ลูกชาวนา เลิกทำนา
ในวัยเด็กที่บ้านผมมีที่ดินประมาณ 10 ไร่ ใช้ทำนา 7 ไร่ ที่เหลือ 3 ไร่เป็นที่อยู่อาศัย ปลูกบ้านและพืชผักสวนครัว ทำแปลงปลูกผักตามฤดูกาล ขุดสระน้ำและคูส่งน้ำเข้านา เลี้ยงปลา และเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ในบ้าน โชคดีที่บ้านอยู่ห่างจากคลองชลประทานเพียง 400 เมตร จึงไม่ลำบากที่จะเดินไปหาบน้ำจากคลองมาใส่โอ่งแล้วกวนสารส้มเก็บน้ำสะอาดไว้กินไว้ใช้อย่างสะดวกอีกส่วนหนึ่ง รวมกับน้ำฝนที่เก็บใส่โอ่งดินอีกสองสามโอ่ง เท่านี้ชีวิตก็พออยู่ได้ แต่ก็พบว่าทำนาเพียง 7 ไร่ เลี้ยงลูก 10 คนจะไม่ไปได้ถึงไหนนักหนา พี่ๆที่โตแล้วไม่มีใครมีโอกาสเรียนหนังสือกันเกินมัธยมต้น พี่สาวแต่งงานแยกครอบครัวไปอยู่ต่างจังหวัดกันสองคน พี่ชายเร่ร่อนไปหากินที่โคราชเป็นนักพากย์หนังสายอีสานอีกสองคน อีกคนไปเป็นช่างฟิตอยู่เมืองชลฯ ส่วนตัวผมเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น ช่วงเรียน ม.1 (เทียบเท่า ป.5 ปัจจุบัน) เป็นต้นไป ผมเป็นแรงงานหลักคนหนึ่งในบ้าน ขุดดิน-ถากหญ้า-ทำนา-ไถคราด-ดำนา-เกี่ยวข้าว-ฟาดข้าว-โบกข้าว-ยาขี้ควายทำลานตากข้าว-โกยข้าว-หาบข้าว สารพัดงานทำนาที่เด็กพอช่วยผู้ใหญ่ทำได้ และที่ผมชอบมากที่สุดคืองานเผาซังข้าวในนาที่เกี่ยวข้าวแล้ว เป็นเรื่องสนุกสนานมากโดยไม่รู้ว่าการเผาซังข้าวในนาเป็นผลเสียทำลายฮิวมัสในดิน บ้านเดิมที่รื้อไปแล้ว ขายที่ดินส่วนหนึ่งไป การทำนานั้นแม้จะเหนื่อยแต่ก็สนุกคึกคักที่ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงจะมาช่วยกัน “ลงแขก” ทำนากันตั้งแต่ต้นจนจบฤดูทำนา แต่รายได้จากการทำนาก็ไม่พอที่จะเลี้ยงครอบครัว พ่อเป็นคนกำกับดูแลงานทำนาทั้งหมด เมื่อเห็นการทำนาข้าวทำท่าจะไม่ค่อยดี บางปีก็เปลี่ยนไปทำนาแห้ว แล้วก็หวนกลับมาทำนาข้าวอีกสลับกันไป แต่ก็ไม่ได้ผลอะไรดีกว่าเดิม พ่อจึงเสริมอาชีพด้วยการปลูกพืชผักผลไม้อย่างอื่นเท่าที่จะลองทำดูได้ ส่วนแม่ก็ทำขนมหาบเร่ขายในตลาด หาเช้ากินค่ำ ทำขนมถ้วย ไข่เหี้ย ขนมห่อต่างๆ เช่นขนมตาล ขนมกล้วย ขนมใส่ไส้ บางครั้งก็ทำกล้วยแขก-กล้วยทอด-ข้าวเม่าทอด บ้าบิ่น ข้าวเหนียวกลอย ข้าวเหนียวหน้ากุ้ง-สังขยา-ปลาแห้ง ข้าวหลาม ขนมจีน สารพันขนม แม่สลับทำขนมขายตามแต่ว่าอะไรจะขายดีขายไม่ดี ตามอารมณ์ของคนกินขนมที่ตลาดสามชุก สุพรรณบุรี ผมเองก็เป็นแรงงานประเภทไร้ทักษะ ทำหน้าที่โม่แป้ง ปอกมะพร้าว ขูดมะพร้าว คั้นกะทิ และหาบขนมไปนั่งขายในตลาดจนได้เวลาไปโรงเรียน ในช่วงปีหลัง พ.ศ.2500 รายรับเป็นเงินสดจากการขายขนมวันละ 50-60 บาท ก็พอมีกำไรช่วยค่ากับข้าวในบ้านได้ ส่วนรายได้จากการทำนาก็พอมีเหลือไว้ซื้อพันธุ์ข้าวปลูก ซื้อยาฆ่าเพลี้ยฆ่าแมลง และพอเหลือเป็นค่าทดลองวิทยาการใหม่ๆ พ่อทดลองปลูกพืชพันธุ์ใหม่ๆที่พ่อได้ยินข่าวน่าสนใจจากกรุงเทพและจาก”นิตยสารกสิกร” ที่พ่อยังคงรับอ่านเป็นประจำ พุทราจีน ทุเรียน ลำใย และแอ๊ปเปิ้ลของพวกฝรั่ง ฝรั่งพันธุ์ลูกใหญ่ พ่อก็ลองปลูกโดยผมเป็นมือผสมและฉีดยาฆ่าแมลง แต่ก็ล้มเหลว พี่สาวผมก็เสริมรายได้ด้วยการเข็นรถขายถ่าน หลังจากที่เคยทำท่าถ่านริมน้ำทั้งที่สามชุกและศรีประจันต์มาพักใหญ่ ดังนั้นโดยภาพรวมที่บ้านผมก็พออยู่กันไปได้ พี่สาวพอมีเงินเหลือซื้อนิตยสารสกุลไทย และเดลิเมล์วันจันทร์อ่านได้ไม่ขาดตอน แต่โอกาสที่ผมหรือพี่ๆและน้องๆจะได้มีโอกาสเรียนหนังสือสูงๆดูริบหรี่เต็มทน ในวัยเด็กผมเห็นชัดแล้วว่าอาชีพทำนาอย่างเดียวบนที่นา 7 ไร่จะไปไม่ถึงไหนแน่ โดยเฉพาะตัวผม ถ้าผมอยากจะไปถึงไหนๆกับเขาบ้าง ครอบครัวผมไม่ได้ยากจนข้นแค้นอะไร พอมีพอกินมีข้าวและพืชผักผลไม้ขนมกินอุดมสมบูรณ์ หากจะกินข้าวจากนาของตัวเองก็ตำเก็บไว้กินได้ แต่ส่วนใหญ่ซื้อขาวสารจากตลาดสะดวกกว่า อาหารจำเป็นที่ต้องซื้อกินก็คือเนื้อหมูเนื้อวัวและไก่ ส่วนปลานั้นผมหาเอาจากลำคลองและในนาได้เสมอ แต่ชีวิตแบบนี้ก็มองไม่เห็นว่าจะมีอนาคตอะไรนักสำหรับลูกๆรวมทั้งตัวผมด้วย ผมจึงคิดว่าจะต้องเรียนหนังสือให้มากๆ เรียนให้เก่งๆ จะได้เข้ากรุงเทพฯไปเรียนต่อให้สูงขึ้น เมื่อรู้ดีแล้วว่าทำนาไม่ได้ผล ในที่สุดเราก็เลิกทำนา พี่ๆที่แยกครอบครัวไปและที่ย้ายไปหากินต่างจังหวัดก็ช่วยกันส่งน้องๆที่เหลือให้เรียนหนังสือ ผมจึงเป็นลูกคนแรกที่เข้ากรุงเทพฯไปเรียนต่อที่วิทยาลัยครูจันทรเกษม จนจบได้ประกาศนีบัตรวิชาการศึกษาตอนต้น ที่เรียกว่า ป.กศ.(ต้น) (เทียบเท่า ม.6) ผมสามารถเรียนได้จนจบด้วยการส่งเสียของพี่ชายและพี่สาวสุดแต่ว่าใครจะพอมีเงินช่วยผม - ตามฤดูกาลเช่นกัน - พ่อเองก็หันหน้าเข้าช่วยงานวัด และปั้นพระพุทธรูป ทำพระเครื่องดินเผาพิมพ์ “ผงสุพรรณบ้านสามชุก” บริจาคตามวัดที่ห่างไกลความเจริญ ผมก็เป็นลูกมือพ่อ ช่วยตำดินให้พ่อปั้นพระด้วยอีกแรงหนึ่ง เมื่อพ่อตายเราก็เลิกทำนาเด็ดขาด และหลังแม่ตายที่ดิน 10 ไร่ที่มีอยู่ก็แบ่งขายเอาเงินใช้หนี้ แล้วกันไว้ให้พี่สาวและน้องที่ไม่แต่งงานได้ปลูกบ้านอยู่ต่อมาจนทุกวันนี้ ที่เหลือแบ่งกันในหมู่ลูกๆทั้งหมด 10 คน บางคนก็ขายต่อให้คนอื่น ตัวผมได้มา 100 ตารางวาเศษ และซื้อจากพี่อีกแปลง ทำให้ผมนึกถึงพ่อแม่สมัยทำนาได้ทุกครั้งที่ผมนึกถึงที่ครึ่งไร่ที่พ่อแม่ทิ้งไว้ให้เป็นเครื่องเตือนใจว่า: “ทำนาอย่างเดียว” ไม่รอดแน่ บ้านผมเลิกทำนานานมากแล้ว ผมกับน้องอีกสองคนได้เรียนหนังสือจนจบ ได้ปริญญาตรีและปริญญาโทกัน น้องชายผมจบวิทยาลัยพลศึกษา เป็นอาจารย์สอนโรงเรียนเทพศิรินทร์ เป็นผู้ฝึกสอนทีมฟุตบอลเทพศิรินทร์อยู่ช่วงหนึ่ง และเป็นผู้ตัดสินฟุตบอลมาตรฐานฟีฟ่า แล้วออกมาเป็นผู้พากย์กีฬาทางโทรทัศน์ โดยหลัก เป็นผู้พากย์มวยให้กับค่ายเฮียทรงชัย รัตนสุบรรณ ในยุคแรกๆ และต่อมาทั้งน้องชายและหลานชายก็ทำงานเป็นผู้พากย์กีฬาในค่าย Siam Sport น้องสาวคนสุดท้องจบวิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยาเป็นครูสอนในโรงเรียนที่ผมเคยเรียนจนเพิ่งจะเกษียณอายุราชการปี 2557 นี้เอง ส่วนตัวผมก็มุ่งมั่นขยันเรียนหนังสือเพื่อหนีการทำนา และหนีงานขูดมะพร้าว-คั้นกะทิ-หาบขนมขาย จนผมเรียนเก่งพอสอบชิงทุนได้ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอเมริกันฟิลด์เซอร์วิส (American Field Service - AFS) ได้ไปเรียนชั้นมัธยมปลายหนึ่งปีที่สหรัฐอเมริกา แล้วกลับมาสอบเอ็นทร๊านซ์เข้าเรียนได้ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่จำใจลาออกไปเพราะได้ทุนจากรัฐบาลอินเดีย ไปเรียนจบปริญญาตรีและโท สาขารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเดลฮี จากนั้นก็ได้ทุนจากสถาบัน Harvard - Yenching Institute, Harvard University ไปเรียนจนได้ปริญญาเอกที่ University of Pennsylvania ผมสอนหนังสือที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ 14 ปี แล้วลาออกมาเป็นนักข่าวและผู้ผลิตรายการข่าวและสารคดีโทรทัศน์ และทำรายการวิทยุคู่ขนานกันไปเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ผมออกจากงานสื่อสารมวลชนไปสมัครและได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจากจังหวัดสุพรรณบุรี ช่วยร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 อยู่ 8 เดือน ต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากสุพรรณบุรีอีก 6 ปีเศษ แล้วได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกปีหนึ่ง จากนั้นก็เร่ร่อนรับจ้างทำงานตามสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆรวม 8 ช่อง ล่าสุด ปีเศษที่ผ่านมาผมปฏิเสธคำชักชวนให้ร่วมงานกับสถานีโทรทัศน์ระบบดิจิตอลที่เปิดใหม่อีก 3 ช่อง และปฏิเสธคำขอจากองค์กรทางวัฒนธรรมแห่งหนึ่งที่ขอเสนอชื่อผมเข้าแข่งขันคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในวัย 69 ปี ผมนั่งดูความล้มเหลวของอาชีพทำนามาอย่างเกาะติดอดีตตัวเอง อาชีพสื่อสารมวลชนทำให้ผมพอมีรายได้กลับไปซื้อที่นาที่สามชุกบ้านเกิดได้ 10 ไร่ และให้ชาวนาตัวจริงเช่าทำนาและอยู่อาศัยจนผมมีรายได้ปีละ 3,000-4,000 บาท ที่อำเภอเดิมบางนางบวช ผมซื้อดินริมน้ำไว้ 7 ไร่ ปล่อยทิ้งให้ต้นไม้ขึ้นจนรกแน่นไม่ได้ทำประโยชน์ทางเศรษฐกิจอะไร มีมะม่วง มะปราง มะไฟ ละมุด กล้วย มะพร้าว กระท้อน ประดู่ ตะแบก ตะโก สะเดา ไผ่ ฯลฯ ขึ้นแน่นไปหมด แถมไปซื้อที่นาไว้อีก 10 ไร่ แล้วขุดบ่อน้ำกว้างไร่เศษ เอาดินมาถมนาปลูกป่าทิ้งไว้ให้นกและปลามาอยู่อาศัย และปล่อยให้ชาวบ้านมาหาปลากินกันตามสะดวก แถมชาวนาที่มีที่นาติดกันกับบ่อน้ำของผมแอบสูบน้ำจากบ่อน้ำของผมไปใช้ในนาตัวเองอีกต่างหาก ผมกะว่าเมื่อถึงวัยอันควรผมจะไปอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียงและใช้ทฤษฎีใหม่ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอนไว้ แต่จะไม่ทำการเกษตรใดๆ จะอ่านหนังสือเขียนหนังสือ และแปลหนังสือ อยู่ในบ้านหลังเล็กๆแต่มีห้องสมุดกว้างๆ ที่ดินกว้างๆ ให้วิ่งออกกำลังได้สบายๆ และมีต้นไม้ขึ้นรกๆเต็มพื้นที่ ถ้าผมต้องการเงินพัน ผมก็เขียนบทความ ต้องงานเงินหมื่น ก็เขียนหนังสือแปลหนังสือ ต้องการเงินแสนเงินล้าน ก็ขายที่นา! ถ้าไม่ต้องการเงินผมก็จะอยู่เฉยๆ ไม่ทำงานหาเงินให้เสียเวลาชีวิต แต่ตอนนี้ผมไม่มีความต้องการเงินมากกว่าเดือนละสอง-สามหมื่น … ซึ่งก็ยังพอหาได้ ที่ไม่ได้ทำก็คือ ไม่ได้กลับไปใช้ชีวิตที่สุพรรณบุรี ทั้งๆที่มีที่ดินอยู่ถึง 4 แห่ง รวมเกือบ 30 ไร่ แต่ไปปลูกบ้านและทำห้องสมุดส่วนตัวบนที่ 200 ตารางวา ที่ภูพิมานรีสอร์ท ปากช่อง นครราชสีมา และคิดว่าจะอยู่ปากช่องไปจนวันสุดท้ายของชีวิต เพราะยิ่งไปอยู่ยิ่งชอบความสงบและธรรมชาติตลอดจนลมฟ้าอากาศที่นั่น ถึงเวลากันไม่สมควรเมื่อไร ก็อาจจะเผาศพตัวเองที่ปากช่อง นครราชสีมา, หรือไม่ก็ที่สามชุก สุพรรณบุรี, หรือไม่ก็ที่ปากเกร็ด เพราะบ้านที่เมืองทองธานีก็ยังอยู่ สุดแต่ว่าตอนสิ้นลมหายใจผมจะอยู่ใกล้ที่ไหน ที่ดินที่สุพรรณฯก็ทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร รอวันที่อาจจะขาย ขึ้นอยู่กับความขัดสนเงินใช้จะมาเยือนปีไหนข้างหน้า หากผมอายุยืนเกินไป ไม่มีรายได้อะไร ก็ขายที่ดินเอามาเลี้ยงชีวิตไปวันๆได้ ปัจจุบันผมอายุ 69 ปี ไม่ทำงานการอะไรเป็นอาชีพ จัดเป็นผู้สูงอายุที่พออยู่พอกินด้วยรายได้จากการบรรยายบ้าง เขียนบทความบ้าง ได้ค่าจ้างผลิตงานภาพยนตร์สารคดีบ้าง เงินสวัสดิการจากงานเก่าบ้าง ให้ความเห็นทางรายการวิทยุและโทรทัศน์บ้าง แถมยังได้เงินค่าครองชีพผู้สูงอายุจากภาษีอากรของประชาชนเดือนละ 600 บาท - ซึ่งเป็นรายได้อย่างเดียวที่แน่นอนว่าจะได้ทุกเดือน และจะได้เพิ่มเป็น 700 บาททุกเดือน ไปจนตายในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า - ผมไม่ห่วงเรื่องรักษาพยาบาล เพราะผมได้รับรางวัลเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมสัญญาว่าจะรักษาพยาบาลผมไปจนตาย เมื่อตายผมก็จะได้ค่าทำศพและพิมพ์หนังสือแจกงานศพอีก 100,000 บาท จึงเรียกได้ว่าผมเกษียณอายุโดยสมัครใจ และรอวันตายโดยไม่ห่วงตัวเองอะไรนัก ผมใช้ชีวิตอย่างสงบเงียบอยู่กับหนังสือ 6,000 เล่มในห้องสมุดส่วนตัวที่บ้านพักภูพิมานรีสอร์ท บนเนื้อที่ 200 ตารางวา อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ส่วนที่ดินที่สุพรรณบุรีที่ผมมีรวมแล้ว 27 ไร่ ผมคงไม่ได้กลับไปใช้ประโยชน์อะไรอีกแล้ว ยกให้ลูกชายคนเดียวทั้งหมด ซึ่งก็เชื่อว่าลูกชายผมคงไม่กลับไปทำนาหรือทำประโยชน์ทางการเกษตรอื่นใด เพราะลูกชายเรียนจบมาทางด้านสื่อสารมวลชนสาขาวิชาภาพยนตร์ จากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลูกชายคนเดียวของผมปัจจุบันนี้เรียนวิชาดนตรีประกอบภาพยนตร์อยู่ที่ Berklee College of Music, Boston, USA. ลูกชายไม่ทำนาแน่นอน แต่อาจใช้บรรยากาศที่นาสร้างแรงดลใจแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ได้ ครอบครัวพ่อแม่ผมได้ประสบการณ์ชีวิตอย่างหนึ่งคือ: เมื่อรู้ตัวว่าทำนาอย่างเดียวไปไม่รอดก็ต้องทำอาชีพเสริม ส่วนลูกๆก็รู้ว่าการศึกษาเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยให้ชีวิตปรับเปลี่ยนได้ จะดีขึ้นหรือไม่ดีขึ้น ก็ต้องลองดู เพราะการทำนานั้นไม่พอเลี้ยงชีพได้ บ้านอื่นที่เขาทำนาเก่งก็ทำต่อไป ที่ร่ำรวยก็พอมี ที่พออยู่ได้อย่างพอเพียงก็พอมี โดยไม่เคยมีการโอบอุ้มช่วยเหลือจากรัฐบาล และชาวนาก็ไม่เคยเรียกร้องให้ใครช่วย ชาวนาต้องคิดเอาเองว่าเราจะทำนาไหวหรือไม่? จะทำนาไปทำไมถ้ามันไม่ไหว? แล้วจะจัดการปัญหาที่ว่าอย่างไรด้วยตัวเอง? อาชีพทำนาในโลกทุกวันนี้ยังเป็นอาชีพที่สำคัญมากอยู่เช่นเดิม แต่คนทำนาจำต้องปรับตัวให้เป็นมืออาชีพ เท่าๆกับเป็นวิถีชีวิต เรียนรู้ให้ทันวิทยาการแห่งโลกาภิวัตน์สมัย ทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการทำนา ชีววิทยาและพืชศาสตร์ในการบำรุงปรับปรุงพันธุ์ เศรษฐศาสตร์ในการบริหารจัดการ และการตลาด นิเทศศาสตร์ในกระบวนการรับข่าวสารข้อมูลการเกษตรและการตลาดในเวทีโลก ติดตามข่าวสารการเกษตรจากทุกมุมโลก และโดยเฉพาะในอาเซียน ชาวนาต้องทราบข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐาน GAP และ GMP “GAP” และ “GMP” คืออะไร? สำคัญอย่างไร? ผมจะไม่บอก เป็นเรื่องที่ชาวนาจะต้องค้นหาเรียนรู้เอาเอง เงินสดกี่พันบาทก็ช่วยชาวนาไม่ได้ ถ้าชาวนาไม่รู้จัก GAP และ GMP ผมเป็นลูกชาวนาที่ล้มเลวในการทำนา จึงเลิกทำนา และหาทางอื่นให้ชีวิต ชีวิตก็พออยู่ได้ สมเกียรติ อ่อนวิมล เขียนครั้งแรกเมื่อ 5 ตุลาคม 2557 ปรับปรุงแก้ไข 12 มีนาคม 2560
1 Comment
|
AUTHOR
สมเกียรติ อ่อนวิมล Somkiat Onwimon (1948 - 20xx) lives in Thailand, studied political science and international relations from The University of Delhi (B.A. & M.A.) and The University of Pennsylvania (Ph.D.). He lectured at Chulalongkorn University, and later became a television news 'n documentary reporter-producer-anchorman. He was elected a member of Thailand's 1997 Constitution Drafting Assembly, elected a senator in 2000, and appointed member of the National Legislative Assembly in 2007. Now at his Pak Chong home, he lives a quiet country life of reading, writing, and thinking. Archives
June 2018
Categories
All
|