ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (ที่เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”) หมวด 3 ว่าด้วย “สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย” บัญญัติไว้ในมาตรา 33 มีสองวรรค ดังนี้ :- “มาตรา 33 ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหา หรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” ต่อมา ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 (ฉบับ คมช.)ในส่วนที่ 4 ว่าด้วย “สิทธิในกระบวนการยุติธรรม” ได้ลอกเอามาตรา 33 ทุกถ้อยคำมาเขียนเป็นมาตรา 39 ในวรรคสองและวรรคสาม ดังนี้ :- มาตรา 39 ................................................................................... “ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” ต่อมาอีก ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 (ฉบับปฏิรูป ของ คสช.) มาตราว่าด้วยเรื่องเดียวกันก็ถูกนำมาเขียนไว้ โดยเอาทั้งหมดสองวรรคมารวมกันเป็นวรรคสองวรรคเดียวของมาตรา 37 ในส่วนที่ 2 เรื่อง “สิทธิเสรีภาพของบุคคล” ตอนที่ 2 ว่าด้วย “สิทธิมนุษยชน” โดยเปลี่ยนเพียงคำว่า “ต้อง” เป็น “ให้” เท่านั้น ดังนี้ :- มาตรา 37 ...................................................................................... “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มี ความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำ ความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิด มิได้” ………………………………………………………………………......................… ที่ต้องคำนึงคือ รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่กล่าวมาต้องการให้พลเมืองไทยทุกคนเคารพในสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ต้องคดีต่างๆและกระบวนการพิพากษาตัดสินคดียังไม่ถึงที่สุดในชั้นศาลฏีกา เพราะต้อง(หรือให้)ถือว่าคำพิพากษาศาลฎีกาถือเป็นที่สุด จะเป็นผู้กระทำความผิด รับโทษ ลดโทษ หรือเป็นผู้บริสุทธิ์ พ้นโทษอย่างไร ก็ตามนั้น และที่ต้องคำนึงเป็นพิเศษคือ รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปของ คสช. ถือว่าเรื่องสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นสิทธิมนุษยชน อันเป็นสากล ไม่ใช่เพียงแค่เป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ดังเช่นในรัฐธรรมนูญ คมช.ปี 2550 หรือเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพธรรมดา ดังเช่นในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เรื่องนี้ ในฐานะที่ผมเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และเป็นหนึ่งในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย ผมถือเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองพลเมืองไทยทุกคนเท่าเทียมกัน ในปี 2540 เราได้อภิปรายถกเถียงกันมากจนได้ข้อยุติที่ให้ความเคารพต่อประชาชนอย่างสมบูรณ์ ประกอบกับเรื่องอื่นที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรม เช่นเรื่องการเคารพในสิทธิส่วนบุคคลและความเป็นอยู่ส่วนตัวของประชาชนก็ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการเคารพสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของประชาชน ยิ่งสำหรับสื่อมวลชนด้วยแล้ว ถือเป็นภาระและหน้าที่สำคัญที่จะต้องเคารพประชาชนทุกคนที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือที่ต้องการปกป้องความเป็นส่วนตัวของตน ในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในปี 2540 นั้นผมได้ยกตัวอย่างที่ คุณใหม่ เจริญปุระ ถูกหนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงพิมพ์เผยแพร่ภาพอันไม่เหมาะไม่ควรเป็นภาพส่วนตัวในที่ระโหฐานอันเป็นส่วนตัวของเธอเอง ผมทำข่าวออกอากาศทางช่อง 11 ที่ผมทำงานอยู่ในปี 2539 ชี้ถึงความผิดจรรยาบรรณของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แต่ไทยรัฐก็ชี้แจงว่ามีสิทธิประจานภาพเปลือยของคุณใหม่ได้ เพราะคุณใหม่เป็นบุคคลสาธารณะ วันรุ่งขึ้นช่อง 11 และ ผมได้รับความขอบคุณจากคุณใหม่ เจริญปุระ เป็นกระเช้าดอกไม้และบัตรแสดงความขอบคุณ ต่อมาผมพบคุณใหม่โดยบังเอิญที่ตลาดสด อตก. เธอก็ยังมีไมตรีไหว้ทักทายขอบคุณผมอีกครั้ง ถึงวันนี้ผมยังประทับใจไม่มีวันลืม การปกป้องบุคคลที่ตกเป็นข่าว เป็นหน้าที่สำคัญตามจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อสารมวลชน และยิ่งมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยแล้ว จรรยาบรรณวิชาชีพสื่อสารมวลชนจึงเป็น “กฎเหล็ก” ที่ผมต้องทำตามและคาดหวังให้สื่อมวลชนอื่นยึดมั่นทำตาม เสมือนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อใครตกเป็นผู้ต้องหาหรือเป็นจำเลยในคดีความต่างๆ เราจำต้องรอคำพิพากษาของศาลให้ที่ถึงที่สุดก่อนจึงจะมีสิทธิรายงานว่าประชาชนผู้เป็นจำเลยหรือผู้ต้องหานั้นเป็นผู้ผิดแท้จริง ระหว่างยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น เราก็มีหน้าที่รายงานข่าวคดีความที่เกี่ยวข้องไปตามปรกติ แต่ต้องรายงานเสริมให้ผู้รับข่าวสารทั่วไปรับรู้ว่า “ยังไม่ถือว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้มีความผิด” ต้องรายงานข่าวให้สาธารณชนเคารพในสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาหรือจำเลยด้วย แต่ก็น่าเสียใจที่พบว่าสื่อมวลชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกันละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนผู้เป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยกันอย่างไม่ลดรา ตำรวจมักจะนำผู้ต้องหามาจัดการแถลงข่าว เปิดตัว เปิดหน้า ให้สื่อมวลชนได้ถ่ายภาพและกรรโชกสัมภาษณ์กันอย่างไม่คำนึงถึงสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นๆ ใครถูกจับก็กลายเป็นผู้ผิดตั้งแต่ยังไม่ดำเนินคดีแล้ว! เพราะตำรวจ และ สื่อมวลชน ตัดสินให้ก่อน ทำลายเกียรติยศชื่อเสียงและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนผู้ถูกจับกุมเป็นผู้ต้องหาตั้งแต่ยังไม่ดำเนินคดี ทุกวันนี้ก็ยังทำกันอยู่โดยไม่แยแสรัฐธรรมนูญ! ไม่แยแสสิทธิมนุษยชน! กรณีคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ก็ไม่เป็นข้อยกเว้น แต่สื่อมวลชนกลับจะทำกันหนักยิ่งกว่าใคร ทำกันโดยอ้างการปกป้องจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อสารมวลชน ตัดสินและจูงใจให้สาธารณชนลงโทษคุณสรยุทธ ตั้งแต่เป็นข่าวกับ อสมท. ตั้งแต่ปี 2549 แล้ว การเสนอข่าวตามปรกติถูกทำให้กลายเป็นกระบวนการไล่ล่าตำหนิประนามคุณสรยุทธ และไทยทีวีสีช่อง 3 ข้ามไปจนถึงสินค้าและบริษัทห้างร้านธุรกิจอุตสาหกรรมที่ลงโฆษณาสนับสนุนรายการของคุณสรยุทธและรายการอื่นๆของช่อง 3 โดยรวม กระบวนการพิฆาตไล่ล่าคุณสรยุทธและช่อง 3 นี้ เรียกร้องให้คุณสรยุทธลาออกจากงานสื่อสารมวลและงานทำรายการโทรทัศน์ที่ช่อง 3 เป็นสำคัญ บ้างก็รณรงค์ให้ปิดกั้นประท้วงช่อง 3 และสินค้าต่างๆที่ลงโฆษณาในรายการของคุณสรยุทธและช่อง 3 กระบวนการกดดันคุณสรยุทธนี้ทำโดยองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชนและสื่อสารมวลชนผู้อาวุโสและมีชื่อเสียงในวงการ ร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) และองค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น สำหรับองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น และประชาชนทั่วไปนั้น ย่อมมีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะรณรงค์ทำกิจกรรมใดๆต่อกรณีคุณสรยุทธ เพราะมีสิทธิเสรีภาพโดยไม่มีกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพอันใดมาจำกัด จึงสามารถตำหนิวิพากษ์และเรียกร้องได้ต่างๆนาๆ แต่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนเอง ทั้งส่วนบุคคล และที่เป็นองค์กรวิชาชีพ ไม่มีสิทธิเรียกร้องไล่ล่ากดดันคุณสรยุทธ และช่อง 3 เป็นการส่วนตัว ทว่าสื่อมวลชนมีหน้าที่เพียงรายงานข่าวความจริงที่ปรากฏทุกแง่มุม และเพิ่มเติมความรู้ให้สาธารณชนมีสติในการคิดตัดสินชีวิตและงานของคุณสรยุทธและช่อง 3 สื่อมวลชนมิได้มีหน้าที่ไปรณรงค์ให้เกิดความเกลียดชังหรือต่อต้านคุณสรยุทธและช่อง 3 หากประชาชนจะต่อต้านรณรงค์เองก็ทำได้ เป็นสิทธิของประชาชน สื่อมวลชนมีหน้าที่ให้ข่าวสารและความรู้ที่ถูกต้องเป็นประโยชน์ เพื่อการสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตยที่สงบงดงามและสมบูรณ์ โดยไม่ทำตัวเป็นนักรณรงค์ให้เกิดความสับสนในบทบาทหน้าที่ของตน ในกรณีข่าวคุณสรยุทธนั้น การทำข่าวของสื่อมวลชนเริ่มต้นด้วยการปฏิบัติประหนึ่งว่าคุณสรยุทธเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยผู้กระทำความผิดสมบูรณ์แล้ว ทำกันเช่นนี้ตั้งแต่คดียังไม่ขึ้นศาล จนถุงวันนี้ที่มีคำตัดสินของศาลชั้นต้น เป็นการทำงานที่ผิดจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชนแต่แรกเริ่ม เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษย์ชน มีความหมายเท่ากับว่าสื่อมวลชนละเมิดสิทธิมนุษยชนของคุณสรยุทธ เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีที่ยังไม่ถึงที่สุด ประชาชนทั่วไป รวมทั้งองค์กรต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นใดๆ จะคิดหรือจะรณรงค์ต่อต้านอย่างไรกับคุณสรยุทธก็ย่อมได้ในเมื่อไม่ใช่สื่อมวลชน ไม่มีกรอบจรรยบรรณวิชาชีพมากำกับ และมิได้มีอำนาจการสื่อสารเท่ากับองค์กรของสื่อมวลชน แต่กระนั้นก็ต้องถือว่าเป็นการล่วงล้ำเข้าเขตสิทธิมนุษยชนของคุณสรยุทธแล้ว ส่วนคุณสรยุทธเอง ก็มีสิทธิและหน้าที่ ที่จะคิดตัดสินใจหาทางออกให้กับตัวเองโดยอิสระ โดยจะต้องปราศจากแรงเย้ยหยันกดดันจากเพื่อนร่วมวิชาชีพและองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จนคุณสรยุทธหาความอิสระที่จะตัดสินใจใดๆเพื่อรักษาเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเองได้ การตัดสินใจของคุณสรยุทธที่ขอหยุดการทำงานในรายการที่ช่อง 3 แล้วนั้น หากไม่มีแรงกดดันอันล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญแล้ว จะเป็นการตัดสินใจที่สงบงดงาม เป็นที่ภูมิใจของตนเอง ครอบครัว ญาติมิตร และเพื่อนร่วมวิชาชีพ อย่างสมภาคภูมิ จากนั้นคุณสรยุทธก็จะได้ไปต่อสู้คดีในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาต่อไปได้อย่างสง่า แต่สื่อมวลชนและองค์กรวิชาชีพปิดประตูตาย ไม่ให้ทางออกอันมีเกียรติแก่คุณสรยุทธเลย ผม ในฐานะผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่แรกเริ่มจึงเฝ้ามองความดีงามของสื่อมวลชนอย่างหวาดผวาและเวทนา หากสื่อมวลชนและองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชนทั้งหลายจะพิพากษาคุณสรยุทธก็ควรต้องถือคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นที่สุด เท่านั้นเอง ไม่ใช่มาเป็นผู้พิพากษาเสียเองโดยไม่รั้งรอ เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่จะต้องให้ข่าวสารที่ถูกต้อง ไม่ใช่ให้อารมณ์ แก่สาธารณะชน ในหลักวิชาการสื่อสารการเมืองนั้น มีหลักสำคัญที่สื่อพึงปฏิบัติ และนำมาประยุกต์ใช้กรณีการทำข่าวคุณสรยุทธ ดังนี้ :-
แต่ที่ปรากฎ สื่อมวลชนและองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน เริ่มต้นก็ละเมิดจรรยาบรรณวิชาชีพของตนเองโดยละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาและจำเลยเสียแล้ว ความน่าเคารพเชื่อถือของสื่อมวลชนและองค์กรวิชาชีพของตนก็หมดไป การอ้างมาตรฐานจริยธรรมและจรรยาบรรณอันสูงส่งขององค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน, องค์กรต่อต้านการทุจริต, และองค์กรกำกับดูและการสื่อสารแพร่ภาพกระจายเสียง เป็นอาวุธร้ายแรง พิฆาตฟาดฟันห้ำหั่นทำลายอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาและจำเลย ซึ่งศาลยังมิได้ตัดสินคดีถึงที่สุด เมื่อทำกันมาแรงเต็มที่แล้ว ก็เชิญท่านผู้ทรงจริยธรรมทั้งหลายจงได้ปฏิเสธไม่รับโฆษณาจากสินค้าและกิจการที่เคยสนับสนุนช่อง 3 และคุณสรยุทธกันทั้งหมด จะได้เป็นผู้ทรงจรรยาบรรณกันอย่างหาที่เปรียบมิได้! สมเกียรติ อ่อนวิมล 4 มีนาคม 2559
0 Comments
Leave a Reply. |
AUTHOR
สมเกียรติ อ่อนวิมล Somkiat Onwimon (1948 - 20xx) lives in Thailand, studied political science and international relations from The University of Delhi (B.A. & M.A.) and The University of Pennsylvania (Ph.D.). He lectured at Chulalongkorn University, and later became a television news 'n documentary reporter-producer-anchorman. He was elected a member of Thailand's 1997 Constitution Drafting Assembly, elected a senator in 2000, and appointed member of the National Legislative Assembly in 2007. Now at his Pak Chong home, he lives a quiet country life of reading, writing, and thinking. Archives
June 2018
Categories
All
|