[บทความเก่านี้ เขียนเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2556 ยังไม่ได้ปรับให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน แต่ก็พบว่าเรื่องเดิม คงเดิม ปัญหาเดิม แม้ตัวแสดงหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนไป แต่วิธี(ไม่)คิดยังคงเดิม ไม่มีอะไรใหม่สำหรับวงการการศึกษาไทย รัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนคนไป การบริหารจัดการเป็นแบบอำนาจทหาร ไม่ฟังใครนอกจากคนที่ได้รับความไว้วางใจ ไม่ฟังเสียงและความเห็นค้าน โดยเฉพาะที่ค้านอย่างแรงแบบกลับทิศทาง งานของกระทรวงศึกษายุค คสช. จึงเป็นเพียงการรองรับความล้มเหลวที่มีมาแต่เดิม และจะสร้างโอกาสแห่งความล้มเหลวใหม่อย่างกล้าหาญเท่านั้น]
เตรียมตัวเข้าสู่ความล้มเหลวในการฏิรูปการศึกษา ยุคสอง ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ โดยคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำลังจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ โดยทำกันเองอยู่ในหมู่นักคิดนักวิชาการศึกษาที่ตั้งขึ้นหลายคณะ ผมได้มีโอกาสพบและพูดคุยกับ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนและระหว่างบันทึกรายการที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเพื่อแพร่ภาพวันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านไป โดยสรุป ผมได้ความรู้ใหม่ พอประมวลเป็นความเข้าใจแบบคร่าวๆและไม่เป็นทางการดังนี้:
ถึงเวลานานแล้วที่ประเทศไทยจะต้องปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง! ที่ผ่านมา 15 ปี ไม่ใช่การปฏิรูปการศึกษา แต่เป็นการจัดการระบบบริหารการศึกษาให้แบ่งเขตอำนาจของนักบริหารการศึกษามากขึ้น มีเจ้านายมากขึ้น ใช้จ่ายเงินมากขึ้นไปกับเรื่องการบริหารจัดการระบบราชการ ไม่ใช่การจัดการศึกษา ส่วนเรื่องการศึกษาจริงๆนั้น-ทั้งเรื่องคุณภาพและเรื่องปริมาณ-ยังมิได้รับการปฏิรูปเลย แต่เพียงการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ก็มิใช่คำตอบหรือทางออกในการแก้ปัญหา เพราะเป็นเพียงการทำงานด้านเทคนิควิชาการ ที่ยังขาดทิศทางที่ควรจะถูกกำหนดในระดับชาติ หากไม่มีนโยบายระดับชาติจากรัฐบาลเลย อยู่ๆเมื่อเกิดอาการตื่นกลัวก็เอาหลักสูตรเก่ามาดูแล้วเร่งร่างหลักสูตรกันใหม่ทันที แทนที่จะเป็นผลดีก็กลับจะเป็นการสูญเปล่าและจะเกิดผลเสียในระยาว เพราะกระบวนการทำหลักสูตรใหม่ไม่มีเป้าหมายระดับชาติชัดเจน การร่างหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อปฏิรูปการศึกษาไทยจะต้องทำดังต่อไปนี้: 1. ปรัชญาการศึกษา - การปฏิรูปการศึกษาต้องตั้งต้นด้วยการวางปรัชญาการศึกษาของชาติเหนือเรื่องอื่นใด รัฐบาลต้องให้ความสนใจเรื่องการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง อย่าได้ปล่อยให้เป็นเรื่องการทำงานตามระบบราชการของกระทรวงศึกษาธิการที่แสดงความล้มเหลวล้าหลังมาแต่แรกและล้มเหลวมายาวนานกว่าหนึ่งทศวรรษ ยากที่จะแก้ไขความผิดพลาดของตนเองด้วยตัวเองแต่เพียงฝ่ายเดียว รัฐบาลต้องกำหนดให้ประเทศไทยปฏิรูปการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ และให้พรรคหรือกลุ่มการเมืองต่างๆ ตลอดจนภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตั้งต้นกระบวนการคิดปฏิรูปการศึกษาไปจนจบสิ้นสมบูรณ์ โดยไม่เปลี่ยนแก้ให้ผันแปรไปตามอำนาจการเมืองที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปการศึกษา เริ่มที่การกำหนดปรัชญาการศึกษาของชาติก่อนว่าจะเป็นอย่างไร ณ เวลานี้ขอเสนอไว้ก่อนว่าปรัชญาการศึกษาของชาติควรเป็นดังนี้: “การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทยให้มีความมีความสุขและความสำเร็จในชีวิต บรรลุศักยภาพ ของการเป็นมนุษย์ของตน เป็นพลเมืองดีในสังคมประชาธิปไตย มีขีดความสามารถใน การแข่งขันในระดับโลกและอาเซียน ไม่แพ้ใครในโลก มีคุณภาพสูงในสาขาวิชาคณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, ทักษะการอ่าน มีทักษะการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษและภาษาอื่น ทุกคนมีโอกาส เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในประเทศหรือมีฐานะทาง เศรษฐกิจต่างกันอย่างไร พร้อมทั้งให้มีจิตสำนึกเป็นผู้ใฝ่การศึกษาตลอดชีวิต” 2. นโยบายการศึกษา - เมื่อได้ปรัชญาการศึกษาเป็นแนวทางแล้ว ให้กำหนดนโยบายการปฏิรูปการศึกษา โดยทำแผนแม่บทกำหนดเส้นทางหรือ “พิมพ์เขียว” เป็นกระบวนการทำงานไปสู่เป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาในที่สุด โดยคำนึงถึงเนื้อหาของงาน การมีส่วนร่วมของประชาชน การทำงานในระบบกรรมการ แผนระยะเวลา และเป้าหมายปลายทางที่จะต้องทำแผนงานให้เสร็จสมบูรณ์เพื่อการบังคับใช้ในระยะยาวต่อไป 3. แผนปฏิบัติ - แผนการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ ละเอียดซับซ้อนมากกว่าเรื่องหลักสูตร แต่เรื่องหลักสูตรก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด รองลงมาจากเรื่องปรัชญาและนโยบายการศึกษา ดังนั้นการร่างหลักสูตรจึงต้องให้ตอบสนองปรัชญาและนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของชาติ การที่จะให้เรียนวิชาอะไร มากน้อยแค่ไหน อ่านหนังสืออะไร ทำกิจกรรมอะไรในเวลาและนอกเวลาในชั้นเรียน ทั้งกิจกรรมในท้องถิ่น กิจกรรมแลกเปลี่ยนระดับชาติ กิจกรรมระดับอาเซียน และกิจกรรมระดับนานาชาติ การปฏิบัติตามแผนจึงต้องทำให้บรรลุเป้าหมายของปรัชญาและนโยบายการศึกษาแห่งชาติ กระบวนการจัดทำหลักสูตรจะใช้เวลายาวนานอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้ทุกรายละเอียดได้รับการพิจารณาอย่างละเอียด จากทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง 4. การปฏิบัติตามแผน - การบังคับใช้แผนปฏิรูปการศึกษาใหม่ต้องทำต่อเนื่องโดยไม่ผันแปรไปตามรัฐบาลที่ต้องเปลี่ยนไปตามวาระจากผลการเลือกตั้ง ไม่ว่าใครหรือพรรคไหนมาเป็นรัฐบาลก็จะต้องทำตามแผนอย่างต่อเนื่องแบบ “ไร้ตะเข็บ” เพราะทุกฝ่ายร่วมทำแผนปฏิรูปการศึกษากันมาแต่แรกเริ่มแล้ว อย่าได้ให้สามัญสำนึกของนักการเมืองที่ได้อำนาจบริหารเข้าครอบงำจนทำให้แผนการปฏิรูปการศึกต้องเบี่ยงเบนไป ที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังทำอยู่เป็นเพียงการปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรตามใจชอบของนักวิชาการที่กระทรวงฯจัดตั้งเป็นกรรมการชุดต่างๆเท่านั้น เท่ากับเป็นการคิดทำแผนเชิงเทคนิควิชาการ มิได้เกิดจากแรงดลใจและความมุ่งมั่นทางการเมือง และมิได้มีปรัชญาการศึกษา และนโยบายการศึกษาของชาต เป็นเครื่องกำหนดทิศทาง การศึกษาเกี่ยวข้องกับทุกคน เกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง ทุกรัฐมนตรี หากรัฐบาลไม่สนใจจะปฏิรูปการศึกษา ดังที่เห็นเฉื่อยชาอยู่ ณ เวลานี้ นายกรัฐมนตรีก็ไม่สนใจ รัฐมนตรีกระทรวงอื่นก็ไม่คิดว่าตัวเองจะเกี่ยวข้องด้วย ส่วนรัฐมนตรีศึกษาฯก็ ผ่านมา-ผ่านไป ในช่วงสั้นๆไม่มีแนวคิดอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเรื่องปรัชญาการศึกษาของชาติ นอกจากข้อสังเกตจากสามัญสำนึกของนักการเมืองแบบพื้นๆ การศึกษาของชาติก็จะยังคงอยู่ในมือของข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการผู้รู้ตัวเองว่าทำงานล้มเหลวมา 15 แล้ว และยังมีอำนาจที่จะแก้ไขความล้มเหลวของตนให้เป็นความล้มเหลวในการปฏิรูปการศึกษาอีกทศวรรษหนึ่ง … เท่านั้นเอง. สมเกียรติ อ่อนวิมล 23 ตุลาคม 2556 Comments are closed.
|
AUTHOR
สมเกียรติ อ่อนวิมล Somkiat Onwimon (1948 - 20xx) lives in Thailand, studied political science and international relations from The University of Delhi (B.A. & M.A.) and The University of Pennsylvania (Ph.D.). He lectured at Chulalongkorn University, and later became a television news 'n documentary reporter-producer-anchorman. He was elected a member of Thailand's 1997 Constitution Drafting Assembly, elected a senator in 2000, and appointed member of the National Legislative Assembly in 2007. Now at his Pak Chong home, he lives a quiet country life of reading, writing, and thinking. Archives
June 2018
Categories
All
|