THAIVISION
  • REFLECTION
  • ON PLANET EARTH
    • EARTH
  • AND BEYOND
  • THAILAND
    • KING BHUMIBOL
    • NATIONAL PARKS OF THAILAND >
      • KHAO YAI NATIONAL PARK
      • PHA TAEM NATIONAL PARK
      • PHU WIANG NATIONAL PARK
      • NAM NAO NATIONAL PARK
      • PHU HIN RONG KLA NATIONAL PARK
      • PHU KRADUENG NATIONAL PARK
      • PHU RUEA NATIONAL PARK
      • MAE YOM NATIONAL PARK
      • DOI SUTHEP-PUI NATIONAL PARK
      • DOI INTHANON NATIONAL PARK
      • THONG PHA PHUM NATIONAL PARK
      • KAENG KRACHAN NATIONAL PARK
      • MU KO ANG THONG NATIONAL PARK
      • MU KO SURIN NATIONAL PARK
      • MU KO SIMILAN NATIONAL PARK
      • HAT NOPPHARATA THARA - MU KO PHI PHI NATIONAL PARK
      • MU KO LANTA NATIONAL PARK
      • TARUTAO NATIONAL PARK
  • THE LIBRARY
    • MORNING WORLD BOOKS >
      • CASINO ROYALE
      • 1984
      • A BRIEF HISTORY OF TIME
      • A HISTORY OF THAILAND
      • CONSTITUTION OF THE UNITED STATES
    • DEMOCRACY IN AMERICA
    • FIRST DEMOCRACY
    • JOHN MUIR
    • MODELS OF DEMOCRACY
    • MULAN
    • THE VOYAGE OF THE BEAGLE
    • ON THE ORIGIN OF SPECIES
    • PHOOLAN DEVI
    • THE REPUBLIC
    • UTOPIA
    • A Short History of the World [H.G.Wells]
    • WOMEN OF ARGENTINA
    • THE EARTH : A Very Short Introduction
    • THE ENGLISH GOVERNESS AT THE SIAMESE COURT
    • TIMAEUAS AND CRITIAS : THE ATLANTIS DIALOGUE
    • HARRY POTTER
    • DEMOCRACY / HAROLD PINTER
    • MAGNA CARTA
    • DEMOCRACY : A Very Short Introduction
    • DEMOCRACY / Anthony Arblaster]
    • DEMOCRACY / H.G. Wells
    • ON DEMOCRACY / Robert A. Dahl)
    • STRONG DEMOCRACY
    • THE CRUCIBLE
    • THE ELEMENTS OF STYLE
    • THE ELEMENTS OF JOURNALISM | JOURNALISM: A Very Short Introduction
    • LOVE
    • THE EMPEROR'S NEW CLOTHES
    • THE SOUND OF MUSIC
    • STRONGER TOGETHER
    • ANIMAL FARM
    • POLITICS AND THE ENGLISH LANGUAGE
    • GEORGE ORWELL
    • HENRY DAVID THOREAU >
      • WALDEN
    • MAHATMA GANDHI
    • THE INTERNATIONAL ATLAS OF LUNAR EXPLORATION
    • พระมหาชนก
    • ติโต
    • นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ | A Man Called Intrepid
    • แม่เล่าให้ฟัง
    • SUFFICIENCY ECONOMY
    • พระเจ้าอยู่หัว กับ เศรษฐกิจพอเพียง
    • KING BHUMIBOL AND MICHAEL TODD
    • ... คือคึกฤทธิ์
    • KING BHUMIBOL ADULYADEJ: A Life's Work
    • THE KING OF THAILAND IN WORLD FOCUS
    • พระราชดำรัสเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ
  • IN MY OPINION
  • THAIVISION
  • SOMKIAT ONWIMON
    • MY STORY
    • THE DISSERTATION
    • THE WORKS >
      • BROADCAST NEWS & DOCUMENTARIES
      • SPIRIT OF AMERICA
      • THE ASEAN STORY
      • NATIONAL PARKS OF THAILAND
      • HEARTLIGHT: HOPE FOR AUTISTIC CHILDREN IN THAILAND
    • KIAT&TAN >
      • TAN ONWIMON >
        • THE INTERVIEW

Models of Democracy               ประชาธิปไตย 13 แบบ ในโลก

24/12/2014

 
ประชาธิปไตยในประเทศไทย กับ ประชาธิปไตยแบบต่างๆในโลก

          ในช่วงเวลาที่มีการนำมวลชนมาชุมนุมและเคลื่อนย้ายขบวนชุมนุมทางการเมืองไปตามที่ต่างๆในกรุงเทพมหานครในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2553   และปี 2556-2557 นั้น ผู้ชุมนุมแสดงความเห็นทางการเมืองว่า “ประเทศไทยยังไม่มีประชาธิปไตย และต้องการประชาธิปไตยคืนมา” หมายความว่าเราเคยมีประชาธิปไตย แต่ว่าหายไป ตอนนี้ไม่มีแล้ว จึงมาชุมนุมประท้วงเพื่อทวงเอาประชาธิปไตยคืนมา  ซึ่งหมายความต่อไปได้ว่าประชาธิปไตยหลบซ่อนอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ไม่รู้ที่ไหน ยังหาไม่เจอ ฟังดูแล้วก็เหมือนง่ายที่จะมีประชาธิปไตย ง่ายที่จะปล่อยประชาธิปไตยให้หายไป และง่ายที่จะมาทวงถามตามคืนจากผู้อื่นที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้เอาประชาธิปไตยไปซ่อนไว้ 

          ประชาธิปไตยไม่เกิดง่าย หายง่าย ทวงคืนได้ง่ายๆ อย่างที่มวลชนมักกล่าวกันเลย

          ที่สำคัญ ความเป็นประชาธิปไตยที่อยู่ในตัวบุคคลไม่มีวันจะถูกใครอื่นทำให้หายไปได้นอกจากตัวของตนเอง การทวงประชาธิปไตยคืนมาจากผู้อื่นจึงไม่มีผลต่อการเกิดหรือการมีประชาธิปไตยในตัวของพลเมืองคนใดคนหนึ่งหรือทุกคน และถ้าพลเมืองแต่ละคนและทุกคนไม่มีความเป็นเป็นประชาธิปไตย ภาพรวมของสังคมก็จะสะท้อนการขาดคุณสมบัติประขาธิปไตย มากหรือน้อย ตามสัดส่วนของคุณภาพประชาธิปไตยในตัวพลเมือง
          โดยประวัติศาสตร์ ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่โครงสร้างประชาธิปไตยมานานถึง 83 ปีแล้ว แม้จะมีการยึดอำนาจขัดจังหวะการพัฒนาประชาธิปไตยอยู่เป็นระยะๆ แต่ประเทศไทยอยู่ในระบอบประชาธิปไตยมาต่อเนื่องจนทุกวันนี้  หากจะมีการวิพากษ์ว่าประชาธิปไตยของไทยไม่สมบูรณ์ เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบบ้าง ประชาธิปไตยแบบไม่เต็มใบบ้าง ซึ่งคำวิจารณ์นี้ก็ชอบด้วยเหตุผลตามหลักวิชาการ เพราะในโลกนี้ไม่มีประชาธิปไตยแบบสมบูรณ์ เพราะประชาธิปไตยเป็นปรัชญาการเมืองที่ก่อกำเนิดระบบการเมืองการปกครองที่วิวัฒนาการปรับแก้แปรผันไปตามกาลเวลาและเป็นไปตามสภาวะสังคมและวัฒนธรรมที่นำระบอบประชาธิปไตยไปทดลองใช้ในประเทศของตนเอง ประชาธิปไตยในโลกปัจจุบันจึงปรากฏรูปแบบมากมายหลากหลาย และยังคงวิวัฒนาการต่อไปอย่างไม่รู้จบ
          เมื่อวิเคราะห์ด้วยหลักวิชาการว่าด้วยลัทธิ อุดมการณ์ และปรัชญาการเมือง สรุปได้ว่าประเทศไทยเป็นสมาชิกอาเซียนที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีคุณภาพสูงในเชิงโครงสร้างทางการเมืองแบบประชาธิปไตยประเทศหนึ่ง ตั้งแต่การมีรัฐธรรมนูญ การมีระบบรัฐสภาสองสภา การมีสถาบันทางการเมืองสำคัญแบ่งอำนาจหน้าที่กันทำงาน คือสถาบันนิติบัญญัติ (รัฐสภา) สถาบันบริหาร (รัฐบาล) และสถาบันตุลาการ (ระบบศาลยุติธรรม) มีพรรคการเมืองที่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเสรี นอกจากนั้นก็มีสถาบันตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นองค์กรอิสระอีกหลายองค์กร เช่นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ฯลฯ  ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว สิทธิเสรีภาพในการพูด แสดงความคิดเห็น การสื่อสารส่วนบุคคล และการสื่อสารมวลชน พลเมืองไทยมีสิทธิในการดูแลชุมชนท้องถิ่น มีการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ก้าวหน้า รวมถึงการจัดการระบบภาษีอากรและงบประมาณของท้องถิ่นเอง การเลือกตั้งมีมากหลากหลายและบ่อยครั้ง ทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่นทั้งหมดนี้หากมีสิ่งใดไม่ชอบมาพากล ประชาชนก็มีสิทธิแสดงความไม่พอใจรัฐบาล หรือสภาท้องถิ่น ด้วยการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งต่อไป ปฏิเสธรัฐบาลเดิมที่ตนไม่พอใจ เลือกพรรคการเมืองอื่นเข้าไปเป็นรัฐบาลได้ ทั้งหมดคือโครงสร้างและรูปแบบประชาธิปไตยของประเทศไทยผู้ก่อตั้งอาเซียนมีไว้แสดงต่อมิตรประเทศและชาวโลกว่า ประเทศไทยนั้นเป็นประชาธิปไตยที่ได้มาตรฐานสากล  อยู่ในระดับแนวหน้าของอาเซียน 

          ในบรรดาสมาชิก 10 ประเทศของอาเซียน ประเทศที่มีการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประเทศที่มีโครงสร้างและกิจกรรมทางการเมืองพื้นฐานดีกว่าชาติอื่นก็คือ ไทย ฟิลิปปินส์  อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ รัฐสมาชิกอาเซียนที่เหลือกำลังอยู่ระหว่างวิวัฒนาการการเมืองการปกครองและสังคมของตนอยู่อย่างไม่เร่งร้อนนัก และโดยฌแพาะประเทศไทยระหว่างพักกระบวนการประชาธิปไตยด้วยอำนาจการปกครองแบบอำนาจนิยมของคณะทหารอีกครั้งในปี 2557 ก็หมายความว่า กระบวนการค้นหารูปแบบประชาธิปไตยที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทยกำลังเริ่มต้นอีกครั้ง ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ประชาชนคนไทยจะตัดสินอีกทีเมื่อแนวทางการปฏิรูปการเมืองไทยรอบใหม่เข้าสู่ภาคปฏิบัติจริง

          ประเทศไทยมีโครงสร้างของระบอบประชาธิปไตยที่ได้มาตรฐาน หากแต่พลเมืองส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะพวกผู้นำและเหล่านักการเมืองทั้งหลาย ยังไม่ถึงมาตรฐานในเรื่องความรู้ความเข้าใจ พลเมืองส่วนหนึ่งยังต่ำกว่ามาตรฐานว่าด้วยความรับผิดชอบและบทบาทหน้าที่ในสังคมประชาธิปไตย การศึกษาจนได้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยยังมีน้อย ไม่ว่าจะเรียนจบการศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมาได้ระดับสูงต่ำขนาดไหนก็ตาม ความรู้และการศึกษาเรื่องประชาธิปไตยเป็นเรื่องของวิถีชีวิต หัวใจ และจิตวิญญาณ ใบวุฒิบัตรและปริญญามิใช่เครื่องวัดคุณภาพและมาตรฐานประชาธิปไตยในตัวบุคคล นี่คือปัญหาที่มองเห็นในตัวนักการเมือง ผู้นำทางการเมือง สมาชิกรัฐสภา และคณะรัฐมนตรี ที่ผ่านๆมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

          ในระบอบประชาธิปไตยนั้น การชุมนุมเพื่อประท้วง หรือเพื่อแสดงความเห็นที่แตกต่าง เป็นกิจกรรมที่กระทำได้และถือเป็นเรื่องปรกติ แต่การชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มมวลชนเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการโดยมิยอมเลิกรา แถมมีการข่มขู่ขีดเส้นตายด้วยนั้น มิใช่กิจกรรมที่เป็นประชาธิปไตย เพราะการแก้ปัญหาในสังคมประชาธิปไตยนั้น หากเจาจรหารือรอมชอมกันไม่ได้ หาฉันทามติไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีออกเสียงลงคะแนน ลงมติโดยยึดเสียงข้างมากเป็นหลัก หากเสียงข้างมากชนะก็ทำตามเสียงข้างมาก แต่ก็ยังคงดูแลผลประโยชน์และความทุกข์สุขของฝ่ายข้างน้อยต่อไป เพราะประชาธิปไตยเป็นกระบวนการทางการเมืองที่มุ่งหวังความสงบสุขและความเจริญยั่งยืนของทุกคนในสังคม
          ข้อเรียกร้องที่ทำให้ไม่ได้เลยอย่างแน่นอนคือการเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาและลาออกภายจำนวนวัน เวลา หรือชั่วโมงที่กำหนดเป็นเส้นตายพร้อมข่มขู่ว่าจะมีมาตรการตอบโต้ที่เข้มข้นหรือแรงขึ้น หากรัฐบาลไม่ยุบสภาตามที่ผู้ชุมนุมข่มขู่เป็นเงื่อนไขไว้นั้น การกระทำเช่นว่านี้ ถือเป็นกิจกรรมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เป็นกิจกรรมของผู้ใช้อำนาจเผด็จการโดยมวลชนที่ใช้อารมณ์เป็นเครื่องตัดสินใจเท่านั้น รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยจะยุบสภาเพราะถูกมวลชนนอกสภาข่มขู่นั้นย่อมทำไม่ได้ เพราะรัฐบาลมีเสียงสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศจนได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลจึงต้องอยู่เพราะมีเสียงข้างมากของพลเมืองสนับสนุนอยู่ หากรัฐบาลยอมสยบต่อผู้ชุมนุมในทุกข้อเรียกร้องสำคัญๆที่ควรผ่านกระบวนการทางรัฐสภา ยอมลาออก ยอมยุบสภา ก็เท่ากับว่ารัฐบาลไม่เคารพประชาชนผู้มีเสียงมากกว่าเสียงของผู้ชุมนุมประท้วง แม้ว่าประชาชนเสียงข้างมากทั้งหลายจะมิได้ออกมาแสดงพลังจำนวนพลเมืองประท้วงให้เห็นบ้างก็ตาม เพราะพลเมืองสามารถแสดงความเห็นได้อีกหลายวิธีโดยไม่จำเป็นต้องจัดการชุมนุมประท้วง ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องอธิบายหลักประชาธิปไตยนี้ให้กับมวลชนผู้ประท้วงให้ได้รับรู้เป็นการเพิ่มพูนการศึกษาเรื่องประชาธิปไตยในหมู่มวลชนด้วย หากเข้าใจประชาธิปไตยแล้วคราวหน้าหากจะมาประท้วงกันอีกก็จะได้รู้ว่า การชุมนุมประท้วงนั้นเป็นวิธีหนึ่งในหลายๆวิธีที่จะแสดงความคิดเห็น เมื่อแสดงแล้ว ฝ่ายตรงข้าม หรือฝ่ายรัฐบาลรับรู้แล้วแต่แก้ไขอะไรให้ไม่ได้ก็ควรจะพอใจที่ได้แสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยเสรี ทว่าจะไม่มีสิทธิมาแสดงอาการโกรธเกรี้ยวและบุกทุบทำลายสิ่งสาธารณะ หรือแม้กระทั่งพูดปราศรัยด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย เพราะการชุมนุมในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่การชุมที่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงทั้งกาย วาจา และใจ แต่เป็นการชุมนุมที่ต้องการแสดงออกซึ่งความเห็นที่กลุ่มตนเห็นว่าดีกว่า หรือแจ้งปัญหาที่เห็นว่าควรแก้ไข เท่านั้น หากประสงค์การเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือแก้ไขนโยบาย ก็ให้ทำผ่านผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคการเมืองที่ผู้ชุมนุมประท้วงสนับสนุนหรือสังกัดอยู่ด้วย ขณะเดียวกันพรรคการเมืองที่เป็นเสียงข้างน้อยในสภาและเป็นพวกเดียวกันกับมวลชนผู้ประท้วงก็ควรที่จะรับเรื่องร้องเรียนทั้งหลายจากผู้ประท้วงไปพัฒนาตนเอง พัฒนานโยบายของพรรคตนให้ประชาขนกลุ่มอื่นเพิ่มความเลื่อมใสศรัทธา เพื่อจะได้คะแนนเสียงเพิ่มมากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งต่อไป หากใจร้อน ต้องการล้มรัฐบาลที่ตนไม่สนับสนุน หรือไม่ชอบ ก็ต้องใช้วิธีอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎร 

          เรื่องเหล่านี้เป็นพื้นฐานประชาธิปไตยในวิชารัฐศาสตร์เบื้องต้น ซึ่งเป็นไปได้ที่มวลชนผู้ชุมนุมประท้วงส่วนหนึ่งอาจไม่ทราบ ไม่เข้าใจ เพราะไม่ได้รับการศึกษาเรื่องประชาธิปไตยมาก่อน แต่สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะสังกัดพรรดการเมืองอะไรก็ย่อมจะมีการศึกษา มีความรู้เรื่องประชาธิปไตยเป็นอย่างดี จึงเป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนที่จะช่วยสร้างคุณภาพประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในหมู่มวลชนผู้สนับสนุนพรรคของตนให้ดีมากขึ้น 

          โดยภาพรวมแล้ว ประชาธิปไตยเป็นระบบการเมืองการปกครองที่โลกปัจจุบันนิยมใช้มากที่สุด โดยยึดหลักปฏิบัติพื้นฐานคล้ายกัน คือมีโครงสร้างที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นประชาธิปไตยแบบเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่นิติบัญญัติในรัฐสภา และเลือกผู้แทนไปเป็นรัฐบาลในฝ่ายบริหารอีกต่อหนึ่ง ขณะเดียวกันประชาชนก็อาจเข้ามีส่วนร่วมโดยตรงและโดยอ้อมในกิจกรรมสาธารณะต่างๆได้ตามโอกาสและความประสงค์ของตน ประชาธิปไตยพื้นฐานยึดเสียงส่วนใหญ่เป็นเสียงสนับสนุนการตัดสินในเรื่องต่างๆอันเป็นกิจกรรมสาธารณะ แต่ก็ยังใส่ใจดูแลเสียงข้างน้อยในสังคมอย่างเสมอภาคกัน เมื่อมีหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยแล้ว กาลเวลาผ่านไป การทดลอง ปรับปรุงแก้ไขกระบวนการประชาธิปไตยให้เหมาะสมกับสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิต ในแต่ละประเทศก็วิวัฒนาการประชาธิปไตยไปจนมีรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย เป็นประชาธิปไตยแต่ชื่อก็มี, เป็นประชาธิปไตยแบบเก่าก็มี, แบบใหม่, แบบจำกัด, แบบนำทาง, สารพัดแบบ, ดังนั้นการทำความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยจึงต้องยึดความตกลงร่วมกันก่อนดังนี้ :
  1. หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยส่วนใหญ่จะเป็นแบบเดียวกัน
  2. ประชาธิปไตยวิวัฒนาการไปตามองค์ประกอบแวดล้อมในต่างสังคมต่างวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ จึงปรากฏรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย
  3. ประชาธิปไตยแบบแรกและดั้งเดิมที่สุดเกิดขึ้นที่นครรัฐเอเธนส์ ซึ่งปัจจุบันเป็นนครหลวงของประเทศกรีซ เป็นประชาธิปไตยแบบพลเมืองมีส่วนร่วมมากที่สุด
  4. ประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้วเป็นต้นแบบที่ควรศึกษาและทำตามอย่างหรือนำมาปรับใช้เป็นประชาธิปไตยในยุโรปและอเมริกาเหนือ
  5. ประชาธิปไตยในประเทศกำลังพัฒนาส่วนมากอยู่ในระหว่างทดลองปรับปรุงให้หมาะสม หากให้การศึกษากับประชาชนให้ดีพอก็จะสามารถมีการปกครองแบบประชาธิปไตยที่จะนำทางสังคมและประเทศชาติไปสู่ความสงบและรุ่งเรืองยั่งยืนได้เร็ว
  6. สำหรับประเทศไทยนั้นการทดลอง ประชาธิปไตยมีอายุกว่าแปดสิบปีแล้ว  ถือว่าเดินมาถูกทางแต่หนทางไม่ราบรื่น การศึกษาเรื่องประชาธิปไตยในหมู่ประชาชนต่ำ ผู้นำทางการเมือง ตลอดจนสมาชิกพรรคการเมือง ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาประชาธิปไตยน้อยกว่าการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเมือง
          เพื่อให้ทุกฝ่ายมีฐานข้อมูลเพื่อการศึกษาและพัฒนาประชาธิปไตยต่อ ขอนำสรุปความจากหนังสือ ของศาสตราจารย์ David Held ชื่อModels of Democracy (Third Edition, Polity Press, Cambridge ,UK, Malden, MA, U.S.A., , 2006) ที่ว่าด้วยรูปแบบต่างๆของประชาธิปไตยในโลก มาสรุปให้เห็นว่าอย่างน้อยๆการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในโลกปัจจุบันนี้มีมากถึง 13 แบบ ดังนี้ :

Classical democracy: Athens
ประชาธิปไตยแบบดั้งเดิม ณ นครรัฐเอธนส์


[1] Model I | Classical Democracy | ประชาธิปไตยดั้งเดิม
หลักแห่งความชอบธรรม
  • พลเมืองควรมีความเท่าเทียมกันทางการเมืองเพื่ออิสรภาพในการปกครองและถูกปกครอง
คุณลักษณะสำคัญ
  • พลเมืองมีส่วนร่วมโดยตรงในการบัญญัติกฎหมาย และ กระบวนการยุติธรรม
  • สภาพลเมืองมีอำนาจอธิปไตยสูงสุด
  • ขอบเขตอำนาจอธิปไตยสูงสุดของพลเมืองครอบคลุมกิจการของนครรัฐ
  • หลากหลายวิธีการเลือกผู้แทนสำหรับตำแหน่งหน้าที่งานสาธารณะ (การเลือกตั้งโดยตรง, จับสลาก, หมุนเวียนตำแหน่ง)
  • ปราศจากสิทธิพิเศษอันเป็นลักษณะแตกต่างระหว่างพลเมืองสามัญ กับ เจ้าหน้าที่รัฐ
  • ยกเว้นตำแหน่งที่เกี่ยวกับการสงคราม บุคคลจะไม่ดำรงตำแหน่งสาธารณะมากกว่า 2 สมัย
  • ช่วงระยะเวลาดำรงตำแหน่งสาธารณะสั้น
  • มีค่าตอบแทนตำแหน่งสาธารณะ
เงื่อนไขทั่วไป
  • นครรัฐขนาดเล็ก ดินแดนส่วนในเป็นพื้นที่การเกษตร
  • เศรษฐกิจระบบทาส ทำให้พลเมืองมีเวลาว่าง
  • มีคนทำงานบ้าน (แรงงานสตรี) บุรุษมีเวลาทำงานสาธารณะ
  • จำกัดสิทธิการเป็นพลเมืองอยู่ในจำนวนน้อย
  1. Republicanism: Liberty, Self-Government and the Active Citizen


[2] Model IIa
| Protective Republicanism | ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐคุ้มครอง
หลักแห่งความชอบธรรม
  • การมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นเงื่อนไขจำเป็นพื้นฐานของเสรีภาพของบุคคล; หากพลเมืองไม่ร่วมเป็นผู้ปกครองด้วยก็จะถูกอิทธิพลครอบงำโดยพลเมืองอื่น
คุณลักษณะสำคัญ
  • ดุลยภาพแห่งอำนาจระหว่าง “ประชาชน”, ชนชั้นสูง ชนชั้นขุนนาง (aristocracy) และ สถาบันพระมหากษัตริย์ เชื่อมโยงถึงรัฐธรรมนูญลักษณะผสม หรือรัฐบาลลักษณะผสม, โดยมีบทบัญญัติเอื้ออำนวยให้พลังอำนาจทางการเมืองระดับผู้นำมีบทบาทนำมากกว่าในสาธารณกิจ
  • การมีส่วนร่วมของพลเมืองทำได้โดยผ่านหลากหลายกลไกที่เป็นไปได้ รวมทั้งการเลือกตั้งผู้แทนเข้าสู่สภาผู้ปกครอง
  • กลุ่มต่างๆในสังคมแข่งขันกันส่งเสริม ผลักดัน และ ปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มตน
  • มีเสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็น และการรวมกลุ่มสมาคม
  • กฎแห่งการปกครองโดยกฎหมาย
เงื่อนไขทั่วไป
  • ชุมชนเมืองขนาดเล็ก
  • ทำนุบำรุงศาสนกิจ
  • ประชาคมของผู้ประกอบศิลปาชีพและพาณิชย์การ
  • สตรี ผู้ใช้แรงงาน ผู้ต้องพึ่งพาผู้อื่น ถูกแยกอยู่นอกกิจกรรมการเมือง (บุรุษมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นในกิจการสาธารณะ)
  • สมาคมทางการเมืองที่แข่งขันกันมีความขัดแย้งกันเข้มข้นมากขึ้น


[3] Model IIb

| Developmental Republicanism | ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐพัฒนา
หลักแห่งความชอบธรรม
  • พลเมืองต้องมีความเสมอภาคกันทางการเมือง และ เศรษฐกิจ เพื่อมิให้ผู้ใดเป็นเจ้านายเหนือผู้อื่นใด ทุกคนสามารถบรรลุถึงความเท่าเทียมกันในการมีอิสรภาพ และ การพัฒนาตน ในกระบวนการตัดสินกำหนดตนเพื่อความดีงามอันเป็นส่วนรวม
คุณลักษณะสำคัญ
  • แบ่งแยกหน้าที่การสาธรณกิจเป็น ฝ่ายนิติบัญญัติ และ ฝ่ายบริหาร
  • การมีส่วนร่วมโดยตรงของพลเมืองในการประชุมสาธารณะถือเป็นสภานิติบัญญัติ
  • มติเอกฉันท์ต่อกิจการงานสาธารณะเป็นสิ่งพึงประสงค์ แต่ในกรณีที่มีความเห็นขัดแย้งก็พึงให้มีการออกเสียงลงคะแนนตัดสินด้วยเสียงข้างมาก
  • ตำแหน่งงานฝ่ายบริหารเป็นของคณะข้าราชการและผู้บริหาร 
  • ผู้บริหารมาจากการแต่งตั้ง, เลือกตั้งโดยตรง หรือโดยการจับสลาก
เงื่อนไขทั่วไป
  • เป็นชุมชนขนาดเล็กที่มิใช่ชุมชนอุตสาหกรรม
  • กระจายความเป็นเจ้าของทรัพย์สินอย่างกว้างขวางในหมู่พลเมืองจำนวนมาก; พลเมืองพึ่งการเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินส่วนบุคคล, เป็นประชาคมของผู้ผลิตอิสระ
  1. The development of Liberal Democracy: For and Against the State


[4] Model IIIa
| Protective Democracy | ประชาธิปไตยแบบคุ้มครอง
หลักแห่งความชอบธรรม
  • พลเมืองต้องได้รับการคุ้มครองจากการใช้อำนาจของผู้ปกครอง และจากพลเมืองด้วยกัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ทีทำหน้าที่ปกครองทำตามนโยบายที่ตกลงไว้กับพลเมืองเพื่อผลประโยชน์ของพลเมืองโดยรวม
คุณลักษณะสำคัญ
  • อำนาจอธิปไตยในที่สุดอยู่กับพลเมือง แต่มอบต่อให้ผู้เป็นตัวแทนไปบริหารงานอันเป็นกิจของรัฐด้วยความชอบธรรม
  • มีการเลือกตั้งเป็นประจำ ลงคะแนนแบบลับ กลุ่มต่างๆแข่งขันกัน มีศักยภาพในการก่อเกิดกลุ่มบุคคลซึ่งจะเป็นผู้นำ หรือพรรค, มีการปกครองโดยเสียงข้างมากเป็นสถาบันการปกครองพื้นฐาน เพื่อสถาปนาระบบการตรวจสอบได้ในเรื่องความชอบธรรมของผู้ทำหน้าที่ปกครอง
  • อำนาจรัฐต้องไม่เป็นเรื่องส่วนตัว เช่น ต้องให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แบ่งกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และ ฝ่ายตุลาการ
  • มีรัฐธรรมนูญเป็นแกนกลางในการประกันอิสรภาพจากการการปฏิบัติอันมิเป็นธรรม มีความเสมอภาคตามกฎหมาย ในรูปแบบของสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง หรือ เสรีภาพทางการเมือง และ เสรีภาพของพลเมือง เหนือเรื่องอื่นใด คือเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคกัน ในเรื่อง การพูด การแสดงความคิดเห็น การสมาคม การออกเสียงลงคะแนน และการดำรงไว้ซึ่งความเชื่อของตน
  • แยก “รัฐ” ออกจาก “ประชาสังคม”, ตัวอย่างเช่น ภารกิจทั่วไปของรัฐคือการสร้างกรอบอันจะเอื้ออำนวยให้พลเมืองได้ดำเนินชีวิตส่วนตัวที่ปราศจากความเสี่ยงต่อความรุนแรง พฤติกรรมทางสังคมที่มิอาจเป็นที่ยอมรับได้ และการแทรกแซงทางการเมืองอันไม่เป็นที่พึงประสงค์
  • มีกลุ่มศูนย์อำนาจ และ กลุ่มผลประโยชน์ แข่งขันกันชิงอำนาจรัฐ 
เงื่อนไขทั่วไป
  • ภาคประชาสังคมมีการพัฒนาถึงขั้นมีการเมืองปกครองที่ปกครองตนเองได้ 
  • ส่วนบุคคลครอบครองเครื่องมือการผลิต
  • เศรษฐกิจแบบตลาดการแข่งขันเสรี
  • ระบบการปกครองในครอบครัวแบบพ่อเป็นผู้ปกครอง
  • รัฐขยายอาณาเขต

[5] Model IIIb | Develpomental Democracy | ประชาธิปไตยแบบพัฒนา
หลักแห่งความชอบธรรม
  • การมีส่วนร่วมในวิถีชีวิตการเมืองเป็นเรื่องจำเป็น ไม่เพียงแต่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น แต่ก็ด้วยเพื่อการสรรสร้างการเป็นพลเมืองที่เปี่ยมด้วยข้อมูลข่าวสารความรู้ มีความยึดมั่นพันผูกกับการพัฒนาตนเองและพัฒนาสังคมประชาธิปไตย การเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นเงื่อนไขจำเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การขยายขีดความสามารถของบุคคลสู่จุดสูงสุดอย่างมีสุนทรียภาพ
คุณลักษณะสำคัญ

  • หลักอธิปไตยของปวงชนส่วนรวมโดยการมีสิทธิเสรีภาพเป็นสากล (พร้อมด้วยระบบการออกเสียงลงคะแนนตามระบบสัดส่วน (Proportional Representation – PR)
  • รัฐบาลแบบผู้แทนปวงชน (เลือกตั้งผู้นำ, เลือกตั้งเป็นประจำ, ลงคะแนนเลือกตั้งแบบลับ, ฯลฯ)
  • มีรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือกำหนดกรอบตรวจสอบ-สร้างขอบเขตจำกัด –และแบ่งสรรอำนาจรัฐ และเพื่อยืนยันการส่งเสริมสิทธิของบุคคล และโดยเฉพาะที่เหนือสิ่งอื่นใดคือบรรดาการใดๆที่เกี่ยวโยงกับอิสรภาพในการคิด การรู้สึก รสนิยม การถกเถียงเสวนา การพิมพ์  การผนวกรวมและการมุ่งมั่นในอันที่จะไปสู่แผนการเลือกดำเนินวิถีชีวิตอันหลากหลายของบุคคล
  • มีการแยกกันอย่างชัดเจนระหว่างการประชุมรัฐสภา กับ ระบบราชการสาธารณะ เช่น การแยกระหว่างหน้าที่การงานของผู้ที่ดำรงตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้ง กับ ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการเฉพาะเรื่อง ซึ่งทำหน้าที่นักบริหารกิจการสาธารณะ
  • พลเมืองเข้าร่วมกิจกรรมสาขาต่างๆของรัฐบาล โดยการออกเสียงลงคะแนน การมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการปกครองส่วนท้องถิ่น การอภิปรายเรื่องนโยบายสาธารณะ และการบริการในกระบวนการยุติธรรม
เงื่อนไขทั่วไป
  • ภาคประชาสังคมเป็นอิสระ โดยมีการแทรกแซงจากภาครัฐน้อยที่สุด
  • เศรษฐกิจแบบตลาดการแข่งขันเสรี
  • ส่วนบุคคลครอบครองเครื่องมือการผลิต คู่ขนานไปกับการทดลองระบบสหกรณ์ชุมชนเป็นเจ้าของเครื่องมือการผลิต
  • สตรีได้รับสิทธิและเสรีภาพ แต่ยังคงรักษาไว้ซึ่งระบบดั้งเดิมในการแบ่งหน้าที่การงานในครัวเรือน
  • ระบบชาติ-รัฐ ที่มีการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐดีแล้ว

Direct Democracy and the End of Politics
ประชาธิปไตยทางตรง และ การยุติการเมือง

[6] Model IV | Direct Democracy and the End of Politics | ประชาธิปไตยทางตรง สิ้นสุดการเมือง

หลักแห่งความชอบธรรม
‘การพัฒนาอย่างอิสระเสรีสำหรับคนทั้งหมด’ จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมี ‘การพัฒนาอย่างอิสระเสรีของบุคคล’ อิสรภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสิ้นสุดการเอารัดเอาเปรียบ และในที่สุดจะต้องมีความเสมอภาคอย่างบริบูรณ์ในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ; ความเสมอภาคเท่านั้นที่จะประกันเงื่อนไขอันจะทำให้บรรลุซึ่งศักยภาพในหมู่มวลมนุษย์ เพื่อว่า “แต่ละคนจะสามารถบรรลุถึงขีดความสามารถของตน” (Each can give according to his ability)และ “รับสิ่งที่จำต้องใช้”(Receive what they need)
คุณลักษณะสำคัญ
Socialism | ลัทธิสังคมนิยม
  • คอมมูน หรือ สภา เป็นผู้จัดการกิจารสาธารณะ ใช้อำนาจบริหารจัดการตามลำดับชั้นในรูปแบบปีรามิด
  • เจ้าหน้าที่รัฐบาล เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย ผู้บริหาร จะต้องได้มาด้วยการเลือกตั้ง มีการจัดการเลือกตั้งบ่อยๆ ตามความเห็นพ้องต้องกันจากชุมชน และมีอำนาจการถอดถอนผู้ได้รับการเลือกตั้งออกได้
  • เจ้าหน้าที่ผู้บริหารสาธารณกิจจะได้รับค่าตอบแทนไม่มากเกินค่าจ้างแรงงานทั่วไป
  • มีกองกำลังประชาชนทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองระบอบการเมืองใหม่ ภายใต้การกำกับดูแลของชุมชน
Communism | ลัทธิคอมมิวนิสต์
  • ‘รัฐบาล’ และ ‘การเมือง’ ในทุกรูปแบบถูกแทนที่โดยการกำกับดูแลตนเองของประชาชน
  • กิจการสาธารณะถูกปกครองดูแลโดยระบบคณะกรรมการ
  • ถือ ‘ฉันทามติ’ เป็นหลักในการตัดสินใจประเด็นสาธารณะทั้งมวล
  • จำแนกตำแหน่งหน้าที่การบริหารจัดการงานสาธารณะที่เหลือโดยการหมุนเวียนตำแหน่ง หรือโดยการเลือกตั้ง
  • กองกำลังติดอาวุธ และกองกำลังเพื่อการรุกรานถูกแทนที่ด้วยกระบวนการตรวจสอบตนเอง
เงื่อนไขทั่วไป
Socialism | ลัทธิสังคมนิยม
  • ชนชั้นแรงงาน (working class)มีเอกภาพ
  • ชนชั้นกระฎุมพี (bourgeoisie-ชนชั้นกลาง-นายทุน-ขุนนาง-อำมาตย์) พ่ายแพ้
  • สุดสิ้นสิทธิพิเศษทุกชนชั้น
  • มีการพัฒนากำลังการผลิตมากอย่างเพียงพอเพื่อตอบสนองความจำเป็นพื้นฐาน ประชาชนมีเวลาเหลือพอที่จะทำในสิ่งที่มิใช่กิจกรรมการผลิต
  • รัฐและสังคมบูรณาการเข้าด้วยกันเพิ่มพูนมากขึ้นตามลำดับ
Communism | ลัทธิคอมมิวนิสต์
  • ส่วนต่างๆของการเป็นชนชั้นสลายสิ้น
  • กำจัดสิ้นซึ่งความขาดแคลนทั้งหลายของปัจจัยการผลิต กำจัดการมีทรัพย์สินส่วนตนทั้งมวลอันเป็นปัจจัยการผลิต
  • กำจัดการตลาด การแลกเปลี่ยน และระบบเงินตรา
  • สิ้นสุดการแบ่งแยกสังคมและแรงงาน

Competitive Elitism and the Technocratic Vision
การแข่งขันของชนชั้นผู้นำและวิสัยทัศน์ของมืออาชีพผู้ชำนาญการ

[7] Model V | Competitve Elitist Democracy | ประชาธิปไตยโดยกลุ่มชนชั้นผู้นำในสังคม
หลักแห่งความชอบธรรม
  • มีวิธีการเลือกสรรกลุ่มชนชั้นผู้นำทางการเมืองผู้มีทักษะความรู้ความสามารถและมีจินตนาการเพื่อการตัดสินใจทำในเรื่องการนิติบัญญัติและการบริหารจัดการรัฐ
  • สร้างระบบขัดขวางการนำทางการเมืองที่เกินขอบเขต
คุณลักษณะสำคัญ
  • รัฐบาลโดยรัฐสภา เป็นฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง
  • มีการแข่งขันระหว่างกลุ่มผู้นำทางการเมือง และ พรรคการเมืองต่างๆ
  • รัฐสภาอยู่ใต้ระบบการควบคุมอำนาจโดยการเมืองระบบพรรคการเมือง
  • ผู้นำทางการเมืองเป็นแกนกลางของอำนาจการนำทางรัฐ
  • ระบบราชการ : มีคุณภาพ ได้รับการฝึกฝนอบรมอย่างดี และเป็นอิสระ
  • ทั้งรัฐธรรมนูญ และการทำงานในภาคปฏิบัติจริง วางกรอบจำกัดไว้ให้ในเรื่อง ‘ขอบเขตที่ได้ประสิทธิผลในการตัดสินใจทางการเมือง’
เงื่อนไขทั่วไป
  • สังคมอุตสาหกรรม
  • ความขัดแย้งทางการเมืองและสังคม เป็นแบบกระจัดกระจายเป็นส่วนแยกย่อยหลายหลาก
  • ประชากรผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้รับข่าวสารข้อมูลระดับต่ำ และ/หรือ ใช้อารมณ์ตัดสินออกเสียงลงคะแนน
  • วัฒนธรรมทางการเมืองที่ยอมรับได้ในความเห็นที่แตกต่างกัน
  • การปรากฏของกลุ่มคนที่เป็นผู้ชำนาญการ นักบริหารจัดการ ผู้ซึ่งผ่านการฝึกฝนอบรมทางด้านเทคนิควิชาการมาอย่างดี
  • มีการแข่งขันระหว่างรัฐเพื่อแย่งชิงอำนาจและความได้เปรียบในระบบระหว่างประเทศ

Pluralism, Corporate Capitalism and the State

พหุนิยม, ทุนนิยมบรรษัท และ รัฐ

[8] Model VI | Pluralism | ประชาธิปไตยพหุนิยม (เคารพทุกเสียงในสังคม)
หลักแห่งความชอบธรรม
  • มีรัฐบาลโดยเสียงข้างน้อยได้ ทำให้มีเสรีภาพทางการเมือง
  • เป็นหลักการขวางกั้นการก่อเกิดกลุ่มที่มีอำนาจมากเกินและรัฐที่ไม่ตอบสนองประชาชน
คุณลักษณะสำคัญ
  • สิทธิการถือสัญชาติ หนึ่งคนหนึ่งเสียง อิสรภาพในการแสดงความคิดเห็น อิสรภาพในการจัดการรวมกลุ่มองค์กร สมาคม ฯลฯ
  • ระบบตรวจสอบ ถ่วงดุล ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และฝ่ายข้าราชการ
  • ระบบการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันกัน โดยมีพรรคการเมืองอย่างน้อย 2 พรรค
              Classic Pluralism | พหุนิยมดั้งเดิม
  • มีกลุ่มผลประโยชน์หลากหลายและทับซ้อนกันพยายามสร้างอิทธิพลทางการเมือง
  • รัฐบาลทำหน้าที่รอมชอม ตัดสินปัญหาความแตกต่างของข้อเรียกร้องจากกลุ่มต่างๆ
  • รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด การปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเป็นฐานวัฒนธรรมทางการเมือง
                 Neo-Pluralism | พหุนิยมใหม่
  • มีกลุ่มผลประโยชน์จำนวนมาก แต่วาระทางการเมืองโน้มเอียงไปทางการแสวงหาอำนาจของบรรษัทธุรกิจ
  • รัฐ และส่วนองค์กรต่างๆของรัฐกำหนดผลประโยชน์ของส่วนตน
  • รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด การปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญสะท้อนลักษณะหลากหลายของวัฒนธรรมทางการเมือง และระบบที่มีความไม่เท่าเทียมกันอย่างมากของทรัพยากรทางเศรษฐกิจ
เงื่อนไขทั่วไป
Classic Pluralism | พหุนิยมดั้งเดิม
  • อำนาจถูกแบ่งสรรปันส่วนและแลกเปลี่ยนกันระหว่างหลายกลุ่มในสังคม
  • ทรัพยากรรูปแบบต่างๆได้รับการจำแนกแจกจ่ายไปสู่ประชากรโดยทั่ว
  • กระบวนการทางการเมืองได้รับความเห็นชอบในค่านิยมโดยฉันทามติ, มีนโยบายเป็นทางเลือกมากหลากหลาย และการเมืองมีขอบเขตแห่งความชอบธรรมกว้างขวาง
  • มีดุลยภาพมากพอที่จะมีความมั่นคงทางการเมืองระหว่างพลเมืองที่เอาใจใส่แข็งขันในกิจการสาธารณะ กับ พลเมืองที่ไม่ใส่ใจนักในกิจการสาธารณะ
Neo-Pluralism | พหุนิยมใหม่
  • หลายกลุ่มแข่งขันชิงอำนาจกัน
  • หลายกลุ่มที่มีทรัพยากรน้อยไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองได้เต็มที่
  • การกระจายอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ไม่เสมอภาคกันทำให้ทางเลือกทางการเมืองมีจำกัด
  • การเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองไม่เท่ากัน : รัฐบาลไม่เปิดกว้างพอสำหรับพลเมือง
  • ระบบระหว่างประเทศถูกประนีประนอมกับพลังอำนาจของกลุ่มผลประโยชน์เศรษฐกิจข้ามชาติและรัฐที่ทรงอำนาจเหนือกว่า

From Postwar Stability to Political Crisis: The Polarization of Political Ideals
จากยุคความมั่นคงหลังสงครามโลก สู่วิกฤติการเมือง: การแบ่งขั้วอุดมการณ์ทางการเมือง

[9] Model VII | Legal Democracy | ประชาธิปไตยนิติธรรม
หลักแห่งความชอบธรรม
  • การเคารพเสียงข้างมากเป็นหลักการที่พึงปรารถนาและมีประสิทธิผล เพื่อการปกป้องคุ้มครองบุคคลจากการใช้อำนาจโดยพลการของรัฐ และเพื่อผดุงไว้ซึ่งเสรีภาพ แม้กระนั้นก็ตาม  วิถีชีวิตทางการเมืองซึ่งก็ทำนองเดียวกันกับวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจนั้น หากจะให้บุคคลยังสามารถธำรงไว้ซึ่งอิสรภาพและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ไปตามปรกติได้ การปกครองโดยเสียงข้างมากจะต้องถูกกำกับควบคุมและจำกัดให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ภายใต้เงื่อนไขของการปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้นที่หลักแห่งการเคารพเสียงข้างมากจะทำงานได้อย่างฉลาดและและเป็นธรรม
คุณลักษณะสำคัญ
  • มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ (ตามต้นแบบและคุณลักษณะสำคัญของประเพณีนิยมทางการเมืองแบบอังกฤษ-อเมริกัน)
  • การเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย
  • รัฐแทรกแซงประชาสังคมและชีวิตส่วนตัวของพลเมืองน้อยที่สุด
  • สังคมเศรษฐกิจแบบการตลาดเสรีได้รับโอกาสพัฒนาอย่างกว้างขวางสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
เงื่อนไขทั่วไป
  • การนำทางการเมืองมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยหลักการเสรีนิยม (liberal principles)
  • กฎระเบียบของระบบราชการที่มีมากและใช้อำนาจเกินไปจะถูกลดลงให้เหลือน้อยที่สุด
  • จำกัดบทบาทของกลุ่มผลประโยชน์ โดยเฉพาะสหภาพแรงงาน
  • ระบบการค้าเสรีระหว่างประเทศ
  • ลดการเสี่ยงต่อการถูกกดดันข่มขู่จากระบบอำนาจที่เกิดจากร่วมกลุ่มร่วมพลัง (collectivism) (ลดลงให้เหลือน้อยที่สุด หรือกำจัดให้หมดสิ้น)

[10] Model VIII | Participatory Democracy | ประชาธิปไตยแบบพลเมืองมีส่วนร่วม
หลักแห่งความชอบธรรม
  • การมีสิทธิเสมอภาคกันต่อเรื่องการมีเสรีภาพ และ สิทธิเสมอภาคต่อเรื่องการพัฒนาตนเอง จะบรรลุเป้าประสงค์ได้ก็ต่อเมื่ออยู่ใน ‘สังคมแห่งการมีส่วนร่วม’ เป็นสังคมที่หล่อหลอมจิตสำนึกทางการเมืองอันทรงสัมฤทธิผล หล่อเลี้ยงใส่ใจความรู้สึกห่วงใยปัญหาของส่วนรวมร่วมกัน เสริมสร้างให้เกิดพลเมืองที่มีความรู้ถึงระดับที่จะสามารถใส่ใจใกล้ชิดอย่างยั่งยืนต่อกระบวนการปกครองของรัฐ
คุณลักษณะสำคัญ
  • การมีส่วนร่วมโดยตรงของพลเมืองในการกำหนดกฎเกณฑ์ของสถาบันหลักในสังคม รวมทั้งสถานที่ทำงาน และชุมชนท้องถิ่น
  • จัดการระบบพรรคการเมืองใหม่ โดยทำให้เจ้าหน้าที่ของพรรครับผิดชอบต่อสมาชิกพรรคโดยตรง
  • ‘พรรคแบบสมาชิกมีส่วนร่วม’ เข้ามามีบทบาทในโครงสร้างของระบบรัฐสภา
  • รักษาระบบสถาบันแบบเปิดกว้างเพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปได้ที่จะเกิดกระบวนการทดลองการเมืองในรูปแบบต่างๆ
เงื่อนไขทั่วไป
  • ฐานทรัพยากรของกลุ่มสังคมต่างๆที่มีน้อยด้อยคุณภาพต้องได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นโดยตรง ผ่านกระบวนการแจกจ่ายถ่ายโอนทรัพยากรที่เป็นทรัพย์สินวัตถุทั้งหลาย
  • ลดอำนาจของระบบราชการที่ไม่รับผิดชอบต่อพลเมือง ทั้งส่วนที่เป็นกิจการสาธารณะ และส่วนที่เป็นกิจการส่วนตัวของพลเมือง (ลดลงให้เหลือน้อยที่สุด หรือกำจัดให้หมดสิ้น)
  • ระบบข้อมูลข่าวแบบเปิดเพื่อให้มีการตัดสินใจด้วยข้อมูลความรู้อย่างพอเพียง
  • ทบทวนข้อกำหนดในการช่วยดูแลเด็กๆเพื่อให้ทั้งสตรีและบุรุษสามารถเข้ามีส่วนร่วมในชีวิตกิจการสาธารณะได้

Democracy after Soviet Communism
ประชาธิปไตยหลังลัทธิคอมมิวนิสต์โซเวียต
Deliberative Democracy and the Defense of the Public Realm

ปรพชาธิปไตยแบบผ่านกระบวนการรับฟังเสียงประชาชน และ การปกป้องคุ้มกันความเห็นสาธารณะ

[11] Model IX | Deliberative Democracy | ประชาธิปไตยโดยกระบวนการมติพลเมือง
หลักแห่งความชอบธรรม
  • ข้อกำหนดและเงื่อนไขของการสมาคมทางการเมืองผ่านกระบวนการแสดงความเห็นชอบของพลเมือง ด้วยการใช้เหตุผล และดำเนินไปอย่างเสรี การ “ร่วมกันกำหนดความเป็นธรรม” ในกระบวนการตัดสินทางการเมืองเป็นรากฐานอันชอบธรรมในการแสวงหาวิธีแก้ปัญหาร่วมกัน 
คุณลักษณะสำคัญ
  • การสำรวจความคิดเห็น เพื่อลงมติ เพื่อการกำหนดวันเวลา และ การมีประชาชนเป็นคณะลูกขุนเพื่อการตัดสินข้อปัญหาคดีความต่างๆ
  • E-Government หรือ “รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์” (รัฐบาล-อี) ริเริ่มโครงการต่างๆ ตั้งแต่โครงการายงานข่าวสารผ่านเครือข่ายอินเตอร์เนต (online) อย่างสมบูรณ์ ไปจนถึงการเข้าถึงผู้แทนราษฎรโดยตรง
  • E-Democracy หรือ “ประชาธิปไตย์อิเล็กทรอนิกส์” (ประชาธิปไตย-อี) มีโครงการต่างๆ เช่น เวทีแสดงความคิดเห็นสาธารณะผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (online)
  • การจัดกลุ่มวิเคราะห์ และการนำเสนอแนวนโยบายต่างๆ
  • การสำรวจ รับฟัง และลงมติแสดงความเห็นในวิถีชีวิตสาธารณะอย่างกว้างขวางทั่วถึง ตั้งแต่เวทีสาธารณะระดับเล็ก ไปจนถึงระดับชาติ
  • รูปแบบใหม่ในการใช้การออกเสียงลงประชามติผูกโยงกับการสำรวจความเห็นพลเมือง, ฯลฯ
  • การสำรวจความเห็นพลเมืองเพื่อการตัดสินใจในเรื่องกิจการสาธารณะต่างๆ ทำอย่างลึกซึ้งมากขึ้น เป็นการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ต่อๆไปจนถึงประชาธิปไตยแบบพลเมืองมีส่วนร่วมในกระบวนการลงมติอย่างเข้มข้น
เงื่อนไขทั่วไป
  • พหุนิยมแบบยึดค่านิยม (Value Pluralism)
  • โครงการให้การศึกษาพลเมืองอย่างเข้มข้น
  • วัฒนธรรมและสถาบันสาธารณะสนับสนุนการพัฒนาทางเลือกแบบ “กลั่นกรองอย่างถี่ถ้วนรอบคอบและสะท้อนความต้องการ” ของพลเมือง
  • มีงบประมาณสาธารณะ สนับสนุนองค์กรจัดการสำรวจความเห็นเพื่อการลงมติ และองค์กรระดับรองที่สนับสนุนกิจกรรมแบบเดียวกัน

Democratic Autonomy

การปกครองตนเองแบบประชาธิปไตย

[12] Model Xa
| Democratic Autonomy | ประชาธิปไตยแบบปกครองตนเอง 
หลักแห่งความชอบธรรม
พลเมืองควรมีสิทธิเสมอภาคกัน ในขณะเดียวกันก็ควรมีภาระหน้าที่ผูกพันและความรับผิดชอบเสมอเหมือนกัน ตามคุณลักษณะของกรอบการเมืองซึ่งทั้งเอื้ออำนวยให้เกิดโอกาสและทั้งจำกัดโอกาสสำหรับพลเมือง หมายความว่าพลเมืองควรมีอิสระและเสมอภาคกันในกระบวนการสอบถามความเห็นและลงมติสาธารณะว่าด้วยเรื่องเงื่อนไขในการดำเนินชีวิตของตน และความมุ่งหวังตั้งใจที่จะให้ได้ตามเงื่อนไขเหล่านั้น ตราบเท่าที่พลเมืองทั้งหลายเหล่านั้นไม่ทำสิ่งใดในกรอบปฏิบัติเดียวกันนี้ในอันที่จะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิของพลเมืองผู้อื่น

คุณลักษณะสำคัญ
State | รัฐ
  • หลักการมีอิสระปกครองตนเองบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยสิทธิเสรีภาพบุคคล
  • โครงสร้างรัฐสภาหรือสภานิติบัญญัติ (แบบสองสภา จากการลงคะแนนเลือกตั้งระบบสัดส่วน – Proportional Representation-PR)
  • ระบบตุลาการที่รวมถึงเวทีที่จัดขึ้นเฉพาะกิจพิเศษเพื่อตรวจสอบการตีความเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ เลือกตั้งโดยระบบตัวแทนเชิงสถิติ (Statistical Representation-SR -ตัวแทนกลุ่มชนสำคัญประเภทต่างๆในสังคม เช่นกลุ่มเพศ, เชื้อชาติ ฯลฯ
  • ระบบพรรคการเมืองแข่งขันกัน (โดยได้รับการอุดหนุนจากงบประมาณสาธารณะ และประชาชนบางกลุ่มมีส่วนร่วมโดยตรงในการจัดการเรื่องกฎระเบียบขององค์กร เช่นการร่วมกิจกรรมผ่านการประชุมแบบเปิด การลงประชามติในท้องถิ่น และการส่งคณะผู้แทนเข้าร่วมกิจกรรมโดยตรง - Direct Participation)
  • ระบบบริหารราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นมีการจัดองค์กรภายในให้รวมองค์ประกอบของระบบการมีส่วนร่วมโดยตรงด้วย และให้มีการประสานและร่วมมือเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของท้องถิ่น
Civil Society | ประชาสังคม
  • มีความแตกต่างหลากหลายในด้านลักษณะครัวเรือน, แหล่งข้อมูลข่าวสาร, สถาบันวัฒนธรรม, กลุ่มผู้บริโภค ฯลฯ
  • การบริการชุมชน เช่น การเลี้ยงดูเด็ก ศูนย์บริการสาธารณสุข ศูนย์การศึกษาชุมชน มีการบริหารจัดการกันเองภายในชุมชน โดยใช้องค์ประกอบการทำงานแบบการมีส่วนร่วมโดยตรง แต่ให้โอกาสแก่ผู้อยู่ในวัยผู้ใหญ่ก่อน
  • มีการพัฒนาและทดลองรูปแบบต่างๆของการประกอบกิจการที่บริหารจัดการกันเองในชุมชน
เงื่อนไขทั่วไป
  • รับข้อมูลข่าวสารแบบเปิดกว้างและเสรี เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะได้มีการตัดสินใจในเรื่องกิจการสารณะโดยมีข้อมูลครบสมบูรณ์
  • ใช้กลไกและกระบวนการประชาธิปไตยแบบาสอบถามความเห็นเพื่อลงมติอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การออกสำรวจตรวจวัดความคิดเห็น จนถึงการรับความเห็นย้อนกลับจากผู้ลงคะแนนเสียงลงคะแนน เพื่อการเสริมประสิทธิภาพกระบวนการมีส่วนร่วมของพลเมือง
  • การกำกับควบคุมเป้าหมายรวมทางเศรษฐกิจกระทำโดยรัฐบาล ซึ่งมีการหารือกับภาคสาธารณชนและองค์กรภาคเอกชน
  • สร้างกฎคุ้มครองแรงงาน, สวัสดิการสังคม, การดูแลสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เพื่อการประกอบการอย่างมีพลวัตในบรรษัท
  • ศูนย์อำนาจที่มีผลต่อวิถีชีวิตสาธารณะและวิถีชีวิตส่วนตัว ที่ไม่รับผิดชอบและตรวจสอบกำกับดูแลไม่ได้ (ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมโดยตรงของพลเมือง) ต้องลดลงให้มากที่สุด
  • รักษาโครงสร้างสถาบันในสังคมให้ตอบสนองต่อการทดลองใหม่ๆที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการแบบต่างๆ


Democracy, the Nation-State and the Global System

ประชาธิปไตย, รัฐชาติ และระบบโลก

[13] Model Xb
| Cosmopolitan Democracy | ประชาธิปไตยแบบสากลโลก (โลกาธิปไตย)
หลักแห่งความชอบธรรม
  • ในโลกที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคและประเทศอื่นๆรอบโลกทวีความเข้มข้นมากขึ้น มีการเหลื่อมทับซ้อนกันของการเป็นชุมชนและผลประโยชน์ ชะตาอนาคตของชุมชนต่างๆมากมาย หลักการบริหารจัดการปกครองตนเองจำต้องพึ่งพาความเป็นเครือข่ายประเทศระดับภูมิภาคและระดับโลก ขณะที่ยังต้องพึ่งพาแบบแผนความสัมพันธ์ภายในประเทศและการจัดการนโยบายในประเทศอยู่อีกด้วย
คุณลักษณะสำคัญ
รูปแบบการจัดการปกครอง | Polity/Governance
ระยะสั้น
  • การปฏิรูปสถาบันบริการต่างๆขององค์การสหประชาชาติ เช่น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนามีสิทธิมีเสียงสำคัญ และให้มีขีดความสามารถในการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ)
  • สร้างสภาที่สองขององค์การสหประชาติ (โดยการจัดประชุมระหว่างประเทศเพื่อร่างรัฐธรรมนูญหรือกฎบัตรใหม่)
  • เสริมพลังอำนาจกระบวนการวมกลุ่มการเมืองของประเทศในระดับภูมิภาค  (สหภาพยุโรป-EU, อาเซียน-ASEANฯลฯ) การใช้กระบวนการหยั่งเสียงประชามติข้ามชาติ
  • ก่อตั้งศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศขึ้นใหม่ ; บังคับนานาชาติให้ขึ้นต่อศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ
  • ก่อตั้งกองกำลังระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพและรับผิดชอบต่อสหประชาชาติ
ระยะยาว
  • กฎบัตรใหม่ว่าด้วยเรื่องสิทธิและหน้าที่ผูกโยงเข้าไปภายในอำนาจการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ต่างๆ
  • รัฐสภาโลก (มีขีดจำกัดในการจัดหางบประมาณ) สัมพันธ์เชื่อมโยงกับ ภูมิภาค ชาติ และชุมชนท้องถิ่นต่างๆ
  • แยกผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจออกจากกัน มีงบประมาณสาธารณะสนับสนุน กระบวนการเลือกตั้งและการประชุมรัฐสภาโลก
  • ระบบกฎหมายโลกที่เชื่อมโยงระหว่างประเทศ โดยมีองค์ประกอบเดียวกันด้านกฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่ง
  • ปรับทิศทางของพลังอำนาจเชิงรุกรานของรัฐชาติต่างๆให้
  • เข้าระบบอำนาจระดับภูมิภาคและระดับโลกอย่างถาวร
เศรษฐกิจ/ประชาสังคม | Economy/Civil Society
ระยะสั้น
  • ส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาแบบไม่ใช้อำนาจรัฐ ไม่พึ่งกลไกตลาด สำหรับการบริหารจัดการภาคประชาสังคม
  • ทดลองรูปแบต่างๆในการจัดการองค์กรเศรษฐกิจในแบบประชาธิปไตย
  • จัดหาทรัพยากรให้กับผู้มีในฐานะทางสังคมที่เสี่ยงที่สุด เพื่อปกป้องและเสริมสร้างผลประโยชน์ให้เข้มแข็งขึ้น
ระยะยาว
  • สร้างสมาคมที่มีการจัดการตรวจสอบตนเอง และ กลุ่มประชาสังคมต่างๆให้มากหลากหลาย
  • ระบบเศรษฐกิจแบบแยกหลายส่วนการผลิต หลากหลายรูปแบบการเป็นเจ้าของกิจการและเจ้าของทรัพย์สิน
  • กำหนดกรอบสาธารณะในเรื่องลำดับความสำคัญในการลงทุนผ่านกระบวนการสอบถามความเห็นทั่วไปของสาธารณะ และการตัดสินใจของรัฐบาล แต่ให้มีการกำกับควบคุมกฎเกณฑ์ตลาดและแรงงานอย่างกว้างขวาง
เงื่อนไขทั่วไป
  • มีความต่อเนื่องในการพัฒนาการเคลื่อนย้ายทรัพยากรและเครือข่ายความสัมพันธ์ต่อกันในระดับภูมิภาค ระดับระหว่างประเทศ และระดับโลก
  • มีการเชื่อมโยงของเครือข่ายประชาชนพลเมืองที่เป็นชุมชนทางการเมืองอย่างแตกต่างหลากหลาย ทั้งในด้านพื้นที่, สังคม, วัฒนธรรม, เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
  • พัฒนาความเข้าใจในเรื่องการเหลื่อมทับซ้อนกันของความมั่งคั่งส่วนรวมของกลุ่มองค์กรต่างๆ ซึ่งจำต้องมีกระบวนการตกลงความขัดแย้งแบบประชาธิปไตย ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก
  • เสริมสร้างกรอบปราการสำหรับสิทธิและหน้าที่ตามระบบประชาธิปไตย ในการบัญญัติและบังคับใช้กฎหมายระดับชาติ ระดับภูมิภาค และกฎหมายระหว่างประเทศ
  • โยกย้ายถ่ายโอนขีดความสามารถของส่วนต่างๆของกองทัพ หรือกองกำลังเชิงรุกรานระดับชาติ เข้าไปเป็นขององค์กรหรือสถาบันระดับข้ามชาติ โดยมีเป้าประสงค์ในที่สุดเพื่อการลดกำลังทหาร และสลายระบบการสงครามระหว่างรัฐ

[แปลจากบทสรุปในหนังสือ David Held, Models of Democracy, 3rd Edition, Polity Press, Cambridge (UK), Malden, MA, U.S.A., , 2006]

สมเกียรติ อ่อนวิมล
1 มกราคม 2553

Comments are closed.
    Picture
    AUTHOR
    สมเกียรติ อ่อนวิมล
    Somkiat Onwimon

    (1948 - 20xx)
    ​lives in Thailand, studied political science and international relations from The University of Delhi (B.A. & M.A.) and The University of Pennsylvania (Ph.D.). He lectured at Chulalongkorn University, and later became a television news 'n documentary reporter-producer-anchorman. He was elected a member of Thailand's 1997 Constitution Drafting Assembly, elected a senator in 2000, and appointed member of the National  Legislative Assembly in 2007. Now at his Pak Chong home, he lives a quiet country life of reading, writing, and thinking.

    Archives

    June 2018
    May 2017
    March 2017
    February 2017
    January 2017
    November 2016
    March 2016
    March 2015
    January 2015
    December 2014

    Categories

    All
    Culture
    Education
    Journalism
    Life Style
    Personal
    Politics

THAIVISION® 
REFLECTION ON EVENTS ON PLANET EARTH AND BEYOND 
​©2021 All Rights Reserved  Thai Vitas Co.,Ltd.  Thailand  
✉️
  • REFLECTION
  • ON PLANET EARTH
    • EARTH
  • AND BEYOND
  • THAILAND
    • KING BHUMIBOL
    • NATIONAL PARKS OF THAILAND >
      • KHAO YAI NATIONAL PARK
      • PHA TAEM NATIONAL PARK
      • PHU WIANG NATIONAL PARK
      • NAM NAO NATIONAL PARK
      • PHU HIN RONG KLA NATIONAL PARK
      • PHU KRADUENG NATIONAL PARK
      • PHU RUEA NATIONAL PARK
      • MAE YOM NATIONAL PARK
      • DOI SUTHEP-PUI NATIONAL PARK
      • DOI INTHANON NATIONAL PARK
      • THONG PHA PHUM NATIONAL PARK
      • KAENG KRACHAN NATIONAL PARK
      • MU KO ANG THONG NATIONAL PARK
      • MU KO SURIN NATIONAL PARK
      • MU KO SIMILAN NATIONAL PARK
      • HAT NOPPHARATA THARA - MU KO PHI PHI NATIONAL PARK
      • MU KO LANTA NATIONAL PARK
      • TARUTAO NATIONAL PARK
  • THE LIBRARY
    • MORNING WORLD BOOKS >
      • CASINO ROYALE
      • 1984
      • A BRIEF HISTORY OF TIME
      • A HISTORY OF THAILAND
      • CONSTITUTION OF THE UNITED STATES
    • DEMOCRACY IN AMERICA
    • FIRST DEMOCRACY
    • JOHN MUIR
    • MODELS OF DEMOCRACY
    • MULAN
    • THE VOYAGE OF THE BEAGLE
    • ON THE ORIGIN OF SPECIES
    • PHOOLAN DEVI
    • THE REPUBLIC
    • UTOPIA
    • A Short History of the World [H.G.Wells]
    • WOMEN OF ARGENTINA
    • THE EARTH : A Very Short Introduction
    • THE ENGLISH GOVERNESS AT THE SIAMESE COURT
    • TIMAEUAS AND CRITIAS : THE ATLANTIS DIALOGUE
    • HARRY POTTER
    • DEMOCRACY / HAROLD PINTER
    • MAGNA CARTA
    • DEMOCRACY : A Very Short Introduction
    • DEMOCRACY / Anthony Arblaster]
    • DEMOCRACY / H.G. Wells
    • ON DEMOCRACY / Robert A. Dahl)
    • STRONG DEMOCRACY
    • THE CRUCIBLE
    • THE ELEMENTS OF STYLE
    • THE ELEMENTS OF JOURNALISM | JOURNALISM: A Very Short Introduction
    • LOVE
    • THE EMPEROR'S NEW CLOTHES
    • THE SOUND OF MUSIC
    • STRONGER TOGETHER
    • ANIMAL FARM
    • POLITICS AND THE ENGLISH LANGUAGE
    • GEORGE ORWELL
    • HENRY DAVID THOREAU >
      • WALDEN
    • MAHATMA GANDHI
    • THE INTERNATIONAL ATLAS OF LUNAR EXPLORATION
    • พระมหาชนก
    • ติโต
    • นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ | A Man Called Intrepid
    • แม่เล่าให้ฟัง
    • SUFFICIENCY ECONOMY
    • พระเจ้าอยู่หัว กับ เศรษฐกิจพอเพียง
    • KING BHUMIBOL AND MICHAEL TODD
    • ... คือคึกฤทธิ์
    • KING BHUMIBOL ADULYADEJ: A Life's Work
    • THE KING OF THAILAND IN WORLD FOCUS
    • พระราชดำรัสเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ
  • IN MY OPINION
  • THAIVISION
  • SOMKIAT ONWIMON
    • MY STORY
    • THE DISSERTATION
    • THE WORKS >
      • BROADCAST NEWS & DOCUMENTARIES
      • SPIRIT OF AMERICA
      • THE ASEAN STORY
      • NATIONAL PARKS OF THAILAND
      • HEARTLIGHT: HOPE FOR AUTISTIC CHILDREN IN THAILAND
    • KIAT&TAN >
      • TAN ONWIMON >
        • THE INTERVIEW