๑ หนังสือ James Bond 007 เรื่องแรกนี้ Ian Fleming ตั้งชื่อว่า “Casino Royale”๒ เมื่อ Ian Fleming เขียนเสร็จ ได้นำต้นฉบับไปให้ “นายอินทร์” (William Stephenson) ผู้เป็นเจ้านายของเขาในชีวิตจริงได้อ่านดู นายอินทร์บอกกับ Ian Flaming ว่า “เรื่องอย่างนี้ขายไม่ออกหรอก. เรื่องจริงมักจะฟังดูแปลกไม่น่าเชื่อเสมอ...”๓ “นายอินทร์” คาดการณ์ผิดไปอย่างมาก เพราะทันทีที่ “Casino Royale” พิมพ์จำหน่ายในปี ค.ศ. 1953 (พ.ศ. ๒๔๙๖) ในประเทศอังกฤษ James Bond สายลับ 007 ก็กลายเป็นพระเอกคนใหม่แห่งโลกวรรณกรรมประเภทสายลับจารกรรมยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เรียกว่า “ยุคสงครามเย็น” หรือ “Cold War” ซึ่งหมายถึงสงครามอุดมการณ์ที่ไม่ได้ลงมือสู้รบด้วยอาวุธจริงๆ หากแต่ข่มขู่กันด้วยการสะสมอาวุธร้ายแรง โดยเฉพาะอาวุธนิวเคลียร์ การจารกรรมข้อมูลข่าวสารต่างๆของฝ่ายตรงกันข้ามจึงเป็นเรื่องที่กระทำกันจริงๆ และทำต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ ส่วน James Bond 007 ที่เป็นตัวแสดงในนวนิยายก็ยังทำหน้าที่มาจนทุกวันนี้เช่นกัน ผ่านยุคสงครามเย็น มาสู่ยุคการเผชิญหน้า ยุคเจรจาผ่อนคลายความตึงเครียด ยุคสหภาพโซเวียตล่มสลายแยกดินแดนออกเป็นหลายสาธารณรัฐ และจนถึงยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน James Bond ก็ยังไม่ตาย ไม่แก่ และ เปลี่ยนโฉมหน้าอยู่เป็นครั้งคราว อาณาจักร 007 เฉพาะที่เป็นหนังสือนวนิยาย เขียนโดย Ian Fleming เองมีทั้งสิ้น 12 เรื่องยาว และ 9 เรื่องสั้น ส่วนที่สร้างเป็นภาพยนตร์มีทั้งหมด มี 23 ครั้ง รวม 22 เรื่อง ดังนี้ นวนิยายเรื่องยาว 12 เรื่อง (ปีที่เผยแพร่) มีดังนี้
เรื่องสั้น 9 เรื่อง :
ภาพยนตร์ 23 เรื่อง :
เปรียบเทียบประวัติหนังสือกับภาพยนตร์แล้วจะเห็นว่ามีความแตกต่างกันบางส่วน
Casino Royale หนังสือ 007 เรื่องแรก “Casino Royale” คือชื่อบ่อนการพนัน หรือ Casino ในประเทศฝรั่งเศส ตั้งอยู่ ณ เมืองชื่อ Royale – les – Eaux อันเป็นเมืองในจินตนาการของผู้เขียน ตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำ Somme ทางภาคเหนือของฝรั่งเศส เป็นเมืองท่องเที่ยวพักผ่อนที่กำลังรุ่งเรืองเฟื่องฟู โดยเฉพาะบ่อนคาสิโนใหญ่ชื่อ “Royale” เมือง Royale – les – Eaux เติบโตมีชื่อเสียงเป็นเมืองท่องเที่ยวคล้ายเมือง Trouville ในภาพยนตร์เรื่อง Gigi ซึ่งเป็นเมืองที่มีอยู่จริง เมื่อ Trouville เริ่มชะลอตัวแล้ว เมือง Royale – les – Eaux ก็รุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ ตามเรื่องในหนังสือของ Ian Fleming พระเอกของเรื่องคือ James Bond๔ ทำงานเป็นสายลับให้กับหน่วยข่าวกรองของอังกฤษ มีเลข code ประจำตัว 007 สายลับ James Bond ถูกส่งให้ไปทำงานเพื่อกำจัดสายลับสหภาพโซเวียต ชื่อ Le Chiffre (ลาชีฟร์) โดยการไปเล่นการพนันไพ่ 9 แต้ม หรือ “Baccarat“ (บัคคาร่าต์) เพื่อให้ Le Chiffre หมดตัว Le Chiffre ยักยอกเอาเงินจากบัญชีสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมหนักและการคมนาคมไปลงทุนแล้วล่มจม จึงต้องมาเสี่ยงโชคเล่นการพนันเพื่อหาเงินคืนบัญชีสหภาพฯ หน่วยข่าวกรองของอังกฤษจึงแอบส่งJames Bond ไปเล่นพนันล้ม La Chiffre สายลับ James Bond 007 แสดงตนเป็นนักธุรกิจทำไร่ขนาดใหญ่จาก Jamaica และ M หัวหน้าของ Bond ส่งสายลับหญิงสาวชื่อ Vesper Lynd มาเป็นผู้ช่วย โดยทำทีว่าเพิ่งมารู้จักกัน และสนใจกันที่ Casino Royale นี้นั่นเอง ในที่สุด Bond ก็ชนะพนันไพ่ Baccarat เป็นเงินถึง 40 ล้าน Francs ด้วยความแค้น Le Chiffre กับสมุนลักพาตัว Vesper ไป หวังให้ Bond ตามไปช่วยจะได้จับ Bond เพื่อบังคับเอาเงินคืน แต่ก็ตามค้นหาเช็ค 40 ล้านฟรังค์ไม่พบ เพราะ Bond ซ่อนไว้ในที่ใครคาดไม่ถึง พระเอก 007 ถูกซ้อมและทรมานร่างกายอย่างหนักจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด แต่ในที่สุดก็โชคดี ที่ฝ่ายหน่วยข่าวกรองโซเวียตตามมากำจัด Le Chiffre เสียก่อนแล้วปล่อย Bond ไปพร้อมกับ Vesper ตอนจบความรักของ James Bond กับ Vesper Lynd เกือบสมหวัง แต่ก็พลิกผันในวาระสุดท้าย เรื่องจึงจบแบบที่ไม่มีใครคาดคิด Casino Royale, James Bond 007 เรื่องแรกมิได้สร้างให้ Bond เก่งกาจผิดมนุษย์ปรกติธรรมดา James Bond เป็นหนุ่มฉกรรจ์ ผมสีดำ ตาสีฟ้าปนเทา มีประกายของความสงสัยใคร่รู้อยู่เสมอ Bond มีแผลเป็นที่ใบหน้า เป็นเส้นตรงบางๆที่แก้มขวา Bond สูบบุหรี่ยี่ห้อ Moreland ใช้ไฟแช็คยี่ห้อ Ronson สีสนิม เขาสูบบุหรี่จัดมากเหมือนชีวิตจริงของ Ian Flaming ในบทที่ 1 บอกว่า Bond สูบบุหรี่มวนที่ 70 ในวันแรกที่เข้าพักในโรงแรม “Hotel Splendide” ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับ Casino Royale๕ Bond มีรสนิยมในการใช้ชีวิตที่หรูหรา ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ ตลอดจน การดื่ม การกิน การแต่งตัว และการไม่แต่งตัว Bond ชอบแก้ผ้านอนไม่ว่าจะนอนคนเดียว หรือนอนสองคนก็ตาม ในเรื่อง Casino Royale ตอนที่ Bond ไปเล่นน้ำทะเลคนเดียว Bond จะถอดเสื้อผ้าออกเดินเล่นชายหาด และลงเล่นน้ำยามปลอดผู้คนอย่างเป็นปรกติธรรมดาเลย นิสัยนอนตัวล่อนจ้อนเป็นมานาน จนไปได้ชุดเสื้อคลุมจากฮ่องกงมาลองใส่ดู Bond ก็เห็นว่าสะดวกสบายดี ถอดออกได้ง่ายรวดเร็วในเวลาที่จำเป็นเร่งด่วน รถยนต์ส่วนตัวคันโปรดของ Bond เป็นรถยี่ห้อ Bentley พลัง 25 แรงม้า ขนาดความจุกระบอกสูบ 4.5 ลิตร ติดตั้งระบบ Supercharger โดยบริษัท Amherst Villiers ซึ่ง Bond ซื้อด้วยเงินของตนเองในสภาพรถที่เกือบใหม่เอี่ยม (หมายความว่าเป็นรถมือสอง)๖ เร่งความเร็วได้ถึง 120 ไมล์ หรือ 193 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง ตามที่ปรากฏในบทที่ 15 ตอนที่ Bond ไล่ล่า Le Chiffre เพื่อช่วย Vesper James Bond 007 เป็นสายลับที่กล้าหาญ เด็ดขาด และมีพรสวรรค์ด้านการพนัน โดยนิสัยส่วนตัว แม้จะชอบสัมพันธ์รักผู้หญิง แต่ก็ไม่ชอบทำงานกับผู้หญิง ดูถูกผู้หญิงว่าไม่เหมาะกับงานหนักเช่นงานจารกรรม Bond ไม่พอใจมากเมื่อทราบว่าหัวหน้าส่งผู้หญิงมาเป็นผู้ช่วย บอนด์บอกว่า : “ไม่รู้หัวหน้าส่งผู้หญิงมาช่วยงานผมทำไมกัน เห็นว่าสนุกราวกับมาปิคนิคหรือ อย่างไรก็ไม่รู้! ผู้หญิงนั้นมีไว้สำหรับการพักผ่อน หากให้มาทำงานมันก็เกะกะ ขวาง หูขวาง ตา ทำงานไม่สะดวก พอมีผู้หญิงมาทำงานใกล้ๆ อะไรๆมันก็พร่ามัว เพราะ เรื่องเซ็กส์ เรื่องอารมณ์ความรู้สึกที่จะถูกทำลาย ไหนจะต้องเป็นภาระต้องมาคอย ดูแล...” Bond มักจะบ่นเรื่องทำงานกับผู้หญิงเสมอ แม้ว่า Bond จะไม่ชอบทำงานกับผู้หญิง และดูถูกผู้หญิงว่าไม่เข้มแข็งเหมาะสมพอกับงานสายลับที่ต้องฝ่าอันตราย และผู้หญิงทำให้งานเสีย แต่ก็แน่นอน...เอกลักษณ์เฉพาะตัวว่าด้วยความเจ้าชู้นั้นติดตัว Bond มาแต่เริ่มแรก Bond ชอบรสรักกับสตรีเพศเป็นธรรมชาติ แต่ไม่ชอบที่จะมีความรักความผูกพัน หรือถึงกับแต่งงานกับใคร Bond เพียงต้องการมีความสัมพันธ์ชั่วครั้งชั่วคราวกับผู้หญิงสวยๆทั้งหลายที่ผ่านพบเท่านั้น ถ้าจะให้ผู้หญิงหรือมีสัญลักษณ์ของความเป็นหญิงเช่นดอกไม้มาแวดล้อมตัวอยู่เสมอ Bond ก็ไม่ชอบ ในเรื่อง Casino Royale ตอนท้ายที่ Bond กำลังพักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาล Vesper เอาดอกไม้มาเยี่ยมทุกวัน Bond ก็ให้พยาบาลเอาไปให้คนไข้อื่นต่อจน Vesper เลิกเยี่ยมด้วยช่อดอกไม้ไปในที่สุด ในบทที่ 21 บรรยายว่า : “Bond didn’t like flowers…He disliked having feminine things around him.” (บอนด์ไม่ชอบดอกไม้...เขาไม่ชอบให้รอบๆตัวเขามีสิ่งที่แสดงความเป็นผู้หญิง) ในบทที่ 22 บรรยายว่า : “With most women his manner was a mixture of taciturnity and passion. The lengthy approaches to seduction bored him almost as much as the subsequent mess of disentanglement. He found something grisly in the inevitability of the pattern of each affair. The conventional parabola – sentiment, the touch of the hand, the kiss, the passionate kiss, the feel of the body, the climax in the bed, then more bed, then less bed, then the boredom, the tears and the final bitterness was to him shameful and hypocritical.” “กับผู้หญิงส่วนมาก Bond จะทำตัวขรึมและเท่ห์เสน่ห์แรง เขาเห็นว่าเป็นเรื่องน่า เบื่อที่จะต้องใช้เวลายาวนานเกินไปในการจีบเล้าโลมผู้หญิงแบบชักช้าอ้อมค้อม พอๆ กับการที่เขาเบื่อการมีภาระผูกพันที่ต้องหาทางดิ้นให้หลุดในตอนปลายอยู่แล้ว Bond เห็นว่าการมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงแล้วจะต้องเจอแบบแผนเดียวกันในทุก ความสัมพันธ์ เป็นเรื่องน่ารำคาญใจ คือการที่เริ่มต้นด้วยอารมณ์เร่าร้อนแรงรัก การ สัมผัสมือ การ จูบธรรมดาๆ ต่อด้วยการจูบอย่างดูดดื่ม การลูบไล้ร่างกาย การถึงจุด สุดยอดบนเตียงหนึ่ง ต่อไปอีกตียงหนึ่ง ลดหายไปอีกเตียงหนึ่ง แล้วก็ถึงจุดเริ่มเบื่อ เซ็ง น้ำตาร่วง ที่สุดแล้วก็ขื่นขมระทมใจกัน ทั้งหมดนี้สำหรับ Bond เป็นเรื่อง มารยาเสแสร้งที่น่าอับอาย” ด้วยเหตุนี้ Bond จึงไม่ค่อยจะชอบที่จะทำงานร่วมกับ Vesper นักในตอนแรกๆ และตั้งใจว่าจะพยายามหาทางนอนกับ Vesper มีความสัมพันธ์แบบชั่วคราวตามนิสัยแท้ๆของเขาให้ได้เท่านั้นเอง ตอนหลัง Bond เริ่มชอบบุคลิกลักษณะและอารมณ์ที่ซ่อนความลึกลับของ Vesper มากขึ้น ความรู้สึกเพียงเรื่องเพศสัมพันธ์ก็กลายเป็นความรัก Vesper กับ Bond จึงมีช่วงเวลาแห่งความรักที่ดูดดื่มในตอนท้ายเรื่อง ถึงขั้น Bond ขอแต่งงานกับ Vesper ถึงสองครั้ง แต่ก็เกิดเหตุพลิกผันในตอนท้ายเรื่องอย่างไม่คาดฝันเสียก่อน James Bonds 007 ในเล่มที่หนึ่งชื่อเรื่อง “Casino Royale” นี้ จึงทำท่าว่าจะจบลงด้วยการที่ Bond จะขอลาออกจากงานเลยทีเดียว เพราะงานหนักเหนื่อยเสี่ยงอันตรายบาดเจ็บสุดแสนจะทน พอเกิดความรักจะแต่งงานเป็นการเริ่มต้นชีวิตคู่ก็ผิดหวัง ดังนั้น James Bond ที่ปรากฏตัวครั้งแรกใน Casino Royale จึงเป็นคนแกร่งกล้าที่ไม่เกินไปจนถึงขั้นผิดมนุษย์ หากโชคไม่ช่วย Bond คงตายไปแล้ว หรือไม่ก็อาจก็พิการจนสืบพันธ์ไม่ได้ไปตลอดชีวิต หากเป็นเช่นว่า James Bond 007 เรื่องที่สองคือ “Live and Let Die” ก็คงจะไม่มี แต่ในเมื่อ Bond ไม่ตาย สมรรถนะทางเพศที่นึกว่าจะหมดสภาพไปเพราะการถูก Le Chiffre ซ้อม ทรมาน ก็ไม่มีปัญหา Vesper Lynd คนรักที่หวังแต่งงานด้วยก็มีอันไม่สมหวัง James Bond 007 จึงไม่แก่ ไม่ตาย โลดโผนเป็นหนังสือนวนิยายขายดีต่อมา 12 เรื่องยาว 9 เรื่องสั้นโดยฝีมือการเขียนของ Ian Flaming หลัง Fleming ถึงแก่กรรมเมื่อปี ค.ศ. 1964 แล้ว ก็มีนักเขียนคนอื่นเขียนแทนต่อมาอีกรวม 5 คน คือ Kingsley Amis (นามปากา Robert Markham), John Pearson, John Gardner, Raymond Benson, และ Charlie Higson นอกจากนี้ยังมี Christopher Wood ซึ่งนำบทภาพยนตร์มาเขียนเป็นหนังสือนวนิยายอีกสองเรื่อง ไม่นับนักเขียนคนอื่นๆอีกหลายคนที่เขียนเรื่อง James Bond ในรูปแบบต่างๆตามใจชอบโดยไม่ถือว่าเป็น James Bond 007 เป็นทางการอีกด้วย ในส่วนของภาพยนตร์ชุด James Bonds 007 นั้นสร้างออกฉายในโรงภาพยนตร์แล้วรวม 23 ครั้ง 22 เรื่อง ทั้งนี้รวมเรื่อง Casino Royale ที่สร้างซ้ำสองครั้ง และภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง Casino Royale อีก 1 ครั้งด้วย Casino Royale ภาพยนตร์สร้างใหม่ครั้งที่ 2 กำหนดฉายทั่วโลกวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 2006 / พ.ศ. ๒๕๔๙ นี้ Casino Royale 007 ภายยนตร์ตอนล่าสุด ปี 2006/๒๕๔๙ สายลับ James Bond 007 ในภาพยนตร์ตอนใหม่ล่าสุดที่จะฉายพร้อมกันทั่วโลกในวันที่ 17 พฤศจิกายน นี้ แม้จะเป็นการสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งที่สอง๗ จากเรื่องดั้งเดิมในหนังสือที่เป็นเรื่องแรกสุด ต้นกำเนิดของ James Bond แต่เนื่องจากกาลเวลาผ่านมาแล้ว 53 ปี และชาวโลกได้ชมภาพยนตร์ James Bond 007 ไปแล้ว 23 ตอน สงครามโลกครั้งที่สองจบลงไปนานแล้ว สงครามเย็นยุคกำเนิด James Bond ก็ผ่านไปนานแล้ว สหภาพโซเวียตแหล่งศัตรูคู่แค้นของ James Bond ก็กลายเป็นมิตรกับโลกตะวันตกจนหมดคราบเดิมแล้ว เทคโนโลยีด้านอาวุธและอุปกรณ์จารกรรมต่างๆก็พัฒนามากขึ้นไปจากเมื่อ 53 ปีก่อน James Bond ในภาพยนตร์ยุคใหม่จึงไม่ใช่ 007 ในหนังสือไม่ว่าจะเป็นเล่มใดตอนใด ยิ่งใน Casino Royale ด้วยแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่จะยึดมั่นเรื่องเดิมในหนังสืออย่างเคร่งครัด Casino Royale ที่เป็นภาพยนตร์ปี 2006/๒๕๔๙ นี้จึงไม่เหมือนเรื่องเดิมแน่นอน จากยุคสงครามเย็นสู้กับสายลับคอมมิวนิสต์โซเวียต ในอดีต มาสู่ยุคต่อสู้กับขบวนการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ในปัจจุบัน เรื่องย่อภาพยนตร์ Casino Royale (2006) ภาพยนตร์พยายามยึดแนวเรื่องเดิมในหนังสือบ้าง ออกนอกเรื่องจากหนังสือบ้าง เป็นระยะๆ โดยให้ Le Chiffre ตัวโกงของเรื่องเป็นคนคุมบัญชีการเงิน (หรือเหรัญญิก) ของกลุ่มขบวนการก่อการร้าย (เรื่องเดิมในหนังสือ Le Chiffre เป็นคนคุมบัญชีสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมหนักของฝรั่งเศส และเป็นสายลับให้สหภาพโซเวียต) Le Chiffre ทำเงินในบัญชีสูญหายไปในการลงทุนที่ James Bond บังเอิญเข้าไปทำลายในระหว่างการบุกกวาดล้างผู้ก่อการร้าย (ในหนังสือ Le Chiffre แอบเอาเงินสหภาพแรงงานไปลงทุนจนล้มละลายจึงต้องไปเสียงเล่นการพนันที่ Casino Royale หวังเอาเงินที่จะได้ไปใช้คืนสหภาพฯ แต่ Bond ก็ถูกส่งไปเล่นไพ่พนันกับ Le Chiffre เพื่อล้มและทำลาย La Chiffre ให้หมดสภาพ) จากนั้น Le Chiffre จึงดินทางไปเล่นพนันเพื่อหาเงินมาชดใช้หนี้ที่ Casino Royale ใน Monenegro (ในหนังสือ Casino Royale อยู่ในเมืองสมมุติชื่อ Royale – les – Eaux ในฝรั่งเศส) เกมการพนันที่เล่นเป็นไพ่ Poker ให้เกทับไม่อั้นแบบ Texas (ในหนังสือ เป็นการพนันไพ่ 9 แต้มที่เรียกว่า บัคคาร่าต์ –Baccarat) เนื่องจาก Bond เกิดมาเป็นสายลับ 007 ในเรื่อง Casino Royale นี้ ภาพยนตร์จึงต้องยึดแนวเดิมของหนังสือ แต่จะเล่าย้อนหลังถึงการที่ต้องฆ่าใครมาบ้างก่อนจะได้เลข 007 เสมือนใบอนุญาตฆ่าศัตรูได้โดยชอบธรรม โดย Bond ได้สังหารหัวหน้าแผนกคนหนึ่งในหน่วยข่าวกรอง MI6 ของอังกฤษ และฆ่าสายข่าวอีกคนหนึ่งในปากีสถานโทษฐานขายข้อมูลลับต่อให้ศัตรู (ในหนังสือ Bond ฆ่าสายลับญี่ปุ่น และนอร์เวย์) ส่วนที่เป็นการย้อนประวัติต้นกำเนิด 007 นี้ ทำเป็นภาพยนตร์ ขาว-ดำ ตอนต้นก่อนเข้าไตเติ้ล (Title) ที่เป็นภาพภายในลำกล้องกระบอกปืนที่ Bond จะยืนยิงปืนจากด้านใน แล้วจึงเข้าสู่ภาพ ชื่อเรื่อง ประกอบเพลงและภาพศิลปะการสร้างสรรค์สมัยใหม่โดยปรกติและแต่เดิมภาพศิลปะต้นภาพยนตร์นี้จะเป็นภาพผู้หญิงที่ยึดแนวเซ็กซี่เชิงศิลป์ ผสมผสานสีสันสวยงาม แต่สำหรับ ไตเติ้ล ของ “Casino Royale” ครั้งนี้ใช้ภาพของ James Bond ต่อสู้กับเหล่าร้าย ไม่ใช้ภาพเรือนร่างของผู้หญิงอย่างที่เคยในอดีต การใช้สี และรูปแบบศิลปะการวาดภาพที่นุ่มนวล งดงาม โดยยึดแนวเรื่องในบ่อนคาสิโนเป็นพื้นฐาน ประกอบเพลงประจำเรื่องอันเป็นแบบฉบับขนานแท้และดั้งเดิมของไตเติ้ลภาพยนตร์ดูแล้วประทับใจทุกครั้งทุกตอน ดูเพียงแค่ไตเติ้ลของภาพยนตร์ก็เกินคุ้มแล้ว James Bond 007 ของ EON Productions ทุกตอน ผู้สร้างภาพยนตร์ยืนยันว่าส่วนที่ยึดต้นฉบับในหนังสือนวนิยายของ Ian Fleming มากที่สุดจะเป็นครึ่งหลังของภาพยนตร์ โดยเฉพาะตอนที่ 007 ถูกซ้อมถูกทรมานจนเกือบสิ้นความเป็นชายฉกรรจ์ Daniel Craig นักแสดงชาวอังกฤษ แสดงเป็น James Bond 007 คนใหม่ล่าสุดในจอภาพยนตร์ ดังนั้น 007 คนใหม่จึงไม่เหมือนในหนังสือ ต้นฉบับผมดำ ก็กลายมาเป็นผมสีบลอนด์ในภาพยนตร์ ตาสีฟ้าปนเทาแต่เดิม ก็อาจเป็นสีฟ้ามากขึ้น ที่เคยสูงสง่า ก็จะลดความสูงลงเล็กน้อย ส่วนที่เคยสูบบุหรี่จัดมากในหนังสือก็คาดว่าจะลดฉากการสูบบุหรี่ลงไป รถยนต์คันโปรดที่สุดที่ Bond ซื้อเป็นรถมือสองมาใช้เอง ในหนังสือ คือรถ Bentley 25 แรงม้า ก็กลายมาเป็น Aston Martin DBS ซึ่ง Bond ได้มาจากการชนะพนันที่บ่อนบนเกาะ Bahamas สำหรับรถ Aston Martin DB5 ที่ Bond เคยใช้ในเรื่อง Gold Finger, Thunderball, GoldenEye และ Tomorrow Never Dies ก็จะมาปรากฏโฉมในเรื่อง Casino Royale อีกครั้งด้วย ภาพยนตร์ James Bond มักจะรับสินค้าเป็นโฆษณาแฝงมาให้ 007 ใช้หลายอย่าง เช่นรถยนต์ BMW และนาฬิกาข้อมือ Omega ในอดีต ครั้งนี้ก็เช่นกัน จะมีโทรศัพท์ Sony Ericsson รุ่น M600 มีรถหนักไถดิน Fiat รุ่น W190 ให้ Bond ขับสู้กับผู้ร้ายบนเกาะ Madagascar ลักษณะพิเศษของ 007 ตอน Casino Royale นี้ก็คือ จะไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์หรือ “ของเล่น” เทคโนโลยีสูงพิเศษอะไรเหมือนตอนอื่นๆ โดยจะยึดความเป็นคนแท้ๆของ 007 ที่ต่อสู้กับเหล่าร้ายด้วยฝีมือ และมีอารมณ์ความรู้สึก แพ้ได้ ชนะได้ เหมือนมนุษย์ธรรมดา ตามชีวิตของ James Bond 007 อย่างแท้จริงตามที่ Ian Fleming ต้องการ ดังปรากฏในต้นฉบับของ Casino Royale สำหรับ Vesper Lynd นางเอกของเรื่อง หรือที่เรียกว่า “ผู้หญิงของบอนด์” (Bond’s Woman) แสดงโดย Eva Green นางเอกจากเรื่อง “Kingdom of Heaven” (Debbie McWilliams ผู้กำกับฝ่ายคัดเลือกนักแสดงให้สัมภาษณ์ ว่าเคยพิจารณาชื่อ Angelina Jolie และ Charlize Theron ก่อนหน้าจะตัดสินใจเลือก Eva Green) Casino Royale เริ่มถ่ายทำฉากสำคัญเมื่อเดือนมกราคม ปี 2006 /๒๕๔๙ และจบสิ้นสมบูรณ์ ในวันที่ 21 กรกฏาคม ปีเดียวกัน สถานที่ถ่ายทำส่วนใหญ่อยู่ในโรงถ่าย Barrandov ในกรุงปราก (Prague) และฉากนอกสถานที่ในประเทศสาธารณรัฐเช็ก, เกาะบาฮามาส (The Bahamas), อิตาลี และ อังกฤษ Casino Royale มีกำหนดฉายรอบปฐมทัศน์ที่โรงภาพยนตร์ Odeon Leicester Square กรุงลอนดอน วันที่ 14 พฤศจิกายน ปี 2006/๒๕๔๙ นี้ และเปิดฉายทั่วไปในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในวันที่ 17 พฤศจิกายน ประเทศอื่นๆจะได้รับฟิล์มภาพยนตร์ในวันที่ 15 -16 พฤศจิกายน ส่วนญี่ปุ่น อิตาลี และ อาร์เจนติน่า จะได้ชมในต้นปี 2007/๒๕๕๐ สำหรับประเทศไทย จะได้ชม Casino Royale ในวันที่ 16 พฤศจิกายน๘ หมายเหตุ
******************* 12 ติโต Tito Ballantine's illustrated history of the violent century War leader book, no. 10 โดย Phyllis Auty พระราชนิพนธ์แปล โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ติโต พระราชนิพนธ์แปล โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จากเรื่อง Tito Ballantine's illustrated history of the violent century War leader book, no. 10 โดย Phyllis Auty หนังสือชื่อ ติโต พระราชนิพนธ์แปลโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2535 เล่มนี้ ในคำนำชี้แจงว่าทรงแปลจากต้นฉบับเรื่อง TITO ของ Phyllis Auty เพื่อให้ข้าราชบริพารได้ทราบถึงบุคคลที่น่าสนใจคนหนึ่งของโลก แต่ในคำนำมิได้ลงรายละเอียดว่าเป็นหนังสือชื่อ Tito เล่มใดของ Phyllis Auty ในจดหมายอนุญาตเรื่องลิขสิทธิ์จากสำนักพิมพ์ Ballantine ก็บอกเพียงว่ายินดีที่พระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงแปลเรื่อง Tito ของ Phyllis Auty และจะไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ใดๆหากการจำหน่ายหนังสือเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศล เมื่อดูจากจดหมาย ฉบับนี้ และดูจากคำนำของหนังสือ และดูจากปก ก็จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดได้ว่าเป็นพระราชนิพนธ์แปลจากต้นฉบับเล่มนี้ คือ TITO A Biography โดย Phyllis Auty พิมพ์โดยแผนก Pelican Book ของสำนักพิมพ์ Penguin Books ซึ่งมีความยาวถึง 400 หน้า เมื่อมาดูที่ฉบับแปลก็พบว่ามีความยาวในแบบภาษาไทยเพียง 121 หน้าเท่านั้น จึงเกิดความสงสัยขึ้นว่าทำไมฉบับภาษาไทยจึงสั้นกว่าฉบับภาษาอังกฤษมากมายนัก เมื่อลองเริ่มเปรียบเทียบบทแปล บทต่อบท ประโยคต่อประโยค ก็พบว่าไม่เหมือนกัน และดูจะเป็นคนละเล่มกันเลย เมื่อย้อนไปพลิกดูจดหมายตอบจาก Phyllis Auty ผู้เขียน ในหน้า (๖) ที่ตอบอย่างปลื้มปิติในการที่พระเจ้าอยู่หัวของไทยทรงจะแปลงานชิ้นสำคัญของ Phyllis Auty เพื่อเผยแพร่เป็นการกุศลในประเทศไทย จึงทราบชัดเจนว่า ต้นฉบับที่แท้จริงคืออีกเล่มหนึ่ง ชื่อ Tito (Ballantine's illustrated history of the violent century. War leader book, no. 10) by Phyllis Auty พิมพ์เมื่อปี 1972 เป็นเล่มเล็ก ฉบับย่อ พิมพ์หลังเล่มใหญ่ของผู้เขียนคนเดียวกัน สองปี ซึ่งปัจจุบันเป็นหนังสือเก่ายังหาซื้อมาอ่านประกอบกับฉบับแปลไม่ได้ในขณะนี้ แต่เพื่อความเข้าใจก่อนอ่านจึงจำต้องบอกให้ชัดเจนก่อนว่า พระราชนิพนธ์แปล "ติโต" เล่มนี้แปลจาก Tito (Ballantine's illustrated history of the violent century. War leader book, no. 10) (Unknown Binding) by Phyllis Auty เรื่องของ ติโต ในหนังสือชุดผู้นำสงครามในประวัติศาสตร์ศตวรรษแห่งความรุนแรง เล่มที่ 10 ว่าด้วยเรื่องของ Tito ผู้นำการรบต้านภัย Nazi กู้ชาติ Yugoslavia ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นหน้าที่ของสำนักพิมพ์อมรินทร์พรินติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จะต้องแก้ไขข้อความบนปกเรื่องชื่อหนังสือต้นฉบับให้ถูกต้องหากจะมีการพิมพ์ครั้งต่อไป การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกแปลจากเล่มที่สั้นและย่อกว่า มีความยาวเพียง 121 หน้านั้น นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้อ่านที่ต้องการทำความรู้จักขั้นเริ่มต้นกับคนดีของโลกอีกคนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนที่ควรอ่านเป็นหนังสือนอกเวลาเรียน ไม่ว่าโรงเรียนจะกำหนดเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม Josip Broz คือชื่อจริง Tito คือชื่อที่เป็นสมญานาม ของเลขาธิการพรรคคอมมูนิสต์แห่ง Yugoslavia ผู้เริ่มต้นชีวิตจากลูกชาวนา หรือที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่า ๕ "ทหารลูกทุ่ง" เพราะ Josip Broz หรือ Tito เกิดมาในครอบครัวที่แม้ไม่ถึงกับยากจนนัก แต่ก็ต้องดิ้นรนเพราะมีพี่น้องรวมกันถึง 9 คน ออกจากโรงเรียนไปทำงานล้างจานในค่ายทหารตั้งแต่อายุ 12 ไปฝึกงานในอู่ซ่อมรถยนต์ตอนอายุ 15 เร่ร่อนเปลี่ยนงานจนอายุ 20 สมัครเป็นทหารเกือบเอาชีวิตไม่รอดในสงครามโลกครั้งที่ 1 ถูกรัสเซียจับเข้าค่ายกักแล้วแหกคุกหนี ถูกจับอีก แล้วหนีอีก กลับมา แอบเป็นสมาชิกพรรคคอมมูนิสต์ ของ Yugoslavia เรียกว่าพวก Partisan สร้างสมผลงานและบารมี จนกลายเป็นหัวหน้าพรรค เป็นหัวหน้าแนวร่วมกู้ชาติจน รวมประเทศ Yugoslavia จากความแตกแยกสมัยสงครามได้สำเร็จ ติโต คือเด็กช่างกลลูกชาวนาได้ดี กลายเป็นสุดยอดของผู้นำโลกคนหนึ่ง ทั้งๆที่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง Yugoslavia ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ (๕๙) ในหน้า ๕๙ บอกชัดเจนว่า "ติโตเองก็มีจุดยืนที่เหนียวแน่น เขาเป็นคอมมูนิสต์ขนานแท้ และเป็นปรปักษ์อย่างรุนแรงต่อรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรเดิม ซึ่งมีนโยบายให้เซอร์เบียเป็นศูนย์กลางประเทศ" ความเป็นคนดี คนน่าสนใจของ Tito คือการเป็นผู้นิยมอุดมการณ์คอมมูนิสต์แบบอิสระไม่ยอมอยู่ใต้การครอบงำของ Stalin แห่งสหภาพโซเวียต อิสระในความคิดที่ไม่นิยมระบบนารวม อิสระที่ต้องการให้ให้ชนทุกเผ่าพันธุ์กลับมาร่วมความเป็นชาติเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง Kosovo Croatia Serbia Montenegro Bosnia Herzegovena Slovania สารพัดความร้าวฉานแตกแยก Tito รวมชาติ Yugo-Slav ได้สำเร็จ เป็นผู้นำกองทัพใต้ดินจากจำนวน 1,000 มาเป็น 800,000 คน แม้ Germany ของ Hitler ก็ต้องปล่อยให้ชัยชนะเป็นของ Tito ลักษณะเด่นของ Tito ความมุมานะนึกถึงประชาชนผู้ยากไร้ นึกถึงชาติเป็นเป้าหมายใหญ่ และพร้อมที่รับความจริงว่าชัยชนะที่เป็นเป้าหมายนั้นต้องอาศัยความร่วมมือช่วยเหลือจากมิตรรอบด้านให้มากที่สุด ผสานกับการให้การศึกษากับตัวเองและประชาชนทั้งมวลอย่างต่อเนื่อง (๙๑) Tito กล่าวว่า "การดำเนินการศึกษาอย่างไม่หยุดยั้ง นี้ มีความสำคัญมาก" การที่ต้องออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 12 มิได้ทำให้ Tito หยุดการศึกษาด้วยตนเอง Tito จึงกลายเป็นนักคิด นักรบ และนักต่อสู้เพื่อชาติ Yugoslavia ๑๒๑ "เขาเป็นผู้นำผู้ยิ่งใหญ่ ผู้เปลี่ยนวิถีแห่งประวัติศาสตร์ในประเทศตน และผู้ได้ผนวกบทใหม่เข้าในตำนานของลัทธิคอมมูนิสต์ตอนศตวรรษที่ยี่สิบ" ติโต Tito Ballantine's illustrated history of the violent century War leader book, no. 10 โดย Phyllis Auty พระราชนิพนธ์แปล โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ********************** 13 The End of Poverty จุดจบความยากจน โดย Jeffrey Sachs “คนส่วนใหญ่ในโลกจะไม่ต้องคิดอะไรซับซ้อนมากมายนักที่จะยอมรับว่า โรงเรียน คลินิก ถนน ไฟฟ้า ท่าเรือ คุณภาพดิน น้ำดื่มที่สะอาด และอะไรต่อมิอะไรทำนองนี้เป็นความจำเป็นพื้นฐาน ไม่เพียงเพื่อชีวิตที่มีศักดิ์ศรีและสุขภาวะเท่านั้น แต่เพื่อการมีผลผลิตทางเศรษฐกิจอีกด้วย คนทั้งหลายก็คงยอมรับอีกว่าคนจนต้องการความช่วยเหลือเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งจำเป็นพื้นฐานเหล่านั้น แต่คนที่คิดเช่นนั้นก็อาจไม่มีความมั่นใจนักว่าโลกจะมีวิธีที่จะให้ความช่วยเหลือคนจนอย่างได้ผลจริงๆหรือไม่?” “หากคนจนนั้นจนเพราะเป็นคนเกียจคร้าน หรือรัฐบาลของเขาทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง อย่างนี้แล้วจะอาศัยความช่วยเหลือร่วมมือในระดับโลกได้อย่างไร? นับว่าเป็นโชคดีที่ทัศนะทั่วๆไปซึ่งใครก็เชื่อกันอย่างที่ว่ามานั้นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ถ้าหากมันจะมีส่วนจริงอยู่บ้าง มันก็เป็นเพียงส่วนเล็กๆของการอธิบายว่า ทำไมคนจน จึงจน" โลกหนังสือยามเช้า The End of Poverty โดย Jeffrey Sachs นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และช่ำชองประสบการณ์เรื่องคนจน และความจนของผู้คนบนโลก เดินทางสัมผัส ศึกษา วิจัย ค้นหาวิธีแก้ปัญหาความยากจนของมนุษย์มายาวนาน ในฐานะที่ปรึกษาเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และนักวิชาการจากสถาบันโลก Earth Institute แห่ง Columbia University ไปทั่วทุกมุมโลกที่มีความยากจน มุ่งมั่นหาคำตอบ และหาทางแก้ปัญหา จนเขาสรุปใน “The End of Poverty” ว่า ความจนในระดับรุนแรงสูงสุดบนโลกมนุษย์จะหมดไปได้ในปี ค.ศ. 2025 หรือ พ.ศ. ๒๕๖๘ หรืออีกประมาณ ๒๐ ปีข้างหน้า เพื่อความสะดวกในการศึกษาปัญหา และแก้ไขความยากจน ศาสตราจารย์ Jeffrey Sachs ให้นิยามความหมายของความจนไว้ว่ามีสามระดับ คือ (20) 1. Extreme / Absolute Poverty ความยากจนอย่างรุนแรงที่สุด 2. Moderate Poverty ความยากจนระดับกลาง 3. Relative Poverty ความยากจนโดยเปรียบเทียบ 1. Extreme / Absolute Poverty ความยากจนอย่างรุนแรงที่สุด หมายถึง การที่ครอบครัวไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เพราะขาดสิ่งจำเป็นพื้นฐาน มีความหิวโหยขาดอาหารปะทังชีวิตอย่างรุนแรง ขาดโอกาสในการได้รับการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ไม่มีน้ำดื่มสะอาดถูกหลักสุขอนามัย ไร้ที่อยู่อาศัยที่ได้คุณสมบัติเบื้องต้นของการเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ที่แท้จริง นั่นก็คือต้องมีหลังคากันแดดกันฝน มีปล่องระบายควันออกจากบริเวณครัวที่มีเตาสำหรับใช้ปรุงอาหาร ไม่มีเสื้อผ้าเครื่องห่มกาย และรองเท้า ความยากจนอย่างรุนแรงสุดนี้เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนาเท่านั้น 2. Moderate Poverty ความยากจนระดับกลาง หมายถึงสภาวะที่ไม่ขาดสิ่งจำเป็นพื้นฐานทั้งหลาย แต่มีอย่างไม่สมบูรณ์ ได้บ้างไม่ได้บ้าง ชีวิตต้องดิ้นรนอยู่ตลอดเวลาในการแสวงหาสิ่งจำเป็นพื้นฐาน 3. Relative Poverty ความยากจนโดยเปรียบเทียบ เป็นการเปรียบเทียบกับมาตรฐานเส้นแบ่งความยากจนออกจากความพออยู่พอกินขึ้นไป โดยวัดจากรายได้ที่รัฐอาจกำหนดเป็นมาตรฐานกลางของรายได้ประชาชนในชาติโดยเฉลี่ย เรียกว่ารายได้ประชาชาติ ในประเทศที่ร่ำรวย ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้สูง คนจนก็ยังคงมีอยู่มากน้อยตามสัดส่วนและมาตรฐานที่กำหนด โดยเปรียบเทียบ ในประเทศที่ร่ำรวย คนจนคือคนที่ขาดการเข้าถึงสินค้าเชิงวัฒนธรรม การขาดโอกาสในการได้รับความบันเทิงเช่นคนทั่วไป การไม่มีเวลาหยุดพักผ่อนเหมือนคนทั่วไป คุณภาพการบริการสาธารณสุขที่ต่ำกว่ามาตรฐาน การศึกษาที่คุณภาพต่ำต้อย การขาดแรงผลักดันให้ขึ้นสู่ระดับสูงของสังคม ทั้งหมดนี้คือความยากจนในประเทศรวย โดยเปรียบเทียบ ศาสตราจารย์ Jeffrey Sachs ทำแผนที่แสดงพื้นที่ความยากจน ให้เห็นความยากจนรุนแรงสุดอยู่ในทวีปแอฟริกา ดังที่ปรากฏเป็นสีน้ำตาลเข้มในแผนที่ รวมถึงอินเดีย บังคลาเทศ ลาว และเขมร ส่วนประเทศไ& |