การมองโลกที่มีมนุษยชาติอยู่อาศัยร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมสิ่งมีชีวิตบนแผ่นดินและผืนน้ำที่เกาะตัวเป็นก้อนกลม โคจรล่องลอยวนไปมาในอวกาศ มีมุมมองได้ต่างกัน
ถ้ามองแบบภาพกว้างก็ให้ถอยออกไปนอกระบบสุริยะ เห็นโลกเป็นเพียงจุดสีฟ้าจางในอวกาศวางตัวอยู่ตรงวงโคจรวงที่สามจากศูนย์กลางอันเป็นที่อยู่ของดวงดาวแสงอ่อนเรียกว่าดวงอาทิตย์ ณ ศูนย์กลางของระบบสุริยะขนาดเล็กบริเวณขอบนอกของดาราจักรทางช้างเผือก หรือ The Milkyway Galaxy มองโลกแบบนี้จะเห็นความโดดเดี่ยวเดียวดายของจุดสีฟ้าอ่อนซีดจางๆ หรือที่นักดาราศาสตร์เรียกว่า Pale Blue Dot เป็นการมองโลกแบบฟิสิกส์ดาราศาสตร์ มองโลกเป็นดาวเคราะห์ที่เรียกชื่อว่า The Earth จะไม่เห็นปัญหาความวุ่นวายอะไรบนผิวโลก ไม่เห็นแม้แต่รูปแบบชีวิตบนผิวโลก เว้นแต่ถ้าจะเข้าไปใกล้ๆก็จะเห็นสรรพชีวิตสารพันรูปแบบและหลากหลายปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่ก็ยังไม่เห็นอะไรมากไปกว่าจุดสีฟ้าจางที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมีสีสันและชีวิตที่หลากหลายขึ้น จาก The Pale Blue Dot ก็กลายมาเป็น The Blue Planet ถ้าไม่ลงไปอยู่บนโลก ไม่ลงไปคลุกคลีมีปฏิสัมพันธ์กับชีวิตและสรรพสิ่ง ก็จะไม่มีปัญหาให้เดือดร้อนทุกข์สุขจนต้องดิ้นรนหาทางให้พ้นทุกข์กันแต่ประการใด การมองโลกจากสุดขอบปลายทางของระบบสุริยะจึงยังผลให้เกิดความสงบสุขอย่างเปี่ยมล้น. มุมมองของมนุษย์ที่มีต่อโลกเป็นมุมแคบกว่าจินตนาการ กว้างที่สุดของมุมแคบ ก็เพียงเห็นโลกกลมที่ถูกจับมาจัดแผ่แบนราบเป็นแผนที่แสดงแผ่นดินและผืนน้ำ แสดงอาณาบริเวณที่มนุษย์อยู่อาศัย แบ่งแยกเขตแดนกันตามที่เป็นผลพวงของการใช้กำลังอำนาจทางการเมืองการทหารแต่โบราณ อธิบายให้เห็นว่าแผ่นดินและผืนน้ำตรงไหนเป็นของมนุษย์กลุ่มใด เรียกกลุ่มตัวเองว่าเป็นรัฐเป็นประเทศชื่ออะไร แล้วมนุษย์ก็ต่อสู้ปกป้องดินแดน ขยายดินแดน สูญเสียดินแดนและชีวิตที่ต่อสู้ปกป้องดินแดนที่มีพรมแดนและมีชื่อเรียกขานเป็นประเทศทั้งหลายเหล่านั้น เป็นการมองโลกแบบเป็นโลกมนุษย์ หรือ The World เป็นการมองตัวเองของมนุษย์แบบภูมิรัฐศาสตร์ ละเลยแม้แต่จะพิจารณาปฎิสัมพันธ์กับธรรมชาติแวดล้อม มองจากฐานข้อมูลปัญหาของมนุษย์เอง มองโลกแบบนี้ มองเมื่อไรก็เห็นปัญหาเมื่อนั้น มนุษย์เรียกช่วงเวลาหรือยุคของพัฒนาการสังคมโลกแบบนี้ว่าเป็นความเจริญของมนุษยชาติ. มาปัจจุบัน มนุษย์เริ่มมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตมนุษย์เองกับสิ่งแวดล้อมและสรรพชีวิตที่หลากหลายรายรอบมากขึ้น เห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติและเผ่าพันธุ์มนุษย์กลุ่มอื่น รวมทั้งเห็นความสำคัญของความหลากหลายแห่งชีวภาพบนดาวเคราะห์โลกมากขึ้น พรมแดนที่เคยลากเส้นแบ่งไว้เพื่อปกป้องอัตลักษณ์และอำนาจของเผ่าพันธุ์ตนเริ่มถูกทำลายลงโดยปฏิสัมพันธ์โลกาภิวัตน์ข้ามพรมแดนทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้มนุษยชาติสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิต ปรับขยายวิธีคิด และเดินทางข้ามพรมแดนในยุคทันสมัยมากขึ้น การเดินทางของมนุษยชาติบนโลกมนุษย์กลับสู่ความเป็นดาวเคราะห์โลกแบบอดีตก่อนบรรพกาลเช่นว่านี้กำลังดำเนินอยู่และดำเนินต่อไปอย่างช้าๆ เพียงแต่ว่ามนุษย์ไม่หาเวลาหยุดตัวเองให้นิ่งพอที่จะมองเห็นความเจริญในจิตใจของตัวเองเท่านั้น. สมเกียรติ อ่อนวิมล 27 เมษายน 2562 บนดาวเคราะห์โลก | ON PLANET EARTH
0 Comments
Leave a Reply. |
Archives
July 2019
Categories |