ค่านิยมหลัก 12 ประการ ของ คสช.
ตามผู้เรียนแห่งศตวรรษที่ 21 ไม่ทันแล้ว รัฐบาลทหาร คสช. ยกเอา "ค่านิยมหลัก 12 ประการ" ที่เหล่าทหารผู้ยึดอำนาจบรรจงประดิษฐ์ความ 12 ข้อขึ้นมา แล้วประกาศเหมาเอาเองว่า "เป็นค่านิยมของคนไทย" นั้น ที่จริงเป็นความเห็นของ คสช. ฝ่ายเดียวเท่านั้น ยังไม่ใช่ค่านิยมของคนไทยที่ไหนอย่างแท้จริง ตั้งแต่ผมเกิดมา ก็เพิ่งได้ยินคราวนี้เองว่าค่านิยมของคนไทยมี 12 ประการ ทั้งๆที่ผมก็เป็นคนไทยมา 67 ปีแล้ว! ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าผมมีค่านิยมมากมายถึง 12 ข้อ แถมมาถามผมตอนนี้ผมก็ตอบไม่ถูก เพราะไม่รู้มาก่อนจริงๆ! ที่ผมเอามาลงให้อ่านกันต่อไปนี้ ผมก็ไปลอกมาจากหน้าเว็บไซต์ของทางราชการเท่านั้นเอง ผมจะไม่ท่องจำและจะไม่เป็นธุระทำตัวตามค่านิยมที่ว่าข้างล่างนี้ เพราะผมจำไม่ไหว ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ตามนโยบายของ คสช. มีดังนี้ : 1. มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 2. ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม 3. กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ 4. ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรง และทางอ้อม 5. รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม 6. มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังดีต่อผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปัน 7. เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง 8. มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่ 9. มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 10. รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น มีไว้พอกินพอใช้ ถ้าเหลือก็แจกจ่ายจำหน่าย และพร้อมที่จะขยายกิจการเมื่อ มีความพร้อม เมื่อมีภูมิคุ้มกันที่ดี 11. มีความเข้มแข็งทั้งร่างกาย และจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ หรือกิเลส มีความละอายเกรงกลัวต่อบาป ตามหลักของศาสนา 12. คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม และของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง ค่านิยม 12 ประการ ที่ว่านี้ อ่านดูแล้วก็เหมือน บัญญัติ 12 ประการที่รัฐบาลต้องการให้คนไทยและเด็กๆปฏิบัติตาม เป็นดั่งคำสั่งให้ทำตาม จึงเป็นหน้าที่ของคนที่อยากทำตามต้องท่องจำให้ขึ้นใจจนได้ครบ 12 ข้อก่อน แล้วถ้าคิดว่าอยากจะทำก็ลองทำไป มาวันเด็กปี 2558 นี้ คสช. โดยนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ก็ประกาศให้เด็กๆยึดเอาค่านิยม 12 ประการของท่าน ที่ท่านบอกว่าเป็นของคนไทย-แต่ผมก็ไม่รู้มาก่อน-ให้เป็นค่านิยมของเด็กด้วย เด็กไทยจึงต้องเจอปัญหาหนักเพราะเป็นเสมือนว่าคำขวัญวันเด็กที่เคยบ่นกันว่ายาวมาก ทุกๆปี แต่พอมาปีนี้นอกเหนือจากคำขวัญวันเด็กประจำปีที่ยาวตามปรกติแล้ว ยังได้แถมมาอีก 12 ข้อ เด็กคนไหนท่องจำได้หรือไม่แค่ไหนก็แล้วแต่ชตากรรมของเด็กเอง การประดิษฐ์คำขวัญวันเด็กประจำปี และการสั่งให้เด็กทำตามค่านิยมของรัฐบาลนั้น ถือเป็นเรื่องเชย ล้าสมัย และเป็นเผด็จการทางความคิด ขัดแย้งกับค่านิยมข้อ 7 อย่างชัดเจน และที่สำคัญเด็กและเยาวชนในโลกศตวรรษที่ 21 นั้นไปไกลกว่าการรับคำสั่งจากผู้ใหญ่มากแล้ว เด็กในศตวรรษที่ 21 หรือที่เรียกกันในแวดวงการศึกษาว่า "ผู้เรียนแห่งศตวรรษที่ 21" มีความเป็นตัวของตัวเองสูงกว่าคนศตวรรษที่ผ่านมา(เป็นรัฐบาลในวันนี้) ผู้เรียนแห่งศตวรรษที่ 21 เรียนรู้เร็ว เข้าถึงและเข้าใจเทคโนโลยีทางการศึกษาและข้อมูลข่าวสารมากกว่าผู้ใหญ่ วิถีการดำเนินชีวิตของเด็กแตกต่าง หรือไม่ก็ต้องการให้แตกต่างไปจากของผู้ใหญ่ ผู้ที่สร้างคำขวัญและออกบัญญัติ 12 ประการมากัน จนผู้ใหญ่ต้องรู้ตัวว่าจำต้องวิ่งไล่ตามเด็กให้ทัน จะได้สร้างโอกาสให้เด็กบรรลุศักยภาพของตนเองได้ถูกต้อง การออกคำสั่งให้เด็กท่องจำ เชื่อฟัง แล้วให้ปฏิบัติตาม ด้วยความเกรงกลัว และในฐานะเป็นผู้น้อยด้อยอาวุโสกว่าก็จำต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่นั้น นับว่าเป็นความคิดล้าหลังของผู้ใหญ่มาก และความคิดดังว่านี้รังแต่จะเป็นอุปสรรคขัดขวางการเติบโตทางภูมิปัญญาของเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 อย่างน่าเป็นห่วง ตามปฏิทินตะวันตก โลกเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 21 มาได้ 14 ปีแล้ว วิถีชีวิต วัฒนธรรม ความรู้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิวัฒนาการไปมากจนเกิดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ใหม่มากจนคนรุ่นเก่าปรับตัวตามคนรุ่นใหม่ไม่ทัน คนรุ่นใหม่เกิดมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว กำลังเกิดอยู่ และ จะเกิดต่อๆไป คนรุ่นใหม่จึงสามารถรับรู้และเรียนรู้สังคมรอบตัวได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ส่วนคนรุ่นเก่านั้นแม้จะเกิดมาพร้อมกับความรู้เก่าและเทคโนโลยีเก่าประกอบกับการได้เห็นโลกที่เปลี่ยนไปต่อหน้า แต่ก็ปรับตัวไม่ทัน หรือไม่ก็ไม่ต้องการจะปรับ มักจะยึดติดและพึงพอใจกับความรู้เก่าและวิถีชีวิตเก่าแต่เดิมมาด้วยความรู้สึกสะดวกและพอใจ ปรากฏการณ์นี้เป็นที่มาของความล้าหลังของสังคมที่คนรุ่นเก่ากำกับดูแลวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่อย่างไม่ยอมต่อรอง เป็นปัญหาใหญ่ที่ฝังรากลึกอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนในระบบการศึกษาที่ผู้บริหารจัดการเรื่องการศึกษาไม่ยอมปรับไม่ยอมแก้ ยังผลให้การศึกษาของคนรุ่นใหม่ถูกบังคับโดยระบบให้ยังคงล้างหลังอยู่ตามวิถีชีวิตของคนรุ่นเก่าต่อไป สถานะการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ เพราะรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการไม่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษา หรือจะเรียกตามนิยามศัพท์ร่วมสมัยก็ได้ ว่าไม่ “ปฏิรูป” การศึกษาให้เป็นเป็นตามคุณลักษณะของโลกแห่งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ แห่งศตวรรษใหม่ คือ ศตวรรษที่ 21 ในวงการปฏิรูปการศึกษาของโลกตะวันตก ซึ่งมีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกตลอดเวลา และทันเวลา จึงมีความเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เรียกว่า: “ขบวนการปฏิรูปการศึกษาเพื่อผู้เรียนแห่งศตวรรษที่ 21” ปัจจุบันนี้ความรู้เรื่อง “คุณสมบัติผู้เรียนแห่งศตวรรษที่ 21” นี้ เป็นที่รับรู้และเข้าใจความหมายกันทั่วไป แม้แต่กระทรวงศึกษาธิการไทย โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ทราบดี และกำลังถกเถียงกันอยู่ว่าจะทำอะไรอย่างไรกันดี เรื่องนี้ยังมิได้ริเริ่มทำเชิงนโยบาย หากแต่ใช้เป็นเรื่องพูดคุยถกเถียงกันอย่างผิวเผิน ไม่มีนโยบายจากรัฐบาล ไม่มีการผลักดันจากรัฐบาลอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะรัฐบาลพลเรือนในอดีต หรือรัฐบาลทหารในปัจจุบัน ความรู้เบื้องต้นต่อไปนี้ นำมาจากกลุ่มการศึกษา Pearson ในสหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้นำการผลิตตำราเรียนสำหรับนักเรียนนักศึกษาในสหรัฐอเมริกา: ถาม: การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 คืออะไร? ตอบ: การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 คือการทำให้เด็กนักเรียนมีขีดความสามารถทางวิชาความรู้พร้อมที่จะแข่งขันได้ในสถานการณ์ระดับโลก; เป็นการทำให้เกิดพลเมืองดีอยู่ร่วมกันในชุมชน, ในประเทศ, และในโลก; ให้พลเมืองทุกคนเป็นคนมีประสิทธิภาพ ทำงานได้ผลดีในสถานที่ทำงาน. หมายความว่าการศึกษาจะต้องนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้, ทำให้นักเรียนมีความพร้อมสรรพในการเรียนรู้ทางวิชาการในหลักสูตรใหม่ต่างๆ, สร้างสมสภาวะแวดล้อมที่เอื้อให้นักเรียนสร้างนวัตกรรมและริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ถาม: ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มีอะไรบ้าง? ตอบ: ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 คือความสามารถพิเศษที่เด็กๆจำต้องพัฒนาเพื่อให้มีความพร้อมต่อการท้าทายในการทำงานและการดำเนินชีวิตอนาคตในศตวรรษที่ 21 ดังที่ได้อธิบายไว้แล้วโดยคณะที่เรียกชื่อกลุ่มว่า “Partnership for 21st Century Skills Framework” [กลุ่มพันธมิตรแห่งกรอบโครงสร้างทักษะศตวรรษที่ 21] ทักษะที่ว่านี้จัดเข้าเป็นสามกลุ่มหลัก: (1) ทักษะการเรียนรู้และนวตกรรม, ซึ่งรวมถึงความริเริ่มสร้างสรรค์, การคิดแบบวิเคราะห์, การสื่อสาร. การทำงานร่วมกัน; (2) ทักษะด้านข้อมูลข่าวสารสารสนเทศ, สื่อ, และเทคโนโลยี, ซึ่งเกี่ยวด้วยกับการใช้-การจัดการ-การประเมินข้อมูลข่าวสารจากระบบเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital); และ (3) ทักษะชีวิตและอาชีพการงาน, ซึ่งรวมถึงการรู้จักยืดหยุ่นและปรับตัว, การกำหนดทิศทางของตนเอง, การทำงานกลุ่ม หรือทำงานเป็นทีม, เข้าซึ้งถึงเรื่องความแตกต่างหลากหลาย, ความรู้รับผิดชอบ, และ การเป็นผู้นำ. ขณะที่การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ยังยังคงมุ่งเน้นเรื่องความรู้ในวิชาแกนหลักทั้งหลายที่เห็นว่าสำคัญจำเป็น แต่ก็ต้องให้มีการผสมผสานบูรณาการทักษะทั้งสามหมวดนี้เข้าไปในวิชาต่างๆที่เรียน ถาม: ทำไม่เด็กนักเรียนจำต้องมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21? ตอบ: เด็กทุกคนในอเมริกา [ซึ่งควรหมายรวมถึงเด็กไทยและเด็กทั้งโลกด้วย] จำต้องมีความรู้และทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อที่จะได้ประสพความสำเร็จเป็นพลเมือง เป็นคนทำงาน และเป็นผู้นำที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพในศตวรรษที่ 21 ทุกวันนี้มีช่องว่างกว้างมากระหว่างความรู้และทักษะที่นักเรียนได้เรียนในโรงเรียน กับ ความรู้และทักษะที่นักเรียนจำเป็นต้องมีในชุมชนและที่ทำงานนอกโรงเรียนในศตวรรษที่ 21 อันเป็นชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงที่เด็กจะต้องเผชิญ เพื่อความสำเร็จในการเผชิญหน้ากับหลักสูตรการเรียนที่เข้มข้นสูงขึ้น, การท้าทายในอาชีพการงานที่สูงขึ้น, และการทำงานที่ต้องแข่งขันในระดับโลกมากยิ่งขึ้น โรงเรียนจักต้องต้องทำงานอย่างประสานสอดคล้อง โดยนำเอาบรรยาการในชั้นเรียนกับสภาพแวดล้อมในโลกแห่งความเป็นจริงแห่งศตวรรษที่ 21 นอกโรงเรียนมาผสานรวมเข้าไว้ด้วยกันในการเรียนการสอนในโรงเรียน เมื่อเข้าใจเด็กแห่งศตวรรษที่ 21 ดีแล้ว ก็สมควรที่จะได้ปฏิรูปการศึกษาของเด็กไทยอย่างฉับพลันทันที เริ่มที่ปฏิรูปความคิดของรัฐบาลและเหล่าผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเข้ามาวางกรอบการปฏิรูปการเมืองไทยเป็นสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งด้วย จากนั้นก็ปฏิรูปความคิดของนักการศึกษาที่อยู่ในกระทรวงศึกษาธิการให้เร่งคิดให้ทันศตวรรษที่ 21 และให้ทันผู้เรียนแห่ง 21 ด้วย หากยังคิดอะไรไม่ออก ทำอะไรไม่ทัน ก็ให้เอาค่านิยม 12 ประการที่ผมว่าล้าสมัยนั้น เอาไปคิดและเขียนใหม่ ให้สอดคล้องกับศตวรรษใหม่นี้ก่อนได้ แต่อย่าใช้เวลานาน เพราะเด็กไทยทุกวันนี้ แพ้เด็กส่วนใหญ่ในโลกอยู่แล้ว สมเกียรติ อ่อนวิมล 10 มกราคม 2558 อ้างอิง: http://www.pearsonschool.com/index.cfm?locator=PSZjZa http://www.pearsonschool.com/index.cfm?locator=PSZjZc
5 Comments
วันเพ็ญ เฮลเลอร์
10/1/2015 12:53:57
จะไม่เรียกค่านิยม หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ แต่ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องล้าหลัง น่าเสียดายนะคะถ้าสิ่งเหล่านี้กำลังขาดหายไปจากสังคม 12ข้อนี้ถือว่าเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกที่กำลังเลือนหายก็น่าจะได้นะคะ เสริมหรือสร้างแผนพัฒนาการศึกษาขึ้นมาอีกเพื่อการศึกษาที่ก้าวทันยุคสมัย ช่วยกันระดมสมองค่ะ และหวังว่ารัฐบาลจะฟังเสียงประชาชนด้วย :-)
Reply
สุภาพร โพธิ์แก้ว
10/1/2015 12:57:40
เราต้องการ การปฏิรูปที่เห็นพลังก้าวหน้าที่เข้าใจทั้วอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ที่สำคัญต้องให้เปิดกว้างมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ขอบคุณอาจารย์มาก สำหรับข้อเขียนที่เปิดประเด็นได้อย่างน่าคิดและมีวิสัยทัศน์ยิ่ง
Reply
วันเพ็ญ เฮลเลอร์
10/1/2015 15:49:09
บางอย่างก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามบริบทเหมือนกันค่ะ ไม่กลายเป็นพวกติดดี คลั่งชาติ
Reply
11/1/2015 09:53:28
ค่านิยม 12 ประการควรเป็นหลักการที่นักการศึกษายึด แต่ไม่ค่านิยมทีบอกให้เด้กปฏิบัติตรงๆ เพราะเด้กสมัยนี้ถูกหล่อหลอมด้วยกระแสโลกาภิวัฒน์ให้มีพื้ฯฐานเสรีและห่างหายกรอบแห่งขนบวัมนธรรมของชาติ ที่จริงเป้นโจทย์ที่กระทรวงวัฒนธรรมต้องทำการบ้านอย่างหนัก และร่วมมือกับนักการศึกษา
Reply
Q: The military government, known as the National Council for Peace and Order (NCPO), introduced the "12 Core Values" as a set of principles during their rule. They claimed that these values represent the true values of the Thai people. However, isn't it true that these values are only the opinion of the NCPO and do not necessarily reflect the genuine values of all Thai people? I've been living in Thailand for 67 years and just recently heard about these 12 Core Values. Can you provide some insights on this matter?
Reply
Leave a Reply. |
AUTHOR
สมเกียรติ อ่อนวิมล Somkiat Onwimon (1948 - 20xx) lives in Thailand, studied political science and international relations from The University of Delhi (B.A. & M.A.) and The University of Pennsylvania (Ph.D.). He lectured at Chulalongkorn University, and later became a television news 'n documentary reporter-producer-anchorman. He was elected a member of Thailand's 1997 Constitution Drafting Assembly, elected a senator in 2000, and appointed member of the National Legislative Assembly in 2007. Now at his Pak Chong home, he lives a quiet country life of reading, writing, and thinking. Archives
June 2018
Categories
All
|