Vertical Divider
ปีใหม่ของมนุษย์ เริ่มต้นที่เรื่องเวลา......
ในวาระแรกเริ่มก่อนระเบิดมหากัมปนาท The Big Bang ไม่มีกระบวนการนับเวลา เพราะไม่มีมนุษย์มาคิดหาเรื่องกับกาลเวลา พลันเมื่อมีมนุษย์ที่มีภูมิปัญญาชาญฉลาดค้นหาที่มาที่ไปของเอกภพและสรรพชีวิต จึงได้มีระเบียบพิธีการคำนวนนับกาลนับเวลาขึ้น โดยพบว่าในเอกภพมีการก้าวย่างเดินทางของกาลเวลา หรือ time บนพื้นที่ในอวกาศ หรือ space การมีพื้นที่ในอวกาศที่เรียกว่า space นั้น แสดงว่ามีการปรากฏตัวของสะสาร หรือ matter หรือ “something” แทนที่จะเป็น “nothing” เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีความเป็นไปได้ที่จะกำหนดนับ “เวลา” หรือ time เพราะการเคลื่อนที่ของเวลามีพื้นที่สำหรับเคลื่อนที่ไปได้ เวลาปัจจุบันกลายเป็นเวลาเก่าเมื่อถูกทิ้งไว้ข้างหลังพลันที่เวลาเคลื่อนไปข้างหน้าเป็นเวลาใหม่ หมายความว่าเวลามีการเพิ่มปริมาณและเปลี่ยนตำแหน่งพื้นที่ไปเรื่อยๆอย่างไม่มีหยุดพักและไม่มีจบสิ้น ตราบใดที่ยังมีพื้นที่ หรือ space ให้เวลาเดินทางไปข้างหน้าเรื่อยๆ. ตามวิวัฒนาการของจักรวาลช่วงต้นนั้นวัดเวลาเป็นวินาที หรือเสี้ยวของวินาที ยังไม่มีการนับวันเดือนปี ไม่มีแม้กระทั่งการนับเป็นชั่วโมง ทั้งนี้ก็เพราะมนุษย์ยังไม่เกิดบนโลกจึงไม่มีใครคิดนิยามและคำนวนเรื่องเวลา หลังเกิดระบบสุริยะ มีดวงอาทิตย์ และดาวเคราะห์โลก พร้อมทั้งมีมนุษย์ที่ทรงปัญญาแล้วจึงได้มีการคิดคำนวนเรื่องเวลาที่เป็นวัน เดือน และปี เป็นปฏิทินที่มนุษย์ใช้คิดวางแผนการดำเนินชีวิตตามการเดินทางของชีวิตที่อยู่บนเส้นทางของกาลเวลา เพราะมนุษย์รู้แล้วว่าชีวิตเริ่มที่เวลาเกิด แล้วเดินทางไปถึงวาระสุดท้าย คือเวลาตาย ชีวิตใหม่เกิดขึ้น ต่อจากชีวิตเดิมที่ตายไป เป็นอนุกรมหรือไม่ก็เป็นวัฏจักรของการเวลา สุดแต่จะนิยามกันตามใจมนุษย์ หากคิดว่าเวลาเป็นอนุกรม เวลาก็เคลื่อนไปข้างหน้าไม่หยุดยั้ง หากเป็นวัฏจักรเวลาก็เดินทางเป็นวงจรหมุนกลับมาเริ่มต้นรอบวงใหม่แห่งกาลเวลา. นี่คือความซับซ้อน หรือสับสน เวลาที่มนุษย์คิดถึงเรื่องเวลา! เวลามีหลายมิติชวนให้พิศวง: เวลาเก่า...เวลาเดิม...เวลาปัจจุบัน...เวลาข้างหน้า...เวลาอนาคต...เวลาเริ่ม...เวลาจบ...เวลาไม่จบ...... แล้วก็มาว่าด้วยเรื่องปีใหม่ของมนุษย์ ในวาระนี้..... มนุษย์บนโลกปัจจุบันนี้นับเวลาเป็น วินาที-นาที-ชั่วโมง-วัน-เดือน และ ปี โดยอาศัยการคำนวน การเดินทางในวงโคจรของดาวเคราะห์โลกที่มนุษย์อาศัยอยู่ ซึ่งโคจรเป็นวงรีรอบดวงอาทิตย์อันเป็นแหล่งแสงสว่างและพลังงานที่สร้างและหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์และสรรพชีวิตบนโลก. โลกหมุนรอบตัวเองครบหนึ่งรอบ จากเวลาที่เห็นดวงอาทิตย์ขึ้น ถึงดวงอาทิตย์ตก แล้วกลับมาขึ้นอีกครั้ง รวมเป็น 1 วัน โลกหมุนรอบตัวเองเช่นนี้ไปพร้อมๆกับการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเป็นเส้นทางโค้งรีเป็นวงรูปไข่รอบดวงอาทิตย์ครบ 365 รอบตัวเอง ก็ครบรอบวงรี 1 รอบของการเดินทางหรือโคจรรอบดวงอาทิตย์ มนุษย์เรียกเวลาที่โลกใช้โคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบนี้ว่าเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งมี 365 วัน บางปีก็มี 366 วัน ยิ่งเวลาแบ่งเป็นเวลาปฏิทินแล้ว 1 ปี ถูกแบ่งเป็น 12 เดือน บางเดือนก็มี 30 วัน บางเดือนมี 31 วัน เดือนกุมภาพันธ์บางปีก็มี 28 วัน บางปีก็เพิ่มเดือนกุมภาพันธ์ให้มี 29 วัน สรุปแล้ว 1 ปีที่มนุษย์กำหนดแต่ละปีก็มีเวลารวมไม่เท่ากัน ทั้งนี้ก็เพราะหลายสาเหตุอันเป็นธรรมชาติของจักรวาล เอกภพ และระบบสุริยะ อย่างหนึ่งคือ โลกไม่มีทรงกลมสมบูรณ์ แต่เป็นวงกลมแป้นป่องตรงกลางแบบลูกมะนาวหรือส้ม แถมแกนกลางที่โลกใช้เป็นแกนหมุนรอบตัวเองก็เอียงเข้าหาดวงอาทิตย์บ้าง เอียงออกจากดวงอาทิตย์บ้างตามจังหวะเวลาหรือที่มนุษย์กำหนดเป็นฤดูกาล การหมุนรอบตัวเองของโลกก็แกว่งไกวเร็วช้าไม่สม่ำเสมอแน่นอน การโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์แต่ละรอบแต่ละปีโดยเฉลี่ยถือว่าเสถียรมั่นคงแต่จะนับแน่ชัดว่าเวลาทุกปีเท่ากันตรงกันทุกเสี้ยววินาทีก็ไม่ใช่ เพื่อความสะดวก มนุษย์ดูดวงอาทิตย์ขึ้นและตกและขึ้นอีกครั้งเป็นหลัก จึงได้เวลา 1 วัน เมื่อเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นสองครั้ง ถึง 1 ปี เมื่อนับได้ 365-366 รอบของเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น (365.242199 วัน แบบ Tropical Year หรือ Solar Year ซึ่งคำนวนตามการกลับมาของฤดูกาลตามตำแหน่งปรากฏของดวงอาทิตย์ หรือ 365.256 363 วัน แบบ Sidereal Year ซึ่งคำนวณจากการกลับสู่ตำแหน่งเดิมของดวงอาทิตย์ตามที่สังเกตจากโลกโดยวัดตำแหน่งที่สัมพันธ์กับดาวฤกษ์ดวงอื่น). ตรงนี้เองที่มนุษย์เรียกว่า “ขึ้นปีใหม่” เพราะโลกและตัวมนุษย์เองร่วมกันเดินทางรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบแล้ว มนุษย์ผู้ใดที่ได้โคจรรอบดวงอาทิตย์มากรอบก็ถือว่าอายุยืนเท่ากับรอบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ มนุษย์ที่มีอายุ 100 ปี ก็เพราะได้โคจรรอบดวงอาทิตย์ 100 รอบ เมื่อชีวิตผ่านพ้นไป 1 รอบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม ก็เรียกว่าส่งท้ายปีเก่าให้ผ่านไป เริ่มโคจรรอบใหม่วันแรก วันที่ 1 มกราคม ก็ถือเป็นวันต้อนรับปีใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้น ดาวเคราะห์โลกร่วมกับมนุษย์ก็โคจรรอบใหม่ปีใหม่ต่อไป. ชีวิตมนุษย์มิได้ก้าวเดินทางไปไหนไกล โลกก็มิได้โคจรไปข้างหน้าไปไหนไกล แม้ว่าจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 108,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นระยะทาง 940,000,000 กิโลเมตร เพราะทั้งสองล้วนโคจรกลับมาตั้งต้นใหม่ที่เดิม หลังเที่ยงคืนวันที่ 31 ธันวาคม ณ พิกัดที่มนุษย์ผู้นั้นยืนอยู่ มนุษย์ผู้นั้นจะเริ่มต้นปีใหม่ของตน ณ จุดเดิม หากยืนที่พิกัดเดิมปีที่แล้ว และเวลาปีใหม่ของมนุษย์แต่ละคนจึงต่างเวลาต่างพิกัดไปจากกันและกัน. มนุษย์ที่ผาชะนะได อุบลราชธานี จะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นก่อนและได้เริ่มปีใหม่ก่อนมนุษย์ที่แม่ลาน้อย แม่ฮ่องสอน 32 นาที และก่อนมนุษย์ที่เมือง Greenwich ประเทศอังกฤษ 7 ชั่วโมง โดยประมาณ. เวลาของมนุษย์แต่ละคนไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน เพราะมนุษย์แต่ละคนรับพลังงานและแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ต่างเวลาต่างพื้นที่ space-time ของมนุษย์ทุกคนจึงไม่เท่ากัน. ในเชิงกาลเวลาและพื้นที่ในอวกาศ ปีใหม่ของมนุษย์ทุกคนเหมือนกัน เพราะทุกชีวิตกลับมาเริ่มปีใหม่ ณ จุดเริ่มวงโคจรรอบดวงอาทิตย์จุดเดิม. ชีวิตมนุษย์จึงเป็นวัฎจักรของอนุกรม. เหมือนจะก้าวต่อเนื่องไปข้างหน้า แต่แล้วก็วกกลับมาที่เดิม! ปีใหม่ในศาสนาคริสต์: นวัตกรรมแห่งกาลเวลา ที่ว่าชีวิตมนุษย์เป็นวัฎจักรของอนุกรมนั้นก็เพราะมนุษย์สร้างนวัตกรรมแห่งกาลเวลา โดยนับเวลาให้เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไม่มีการถอยหลังกลับ เวลาที่ผ่านไปจึงเป็นอดีต เป็นประวัติศาสตร์ที่มนุษย์มิอาจเดินทางกลับไปแก้ไขได้ เว้นแต่ว่าจินตนาการดังปรากฏในนวนิยายวิทยาศาสตร์หลายเรื่องจะเป็นจริงได้ ซึ่งมีนวนิยายหลายเรื่องเกี่ยวกับเครื่องจักรกลแห่งกาลเวลาที่สามารถพามนุษย์เดินทางท่องไปในกาลเวลาได้ ทั้งเดินทางย้อนกลับไปหาอดีตอันเป็นประวัติศาสตร์ และเดินทางไปข้างหน้าสู่อนาคตที่ยังไม่เกิดในปัจจุบัน...ปัจจุบันซึ่งเป็นอดีตหรือประวัติศาสตร์ของอนาคต. นวนิยายวิทยาศาสตร์ของ H.G. Wells เรื่อง The Time Machine (1895) เป็นงานวรรณกรรมประเภท Scientific Romance ที่โด่งดังที่สุดตั้งแต่ปลายคริสศตวรรษที่ 19th แม้ในยุคปัจจุบัน ที่ Scientific Romance หรือ นวนิยายผจญภัยเชิงวิทยาศาสตร์ ได้เปลี่ยนชื่อเรียกและรูปแบบมาเป็น Science Fiction หรือ Sci-Fi หรือ ”นวนิยายวิทยาศาสตร์” เรื่อง The Time Machine ก็ยังเป็นที่นิยมจนกล่าวได้ว่าเป็นงานวรรณกรรมอมตะ หรือ “Classic” อยู่คู่วงการวรรณกรรมมาตลอดกาล ในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์หลายแห่งในโลกวันนี้มีความพยายามค้นคว้าศึกษาและวิจัยเรื่องการเดินทางไปกับเครื่อง Time Machine กันอย่างจริงจัง แม้จะยังไม่สำเร็จแต่ก็มีเหตุผลทำให้หลักทฤษฎีเรื่องการเดินทางไปตามกาลเวลา หรือ Time Travelling เป็นเรื่องน่าเป็นไปได้ นวนิยายวิทยาศาสตร์หลายเรื่องเป็นแรงบันดาลใจให้นักวิทยาศาสตร์สามารถทำเรื่องในนวนิยายวิทยาศาสตร์หลายเรื่องให้เป็นจริงได้ แต่เรื่องการท่องพื้นที่แห่งกาลเวลา ณ วันนี้ - ปีใหม่ ค.ศ. 2023 - มนุษย์ยังมิอาจสร้างเครื่องจักรกลแห่งกาลเวลาได้ มนุษย์ทำได้เพียงการบันทึกเวลาและเหตุการณ์ต่างๆที่เห็นสำคัญในปัจจุบันให้เป็นประวัติศาสตร์เมื่อเวลาผ่านไป และคิด คำนวน คาดเดาเหตุการณ์ต่างๆที่น่าจะเกิดมีความสำคัญในอนาคต แล้วเดินทางไปพร้อมกันกับจังหวะของกาลเวลาที่มนุษย์กำหนดว่าเป็นการเดินทางไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องไม่มีจุดยุติ. ที่ว่าเวลาของมนุษย์เหมือนกับจะก้าวต่อเนื่องไปข้างหน้า แต่แล้วก็วกกลับมาที่เดิมนั้น ก็เพราะมนุษย์สร้างนวัตกรรมแห่งกาลเวลาตามกรอบคิดของมนุษย์เอง โดยให้ชีวิตมนุษย์เป็นเสมือนเครื่องจักรกลแห่งกาลเวลา หรือ Time Machine ที่ทำได้เพียงการเดินหน้าของชีวิต มิอาจถอยหลังได้ ทั้งนี้ให้หมายความถึงการเคลื่อนของชีวิต มิได้หมายถึงการก้าวเดินของอวัยวะ ดังนั้นชีวิตของมนุษย์จึงดำเนินไปข้างหน้าตามกาลเวลาในอัตราความเร็วเท่ากับกาลเวลาตามนิยามเรื่องปฏิทิน วัน เดือน ปี จนครบรอบปีผ่านไป แล้วเข้าสู่รอบปีปฏิทินใหม่ หรือ “ปีใหม่” ตามที่โลกมนุษย์นับและถือปฏิบัติตามกันเหมือนเป็นส่วนใหญ่ แต่การเดินทางของชีวิตมนุษย์บนโลกนั้นยังติดอยู่บนโลกเช่นเดิม เมื่อโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบรอบปีก็เท่ากับโลกเดินทางกลับมาตำแหน่งที่ตั้งเดิม ชีวิตจึงเป็นวัฏจักรเคลื่อนที่ไปเป็นวงรีกลับมาที่เดิมทุกปีไป! ปฏิทินที่มนุษย์ใช้กันเป็นสากลปัจจุบันนี้เป็นปฏิทินที่คำนวน กำหนด และประกาศใช้โดยพระสันตะปาปา Gregory แห่งศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก (Roman Catholic หรือ Catholic) ตั้งแต่คริสศตวรรษที่ 16th เริ่มใช้เดือนตุลาคม ค.ศ. 1582 เป็นต้นมา เรียกว่าปฏิทิน Gregorian (Gregorian Calendar) เป็นการประกาศใช้แทนที่ปฏิทินแบบเดิมก่อนหน้านั้นที่เรียกว่า Julian Calendar ของจักรพรรดิ Julius Caesar แห่งกรุงโรม ซึ่งใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 45 BC. ในเวลาที่อาณาจักรโรมันแผ่อำนาจกว้างไกลไพศาล โลกภายใต้อำนาจโรมก็ใช้ปฏิทิน Julian Calendar ต่อมาคริสต์จักรคาทอลิกทรงอำนาจเหนืออาณาจักร แม้องค์จักรพรรดิ์แห่งโรมก็ต้องสยบ ปฏิทินของสมเด็จพระสันตะปาปา Gregory จึงถูกประกาศใช้แทนปฏิทินของพระจักรพรรดิ์ แต่ปฏิทินทั้งสองแบบก็คำนวนวันเวลาตามการโคจรของโลกสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ เกือบจะทำนองเดียวกัน. ปฏิทิน Julian Calendar ใช้ในสมัยที่มนุษย์ยังเชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ และดวงอาทิตย์ กับดวงดาวดารดาษบนท้องฟ้าล้วนโคจรรอบโลกทั้งสิ้น เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น-ตก-แล้วกลับมาขึ้นอีกครั้งตอนเช้า จึงครบ 1 วัน อาศัยการสังเกตและบันทึกผ่านอดีตอันยาวนาน ดูดาว สังเกตฤดูกาล จนเชื่อมั่นในในวัฏจักรแห่งการเดินทางของดวงอาทิตย์รอบโลกครบ 1 รอบก่อเกิดวัฏจักรแห่งฤดูกาลครบถ้วนสี่ฤดู จึงเรียกว่าครบ 1 ปี. ส่วนปฏิทิน Gregorian Calendar ของพระสันตะปาปา Gregory เกิดขึ้นหลังจากมนุษย์ได้รับความรู้ใหม่แล้วว่าระบบสุริยะมีดวงอาทิตย์อยู่เป็นศูนย์กลางของระบบ ส่วนโลกกับดาวเคราะห์ดวงอื่นทำหน้าที่เป็นฝ่ายโคจรรอบดวงอาทิตย์ ในวงโคจรของตนเอง นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบเรื่องโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์นั้นเป็นชาวโปแลนด์ ชื่อ Nicolaus Copernicus หนังสือของเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้ชื่อ “On the Revolutions of the Celestial Spheres” พิมพ์เผยแพร่ก่อนเขาจะถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1543 โดยเกรงกลัวว่าหากพิมพ์ตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ได้อีกยาวนานจะได้รับผลกระทบจากฝ่ายศาสนจักรซึ่งทรงอำนาจที่สุดในโลกตะวันตกสมัยนั้น และคำสอนสำคัญที่แม้จะไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์กลายเป็นความเชื่ออันศักดิ์สิทธิ์ ศาสนิกชนจะลบล้างหรือละเมิดมิได้ นักวิทยาศาสตร์ผู้ใดละมิดหรือลบล้างคำสอนของฝ่ายคริสต์จักรมักจะได้รับผลกระทบถึงถูกจองจำสิ้นอิสรภาพหรือแม้กระทั่งชีวิต. Copernicus สามารถใช้วิทยาศาสตร์เปลี่ยนความเชื่อที่เคยงมงายผิดพลาดของมนุษย์ในอดีตมาได้จนทุกวันนี้ ฝ่ายตริสต์จักรก็ยอมรับปรับคำสอนให้โลกกลมและโคจรรอบดวงอาทิตย์ได้ แต่ยังไม่ปรับความเชื่อที่ว่าพระเจ้าสร้างโลกภายใน 6 วัน เมื่อ 4,000 ปีที่แล้ว ตามที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล แม้ความรู้ใหม่จากวิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์ จะลงความเห็นเป็นสากลแล้วว่าโลกมีอายุ 4.5 พันล้านปี เก่ากว่าโลกของพระเจ้าในศาสนาคริสต์ถึง 4,499,996,000 ปี (สี่พันสี่ร้อยเก้าสิบเก้าล้านเก้าแสนเก้าหมื่นหกพันปี) ในโลกตะวันตกเรื่องนี้ยังเป็นที่ต่อสู้กันอยู่ย่างไม่ลดลา โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา คนเคร่งศาสนาคริสต์ ไม่ว่าจะนิกายใดยังเชื่อว่ามีพระเจ้าจริง และพระเจ้าทรงสร้างโลกสร้างมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นเมื่อสี่พันปีที่แล้ว ส่วนนักวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะในอเมริกา และโดยเฉพาะอีกในองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯหรือ NASA ก็มุ่งหน้าบุกเบิกสำรวจอวกาศต่อไป. แม้องค์การ NASA จะไม่บอกว่าสำรวจอวกาศเพื่อค้นหาพระเจ้า หรือเพื่อพิสูจน์ว่าไม่มีพระเจ้า แต่อย่างน้อยๆปีใหม่ ค.ศ. 2023 นี้ยานอวกาศ Orion ในโครงการ Artemis สำรวจดวงจันทร์ครั้งใหม่ก็ผ่านความสำเร็จในการเดินทางครั้งที่ 1 โดยไม่มีนักบินอวกาศเรียบร้อยแล้ว และกลับสู่โลกมนุษย์เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ปีเก่า 2022 และในปีเดียวกันก่อนหน้านี้ NASA ก็ส่งกล้องดูดาวอวกาศ James Webb Space Telescope (JWST) อันเป็นกล้องสำรวจเอกภพที่ใหญ่ที่สุดกว่ากล้องใดๆในอดีตได้แล้วเช่นกัน หาก JWST บังเอิญพบพระเจ้าระหว่างทางเราก็คงจะได้รับแจ้งจาก NASA แน่นอน ปีใหม่นี้ ตามปฏิทินพระสันตะปาปา Gregory มนุษย์ยังไม่พบพระเจ้าทั้งบนโลกที่มนุษย์อยู่ และบนดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะของเรา. ปฏิทินในมุมมองมนุษย์ต่างอารยธรรม หลังจากมีความพยายามและข้อเสนอหลากหลายในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13th ในที่สุดก็มาถึงสมัยการปกครองศาสนจักรคาทอลิก โดยพระสันตะปาปา Gregory XIII พระองค์ยอมรับข้อเสนอต่างๆแล้วจัดให้มีการปฏิรูปปฏิทิน Julian Calendar แต่เดิม ให้สอดคล้องและถูกต้องแม่นยำตามเวลาโคจรของโลกและฤดูกาลมากขึ้น จึงได้ประกาศใช้ระบบปฏิทิน Gregorian Calendar ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1582 และใช้เรื่อยมาจนวันนี้ ประเทศอังกฤษซึ่งนับถือนิกาย Protestant ยังคงใช้ปฏิทินเก่าสมัยกลางซึ่งถือวันที่ 25 มีนาคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ต่อไป จนถึงปี 1752 จากนั้นจึงเริ่มใช้ปฏิทิน Gregorian และเริ่มปีใหม่วันที่ 1 มกราคม เหมือนกัน ชาติอื่นในโลกตะวันตกที่ต่างนิกายกันก็ทยอยเปลี่ยนมาใช้ปฏิทิน Gregorian กันในเวลาต่อมา ส่วนสังคมและชาติที่นับถือศาสนาและวัฒนธรรมอื่นก็มีปฏิทินตามศาสนาและวัฒนธรรมของตน ที่สำคัญโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะวัฒนธรรมและศาสนาก็มี ปฏิทินจีน, ฮินดู, พุทธ, และ อิสลาม ล้วนมีปีใหม่ของตนเองที่แตกต่างกันไป มิได้เริ่มปีใหม่ ณ วันที่ 1 มกราคม เหมือนปฏิทินคริสต์ศักราช ทว่าด้วยเหตุแห่งโลกาภิวัตน์ ระบบการเดินทางข้ามเวลา การคมนาคมสื่อสาร การศึกษาและระบบธุรกิจข้ามพรมแดนที่เป็นสากล โลกทั้งโลกวันนี้จึงใช้ปฏิทิน Gregorian นับคริสต์ศักราช และเริ่มปีใหม่วันที่ 1 มกราคม คู่ขนานไปกับปฏิทินตามวัฒนธรรมและศาสนาเฉพาะของตน แม้จะนับถือพระเจ้าและเทพเจ้าต่างกัน มนุษย์ในโลกก็ยอมเรียกเดือนแรกของปีสากลว่า January ทั้งๆที่มีความหมายดั้งเดิมในภาษาละตินอ้างถึงเทพเจ้าสองพระเศียรแห่งอาณาจักรโรมันชื่อ Janus และมีความหมายอีกนัยหนึ่งในภาษาละตินว่า ‘Ianuarius’ จากรากศัพท์ว่า ‘ianua’ แปลว่า “door’ (ประตู) สำหรับวันที่ 25 เดือนมีนาคม - ซึ่งเป็นวันที่ชาว Protestant ในอังกฤษยึดถือเป็นวันปีใหม่ เนื่องจากถือเป็นวันที่เทพ Gabriel ทรงพบกับนางมารี (Mary) และแจ้งให้นางทราบว่านางจะให้กำเนิดพระเยซู - ก็มิได้นับเป็นวันปีใหม่อีกต่อไป. สำหรับประเทศไทย ทุกวันนี้ก็ยังคงนับวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินสุริยคติที่ยึดการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์เป็นหลัก ตามแบบศาสนาฮินดูในอินเดีย และยังคงใช้คู่ขนานไปกับปฏิทินจันทรคติที่นับวันคืนขึ้นแรมตามการโคจรของดวงจันทร์รอบโลกตามที่มองเห็นจากพื้นโลก การเรียกขื่อเดือนทั้ง 12 เดือนในปฏิทินคริสต์ศักรราช ก็ใช้ชื่อภาษาไทยตามตำราจักรราศี มี 12 ราศี ตามแบบอินเดียซึ่งอินเดียก็ใช้ตามแบบจักรราศีที่เรียกว่า Zodiac ตามแบบอารยธรรมกรีซโบราณ ไทย (และอินเดีย) เริ่มปีใหม่ที่ราศีเมษ เดือนเมษายน วันที่ 13 เมษายน ซึ่งเราถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย ทั้งไทย และอินเดียภาคเหนือและภาคกลางฉลองปีใหม่สุริยคติวันที่ 12-13-14 เมษายน ส่วนหลายวัฒนธรรมทางภาคกลางและใต้ของอินเดียก็เริ่มปีใหม่ใชช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนแตกต่างกันไปในรายละเอียด (เดือนที่ปฏิทินคริสต์เรียกว่า April จากภาษาละติน ‘Aprilis’ ซึ่งอาจมาจากชื่อเทพเจ้า ‘Aphrodite’ บ้างก็อ้างความคิดของนักประวัติศาสตร์โรมันโบราณที่เชื่อว่า ‘Aprilis’ มาจากคำว่า ‘aperire’ แปลว่า ‘to open’ หรือ ‘เปิด’ แต่นักวิชาการสมัยใหม่ส่วนหนึ่งเห็นว่ารากศัพท์ของคำว่า ‘Aprilis’ น่าจะแปลว่า ‘other’ หมายถึงเดือนอื่นอีกเดือน (ตามหลังเดือน March ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีตามปฏิทินของพวก Protestant เดิม - อ้างอิง: Bonnie Blackburn, The Oxford Companion to the Year, Oxford University Press, New York, 1999, 2003) ชื่อเดือนอื่นๆในภาษาไทยก็อ้างอิงชื่อภาษาฮินดีตามปฏิทินฮินดู (ขอสะกดชื่อเป็นภาษาอังกฤษ) ดังนี้:
มนุษยชาติบนดาวเคราะห์โลกแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความรู้ข้ามพรมแดนอารยธรรมเป็นกระบวนการโลกาภิวัตน์มานานแต่โบราณแล้ว การนับเวลา วัน คืน เดือน ปี ก็เป็นอิทธิพลแก่กันและกัน ล้วนแล้วมาจากการเฝ้าสังเกตดวงดาว ท้องฟ้า และฤดูกาล ผ่านมานับพันนับหมื่นปี การยอมรับการนับเวลาและปฏิทินจากอารยธรรมตะวันตก มิได้ลบล้างปฏิทินตามวัฒนธรรมและคตินิยมท้องถิ่นตะวันออกแต่อย่างใด หากแต่ยังคงนับวันเดือนปีปฏิทินคู่ขนานกันไปหลายรูปแบบ มนุษย์จึงได้ทั้งแยกและร่วมฉลองปีใหม่กันตามวัฒนธรรมร่วมสมัยต่อไป ปฏิทินฮินดูและไทยจะฉลองปีใหม่เริ่มเดือนเมษายน ปฏิทินจีนจะเริ่มปีใหม่ หรือ ‘ตรุษจีน’ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ และ มกราคม ตรุษจีนปี ค.ศ. 2023 / พ.ศ. ๒๕๖๖ ตรงกับวันที่ 22 มกราคม (เลขไทยที่ลองเขียนแทรกให้เห็นนี้ที่จริงก็เป็นเลขที่ลอกเลียนปรับแต่งมาจากต้นฉบับตัวอักษรเทพนาครีในภาษาฮินดี) หากจะร่วมฉลองปีใหม่กับทุกวัฒนธรรมก็จะทำได้ตลอดปี มนุษยชาติทั่วดาวเคราะห์โลกคงจะมีความสุขรื่นเริงได้มิจบสิ้น ตราบที่โลกยังโคจรรอบดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์โคจรรอบโลก และดวงดาวบนท้องฟ้ายังเคลื่อนย้ายไปตามราศีทั้ง 12 ตามที่มนุษย์มองเอกภพจากพื้นโลก เป็นมุมมองแคบๆ เห็นเป็นกรอบขอบฟ้าครอบแผ่นดิน เท่าที่เห็น เอกภพยังมีอาณาบริเวณอีกกว้างไกลที่มนุษย์มองไม่เห็น และไปไม่ถึง โลกของมนุษย์วันนี้จึงยังคงเป็นนิวาศสถานสำหรับมนุษย์ได้อยู่อาศัย รื่นเริงเบิกบานฉลองปีใหม่ตามวัฒนธรรมและจินตนาการได้ต่อไป และต่อๆไป อีกนาน..... ....... จนกว่าโลกจะดับสูญในอีก 5,000,000,000 (ห้าพันล้าน) ปี ข้างหน้า. สวัสดีปีใหม่ 2023/๒๕๖๖ สมเกียรติ อ่อนวิมล (อายุครบ ๗๕ ปี วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๖) |
Vertical Divider
TAN ONWIMON
Master of Music in Screen Scoring: USC Thornton School of Music, LA (2022-2023) Bachelor of Music in Film Scoring: Berklee College of Music, Boston (2014 - 2017) B.A. in Journalism / Film Production: Thammasat University, Bangkok (2008-2012) Walla Walla High School, WA, (American Field Service International Scholarship) (2007) Kasetsart University School, Bangkok (1996-2008) Tan Onwimon, my son, is a musician who grew up in the musical theatre world. He began his career as an ensemble cast in many theatre productions from a small political theatre to a musical including Dreamgirls the Musical (Thailand Cast). From there, he gets to learn music composition by sitting next to the musical conductor during the performance. The experience opened many more opportunities for him to continue expressing his music in a different art of storytelling such as in films, video games, and drag shows. Tan's music has been featured in various media including Hulu Original Series Wu-Tang: An American Saga Season 2-3, THAI Airways Inflight video, Agoda.com's Underwater Minigame, Tipitaka: the Living Message (Documentary), The National Parks of Thailand (Documentary), Be@rbrick (Toy Commercial) and more. Tan lives and works in Los Angeles. ▲ SOMKIAT ONWIMON TODAY ▲ A Visit at Pak Chong Home by Thai TV NBT Channel's "Smile Thailand" Program Broadcast on 1 August 2022 รายงานแปซิฟิค
PACIFIC REPORT รายงานแปซิฟิค ภาพยนตร์สารคดีโทรทัศน์สืบสวนสอบสวนของบริษัทแปซิฟิคอินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น เสนอเรื่องราวละเมิดพระธรรมวินัยของพระยันตระอมโรภิกขุ (วินัย ละอองสุวรรณ) หลายตอนจบ ออกอากาศในปี 2537 ทางช่อง 9 อสมท. สองตอนที่นำเสนอ ณ ที่นี้ ตามสืบหาความจริงในออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, และ ยุโรป โดยสมเกียรติ อ่อนวิมล, ประไพพัตร์ โขมพัสตร์, และ ธวัชชัย กฤติยาภิชาติกุล |
THAIVISION® is a personal website of Somkiat Onwimon of Thailand. All contents, unless otherwise stated, are SO's sole responsibility. Intellectual property rights are strictly observed under the Berne Convention (1886, 1914, 1979), the World Intellectual Property Organization Copyright Treaty (1996), and Thai laws. THAIVISION aims to serve the public in areas of SO's personal interest. Books and literatures are the main sources of enlightenment. World affairs, science, humanities, philosophy and culture are among leading subjects to be explored. Constructive engagement from readers are highly valued. THAIVISION is bi-lingual, ไทย and English. Somkiat Onwimon is the legal owner of THAIVISION and all copyrights therein, excluding other non-copyright and public domain materials. THAIVISION.com is registered with Network Solutions and hosted by Weebly.
©THAIVISION Header/logo background picture: Pak Chong sky 26 April 2019
©THAIVISION Header/logo background picture: Pak Chong sky 26 April 2019